ปลายปี 2020 จนถึงต้นปี 2023 หลายประเทศทางซีกโลกตะวันออกได้เผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีติดต่อกัน (triple-dip La Niña) ฝนจึงตกมากกว่าปกติเป็นเวลานาน หลังจากนั้นสภาพอากาศก็เคลื่อนสู่สภาวะเป็นกลาง (neutral) อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะเบนเข็มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) อย่างเต็มรูปแบบ อากาศจึงร้อนระอุและอาจเกิดภัยแล้งที่ยาวนาน
ปัจจุบัน พวกเรากำลังเผชิญกับลมฟ้าอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก พายุรุนแรง ไฟป่าโหมกระหน่ำ คลื่นความร้อน (heat wave) คลื่นความเย็น (cold wave) และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แปรปรวนจนยากจะคาดเดา บทความนี้ ผมจึงอยากชวนผู้อ่านไปสำรวจความวิปริตของลมฟ้าอากาศที่อาจทำลายกลไกการทำงานของโลกบางส่วนลงอย่างราบคาบภายในปลายศตวรรษนี้
เดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
“ยุคภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว พวกเรากำลังอยู่ในยุคภาวะโลกเดือด”
คำกล่าวอันน่าตระหนกนี้เป็นของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations: UN) ที่อ้างอิงจากผลการศึกษาขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) และศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ซึ่งพบว่าเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเทียบเคียงกับอุณหภูมิของยุคอีเมียน (Eemian) หรือช่วงระหว่างยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย (last interglacial) เมื่อประมาณ 120,000 ปีก่อน
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์สามารถอธิบายอย่างคร่าวๆ ได้ว่า บรรยากาศโลกจะ ‘รับ’ ความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้ครู่หนึ่ง แล้ว ‘ปล่อย’ ความร้อนนั้นกลับคืนสู่อวกาศ เรียกว่า สมดุลพลังงานของโลก (earth’s energy budget) ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์ 4 อย่างที่ควรรู้จัก ได้แก่
- ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) คือ การที่ก๊าซเรือนกระจก เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ดูดกลืนความร้อนส่วนหนึ่งจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศโลกมีค่าเกือบคงที่ หากไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าว พื้นผิวโลกจะเย็นลงจนถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง
- รูโหว่โอโซน (ozone hole) คือ การที่สารทำลายโอโซน เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอน ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ไฮโดรโบรโมฟลูออโรคาร์บอน ฮาลอน ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศแล้วทำลายชั้นโอโซน (ozone layer) จนกลายเป็นช่องเปิด แสงอาทิตย์จึงทะลุผ่านลงมาที่พื้นผิวโลกมากขึ้น แต่รูโหว่โอโซนไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้น
- ภาวะโลกร้อน (global warming) คือ การที่ก๊าซเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก๊าซเรือนกระจกมีมากมายหลายชนิด แต่สาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก เพราะก๊าซดังกล่าวถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน และสามารถตกค้างอยู่ในบรรยากาศได้นานหลายสิบปีจนถึงหลายร้อยปี
- การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) คือ การที่ภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถเกิดจากธรรมชาติ เช่น การปะทุของภูเขาไฟ การตกปะทะของอุกกาบาต การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลก การเปลี่ยนแปลงปริมาณแสงอาทิตย์ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ความวิปลาสของลมฟ้าอากาศในปัจจุบันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก
ส่วนคำว่า ภาวะโลกเดือด (global boiling) เป็นความพยายามที่จะสื่อสารว่า ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้นจนลมฟ้าอากาศแปรปรวนยิ่งกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา
ตรงจุดนี้ ผมขออนุญาตนอกเรื่องสักหน่อย เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการเรียก climate change ว่า ‘ภาวะโลกรวน’ ตามกระแสนิยม ด้วยเหตุผลดังนี้
- climate แปลว่า ‘ภูมิอากาศ’ ไม่ใช่ ‘โลก’ และ change แปลว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ ไม่ใช่ ‘รวน’
- ภูมิอากาศของโลกไม่ใช่ระบบที่เสถียร แต่สามารถเกิดความแปรปรวน (variability) ได้เป็นครั้งคราว ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับ ‘การรวน’ แต่ภาวะดังกล่าวมีขนาดเล็กกว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ เราจึงไม่ควรนำภาวะที่เล็กกว่าไปแทนที่ภาวะที่ใหญ่กว่า
- คำว่า ‘ภาวะโลกรวน’ ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกกำลังรวน ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่มีนิยามชัดเจนและเป็นที่ยอมรับทางวิชาการ
การล่มสลายของกระแสน้ำอุ่น
กระแสภาวะโลกเดือดยังไม่ทันหาย ข่าวเรื่องการล่มสลายของกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (gulf stream) ก็ตามมาติดๆ
จากความรู้วิชาสมุทรศาสตร์ (oceanography) กระแสน้ำในมหาสมุทรแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- กระแสน้ำพื้นผิว (surface current) คือ กระแสน้ำระดับตื้นที่เกิดจากลมพัดผ่านผิวน้ำทะเล
- กระแสน้ำลึก (deep current) คือ กระแสน้ำระดับลึกที่ไหลไปมา เพราะความหนาแน่นของน้ำที่แตกต่างกัน เนื่องจากน้ำมีอุณหภูมิ ความเค็ม และปริมาณสสารไม่เท่ากัน
กระแสน้ำที่ไหลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการไหลของน้ำจะช่วย ‘เกลี่ย’ สสารและพลังงานเพื่อรักษาสมดุลของมหาสมุทร ภูมิอากาศ แผ่นดิน และระบบนิเวศ
กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมมีจุดกำเนิดบริเวณอ่าวเม็กซิโก ไหลเลียบชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ แล้วพาดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกข้ามไปยังขั้วโลกเหนือและทวีปยุโรป พร้อมนำธาตุอาหารและอุณหภูมิที่อบอุ่นไปด้วย กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมเป็นส่วนหนึ่งของกระแสน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า วงจรการหมุนเวียนรอบมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Meridional Overturning Circulation) ซึ่งทำหน้าที่กระจายธาตุอาหารและอุณหภูมิไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก และวงจรดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของกระแสน้ำขนาดใหญ่กว่า เรียกว่า วงจรการหมุนเวียนเทอร์โมฮาไลน์ (Thermohaline Circulation) ซึ่งอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนธาตุอาหารและอุณหภูมิไปยังมหาสมุทรเกือบทั่วโลก
สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งจึงละลายลงสู่ทะเลมากขึ้น ความหนาแน่นของน้ำที่ลดลงทำให้กระแสน้ำที่คอยรักษาสมดุลของมหาสมุทรแอตแลนติกไหลช้าลงเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์บางส่วนจึงเกรงว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายอาจดำเนินมาถึงปากเหว เรียกว่า จุดพลิกผันที่ย้อนกลับไม่ได้ (irreversible tipping point) หากกระแสน้ำดังกล่าวหยุดไหล ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นระหว่างปี 2025-2095 ผลกระทบที่ตามมาคืออุณหภูมิของทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรปจะลดต่ำลง เกิดภาวะแห้งแล้ง ลมฟ้าอากาศปั่นป่วน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ธาตุอาหารในทะเลน้อยลง และระบบนิเวศเสื่อมถอยเป็นวงกว้าง
แม้วงจรการหมุนเวียนรอบมหาสมุทรแอตแลนติกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความหนาแน่นของน้ำจะอ่อนกำลังลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่า แม้กระแสน้ำดังกล่าวจะไหลช้าลงหรือหยุดชะงักไป กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงลมน่าจะยังสามารถทำงานต่อไปได้ เพราะมหาสมุทรเป็นระบบขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความโกลาหลจนยากจะคาดเดา
มหันตภัยบนหลังคาโลก
เมื่อพูดคำว่า ‘ขั้วโลก’ หลายคนคงนึกถึงดินแดนอันหนาวเหน็บนามว่า อาร์กติก (Arctic) ที่ขั้วโลกเหนือ และแอนตาร์กติกา (Antarctica) ที่ขั้วโลกใต้ แต่ทราบหรือไม่ว่า ที่ราบสูงทิเบต (Tibetan plateau) แห่งทวีปเอเชีย คือที่ตั้งของขั้วโลกที่สาม (third pole) ซึ่งมีปริมาณหิมะและน้ำแข็งเป็นรองเพียงขั้วโลกทั้งสองแห่งเท่านั้น
ขั้วโลกที่สาม เกิดจากเทือกเขาขนาดใหญ่ 3 แห่ง ทอดยาวเรียงต่อกัน เรียกว่า ระบบฮินดูกูช-การาโกรัม-หิมาลายัน (Hindu Kush-Karakoram-Himalayan system) ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นกำแพงธรรมชาติคอยชะลออากาศเย็นบางส่วนจากเอเชียกลางไม่ให้ไหลลงมาสู่พื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตร และยังเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสายในทวีปเอเชีย ได้แก่ ฮวงโห แยงซี คงคา พรหมบุตร สินธุ อิรวดี อามูดาร์ยา ทาริม สาละวิน และโขง ซึ่งน้ำจืดปริมาณมหาศาลจะไหลลงสู่ที่ราบและทะเล เพื่อควบคุมสมดุลของระบบนิเวศและหล่อเลี้ยงผู้คนอีกกว่า 2,000 ล้านชีวิต
ข่าวร้ายมีอยู่ว่า ขั้วโลกที่สามก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือของภาวะโลกร้อนเช่นกัน!
เมื่ออากาศที่ร้อนระอุเร่งให้หิมะและน้ำแข็งละลาย แสงอาทิตย์จะสะท้อนกลับสู่ท้องฟ้าน้อยลง แผ่นดินจึงร้อนขึ้น กรณีเลวร้ายที่สุด หิมะและน้ำแข็งที่ละลายจะกลายเป็นทะเลสาบบนภูเขา เมื่อขอบของทะเลสาบปริแตก มวลน้ำจะทะลักทลายลงสู่พื้นที่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว เรียกว่า น้ำท่วมแบบระเบิดจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง (glacial lake outburst flood) ซึ่งอาจกวาดล้างชุมชนบริเวณนั้นไปจนหมด และหากโลกยังร้อนขึ้นเรื่อยๆ อนาคตข้างหน้าพื้นที่รอบขั้วโลกที่สามและยอดเขาเอเวอร์เรส (Everest) อาจสูญเสียหิมะสีขาว แล้วถูกแทนที่ด้วยพืชพรรณสีเขียว จนกลายเป็นทิวทัศน์แปลกตาที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
ผู้อ่านคงเห็นภาพแล้วว่า เสถียรภาพของแผ่นดิน ผืนน้ำ และระบบนิเวศ ล้วนถูกกำหนดด้วยอำนาจของท้องฟ้า แต่ถ้าถามว่ามนุษยชาติจะหาหนทางลดความเดือดพล่านของโลกลงได้อย่างไรนั้น คำตอบยังคงอยู่ในความมืดมิด
อ้างอิง
- Hottest July ever signals ‘era of global boiling has arrived’ says UN chief
- What Is the Gulf Stream?
- What is the Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC)?
- Warning of a forthcoming collapse of the Atlantic meridional overturning circulation
- What’s happening with AMOC?
- As dengue cases break records, Bangladesh struggles to cope
- Third Pole climate warming and cryosphere system changes
- Hazard from Himalayan glacier lake outburst floods
- Plants are growing higher up Mount Everest as the climate warms