Health Advocate Must Speak Up

บนโต๊ะการค้าระหว่างประเทศ ‘ตัวละคร’ ที่มีบทบาทสูงสุดอาจไม่ใช่คนที่อยู่ในแสงสปอตไลท์  พวกเขาทำงานเงียบๆ แต่ทรงประสิทธิภาพในการข่มขู่ คุกคาม หว่านล้อม กระทั่งบีบบังคับให้คู่เจรจาดำเนินไปตามทิศทางผลประโยชน์ที่ต้องการ และผลประโยชน์ที่ว่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผลประโยชน์ของชาติ

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  คลี่ให้เห็นโฉมหน้าและบทบาทของขบวนการล็อบบี้ยิสต์ป่วนโลก

1.

ข่าวเล็กๆ ที่เงียบฉี่ แต่สะเทือนวงการสาธารณสุขบ้านเราข่าวหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา ต้องยกให้กับข่าวทูตอเมริกันนำนักธุรกิจเข้าพบ สธ.1

จากรายงานข่าวของบางกอกโพสต์ ระบุว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2549 นายราล์ฟ บอยส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้นำบริษัทธุรกิจจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตัวแทนของสภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียน เข้าพบนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการระดับสูงจากกรมควบคุมโรค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

บริษัทอเมริกันที่เข้าพบครั้งนี้ประกอบไปด้วย บริษัทบุหรี่ Phillip Morris บริษัทนำเข้าเหล้า Diageo and Riche Monde, บริษัทยา Eli Lilly และ บริษัทตัวแทนขายตรงอาหารเสริม Amway การเข้าพบครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐกล่าวว่า “การเจรจา  ครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของทั้งสองประเทศที่จะทำงานร่วมกัน และหวังว่าจะมีโอกาสที่มากกว่านี้ในวันข้างหน้า” ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้เน้นที่ความร่วมมือระดับทวิภาคี ซึ่งฝ่ายอเมริกันขอให้ช่วย “สร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเหล้าและบุหรี่ในประเทศไทย”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังเปิดเผยด้วยว่า สำหรับฝ่ายสหรัฐเห็นว่า การห้ามโฆษณาเหล้าและบุหรี่ถือเป็นการกีดกันทางการค้าประการหลัก และขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขรับรองว่าจะปฏิบัติอย่าง ‘ยุติธรรม’ ต่อซิการ์ให้ไม่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน เพราะว่า ในเดือนตุลาคมนี้ บุหรี่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คำที่ทำให้ผู้สูบเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ผลที่มีต่อร่างกายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ปกติ เช่น Light, Mind และ Low Tar และอีกไม่นานบนซองบุหรี่จะต้องตีพิมพ์สารเคมีอันตรายที่เป็นบ่อเกิดของมะเร็งทั้งหมด ขณะที่การโฆษณาเหล้ากำลังถูกพิจารณา ห้ามโฆษณาโดยเด็ดขาด ทางด้านนายวัชระ พรรณเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจข้อเสนอของทางสหรัฐเพื่อประโยชน์ของนักธุรกิจไทยที่ส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ทางไทยไม่ได้รับปากอะไรในการเจรจาปิดลับครั้งนี้

2.

การกระทำของทูตสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ในวิสัยที่เข้าใจได้ เพราะถึงแม้ว่าการเจรจาให้ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่ควบคุมจะหมายถึงสุขภาพคนไทยที่แย่ลง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับ ‘ผลประโยชน์ของชาติอเมริกัน’ พูดง่ายๆ แบบอเมริกันสไตล์ None of My Business แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำเช่นที่ว่านี้มีความชอบธรรม

ที่ผ่านมา การเข้าพบแบบเห็นหน้าเห็นตาอาจจะมีไม่บ่อยครั้ง แต่การส่งจดหมาย คำเตือน หรือเข้าขั้นคำขู่ก็มีมาโดยตลอด ตัวอย่างที่พอหยิบยกทบทวนความจำ ได้แก่ การออกระเบียบติดคำเตือนและภาพบนซองบุหรี่ การติดฉลากจีเอ็มโอ การขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่ เป็นต้น บางครั้งฝ่ายไทยก็สามารถยืนยันเพื่อสาธารณสุขของประเทศตัวเองได้ แต่บ่อยครั้งก็ต้องมีสภาพจำยอมตามที่ฝ่ายสหรัฐ ‘ร้องขอ(แกมบังคับ)’ มา ดังกรณีของการลดความเข้มงวดของฉลากจีเอ็มโอ จนแทบไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้จริง

บางคนอาจจะคิดว่า สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว ผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกัน ก็ถือเป็นผลประโยชน์ของชาติ แต่ความเป็นจริง ‘ผลประโยชน์ของอเมริกัน’ ก็คงเหมือนกับผลประโยชน์ของอีกหลายๆ ประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ที่การกำหนดนิยามหรือความเข้าใจเรื่อง ‘ผลประโยชน์ของชาติ’ ขึ้นอยู่กับว่า ใครมีอิทธิพลเหนือผู้กำหนดนโยบายมากกว่ากัน

ในกรณีนี้ คำว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ ไม่ใช่แค่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช, พรรครีพับลิกัน หรือ พรรคเดโมแครต เท่านั้น แต่ยังต้องพ่วงอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ทรงอิทธิพลทั้งอำนาจและการให้ ‘น้ำเลี้ยง’ แก่พรรคการเมืองเหล่านี้เรื่อยมา นั่นคือ อุตสาหกรรมพลังงาน, ยา, อาหาร (น้ำอัดลม ฟาสต์ฟู้ด จีเอ็มโอ เป็นต้น) และ แน่นอน เหล้า-บุหรี่ ซึ่งอิทธิพลของอุตสาหกรรมเหล่านี้แทรกอยู่ในทุกอณูองคาพยพการตัดสินใจของหน่วยราชการ รัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเจรจาการค้า คือ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR)

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจว่า ‘ผลประโยชน์ของอเมริกัน’ ไม่มีคำว่า ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐไปเจรจาการค้าด้วย หรือแม้แต่ชาวอเมริกันเอง (นอกเสียจากว่า คำคำนี้จะถูกหยิบยกมาใช้เพื่อสร้าง ‘ความชอบธรรม’)

3.

ในปี 2545 ก่อนที่สภาคองเกรสจะผ่านกฎหมายฟาสต์แทร็ก ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐในการเจรจาการค้า หน่วยงานของรัฐที่เรียกว่า The Government Accountability Office (GAO) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใส พบว่า ‘บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขไม่มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ แม้แต่ในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มีผลกระทบโดยตรงกับบุคคลเหล่านี้’เพราะเหตุใด GAO จึงให้ความสำคัญกับบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในการเจรจาการค้าอย่างมาก

หลายครั้ง คนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านหรือวิจารณ์ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดยบรรษัท (Corporate Driven Globalization) มักถูกตราหน้าว่า เป็นพวกล้าหลัง ต่อต้านการพัฒนา ไม่ยอมรับโลกาภิวัตน์ที่ทันสมัย หรือบางส่วนถูกตราหน้าเป็นพวก ‘ซ้ายซื่อบื้อ’ แต่ในความเป็นจริงกลุ่มคนที่กังวลต่อการเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดย  บรรษัทมากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ บุคลากรและผู้-เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เพราะคนเหล่านี้อยู่และสัมผัสกับชีวิตมนุษย์ ระหว่างความเป็นกับความตายมากที่สุด

ข้อห่วงใยของหน่วยราชการอย่าง GAO ถูกทำให้เป็นแค่คลื่นกระทบฝั่ง หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐไม่เคยใส่ใจ ทำให้ในอีก 2 ปีต่อมา ศูนย์วิเคราะห์นโยบายสาธารณสุขกับการค้า (CPATH) ซึ่งเป็นสถาบัน-วิชาการด้านสาธารณสุข ได้ระดมบุคลากรด้านสาธารณสุข เริ่มรณรงค์กับสมาชิกสภาคองเกรสและสาธารณชนอย่างจริงจัง เพื่อสะท้อนความกังวลของพวกเขา โดยเฉพาะข้อตกลงทางการค้าที่เร่งเจรจาหลังกฎหมายฟาสต์แทร็กมีผลบังคับใช้

จากงานวิจัยของ CPATH ร่วมกับนัก-วิชาการและบุคลากรด้านสาธารณสุขอเมริกัน ได้แจกแจงให้เห็นผลกระทบจากข้อตกลงทางการค้า หรือ เอฟทีเอ ‘อเมริกันสไตล์’ ที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนพบว่า “ข้อตกลงในลักษณะนี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนและสาธารณสุขโดยรวมทั้งกับชาวอเมริกันและประเทศคู่เจรจา จากประเด็นการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญา, ผลกระทบต่อการเข้าถึงยาราคาถูก, การทำให้การบริการสาธารณสุขและการประปาซึ่งเป็นบริการพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิตเป็นสินค้า, มีผลกระทบต่อมาตรฐานและใบอนุญาตวิชาชีพสาธารณสุข, ลดกฎระเบียบและเร่งการกระจายสินค้าบุหรี่และเหล้า, ลดกฎระเบียบที่ระวังความปลอดภัยทางชีวภาพในพืชและสัตว์, กระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้านสินค้าและบริการที่อาจจะกระทบต่อสุขภาพและสาธารณสุข โดยเฉพาะสวัสดิการของผู้สูงอายุและทหารผ่านศึก”

ในรายงานวิจัยของ CPATH ยังชี้ว่าข้อตกลงการค้าอเมริกันสไตล์ มีสรรพคุณดังต่อไปนี้

สร้างเครื่องมือใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนในการท้าทายกฎระเบียบของรัฐที่จะปกป้องสาธารณสุข สุขภาพประชาชน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากร- ธรรมชาติที่รัฐหลุยส์ โพโตซีของเม็กซิโก ที่ไม่ออกใบอนุญาตทิ้งขยะสารพิษบริเวณพื้นที่ต้นน้ำแก่บริษัท Metalclad ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกัน ทำให้ถูกฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการ ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ในที่สุด รัฐบาลเม็กซิโกต้องใช้เงินภาษีของประชาชนชดเชยกำไรบริษัทอเมริกันไป 16.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 600 กว่าล้านบาท) นับจากนี้สาธารณสุขของชุมชน และสุขภาพของประชาชน จะไม่ได้รับการปกป้องอีกต่อไป เพราะการปกป้องอาจหมายถึงการที่จะถูกนักลงทุนต่างชาติเรียกร้องค่าเสียหาย เรียกร้องได้แม้แต่ค่าชดเชยกำไร
ที่หายไป

สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว (Chilling Effect) ให้กับผู้กำหนดนโยบายที่จะออกกฎหมายหรือกฎระเบียบในการปกป้องประชาชน:

ที่แคนาดา รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจถอนกฎหมายที่จะบังคับห้ามโฆษณาบนซองบุหรี่ด้วยคำที่จูงใจให้ผู้สูบเข้าใจว่ามีพิษภัยน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เนื่องจาก Phillip Morris บริษัทบุหรี่อเมริกันขู่ว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ฐานที่รัฐบาลแคนาดาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีนี้ คือ ละเมิดเครื่องหมายการค้า

ทำให้การบริการสาธารณสุข เป็นสินค้าบริการด้านสุขภาพ ‘คนที่มีเงินเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับบริการ’: พันธมิตรอุตสาหกรรมบริการอเมริกัน (U.S. Coalition of Service Industries) ประกาศชัดเจนตั้งแต่ปี 2543 ว่า “การที่รัฐเป็นผู้บริการสาธารณสุขในประเทศต่างๆ สร้างความลำบากในการทำการตลาดแก่นักธุรกิจอเมริกันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบรรดาตลาดเกิดใหม่ที่มักมีกฎระเบียบใหม่ๆ ออกมาขัดขวาง” ละไว้ในฐานที่เข้าใจคือ สิ่งเหล่านี้ต้องถูกกำจัดออกไปให้หมดเพื่อเปิดทางการทำธุรกิจอย่างเต็มที่

สร้างปัจจัยความเสี่ยงด้านสุขภาพ : ด้วยการเปิดเสรีสินค้าที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ เหล้า พืช และสัตว์จีเอ็มโอ อาวุธยุทโธปกรณ์ ลดมาตรฐานแรงงาน สภาพการทำงานและความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหาประโยชน์และกดขี่แรงงานต่างชาติที่มีค่าจ้างถูกกว่า กดทั้งค่าจ้างและสวัสดิการ รวมทั้งมาตรฐานต่างๆ ที่เคยมี ทำให้แรงงานในชาติต้องทนรับสภาพเดียวกันด้วยหากต้องการมีงานทำ เร่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและบริการสาธารณะ ทำให้สาธารณูปโภคที่มีราคาถูกหมดไป เพิ่มภาระรายจ่ายให้กับประชาชน  มีการจ้างเหมาช่วงงานด้านสาธารณสุขบางอย่าง การอ่านผลเอกซเรย์ การเขียนใบสั่งยา ในกรณีของออสเตรเลีย ออสเตรเลียต้องอนุญาตให้บริษัทขายเลือดของสหรัฐเข้ามาทำธุรกิจในออสเตรเลียได้ ซึ่งสร้างความวิตกแก่วงการสา-ธารณสุขอย่างยิ่ง  กีดกันยาชื่อสามัญ เพื่อทำให้ยาที่ติดสิทธิ-บัตรสามารถผูกขาดตลาดต่อไปได้นานเท่านาน

ในเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับออสเตรเลีย มีการลดประสิทธิภาพการควบคุมราคายาของออสเตรเลีย ทำให้ยาขายแพงขึ้นได้ โดยอ้างกับคนอเมริกันว่า เพื่อที่คนออสเตรเลียจะได้ช่วยแบกรับค่าวิจัยและพัฒนายา แต่ห้ามการนำเข้ายาราคาถูกจากออสเตรเลียกลับเข้ามาในสหรัฐ

บางคนอาจคิดว่า สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว ผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกัน ก็ถือเป็นผลประโยชน์ของชาติ แต่ความเป็นจริง ‘ผลประโยชน์ของอเมริกัน’ ก็คงเหมือนกับผลประโยชน์ของอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งการกำหนดนิยามว่าด้วย ‘ผลประโยชน์ของชาติ’ ขึ้นอยู่กับว่า ใครมีอิทธิพลเหนือผู้กำหนดนโยบายมากกว่ากัน “

4.

“มันชัดเจนมากว่า อุตสาหกรรมยาพยายามใช้อำนาจทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นการนำเข้ายาราคาถูกเข้ามาในสหรัฐ เพื่อปกป้องกำไรของตัวเอง และคงราคายาให้แพงต่อไปเรื่อยๆ และบัดนี้ อุตสาหกรรมยาได้ปล้นกระบวนการการเจรจาทางการค้าไปแล้วด้วย พฤติกรรมเช่นนี้ต้องหยุดเสียที  “ธรรมชาติของการเจรจาการค้ากำลังเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่เรื่องภาษี แต่มีประเด็นที่บงการการสาธารณสุขทั่วโลก ซึ่งมีผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงการรักษาในราคาที่เป็นธรรมของประชาชน มีคนได้รับผลกระทบหลายล้านคนในประเทศคู่เจรจาและคนอเมริกันเอง แต่จนถึงขณะนี้ PhRMA (สมาคมล็อบบี้ยิสต์ของอุตสาหกรรมยา) ยังคงเป็นตัวแทนผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขคนเดียวในการเจรจา นี่จะต้องยุติ”   วุฒิสมาชิก ชาร์ลส์ ชูเมอร์

“คำถามง่ายๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจคือ ผู้แทนการค้าสหรัฐซึ่งทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของคนอเมริกันทั้งหมดกำลังทำอะไร ทำไมจึงจงใจเขียนข้อความในการเจรจาเอฟทีเอที่ขัดขวางยาราคาถูกเข้ามาในสหรัฐ มันชัดเจนว่า มีผลประโยชน์พิเศษแฝงอยู่ตรงนี้

“ก่อนที่คนอเมริกันจะสงสัยว่า เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราน่าจะไปมองถึงรายชื่อที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาของคณะเจรจาฯ ลองเดาซิว่าเป็นใคร อุตสาหกรรมยา…ใช่ ล็อบบี้ยิสต์ยา…ใช่ แล้วมีตัวแทนผู้บริโภคหรือบุคลากรด้านสาธารณสุขอยู่ในนั้นไหม…
ไม่มีเลยสักคน”   วุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน

“กี่ปีแล้วที่คนอเมริกันถูกปฏิเสธในการเข้าถึงยาช่วยชีวิต เพราะยาพวกนี้มีราคาแพงมาก แพงเพราะมันกำไรมหาศาล เป็นกำไรที่ไม่ว่าชาติไหนก็ไม่ยอมให้ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่เดียว ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีความเป็นธรรมในการกำหนดราคายา ถึงเวลาแล้วที่ผู้แทนการค้าสหรัฐจะต้องยืนเพื่อผลประโยชน์ของคนอเมริกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยา”  วุฒิสมาชิก เอ็ดเวิร์ด เคนเนดี

นี่เป็นเพียงเสียงกราดเกรี้ยวของผู้แทนปวงชนอเมริกันที่รับไม่ได้กับคำว่า ‘ผลประโยชน์อเมริกัน’ ที่ไม่ได้มีความหมายถึงประชาชนที่แท้จริง แต่หมายถึง ‘ผลประโยชน์ของธุรกิจอเมริกัน’ มากกว่า

ในที่สุด ปลายปี 2547 สภาคองเกรสมีมติให้การกำหนดนโยบายทางการค้ามีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องมีบุคลากรด้านสาธารณสุขอยู่ในคณะผู้เจรจาทางการค้า

5.

พฤษภาคม 2548 หน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายแห่งประกอบไปด้วย American Public Health Association, American College of Preventive Medicine, American Nurses Association, Doctors of Global Health, National Association of Community Health Center, California Conference of Local Health Officers, Physician for Social Responsibility (PSR), Physician for Human Right และ CPATH ได้ทำหนังสือถึง USTR ขอให้มีตัวแทนสาธารณสุขใน 6 คณะที่ปรึกษาด้านการค้าของ USTR ประกอบไปด้วย

  • คณะที่ปรึกษาด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้าบุหรี่ เหล้า อาหารอุตสาห-กรรม
  • คณะที่ปรึกษาด้านบริการกระจายสินค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระจายสินค้าอาหาร ยา เหล้า บุหรี่ และผลิตภัณฑ์อันตราย
  • คณะที่ปรึกษาด้านการบริการเทคโนโลยีและโทรคมนาคม และการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน การส่งผ่านข้อมูลทางการแพทย์
  • คณะที่ปรึกษาด้านบริการและการเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริการด้านสุขภาพ ประปา การบำบัดน้ำเสีย โรงเรียนแพทย์ และการศึกษาอื่นๆ
  • คณะที่ปรึกษาด้านการให้ความสะดวกทางการค้าและภาษีศุลกากร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า เหล้า บุหรี่ อาวุธยุทโธปกรณ์ และอธิปไตยของประเทศในการคุ้มครองด้านสาธารณสุข
  • คณะที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงและการกำหนดราคายา ลิขสิทธิ์ในงานวิจัย
  • คณะที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและอุปสรรคทางการค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรฐานและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ความปลอดภัยทางชีวภาพ อาหารผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์

แต่เสียงของพวกเขาคงยังไม่ดังพอ… สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ ดำเนินงานอย่างล่าช้าที่จะพิจารณาให้มีบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเข้าไปร่วมอยู่ในคณะที่ปรึกษา (Advisory Com-mittee) ด้านต่างๆ

เมื่อถูกนักวิชาการและบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขถามอีกหลายครั้ง คำตอบที่ได้จาก USTR คือ จะอนุญาตให้มีตัวแทนด้านสาธารณสุขใน 2 คณะคือ USTR ยอมรับปากให้ตัวแทนจากกลุ่มรณรงค์เด็กปลอดบุหรี่ (The Campaign for Tobacco Free Kids) ให้อยู่ในคณะที่ปรึกษาด้านเกษตร และให้ตัวแทน
จากสมาคมผู้ผลิตยาชื่อสามัญ (The Generic Pharmaceutical Association: GPhA) อยู่ในคณะที่ปรึกษาด้านสารเคมี, ยา, บริการและผลิต-ภัณฑ์สุขภาพ (ทั้งที่ตัวแทนอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญไม่ใช่ตัวแทนบุคลากรสาธารณสุข) แต่ไม่ยอมให้มีตัวแทนสาธารณสุขในคณะที่ปรึกษาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญา

แต่จนถึงกลางปี 2549 กระบวนการแต่งตั้งก็ยังอืดอาดไม่มีอนาคต ทั้งๆ ที่การเจรจาการค้าเร่งเจรจาเร่งเซ็นไม่รู้กี่ฉบับต่อกี่ฉบับในช่วงเวลาแค่ครึ่งปี ขณะที่ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (ปลายปี 2548) USTR ได้แต่งตั้ง ริชาร์ด คราวเดอร์ รองประธานอาวุโสของบริษัท Dekalb บริษัทลูกของบริษัทมอนซานโต อุตสาหกรรมเกษตรและพืชจีเอ็มโอยักษ์ใหญ่ และเป็นประธานสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์สหรัฐ ผูกขาดตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เข้าเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการเกษตร ด้วยความรวดเร็ว
แน่นอนว่า “ทุกฉบับมีประเด็นข้อห่วงใยด้านสาธารณสุขอยู่บนโต๊ะเจรจา โดยที่ไม่มีบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอยู่ในคณะเจรจาแม้แต่คนเดียว” ดร.เอลิซาเบธ ชาฟเฟอร์ ผู้-อำนวยการศูนย์วิเคราะห์นโยบายสาธารณสุขกับการค้า (CPATH) กล่าวอย่างหมดความอดทนต่อหน้าตัวแทน USTR ในการประชุมร่วมที่ฝ่ายสาธารณสุขกดดันให้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา

แต่ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 15 ธันวาคม 2548 บรรดานักวิชาการและบุคลากรสาธารณสุขของสหรัฐ ได้แสดงการสิ้นสุดความอดทนที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการรวมตัวกันฟ้องร้องดำเนินคดีกับสำนักผู้-แทนการค้าสหรัฐ ให้สร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของบรรษัทกับผลประโยชน์ประชาชนในคณะที่ปรึกษาทางการค้าในคำร้องของพวกเขาระบุว่า “พวกเราถูกบังคับให้หันหน้าพึ่งศาลสถิตยุติธรรมในการสร้างความสมดุลนี้ให้เกิดขึ้น”

ดร.ปีเตอร์ แอบบอท ประธาน California Public Health Association-North หนึ่งในผู้ฟ้องร้องกล่าวว่า “ปัจจุบันคณะที่ปรึกษาด้านสุขภาพประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคธุรกิจเท่านั้น สุนัขจิ้งจอกไม่เพียงแค่ทำหน้าที่เฝ้าฟาร์มไก่ แต่มันกำลังทำหน้าที่เอาไข่ไปขายในตลาด นี่คือวิธีการสร้างนโยบายการค้าระหว่างประเทศขณะนี้”

6.

ความพยายามของนักวิชาการและบุคลากรสาธารณสุขรวมทั้งวุฒิสมาชิกและ ส.ส.อเมริกันบางส่วนที่กังวลว่า การพิทักษ์ ‘ผลประโยชน์อเมริกัน’ ที่ไม่ใช่คนอเมริกันแต่เป็นบรรษัทอเมริกันที่กำลังบ่อนทำลายสาธารณสุขโดยรวม รวมทั้งของคนอเมริกันและประชาชนในประเทศต่างๆ ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง

จากข้อมูลและความรู้สึกระหว่างบรรทัดที่พวกเขานำเสนอในสถานที่ต่างๆ เพื่อที่จะกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฟังเสียงประชาชน และทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง บางครั้งจะปนความอ่อนล้า และเหนื่อยหน่ายต่อพฤติกรรม ‘สุนัขจิ้งจอก’ ของทั้งรัฐบาลและกลุ่มทุน แต่ไม่ได้ทำให้ความพยายามต่อสู้เหล่านี้สิ้นสุดลง

เพราะยามใดที่พวกเขาเห็นคนแก่อเมริกันต้องยักแย่ยักยันข้ามชายแดน เพื่อลักลอบขนยารักษาโรคข้ามฝั่งมารักษาชีวิตตัวเอง ราวกับขนยาเสพติดข้ามชาติ ขณะที่ทูตอเมริกันยังเที่ยวไปบีบคอชาติต่างๆ เลิกปกป้องคุ้มครองดูแลสุขภาพและสาธารณสุขของคนในชาติตัวเอง

สำหรับพวกเขาแล้ว ถึงเวลา Health Advocate Must Speak Up

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า