ก่อนเปิดเทอมเพียง 1 วัน มีเหตุการณ์สะเทือนใจเผยแพร่เป็นข่าวกรอบเล็กๆ หญิงสาวอายุ 26 ปี ชาวอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยห้างสรรพสินค้า กล่าวหาว่าขโมยสินค้าจากห้าง โดยมีของกลางเป็นเครื่องแบบนักเรียน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมตัวหญิงสาวและเด็กหญิงอายุ 8 ปี พร้อมของกลางเป็นเครื่องแบบนักเรียน ได้แก่ เสื้อ กระโปรง รองเท้านักเรียนหญิง และรองเท้าผ้าใบของนักเรียนชาย 1 คู่ จึงควบคุมตัวหญิงสาวคนดังกล่าวไปสอบปากคำในห้องของฝ่ายจัดการห้าง
หญิงคนดังกล่าวให้การว่า เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ (1 กรกฎาคม 2563) จะเป็นวันเปิดเรียนของลูกสาวและลูกชาย แต่ตนยากจนมาก ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา ตนและสามีตกงานซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียนให้ลูกๆ จึงตัดสินใจขโมยชุดนักเรียนให้ลูกสวมใส่ไปโรงเรียนในวันเปิดเทอม
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวไม่ได้จบลงอย่างโศกนาฏกรรมถึงขั้นที่แม่คนดังกล่าวต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เมื่อมีลูกค้าที่พบเห็นเหตุการณ์แล้วรู้สึกเวทนาสงสาร จึงใช้เงินส่วนตัวจำนวน 1,200 บาท จ่ายเป็นค่าชุดนักเรียนให้หญิงคนดังกล่าว พร้อมทั้งขอร้องผู้จัดการไม่ให้ดำเนินคดี และใช้วิธีการว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้หญิงคนดังกล่าวกระทำความผิดซ้ำอีก และเรื่องจบลงที่ตำรวจให้เจ้าหน้าที่ห้างทำบันทึกเหตุการณ์ไว้ ก่อนปล่อยตัวแม่และเด็กกลับบ้านได้
แน่นอนเหตุการณ์ที่หลังสวนไม่ใช่กรณีที่พบเห็นได้ยาก แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ทำไมกรณีเช่นนี้จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยเฉพาะในช่วงใกล้จะเปิดเทอม ซึ่งประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจสูงจริง แต่ในทางตรงกันข้ามไทยก็นับเป็นประเทศที่ลงทุนกับการศึกษาเป็นลำดับต้นๆ ของโลกด้วยเช่นกัน
ต่อกรณีดังกล่าว เราอาจจะเพ่งมองปัญหานั้นด้วยการพิจารณาไปที่โครงสร้างของรายจ่ายการศึกษาไทย ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองของนักเรียนยังคงต้องแบกรับต้นทุนในการศึกษาที่สูงปริ่มคอ แม้ว่าจะมี ‘นโยบายเรียนฟรี’ ในระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในงานวิจัยของ ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ และคณะ เรื่อง ‘บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2551-2559’ ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่มีมา ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีฐานข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ โดยเป็นฐานข้อมูลที่ครอบคลุมถึง 9 ปีงบประมาณ ซึ่งนอกจากจะเสนอข้อค้นพบเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติแล้ว งานชิ้นนี้ยังเสนอประเด็นที่สำคัญของรายจ่ายด้านการศึกษาของภาครัฐเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศเอาไว้
งบประมาณส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ที่งานรูทีน
เป็นความจริงที่ว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยมีการลงทุนถึงปีละ 9 แสนล้านบาท (ร้อยละ 6.1 ของจีดีพี) อย่างไรก็ตาม งบประมาณสูงไม่ได้นำมาสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแต่อย่างใด เพราะการลงทุนดังกล่าวยังไม่ใช่การเพิ่มโอกาสและคุณภาพของเด็กชนบทที่แตกต่างจากเด็กในเมือง
ในแต่ละปีเยาวชนไทยที่มีศักยภาพแต่ขาดโอกาสในการเรียนต่อจึงมีมากถึงปีละ 6.7 แสนคน สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนทางการศึกษาและกระจายโอกาสไปยังเด็ก เป็นการจัดสรรเงินรายหัวในราคาเดียวเท่ากันทั้งหมด กล่าวให้ชัดคือ ไม่ว่าเด็กจะยากดีหรือมีจน ก็ถูกจัดงบประมาณเท่ากัน
คำถามถัดมาคือ ในประเทศที่เหลื่อมล้ำตั้งแต่รายได้ครัวเรือน ลงมาจนถึงความเหลื่อมล้ำแม้กระทั่งเครื่องแบบนักเรียน งบประมาณด้านการศึกษาถูกใช้สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไปเท่าไหร่
งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่า มีประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยกว่า 2 แสนล้านบาท หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบประมาณเกี่ยวกับคน โดยเป็นค่าตอบแทนสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งครูจะได้รับผลตอบแทนสูง ด้วยเหตุนี้จึงสะท้อน ให้เห็นผ่านการแข่งขันเพื่อสอบบรรจุเป็นครูในโรงเรียนของรัฐ เพราะครูจะได้รับทั้งเงินเดือน วิทยฐานะระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ รวมถึงสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ
นอกจากนั้นงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา เฉลี่ยระหว่างปี 2557-2559 ส่วนมากยังเป็นรายจ่ายในหมวดงบบุคลากร ซึ่งมากถึงร้อยละ 74 ของงบการศึกษา รองลงมาคือ งบอุดหนุนร้อยละ 13 งบดำเนินงานร้อยละ 7 ในขณะที่งบลงทุนและงบรายจ่ายอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 5 และ 1 ตามลำดับ
เมื่อแจกแจงงบประมาณในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะพบอีกว่านอกจากความเหลื่อมล้ำในแง่สัดส่วนงบประมาณแล้ว ยังมีความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ด้วย
จังหวัดที่มีงบบุคลากรสูงที่สุดและต่ำที่สุด มีงบประมาณแตกต่างกันถึง 21 เท่า จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบบุคลากรสูงที่สุดคือ นครราชสีมา 10,705 ล้านบาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบบุคลากรน้อยที่สุดคือ ระนอง 509 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีเงินอุดหนุนสูงที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร 2,344 ล้านบาท ส่วนจังหวัดที่มีเงินอุดหนุนน้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 110 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากเงินอุดหนุนจัดสรรในรูปเงินรายหัว ดังนั้นจังหวัดที่มีจำนวนนักเรียนมากย่อมได้รับเงินจัดสรรมาก เช่น กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดใหญ่ๆ ที่จัดการศึกษาได้ดี สามารถดึงดูดนักเรียนจากจังหวัดใกล้เคียงได้
ในแง่นี้โดยภาพรวมจะเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณปี 2559 ในหมวดรายจ่ายทั้งหมด มีความเหลื่อมล้ำกันระหว่างพื้นที่ เมื่อคำนวณงบประมาณรายจ่ายต่อหัวนักเรียน จังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณต่อหัวนักเรียนน้อย ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับชายแดน โดยจังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณต่อหัวน้อยที่สุดกับมากที่สุด มีความแตกต่างกันเกือบ 3 เท่า คือ แพร่ 74,757 บาทต่อคนต่อปี และสมุทรสาคร 27,145 บาทต่อคนต่อปี
เครื่องแบบ เครื่องเขียน อุปกรณ์ของเด็กยังน้อยเกินไป แต่อย่าสายเกินการณ์
ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา รายงานการวิจัยฉบับนี้ได้พิจารณาเปรียบเทียบรายจ่ายในแต่ละระดับการศึกษา พบว่า ปี 2559 รายจ่ายด้านการศึกษาถูกใช้ไปในระดับการประถมศึกษาสูงที่สุด จำนวน 304,332 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของรายจ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด
รองลงมาจึงเป็น ระดับมหาวิทยาลัย (อุดมศึกษา) จำนวน 188,386 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 และระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ จำนวน 182,981 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 สำหรับสาเหตุที่มีการลงทุนในระดับประถมศึกษามากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษาไทยที่มีโรงเรียนรัฐขนาดเล็ก (นักเรียนน้อยกว่า 120 คน) อยู่เป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนรัฐ
ขณะที่การลงทุนด้านการศึกษาที่มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยคือ ระดับก่อนประถมศึกษา 77,918 ล้านบาท (ร้อยละ 9) ระดับอาชีวศึกษา 43,138 ล้านบาท (ร้อยละ 5) และเด็กก่อนวัยเรียน 20,105 (ร้อยละ 2)
มาสู่การจำแนกตามกิจกรรมการใช้จ่ายที่เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์เศร้าที่ชุมพร จะเห็นได้ว่าหากพิจารณารายจ่ายด้านการศึกษา ผ่านการจำแนกตามกิจกรรมทางการศึกษา งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละปี มีสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากนัก โดยกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูง 3 อันดับแรก คือ กิจกรรมสนับสนุนการศึกษา 64.5 เปอร์เซ็นต์ กิจกรรมเพิ่มโอกาสทางการศึกษา 12.2 เปอร์เซ็นต์ และกิจกรรมการบริหารจัดการ 6.6 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ กิจกรรมการใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ควรจะถือว่าเป็นผลผลิตของบริการทางการศึกษาชนิดหนึ่งคือ การจำแนกกิจกรรมการใช้จ่ายจะทำให้ทราบว่างบประมาณรายจ่ายถูกใช้ไปในกิจกรรมใด
สำหรับจำแนกตามกิจกรรมการใช้จ่ายของ สพฐ. หากพิจารณารายจ่ายตามกิจกรรมการใช้จ่ายในสังกัด สพฐ. ปี 2559 พบว่า ร้อยละ 83.8 เป็นการใช้จ่ายในการสนับสนุนการจัดการศึกษา ประกอบด้วย เงินเดือนค่าตอบแทนและวิทยฐานะ ค่าจ้างของครูและบุคลากรทางการศึกษาเงินอุดหนุนรายหัวที่โรงเรียนใช้ในการดำเนินการ ค่านม และอาหารกลางวันสำหรับประถมศึกษา
รองลงมาจึงเป็นค่าบริหารจัดการ ร้อยละ 7.1 ค่าก่อสร้างอาคารเรียน ค่าครุภัณฑ์ ร้อยละ 5.2 ค่าเครื่องแบบ หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 3.3 ค่าพัฒนาการเรียนการสอน ร้อยละ 1.8 ผลิตและพัฒนาครู ร้อยละ 0.5 และอื่นๆ ซึ่งรวมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ส่งเสริมวิจัยและพัฒนา อบรมบุคลากรทางการศึกษา อีกร้อยละ 0.1
กล่าวได้ว่ารายละเอียดจากงานวิจัยเรื่อง บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2551-2559 ได้ช่วยให้เราคลี่คลายโครงสร้างกิจกรรมทางการศึกษาระหว่างรัฐและผู้ปกครองนักเรียน เพื่อที่จะข้ามผ่านปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และจี้ลงไปให้ตรงจุดว่า การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่สามารถจัดการด้วยการใช้แนวคิดการจัดสรรที่เท่าเทียมเพียงเท่านั้น เพราะแต่ละครอบครัวมีความเท่าเทียมกันในแง่กำลังความสามารถที่ไม่เท่ากันด้วย
การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาจึงนับเป็นปัญหาเร่งด่วน หากตั้งใจฟังเสียงของหญิงสาวผู้ปกครองที่ขโมยเครื่องแบบนักเรียนนั้นจะเห็นได้ว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้เข้ามาซ้ำเติมคนอีกจำนวนมากที่คาดการณ์ได้ว่าเป็นคนที่มีรายได้น้อย เพราะถ้าหากการลงทุนทางการศึกษาไม่ปกป้องผู้คนเปราะบางที่มีอยู่เต็มผืนแผ่นดินนี้แล้ว เราคงเรียกไม่ได้เต็มปากว่านั่นคือการศึกษาที่เป็นธรรม