หลังได้รับการจัดอันดับว่าเป็นรัฐที่มีประชากรเด็กและเยาวชนน้ำหนักเกินเกณฑ์มากเป็นอันดับสองของประเทศในปี 2015 รัฐเกรละ (Kerala) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ประกาศมาตรการรับมือปัญหานี้ ด้วยโมเดลการขึ้นภาษีในอาหารอุดมไขมัน หรือ ‘Fat Tax’ โดยอาหารที่ตกเป็นเป้าหมายเป็นพิเศษ ได้แก่ เบอร์เกอร์ และพิซซ่า
ที เอ็ม โธมัส ไอแซค รัฐมนตรีการคลังของรัฐกล่าวว่า นโยบาย ‘Fat Tax’ จะส่งผลให้รัฐเก็บภาษีจากอาหารประเภทเพิ่มขึ้นราว 14.5 เปอร์เซ็นต์ ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเชนดังอย่าง McDonald และ Domino’ Pizza โดยทางการรัฐเกรละคาดว่า จะสามารถเก็บภาษีได้ปีละ 100 ล้านรูปี หรือราว 50 ล้านบาท
ความเห็นหนึ่งของกุมารแพทย์อาวุโส อมาร์ เฟทเทิล กล่าวว่า “ถึงแม้ว่ามาตรการ ‘Fat Tax’ จะไม่สามารถหยุดยั้งเด็กๆ ให้เลิกกินอาหารขยะได้เด็ดขาด แต่อย่างน้อยก็อาจทำให้ปริมาณการบริโภคลดลงได้ เนื่องจากราคาอาหารที่แพงขึ้นจะส่งผลให้ผู้ปกครองต้องจำกัดการรับประทานของเด็กๆ”
ข้อถกเถียงหนึ่งต่อนโยบายนี้คือความกังวลที่ว่า การขึ้นภาษีในกลุ่มอาหารอุดมไขมัน ที่มีนัยพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจอาหารเชนข้ามชาติ จะก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด เพราะจำนวนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ตั้งอยู่ในรัฐเกรละมีเพียง 16 แห่ง คือ แมคโดนัลล์เจ็ดสาขา และโดมิโนเก้าสาขา
ต่อข้อวิจารณ์ดังกล่าว นายแพทย์กรินโต เดวี ชิรักเกการัน (Grinto Davy Chirakkekaran) เสนอความเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กๆ รัฐเกรละมีน้ำหนักสูงเกินเกณฑ์ คือการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
โดยโรงเรียนรัฐบาลบางโรงจัดการเรียนการสอนที่มีคาบเรียนถึง 14.00 -14.30 น. ทำให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารเที่ยงช้าไปโดยปริยาย นอกจากนั้น เด็กๆ หลายคนมักไม่ได้กินอาหารเช้าเพราะต้องรีบไปโรงเรียนให้ทันเวลา อาหารฟาสต์ฟู้ดจึงกลายเป็นตัวเลือกที่นักเรียนนิยมหามารับประทานระหว่างมื้อแทน