เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ภาพ: อนุช ยนตมุติ
สุนทรพจน์*ของ ชาร์ลี แชปลิน ในภาพยนตร์เรื่อง The Great Dictator ถูกเปิดขึ้นเพื่อเรียก ‘เสียงหัวเราะ’ ให้ ‘น้ำตาริน’ และเพื่อเป็นนิมิตหมายของการนำเข้าสู่วงสนทนา ‘เสรีภาพในการแสดงออก: อยู่แบบไหน-ก้าวต่อไปอย่างไรดี?’ ในโอกาสครบรอบ 55 ปีขององค์การแอมเนสตี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ก่อนที่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ข่าวจาก Voice TV ผู้นำวงสนทนาวันนี้จะจับไมค์และเปิดวงคุยด้วยมุกที่ว่า
“ในช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรี ประมาณปี 34-35 หนังเรื่องนี้ของ ชาร์ลี แชปลิน เป็นหนังที่นักศึกษารุ่นผมไม่ดู เพราะคิดว่าประเทศไทยได้เลยความเป็นเผด็จการแบบนั้นไปจนเราไม่ต้องดูหนังเผด็จการที่ถูกล้อด้วย ชาร์ลี แชปลิน อีกแล้ว ตลกดีที่วันนี้เราต้องกลับมาดูหนังล้อเผด็จการเรื่องนี้อีกครั้ง”
ถูกคุกคามด้วยความกลัว
หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวทีวีสาธารณะ ThaiPBS เล่าให้เห็นภาพการทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบันว่า ไม่เพียงแต่การทำงานของเธอจะถูกจำกัดสิทธิจากรัฐบาลทหาร หากเธอยังถูกคุมคามด้วยความกลัวจากพี่น้องสื่อมวลชนด้วยกันเอง
“ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว เราตั้งใจจะทำสารคดีเรื่องหนึ่งปีรัฐประหาร มีธีมว่า อยากจะไปสัมภาษณ์ประเด็นที่ไทยที่ลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ เช่น อเมริกา เพราะการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป เราคิดว่าการสื่อสารผ่านความคับข้องใจในกรณีนี้จะสื่อสารและให้ภาพอะไรบางอย่างได้ ในช่วงแรกก็มีการตั้งทีมที่ขนาดใหญ่และมีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ท้ายที่สุดประเด็นเรื่องนี้ก็ถูกถอดออกไป เพราะไม่มีใครกล้าทำ
สิ่งที่เราตกใจคือ เพื่อนร่วมอาชีพของเราเองเดินมาบอกว่า เธอจะทำหรือ ระวังทหารจะไม่ชอบและถูกยุบช่องนะ
บรรยากาศความกลัวที่หทัยรัตน์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากช่วงระยะแรกของการรัฐประหาร ที่นักวิชาการและสื่อมวลชน ถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติรายวัน รวมทั้งประกาศจาก คสช. ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง อันมีผลต่อการกำหนดให้สื่อมวลชนทำและทำอะไรไม่ได้บ้าง
“หลังจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 ประกาศออกมา เป็นช่วงที่ผู้บริหารไทยพีบีเอสถูกเรียกตัวเข้าไปพูดคุยกับทหาร หลังจากนั้นทีม บก. ถูกเรียกตัวเข้าไปประชุมเพื่อประกาศนโยบายว่า ต่อจากนี้ห้ามรายงานข่าวที่มีการสัมภาษณ์ความเห็นจากนักวิชาการหรือบุคคลใดก็ตาม ให้นำเสนอเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ คสช. ฉบับนั้น รายการเถียงให้รู้เรื่องและตอบโจทย์จึงถูกถอดออกไป และหลังจากนั้นท่าทีในการทำข่าวก็ค่อยๆ เริ่มมีการเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น
สิ่งที่ตกใจที่สุด ที่วัดจากประสบการณ์การทำงานสื่อกว่า 10 ปีคือ เราไม่เคยถูกขอดูบทก่อนออกอากาศมาก่อนเลย แต่ก็ได้เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหารครั้งนี้
ความกลัวที่เกิดขึ้นจากการโดนคุกคามทั้งจากรัฐและเพื่อนร่วมอาชีพ หทัยรัตน์กล่าวว่าหากวัดจากประสบการณ์การทำข่าวกว่า 10 ปี ตั้งแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งจากตระกูลชินวัตรและทั้งสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ปกครอง ครั้งนี้เป็นบรรยากาศที่น่ากลัวที่สุด เพราะถูกบังคับทั้งจากประกาศของ คสช. ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่ไม่รู้ว่าสื่อมวลชนควรจะเดินไปในทิศทางไหน บรรยากาศความกลัวที่สื่อมวลชนพากันเซ็นเซอร์ตัวเอง เนื่องจากคาดเดาไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำหรือการรายงานข่าวที่ออกไปนั้น อะไรคือสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้
“อย่างไรก็ตาม เราก็มีความละอายที่สื่อสาธารณะไม่ได้ยืนยันที่จะทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างที่ควรจะเป็น แต่เรายังเชื่อว่าถ้าสื่อมวลชนร่วมกันทำหน้าที่ในการตรวจสอบและทวงถามเรื่องสิทธิมนุษยชน ค่อยๆ ผลักดันเส้นเสรีภาพให้ค่อยๆ ขึ้นไป ถ้าเราเริ่มต้นฝ่าเพดานความกลัวออกไป จะเห็นว่ามีคนจำนวนมากที่อยากจะฝ่าเพดานความกลัวไปด้วยกัน แต่คนแรกที่เริ่มขยับจะเป็นแบบไหนและเริ่มอย่างไร” หทัยรัตน์กล่าว
ความจำเป็นของเสรีภาพ
ในขณะที่ประเทศดูเหมือนจะถูกปกคลุมไปด้วยความกลัว หาก ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าความกลัวที่ว่านี้ดูเหมือนจะปกคลุมแค่บุคคลเฉพาะกลุ่ม
“การที่เราเห็นทหารหรือกระทั่งรัฐบาลพลเรือนเองใช้อำนาจเกินขอบเขตนั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องดีหรือรับได้ ขอย้ำว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าอะไรทั้งหมดคือความรู้สึกที่ว่าเสรีภาพไม่ใช่สิ่งจำเป็น” ปองขวัญกล่าว
โดยเธอเห็นว่า อาจจะต้องยอมรับว่าไม่ได้มีแค่คนที่เห็นว่าบ้านเมืองขณะนี้ไม่ชอบมาพากล และรู้สึกว่าเขาถูกลิดรอนประชาธิปไตย การที่สื่อ นักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจะปลุกตัวเองออกจากความกลัวแล้วออกไปต่อสู้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่การสู้ก็ต้องมีเทคนิคด้วย เพราะการต่อสู้เป็นเรื่องของขบวนการ
ขบวนการที่เธอว่า คือการสื่อสารในภาษาเดียวกันกับคนที่เห็นต่าง คือการทำให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพได้รับการรับรู้ในความหมายเดียวกัน
คนที่ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพในความหมายเดียวกับเรา เพราะเขามองเรื่องสิทธิเสรีภาพด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เสรีภาพที่เขาเข้าใจ คือเรื่องที่รัฐบาลจะไม่เข้ามายุ่งกับเศรษฐกิจของเขา เขาสามารถที่จะทำงานได้เงินและใช้เงินได้ในฐานะปัจเจก ตราบใดที่รัฐไม่เข้ามาแทรกแซง นี่คือสิ่งที่เขาคิด เราจะเชื่อมสองอย่างนี้ให้เข้ากันได้อย่างไร และเศรษฐกิจหรือสิ่งที่เขากลัวว่าจะถูกแทรกแซงนี้ จะได้รับผลกระทบ ถ้าหากประเทศไม่มีประชาธิปไตย และประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวที่เปิดโอกาสให้เราได้ต่อสู้ถกเถียงได้
ปองขวัญนำเสนอประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจและการเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่างหนังสือ เสรีนิยมกับประชาธิปไตย เขียนโดย นอร์แบร์โต บอบบิโอ (Norberto Bobbio) แปลโดย เกษียร เตชะพีระ ที่มีเนื้อหาว่าจุดเริ่มต้นของเสรีนิยมกับประชาธิปไตย แท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
เธออธิบายว่า เพราะจุดตั้งต้นของเสรีนิยมต้องการให้รัฐมีขนาดเล็ก ทุกคนสามารถมีเสรีภาพในทางเศรษฐกิจเต็มที่โดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามายุ่ง ขณะที่คำว่าประชาธิปไตยต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงต้องใช้พื้นที่ทางการเมืองในขนาดหนึ่ง
“แต่มันกลายเป็นสิ่งเดียวกันในตอบจบ เพราะว่าทุกคนเริ่มตระหนักว่าการที่จะมีสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจได้ ต้องมีหลักปกครองประชาธิปไตย เพื่อที่จะกันอำนาจของผู้มีอำนาจให้อยู่ในที่ขอบเขตของมัน ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ ทุกคนต้องมีหลักปัจเจกหรือเสรีภาพ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่คู่ขนานไปด้วยกัน”
ปองขวัญเปรียบเทียบความแตกต่างทางความคิดว่าคล้ายๆ กับการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีรสนิยมด้านอาหารเหมือนเรา แต่เมื่อเห็นเขากินอาหารที่เราไม่ชอบ เราไม่ได้ไล่ให้เขาไปกินที่อื่น แต่ยอมรับ คือให้เขากินได้ และสามารถกินในพื้นที่ของเราได้ด้วย
ถูกคุกคามผ่านเครือข่ายในอากาศและประกาศ คสช.
“วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 กฎอัยการศึกถูกประกาศใช้ ถัดมาวันที่ 21 พฤษภาคม ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถูกเรียกเข้าไปประชุมร่วมกันที่ กสทช. เพื่อขอความร่วมมือเรื่องขอให้ควบคุมเนื้อหาที่อยู่ในสื่อออนไลน์ ที่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจก่อความไม่สงบก็ให้คัดกรองด้วย และถัดจากนั้นหนึ่งวัน 22 พฤษภาคมก็รัฐประหารเลย”
คือสิ่งที่ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต พยายามอธิบายให้เห็นความเชื่อมโยงบางอย่างเพื่อบอกว่าการจัดการควบคุมสื่อออนไลน์ อาจถือเป็นมาตรการสำคัญที่คณะรัฐประหารให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น
หากย้อนกลับไปเมื่อการรัฐประหารปี 2549 มีประกาศของ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ฉบับที่ 5 ออกมาเกี่ยวกับการจำกัดควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ ทำให้เห็นว่าคณะรัฐประหารให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มาพักใหญ่ๆ แล้ว
“สังเกตว่าประกาศฉบับดังกล่าวเป็นตัวเลขตัวเดียว หมายความว่ามันต้องถูกจัดลำดับให้มีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะในขณะนั้นอินเทอร์เน็ตถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมที่มีพลังและได้ผลมาก อย่างกระทู้ต่างๆ หรือเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์”
คล้ายกันกับรัฐประหารครั้งนี้ ที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อควบคุมสื่อออนไลน์ และมีการระบุคำว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ เป็นครั้งแรก
นอกจากประกาศของ คสช. หลายๆ ฉบับที่ออกมาเพื่อควบคุมสื่อโดยเฉพาะแล้ว ยังมีเรื่องการเข้าไปจัดสรรองค์กรของคณะทำงานของ คสช. ที่จะจัดสรรหน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือดูแลกระทรวงต่างๆ ซึ่งสิ่งที่อาทิตย์เห็นว่าน่าสนใจคือ ในกลุ่มงานด้านความมั่นคง มีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ผูกผนวกรวมเข้าไปด้วย
จุดกำเนิด Single Gateway
จากประกาศฉบับที่ 26/2557 มาสู่ฉบับที่ 163/2557 อาทิตย์อธิบายว่า เป็นประกาศที่ตั้งคณะทำงานเพื่อขอติดตั้งอุปกรณ์ในการปิดกั้นบางเว็บไซต์ ที่คณะทำงานให้เหตุผลว่าเพราะสื่อออนไลน์ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ ในการปิดกั้นเว็บ ซึ่งเป็นการยากที่คณะทำงานจะเข้าไปตรวจสอบ จึงได้ขอเข้าไปใช้อุปกรณ์บางอย่างมาทำให้การทำงานลุล่วง คณะกรรมการของกระทรวงไอซีทีจึงถูกแต่งตั้งขึ้นมา
หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือการตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ ประสานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึง ประตูที่เชื่อมระหว่างอินเทอร์เน็ตไทยกับโลก (international internet gateway) จากนั้นปี 2558 แนวความคิด digital gateway ได้ถือกำเนิดขึ้น
มันเกิดขึ้นอย่างมีลำดับ เขาตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อทำงานด้านการสกัดข้อมูลและขอติดตั้งเครื่องมือเพื่อตรวจสอบก่อน จากนั้นกระทรวงไอซีทีก็ประกาศในกลางปี 2558 ว่าต้องการจะทำเรื่อง single gateway เพื่อสกัดกั้นคัดกรองข้อมูลต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง
นอกจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการใส่แนวความคิดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ที่เห็นซึ่งหน้าแล้ว ลึกลงไปในตัวโครงสร้างอย่างการจัดสรรองค์กรใหม่ของ คสช. ก็เป็นเรื่องที่อาทิตย์พยายามอธิบายเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงด้วย โดยเขายกตัวอย่างการจัดสรรองค์กรไอซีทีให้เข้าไปอยู่ในหน่วยงานความมั่นคง การจัดสรรโครงสร้างที่เกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลใหม่มีผลให้นโยบาย กสทช. ต้องสอดคล้องกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
การทำงานของ กสทช. ที่แต่เดิมถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีความอิสระ จะทำงานอย่างมีอิสระได้อย่างไร หากนโยบายที่กำหนดขึ้นต้องสอดคล้องกับบอร์ดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธานอีกชั้นหนึ่ง
โดยอาทิตย์ทิ้งท้ายด้วยมุกเรียกเสียงหัวเราะว่า “เมื่อสักครู่ผมเพิ่งคุยกับเพื่อนๆ เขาถามว่าเมื่อไรเราจะมีการเลือกตั้ง ผมตอบขำๆ ว่าผมไม่รู้ แต่คิดว่าตราบใดที่เขาย้ายประกาศทั้งหมดไปไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ตราบนั้นเขาก็คงจะไป เพราะอำนาจของเขายังอยู่ครบทั้งหมด”