Hell Architect: เกมสร้างนรก ความทรมานแบบอัตโนมือ

พิภพมัจจุราช ใครถึงฆาตดับชีวี สุวรรณตรวจดูบัญชี ใครทำดีให้ไปสวรรค์…

เพลงคุ้นหูประกอบโฆษณารุ่นเก๋าจะไม่ได้เป็นเพียงเนื้อร้องเอาสนุกอีกต่อไป เมื่อ Woodland Games เลือกที่จะสร้างเกมอินดี้สุดเจ๋งที่ให้คุณได้ออกแบบ ‘นรก’ ของตนเอง ในเกมแนว Simulation Sandbox อย่าง Hell Architect ที่เปิดให้ดาวน์โหลดเนื้อหา Prologue กันไปลองเล่นบน Steam กันแบบฟรีๆ !

ตัวเกมเปิดฉากมาด้วยเจ้าหน้าที่นรก นามว่า Frank ที่ต้องคอยสอนงาน ‘เด็กฝึกงาน’ อย่างเรา ในการออกแบบนรกขุมนี้จากก้อนดินที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นนรกชื่อกระฉ่อนจนเข้าตาฝ่ายบริหารงานบุคคลของนรกให้ได้ (ไม่แน่ใจว่าแผนก HR ของนรกที่นี่จะมีสุวรรณเลขาฯ คอยทำหน้าที่เหมือนในเพลงหรือไม่) 

แน่นอนว่าการสร้างนรกไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยรูปแบบเกม Side Scrolling ที่เห็นได้เพียงมุมมองจากด้านข้างเท่านั้น คุณจะพบกับปัญหาแรกเริ่มคือ เหล่าคนงาน (หรือคนบาป ตามที่เกมนี้เรียก) ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าไปขุดดินในบริเวณที่อยู่สูงเกินไปหรือเตี้ยเกินไปได้ บทเรียนแรกที่รุ่นพี่ Frank สอนเรา จึงเป็นเรื่องของการสร้างบันไดและฐานสำหรับยืนบนที่ต่างๆ ฟังก์ชั่นนี้จะทำให้เราสามารถเก็บทรัพยากรอย่าง ฝุ่น (dirt) ถ่าน (coal) และสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ไกลเกินเอื้อมได้ง่ายขึ้น พร้อมๆ กับการขยายพื้นที่นรกของคุณไปในตัว

ขึ้นชื่อว่านรกแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการมีเครื่องทรมานสุดหฤโหดนานัปการ โชคยังคงเข้าข้างผู้เล่นที่ไม่ชินกับภาพความรุนแรงของเลือดเนื้อและกระดูกอยู่บ้าง เมื่อกราฟิกของเกมนี้ถูกวาดออกมาในลักษณะของตัวการ์ตูนสุดน่ารัก ที่ต่อให้เราจับเขาเข้าเครื่องทรมานที่หลุดมาจากยุคกลาง อย่าง Iron Maiden ก็ยังเป็นภาพที่… น่ารัก อย่างน้อยก็ไม่ดูรุนแรงจนเกินไปนัก ซึ่งการจับเหล่าคนบาปเข้าเครื่องทรมานเหล่านี้เองจะผลิตค่า ‘Suffering’ หรือค่าความทุกข์ออกมาให้เรานำไปใช้จ่ายประหนึ่งค่าเงินของเกมนี้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่า ก่อนตายคุณจะถูกขูดรีดอย่างไร เพราะหลังคุณตายไปแล้วใน Hell Architect คุณก็ยังคงถูกขูดรีดเพื่อสร้างเม็ดเงินให้แก่นรกอยู่ดี ที่เลวร้ายกว่าหน่อยคือ ถ้าคุณเป็นคนบาปหนา คุณก็อาจจะต้องติดอยู่ในนรกของเด็กฝึกงานคนนี้ไปจนกว่าจะถึงวันพิพากษาตามหลักศาสนาคริสต์เลยทีเดียว

เครื่องทรมาน Iron Maiden แหล่งขูดรีดเงินทองของนรก

ถึงจะเป็นนรกก็ยังต้องกินต้องนอน เมื่อ Hell Architect เสนอภาพคนบาปที่เปลี่ยนไป

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Hell Architect แตกต่างไปจากภาพของนรกในเกมอื่นๆ นอกจากกราฟิกที่น่ารักแล้ว คือเหล่า ‘คนบาป’ (Sinner) ไม่ได้มีหน้าที่เพียงรับการทรมานจากอุปกรณ์ต่างๆ ในนรกเท่านั้น แต่พวกเขายังทำหน้าที่เป็น ‘คนงาน’ ของนรกแห่งนี้อีกด้วย ตั้งแต่การขุดดิน สร้างบันได ทำงานฝ่ายผลิต ไปจนถึงสร้างเครื่องทรมานที่จะถูกนำมาใช้ทรมานพวกเขาเองอีกทีด้วย

แน่นอนว่าการทำงานทั้งหลายนั้นก็ไม่ต่างจากสภาพก่อนตายมากนัก ที่คนเราต้องมีการนอนหลับพักผ่อนหรือการขับถ่าย Hell Architect จึงมีฟังก์ชั่นให้เราสามารถสร้างที่นอนให้เหล่าคนบาปของเราได้พักผ่อน แต่ตามคำกล่าวของรุ่นพี่ Frank นั้น ที่นอนจะเป็นเพียงลังกระดาษจิ๋วๆ ที่ดูจะนอนไม่สบาย เนื่องจากถึงจะมีที่นอนให้เหล่าคนบาปได้พัก แต่ที่นี่ก็ยังขึ้นชื่อว่านรกอยู่ดี ถ้าที่นอนหรูไปก็กลัวว่าจะหลุดธีม

ที่ต้องสร้างที่นอนเอาไว้ข้างส้วมนั้น ก็เพราะว่าที่นี่คือนรกยังไงล่ะ!

นอกจากการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอที่จะมีเรี่ยวแรงไปโดนทรมานต่อแล้ว เหล่าคนบาปทั้งหลายเองก็ต้องมีการปลดทุกข์ (เป็นการบัญญัติคำที่ตลกดี ว่าไหม) หน้าที่ของเราจึงจำเป็นต้องสร้างส้วมสกปรกๆ ขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่าผู้พัฒนาเกมเอาแนวคิดมาจากนรกภูมิแบบไทยหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ เมื่อเหล่าของเสียที่เกิดจากการปลดทุกข์ของคนบาปจะถูกนำไปเข้าเครื่อง Water Squeezer เพื่อทำ ‘น้ำสกปรก’ ออกมาให้เหล่าคนบาปใช้ดับกระหาย!

ถึงแม้ว่าน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษเช่นนี้จะเหมือนหลุดออกมาจากโลกแห่งความเป็นจริงที่มนุษย์ต้องกินน้ำไม่สะอาดจากการปนเปื้อนของขยะและมลพิษในแหล่งน้ำ แต่การหาอาหารเองในนรกกลับดูจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เหล่าคนบาปเริ่มส่งเสียงว่าไม่มีแรงที่จะทำงานต่อไป รุ่นพี่ Frank ก็จะแนะนำให้เราหาอาหารให้เหล่าคนบาปพวกนี้กินด้วยการสร้าง ‘ฟาร์มเนื้อ’ ที่จะผลิตก้อนเนื้อออกมาเรื่อยๆ และให้คนบาปผู้โชคดีสักคนออกจากเครื่องทรมานไปประจำอยู่ ณ จุดทำอาหาร เมื่อเราแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เหล่าคนงาน/คนบาปก็จะมีน้ำกินและมีอาหารพออิ่มท้อง และทำให้ระบบของนรกยังคงทำงานต่อไปได้โดยไม่สะดุด

ฟาร์มเนื้อ และจุดทำอาหาร กินเสร็จแล้วก็กลับไปทำงานซะ!

ในแง่นี้จึงทำให้เหล่าคนงานหรือคนบาปในนรก ดูจะไม่ต่างจากคนเป็นเท่าไหร่นัก พวกเขาทำงานจนเหนื่อยล้าเพื่อให้ใครสักคนรวยขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ อย่างน้ำดื่มปนเปื้อนและอาหารซ้ำๆ เพียงเพื่อให้มีแรงกลับไปทำงานต่อในวันถัดไป ซึ่งพวกเขาก็ดูจะทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเป็นกิจวัตรเสียด้วย

เมื่อคุณพบว่า คุณไม่จำเป็นต้องเอาเมาส์ไปคลิกเพื่อออกคำสั่งให้พวกเขาทำอะไรสักอย่าง ในช่วงท้ายเกม พวกเขาจะวิ่งออกจากเครื่อง Iron Maiden ไปเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหาร นอนพักเอาแรง แล้วจากนั้นก็วิ่งกลับเข้าเครื่องทรมานด้วยตนเองประหนึ่งเต็มใจ ความน่าแปลกใจที่ Hell Architect แสดงให้เราเห็นคงหนีไม่พ้นว่า ระบบของนรกไม่จำเป็นต้องมีคนเอาหอกแหลมไล่แทงไล่จี้ให้ทุกคนคอยทำตาม เพียงแค่ทุกคนคิดเหมือนกันว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องปกติและสมควรแล้วที่จะเกิดขึ้น นรกที่ดูเลวร้ายก็จะกลายเป็นนรกที่เต็มไปด้วย consent ของเหล่าคนบาปทันที

จำยอมต่อนรก เมื่ออำนาจนำทำให้เราคิดว่ามันปกติ

ภาพของเหล่าคนบาปที่ทำงานรับใช้นรกและถูกทรมานไปพร้อมๆ กันอย่างเต็มใจนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางสังคมศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ความสงสัยของเราเมื่อเห็นเหล่าคนงานใน Hell Architect ตื่นจากที่นอนไปเข้าเครื่อง Iron Maiden เพื่อสร้างค่า Suffering ให้นรกเอาไปใช้จ่ายโดยไม่ปริปากบ่นหรือลุกขึ้นมาปฏิวัตินั้น เป็นความสงสัยเดียวกันในสายตาของนักคิดฝ่ายซ้ายช่วงประมาณต้นศตวรรษที่ 20 อย่าง อันโตนีโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีที่ถูกจับเข้าคุกโดยเผด็จการฟาสซิสต์ช่วงปี 1926 และเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพที่ตามมา เขามองว่า ทำไมกลุ่มแรงงานทั่วโลกที่ถูกกดขี่จากระบอบทุนนิยมถึงไม่ลุกขึ้นมาปฏิวัติโค่นล้มเหล่านายทุนและผู้ขูดรีดดังที่ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ได้ทำนายไว้ สิ่งที่เขาค้นพบและเป็นคุณูปการต่อโลกหลังจากนั้นคือ ทฤษฎีที่เรียกว่า ‘สภาวะอำนาจนำ’ (Hegemony)

“สภาวะอำนาจนำ คือ สภาวะที่ผู้นำทางการเมืองมีฐานของอำนาจอยู่บนความยินยอม (consent) ของประชาชน แต่ความยินยอมพร้อมใจนั้นเกิดมาจากการแพร่หลายและความนิยมของประชาชนต่อภาพลักษณ์ของชนชั้นปกครอง”

คำกล่าวของ โธมัส อาร์. เบทส์ (Thomas R. Bates, 1975) ต่อแนวคิดสภาวะอำนาจนำของกรัมชี ดูเหมือนจะจำกัดความทฤษฎีที่ใช้ได้เกือบทุกยุคทุกสมัยนี้เอาไว้อย่างเรียบง่ายที่สุด จากการศึกษางานของกรัมชีโดยโธมัสค้นพบว่า กรัมชีแบ่งโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ที่มาร์กซ์เคยใช้ในงานของเขาออกแยกย่อยเป็นอีก 2 ประเภท ประเภทแรกถูกเรียกว่า ‘Civil Society’ ที่เต็มไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเอกชนหรือปัจเจก อย่างโรงเรียน คลับ โบสถ์ เป็นต้น ขณะที่อีกกลุ่มคือ ‘Political Society’ ที่เป็นอำนาจของรัฐ อย่างตำรวจ ศาล กองทัพ เป็นต้น ซึ่งการใช้ชีวิตของมนุษย์เรานั้นก็มักจะคาบเกี่ยวไปมาระหว่างสังคมทั้งสองประเภทนี้อยู่เสมอ (ถึงแม้ส่วนมากเราจะใช้เวลาอยู่ใน Civil Society มากกว่าก็ตาม) 

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ เหล่า ‘ปัญญาชน’ (intellectuals) ที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีความเป็นอิสระจากกลุ่มใดเป็นพิเศษ จะสามารถเข้ามาสร้าง ‘สภาวะอำนาจนำ’ ในสังคม Civil Society ได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือการเผยแพร่มุมมองของชนชั้นปกครองที่มีต่อชนชั้นผู้ถูกปกครองได้โดยง่าย และทำให้การกระด้างกระเดื่องต่อสังคม Political Society นั้นเกิดขึ้นได้ยาก เพราะประชาชนที่ถูกปกครองนั้นยอมรับกฎหมาย ระบอบการเมือง หรือจารีตบางอย่างของชนชั้นนำไปแล้วด้วยตนเอง

ใช้แรงงานหามรุ่งหามค่ำเพียงเพื่อถูกทรมานในวันถัดไป คือ consent ของเหล่าคนบาปใน Hell Architect

แน่นอนว่าเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปในลักษณะนี้ ความยินยอมพร้อมใจ หรือ consent นั้นก็จะเป็นเพียงแค่สิ่งลวงตา เนื่องจากมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยตัวของปัจเจกเช่นเราๆ ท่านๆ เอง แต่กลายเป็นชุดแนวคิดที่ถูกโยนลงมาจากเบื้องบนให้เราเชื่อเสียมากกว่า เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เหล่าชนชั้นกรรมาชีพหรือเหล่าคนบาป/คนงานใน Hell Architect จะไม่ปริปากบ่นหรือทักท้วงอะไร เมื่อพวกเขาตื่นนอนทุกวันเพื่อไปรับทัณฑ์ทรมาน 

กลายเป็นว่าสิ่งที่เราคิดว่ามัน ‘ปกติ’ หรือ ‘ก็ควรจะเป็นแต่แรกแล้วหนิ’ กลับกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่นรกจะมอบให้เราได้ การถูกทรมานและขูดรีดโดยไม่รู้ตัว เพียงเพื่อรอวันถูกแทนที่หลังจากหมดประโยชน์แล้ว ดูจะไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ เมื่อเรายินยอมพร้อมใจไปกับสภาวะอำนาจนำของสังคม (หรือนรก ในเกม Hell Architect) ไปแล้ว 

ยินยอมที่จะรอเกมเต็ม และยินยอมที่จะคิดเองบ้าง

แน่นอนว่า Hell Architect ในปัจจุบันยังเปิดให้เล่นเพียงแค่ส่วน Prologue เท่านั้น หลังจากที่เราเล่นส่วนแนะนำเนื้อหาและส่วนบทนำจนจบแล้วก็จะไม่มีอะไรให้เล่นเพิ่มเติม (ยกเว้นคุณจะเข้าโหมด Sandbox ที่สร้างไปเรื่อยๆ อย่างอิสระ แต่ก็ดูไม่มีความท้าทายจริงไหม?) ปัจจุบันกำหนดการของตัวเกมเต็มยังไม่มีประกาศออกมาให้ชาวสร้างนรกได้รับรู้ ตอนนี้รู้แค่เพียงว่าหากเราทำให้ยอดดาวน์โหลด ‘ฟรี’ นี้เพิ่มเยอะมากขึ้น อนาคตตัวเกมอาจจะมีโอกาสได้ไปต่อมากกว่านี้

ระหว่างนี้ก็คงทำได้แค่นั่งหัวเราะไปกับความโง่เขลาของเหล่าคนบาปที่ดูจะทำอะไรผิดตรรกะของความรักตัวกลัวตายไปเสียสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะระบบเกมจงใจให้พวกเขาคิดเองไม่เป็น หรือจะเป็นเพราะผู้พัฒนาอยากจะบอกอะไรเราเพิ่มมากขึ้นก็ตาม นรกแบบ ‘ฟรีๆ’ นี้ก็ดูว่าเราจะได้มาอย่างไม่ยากเย็น แต่คงต้องใช้ความพยายามกันอีกมากที่จะออกไป 

หลังจากขำขันกับเหล่าคนบาปแล้วอาจจะทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้นก็ได้ ว่าทุกวันนี้เราอยู่บน ‘นรก’ หรือ ‘สวรรค์’ กันแน่ และสิ่งที่เราคิดว่ามันเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในสังคมนั้น มันปกติจริงหรือไม่ การปิดท้ายด้วยประโยคภาษาละตินของนักปรัชญาชาวเยอรมันก้องโลกอย่าง อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องเกินเลย และอาจจะเป็นตั๋วผ่านนรกใบเดียวที่เรามีก็เป็นได้

Sapere Aude!” 

 (Dare to be Wise!)

 

ที่มา

Thomas R. Bates. (1975). Gramsci and the Theory of Hegemony. Journal of the History of Ideas. 36(2), pp.351-366. University of Pennsylvania Press

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า