ถ้าลูกของคุณอยู่อนุบาล 3 แต่ยังท่อง ก-ฮ ไม่ได้ บวกลบเลขไม่คล่อง หรือฉายแววใดๆ ที่ให้พ่อแม่รู้สึกใจชื้นว่าลูกน้อยของเรา อาจมีแววเป็นเด็กอัจฉริยะด้านวิชาการ ถ้าลูก (ที่ยังอายุ) น้อยของคุณไม่เป็นเช่นนั้น คุณจะรู้สึกอย่างไร?
แต่ถ้าบอกว่า… นักการศึกษาและคณะกรรมการหน่วยงานภาครัฐกำลังปรับระบบการจัดการศึกษาของเด็กปฐมวัย ให้เด็กๆ ไม่ต้องถูกเร่งเร้าให้มีความรู้ทางวิชาการระดับ ‘จีเนียส’ แต่สนับสนุนให้ได้ ‘เล่น’ ตามวัย ขยายรอยต่อของช่วงอายุระหว่าง ‘เด็กเล็ก’ กับ ‘เด็กโต’ ให้กว้างขึ้น เพื่อให้คุณครูจัดการศึกษาให้เหมาะสม และอาจจะยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ของเด็กๆ เลยก็ได้!!! คุณจะคิดเห็นเช่นไร?
เพื่อคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติทางการศึกษา องค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership* ร่วมจัด งานประชุมวิชาการ ‘สมองเด็กไทยรากฐานทุนมนุษย์เพื่ออนาคตประเทศ’ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โดยมีนักการศึกษาและผู้ปกครองเข้าร่วมงานนับพันคน
เริ่มต้นที่ตัวกฎหมายก่อน
เฉพาะประเด็นเรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ.ปฐมวัยแห่งชาติ จากรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มีใจความหลักแปดประการดังนี้
1. ควรมีหน่วยงานกลางเพื่อเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการทำงานด้านปฐมวัย หากอ้างอิงจากคำของ ครูหวาน–ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็ก กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ ที่กล่าวอย่างติดตลกในห้องประชุมว่า “การทำงานด้านปฐมวัยเหมือนเป็นติ่ง เพราะต้องไปฝากอยู่กับหน่วยงานนั้นทีหน่วยงานนี้ที ไม่มีผู้รับผิดชอบหลัก”
ธิดาอธิบายต่อว่า การทำงานด้านปฐมวัยจะอยู่ในหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ
หมายความว่า เรื่องการปฐมวัย ทั้งที่เป็นการศึกษาฐานรากของมนุษย์ ยังไม่มีหน่วยงานใดรับหน้าที่ดูแลและพัฒนาเป็นหลักเลย
2. สืบเนื่องจากข้อแรก เมื่อมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักแล้ว จะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งองค์ความรู้เรื่องการศึกษาด้านปฐมวัยกำลังเป็นที่พูดถึงในเวทีการศึกษาโลกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ ‘ห้องเรียนฟินแลนด์’ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เล่น และให้ครูได้ออกแบบวิธีการสอนเองได้ โดยเน้นไปที่เรื่องพัฒนาการมากกว่าวิชาการแบบแยกเป็นแปดกลุ่มสาระการเรียน
ดังนั้น ประเด็นหลักของข้อ 2. นี้ คือการให้อำนาจหน่วยงานได้พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และนำไปสู่ภาคปฏิบัติ คือครูในห้องเรียนได้อย่างแท้จริง
3. การพัฒนาฐานข้อมูลของประชากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บัตรประชาชนใบเดียวมีข้อมูลทุกอย่าง ด้วยเหตุผลเรื่องการติดตามข้อมูลของนักเรียนที่ตกหล่น และดูข้อมูลประชากรของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อประเมินและจัดการศึกษาที่เหมาะสม
ประเด็นเรื่อง ‘เด็กที่มีความต้องการพิเศษ’ นี้ รองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษ ‘คุณพุ่ม’ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า…
“ไม่ใช่แค่ความพิการทางร่างกายที่เห็นเด่นชัด แต่รวมทั้งพัฒนาการทางอารมณ์ สมาธิสั้น หรือภาวะพัฒนาการไม่ทันตามช่วงอายุ ทั้งหมดนี้คือนิยามของ ‘เด็กๆ ที่ครูปฐมวัยต้องมีความรู้เพื่อดูแลและคัดกรอง’ ให้ได้ด้วย”
4. ช่วงรอยต่อ หรือ Transition Period จากเด็กเล็กในช่วงอนุบาลไปชั้นประถมศึกษา เพราะนิยามเด็กปฐมวัยเดิม คือผู้ที่อายุ 3-6 ปี เป็น 0-8 ปี หมายถึงตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเลย
ช่วงรอยต่อที่ขยายช่วงอายุทั้งหน้าและหลังสำคัญอย่างไร เพื่อการจัดสวัสดิการของคุณแม่ให้ถูกต้องเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูกตั้งแต่อยูในครรภ์ และการขยายอายุไปเป็น 8 ปี เพราะการศึกษาในช่วงปกติ จะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนอย่างฉับพลัน จากอนุบาลที่เน้นด้านพัฒนาการ (3-5 ปี) เปลี่ยนเป็นการเรียนด้านวิชาการแยกเป็นแปดกลุ่มสาระในขั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (อายุ 6 ปี) เป็นการปรับเปลี่ยนที่ ‘ทำลายการเรียนรู้’ ตามช่วงวัย และทำให้เด็กต้องปรับวิธีการเรียนมากจนเกินไป
ซึ่งในข้อนี้ถือเป็นไฮไลต์การเปลี่ยนแปลงวิธีการศึกษาที่สำคัญ
5. เมื่อขยายนิยามอายุของเด็กปฐมวัยลงมาตั้งแต่ 0-8 ปี หรือตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงเห็นว่าต้องรวมถึงการจัดให้เด็กและแม่ขณะตั้งครรภ์เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้ง่ายและสะดวก
6. ใจความใกล้เคียงกัน คือครูและนักการศึกษาในช่วงปฐมวัยต้องมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการของสมองเด็ก หรือที่เรียกว่า Executive Function (EF) ทั้งเพื่อการออกแบบห้องเรียน วิธีการสอนแบบใหม่ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้มีพัฒนาการตามวัย สุดท้าย คุณครูต้องมีองค์ความรู้ในการคัดกรองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
และอย่างที่ดารณีย้ำว่าไม่ใช่แค่ความพิการที่เห็นเด่นชัด แต่รวมถึงพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กๆ และความพิการไม่เด่นชัด เช่น ภาวะออทิสซึมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากผู้ปกครองหรือคุณครูสังเกตเห็น จะทำให้เด็กๆ ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที
“ทันท่วงทีในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้เขาหายนะคะ อันนี้เป็นความเข้าใจผิด แต่จะทำให้เขาได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม ช่วยค้นหาวิธีการเรียนและหาศักยภาพอันสูงสุดของเขาได้” ดารณีกล่าว
7. สืบเนื่องจากข้อ 6. คือในห้องเรียนหนึ่งๆ ต้องมีครูที่เป็นนักวจีบำบัด นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยาเด็ก ทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ครูคนใดคนหนึ่ง
8. ข้อนี้อาจเรียกว่าสำคัญที่สุด คือการพัฒนาให้ ข้อ 1-7 เป็นจริงได้
Transition Period: การเปลี่ยนผ่านจากเด็กอนุบาล ไปเป็นผู้ใหญ่ห้อง ป.1
ขณะที่ ยศวีร์ สายฟ้า อาจารย์ประจำสาขาวิชาประถมศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัยการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี 2015 กล่าวยืนยันเฉพาะประเด็นรอยต่อของการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาว่า มันเป็นการพลิกเปลี่ยนที่รุนแรง และทำลายโลกแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้
เริ่มแรกด้วยการฉายภาพห้องเรียนเปรียบเทียบกันระหว่างบรรยากาศในห้องเรียนชั้นอนุบาลกับห้องเรียนประถมศึกษา และเปรียบเทียบระหว่างห้องเรียนในไทยและในประเทศสหรัฐ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
ไม่ต้องเห็นภาพชัดๆ ก็พอจะเดาได้ ภาพของชั้นเรียนอนุบาลจะมีความซุกซน จัดห้องอิงกับพื้นที่ให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นสะดวก มีชั้นของเล่นวางเรียงรอบห้อง คุณครูหนึ่งคนสอนประจำห้องนั้นตลอดทั้งวัน แตกต่างกับห้องเรียนชั้นประถมที่จัดเรียงโต๊ะอย่างเป็นระเบียบและอยู่ในทิศทางที่จะมองกระดานเห็นสะดวก คุณครูหนึ่งคนต่อหนึ่งวิชา และแยกวิชาแปดกลุ่มสาระการเรียนรู้
“ไม่แปลกใจที่เด็กๆ จะงอแงไม่อยากไปเรียน เพราะมันคือการปรับตัวที่รุนแรงมาก เด็กบางคนที่ต้องเปลี่ยนโรงเรียน เตรียมสอบเข้าชั้น ป.1 ในช่วงปิดเทอม เขายิ่งไม่มีเวลาเตรียมใจในการเรียนแบบใหม่เลย” ยศวีร์กล่าว ยังไม่นับการเรียนการสอนที่ไม่เอื้อให้เด็กได้เติมเต็มพัฒนาการตามวัย การเรียนแบบที่ทำให้เด็กๆ เครียดและรู้สึกกดดัน สภาพแวดล้อมทำให้เขาต้องปรับตัว กลายเป็นคนที่มีบุคลิกนิสัยตามสภาพในห้องและครอบครัว
“แต่เด็กๆ มีความยืดหยุ่นสูงนะครับ เมื่อเขาปรับตัวได้ว่าการเรียนแบบใหม่ต้องทำอย่างไร เขาก็จะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้คะแนน ทำอย่างไรครูจึงจะดีกับเขา” ความนัยของยศวีร์ก็คือ เด็ก ป.1 จะปรับตัวได้แล้วว่า การเรียนแบบใหม่นี้ เขาต้องเรียนอย่างไรเพื่อให้ได้เกรดดีๆ
“แต่นี่ไม่นับว่าเด็กๆ ที่มีพื้นฐานทางอารมณ์ไม่แข็งแรง ถ้าปรับตัวกับการแข่งขันไม่ได้ หลายๆ คนก็อาจเป๋ไปได้เลย” ความรุนแรงชนิด ‘รุนแรงซ้อนรุนแรง’ ที่เกิดเพียงการเปลี่ยนผ่านแค่ปีเดียว
อย่างไรก็ตาม เทรนด์การศึกษาที่เปลี่ยนไป และความพยายามของครูในห้องเรียน นักการศึกษาสมัยใหม่ องค์ความรู้ที่เริ่มแพร่เข้ามาผ่านโซเชียลมีเดียทำให้โลกกว้างขึ้น ก็อาจทำให้อนาคตการศึกษาของประเทศไทยดูจะมีความหวังขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง
ผู้ร่วมจัดงาน Thailand EF Partnership 2017
ศูนย์ประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)
สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4)