เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
เมื่อตอนยังเยาว์วัย ภาพจำที่ทุกคน-อย่างน้อยก็สักครั้งสองครั้งในชีวิต-คือภาพที่ถือตะกร้าใส่ผักเดินตามหลังคุณแม่ต้อยๆ ไปยังตลาดใกล้บ้านด้วยใบหน้าง่วงงุนในชุดนอน และอาจจะกระตุกมือแม่ตั้งแต่คุณแม่ทักทายแม่ค้าขายผักที่รู้จักทันทีที่เดินเข้าตลาดว่าเมื่อไหร่จะกลับบ้านครับ/คะแม่
ในตอนนั้น เรายังเยาว์ และไม่เคยสงสัย ไม่เคยถามว่าเช้าวันนั้นตลอดทั้งวันเมื่อไปโรงเรียนแล้วกลับมาบ้านว่าจะมีอะไรกินในมื้อเช้า เที่ยง และเย็น เรากินตามที่แม่ทำให้กิน เราไม่เคยสงสัย อาหารของแม่นั้นเลิศรสเสมอ กระทั่งวันหนึ่งเราได้รู้ว่าคุณลุงที่คอยเติมลมจักรยาน หรือเปลี่ยนโซ่ให้เราที่อยู่ไม่ไกลได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เราไม่รู้ว่าอะไรคือโรคมะเร็ง
เมื่อเราถามแม่ พ่อจะตอบแทนว่ามันเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่ง มะเร็งเป็นก้อนเนื้อที่อยู่ในตัวเรา มันเกิดขึ้นมาเอง เราก็ถามว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นมาเอง มันเกิดขึ้นจากอะไรครับ/คะคุณพ่อ
คุณพ่อจะส่ายหน้า หรืออาจจะพยักหน้า หากคุณพ่อท่านนั้นรู้คำตอบ คำตอบของคุณที่รู้อาจจะบอกว่าเพราะเนื้อร้ายเกิดจากทั้งกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตของเรา
“เรากินยังไงเราก็เป็นอย่างนั้นละลูกเอ๋ย” พ่อจะตอบแบบนั้นพลางลูบศีรษะเรา
กระนั้น คำตอบยังเกาะติดอยู่ในใจ อะไรคือความหมายของการกินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จนจู่ๆ วันหนึ่ง พ่อเกิดเจ็บป่วย พ่อไออย่างรุนแรงจนเข้าโรงพยาบาล หมอตรวจและวินิจฉัยออกมาว่าพ่อมีเนื้อร้ายที่เรียกว่ามะเร็งอยู่ในลำไส้ใหญ่ แม่ไม่เข้าใจ
“จะเป็นมะเร็งได้ยังไงคะคุณหมอ สามีดิฉันไม่เคยสูบบุหรี่” แม่โวยวายทั้งน้ำตา และหมอก็ได้แต่ส่ายหน้าก่อนจะตอบคุณแม่ว่า มะเร็งในลำไส้ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่เกิดจากการกิน
“สามีของคุณคงกินอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีเข้าไปเป็นจำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา เสียใจด้วยจริงๆ ครับ เราพยายามอย่างเต็มที่แล้ว”
หากนี่เป็นภาพยนตร์หรือละครทีวีสักเรื่อง ฉากการแสดงเช่นนี้ก็อาจแค่ทำให้เราในฐานะผู้ชมรู้สึกเห็นใจในชะตากรรมของตัวละคร แต่ที่จริงแล้ว ฉากและเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย และทั่วโลก จากปัญหาของการบริโภคที่เราไม่เคยรู้เลยว่าอันตรายของสิ่งที่เรารับประทานเข้าไปนั้น แท้ที่จริงแล้วแฝงอยู่ในพืชผักผลไม้ที่เราซื้อมาจากตลาดใกล้บ้าน
ตลาดที่เราคุ้นเคยจากความทรงจำวัยเยาว์นั่นแหละ
ตัวเลขเมื่อปี 2558 หรือเมื่อสองปีที่แล้ว สถิติของคนไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งอยู่ที่ 72,938 คน เป็นสาเหตุในการคร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1 ขณะที่ตัวเลขขององค์การอนามัยโลกระบุตัวเลขตั้งแต่ปี 2551 มาถึงปี 2555
อัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นจาก 7.6 ล้านคนเป็น 8.2 ล้าน และจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 13 ล้านคนในปี 2573 อันเป็นตัวเลขที่คาดการณ์ไว้
ขณะที่เมื่อหวนมาดูว่ามะเร็งชนิดไหนบ้างที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด ผลปรากฏคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่สูงถึง 16.3 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือมะเร็งหลอดลมและในปอด 15.5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อันดับที่สาม คือมะเร็งตับและท่อน้ำดีอยู่ที่ 15.3 เปอร์เซ็นต์
หากรวมเอาตัวเลขเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ จะได้ผลลัพธ์อยู่ที่ 31.6 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 1 ใน 3 ของสาเหตุจากโรคมะเร็งกว่า 100 ชนิดที่คร่าชีวิตคนไทย นั่นหมายความว่า 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรากินเข้าไป
ตอกย้ำว่าเรากินยังไงเราก็เป็นเช่นนั้น แต่ประเด็นคือจะมีสักกี่คนที่รู้ถึงสารปนเปื้อนในสิ่งที่เรากินเข้าไป เรารู้แค่ไหนว่าผักหรือพริก ผลไม้จากร้านนั้นๆ มีสารเคมีเจือปน
เราอาจบอกได้จากตาเปล่าว่า
นี่ไง เลือกผักที่มีใบเป็นรูสิ แสดงว่าแมลงยังมาชอนไชกัดกินอยู่นะ แสดงว่าผักนี้ปลอดยาฆ่าแมลงนะ
แต่การปนเปื้อนสารเคมีจากการบริโภคผักไม่ได้ง่ายแค่เพียงการพิจารณาจากใบของผักแต่ละชนิดเท่านั้น
นั่นเพราะว่าข้อเท็จจริงคือเมื่อมีการฉีดสารฆ่าแมลงต่างๆ สารเคมีนั้นจะตกลงสู่ดิน และสะสมอยู่ในนั้นเป็นเวลาหลายปี ดังนั้น เมื่อดินปนเปื้อนเสียแล้ว ต่อให้เราไม่ฉีดยาฆ่าแมลง ต่อให้แมลงมากินผักที่ปลอดจากสารเคมีต่างๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าผักนั้นจะปลอดสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย 100 เปอร์เซ็นต์
ในฐานะที่เป็นทั้งเกษตรกร และเป็นผู้ที่ตระหนักในปัญหาสุขภาพจากการบริโภคพืชผักผลไม้ที่มีสารเคมีเจือปน พี่เมียด หรือ มัลลิกา ดีประเสริฐ ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทย เล่าว่า แต่ก่อนนี้ตนใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พอเริ่มกลับมาทำไร่ที่บ้านเกิด สิ่งที่ได้เห็นคือวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ใช้แต่สารเคมี ทำไมถึงยังยากจน
“ทำไมถึงยังมีแต่หนี้ เท่าที่พี่ดูนะ เราก็มองย้อนดูว่าเกิดจากอะไร ก็เกิดจากการใช้สารเคมี บริษัท (ขายปุ๋ย) ว่าอะไรดีซื้อหมด ซึ่งจริงๆ ปุ๋ยพวกนี้เราไม่จำเป็นต้องซื้อหมด พี่ก็เลยมาทำให้ แล้วก็รวมกลุ่มกันสำหรับผู้ที่พร้อมและมีความสนใจ ก็มีบางคนยังก้ำๆ กึ่งๆ ว่าได้ไม่ได้ รอบแรกเราได้บ้าง เรายังไม่ชำนาญ แต่ปีนี้เราเริ่มชำนาญแล้ว ผลผลิตก็ออกแล้ว”
เพราะต้องการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรจากการซื้อปุ๋ยเคมีจากบริษัทผู้ผลิตเป็นเบื้องแรก หลังจากหวนคืนสู่บ้านเกิดที่ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแล้ว พี่เมียดก็เริ่มขบคิดเกี่ยวกับปัญหาที่ทำให้เกษตรกรในชุมชนยังคงยากจน แม้จะทำนาทำไร่ได้ผลผลิตตามที่ตลาดในแต่ละฤดูกาลต้องการ
คำตอบที่พี่เมียดได้กับตัวเอง คือ เพราะหนี้สินที่เกิดจากการซื้อปุ๋ยเคมีของเกษตรกร กล่าวคือเมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว แทนที่จะกลับคืนเป็นผลกำไรที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็กลับต้องคืนผลกำไรทั้งหมดไปสู่กระเป๋าผู้ขายปุ๋ย
นั่นเองจึงเป็นเหตุผลในการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทย เพื่อรวบรวมเกษตรกรที่มีความคิดและหัวจิตหัวใจตรงกันในการที่จะปลดหนี้สินให้กับตัวเอง และคืนพืชผักที่ปลอดสารเคมีกลับคืนสู่ชุมชน
นอกจากพี่เมียดแล้ว อีกพื้นที่หนึ่งไม่ไกลกันมากนัก ยังมี วิมล ฝั่งทะเล อดีตอาชีพคนทำเครื่องหนังที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรที่จังหวัดอยุธยา ลงหลักปักฐานกับสามีที่เคยทำอาชีพซ่อมเครื่องยนต์มาทำการเกษตรปลูกข้าวทำไร่ทั่วไป
ชีวิตการทำเกษตรในช่วงแรกก็แทบไม่แตกต่างจากเกษตรกรคนอื่นๆ จนกระทั่งพี่วิมลสังเกตเพื่อนที่เป็นเกษตรกรในชุมชนเดียวกัน มีแผลที่แขนซึ่งเกิดจากการถูกสารเคมีที่ใช้ฆ่าหญ้าฆ่าแมลง
ความน่ากลัวและอันตรายที่เกิดบนร่างกายภายนอกทำให้พี่วิมลมองเห็นไปถึงว่าหากสิ่งนี้เข้าสู่ร่างกายคนเราจะเป็นเช่นไรต่อไป
จากคำถามนั้น พี่วิมลไม่รีรอที่จะเปลี่ยนแปลง แม้เมื่อแรกเริ่มนั้น สามีจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปลูกผักปลอดสารเคมี เพราะมองว่าคนจะไม่ซื้อ ไม่สวย เพราะผักดูไม่สด และดูเหี่ยว
“เราก็เลยลองทำของเราเอง ประมาณสี่ไร่ ปลูกข้าวที่ไม่มีการใส่ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้าต่างๆ พอเราได้ผลผลิตมาแล้วเราก็ขึ้นป้ายของเราว่าข้าวของเราเป็นข้าวอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ปรากฏว่าขายดี และขายหมดทันที จากนั้นเราก็เริ่มขยายพื้นที่มากขึ้น สามีพอเห็นว่าเราทำได้ เขาก็หันมาปลูกข้าวที่ไร้สารเคมีกับเรา จนเราขายแทบไม่ทัน”
พี่วิมลเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม สิ่งสำคัญที่พี่วิมลบอก คือ การได้เห็นเพื่อนเกษตรกรด้วยกันค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากเดิมที่ใช้แต่สารเคมีเริ่มหันมาใช้วิธีปลอดสารกันมากขึ้น
ทั้งพี่วิมลและพี่เมียดต่างก็เป็นสมาชิกเกษตรกรในเครือข่าย The Basket เพื่อให้คนปลูกได้ขาย “ผลผลิตที่ใส่ใจ” เพื่อให้ผู้บริโภคได้กิน “อาหารที่ไว้วางใจ”
คำถามคือ แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไง? เราจะวางใจได้แค่ไหน?
เพื่อจะสร้างความมั่นใจนี้ The Basket จึงจัดกิจกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยชักชวนสมาชิกเครือข่ายทั้งผู้บริโภค นักวิชาการ และพ่อแม่บุญธรรมจากกิจกรรม ‘กองทุนแพะรับบุญ’ ไปลงพื้นที่ ชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ ที่ท่ายาง ซึ่งทั้งพี่เมียดและพี่วิมลเป็นสมาชิกอยู่ โดยจุดประสงค์ในการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชุมชมเกื้อเกษตรอินทรีย์ครั้งนี้ นอกเหนือจากการพาผู้บริโภคไปเห็นผักอินทรีย์ชนิดลงลึกไปถึงกรรมวิธีปลูกแล้ว ยังได้รับรู้เรื่องราวนอกเหนือจากเหตุและผลในการเปลี่ยนมาปลูกผักปลอดสารเคมีด้วย
“ผักอินทรีย์เป็นผักอดทน เพราะเราปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ เขาต้องทนแดดทนฝนทนหนอนแมลง เขาถึงมีชีวิตอยู่ได้ถึงผู้บริโภค แช่น้ำไม่กี่นาทีก็สดใสได้เหมือนเดิม เขาไม่เหมือนผักเคมีที่ถูกเลี้ยงมาด้วยยา รอดมาด้วยเคมี สดออกไปจากสวยก็จริง แต่ไปถึงตู้เย็นได้สองวันก็เน่า เพราะจริงๆ เขาตายตั้งแต่ยังไม่ออกไปจากแปลง”
พี่ปุ้ย-วิสาขา เกิดวัน หนึ่งในเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทย บอกเล่าก่อนจะเปิดฝากระปุกแยมหม่อนให้ชาวคณะได้ลองชิม ซึ่งเมื่อลิ้มรสพวกเราต่างก็เห็นตรงกันว่านอกจากรสที่อร่อย หวาน และให้ความรู้สึกสะอาดจากการไม่ใส่สารกันบูดแล้ว เนื้อของแยมยังแน่นไม่ต่างจากการกินผลของหม่อนเข้าไป ซึ่งพี่ปุ้ยก็ใจดีมอบแยมให้ทุกคนในชาวคณะติดมือกลับบ้านกันไปตามแต่ต้องการโดยไม่หวงแต่อย่างใด ทั้งยังคะยั้นคะยอให้เอาผลไม้และผักปลอดสารอื่นๆ กลับกันไปเท่าที่จะถือไหว
“จากปีที่แล้วที่เราแทบไม่ได้เลย มันต้องใช้เวลาไง มันไม่เหมือนเคมีที่ใส่แล้วเราบอกได้ ฉีดวันนี้พรุ่งนี้เก็บได้ คือแมลงมันตาย แต่ของเราฉีดวันนี้ไม่รู้จะเอาอยู่ไหม ต้องมีรอบสอง รอบสาม ก็คือต้องใช้ความอดทนกันมา แต่ก็โอเค ผู้บริโภคมาเห็นก็จะได้รู้ว่าทำยังไงนะ” พี่เมียดเล่าเสริมในขณะที่หมู่เราต่างเลือกหยิบและเลือกสินค้าเกษตรอินทรีย์จากชุมชน ซึ่งเปรียบไปแล้วก็ไม่ต่างจากตราประทับที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสถาบันทางโภชนาการแพงๆ หากแต่ใช้ลิ้นและความมั่นใจของผู้บริโภคในการรับรสจากสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มั่นใจได้ยิ่งกว่าตราประทับใดๆ
เหล่านี้คือระบบการรับรองที่หล่อเลี้ยงให้เกิดวิถีเกษตรกรรมที่ยั่งยืนเป็นวงจรตั้งแต่ระดับผู้ปลูก ผู้ปรุง ผู้กิน เป็นการทบทวนกลับไปยังความหมายของการกินเพื่อ (มีชีวิต) อยู่อย่างแท้จริง เพราะอย่างที่พี่ปุ้ยได้กล่าวไป การเลือกกินพืชผักที่ตายตั้งแต่อยู่ในแปลงเพราะถูกสารเคมีแล้วนั้นก็เหมือนเรากำลังกินสิ่งที่เป็นซากศพมาหล่อเลี้ยงร่างกายที่มีชีวิตให้ค่อยๆ นับสู่วันที่ไร้ชีวิต
อาจดูเป็นคำพูดที่โหดร้าย แต่ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำตอบว่าทำไมเราถึงต้องเลือกให้ตัวเรา
มีหรือไม่มีชีวิต…อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนเพื่อความยั่งยืนทางอาหารที่เราจะส่งต่อไปยังอนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้า