ภาพถ่าย: ฮาบิ๊บ คอแด๊ะ
วันที่ 6 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่เขื่อนบางลางระบายน้ำออกจากเขื่อนเพิ่ม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของโครงสร้างเขื่อนเอาไว้ หลังปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา 3 วันมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมีพื้นที่รับมวลน้ำที่ล้นตลิ่งคือ อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา อำเภอกรงปินัง อำเภอรามัน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ไปจนถึงจังหวัดปัตตานี
เหตุการณ์น้ำท่วมสามจังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหลายหมื่นครัวเรือน พื้นที่ทางเศรษฐกิจเสียหาย ซ้ำร้ายเพิ่มเติมกับวิกฤติโควิด-19 แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้วในบางพื้นที่ แต่เสียงจากในพื้นที่บอกว่านี่เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ ‘ผิดปกติ’
รายได้ที่หายไปกับน้ำ
กริยา มูซอ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย เป็นหนึ่งในชาวบ้านตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ที่ได้รับความเสียหายทางการเกษตร ความแรงและมวลน้ำที่มากกว่าปกติที่ถูกปล่อยออกจากเขื่อนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่ที่ปกติแล้วไม่ใช่พื้นที่รับน้ำต้องเสียหายเป็นวงกว้าง เขาเล่าว่าระยะเวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมงหลังจากปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนก็ทำให้ถนนใช้การไม่ได้แล้ว
“ปศุสัตว์เสียหาย ชาวบ้านไปย้ายวัวไม่ทัน วัวหลายตัวถูกพัดหายไปกับน้ำ ส่วนผลผลิตทางการเกษตร เช่น ฟาร์มเห็ด แปลงผัก ต้นทุเรียนก็ได้รับความเสียหาย แล้วแนวโน้มน่าจะไม่รอด คือประชาชนที่เพาะปลูกตรงนี้ก็ไม่ได้คาดการณ์ว่า น้ำจะล้นออกมาเยอะขนาดนี้ หลุดจากขอบแม่น้ำไปเยอะครับ”
กริยายกตัวอย่างว่า ทุเรียนอายุ 3-5 ปี ความเสียหายต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 50,000 – 100,000 บาท โดยปกติพื้นที่ที่ปลูกทุเรียน 10 ไร่ก็จะทำเงินได้ราว 1 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ผลผลิตทุเรียนที่เก็บเกี่ยวได้เสียหายไปเยอะพอสมควร
ปัญหาที่ตามมาคือมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งประชาชนที่ทำอาชีพเกษตรกรบางคนไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ทำให้อาจจะไม่ได้รับการเยียวยา กริยาเล่าให้ฟังเพิ่มอีกว่า โดยปกติแล้วภาครัฐจะให้เงินเยียวยาประมาณ 1,200 – 1,800 บาท ต่อไร่สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นั่นหมายถึงค่าชดเชยนั้นได้ไม่คุ้มเสียอยู่แล้วเมื่อเทียบกับความเสียหายของสวนทุเรียนราว 50,000 – 100,000 บาทต่อไร่
“ประชาชนตอนนี้ก็เครียด หมดหวัง แล้วก็คงต้องหาแนวทางในการที่จะหาเงินคืนมาฟื้นฟูด้วยตัวเอง อาจจะมาจากการกู้หรือหาแนวทางต่างๆ ที่จะฟื้นฟู บางรายคงต้องหยุดไป ตอนนี้ก็อยู่ในสภาวะที่หนักพอสมควรครับ”
ฝนหยุดแล้ว แต่น้ำยังไม่หยุด
“เขื่อนบางลาง กั้นแม่น้ำปัตตานีบริเวณบ้านบางลาง ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา สร้างเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 ภายหลังการสร้างเขื่อน ประชาชนบริเวณท้องที่อำเภอบันนังสตา และอำเภอธารโต ประมาณ 1,100 ครอบครัวต้องถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในเว็บไซต์ กฟผ. ระบุว่า มีการชดเชยและเยียวยาแล้ว
“คนส่วนใหญ่เขตตลิ่งชินกับน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่เขาไม่ชินกับการที่น้ำท่วมนานๆ เพราะบางพื้นที่เป็นพื้นที่น้ำไหลก็โอเคอยู่ น้ำก็ค่อนข้างที่จะสะอาด แต่บางพื้นที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมขังซึ่งประสบการณ์ในการรับมือน้ำท่วมมีน้อยมาก ก็เลยเกิดปัญหาในการเอาตัวรอด มันผิดปกติตรงที่ฝนก็หยุดแล้วแต่น้ำก็ขึ้นเรื่อยๆ”
ฮาบิ๊บ คอแด๊ะ ไกด์ท่องเที่ยวในพื้นที่เบตง จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในประชาชนที่กำลังทำภารกิจช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ด้วยกันเอง เขาเล่าให้ฟังถึงความผิดปกติของน้ำท่วมครั้งนี้ว่า โดยปกติแล้วบริเวณตลิ่งจะมีน้ำท่วมเป็นปกติ แต่น้ำท่วมเข้ามาเขตเมืองจะเกิดขึ้นประมาณ 4-5 ปีต่อครั้งเท่านั้น โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากน้ำที่ระบายไม่ทัน แต่รอบนี้นอกจากระบายไม่ทันแล้วยังมีน้ำจากเขื่อนมาเสริม และหน่วยงานราชการไม่สื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่าจะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อน
“คืนนั้นคุณรู้อยู่แล้วว่าพรุ่งนี้มีแนวโน้มที่คุณจะเปิดสวิตช์ปล่อยน้ำ ทำไมคุณไม่ประกาศ ณ วินาทีนั้นเลย เพราะว่าคุณอยู่ในภาวะฉุกเฉินไม่ต่างจากประชาชนที่อยู่ข้างบนเขื่อนและข้างล่างเขื่อน ข้างบนเขื่อนน้ำท่วมข้างล่างเขื่อนก็น้ำท่วมในเวลาเดียวกัน มันเป็นความผิดปกติที่ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นในพื้นที่”
ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดีย กว่าที่ฮาบิ๊บจะทราบข่าวการเปิดประตูน้ำที่ กฟผ. โพสต์แถลง ก็เป็นเวลาเกือบเที่ยงหรือบ่ายแล้ว ซึ่งหากนับเวลาที่เขื่อนเริ่มเปิดประตูตั้งแต่ 6 นาฬิกา นั่นหมายถึงข่าวล่ามาช้ากว่าที่ควรจะเป็นถึง 7 ชั่วโมง
การสื่อสารไม่ดีพอ
“สิ่งที่ประชาชนรู้สึก คือเราแทบไม่ได้รับทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่าปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาปล่อยมาเท่าไหร่ และมันจะมาถึงเราตอนไหน และจะกินพื้นที่กี่ตำบลกี่อำเภอ ถ้าบ้านเราอยู่ในหมู่นี้น้ำจะมาถึงเราไหมและถ้ามันมาถึงแล้วมันจะมีความสูงเท่าไหร่ เราจะต้องขนของขึ้นกี่เมตร หรือว่าถ้าน้ำมาอยู่กับเราแล้วจะอยู่กี่วัน ประชาชนไม่มีข้อมูลตรงนี้ เราไม่ทราบ หน่วยงานในท้องถิ่นก็บอกแค่ว่าให้เฝ้าระวังน้ำท่วมและเราก็จะพูดต่อๆ กันแบบนี้”
วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบริเวณ ถนนหนองจิก ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ติดกับคลองที่สูบน้ำมาจากสถานีรับน้ำในเขตเมืองชั้นในที่ล้นมาจากแม่น้ำปัตตานี แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะผ่อนคลายลงแล้วแต่เธอมองว่าประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการเผชิญภัยพิบัติครั้งนี้
วลักษณ์กมลอธิบายว่า ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนสามารถวัดและทราบปริมาณได้ เพราะเป็นน้ำที่ปล่อยออกมาเองซึ่งแตกต่างจากน้ำฝนที่ขึ้นอยู่กับเมฆหรือความกดอากาศ กระทั่งลมมรสุมที่คาดเดาได้ยากกว่า เธอไม่ปฏิเสธว่าหน่วยงานก็ให้ข้อมูล แต่ข้อมูลที่แจ้งประชาชนนั้นเป็นเชิงตัวเลขที่ไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเฝ้าระวังภัย
“ประชาชนไม่ได้อยากรู้ว่าประตูน้ำปิดลงมากี่เมตรหรือเท่าไหร่ แต่ประชาชนอยากรู้ว่าน้ำที่ปล่อยออกมาจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขา เขาจะได้เตรียมตัว เขาจะได้รู้ว่าต้องอยู่กับมันไปนานเท่าไหร่ และระหว่างที่เขาอยู่เขาต้องอยู่ยังไงถึงจะปลอดภัย ซึ่งประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกย่อยเหล่านี้ มันก็ทำให้ประชาชนมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง”
วลักษณ์กมลเล่าให้ฟังว่า เธอเห็นประชาชนโพสต์เฟซบุ๊คว่าไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร แล้วก็มีคนของหน่วยงานราชการมาตอบว่า เขาไม่มีเวลามานั่งเล่นโซเชียลมีเดีย เพราะเขาต้องไปช่วยคนที่เดือดร้อน เธอจึงตั้งคำถามกับสิ่งนี้ว่า แล้วการให้ข้อมูลกับประชาชนไม่ใช่หนึ่งในการให้ความช่วยเหลือหรอกหรือ เธอเรียกร้องว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีคนที่ให้ข้อมูลและย่อยข้อมูลให้ประชาชน ถ้าทำในส่วนนี้ได้ดีพอ ประชาชนก็พอจะจัดการชีวิตตัวเองได้
ความสนใจในสามจังหวัดที่เหินห่าง
เรื่องราวอุทกภัยความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อหลัก หรือแม้แต่รัฐเองที่ให้ความช่วยเหลืออย่างล่าช้า ทำให้เกิดคำถามพ่วงในใจขึ้นว่าทำไมเรื่องราวของพวกเขาจึงตกหล่นและหายไป ท่ามกลางยุคที่สื่อมีศักยภาพในการรายงานข่าวสูง
“ส่วนหนึ่งก็คือตัวสื่อเองก็เป็นสื่อที่สนใจประเด็นส่วนกลางเป็นหลัก สื่อเองก็ไม่ได้แสดงความรู้ หรือไม่ได้แสดงความเป็นสื่อมืออาชีพที่จะเสนอข้อมูลที่ครอบคลุม สื่อเองก็คือตัวแทนของคนในกรุงเทพฯ นั่นแหละค่ะ
“มันมีคนคิดถึงขนาดว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่อะไรกันแน่ แทบไม่ได้รับความสนใจเลย เขาบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกจัดไปอยู่อันดับที่รองลงไปจนแทบไม่ได้รับความสำคัญจากส่วนกลาง” วลักษณ์กมลกล่าว
ทางด้านฮาบิ๊บมองว่า ถ้ารัฐจริงจังกับการแก้ปัญหามากกว่านี้ หรืออย่างน้อยขอโทษที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาคิดว่าคนที่ได้รับผลกระทบอาจจะรู้สึกดีกว่านี้
“คนกรุงเทพฯ ที่เป็นเพื่อนเราที่โอนเงินมาให้เรายังงงว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็เปรียบกับน้ำท่วมที่ทุ่งสง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว เห็นได้ชัดว่าการเล่นข่าวของสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักอย่างพวกทีวีก็เพิ่งจะมาเล่นตอนที่ปัตตานีน้ำท่วมในขณะที่น้ำท่วมผ่านไปแล้ว 3-4 วัน ซึ่งในขณะที่เขาพูดถึง น้ำมันแห้งไปแล้วอะไรประมาณนี้ สื่อรองอย่างเฟซบุ๊คที่มีผู้ติดตามเยอะๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากเพื่อนๆ เราที่พยายามประโคมข่าว ให้เขาช่วยในการกระจายข่าว
“ที่นี่ไม่ได้เดือดร้อนถึงขนาดว่าน้ำท่วมไม่ได้ คนที่นี่ยอมรับว่ามันท่วมได้เพราะเป็นความเชื่อของศาสนาที่เขาเชื่อว่าเป็นบทกำหนดของพระเจ้า แต่ว่าเขาโกรธตรงที่หน่วยงานราชการทำงานไม่เร็วเท่ากับคนในพื้นที่ทำกันเอง”
ให้ชุมชนมีส่วนร่วมคือหนทางและทางออก
“บทเรียนปีนี้ควรเป็นบทเรียนที่ กฟผ. และผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรส่วนท้องถิ่นแล้วก็ตัวแทนภาคประชาชนควรที่จะมาทำความเข้าใจ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ที่ไม่คล่องตัว หน่วยงานยังแยกกันทำงานไม่ได้บูรณาการคำสั่งอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นอำนาจของใครที่จะรับผิดชอบ ตั้งแต่การตัดสินใจแผนการระบายตั้งแต่ช่วงต้นของฤดูฝน มันต้องตั้งเกณฑ์วัดว่า กฟผ. จะเอากำไรจากการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด หรือจะคำนึงถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่รับน้ำที่หน้าเขื่อน อันนี้เป็นเกณฑ์ที่เราต้องมานั่งคุยกัน”
กริยามองว่าควรมีการเปิดพื้นที่ให้ร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางออก โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำมากกว่านี้ เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำต้องเสียประโยชน์เต็มๆ จากความเสียหายในพื้นที่ทางการเกษตร กระทั่งประชาชนในพื้นที่เองควรจะได้รับสวัสดิการพิเศษในการเยียวยาหรือไม่ หรือ กฟผ. จะเยียวยาหรือเปล่า เพราะคนที่ได้รับผลกระทบก็เป็นพื้นที่เดิมๆ ตลอด เพื่อไม่ให้ความเดือดร้อนหรือสิ่งที่สูญเสียไปต้องสูญเปล่า
“ตั้งแต่มีเขื่อนมา 40 กว่าปียังไม่มีการมาตั้งคำถามที่ผมตั้งแบบนี้เลยว่าเราจะบริหารจัดการน้ำร่วมกันยังไง” กริยา มูซอ กล่าว
วันนี้ (13 มกราคม 2564) ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงานว่า เขื่อนบางลางได้ประเมินสถานการณ์พบว่ามีน้ำไหลเข้าอ่างต่อเนื่องและมากกว่าที่ระบายออก ภายใน 5-6 วันน้ำจะเกินกว่าระดับกักเก็บปกติ ในกรณีที่มีมรสุมหรือฝนตกเพิ่มอาจจะต้องเปิดประตูน้ำล้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมอีกครั้งหลังจากที่สถานการณ์เหมือนจะเพิ่งเริ่มคลี่คลายไปไม่นาน