ไม่ว่าใครก็ล้วนเกี่ยวข้องกับอาหารด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าเกษตรกร หมอ พยาบาล ตำรวจ ทหาร วิศวกร สถาปนิก นักเขียน บรรณาธิการ คนทำงานภาคประชาสังคม หรือกระทั่งนักบวชนักบวชอาจมองอาหารเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงร่างกาย ทันตแพทย์อาจมองอาหารคืออนาคตของคนรุ่นถัดไป ชาวลาหู่คนหนึ่งอาจมองอาหารคือสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมี หมอคนหนึ่งอาจมองอาหารที่ดีคือการสร้างระบบสุขภาพต้นทุนต่ำFOOD MANIFESTO คือมุมมองต่ออาหาร คือคำประกาศว่าอาหารประเทศนี้ควรเดินทิศทางไหน คนหนึ่งเป็นทันตแพทย์ คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คนหนึ่งเป็นคนทำงานภาคประชาสังคม คนหนึ่งทำงานผลักดันเชิงนโยบายWAY เดินทางไปยัง 4 จังหวัดทั่วภูมิภาคของประเทศ เชียงราย หนองบัวลำภู นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร อาหารจากมุมมองของแต่ละคนได้แตกแขนงไปสู่เรื่องอื่นๆ ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การบริโภค ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิทธิ และนโยบายสาธารณะแม้ว่ามุมมองต่อเรื่องอาหารของพวกเขาจะมีรายละเอียดที่ต่างออกไป แต่ก็มีจุดร่วมมีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในวันที่นโยบายด้านอาหารของประเทศกำลังถูกตั้งคำถามFOOD MANIFESTO: “อาหารคือสิทธิ” คือ 1 ใน 4 ของซีรีย์ FOOD MANIFESTO |
บทกวีในจานอาหาร
เด็กหญิงเติบโต ออกหาของกินในป่า
เด็กชายเติบโต ออกล่าสัตว์ยิงนก
ฉันเป็นเด็กหญิง ออกหาของกินในป่า พร้อมสะพายตะกร้า
หาเห็ด ผักกูด ใบเฟิร์น หาปลา หาปู มาหมักดองเก็บไว้
ฉันเป็นเด็กชาย ออกล่าสัตว์ยิงนก ถือหน้าไม้ยาวออกล่ากวางเก้ง
ได้กวางใหญ่ เก้งน้อย นำเนื้อมาหมักมาดองได้แล้ว.
บทกวีของชนเผ่าอาข่าฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์อันเรียบง่ายระหว่างคนกับป่า “ฉันเป็นเด็กหญิง ออกหาของกินในป่า พร้อมสะพายตะกร้า” “ฉันเป็นเด็กชาย ออกล่าสัตว์ยิงนก ถือหน้าไม้ยาวออกล่ากวางเก้ง” ได้เห็ด ผักกูด ปู ปลา ก็ “มาหมักดองเก็บไว้” ได้กวางใหญ่ เก้งน้อย ก็ “นำเนื้อมาหมักมาดอง”
ชนเผ่าพื้นเมืองล้วนมีชีวิตสัมพันธ์กับป่า เพราะถ้าป่ายังอยู่ พวกเขาก็อยู่ได้ เก็บเกี่ยวและใช้ประโยชน์จากป่าได้ แม้มายาคติหลายเรื่องเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองกับการทำลายป่าจะยังเป็นความคิดที่ปรากฎในบางกิริยาของคนพื้นราบ แต่เรื่องมันง่ายอย่างนั้นเสียที่ไหน
สิงหาคม 2018, ผมเจอ ชัยภูมิ ป่าแส และ พอละจี รักจงเจริญ ที่เชียงราย ทั้งสองปรากฏตัวบนแผ่นไวนิลขนาดใหญ่ของงาน ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 2561’ การปรากฏตัวของทั้งสองรางเลือน คาดการณ์ว่าระดับ opacity ในการตกแต่งภาพของช่างศิลป์ผู้ออกแบบไวนิลน่าจะลดต่ำไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับภาพบุคคลอื่นที่ปรากฏบนไวนิลแผ่นเดียวกัน
แต่ก็อย่างที่คุณทราบ ทั้งสองถูกกระทำให้เลือนจางและหายไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คนหนึ่งพบศพ อีกคนไม่
งาน ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 2561’ ในวันนั้นเป็นกิจกรรมที่รวมคนชนเผ่าต่างๆ ทั่วประเทศ เราจะพบว่า บางชนเผ่ามีภาษาเป็นของตนเอง มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีความแตกต่างหลากหลายในแต่ละชนเผ่า แต่จุดร่วมหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันก็คือเรื่องการขาดแคลนสิทธิ ความยากจนสิทธิทำให้ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสอื่นของชีวิต
คำสั้นๆ ที่ฟังดูเหมือนไม่มีชีวิตอย่าง ‘สิทธิ’ แต่ความหมายที่สิทธิมีแทบจะเป็นบ่อเกิดของชีวิต ไม่ใช่น้ำหรือดิน แต่เป็นบ่อเกิดชีวิตในโลกสมัยใหม่
ก่อนหน้านี้ ผมติดตาม สุพจน์ หลีจา หรือ จะแฮ ชายผู้มีชื่อเป็นภาษาลาหู่ แต่เขาเป็นคนลีซู เดินทางไปยังหมู่บ้านต่างๆ ของชนเผ่าพื้นเมืองในจังหวัดเชียงราย เขาเชื่อว่าอาหารคือชีวิตคือวัฒนธรรม อาหารสะท้อนชีวิตคนทำและคนกิน
ผมอยากจะยกตัวอย่าง ‘จะแฮทัวร์’ ในหนึ่งวัน เช่น วันที่ 7 สิงหาคม เราเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยข้าวซอยน้อยหรือพิซซ่าไทใหญ่เป็นอาหารเรียกน้ำย่อย ก่อนจะตามด้วยมื้อเช้าของชาวไทใหญ่ ประกอบด้วยน้ำพริกถั่วเน่า / บอซิแป่น (ไก่อบสมุนไพร) นี่คือมื้อเช้าชาวไทใหญ่ที่หมู่บ้านเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง
เมื่อดวงอาทิตย์ขยับขึ้นเหนือหัว เราเขยิบมาหมู่บ้านห้วยอื้นของชาวลาหู่ พวกเขาทำลาบหมูสมุนไพร น้ำพริกงาขาว น้ำพริกถั่วเน่า เอ๊าปลา และสารพัดผักแนม ผมเพลิดเพลินกับสะระแหน่น้ำและใบฟักทอง แต่ก็พยายามหัดกินผักคาวตอง แต่มันฉุนระดับพรีเมี่ยม มือใหม่อย่างผมต้องตัดกลิ่นด้วยอาหารปรุงหนักๆ อย่างลาบหมู
มื้อเย็นเราข้ามมาอำเภอแม่สาย มายังหมู่บ้านของชาวไตหย่า และผมต้องพบกับความประหลาดใจในรสชาติของเมนูง่ายๆ อย่างมันอาลู มันอาลูต้มสุกนำไปคลุกไข่เติมเกลือแล้วทอดให้เหลือง ชาวไตหย่ากินกับไก่และสามชั้นต้ม พวกเขาเรียกเนื้อปาดมัน กินกับน้ำจิ้มวาซาบิไตหย่า คือตำกระเทียมระดับละเอียดยิบและเติมแค่เกลือ เคียงด้วยหลู้สุ้ม (เครื่องในยำรวมกับผักดอง) ขมไก่ (เครื่องในยำกับผักฮ้วนหมู ขิง ข่า พริก ) ตบท้ายด้วยอะโวคาโด้
ทุกชนเผ่าที่จะแฮนำทางไปพบ พวกเขามักบริโภคน้ำพริก ผักพื้นบ้าน และข้าวดอย พันธุ์ข้าวที่ปลูกในพื้นที่สูง หรือ พื้นที่ดอย เป็นอาหารหลักประจำถิ่น วัตถุดิบส่วนใหญ่ได้จากการทำเกษตรในท้องถิ่น ข้าวดอยนับเป็นข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านที่มีความต้านทานโรคและคุณค่าทางอาหารสูง ทนแล้ง สามารถปลูกได้ในทุกฤดูกาล เพราะสามารถปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี แต่ละหมู่บ้านจะมีข้าวพื้นถิ่นไว้บริโภคทั้งปี ทั้งจากผลผลิตในชุมชนและการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์และพืชผักต่างหมู่บ้าน
นอกจากเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิตและรายได้ อาหารยังทำหน้าที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสมาชิกในแต่ละชุมชน ผ่านการแลกเปลี่ยนอาหารและเมล็ดพันธุ์ หมู่บ้านชนเผ่าอาข่ามีเมล็ดพันธุ์เหลือก็จะแบ่งให้ชนเผ่าลาหู่ เมื่อปีต่อไปไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ เผ่าอาข่าก็จะไปขอแบ่งเมล็ดพันธุ์ที่เคยแบ่งให้ไว้มาปลูก กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบความมั่นคงทางอาหารที่ประสานเข้ากับความสัมพันธ์ของแต่ละชุมชน
นี่เป็นความสัมพันธ์อันเรียบง่ายระหว่างคนกับคน คงเหมือนบทสนทนาระหว่างชาวลาหู่กับอาข่าที่ผมได้ยินในงานวันชนเผ่าพื้นเมือง
“เป็นพี่น้องเผ่าไหน อาข่าหรือลาหู่”
“เหมือนกันแหละ จะเป็นอาข่าก็ได้ เป็นลาหู่ก็ได้ เหมือนกันแหละ”
กฎหมายในจานข้าว
กุมภาพันธ์ 2562, ข่าวสารจากกรุงเทพฯ เดินทางไปถึงเชียงราย ทั้งมติการไม่แบนสารเคมีเกษตรอันตรายของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 และ ‘ร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. …’ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ของ สนช.
“ตอนนี้สิ่งที่กังวลยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม แต่อนาคตผมห่วงกฎหมายลูกที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพันธุ์พืชท้องถิ่นของชนเผ่า ถ้ากฎหมายข้าวออกมาตามที่เป็นข่าว พี่น้องชนเผ่าก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะการส่งต่อเมล็ดพันธุ์เพื่อการขยายพันธุ์หรืออนุรักษ์เป็นวิถีการผลิตของพี่น้องชนเผ่า” จะแฮ ส่งเสียงผ่านสัญญาณโทรศัพท์ในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะถามกลับมาว่า “สบายดีไหม”
สบายดีไหม – คือถ้อยคำที่เป็นสาเหตุให้ยกหูติดต่อไปหาจะแฮ เพราะในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ สนช. จะพิจารณา พ.ร.บ.ข้าว (ก่อนจะเลื่อนการพิจารณาออกไป เนื่องจากกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้) ซึ่งหากพิจารณาผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้ ย่อมกระทบต่อวิถีการผลิตอาหารของชนเผ่า และเกษตรกรทั่วประเทศ ข้อกังวลที่สังคมมีต่อ พ.ร.บ.ข้าว คือ มาตรา 27/1 วรรค 3 ที่ระบุว่า ‘การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวจะจำหน่ายได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองพันธุ์ข้าวแล้วเท่านั้น’ แต่ในประโยคถัดมาของมาตราเดียวกัน ระบุว่า ‘มิให้บังคับใช้แก่ชาวนาที่ปลูกข้าวและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองหรือที่แลกเปลี่ยนกับชาวนาด้วยกันเอง’
แม้ร่าง พ.ร.บ.ข้าวที่ผ่านวาระ 1 มาในช่วงต้นปีจะเขียนไว้อย่างนั้น แต่ก็ยังมีข้อกังวลจากนักวิชาการอย่าง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เพราะในทางปฏิบัติอาจทำให้ชาวนาขายเมล็ดพันธุ์ของตัวเองได้ยากอยู่ดี เพราะคนที่รับซื้อไปซึ่งไม่ใช่ชาวนา จะไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์ไปขายต่อได้ ทำให้คนกลุ่มนี้จะไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากชาวนาตั้งแต่ต้น
“ยังมีมาตราสำคัญบางมาตราที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย อีกทั้งยังไม่มีมาตราชัดเจนเรื่องการพัฒนาอาชีพทำนาที่มั่นคง และการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าว หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายดังกล่าว จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อวงการข้าวไทย โดยเฉพาะการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าว” ดร.นิพนธ์กล่าว
ยังไม่นับ ‘ความฝันร่วม’ ของประเทศที่เผยออกมาจากมติไม่แบนสารเคมีอันตรายอย่าง ‘พาราควอต’
ความยุติธรรมของข้าวกับคน
“ผมมองว่ามันไม่ยุติธรรมเลย”
ต้นเดือนสิงหาคม, 2018 หนุ่มชาวลีซูคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาระหว่างที่เรานั่งสนทนาบนเถียงนาในหุบเขาหมู่บ้านปางสา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ปิติ-หนุ่มลีซูกำลังต้มไก่ทั้งตัวในน้ำเติมเกลือหลังจากทำพิธี ‘ชือ มือ เหน่ กวัว’ หรือการบวงสรวงดิน น้ำ และไร่ข้าวที่กำลังงอกงาม เป็นการบ่งบอกถึงความเชื่อของชนเผ่าว่า ทุกสิ่งในโลกนี้มีเจ้าของปกครองและดูแล การกระทำที่ไม่ดีย่อมส่งผลกลับมายังตน ชาวลีซูเชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนมีเจ้าของ ไร่นาบนผืนดินนี้ก็เช่นกัน พวกเขาจึงมาเลี้ยงผีเพื่อขอพรให้ข้าวงอกงาม ไก่ ข้าวสาร สุราดีกรีแรงคือของไหว้ผี ไหว้เสร็จก็ปรุงสุกให้คนกิน
“เวลาเขาปลูกข้าวเขาต้องทำพิธีขอขมา ทำพิธีขอบคุณที่พืชงอกงาม จนเก็บเกี่ยวก็มีพิธีกินข้าวใหม่ เพื่อบวงสรวงผู้มีพระคุณพ่อแม่ปู่ย่าตายายและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรงอกงามตามความเชื่อชาวลีซู” จะแฮเล่า
บนเถียงนาน้อยในหุบเขา เสียงน้ำในห้วยไหลคลอตลอดเวลา นี่คือสถานที่ที่คนส่วนมากไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัส ดุจสวรรค์แม้ไม่เคยไป แต่พวกเขาไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ในทางกฎหมาย แต่ทำมาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถามเขาว่ามีความกังวลหรือไม่ที่ไม่มีเอกสารการครอบครองที่ดิน ไม่! คือคำตอบ ไม่กังวลและไม่กลัว
หญิงสาวชาวลาหู่เดินทางมาจากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กำลังจัดแจงข้าวของในการทำพิธีกรรม เธออยู่หมู่บ้านเดียวกับชัยภูมิ ป่าแส นั่นทำให้บทสนทนาของชายชาวลีซู 3 คน หญิงสาวชาวลาหู่ 1 คน และคนทำสารคดี 1 คน พูดคุยเรื่องความตายของชัยภูมิ เธอเล่าถึงเหตุการณ์ ความรู้สึก ความคับข้องใจต่อการตายของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม
“ผมมองว่ามันไม่ยุติธรรมเลย” หนุ่มชาวลีซูเอ่ยขึ้นหลังฟังเรื่องราวของชัยภูมิ ป่าแส ก่อนที่เขาจะถามผมว่าคิดอย่างไร ผมไม่มีคำตอบให้เขา ได้แต่นึกถึงสิ่งที่ สุพจน์ หลีจา หรือ จะแฮ บอกเล่าให้ฟัง และมายาคติหลายเรื่องที่สังคมไทยมีต่อชนชาติพันธุ์ต่างๆ นอกจากยาเสพติด ยังมีมายาคติเรื่องปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ภูเขาหัวโล้น มายาคติที่ว่าคือการโยนทุกอย่างให้เป็นการกระทำของชนเผ่าผู้อาศัยอยู่บนภูเขา
“เราไม่ได้บอกว่าเราไม่ได้ก่อปัญหา” จะแฮเปิดประเด็นด้วยความรู้สึกโทนร้อน “ก็มีส่วนหนึ่งแหละที่ก่อปัญหา แต่สังคมไทยชอบเหมารวม น้ำท่วม หมอกควัน ไฟป่า เหมาว่าเป็นฝีมือของชนเผ่าหรือชาติพันธุ์ เขาอาจจะมีส่วนอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาระดับประเทศ คนต้นน้ำกลางน้ำทุกคนมีส่วนผลิตหมอกควันเหมือนกัน”
‘จะแฮ’ คือชื่อตามภาษาของชาวลาหู่ แต่ สุพจน์ หลีจา เป็นชาวลีซู จะแฮเคยเป็นครูดอย แต่ปัจจุบันทำงานภาคสังคม เป็นนายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ทำงานส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ตั้งใจว่าจะใช้อาหารทำลายมายาคติเหล่านี้
ชนชาติพันธุ์ทางภาคเหนือกว่า 40 กลุ่ม กำลังเผชิญปัญหาที่ไม่ต่างไปจากเกษตรกรในจังหวัดหนองบัวลำภู พืชเศรษฐกิจคือตัวกำหนดวิธีคิดและวิถีการผลิต จะแฮบอกว่า มีปัจจัยภายนอก 3 ปัจจัยที่กำลังท้าทายความมั่นคงทางอาหารของชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ นโยบายการพัฒนาของประชาคมโลกที่เน้นเรื่องพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก/สารเคมีทางการเกษตร และค่านิยมกระแสหลัก
“พื้นที่ที่ผลิตอาหารของชุมชนถูกรุกล้ำด้วยพืชเศรษฐกิจที่ไม่มีความหลากหลายทางพันธุ์พืช สิ่งที่ตามมาคือสารเคมี สารเคมีเป็นตัวทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะสารเคมีต้องการให้เราเลือกพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ไร่ข้าวไร่ข้าวโพดไร่ถั่วของพี่น้องชาติพันธุ์ในอดีตเคยมีพืชอาหารต่างๆ มากมาย เป็น 50-100 ชนิด สารเคมีก็เป็นตัวหนึ่งที่สำคัญ ทำลายความหลากหลายทางอาหาร ทำให้ชนชาติพันธุ์พึ่งพาปัจจัยภายนอกมากขึ้น นี่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมชนบทหรือสังคมพี่น้องชนเผ่าสูญเสียวัตนธรรมและความสามารถในการผลิตอาหาร”
มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ “ไม่แบนพาราควอต” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา น่าจะบ่งบอกทิศทางของนโยบายด้านอาหารของประเทศว่าจะมุ่งไปหนใด ถ้าพูดแบบจะแฮก็ต้องว่า ให้ไปในทิศทางเดียว และมีความเหมือนกันมากกว่าหลากหลาย เพราะ “สารเคมีเป็นตัวทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ”
เนื่องจากชาติพันธุ์ภาคเหนืออาศัยอยู่พื้นที่ต้นน้ำ สิ่งที่จะแฮพยายามสื่อสารกับพี่น้องชนเผ่าก็คือการเผยให้เห็นผลกระทบของการกระทำประหนึ่งการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
“ทุกกิจกรรมในชีวิตของคุณมีผลต่อคนกลางน้ำและปลายน้ำ ถ้าคุณใช้สารเคมีก็ส่งผลต่อคนกลางน้ำและปลายน้ำ เขาก็เดือดร้อน” ขณะเดียวกันการสื่อสารกับคนกลางน้ำและปลายน้ำให้เข้าใจคนต้นน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับจะแฮ
“ไม่ใช่ว่าจะต่อว่าคนต้นน้ำอย่างเดียว แต่คุณต้องสนับสนุนหรือส่งเสริมเขา เราเป็นสื่อกลางให้คนต้นน้ำและกลางน้ำและปลายน้ำเข้าใจกันด้วย คนต้นน้ำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตแบบไหน คนกลางและปลายน้ำก็ต้องส่งเสริม เช่น คนกลางน้ำและปลายน้ำต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยด้วย คุณก็ต้องส่งเสริมคนต้นน้ำที่ผลิตอาหารที่ปลอดภัยด้วย ต้องส่งเสริมกันและใช้ความรักต่อกัน”
จะแฮใช้เมนูอาหารพื้นถิ่นของแต่ละชนเผ่าและเมล็ดพันธุ์เป็นสื่อกลางในการทำให้มายาคติ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง การจัดงานสมัชชาชนเผ่าพื้นเมือง การจัดกิจกรรมผ้าป่าพันธุ์พืช การจัดกิจการกินข้าวใหม่ ฯลฯ
ใช้อาหารเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้ความคิดเกิดการต่อยอดและเชื่อมโยงให้เห็นสิ่งๆ หนึ่ง ขยับขยายคลอบคลุมทุกมิติของชีวิต
“เมนูอาหารหนึ่งจานของชนชาติพันธุ์สักแห่ง เราจะเห็นว่าอาหารเชื่อมโยงคนกับคน คนในเผ่าพันธุ์ตัวเองและเผ่าพันธุ์อื่น เมนูอาหารในจานได้แสดงถึงที่มาที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะอาหารมาจากป่า อาหารมาจากน้ำ อาหารมาจากดิน ฉะนั้นเมนูอาหารหนึ่งจานประกอบไปด้วยความสัมพันธ์ของคนกับคน ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งแวดล้อม และวิถีการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าด้วย
“สิ่งที่เราใช้สื่อสารก็คือเมนูอาหาร การส่งเสริมเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้คนเข้าใจกันว่าอย่าทิ้งหรืออย่าโยนปัญหาให้ใครผู้ใดผู้หนึ่ง ทุกคนล้วนเป็นผู้ก่อปัญหาและอยู่ในกระบวนการก่อปัญหาด้วยกันทั้งนั้น เราไม่สามารถทิ้งใครหรือกล่าวโทษใครว่าเป็นผู้ก่อปัญหา เราต้องช่วยกันวางกรอบกติกาหรือรูปแบบการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมต่อไป”
คำประกาศจากชาวลีซู: “อาหารคือสิทธิ”
ความมั่นคงทางอาหารคืออะไร ถ้าถามคนทำงานสร้างเสริมความมั่นคงด้านอาหารอย่างจะแฮ คำตอบจะมีอยู่ 3 ข้อหลัก 1.อาหารปลอดภัย 2.อาหารเพียงพอ 3.คนต้องมีสิทธิ
“ชุมชนบางแห่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เพราะเขาไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน” จะแฮกล่าว
คงเหมือนกับชุมชนชายขอบส่วนใหญ่ในประเทศไทย ปัญหาที่ดินทับซ้อนกับเขตอุทยาน เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานบนพื้นที่ที่ชุมชนจับจองทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการใช้ที่ดินได้
“ความมั่นคงทางอาหารหรือการเข้าถึงแหล่งอาหารก็คือสิทธิถือครองที่ดิน ที่ดินเป็นปัจจัยหนึ่งในระบบการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เราพยายามเชื่อมใยงมิตินี้ เราผลักดันให้ประชาชนมีสิทธิถือครองที่ดิน มีสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น เพื่อการผลิตอาหารของครอบครัว ชุมชน และสังคม”
เหมือนโดมิโน จากสิทธิในการถือครองที่ดิน ยังมีสิทธิในการศึกษาซึ่งโยงอยู่กับการไม่มีสัญชาติราวกับเป็นเงาของแดด
“บางคนไม่มีสัญชาติก็ไม่สามารถไปเรียนที่ไกลๆ หรือขอทุนทางการศึกษาได้ การไม่มีสิทธิเรื่องการศึกษาทำให้เขาด้อยโอกาส ด้อยโอกาสในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาของตัวเอง แล้วนำไปใช้ในกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น พี่น้องชนเผ่ามีปัญหาเรื่องสัญชาติอยู่มาก บางคนอยู่ในกระบวนการพิจารณาสัญชาติของทางการ ซึ่งเราก็ไม่ปฏิเสธนะครับ แต่ช่วงเวลาของการรอในกระบวนการต่างๆ มันทำให้เขาไม่มีสิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารหรือมิติอื่น เมื่อเขาไม่มีสิทธิไม่มีสัญชาติ เขาก็ไม่สามารถซื้อที่ดินหรือถือครองที่ดินที่จะมาเป็นแหล่งผลิตอาหารได้ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการไม่สามารถเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารได้”
สิ่งที่จะแฮเล่า เป็นเรื่องชวนหดหู่เรื่องหนึ่ง
“เป็นเรื่องชวนหดหู่ และเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย เป็นปัญหาที่แม้ว่ารัฐบาลแต่ละยุคจะพยายามแก้ปัญหา แต่ยังไม่หมด เพราะการแก้ปัญหาในจุดนี้มันค่อนข้างจะช้าเหลือเกิน ขณะที่ชีวิตของพี่น้องชนเผ่ามันต้องดำเนินไปทุกวัน ไม่สามารถรอได้”
ผมนึกถึงใครหลายคนที่ใช้เวลาทั้งชีวิตในการรอคอยสิทธิและสัญชาติ ปู่คออี้คือหนึ่งคน เด็กหนุ่มชื่อปฏิภาร นาหลง ก็เป็นอีกหนึ่งคน คนหนึ่งได้รับสัญชาติไทยตอนอายุ 107 ปี อีกคนกำลังรอ เขาหวังว่าคงไม่ใช้เวลารอคอยนานเหมือนกับปู่คออี้ผู้ล่วงลับ
เรื่องรักของแม่ลูก 9 แต่ไม่เคยตั้งครรภ์
ขออนุญาตผู้อ่านแทรกเรื่องรักของป้าแฉล้ม
หลังจากกินอาหารเรียกน้ำย่อยอย่างพิซซ่าไทใหญ่ มื้อเช้าของเราก็เริ่มต้นในหมู่บ้านของชาวไทใหญ่ ระบุให้ชัดก็คือบ้านของป้าแฉล้ม
“ป้าพูดตรงๆ เลยนะ ป้าเพิ่งถูกสอยลงจากคานตอนอายุ 55” ป้าแฉล้ม เป็นคนเมืองจันทบุรี แต่สวมชุดไทใหญ่ เริ่มเรื่องราวของเธอด้วยประโยคนี้หลังมื้อเช้าแบบชาวไทใหญ่
ก่อนหน้านี้ป้าแฉล้มเคยเป็นสาว เป็นสาวจันทบุรี ปัจจุบันอายุ 64 เป็นสาวเมืองจันท์คนงามที่ทำให้สามีชาวไทใหญ่ที่ไร้สัญชาติได้ถือสัญชาติไทย จากนั้นป้าแฉล้มก็รับคนไร้สัญชาติเป็นลูกบุญธรรม 9 คน เพื่อให้พวกเขามีสัญชาติ
เป็นหม่าม้าลูก 9 คน แม้ไม่เคยตั้งครรภ์
ยัง – มีพีคกว่านี้อีก มันคือมนต์รักป้าแฉล้ม
“ก่อนที่จะแต่งงานกับชาวไทใหญ่ ป้าทำงานในสวนทุเรียน ไม่เคยสนใจผู้ชาย เสร็จจากทุเรียนก็ทำกุ้งซีพี ไม่สนหรอกผู้ชาย ผู้กองมาจีบมาขอ 3 หน ป้าบอกเป็นเพื่อนกันตบหัวกันแบบนี้ดีกว่า ต่อมามีคนไทใหญ่ลงไปทำงานที่สวนทุเรียนเมืองจันท์ มาเป็นลูกน้องป้า เขาก็คงโทรไปหาป๊า (ว่าทีสามีในอีก 10 เดือนต่อมา) บอกว่า กูทำงานกับเจ๊ใหญ่ โสดๆ ซิงๆ บ้านติดทะเล เอาไหม เขาก็คงให้เบอร์ป้าไป ป๊าก็โทรมาคุย จนมาเจอกันที่เมืองจันท์”
หนุ่มไทใหญ่มาเห็นสาวเมืองจันท์ ก็พบว่าเธอนั้นขยันเหมือนลิง
“เขามาเห็นเราแล้วบอกว่า คนอะไรขยันเหมือนลิง ป้าเห็นเขาก็รู้นะว่ามือเขาหงิก เพราะเขาเป็นลมชักตอนเด็ก เขาถามว่า ผมเป็นแบบนี้จะรักผมไหม คบหากัน 10 เดือน ป้าตัดสินใจเลย ไม่เอาแล้วคนจันท์ ก็เลยมาเป็นคนไทใหญ่
“แต่งงานกัน ป้าดูแลเขาจนมือเขาสามารถพนมมือได้นะ”
ทำไมจึงสนใจเขาทั้งๆ ที่ตลอดชีวิต 55 ปี ไม่คิดสนใจผู้ชาย?
“เขาเป็นคนเซ่อๆ ซื่อๆ อายุน้อยกว่าป้า 18 ปีนะ” ป้าแฉล้มว่า จบเรื่องรักของป้าแฉล้มกับหนุ่มไทใหญ่
ฝันร่วมที่เรียบง่าย
เมื่อชีวิตต้องดำเนินไปทุกวัน จะแฮจึงบอกว่า สิ่งที่จะทำได้ในระหว่างนี้คือการพึ่งพาตนเองให้ได้
“เวลาที่เราส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เราไม่ได้ปฏิเสธเศรษฐกิจหรือความมั่นคงทางรายได้ ฉะนั้นเราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรที่ปลูกพืชผสมผสาน เราจะสร้างตลาดให้เขาอย่างไร ถ้าเขาผลิตอาหารที่ปลอดภัย สังคมจะสามารถรับรู้หรือเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัยเหล่านี้ได้ช่องทางไหน สามารถนำเสนอหรือบอกต่อสู่คนอื่นได้ ขยายแนวคิดนี้ไปสู่ที่อื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะผลิตอาหารที่ปลอดภัย”
หลายวันที่เชียงราย จะแฮพาผมเดินทางตระเวนกินอาหารของชนชาติพันธุ์ต่างๆ หลายหมู่บ้าน พิซซ่าของชาวไทใหญ่ น้ำพริกงาขาวของชาวลาหู่ มันอาลูต้มสุกคลุกไข่ทอดกินแนมไก่และหมูสามชั้นต้ม ชาวไตหย่าเรียกว่าเนื้อปาดมัน พวกเขาล้วนใส่ใจเรื่องอาหารเหมือนกัน
“บางทีเราก็รู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงาน เพราะเราต้านกระแสทุนขนาดใหญ่ แต่ก็มีเพื่อนมีภาคีเครือข่ายต่างๆ มากมาย ตามศักยภาพตามทิศทางของภูมิภาคตนเอง แต่เป้าหมายสุดท้ายเรามีร่วมกันคือการทำให้ชุมชนและสังคมไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้โดยเริ่มจากการส่งเสริมพันธุ์พืชพื้นเมืองหรือพันธุ์พืชท้องถิ่นที่เขามีอยู่แล้ว ต่อสู้กับพืชตกแต่งพันธุกรรม”
อะไรคือความฝันที่มีต่อเรื่องอาหาร?
“โครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารต่างๆ เราตั้งความหวังไว้ว่า ท้ายที่สุดชุมชนต้องพึ่งพาตัวเองได้ อยู่ดีกินดี เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืนในชุมชน เขาจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในทุกๆ เรื่องโดยเริ่มต้นจากอาหาร เราวาดฝันไว้ ถามว่ายากไหม…ยาก เพราะเราต้องสู้กับกระแสทุนที่ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ สารเคมี หรืออุตสาหกรรม แต่เราเชื่อมั่นว่า ด้วยพลังที่เราทำงานเป็นเครือข่าย เราไม่โดดเดี่ยว เราค่อยๆ ทำขึ้นมาจากท้องถิ่น ระดับชุมชน เป็นชุมชนๆ ไป ท้ายที่สุดเราจะไปถึงเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการอยู่ดีกินดี”
‘อยู่ดีกินดี’ คือความฝันของจะแฮ เป็นฝันเรียบง่าย แต่ไม่ง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในวันที่นโยบายด้านอาหารเดินสวนกับสิ่งที่เขาฝัน ณ ตอนนี้ไม่มีพื้นที่ให้ความฝันของเขาปรากฏในนโยบาย
อ่าน FOOD MANIFESTO: “เราจะส่งมอบแผ่นดินปลอดภัยให้กับคนในอนาคต”
สนับสนุนโดย