ภาพ: facebook.com/fireintheblood
สารคดีได้รับเลือกเข้าฉายในเทศกาลซันแดนซ์ ปี 2013 ว่าด้วยการเข้าถึงยาต้านไวรัส HIV/AIDS ในประเทศยากจน ทั้งแถบแอฟริกาและเอเชีย เปิดโปงการกระทำของอุตสาหกรรมและบรรษัทยายักษ์ใหญ่ที่เห็นผลกำไรสำคัญกว่าชีวิตผู้คน พร้อมๆ กับการต่อสู้ของหมอที่คลุกคลีกับผู้ป่วย HIV เจ้าของบริษัทยาชื่อสามัญชาวอินเดีย นักข่าว นักคิด และนักรณรงค์ อดีตผู้นำอย่าง เนลสัน แมนเดลา และบิล คลินตัน กับความพยายามจะทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงยาได้อย่างเท่าเทียมกัน
สภาพที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1996 เมื่อมี ยาต้นแบบ1ผูกขาดอยู่ในตลาดยาจากไม่กี่บริษัท ก็ไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้ที่มีสตางค์จ่ายเท่านั้น จึงจะได้สิทธิ์มีชีวิตอยู่ต่อ แม้แต่ในเมืองไทยสมัยนั้น ยังมีการจับฉลากผู้ป่วยเพื่อเข้ารับยาต้านไวรัส ประมาณการณ์กันว่า มีผู้ป่วยในแอฟริกาและทั่วโลกต้องเสียชีวิตเพราะเข้าไม่ถึงยาในปี 1996 ปีเดียวกว่า 2 ล้านราย
จุดเปลี่ยนสำคัญของโลก เกิดขึ้นเมื่อบริษัท ยาชื่อสามัญ2 ในอินเดียอย่าง Cipla โดย ยูซุฟ ฮามีด สามารถผลิตยาต้านไวรัสสำเร็จ นั่นก็ไม่ต่างจากการเปิดเผยต้นทุนที่แท้จริงของยาต้านไวรัสให้ทั่วโลกได้รู้
ยาชื่อสามัญดังกล่าว สามารถลดค่าใช้จ่ายเฉพาะยาของผู้ป่วยที่ 645,000 เหรียญสหรัฐต่อปี เหลือ 16,000 เหรียญสหรัฐต่อปี นี่คือกรณีชัดเจนที่การปกป้องลิขสิทธิ์ส่งผลร้ายแรงต่อคนนับสิบล้านทั่วโลก
ส่วนเรื่องที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า สาเหตุที่ยามีราคาแพง เพราะบริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนายาเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ขณะที่มีการเปิดเผยสถิติว่า ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นร้อยละ 1.3 ของรายได้จากการจำหน่ายยาเท่านั้น
นอกจากการร้อยเรียงบทสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องและฟุตเตจข่าวแล้ว หนังยังให้ภาพเลือดเนื้อจริงๆ ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้วเหมือนเกิดใหม่ จากคนป่วยไม่มีแรงแม้จะลุกจากเตียงเอง หลังได้รับยาและรักษาตัว ก็สามารถออกมาแข่งจักรยาน ชนะรางวัลเพาะกาย หรือแม้แต่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อเกินจากที่หมอเคยวินิจฉัยไปเมื่อยังไม่ได้รับยา
หมายเหตุ
1. ยาต้นแบบ (Original Drug) เป็นยาที่คิดค้นวิจัย และวางจำหน่ายในตลาดเป็นเจ้าแรก มีการจดสิทธิบัตร ครองความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวในระยะเวลาที่กำหนด
2. ยาชื่อสามัญ (Generic Drug) หลังจากสิทธิบัตรหมดอายุ บริษัทยารายย่อยจะสามารถผลิตยาตัวเดียวกันนี้ออกมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาย่อมเยากว่ามาก