โต๊ะอาหาร: พื้นที่เสริมสร้างทักษะสังคมของเด็กๆ

ในอดีต มื้อเย็นของวันเสาร์อาทิตย์จะเป็นมื้อที่ทุกคนต้องทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ใครไม่มาช่วยจัดโต๊ะอาหารหรือเดินไปช่วยเตรียมกับข้าวละก็ จะต้องได้ยินเสียงแม่ตะโกนจากหลังบ้านมาหน้าบ้านแน่ๆ

แต่ปัจจุบัน ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป บางครอบครัวพ่อแม่ทำงานกันทั้งคู่ การรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาจึงเป็นเรื่องยาก ต้องมานั่งรอคนนี้เลิกงานทีหรือรอลูกกลับจากทีเรียนพิเศษทีหนึ่งคงไม่ไหว

สุดท้ายส่งผลให้การรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาของบางครอบครัวกลายเป็นอีเวนต์สำคัญ ไม่ต่างจากวันเกิดหรือเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ

แต่งานวิจัยที่หยิบยกขึ้นมาต่อไปนี้ คงต้องทำให้หลายครอบครัวคิดใหม่ ลองใหม่

เพราะล่าสุด งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล (Université de Montréal) ประเทศแคนาดา ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ Journal of Developmental & Behavioral Pediatrics เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันของครอบครัวช่วยเสริมสร้างทักษะสังคมและชีวิตให้กับเด็ก

“ในอดีต นักวิจัยยังเห็นภาพไม่ชัดเจนของสาเหตุอะไรที่ทำให้ครอบครัวที่รับประทานอาหารร่วมกันถึงมีสุขภาพที่ดีกว่า รวมถึงการวัดความถี่ของครอบครัวที่กินอาหารร่วมกันและเด็กๆ ทำอะไรอยู่ในขณะนั้น ก็ไม่อาจจับภาพความซับซ้อนด้านสิ่งแวดล้อมได้

“ดังนั้นงานวิจัยของเราจึงช่วยให้เห็นภาพความเชื่อมโยงเชิงบวกระหว่างการกินอาหารพร้อมหน้ากับครอบครัวว่าสัมพันธ์กับสุขภาพวัยรุ่นอย่างไร” ลินดา ปากานี (Linda Pagani) อาจารย์ด้านสุขภาพจิตศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยดังกล่าว อธิบาย

โดยคณะวิจัยได้ติดตามเด็กจากกลุ่ม Quebec Longitudinal Study of Child Development ซึ่งเกิดในช่วงปี 1997-1998 อายุตั้งแต่ 5 เดือน โดยเริ่มให้ผู้ปกครองส่งรายงานเกี่ยวกับคุณภาพของสภาพแวดล้อมบนโต๊ะอาหาร และความถี่ของการรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัวเมื่ออายุครบ 6 ขวบ จากนั้นจึงเริ่มสรุปชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเด็กๆ ตอนอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเขากำลังเริ่มค้นหาตัวตนและเป็นตัวของตัวเอง

ปากานีอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องติดตามเด็กอย่างยาวนานและต่อเนื่องว่า

“เราตัดสินใจมองไปที่อิทธิพลระยะยาวจากการกินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันของครอบครัว และได้ติดตามเป็นประจำตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว การศึกษาของเราจึงเป็นการพิจารณาถึงความคาดหวังร่วมกัน คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประสบการณ์มื้ออาหารที่รับประทานอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวตอนอายุ 6 ปีและเปรียบเทียบกับความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กตอนอายุ 10 ปีของเด็กที่เกิดปีเดียวกัน”

จากการติดตามมาอย่างยาวนานจึงได้ข้อสรุปว่า เด็กที่นั่งกินอาหารร่วมกับครอบครัวเป็นประจำทุกวันตั้งแต่ 6 ขวบจนถึง 10 ปี มีแนวโน้มที่จะมีทักษะทางสังคมสูงกว่าและมีสุขภาพจิตที่ดีกว่า ตรงข้ามกับอีกกลุ่มที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์บนโต๊ะอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว เมื่ออายุ 10 ปีพวกเขาจึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวกว่า เกเร และไม่ค่อยเชื่อฟัง

“ผลการวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า การรับประทานอาหารร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัวเป็นเป้าหมายของผู้ปกครองเกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กๆ” ปากานีกล่าว

เหตุผลสำคัญคือ การนั่งรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัวถือเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนโค้ชสอนทักษะทางสังคมและทักษะในการสื่อสาร เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การพูดคุยและโต้เถียงในประเด็นสังคมในปัจจุบัน เรียนรู้การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมถึงการปกป้องอารมณ์ของตัวเองและไม่แสดงอารมณ์ของตัวเองในระหว่างรับประทานอาหารอย่างสุดโต่งมากจนเกินไป

การพูดคุยบนโต๊ะอาหารจึงเป็นเหมือนสนามทดลองฝีมือเพื่อเพิ่มพูนทักษะทางสังคมต่างๆ ก่อนที่จะไปเจอสังคมกลุ่มอื่นๆ

รู้แบบนี้แล้วต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่คงต้องหาเวลากินข้าวนั่งโต๊ะร่วมกันกับลูกๆ บ้างแล้ว


อ้างอิงข้อมูลจาก:
sciencedaily.com

 

สนับสนุนโดย

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า