โครงการส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งเคยทำให้ผมทึ่งด้วยการสอนสิ่งที่เด็กๆ น่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้แน่นอน นั่นคือทักษะในการคิดแก้ปัญหาในอนาคต
ในห้องเรียน ผมเห็นเด็กๆ กำลังดูการทำงานของเครื่องยนต์ดีเซล จึงได้เรียนรู้ว่ามันเป็นระบบที่แตกต่างจากเครื่องยนต์เบนซิน และก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่า ดังนั้นเด็กๆ จึงต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหากัน
ผลที่ได้จากโจทย์นี้น่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ เช่น ฝุ่น PM2.5 ที่บ้านเรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น
น่าเสียดายว่ามีผู้ปกครองจำนวนมากไม่ยินยอมให้ลูกเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สาเหตุสำคัญคือ ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ไม่อาจช่วยให้ลูกของเขาทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จึงขอเอาเวลาที่มีไปหัดทำข้อสอบกับติวเตอร์ชื่อดังดีกว่า
เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทย? ระบบการศึกษาที่ควรจะสร้างให้เด็กคิดได้ วิเคราะห์เป็น มองเห็นทางแก้ปัญหา กลับกลายเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ เพราะไม่มีผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กที่มีคุณสมบัติพอจะเรียนต่อได้ จึงมีแต่เด็กที่รู้เทคนิคในการทำข้อสอบแต่เพียงอย่างเดียวเท่านี้ จริงๆ หรือ?
เพราะผลที่เกิดขึ้นสวนทางกับชาวโลกอย่างเห็นได้ชัด
- เด็กเก่งฟิสิกส์ในประเทศอื่น คือเด็กที่สนใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งรอบตัว อยากรู้ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นพร้อมคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร
- เด็กเก่งฟิสิกส์ในประเทศไทย คือเด็กที่ทำคะแนนฟิสิกส์ได้เต็มร้อย
- เด็กเก่งชีววิทยาในประเทศอื่น คือเด็กที่ชอบสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ พร้อมจดบันทึกเพื่อแบ่งแยกหมวดหมู่
- เด็กเก่งชีววิทยาในประเทศไทย คือเด็กที่ทำคะแนนชีวะได้เต็มร้อย
- เด็กเก่งเคมีในประเทศอื่น คือเด็กที่ชอบดูสารประกอบต่างๆ ชอบทดลองผสมสารแต่ละประเภทแล้วดูการเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียด
- เด็กเก่งเคมีในประเทศไทย คือเด็กที่ทำคะแนนเคมีได้เต็มร้อย
ซารา วอลซ์ (Sara Volz) เป็นนักศึกษาสาขาวิชาเคมีที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT แม้อายุยังน้อย แต่เธอมีงานวิจัยแล้ว 4 ชิ้น ล้วนว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยี CRISPR-Cas9 ที่ใช้วิทยาการขั้นสูงเพื่อการตัดต่อพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้มีคุณสมบัติตามต้องการ สิ่งที่ซาราคาดหวังคือการรักษาโรคมะเร็ง ผลงานที่โดดเด่นทำให้เธอได้รางวัล College Woman of the Year ไปครองได้สำเร็จ
แต่ 3 ปีก่อนหน้านั้น สมัยที่ซารายังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย เธอก็เป็นที่สนใจของคนทั่วไปแล้ว ด้วยผลงานค้นคว้าเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์สาหร่ายเพื่อสร้างน้ำมันชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งการทดลองทั้งหมดนั้นเธอทำจากห้องนอนของตัวเอง จนเข้าตาสถาบันชื่อก้องโลกอย่าง MIT ที่ประกาศรับเธอเข้าเรียนทันที
กลับมาที่บ้านเรา จริงอยู่ว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถส่งผลงานหรือ portfolio เพื่อยื่นเข้ารับการพิจารณาของมหาวิทยาลัยได้ในระบบ TCAS รอบที่ 1 แต่ถ้าตัดผลงานเฉพาะทางอย่างดนตรี กีฬา ศิลปะ ออกไปแล้วเราจะพบว่าผลงานที่เป็นประโยชน์กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็คือ เกียรติบัตรการแข่งขันทางวิชาการ ผลการเรียน/เกียรติบัตรเรียนดี และกิจกรรมค่ายวิชาการเท่านั้น
นั่นหมายความว่า หากซารามาเกิดในประเทศไทย ผลงานของเธอก็อาจไม่ได้ช่วยให้เธอเข้าเรียนด้านเคมีในมหาวิทยาลัยไทยได้เลยเพราะ ‘คะแนนไม่ถึง’ แม้จะมีความหลงใหลในการทดลองเคมีมากเพียงใด ก็มัวแต่ทำการทดลอง จะไปรู้แนวทางทำข้อสอบได้อย่างไร!
เด็กหัวกะทิของไทยจึงมีสถานะเป็น ‘เครื่องจักรทำข้อสอบ’ คือรู้วิธีทำคะแนนให้ได้สูงๆ แต่อาจไม่ได้มีใจรักในสิ่งที่กำลังจะเรียนเหมือนซาราแม้แต่น้อย
ไม่เชื่อก็ลองถามนิสิตนักศึกษาที่อยู่ใกล้ตัว ว่าเขามีฝันอยากทำอะไรหลังเรียนจบ… “พัฒนายารักษาโรคมะเร็ง สร้างแขนกลคอมพิวเตอร์ให้คนพิการ สร้างตาเทียมให้คนตาบอด สร้างดาวเทียมรุ่นใหม่ไปบุกเบิกดาวเคราะห์” ฯลฯ คำตอบเหล่านี้ยากจะได้ยินจากปากเด็กไทย
เพราะส่วนใหญ่อยากเป็น Youtuber ขายของออนไลน์ เปิดร้านกาแฟ โดยไม่แคร์ว่าจะเรียนอะไรมากันทั้งนั้น
จะโทษเขาก็ไม่ได้เพราะเขาเรียนไปตามระบบที่คนรุ่นเก่าออกแบบไว้ นั่นก็คือการใช้ ‘คะแนน’ เป็นตัวชี้ขาด ซึ่งระบบนี้เอื้อประโยชน์กับ ‘เครื่องจักรทำข้อสอบ’ ที่ระบบการศึกษาไทยผลิตได้ปีละหลายแสนคน
มหาวิทยาลัยไทยควรเปิดโควตาให้เด็กแบบซารา และอาจต้องทำการบ้านให้มากขึ้นในการมองหาผลงานที่สะท้อนความรักและความชอบในวิชาชีพของเด็กไทย เด็กที่เก่งเรื่องหุ่นยนต์ รู้จักเชื่อมต่อวงจรต่างๆ และเขียนโปรแกรมควบคุมก็ควรได้เรียนสาขานี้เพราะตรงกับสิ่งที่เขารัก งานแข่งขันในเวทีต่างๆ จึงเป็นช่องทางให้ได้เฟ้นหานิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ และโควตานี้ต้องปรับเพิ่มให้มากขึ้นในอนาคต
มหาวิทยาลัยของไทยไม่ได้ตายเพราะโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป แต่จะตายเพราะไม่เคยปรับตัวเข้าหานักศึกษาอย่างซาราต่างหาก