พึ่งตนเองด้านพลังงาน โจทย์สำคัญของประเทศไทย

Sompon_interview

นักคณิตศาสตร์ประยุกต์ที่เริ่มต้นจับงานเทคโนโลยีเฝ้าระวังภัยพิบัติ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง โครงการเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี (Pattni Bay Watch: PBWatch) สมพร ช่วยอารีย์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นอกเหนือจากงานด้านข้อมูลและติดตามด้านภัยพิบัติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สมพรยังเห็นความเชื่อมโยงกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ความไม่สมเหตุสมผลของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นทางออกสำหรับชุมชนทั่วประเทศ จึงสนใจและทดลองติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคาบ้านตัวเองก่อน

ปัจจุบัน ที่พักของสมพร ใบเสร็จค่าไฟฟ้าเหลือ 0 บาท เท่านั้นไม่พอ เขายังขยายขอบเขตการใช้พลังงานทางเลือกสู่ระดับองค์กร และความฝันที่ยังต้องผลักดันต่อไปคือการทำให้ทุกครัวเรือนพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้

ตามความเห็นของอาจารย์ คิดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

จริงๆ แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินสำหรับภาคใต้ไม่มีความจำเป็นเลย เพราะมีโรงไฟฟ้าฐานเบื้องต้นอยู่แล้ว เนื่องจากในอนาคต รูปแบบการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้จะเข้มข้นมากขึ้น

ด้วยราคาของเทคโนโลยีที่ลดลงเมื่อเทียบกับ 38 ปีที่แล้ว แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 120 วัตต์ ราคาประมาณ 300,000 บาท ทุกวันนี้ราคาเหลืออยู่ 3,000 กว่าบาท มันลดไป 100 เท่า ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของระบบพลังงานโลก

หลายๆ ที่พยายามลดและเลิกการใช้ถ่านหิน เพราะสุดท้ายมันจะเอาเรื่องของสุขภาพไม่รอด การจัดการสุขภาพต้องใช้งบประมาณมหาศาล การทำโรงไฟฟ้าถ่านหินมีต้นทุนการซื้อถ่านหินต่อหน่วยการผลิตถูกกว่าก็จริง แต่เรายังไม่ได้คิดค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ค่าอาชีพประมง หรืออาชีพอื่นๆ

กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากประชาชนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจริงๆ ควรทำอย่างไร

ถ้าประชาชนพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ แล้วลุกขึ้นมาสับคัทเอาต์ ภาระจะไปตกกับกลุ่มห้างสรรพสินค้าหรือกลุ่มอุตสาหกรรมหนักทั้งหลาย

ถ้าสุดท้ายแล้วประชาชนพึ่งตนเองได้ แต่พวกเขา ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคพลังงานมาก ถามว่าคุณมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานเองขนาดไหน เป็นไปได้ไหมที่ต่อไปคนใช้ไฟฟ้าเกิน 1-5 ล้านบาทต่อเดือน จะต้องมีส่วนในการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากหนทางใดก็ได้ หรือไม่อย่างนั้นต้องเสียภาษีพลังงานเพิ่มขึ้น หรือก็ต้องเอาค่าภาษีพลังงานไปผลิตของคุณ

คุณต้องวางแผนว่า เริ่มแรกผลิต 3-5 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึง 15-25 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณไม่ลดค่าใช้จ่ายลง คุณจะต้องจ่ายแบบนี้ หรือคุณจะต้องผลิตพลังงานใช้เอง แบบนี้ผมว่าจะอยู่รอด

ผมคิดว่า เราต้องปลุกให้คนตื่น เพื่อที่จะมารับรู้ข้อมูล โดยไม่ต้องไปใส่ไข่ให้ใครเลย ให้ทุกคนได้เรียนรู้ ได้ถกเถียง ได้ตั้งวง สื่อก็จะทำหน้าที่นำพาไปสู่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในพื้นที่ ว่าควรทำอย่างไร

อีกเรื่องคือผมตั้งใจไว้ว่า เป็นไปได้ไหมที่เด็กจบปริญญาตรีสักคน หรือส่วนหนึ่ง จะมาตั้งกลุ่ม บัณฑิตมีไฟ หรือทำโครงการ ‘หนึ่งใบปริญญา หนึ่งหลังคาพลังงานครัวเรือน’ เราอาจจะให้เวลาสักปีหนึ่ง เพื่อให้บัณฑิตวางแผนและสะสมงบประมาณเพื่อจะมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้พ่อแม่

จริงๆ แล้ว 1 กิโลวัตต์ 50,000 บาท ผมคิดว่า ตอนนี้เป็นเหตุเป็นผล เพราะอายุแผง 25 ปี ยาวนานพอที่จะคืนทุนภายในไม่เกิน 10 ปี ถึงตอนนั้น ค่าไฟอาจจะหน่วยละ 7-10 บาทแล้ว ค่า Ft อาจจะไม่ใช่แค่กี่สิบสตางค์

สิ่งที่อาจารย์มองว่าประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่

ตอนนี้ประเทศไทยขาดอยู่อย่างหนึ่งคือ open data เป็นไปได้ไหมว่า จะสามารถโอเพนทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจะให้ข้อมูลเหล่านี้เกิดการเผยแพร่สู่สื่อ สู่สังคม สู่นักวิชาการ สู่กระบวนการ ไปคิดใหม่ เพื่อหาทางออกร่วมกัน และสุดท้ายก็จะได้ทางออกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

ถ้าอยากประหยัดไฟที่บ้าน ควรเริ่มจากอะไรก่อน

เริ่มจากกาน้ำร้อนก็ได้ พยายามอย่าเสียบทิ้งไว้ทั้งวัน แล้วจริงๆ ตู้เย็นเหมือนปลิงเลย มันจะถูกเสียบเอาไว้นิรันดรจนกว่ามันจะพัง เปรียบเสมือนปลิงที่จะมาสูบเลือดเจ้าของบ้านไปทุกๆ เดือน

ถามว่า คุณจะหลุดหรือเป็นอิสระจากปลิงตัวนี้ได้ไหม ให้ตู้เย็นมันนอนพักบ้าง ผมก็เลยลองตั้งเวลา (ติดตั้ง timer) ให้มันนอนหลับตั้งแต่เที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า แล้วมาเปิดดูสิว่า ปลาที่แช่ไว้ยังโอเคหรือเปล่า ใบผักมีปัญหาไหม

ถ้ามีปัญหา ลดเหลือ 4-5 ชั่วโมงได้ไหม ลดแล้วเป็นอย่างไร ก็วิจัยไปด้วยในตัว ผมตั้งเวลาสั่งให้มันดับตั้งแต่เที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า ตื่นขึ้นมาก็ยังเย็นเหมือนเดิม เพราะหลังเที่ยงคืนเราไม่ค่อยเปิดตู้เย็นแล้ว มันก็จะเย็นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ถามว่าหลักการแบบนี้ถ้าเอาไปคุย กฟผ. จะคิดอย่างไร เขาอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า นี่อาจเป็นอุดมคติ เป็นไปได้ยาก แต่ผมทำให้เห็นแล้วว่ามันทำได้

จากที่เคยทดลองได้สูงสุดกี่ชั่วโมง

ที่เคยทำ เคยปิดถึง 10 ชั่วโมงก็มี แต่ถ้าบ้านหลังไหนมีแค่น้ำขวดเดียวในตู้เย็น อัญเชิญถอดทิ้งเลยดีกว่า อย่าเสียบให้เปลืองไฟ ไม่เสียบแบบนี้คือการยืดอายุการใช้งานตู้เย็น

ฉะนั้น วาทกรรมที่บอกว่า ตู้เย็นอย่าถอดออกจากปลั๊ก อย่าเสียบๆ ถอดๆ จะทำให้ตู้เย็นเสีย แต่ถ้าถอดออกต่อเนื่องมันไม่เสีย ต้องพูดให้หมด แล้วถามว่า เวลาเข้าไปในห้องพักโรงแรมมันตัดไฟอัตโนมัติ แล้วตู้เย็นไม่เสียหรือ

เพราะฉะนั้น อย่าไปกังวลมาก ผมก็อยากจะดูเหมือนกันว่ามันจะเสียเมื่อไหร่ เพราะไฟฟ้าเวลาส่งเข้าสายส่งไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีใครใช้ มันคือการสูญเปล่า

เมื่อการันตีได้ว่าทุกครัวเรือนมีตู้เย็นอย่างน้อยหนึ่งตู้ ทั่วประเทศก็ต้องมีอย่างน้อย 17 ล้านตู้แน่ๆ แล้วเชื่อว่าบางบ้านมีสองตู้ มันเป็นความจริง โรงแรมมีตู้เย็นกี่ร้อยตู้ กระบี่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีตู้เย็นเท่าไหร่ มีสถานที่ท่องเที่ยวเท่าไหร่ เมื่อแขกเข้าไปพัก หลังเที่ยงคืนแขกก็นอน แต่ตู้เย็นทำงาน เป็นไปได้ไหมว่าน้ำสองสามขวดในตู้เย็น สั่งหลับไปพร้อมกับแขกที่นอนในห้องพักไปเลย

มันจะมีอุปกรณ์อยู่ตัวหนึ่ง เรียกว่า timer ตั้งโปรแกรมได้ประมาณแปดโปรแกรม เราตั้งเวลาให้มันก่อน เช่น บอกว่า โปรแกรมที่หนึ่ง เปิดเมื่อไหร่ เช่น 06:00 แล้วคลิกไปอีกที จะเข้าไปที่ปิด ก็ลองตั้งเวลาไว้ที่ 23:59 เราเอาตัวนี้ไปเสียบที่ปลั๊กบ้านไว้ก่อน แล้วเอาตู้เย็นมาเสียบปลั๊กนี้อีกที ตั้งเวลาเพื่อให้มันตื่นและหลับเมื่อไหร่ แค่นี้เองครับ ง่ายๆ ใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกอย่าง

ใช้กับไฟก็ได้ ตู้เย็นก็เหมือนกัน เพราะกระแสไฟ 220 โวลต์ เป็นกระแสไม่เยอะมากนัก เมื่อกระตุกจะไม่ค่อยมีปัญหา ทดลองแล้วก็เรียบร้อย

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะนำไปสู่การคิดใหม่ และเปลี่ยนกระบวนการคิดเรื่องพลังงานของชาติ แล้วประเทศไทยจะเป็น Green Country, Green Energy พึ่งพาตนเอง ยืนบนขาตัวเองได้อย่างแท้จริง

การจะเกิดโรงไฟฟ้าที่ใด อย่าไปมองว่าเขาจะต้องเป็นผู้เสียสละ ถามว่าทำไมต้องเป็นเขา ทำไมไม่เป็นเรา ปัญหาไฟไม่พอ ควรจะเป็นปัญหาของเราร่วมกันทั้งประเทศ เพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน ลดการใช้ไฟร่วมกัน ถ้าคนใช้ไฟน้อยลง ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน จะมีค่าสูงอยู่สามช่วง คือตอนเช้า ตอนบ่าย และช่วงกลางคืน เช้ากับบ่าย แสงอาทิตย์กับลมช่วยได้ ส่วนความต้องการไฟฟ้าช่วงกลางคืน น้ำ ลม และคลื่นช่วยได้ เรากล้าพอหรือยังที่จะเปิดสาขาเรื่องนวัตกรรมด้านพลังงานในประเทศไทย ถ้าทำได้แบบนี้ ผมคิดว่าจบ ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะสวยงามและสัมผัสได้จริง ผมสัมผัสมาแล้ว อยากให้คนอื่นสัมผัสบ้าง

ในฐานะนักคณิตศาสตร์ นำความรู้มาปรับใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ผมก็ทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อจะให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไร เช่น ปล่องควันนี้ สูงขึ้นมา 200 เมตร แล้วปล่องก็ปล่อยควันขึ้นมา ลมพัดมาทางด้านไหน แล้วมันจะส่งผลกระทบเข้าบ้านใคร

ยกตัวอย่างหมอกควันจากการเผาป่าเผาต้นไม้ ทำการเกษตรจากอินโดนีเซีย เดินทางมาเป็นพันกิโลเมตรถึงภาคใต้ของไทย หาดใหญ่มีค่าปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานไปเยอะ จนถึงขั้นที่อันตราย ขนาดหาดใหญ่ที่อยู่ห่างจากอินโดนีเซียเป็นพันกิโลเมตร ควันก็ยังมาถึงและเข้มข้นได้ขนาดนี้ แล้วคนในพื้นที่จะอยู่กันอย่างไร

แล้วถามว่าถ่านหิน หรือผลกระทบจากโรงงานอื่นๆ ที่อยู่ตรงนี้ ในระยะทางใกล้ๆ แบบนี้ในภาคใต้ มันจะไปไม่ถึงหรือ

นี่คือตรรกศาสตร์ที่ไม่ได้จะโจมตีใครเลย เพียงแต่ซักถามเพื่อให้เห็นว่ามันเชื่อมโยงกัน ผมคิดว่า แบบนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาเอกก็คิดได้ ตรงไปตรงมาเลย


น้อยไปมาก logo

‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ว่าด้วยผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ พวกเขาเป็นใครหลายคน ทั้งทนายความ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสันติวิธี นักดนตรี นักการละคร ฯลฯ
พวกเขาคือคนธรรมดา แต่ความตั้งใจและเนื้องานของพวกเขา ก่อให้เกิดมรรคผลต่อสังคม ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
บนเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายนี้ พวกเขาแต่ละคนไม่ได้เดินเพียงลำพัง พวกเขามีเพื่อน เครือข่าย สหวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวน ‘มาก’
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ที่มีทั้งรูปแบบบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น สารคดี และหนังสารคดี ผลิตโดยทีมงานนิตยสาร WAY

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า