การุณยฆาต: เพราะรักจึงต้องจำจาก สิทธิการตายที่มนุษย์หยิบยื่นให้สัตว์

เช้าวันที่ฟ้าหลัวแต่อากาศร้อนชื้น ลึกเข้าไปท้ายสวนมังคุดมีหมาแก่ตกลงไปในบ่อพักน้ำ ลึกราว 4 เมตร แม้น้ำแห้งไปแล้ว แต่พื้นยังชื้นแฉะจากฝนที่ตกกระหน่ำในช่วงนี้ หมาตัวใหญ่ขดตัวอยู่ใต้นั้น ไม่รู้กี่คืนวัน จนมีมือใหญ่ใจดีของชาวสวนช่วยฉุดขึ้นมาสู่ที่ที่แฉะน้อยกว่า ไม่เหม็นฉึ่งฉั่ง มีข้าวและน้ำสะอาด แต่เจ้าหมาสีน้ำตาลแดง ตาแป๋ว ไม่ขยับตัว ไม่ลุก ไม่เดิน คงจะมีกระดูกสักท่อนหักตอนที่หล่นลงไปใต้นั้น

เป็นเหตุที่ทำให้เจ้าหมาเจอเธอ เธอที่กล้าๆ กลัวๆ จะจับเขาเพราะกลัวถูกกัด แต่ก็ต้องพาไปหาหมอเพื่อต่อกระดูกให้กลับมาเหมือนเดิม ท่ามกลางบรรยากาศเหม็นเน่าน้ำเหลืองบนรถ ความไม่ไว้วางใจคือความรู้สึกที่มอบให้แก่กัน แม้แต่ตอนที่ส่งถึงมือหมอเธอก็ยังไม่กล้าที่จะลากตัวเขาออกมาจากกรง โชคดีที่มีผู้ช่วยหญิงตัวเล็กแต่ใจใหญ่ทั้งลากทั้งดึงเขาออกมา

ไม่มีเสียงร้องของความเจ็บ? เป็นสิ่งที่เธอสงสัยเกี่ยวกับร่างกายของเจ้าหมา ผ่านไปราวชั่วโมงที่หมอจัดการเกี่ยวกับร่างกายเขา ก่อนที่หมอเรียกเธอเข้าไปในฐานะ ‘เจ้าของ’

คุณหมอบอกให้เธอนั่งเพราะต้องคุยกันยาว พร้อมกับเปิดจอฉายภาพเอ็กซเรย์กระดูกของเขา คำแรกที่หมอหลุดออกมาคือ เขาจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ตลอดชีวิต ร่างกายครึ่งล่างใช้การไม่ได้เเล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว ฉี่เเละขับถ่าย เขาเคยเจ็บมามากจนไม่รู้สึกอะไรเเล้ว คาดว่าเป็นมานานก่อนที่จะตกน้ำ กระดูกหลังหัก หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ในกระเพาะอาหารเต็มไปด้วยเศษกระดูก ค่าไตพุ่งขึ้นสูงเพราะปัสสาวะไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้เธอตาเบิกโพลงคือ แถวๆ ซี่โครงมีกระสุนฝังอยู่

เธอเดินเข้าไปหาหมาแก่ตาแป๋วที่นอนราบอยู่ เป็นครั้งแรกที่เธอสัมผัสเขา หมอบอกว่าไม่รับฝาก เธอจึงใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง ในห้องพักฟื้นของโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อเช็ดทำความสะอาดส่วนล่างที่เน่า มีหนอง และขอให้ผู้ช่วยหญิงคนเดิมโกนขน ฉีดล้างหนอนออก เพื่อพาเขากลับไปบ้าน นอนสบายในห้องแอร์ คอยดูดฉี่ออกให้สบายตัว กินพร้อมกัน นอนพร้อมกัน กอดและมอบความรักให้แก่เจ้าหมาที่อาจจะไม่ได้รับมานาน

จนเช้าวันใหม่ ทั้งสองสบตาและสัมผัสกันอย่างคุ้นชิน เธอใช้เวลาคุยกับเขา ห้องเริ่มเหม็นเน่า ช่วงล่างที่เคยทำความสะอาดไปกลับมาเน่าอีก หนอนแตกตื่นกันออกมาจากซอกขา ซอกเล็บ

นาทีนั้น เธอคิดว่าตัดสินใจถูกแล้ว

หมอมาถึงราว 11 โมง พร้อมกับฝนปรอย เธอนั่งคุยกับหมอและให้เจ้าหมากิน ขนมพร้อมกับลูบไล้เพื่อให้สบายตัว เจ้าหมาแก่ตาเเป๋วจ้องมองหน้าและเลียมือให้อย่างตั้งใจ เธอขออุ้มเขาออกไปข้างนอกเอง สัมผัสตัวกันทุกขณะ พูดคุยกันไม่ห่าง จนหมอฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือด ร่างกายคือกลไก ความตายก็เหมือนกัน เจ้าหมาแก่นอนหลับไปอย่างเงียบงัน ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย

‘การุณยฆาต’ สิทธิของใคร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวเกี่ยวกับกฎหมาย ‘การุณยฆาต’ หรือสิทธิในการเลือกที่จะตายอย่างสงบ ซึ่งถูกเรียกร้องจากสังคมเป็นวงกว้าง จนทำให้เรื่องของความตายถูกเคลื่อนไกลออกจากความเชื่อเดิมที่มักจะถูกผูกโยงอยู่กับศาสนาและวัฒนธรรมมานาน 

ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นคือ การเลือกให้ตนเองตายถือเป็น ‘สิทธิ’ ของผู้ถือครองชีวิตนั้นใช่หรือไม่ แล้วถ้าเมื่อใดที่การตัดสินใจใช้สิทธินั้นเป็นของคนผู้ดูแล ข้อถกเถียงนี้ก็จะยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะความตายจะไม่ใช่เพียงเรื่องของใครคนนั้นคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการเลือกเหตุผลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจนั้น รวมถึงมีเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ตัดสินใจเข้ามาเกี่ยวด้วย

และหากผู้ที่ถูกการุณยฆาตไม่อาจแสดงเจตจำนงของตนต่อผู้ที่ตัดสินใจแทน ยิ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก 

หากลองชำแหละเรื่องราวของหมาพิการกับผู้หญิงข้างต้น ความป่วยไข้อาจเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจฉีดยาให้เขาหลับและจากไป แต่หากมองในบางแง่มุม การจำได้หมายรู้ของหมา เขาอาจไม่รู้ว่าตัวเขาเองนั้นพิการและร่างกายไม่เจ็บเเล้ว การกินอิ่มและได้นอนสบายอาจเพียงพอให้ยังมีชีวิตอยู่ 

เจ้าหมาพิการกินข้าวอย่างเอร็ดอร่อย ตื่นตัวทุกครั้งที่เธอถือถุงแล้วมีเสียงกร๊อบแกร๊บ เธอรู้สึกรวดร้าวเมื่อมองหน้าเขาแล้วสะท้อนใจว่า เขายังอยากมีชีวิตอยู่ต่อ 

การตัดสินใจฉีดยาให้เขาหลับและจากไป อาจเพราะเธอจะเป็นทุกข์ถ้าเขามีชีวิตอยู่ เธอไม่สามารถปล่อยให้หมาพิการกลับไปจรจัดทั้งที่พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

แต่เธอก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างสมดุลได้ หากต้องคอยพลิกตัว ป้อนข้าว ดูดฉี่ ดูแลไม่ห่าง ในวันใดวันหนึ่งเธออาจจะหงุดหงิดที่ต้องเคลื่อนย้ายหมาที่หนัก 20 กว่ากิโลกรัม ไปหาหมอในทุกอาทิตย์จนความเอื้ออาทรต่อกันหดหาย แล้วตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า แล้วใครกันล่ะที่เป็นคนผิด เธอตอบไม่ได้ เจ้าหมาก็ตอบไม่ได้เช่นเดียวกัน 

เรื่องของทองแถมและเฟรยา

ผู้เขียนขอซูมอินเข้าไปเล่าเรื่องหมาไทยหลังอานตัวหนึ่ง เป็นหมาเฝ้าสวนชื่อ ‘ทองแถม’ ทองแถมก็แถมสมชื่อ เพราะเป็นหมาที่แถมกับหมาของเจ้าของให้มาเฝ้าสวน เนื่องจากคนที่พาทองแถมเข้ามาอยู่ในสวนที่เขาอาศัยอยู่นั้น ไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นด้วย แต่ก็ได้หมาหลังอานมาและเสียดายหากจะให้คนอื่นไป จึงเอามาไว้ที่สวนของญาติ ทองแถมจึงอยู่อย่างงงงวย ว่าใครคือเจ้าของ และคนที่ให้ข้าวทองแถมก็มักจะจุดประเด็นว่าทองแถมไม่ใช่หมาของเขาอยู่บ่อยๆ ทองแถมจึงมักออกไปเที่ยวเล่นจนก่อความวุ่นวายให้กับสวนเพื่อนบ้าน คนดูแลทองแถมจึงต้องเอาเขามัดไว้เพื่อกันหนีออกไปเที่ยว 

จนเกิดเรื่องที่เหนือความคาดหมาย เมื่อในค่ำคืนหนึ่งที่การแจกจ่ายอาหารเลยเวลาไปไกลเกินกว่าปกติ เนื่องจากคนที่เลี้ยงข้าวเลิกจากกิจธุระช้า และด้วยความกังวลว่าหมาจะหิวข้าว เขาจึงรีบร้อนยื่นจานข้าวประจำให้หมาตัวอื่นๆ และทองแถม โดยที่ยังคงผูกทองแถมไว้อยู่ ไม่รู้ด้วยความเครียดหรือเพราะความหิว ทองแถมกัดและฟัดคนที่เลี้ยงข้าวเขาทุกวันจนล้มไปนอนกับพื้น กลายเป็นเรื่องที่น่าสยดสยอง เข้าโรงพยาบาล เย็บแผลไปหลายสิบเข็ม ในสถานการณ์ที่ทุกคนวุ่นกันไปโรงพยาบาล ทองแถมก็ยังคงถูกมัดคาไว้ตรงนั้น ไม่มีใครกล้าเข้าไปปล่อยอีกเลย จนได้ข้อสรุปว่าควรฉีดยาให้เขาหลับไป

และหากซูมออกมามองสิ่งที่กว้างกว่า ย้อนกลับไปเมื่อกลางปีที่แล้ว ข่าวการการุณยฆาตของวอลรัส (walrus) เพศเมีย ‘เฟรยา’ ผู้เป็นที่รัก อันมาจากชื่อเทพเจ้าโบราณของชาวนอร์ส ด้วยพฤติกรรมสุดน่ารัก ไม่ว่าจะเป็นการนอนผึ่งพุงตากแดด หรือภาพที่เธอกลิ้งตกลงไปในน้ำจากท่าเรือในนอร์เวย์ ทำให้เธอกลายเป็นขวัญใจชาวโซเชียลไปตามระเบียบ 

แต่ท้ายที่สุดเมื่อเฟรยาเริ่มมีพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อนแก่มนุษย์ ทั้งดุร้ายและอาจทำร้ายมนุษย์จนถึงแก่ความตายได้ กระบวนการ ‘จัดการความไม่เรียบร้อย’ จึงเกิดขึ้น 

รัฐบาลกล่าวว่า การมีวอลรัสหนักครึ่งตัน มีงาแหลม ออกมาว่ายน้ำท่ามกลางผู้คนนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยง ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนแย้งว่า ระดับความเสี่ยงที่เกิดจากเฟรยานั้นไม่มากไปกว่าระดับที่ “เรายอมรับเป็นประจำในสังคมและชีวิตประจำวันของเรา” แต่สุดท้าย เฟรยาก็ถูกดำเนินการเหมือนกับทองแถม

ทั้งสองเรื่องนี้มีเหตุและผลใกล้เคียงกัน แต่มีข้อแตกต่างในองค์ประกอบและขนาดของเรื่อง รวมถึงความซับซ้อนอันเป็นบ่อเกิดของสิ่งที่เรียกว่าปัญหา 

ในบ้านหลังนั้นหลังที่ทองแถมอยู่มีคุณยายอายุเกือบ 90 ปี อาศัยอยู่ การมีทองแถมอยู่ในบ้านไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ และเพราะเคยเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าสมควรที่จะทำ 

ส่วนกรณีของเฟรยาเต็มไปด้วยการเห็นแย้ง ด้วยเพราะ “ความเสี่ยงนั้นมีศักยภาพมากกว่าสิ่งที่จะปรากฏให้เห็น” 

แต่ไม่ว่าจะข้อถกเถียงขนาดเล็กจิ๋ว หรือข้อถกเถียงขนาดใหญ่เบิ้มที่แตะไปถึงปัญหาโลกร้อน ก็ล้วนเป็นไปเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของมนุษย์โดยแท้ ซึ่งก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลในมุมมองหนึ่งๆ ด้วยหลักคิดเชิงประโยชน์นิยม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมวลมากกว่าหน่วย 

เรื่องราวของพวกเรามักจางหายไป ท่ามกลางความไร้แยแสและหรือการพยุงปรุงจิตในระหว่างการดำรงอยู่ของหมู่คนที่นั่น ในล้อมน้ำ เคว้งฟ้า กรรโชกลม กับดอกไม้จ้อยกระจิดในสวนที่เคยมีเสียงหัวเราะอยู่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับว่า การการุณยฆาตแท้จริงแล้วเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้กลไกหยุดได้อย่างสงบเงียบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทไหนก็ตาม และสัตว์ที่ไม่มีความจำได้หมายรู้ อย่างเดรัจฉาน คงไม่รู้จักกับความตาย พวกเขารู้เพียงการมีอยู่เท่านั้น 

และเราที่มีความจำได้หมายรู้ การเห็นใครที่รักต้องทรมานเพราะกลไกที่สึกกร่อน การทำให้กลไกนั้นหยุดอาจเป็นทางออก แต่เพียงเราคงจะต้องต่อสู้กับความซับซ้อนของจิตให้มากเพียงพอที่จะตัดสินใจ

Author

เจนจิรา สิริพรรณยศ
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

Illustrator

ณัชชา กันเขตร
นักพิสูจน์อักษรผู้ชอบนอนดึกตื่นเช้า อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ เวลาว่างชอบอ่านเว็บตูนและวาดรูป กำลังค้นหาและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ใช้ชีวิตอยู่เพื่อทักทายและทำความรู้จักกับแมวจร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า