การควบคุมอาวุธปืนและการก่ออาชญากรรม

ปืนของ จอร์จ ซิมเมอร์แมน และชีวิตของ เทรย์วอน มาร์ติน

กุมภาพันธ์ ปี 2012 หลายคนอาจจะจดจำเหตุการณ์ฆาตกรรมคนดำคนหนึ่งด้วยอาวุธปืน ผู้สังหารเป็นคนขาวในรัฐฟลอริดา ซึ่งต่อมาศาลแห่งรัฐฟลอริดาได้มีคำตัดสินให้ผู้ลั่นไกพ้นจากความผิด ด้วยเหตุผลว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจตามหลักการป้องกันตัวเอง

ในค่ำคืนปกติทั่วไปของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 ที่ฟลอริดา

เทรย์วอน มาร์ติน

เด็กชายผิวดำชื่อ เทรย์วอน มาร์ติน สวมเสื้อกันหนาวแบบมีฮูดตัวเก่ง เดินออกจากบ้านไปยังร้านสะดวกซื้อ เพื่อซื้ออาหารกลับมารับประทาน พร้อมๆ กับดูถ่ายทอดสดการแข่งขันบาสเก็ตบอล กิจกรรมโปรดที่เขาทำอยู่เป็นประจำ ขณะที่เขากำลังเดินผ่านย่านชุมชนคนขาวที่ขึ้นชื่อเรื่องขโมยขโจรชุกชุมแห่งนั้น เขารู้สึกว่ามีคนกำลังเดินตามมา

ลักษณะของชายคนดังกล่าวเป็นชายผิวขาว รูปร่างท้วม เดินตามเขาอย่างไม่ลดละ เทรย์วอนมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ขณะที่กำลังสาวเท้าไป มือก็พลางกดโทรศัพท์หาแม่ของเขา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวไม่สบายใจกับแม่ เมื่อปลายสายบอกให้รีบกลับบ้าน เขาปฏิบัติตามนั้น วางสาย และรีบเดินกลับบ้าน

ชายผิวขาวที่กำลังเดินตามมา จอร์จ ซิมเมอร์แมน อเมริกันชนเชื้อสายยิว เรื่องราววันนั้นอาจจะไม่เป็นที่จดจำแต่อย่างใด หรืออาจจะเหมือนวันธรรมดาทั่วไปของคนฟลอริดาด้วยซ้ำ หากไม่ใช่เพราะว่า ซิมเมอร์แมนมีความไม่ไว้วางใจเทรย์วอน บวกกับซิมเมอร์แมนเป็นคนที่มีทัศนคติเกลียดคนดำเป็นทุนเดิม เขาเดินตามเทรย์วอนโดยมีปืนพกประจำข้างกาย

ในจังหวะเดียวกับที่เทรย์วอนกำลังโทรหาแม่ ซิมเมอร์แมนก็กำลังต่อสายโทรหาตำรวจท้องที่ เพื่อบอกความสงสัยบางอย่างว่า มีคนไม่น่าไว้วางใจเดินอยู่ในย่านที่เขาอาศัยอยู่

จากบันทึกเสียงของ ‘911 call’ ที่ถูกนำมาเปิดเผยในภายหลัง จึงได้ทราบว่า ซิมเมอร์แมนบอกเล่าแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจว่า คนดำที่เขากำลังเดินตามอยู่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยเกินไป

“ผมกำลังตามเขาอยู่” เขาบอกตำรวจไปอย่างนั้น

ตำรวจตอบกลับมาว่า “คุณกลับไปเถอะ เราจะส่งเจ้าหน้าที่ไป” เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบันทึกการสนทนาผ่านโทรศัพท์ระหว่างซิมเมอร์แมนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อทั้งสองวางสายโทรศัพท์ ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะคลุมเครือยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งคู่ได้ปะทะกันและเกิดการวางมวยขึ้น ก่อนที่ซิมเมอร์แมนจะดึงปืนพกข้างกายยิงเข้าใส่เทรย์วอน เด็กหนุ่มผิวดำ จนเสียชีวิต

จากบันทึกคำให้การของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการไต่สวนกันภายหลังพบว่า เมื่อตำรวจมาถึง ตำรวจไม่ได้จับกุมซิมเมอร์แมนแต่อย่างใด สิ่งที่ตำรวจทำคือ ปล่อยให้เขากลับบ้าน

จอร์จ ซิมเมอร์แมน

สิทธิ์ในการยิงเพื่อป้องกันตัว

เหตุการณ์นี้ลุกลามบานปลายออกไป ผู้คนจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการครอบครองอาวุธปืน แต่ยกระดับเป็นการรวมตัวเพื่อกดดันให้ทบทวนหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน 200 กว่าปี อันถือเป็นจุดอ้างอิงให้หลายมลรัฐของสหรัฐอนุญาตให้พลเมืองของตนพกพาอาวุธได้อย่างง่ายดาย

หลักการนี้สัมพันธ์กับการใช้อาวุธปืนอย่างไร นั่นเป็นเพราะว่ากฎหมายการ ‘ยืนหยัดสู้’ (stand your ground law) ที่ใช้ในสหรัฐนี้ คือกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้อาวุธในการปกป้องตนเองได้ ถ้าบุคคลผู้นั้นเชื่อว่าชีวิตของเขากำลังได้รับอันตราย

ดังการไต่สวนจะพบว่า ซิมเมอร์แมนซึ่งเป็นอาสาสมัครป้องกันชุมชน (community watch) อธิบายเหตุผลในการใช้อาวุธปืนว่า “เขาใช้สิทธิ์ในการป้องกันตัว”

ขณะที่การค้นตัวเทรย์วอน เด็กหนุ่มผู้โชคร้าย พบเพียงว่าทั้งเนื้อทั้งตัวมีแค่ขนมที่เพิ่งซื้อจากร้านสะดวกซื้อ

กระแสความไม่พอใจต่อกรณีนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากการเคลื่อนไหวในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ล่ารายชื่อเพื่อให้มีการไต่สวนคดี เดินขบวนกดดันให้ดำเนินคดีในเชิงละเมิดสิทธิ์การเป็นพลเมือง จากประชาชนในหลายๆ มลรัฐ ไมอามี วอชิงตัน นิวยอร์ค จนกลายเป็นข้อถกเถียงระดับชาติ ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพกพาอาวุธปืนแถวหน้าของโลก วุฒิสมาชิกบางคนเสนอให้มีการนำกฎหมายการป้องกันตนเองของพลเมืองขึ้นมาพิจารณาใหม่ ฯลฯ

เมื่อพ้นข้อกล่าวหา ซิมเมอร์แมนตัดสินใจประมูลปืนพกของเขา เพื่อหาทุนเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านกลุ่มผิวสีในสหรัฐ ซึ่งตัวเลขการประมูลปืนผ่านทางออนไลน์นี้สูงถึง 65 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2,300 ล้านบาท ทั้งที่ตั้งราคาเริ่มต้นไว้เพียง 5,000 ดอลลาร์เท่านั้น

ปืนของ จอร์จ ซิมเมอร์แมน

การครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐ

การทบทวนระดับการครอบครองอาวุธปืนจึงเป็นข้อถกเถียงที่มาพร้อมกับการทบทวนหลักการป้องกันตัวเอง

ผู้มีชื่อเสียงจากวงการบาสเก็ตบอล นักการเมือง ศิลปิน ต่างออกมาแสดงจุดยืนว่า เด็กคนนี้เป็นเหยื่อของการเหยียดผิว และตอกย้ำให้เห็นปัญหาซ้ำซากว่ามีการใช้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติ โดยข้ออ้างในเรื่องการป้องกันตัวเองและการครอบครองปืนส่งผลต่อคดีอาชญากรรมนี้เป็นอย่างมาก

ผู้ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลต่างโต้แย้งว่า ซิมเมอร์แมนมีสิทธิ์ที่จะทำตามคำแนะนำของตำรวจ แต่กลับเลือกสถาปนาตัวเองเป็นตำรวจพลเมือง จนส่งผลให้เกิดการสูญเสียในที่สุด

หลังจากนั้นผู้คนได้ออกแคมเปญรณรงค์ด้วยการสวมใส่กันหนาวมีฮูด และร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการประกาศว่า “เราคือเทรย์วอน” (We are Trayvon)

ความตึงเครียดนี้บอกอะไรได้บ้าง

หากค่อยๆ คิด จะพบคำอธิบายต่อเรื่องนี้ว่า เป็นความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างหลักการป้องกันตนเอง สิทธิ์ในการครอบครองปืน และการก่ออาชญากรรมด้วยอคติทางสีผิว เป็นต้น

ผลที่ตามมาจึงทำให้ข้อถกเถียงกลายเป็นว่า สิทธิ์ในการพกพาอาวุธปืนสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหนต่อการตัดสินใจใช้สิทธิ์เพื่อปกป้องตนเอง

คำถามที่ว่า ความเชื่อในเรื่องสิทธิ์การพกพาอาวุธปืนและการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ของตัวเองที่มีสิทธิ์ในการใช้อาวุธเพื่อปกป้องตัวเองนั้น ควรจะอยู่ในระดับใดจึงจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทที่เป็นจริงของแต่ละสังคม ซึ่งในหลายประเทศมีความแตกต่างกันดังนี้

แต่ละประเทศอนุญาตให้พกปืนกันอย่างไร

สิทธิ์ในการพกพาอาวุธปืนของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันไปตามแต่หลักคิด บริบททางสังคม การเมือง ประเพณี และเหตุผลทางประวัติศาสตร์

ประเด็นนี้ปรากฏในบทความเรื่อง ‘11 Countries with the Best Gun Laws in the World’ ซึ่งแสดงผลการจัดอันดับประเทศที่มีมาตรการเหมาะสมต่อกฎหมายการครอบครองอาวุธปืน 11 อันดับ โดยเรียงลำดับจากน้อยไปหามาก

จากข้อมูลพบว่า บางประเทศ ใบอนุญาตเพียงใบเดียวก็สามารถครอบครองได้ตั้งแต่ปืนยิงนกไปจนถึงไรเฟิลสังหารบุคคล หรือในบางประเทศอาจจะต้องขออนุญาตเพี่อครอบครองอาวุธปืนในระดับที่ยากง่ายแตกต่างกันออกไป

เช่น ในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร พวกเขาเผชิญกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนนั้นผูกพันกับใบอนุญาตครอบครองอาวุธสากล และมีข้อห้ามสำหรับปืนไรเฟิลและปืนสั้น

ขณะที่หลายคนมักเข้าใจว่าฝรั่งเศสมีภาพลักษณ์เป็นประเทศที่ปราศจากการให้พลเมืองพกพาอาวุธปืน แต่กลับพบว่าประเทศดินแดนน้ำหอมนี้ขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องการแข่งขันกีฬายิงปืนด้วยเช่นกัน ผู้คนสามารถครอบครองอาวุธปืนสำหรับกีฬาและการล่าสัตว์ได้ ถ้ามีการขอใบอนุญาต

แต่สวิตเซอร์แลนด์แตกต่างอย่างมากกับในหลายประเทศของยุโรป จากการสำรวจ พบว่าในปี 2005 ประเทศที่มีประชากรเพียง 7 ล้านคนนี้ มีประชาชนที่ครอบครองอาวุธปืนไว้ที่บ้านประมาณ 29 เปอร์เซ็นต์ต่อครัวเรือน และคาดการณ์กันว่า มีปืน 25 กระบอกต่อ 100 ครอบครัว ขณะที่ทหารปลดประจำการยังสามารถพกพาอาวุธปืนกลับบ้านได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่อมามิใช่ว่าพวกเขาเผชิญกับปัญหาการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น หากแต่เป็นอัตราฆ่าตัวตายด้วยอาวุธสูงที่สุดในยุโรป ส่งผลให้ในปี 2011 สวิตเซอร์แลนด์ต้องทำประชามติห้ามพกพาอาวุธปืน เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของพลเมือง

ในสวีเดน ประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมต่ำ พบว่า ผู้ครอบครองอาวุธปืนต้องมีใบอนุญาต ซึ่งไปเป็นตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธสงคราม ที่ตราเป็นกฤษฎีกาตั้งแต่ปี 2009 ใบอนุญาตนี้ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับปืนอัดลมที่มีแรงอัดต่ำกว่า 10 จูล อาวุธเหล่านี้ไม่ต้องมีใบอนุญาตก็ได้ สำหรับใบอนุญาตนี้ ตำรวจจะเป็นผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาตให้ และต้องมีอายุ 18 ปีเต็มขึ้นไปเท่านั้นที่สามารถขออนุญาต มีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับกิจกรรมล่าสัตว์ของสมาคมยิงปืน

กรณีที่ใกล้เคียงกันกับสวีเดน นอร์เวย์มีความเข้มงวดมากกว่า โดยการครอบครองอาวุธปืนถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยรัฐ หลักการนี้เป็นผลมาจากการผนวกแง่มุมทั้งในทางการเมืองและในทางกฎหมายเข้าด้วยกัน พลเมืองจะได้รับอนุญาตให้ครอบครองอาวุธปืนเฉพาะกรณีเท่านั้น เกือบทั้งหมดจะใช้สำหรับการล่าสัตว์และใช้สำหรับเล่นกีฬา โดยใช้กฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืน และกฎหมายลูกที่คลอดออกมาในปี 2009 อีกฉบับสำหรับควบคุม

ตัวแปรที่ไม่ผันตาม

ถึงกระนั้นเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจต้องระมัดระวัง เพราะจะทำให้ทึกทักไปได้ว่าการพกพาอาวุธปืนนั้นเป็นตัวแปรสัมพันธ์ไปกับปัญหาการก่ออาชญากรรม และความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามท้องถนน

ในบทความเรื่อง ‘What countries have the strictest gun control laws? How has it affected their crime rates?’ ให้ข้อมูลที่ซับซ้อนมากกว่านั้น เมื่อพบว่าการควบคุมอาวุธปืนของแต่ละประเทศไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด หรือเกี่ยวข้องกับกรณีที่ผู้มีอาวุธปืนในการครอบครองจะมีความสุขในการอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ

แสดงให้เห็นค่าเฉลี่ยของจำนวนบุคคลที่พกพาอาวุธปืนเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมดของประเทศ ภาพ: gunfacts.info

 

รายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า การพิจารณาการออกใบอนุญาตในหลายประเทศมีเหตุผลแตกต่างกันไป ซึ่งเปลี่ยนความเข้าใจโดยทั่วไปที่มักคิดกันว่า ‘อัตราอาชญากรรมสอดคล้องกับความเข้มงวดของการครอบครองอาวุธปืน’ ซึ่งในความจริงแล้วอัตราอาชญากรรมของประเทศอาจจะมีทั้งที่สอดคล้องและไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับการครอบครองอาวุธก็ได้

ดังที่พบว่า ในบางประเทศ การครอบครองอาวุธปืนนั้นเป็นไปได้ยาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนการก่ออาชญากรรม แต่อย่าเพิ่งวางใจไป เพราะในบางประเทศ เช่น เม็กซิโก จะพบว่า มีการควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวด แต่กลับมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูง ซึ่งการจำกัดการครอบครองอาวุธไม่ได้ส่งผลเป็นรูปธรรมแก่การลดลงของการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด

เช่นเดียวกันกับประเทศอังกฤษ ที่มีอัตราอาชญากรรมที่สูง แม้จะมีข้อห้ามในการครอบครองอาวุธปืนที่เข้มงวดตามพระราชบัญญัติที่คลอดออกมาในปี 1997 โดยยกเว้นให้เพียงอาวุธสำหรับล่าสัตว์ การกีฬา และปืนที่ระลึกจากสงครามเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้มงวดสูงสำหรับการครอบครองอาวุธปืน

ลักษณะของกฎหมายในไทยนั้นคล้ายคลึงกับเม็กซิโกและอังกฤษอยู่บ้าง คือการควบคุมการพกพาอาวุธมีความเข้มงวด แต่จะพบว่า มีการใช้อาวุธปืนทำร้ายกันอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวันอยู่เสมอ

ในประเทศไทยผู้ครอบครองอาวุธปืนจะต้องมีใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 กล่าวเฉพาะใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนี้ จะต้องออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน ในการกีฬา หรือยิงสัตว์เท่านั้น และออกให้แก่อาวุธปืนแต่ละกระบอกเป็นรายๆ ไป โดยให้อำนาจแก่นายทะเบียนท้องที่ใช้ดุลยพินิจอนุญาตให้นิติบุคคลมีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน เพื่อป้องกันทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้นๆ ว่าเป็นไปด้วยความเหมาะสมหรือไม่

อัตราการเสียชีวิตของพลเมืองจากอาวุธปืนของแต่ละประเทศ

ขณะที่เหตุผลของการเข้มงวดในการครอบครองอาวุธปืนของญี่ปุ่นแตกต่างออกไป กล่าวคือ รัฐบาลญี่ปุ่นมิได้มีเป้าประสงค์เพื่อลดจำนวนการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด หากแต่เป็นเหตุผลทางประวัติศาสตร์การเมือง ทำให้พลเมืองของญี่ปุ่นมีผู้ครอบครองอาวุธปืนเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ในแง่นี้ การพยายามแก้ไขปัญหาการก่ออาชญากรรม อาจจะไม่ใช่เพียงการออกกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน แต่ต้องแก้ปัญหาโดยพิจารณาจากเงื่อนไขอย่างอื่นประกอบด้วย ซึ่งอาจจะสำคัญมากกว่า ดังจะเห็นจากรายงานนี้ว่า บางประเทศที่เข้มงวดในการครอบครองอาวุธ แต่ก็จะมีวิธีการที่เล็ดลอดในการส่งต่ออาวุธเพื่อทำร้ายกันจนได้

บทเรียนในหลายประเทศช่วยให้เห็นว่า การอนุญาตพกพาอาวุธปืนแทบจะเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ได้มีนัยยะต่อการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด หากแต่มาจากเงื่อนไขที่ซับซ้อนหลายประการ เช่น เป็นอคติทางเชื้อชาติ ความเหลื่อมล้ำในสังคม การใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ อัตราการว่างงาน เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ

ถึงกระนั้นก็ยังสามารถมองเห็นแบบแผนที่ดีได้จากในกลุ่มประเทศที่เงื่อนไขต่างๆ ที่กล่าวมาได้รับการพัฒนา ซึ่งพวกเขามีอัตราการก่ออาชญากรรมที่ต่ำ เหตุผลหลักไม่ใช่ว่าพวกเขาควบคุมการครอบครองอาวุธปืนหรือไม่ หากแต่พวกเขาเลือกจะปรับปรุงกฎหมายที่เห็นว่าล้าหลังอย่างมีพลวัตอยู่เสมอ เช่นในกรณีของสวิตเซอร์แลนด์ หรือสวีเดน

และอาจจะช่วยยืนยันให้มั่นใจได้ว่า การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เป็นสิ่งแสนธรรมชาติ ธรรมดา ที่คนในสังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างอุ่นใจขึ้นมาบ้าง เพราะเป้าหมายในแต่ละสังคมจะมีอะไรที่มากหรือน้อยกว่านี้ หากมิใช่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและได้รับความเป็นธรรม


อ้างอิงข้อมูลจาก:

กรมการปกครอง. 2555. คู่มือปฏิบัติงานอาวุธปืน เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: อาสารักษาดินแดน
insidermonkey.com
theguardian.com

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า