รู้ไหมอะไรที่จะทำให้คุณออกกำลังกายมากขึ้น? …ก็การแข่งขันในโลกโซเชียลยังไงล่ะ!!!
งานวิจัยเรื่อง ‘Exercise Contagion in a Global Social Network’ หรือแปลเป็นไทยแบบห้วนๆ ว่า ‘การแพร่ระบาดของการออกกำลังกายในโลกโซเชียล’ โดย ซินาน อารัล (Sinan Aral) ศาสตราจารย์ประจำสถาบันศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัย MIT Sloan School of Management และ คริสตอส นิโคไลดีส (Christos Nicolaides) นักวิจัยและนักฟิสิกส์ที่สนใจการเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์พฤติกรรม
งานวิจัยนี้เก็บตัวอย่างจากกลุ่มผู้หลงใหลการวิ่งชาวอเมริกันราว 1.1 ล้านคนที่วิ่งอย่างต่อเนื่องรวมกัน 350 ล้านกิโลเมตร ที่โพสต์และแชร์ข้อมูลการออกกำลังกายของตัวเองในโซเชียลเป็นเวลากว่าห้าปี เก็บข้อมูลด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นที่บันทึกความเร็ว สปีด หรือแคลอรีที่เบิร์นไป และจะโพสต์ข้อมูลอัตโนมัติทันทีที่การวิ่งจบลง
นอกจากนี้พวกเขายังดูถึงพฤติกรรมการกดดูโฆษณาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกาย ความสนใจมีม (meme) เรื่องแรงบันดาลใจในการออกกำลังกายบนอินเทอร์เน็ต และการอัพสเตตัสเฟซบุ๊คทั้งบวกและลบในโลกโซเชียล
ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า “พฤติกรรมใดๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพ สามารถแพร่กระจายและ ‘สร้างอิทธิพลรวมหมู่’ โดยการใช้เครื่องมือในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ให้แก่คนในโลกของพวกเขาได้จริงไหม?”
และได้เป็นข้อสรุปดังนี้…
1. ผู้ที่ออกกำลังกายและใช้แอพลิเคชั่นแสดงการออกกำลังกายในโซเชียลมีเดีย มีแนวโน้มจะออกออกกำลังกายมากขึ้น
เช่นว่า เวลาที่เพื่อนของคุณปิดจ็อบการวิ่งด้วยระยะทางที่เพิ่มขึ้นจากเป้าไปเล็กๆ น้อยๆ เมื่อคุณเห็นตัวเลขนี้ในแอพพลิเคชั่น คุณก็จะรู้สึกว่า “ไม่ได้การแล้ว เราต้องวิ่งเพิ่มขึ้น หรือมากกว่าเพื่อนคนนั้นอีกนิด” และอีกนิดที่พวกเขาบันทึกได้ อยู่ที่ราว 0.3 กิโลเมตร หรือวิ่งเบาๆ เพิ่มขึ้นอีก 10 นาที
เพราะ 2. พวกเขามักจะได้รับอิทธิพล แข่งขัน หรือรู้สึกยอมไม่ได้ถ้าข้อมูลในแอพลิเคชั่นโชว์ว่า คนใดคนหนึ่งในโลกโซเชียล กำลังทำสถิติมากกว่าเขาไปนิดหนึ่งแล้ว
และ 3. ถ้าเป็นผู้ชาย เขาจะรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อน หรือได้รับอิทธิพลได้ทั้งจากผู้หญิงและผู้ชาย หากเป็นไปในแง่อยากจะพัฒนาทั้งการออกกำลังกายและพฤติกรรมอื่นๆ ด้วย
แต่หากเป็นผู้หญิง พวกเธอจะได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่จากผู้หญิงด้วยกันเท่านั้น และจะเป็นไปในทิศทางการควบคุมตัวเอง และการวางแผนในการออกกำลังกายส่วนตัว
ซึ่งในข้อสุดท้าย พวกเขากำลังชี้ว่า ‘นี่คือความแตกต่างของคอนเซ็ปต์เรื่องเพศ เรื่องแรงบันดาล สิ่งกระตุ้น หรือความรู้สึกว่าจะต้องแข่งขัน’… เลยนะ
และพวกเขากล่าวไว้ว่า นี่ไม่ใช่การวิจัยเพื่อจะเสียดสีหรือเย้ยหยันความต้องการแข่งขันของมนุษย์ แต่มีธงว่าอยากจะใช้จิตวิทยาและพลังจากการโอบรัดของโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความท้าทาย และความสนุกเล็กๆ ในการชักจูงคนให้เปลี่ยนพฤติกรรมมารักสุขภาพในระยะยาวมากขึ้น
ทำไมโซเชียลเน็ตเวิร์คจึงส่งอิทธิพลต่อผู้คนมากขนาดนั้น?
อารัลอธิบายว่า เมื่อไรก็ตามที่เรามี mutual friends (เพื่อนร่วมกันในแอพลิเคชั่น) มากๆ หรือมีเครือข่ายที่รวบรวมคนที่ชื่นชอบในกิจกรรมใดหนึ่งมารวมกัน ก็มีแนวโน้มที่จะเกิด social sanctions ผ่านโซเชียลนั้นๆ เช่น ถ้าเห็นเพื่อนคนหนึ่งกินอาหารมีไขมันมากๆ ก็จะตักเตือนว่า สิ่งที่เธอทำนี่มันไม่ถูกนะ หรือให้กำลังใจ หากเห็นสมาชิกกลุ่มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและมีวินัย
และอีกหนึ่งความเห็นของ ทารา ซาโบ (Tara Sabo) ผู้เชี่ยวชาญและบล็อกเกอร์ด้านการออกกำลังกาย A Daily Dose of Fit เขียนถึงพลังแห่งโซเชียลไว้ว่า โซเชียลมีเดียช่วยในการเข้าถึงข้อมูล ทั้งวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและการจัดซื้ออุปกรณ์ และยังเป็นการสื่อสารสองทาง ที่ทำให้เกิดการโต้ตอบในกระดานสนทนาอย่างทันควันหากใครสงสัย หรือตักเตือนกันได้หากเห็นรูปหรือคลิปที่คุณโพสต์และแชร์ ว่าเป็นวิธีที่ผิด หรือเทคนิคต่างๆ ทั้งยังเป็นที่รวบรวมกำลังใจต่างๆ ไม่ให้แต่ละคนเกิดความย่อท้อต่อ ‘ความฟิต’ อีกด้วย
หากอีกดาบหนึ่งของโซเชียลที่ซาโบเขียนไว้คือ โซเชียลทำให้เกิดการกล่าวโทษหรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง จากการเปรียบเทียบรูปร่างตัวเองกับรูปร่างของเพื่อนในอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ค ซึ่งเธอเห็นว่า แม้ว่ามันจะดูโหดร้าย แต่ก็เป็นปฏิบัติการหนึ่งที่โซเชียลส่งอิทธิพลต่อเราได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิจัยยังเห็นว่าเป็นข้อจำกัดในการจะสรุปข้อมูลด้านสุขภาพ คือพฤติกรรมที่พวกเขาไม่เลือกแสดงออกในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกินจริงๆ หรือการออกกำลังกายโดยไม่ได้ใช้แอพลิเคชั่น อย่างไรก็ตาม พวกเขาเห็นว่าข้อมูลทั้งหมดที่เก็บได้ ยังคงตอบโจทย์หลักที่พวกตั้งไว้อยู่
และอาจต้องขีดเส้นใต้ไว้ว่า พฤติกรรมหรืออิทธิพลหมู่ในการออกกำลังกายนี้ พบเพียง 1 ใน 5 ของชาวอเมริกันที่ใช้แอพลิเคชั่นนี้ในการออกกำลังกายเท่านั้น