ผ่านไปอย่างอิ่มเอมและฝากความหวังสำหรับปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 17 โดยปาฐกในครั้งนี้คือ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปี ลงมือทำวิจัยหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาระบบนิติรัฐของไทย
จนปรากฏออกมาเป็นปาฐกถาเรื่อง ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย’ กับเวลาค่อน 3 ชั่วโมงสำหรับการปาฐกถา ทำให้ฉากละเอียดของปาฐกถาซึ่งเป็นหนังสือขนาดเกิน 200 หน้า ลอยเด่นชัดถนัดตาแก่ผู้สนใจได้ศึกษาต่อไป
ผลึกทัศนะของธงชัยครั้งนี้ท้าทายไปยังความรู้ว่าด้วยระบบกฎหมายและนักนิติศาสตร์ไทย แต่มากไปกว่าข้อเสนอและการแกะรอยทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาแล้ว ประดาชื่อนักวิชาการ ปัญญาชน ที่ปรากฏในเนื้อหาปาฐกถาก็ได้ฝากร่องรอยความคิดให้แก่ผู้สนใจใคร่รู้สืบสาวราวเรื่องกันไม่รู้จบ
รายงานนี้จึงทำหน้าที่แนะนำ ‘ตัวละครในระบบกฎหมายไทย’ ที่ปรากฏในบทปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 17 เพื่อเพิ่มอรรถรสแก่การเสพปาฐกถาครั้งนี้ให้มากยิ่งขึ้น
พระองค์เจ้าธานีนิวัต
พระองค์เจ้าธานีนิวัต หรือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 – 8 กันยายน พ.ศ. 2517) อดีตประธานองคมนตรีในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 เป็นชื่อบุคคลสำคัญหนึ่งที่ปรากฏในเนื้อหาปาฐกถา ‘พระองค์เจ้าธานีฯ’ คือปัญญาชนที่มีบทบาทอย่างสูงในการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับระบบกฎหมายและการเมืองไทยยุคหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งถูกยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นคำอธิบายที่ทรงอิทธิพลต่อนักกฎหมายไทยรุ่นต่อมา เช่น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อหลักทางวิชาการที่เห็นว่ากษัตริย์ไทยสมัยก่อนไม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เพราะถูกจำกัดด้วยพระธรรมศาสตร์อันศักดิ์สิทธิ์ ดังที่พระองค์เจ้าธานีนิวัตวินิจฉัยประเด็นนี้ไว้ในปี 2489 ว่า …
ในเรื่องหน้าที่นิติบัญญัตินั้น… บรรดากฎหมายโบราณทั้งปวง เมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงบัญญัติออกไปอย่างไร ย่อมทรงอ้างมูลคดีอันใดอันหนึ่งใน 39 นี้เสมอ ดูเหมือนกับว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงถือสิทธิที่จะทำการนิติบัญญัตินอกเหนือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้อย่างไรเลย ถ้าจะใช้ภาษาสมัยปัจจุบันก็แทบจะเดาได้ว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรัฐธรรมนูญจำกัดพระราชอำนาจทางนิติบัญญัติมาแต่โบราณกาล
เหตุที่พระคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มีความสำคัญในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เนื่องมาจากนักวิชาการ ปัญญาชน ที่ศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายโบราณของสยาม ล้วนอ้างอิงพระคัมภีร์นี้ในการอธิบายสภาวะการใช้อำนาจของกษัตริย์ในอดีต โดยมักอธิบายว่า “กษัตริย์ไทยสมัยก่อนไม่ใช่เทวราช ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่ใช่ absolute monarch อย่างฝรั่ง แต่เป็นธรรมราชา” และส่งต่อคำอธิบายนั้นมาสู่นักนิติศาสตร์สายที่เรียกตัวเองว่า ‘ธรรมนิยม’
แน่นอนธงชัยได้ตั้งประเด็นไว้ว่า กษัตริย์สยามก่อนยุคสมัยใหม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมายอย่างสำคัญหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ไม่มีคนหยิบยกขึ้นมาอภิปรายเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ก่อนจะใช้เวลาพอสมควรในการคลี่คลายประเด็นดังกล่าว
โรแบร์ แลงกาต์ (Robert Lingat)
เป็นอีกชื่อที่ถูกเอ่ยถึงในปาฐกถาครั้งนี้ แลงกาต์เป็นปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และมีชื่อเสียงจากการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายในภาคพื้นเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขามีชีวิตอยู่ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช งานชิ้นสำคัญของแลงกาต์ อาทิ ระบบทาสเอกชนในกฎหมายเก่าของสยาม, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เป็นต้น
ในปาฐกถาครั้งนี้ แม้แลงกาต์จะเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญของนักกฎหมายไทย อีกสถานะเขาคือผู้สวนทางคำอธิบายของนักกฎหมายไทยที่มักอธิบายลักษณะการใช้อำนาจของกษัตริย์ไทยในอดีตว่ามิใช่เทวราชา โดยมักจะยกตัวอย่างคดีอำแดงป้อมเป็นชู้แล้วฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามี อันเป็นจุดกำเนิดของการชำระกฎหมายตราสามดวง
กรณีนี้ธงชัยเห็นว่านักประวัติศาสตร์กฎหมายแทบทุกคนถือเป็นหลักฐานยืนยันว่ากษัตริย์ไทยยึดมั่นอยู่ในกรอบของพระธรรมศาสตร์ เมื่อเห็นว่าอาจจะมีการผิดเพี้ยนก็ต้องย้อนกลับไปชำระสะสางให้แน่ใจ แต่มียกเว้นคนหนึ่งที่เห็นต่างคือ โรแบร์ แลงกาต์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ในวงการนิติศาสตร์ไทยเชื่อกันว่าเป็น ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’ ทรงเริ่มรับราชการในสำนักราชเลขาธิการ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
‘กรมหลวงราชบุรีฯ’ ปรากฏในปาฐกถาในประเด็นสำคัญที่นักนิติศาสตร์ไทยมักกล่าวว่า การปฏิรูปทำให้ ‘สำนักกฎหมายบ้านเมือง’ เข้าครอบงำวงการกฎหมายของไทยจนทำให้กฎหมายไทยแยกขาดจากธรรมะและศีลธรรม สำนักนี้ถือว่ากฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ ราษฎรต้องเคารพกฎหมายทั้งปวงที่รัฐประกาศใช้ออกมาโดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายนั้นดีหรือเลว ยุติธรรมหรือไม่ กฎหมายตัดขาดจากความยุติธรรม ตัวอักษรของกฎหมายคือความยุติธรรม ในที่สุดอำนาจก็คือกฎหมาย เป็นนิติศาสตร์ของระบอบเผด็จการในประเทศไทย
ธงชัยเห็นว่าอิทธิพลของสำนักนี้มาถึงสยามโดยกรมหลวงราชบุรีฯ ดังปรากฏในคำสอนที่ว่า
“กดหมายนั้นคือคำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วธรรมดาต้องโทษ… ถึงแม้จะไม่ได้กำหนดโทษลงไว้ก็ดี มีกดหมายในลักษณะอาญาหลวงอยู่บทหนึ่ง ซึ่งจะลงโทษผู้ที่ไม่กระทำตาม… เพราะเหตุฉะนี้พระบรมราชโองการหรือคำสั่งฉบับใดต่อราษฎรทั่วไป กำหนดโทษได้ทุกฉบับ…เราจะต้องระวังอย่าคิดเอากดหมายไปปนกับความดีความชั่วฤาความยุติธรรม กดหมายเป็นคำสั่ง เปนแบบที่เราจะต้องประพฤติตาม แต่กดหมายนั้นบางทีก็จะชั่วหรือไม่เปนยุติธรรมก็ได้ ความคิดว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรเปนยุติธรรมอะไรไม่ยุติธรรม มีบ่อเกิดขึ้นหลายแห่งเช่นตามศาสนาต่างๆ แต่กดหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียวคือจากผู้ปกครองแผ่นดิน…เท่านั้น”
อย่างไรก็ตามธงชัยกล่าวในการปาฐกถาต่อประเด็นนี้ว่า
“ผมเห็นด้วยเต็มที่ว่าความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นฐานค้ำจุนระบอบเผด็จการและคณะรัฐประหาร และไม่ควรเป็นเหตุผลที่ตุลาการของไทยยอมรับมาใช้สนับสนุนการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ผมสงสัยว่า หากความคิดทำนองนี้ไม่มีอยู่ในจารีตกฎหมายของไทยมาก่อนเลย ความคิดแบบสำนักนี้จะเข้ามาลงหลักปักฐานแน่นแฟ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และกลับมีอิทธิพลต่อเนื่องมาตลอดนานกว่าศตวรรษแล้วได้อย่างไรกัน”
ธานินทร์ กรัยวิเชียร
อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรีของประเทศไทยมาปรากฏในปาฐกถาจุดแรกประเด็นที่ว่าด้วย “นิติรัฐอภิสิทธิ์ใน ‘สภาวะยกเว้น’ (The State of Exception)” ก่อนจะถูกเอ่ยถึงอีก 2-3 ครั้ง โดยธงชัยยกตัวอย่าง ‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ ว่าเป็นแหล่งที่มาของอภิสิทธิ์ นั่นคือเป็นเหตุผลให้รัฐและกองทัพสามารถงดใช้กฎหมายและกระบวนการตุลาการตามปกติได้หากมีสถานการณ์พิเศษหรือใน ‘สภาวะยกเว้น’ (The State of Exception)
อดีตนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เป็นผู้ที่มีบทบาทสูงในการสร้างคำอธิบายต่อความมั่นคงของชาติ เช่นข้อเขียนที่ว่า
“ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ขั้นร้ายแรง…กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ … เราจะถือสิ่งใดมาก่อนกันระหว่างการยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดกับความมั่นคงของชาติ … เมื่อถึงยามนั้นแล้วเราคงต้องเลือกความมั่นคงของประเทศไว้อยู่เหนือสิ่งอื่นใด…สมควรให้มีข้อยกเว้น…ยอมให้ผู้ใช้อำนาจรัฐมีอำนาจที่จะเข้ามาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการของประชาชนได้”
สำหรับธานินทร์ นอกจากบทบาทระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประมาณ 1 ปี ซึ่งมีนโยบายที่โดดเด่นคือ การต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว ในทางวิชาการเขายังมีงานเขียนทางกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดินจำนวนมาก เช่น พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย, ศาสนากับความมั่นคงของชาติ, การตีความกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งถูกนำไปใช้อ้างอิงและใช้เป็นตำราในการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์หลายสถาบันในเมืองไทย
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศึกษากฎหมายและการพิจารณาความ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ตั้งองคมนตรีสภา และกรมหลวงพิชิตปรีชากรก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีในครั้งนั้น จนกระทั่งมีการตั้งศาลฎีกา ขึ้นในปี พ.ศ. 2419 ได้ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกา พระองค์แรก และเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมคนที่สอง
กรมหลวงพิชิตฯ ถูกนำเสนอขึ้นมาในฐานะเป็นผู้เขียนเรื่อง ธรรมสารวินิจฉัยว่าด้วยยุติธรรมเป็นอย่างไร ซึ่งได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอมาในหมู่นักกฎหมายไทยโดยเฉพาะสำนักธรรมนิยม ว่าเป็นงานที่อธิบายความหมายของความยุติธรรมแบบพุทธ
กรณีนี้ ธงชัย วินิจจะกูล วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการ “เอาความคิดของนักคิดชาวอังกฤษมาใส่บาลีแล้วอธิบายเป็นภาษาไทย” เช่นเดียวกับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้นำเสนอนิติศาสตร์แนวพุทธมานาน ซึ่งธงชัยเห็นว่า “ประเด็นหลักๆ มีเพียงว่ากฎหมายต้องอิงกับธรรมะ แต่ท่านเห็นว่า ต้องการปัญญาพิเศษจึงจะหยั่งรู้ความยุติธรรม จึงพยายามมองหาคนดีผู้มีบุญบารมีสูงส่งมาเป็นผู้ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่คนดีมีบารมีแบบพุทธมักหมายถึงผู้มีอำนาจ ซึ่งฝรั่งเชื่อว่ามักเป็นคนฉ้อฉล”
คำอธิบายของกรมหลวงพิชิตฯ นำไปสู่คำอธิบายว่า นักนิติศาสตร์ ‘ธรรมนิยม’ ในยุคต่อมาเห็นว่า ความยุติธรรมสำคัญกว่าและมาก่อนกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายธรรมชาติ (natural law) ของตะวันตกและสอดคล้องกับปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
อย่างไรก็ตามธงชัยเสนอว่า ข้อวิจารณ์การยึดตัวบทได้เป็นประตูไปสู่ ‘ราชนิติธรรม’ เพราะพวกเขา (นักนิติศาสตร์ไทย) เห็นว่าแหล่งที่มาของความยุติธรรมที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ตัวบทแต่คือพระมหากษัตริย์ กษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของระบบกฎหมายไทย เป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของไทย
ปรีดี เกษมทรัพย์
ศาสตราจารย์ทางกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแพ่ง และนิติปรัชญา อดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือผู้มีบทบาทอย่างมากในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสู้กับสำนักกฎหมายบ้านเมือง และส่งเสริมสำนักกฎหมายธรรมชาติ (natural law) หรือที่ปรีดีเรียกว่า ‘ธรรมนิยม’
อย่างไรก็ตาม ธงชัยก็มองว่า นิติศาสตร์ไทยทั้งสองกระแส (ทั้งที่อ้างว่าอยู่สำนักบ้านเมืองหรือสำนักกฎหมายธรรมชาติ) ต่างสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมและการรัฐประหารไม่ต่างกัน เพียงแต่ผันแปรโลดแล่นไปตามบริบท ในระยะหนึ่งภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร สำนักธรรมนิยมผู้สนับสนุนราชนิติธรรมจึงพยายามคัดคานอำนาจของทหาร ครั้นสังคมไทยเอียงไปทางซ้าย ผู้นำของราชนิติธรรมก็เห็นว่าหลักนิติธรรมควรมีข้อยกเว้น
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ศาสตราจารย์กิตติคุณทางกฎหมาย ซึ่งมีตำแหน่งในหลายสถาบันการศึกษาของไทย คือหนึ่งในคนสำคัญที่นำเสนอความคิดอันค้ำจุนสิ่งที่ธงชัยเรียกว่า ‘ราชนิติธรรม’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาว่าหลังการปฏิวัติ 2475 อำนาจอธิปไตยยังเป็นของกษัตริย์หรือไม่ คำอธิบายหนึ่งคือหลัง 2475 อำนาจยังเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่ได้พระราชทานให้กับคณะราษฎรเพื่อเริ่มระบอบใหม่ซึ่งพระมหากษัตริย์ก็เตรียมที่จะให้อยู่แล้ว รวมถึงการสร้างประวัติศาสตร์ของ ‘ธรรมราชา’ ที่บวรศักดิ์เองมีบทบาทสำคัญในประเด็นนี้
ข้อเขียนของบวรศักดิ์ มาปรากฏในปาฐกถาครั้งนี้ จากการที่เขาเคยเสนอว่า “เมื่อมีการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยให้ประชาชนไปนั้นก็กลับคืนมายังกษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475 นี่เป็นลักษณะพิเศษของไทยที่ไม่เหมือนประเทศอื่น” หนึ่งในข้อเขียนที่น่าสนใจของบวรศักดิ์ เขียนไว้เมื่อปี 2549 คือ
ถ้ารัฐธรรมนูญ…เปรียบเสมือนโครงกระดูก (skeleton) ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญก็เปรียบเสมือนเลือดและเนื้อ …ที่ห่อหุ้มโครงกระดูกให้มีชีวิตชีวา…ทศพิธราชธรรมเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งพระราชอำนาจล้นพ้นของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช … แต่ (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้ทำให้หลักนี้กลายเป็นเลือดเนื้อที่ห่อหุ้มโครงกระดูกของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยไทยได้อย่างเหมาะเจาะ
ในแง่นี้ธงชัยเห็นว่าความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอาญา และมิใช่ส่วนหนึ่งของบทบัญญัติทางศาสนา จึงกลับกลายเป็นบทบัญญัติศาสนาไปแล้ว การละเมิดมาตรานี้จึงกลับกลายเป็น ‘blasphemy’ หรือการดูหมิ่นศาสนาอย่างรุนแรง (คำของบวรศักดิ์) การใช้มาตรา 112 กล่าวหาผู้คนจำนวนมาก ปฏิเสธสิทธิประกันตัวของพวกเขา ตีความเกินเลยและลงโทษเกินเหตุ เหล่านี้เป็นผลลัพธ์ของความคลั่งไคล้ยึดติดจนกลายเป็นลัทธิบูชาเทวกษัตริย์คล้ายลัทธิคลั่งไคล้ศาสดา มิใช่ผลของความจงรักภักดีอย่างมีสติหรือมีเหตุผล
สมคิด เลิศไพฑูรย์
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สมคิดเป็นนักนิติศาสตร์คนสำคัญของยุคการเมืองไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เขามีผลงานทางวิชาการที่น่าสนใจหลายเรื่องด้วยกัน เช่น กฎหมายการปกครองท้องถิ่น, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นต้น
สมคิดเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ธงชัยยกขึ้นมาอธิบายนักนิติศาสตร์ไทย ซึ่งมักเชื่อว่าระบบกฎหมายของไทยค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ โดยหาทางให้ได้คนดีเป็นผู้บังคับใช้
อย่างไรก็ตามธงชัยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า (นักนิติศาสตร์) เห็นว่าระบบกฎหมายของไทยได้มาตรฐานสากลแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ เหตุใดรัฐธรรมนูญจึงเขียนอย่างสวยหรูแต่ตรงข้ามกับความเป็นจริง หรือเป็น Doublespeak หมายถึงศัพท์สำนวนที่มีความหมายตรงข้ามกับตัวอักษร เช่น เสรีภาพหมายถึงเป็นทาส จริงหมายถึงเท็จ ปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหมายถึงการต่อต้านรัฐประหาร ปกป้องรัฐธรรมนูญหมายถึงการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ในแง่นี้ธงชัยจึงเสนอว่า ‘นิติธรรม’ แท้จริงแล้วคงจะหมายถึงนิติอธรรม (Rule by Law)
ทั้งหมดคือตัวอย่างนักนิติศาสตร์ ผ่านสายตาการศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา ทำให้เห็นว่าสาแหรกของประวัติศาสตร์และมโนทัศน์เรื่องธรรมราชาที่ใช้อธิบายเพื่อค้ำจุนราชนิติธรรม แทบทั้งหมดล้วนอิงอยู่กับเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในแบบทางการเท่านั้น หนึ่งในคำถามสำคัญที่ธงชัยถามไปยังนักนิติศาสตร์ไทย ไว้ระหว่างการแสดงปาฐกถาคือว่า
“ถ้าเช่นนั้นราชนิติธรรมจะเหมาะสมกับเวลาอื่นภายหลังรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 หรือ? จะยังใช้ได้หรือหากคนไทยรู้ว่าประวัติศาสตร์แบบทางการเป็นแค่ ‘fake news’”