2019
หลังเกิดเหตุปะทะกับตำรวจในวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม ซึ่งมีผลให้ผู้ชุมนุมหญิงรายหนึ่งถูกกระสุนถุงถั่วของตำรวจเข้าที่ตาจนเลือดอาบ ภาพเผยแพร่ไปในโลกโซเชียล ทำให้ผู้ชุมนุมตัดสินใจชุมนุมปิดสนามบินในช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคม จนต้องยกเลิกเที่ยวบินตลอดสองวันดังกล่าว
เชื้อไฟที่กำลังลุกโหมกลับมีคนสาดน้ำมันเข้าเพิ่ม และคนคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน กลับเป็นดาราขวัญใจแฟนหนังจีน-ฮ่องกงมานานกว่าสี่ทศวรรษอย่าง เฉินหลง ที่ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง CCTV แสดงจุดยืน ‘ส่วนตัว’ ของเขาต่อเหตุการณ์นี้ และประโยคสำคัญที่จุดระเบิดในโลกโซเซียล จนชาวเน็ตออกมาถล่มเฉินหลงกันทั่วทวิตเตอร์ในข้ามคืนคือประโยคที่ว่า
“ลึกๆ ผมเชื่อว่า ความปลอดภัย ความสงบสุข และสันติสุข ก็เหมือนกับอากาศ เราไม่เคยรับรู้คุณค่าของมัน จนวันที่เราสูญเสียมันไป”
คำให้สัมภาษณ์ที่ฟังเผินๆ เหมือนคำขู่ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง อาจจะเป็นจุดยืนที่ชัดเจนที่สุดของเขาในรอบหลายๆ ปี
ตรงกันข้ามกับการที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้หลักปรัชญาอันเลื่องลือของ บรูซ ลี อดีตดารานักบู๊ชื่อดังผู้ล่วงลับชาวฮ่องกง ปรัชญาของเขาคือ ‘จงเป็นดั่งน้ำ’ (คำขยายเต็มคือ ‘จงทำจิตให้ว่าง ไร้รูป ไร้แบบ เหมือนดั่งน้ำ หากเราเทน้ำใส่ถ้วย น้ำก็จะเป็นดั่งถ้วย หากเทน้ำใส่กาน้ำชา น้ำก็จะเป็นดั่งกาน้ำชา น้ำสามารถไหลผ่านซ่านกระสายไปสู่รูปแบบใดๆ ก็ได้ ไม่ยึดติดตายตัว จงเป็นดังน้ำเถิด’)
แท้จริงแล้วภาพยนตร์สำหรับคนฮ่องกงนั้น เป็นพื้นที่แรกๆ ที่พวกเขาใช้ในการต่อสู้ เรียกร้อง และสร้างตัวตนความเป็นคนฮ่องกงขึ้นมา กระจายวัฒนธรรมความเป็นจีนที่พวกเขาสร้างขึ้นโดยพ้นอำนาจจากจีนแผ่นดินใหญ่มาตลอดหลายทศวรรษ
แมนดาริน-กวางตุ้ง (ทศวรรษ 50-60)
ตลอดระยะเวลาที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังปิดประเทศ ปิดตัวเองต่อโลกเสรี แทนการเป็นพี่ใหญ่หลังม่านเหล็ก (เคียงข้างกับโซเวียต) ในโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ฮ่องกงคือเมืองสมัยใหม่ของเอเชียเคียงคู่กับโตเกียวของญี่ปุ่น เมืองแห่งการค้า การคมนาคม แหล่งเงินทุน แฟชั่น ฯลฯ
และฮ่องกงยังเป็นประตูบานหลักที่นำชาวจีนสู่สังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ฮ่องกงที่สะท้อนความเป็นจีน ทั้งในรูปแบบตามขนบดั้งเดิม (traditional) และความทันสมัย (modern)
ในยุค 60-70 ยุคที่ภาพยนตร์จีนจากฮ่องกงเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก กลับเกิดขึ้นจากอิทธิพลของสองค่ายใหญ่ที่มีจุดยืนแตกต่างกันไม่น้อย
เริ่มที่ ชอว์บราเดอร์ส (Shaw Brothers) โด่งดังเป็นที่ติดหูคอหนังจีน เด่นด้านหนังกำลังภายในและหนังเพลงรักโบราณ ฉากและเนื้อหามักหยิบมาจากนิยายจีนหรือประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญๆ ของจีน ถ่ายทำในสตูดิโอ และใช้ภาษาจีนแมนดาริน (จีนกลาง) เป็นภาษาหลัก หนังของชอว์บราเดอร์สได้สร้าง ‘ความเป็นจีนร่วม’ ของคนดูหนังจีนโพ้นทะเล ให้หวนระลึกถึงรากธารของพวกตน สาวกลับคืนสู่แอ่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ตามวิสัยทัศน์ของ รันรันชอว์ (Run Run Shaw) และ รันเมชอว์ (Runme Shaw) พี่น้องนักธุรกิจชาวเซี่ยงไฮ้ที่ลงทุนสร้างค่ายหนังนี้ขึ้นในฮ่องกงช่วงปลายทศวรรษ 1950
อีกด้านหนึ่งคือ ค่ายหนังคู่แข่งอีกเจ้าอย่าง คาเธย์ (Cathay) ที่มีจุดยืนต่างกับชอว์บราเดอร์ส ทั้งการมุ่งทำหนังตลกและหนังวัยรุ่นทันสมัย ถ่ายทำในสถานที่จริง และที่สำคัญ ตัวละครในหนังพูดภาษากวางตุ้ง อันเป็นภาษาของ ‘คนฮ่องกง’ (คนส่วนใหญ่ที่อพยพมาในยุคแรกมาจากมณฑลกวางตุ้ง)
การขับเคี่ยวระหว่างหนังสองภาษาเข้มข้นตลอดทศวรรษ 60 โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มจีนโพ้นทะเล ทั้งที่ใช้ภาษากวางตุ้ง, ฮกเกี้ยน ฯลฯ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยคือตลาดใหญ่ของหนังฮ่องกงทั้งสองภาษาด้วย (บ้านเราเคยมีโรงหนังคาเธย์แถวเยาวราช)
คาเธย์เริ่มลดกำลังผลิตหนังฮ่องกงลง หันไปผลิตหนังมาเลเซีย-จีน เพื่อกลุ่มคนดูชาวจีนในมาเลเซียมากขึ้นแทน ทำให้ท้ายทศวรรษ 60 นี้ชัยชนะตกเป็นของชอว์บราเดอร์ส ที่มีหนังโดดเด่นอย่าง เดชไอ้ด้วน
บรูซ ลี และ เฉินหลง (ทศวรรษ 70-80)
ต้นทศวรรษนี้มีบุคคลสองคนเปลี่ยนโฉมหน้าหนังฮ่องกงไปตลอดกาล
คนแรกคือ เรย์มอนด์ โจว (Reymond Chow) นักธุรกิจชาวฮ่องกง อดีตผู้บริหารชอว์บราเดอร์ส ที่ลาออกมาเปิดค่ายหนังเล็กๆ ของตัวเองชื่อ โกลเดน ฮาร์เวสต์ (Golden Harvest)
คนที่สองคือ หลี่ เสี่ยวหลง (Li Xiaolong) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘บรูซ ลี’ ดาราประกอบหนุ่มประจำหนังทีวีชุด ไอ้หน้ากากแตน หรือ The Green Hornet ในอเมริกา และอดีตดาราวัยรุ่นค่ายคาเธย์ผู้เพิ่งซมซานกลับมาฮ่องกง
ต้นปี 1970 ลีเลือกจะเข้าไปคุยกับชอว์บราเดอร์สเป็นเจ้าแรก พร้อมโครงการสร้างหนังที่จะเปลี่ยนโลกทั้งใบในทศวรรษนี้ แต่น่าเสียดาย รันรันชอว์ไม่สนใจโครงการดังกล่าว เพราะเงื่อนไขที่ลีต้องการคือเงินค่าตัว 1 หมื่นเหรียญฯ ต่อเรื่องและสิทธิในการเลือกบทเอง สิทธิที่ไม่เคยมีใครได้รับในค่ายชอว์บราเดอร์สมาก่อน แม้กระทั่งผู้กำกับหนังเงินล้านอย่าง จางเชอะ (Chang Cheh-ผู้กำกับ เดชไอ้ด้วน, เดชไอ้เปีย) ก็ยังเป็นผู้กำกับมือปืนรับจ้าง ทำงานตามสั่งของรันรันชอว์ทุกประการ
แต่ เรย์มอนด์ โจว ซื้อโครงการนี้ ลงทุนให้ลีทำ ไอ้หนุ่มซินตึ้ง ถ่ายทำในไทย และให้ลีได้วาดลวดลายบู๊เต็มที่ จนหนังดังระเบิด ตัวลีกลายเป็นตัวแทนคนจีนใหม่ในทศวรรษ 70 ทั้งที่ตัวเล็กแต่แข็งแกร่งทั้งกายและใจ ไม่ยอมแพ้ใครหน้าไหน ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้สร้างสูตรสำเร็จบทคนจีนโพ้นทะเลให้แก่ลี ทั้งคนจีนในประเทศไทย (The Big Boss) คนจีนในญี่ปุ่น (Fist of Fury) คนจีนในยุโรป (The Way of the Dragon)
คู่ต่อสู้ของลีในหนังมักจะเป็นศัตรูของคนฮ่องกง (และจีน) ตามประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ชาวญี่ปุ่นใน Fist of Fury ฝรั่งร่างใหญ่ใน The Way of the Dragon เพื่อระบายความอัดอั้นที่คนจีนและฮ่องกง เผชิญการดูถูกเหยียดหยามจากชาติตะวันตก ทั้งความพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นของจีน และการที่ชาวฮ่องกงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฝรั่ง มีนายเป็นฝรั่ง ในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้สถานะของเขายิ่งกลายเป็นวีรบุรุษของคนจีนนอกแผ่นดินใหญ่ เหนือกว่าดาราจีนคนใดๆ
เรย์มอนด์ โจว ยังเลือกให้หนัง โกลเดน ฮาร์เวสต์ เป็นหนังภาษากวางตุ้ง นอกจากเน้นตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังหาหนทางร่วมทุนกับฮอลลีวูด ด้วยเครือข่ายคอนเนคชั่นเดิมที่ลีมีติดตัว ส่งให้เกิดหนังจีนอินเตอร์อย่าง Enter The Dragon และ Game of Death หนังเรื่องสุดท้ายของลี ทำให้ยกนี้หนังกวางตุ้งของ โกลเดน ฮาร์เวสต์ ตีขึ้นเทียบรัศมีหนังแมนดารินของชอว์บราเดอร์สได้ในเวลาเพียงไม่ถึงทศวรรษ
ทว่าการเสียชีวิตในวัยเพียง 32 ปีของ บรูซ ลี ทำให้โลกของหนังฮ่องกงแทบจะพังทลาย โกลเดน ฮาร์เวสต์ และค่ายอื่นๆ ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีเพื่อควานหา ‘บรูซ ลี 2’ กันให้ควั่ก โลกกำลังโหยหาตัวตายตัวแทน เราจึงได้ บรูซ ลี ปลอมมาเป็นแผง ตั้งแต่ บรูซ ลิ, บรูซ เล, บรูซ หลิว, บรูซ เหลียง, บรูซ ไหล, บรูซ ไทย ฯลฯ มาจากทั้งไต้หวัน ฮ่องกง และไทย! แต่ไม่มีใครแทนที่เขาได้
ห้าปีผ่านไป (1978) การค้นหา บรูซ ลี คนใหม่สิ้นสุดลง เมื่อพระเอกนักบู๊ชาวจีนนาม ‘เฉินหลง’ แจ้งเกิดจาก ไอ้หนุ่มพันมือ (Snake in the Eagle’s Shadow) และ ไอ้หนุ่มหมัดเมา (Drunken Master)
และเป็น เรย์มอนด์ โจว อีกเช่นเคย ที่เซ็นสัญญากับเฉินหลงทันทีในปี 1980 เพื่อสืบทอดแผนการทำหนัง ‘จีนอินเตอร์’ ที่ลีเคยแผ้วถางเอาไว้จากหนังกังฟู-กำลังภายใน เฉินหลงค่อยๆ เริ่มทำหนังบู๊ทันสมัย ที่ความสนุกไม่ได้อยู่เพียงคิวเตะต่อยแบบกังฟู แต่ยังรวมเอาฉากเสี่ยงตายที่ตัวเขาเล่นเอง เจ็บเอง เกือบตายมานับครั้งไม่ถ้วนเป็นจุดขาย จนส่งให้หนังเฉินหลงอย่าง เอไก๋หว่า (Project A) ใหญ่สั่งมาเกิด (Operation Condor) และ วิ่งสู้ฟัด (Police Story) กลายเป็นอีกหน้าสำคัญของวงการหนังฮ่องกงในทศวรรษ 80
เช่นเดียวกับลี บทบาทของเฉินหลงคือตัวแทนคนจีนโพ้นทะเล ไปเผชิญวิบากกรรมในประเทศยุโรปและอเมริกา ขณะเดียวกันเขาก็ยังรับบทตำรวจฮ่องกงผู้บ้าดีเดือด เป็นตัวแทนคนฮ่องกงปราบอาชญากรรมในประเทศเหมือนหนังตำรวจจับผู้ร้ายของฮอลลีวูดร่วมยุคสมัยเดียวกัน เฉินหลงจึงเป็นอดีต ‘ตัวแทน บรูซ ลี’ เพียงคนเดียวที่สลัดเงาของลีออกเป็นตัวของตัวเองได้ และยังสร้างภาพจำใหม่ในฐานะนักบู๊เสี่ยงตายแทน
ถึงตรงนี้ เฉินหลงก็คือเฉินหลง บรูซ ลี ก็คือ บรูซ ลี และทั้งคู่คือตัวแทนคนฮ่องกงไปเรียบร้อย
แต่คงไม่มีใครคาดคิด ว่าวันหนึ่งเฉินหลงจะพูดว่าเขาเป็น “ทั้งคนฮ่องกง คนจีน และผู้พิทักษ์ธงชาติจีน” (I wanted to express the most basic principles of patriotism as a Hong Kong citizen and a Chinese. I am a national flag guard) และวันนั้นจะมาถึง หลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีนไปแล้ว 20 กว่าปี
ฮ่องกงสวมแว่นมองจีน (ก่อน 1997 จะมาถึง)
ชอว์บราเดอร์สเริ่มถดถอยจนหันไปทุ่มกับการสร้างละครโทรทัศน์ป้อนช่อง TVB มากกว่าจะทำหนังโรง ขณะที่หนังฉายโรงนอกจาก โกลเดน ฮาร์เวสต์ ที่เป็นเจ้าใหญ่แล้ว ยังมีค่ายเล็กค่ายน้อยอีกจำนวนมาก ที่หนังภาษากวางตุ้งยึดตลาดโดยเบ็ดเสร็จ
ประเด็นที่น่าสนใจคือในช่วงโค้งสุดท้าย 10 ปีก่อนคืนเกาะ หนังฮ่องกงกลับเฟื่องฟูสุดขีด และตระกูลหนังที่ได้รับความนิยมที่สุดอย่างหนังกำลังภายในและหนังศิลปะป้องกันตัว กลับมีผู้ร้ายคลาสสิกเพียงแค่สามเชื้อชาติ คือ หนึ่ง-ฝรั่งต่างชาติ สอง-คนญี่ปุ่น และ สาม-คนจีนแผ่นดินใหญ่
หวงเฟยหง ผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีนถูกนำมาสร้างเป็นหนังโดย ฉีเคอะ ใส่นัยความเป็นวีรบุรุษของชาวจีนโพ้นทะเลเข้าไป วีรกรรมการต่อสู้ของหวงเฟยหงในหนังไตรภาคที่ฉีเคอะทำ จึงไม่ใช่เพียงการสู้เพื่อตัวเองและพวกพ้อง แต่เป็นตัวแทนศักดิ์ศรีความเป็นคนจีนฮ่องกง (และจีนโพ้นทะเลด้วย)
ใน หวงเฟยหง หมัดบินทะลุเหล็ก (Once Upon a Time in China) คู่ปรับของหวงเฟยหง คืออาจารย์มวยจากจีน ผู้มีวิชาระฆังทองคุ้มครองกาย อาจารย์มวยผู้นี้ท้าประลองยุทธ์กับหวงเฟยหง เมื่อพ่ายแพ้ก็ถึงขั้นหน้ามืดหันไปร่วมมือกับฝรั่ง หวังจะกำจัดหวงเฟยหงแล้วตั้งต้นเป็นอาจารย์มวยหมายเลขหนึ่งให้ได้ แต่สุดท้ายการต่อสู้ระหว่างคนจีนสองคน หวงเฟยหง คือ (ตัวแทน) จีนฮ่องกง อาจารย์มวยจีนคือตัวแทนจีนแผ่นดินใหญ่ ก็จบลงด้วยการถูกฝรั่งหักหลัง อาจารย์มวยจีนต้องเสียสละชีวิตเพื่อช่วยหวงเฟยหง
ใน หวงเฟยหง: ถล่มวังบัวขาว (Once Upon a Time in China 2) คู่ปรับของหวงเฟยหงชัดเจนยิ่งกว่าเดิม คราวนี้เป็นตัวแทนราชสำนักจีนในยุคราชวงศ์ชิง ซึ่งต้องการกำจัดกลุ่มกบฏใต้ดินคอยช่วยเหลือ ดร.ซุนยัดเซ็น และต้องการบัญชีรายชื่อกบฏทั้งหมด แต่หวงเฟยหงกลับเข้ามาขัดขวางไว้ด้วยเหตุจำเป็น
ภาพของยอดจอมยุทธ์ในประวัติศาสตร์แผ่นดินจีน กลับถูกแปลงโฉมปรับทัศนคติให้อยู่ในกรอบคิดของคนจีน-ฮ่องกง ที่มองว่าพวกเขาต้องเจอทั้งศึกนอกและใน นั่นคือคนต่างชาติและคนจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ถือสิทธิในแผ่นดินที่พวกเขาอยู่ สะท้อนทั้งความกลัวว่าอีกไม่นาน (ปี 1997) พวกเขาก็จะต้องคืนสู่จีนอีกครั้ง
พ้นจากหนังแนววีรบุรุษกู้ชาติ, ยอดนักบู๊ชาวจีนกู้โลก ฯลฯ หนังรักเล็กๆ เรื่องหนึ่งกลับหยิบประเด็นชาวจีน-ฮ่องกง มานำเสนอได้อย่างคมคาย นั่นคือเรื่อง เถียนมี่มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว (Comrades: Almost a Love Story) ที่เล่าชีวิตหนุ่มสาวจากจีนแผ่นดินใหญ่สองคน ต้องมาหางานทำในฮ่องกง โชคชะตาชักนำให้พวกเขามาเจอกัน และพรากจากกัน เงื่อนไขสำคัญคือเมื่อพวกเขาต้องดิ้นรนอยู่ในฮ่องกง พวกเขาก็ต้องใช้ชีวิตแบบคนฮ่องกง หัดพูดภาษากวางตุ้งและอังกฤษ หัดกินอาหารและแต่งตัวให้ทันสมัย
อีกด้านหนึ่ง ภาพของจีนแผ่นดินใหญ่ในหนังฮ่องกงก็ถูกนำเสนอเป็นภาพชนบท ล้าสมัย และคร่ำครึ ทั้งตำรวจจีนและวิถีชีวิตบ้านๆ ใน วิ่งสู้ฟัด 3 (Police Story 3) ที่เฉินหลงต้องไปร่วมงานกับตำรวจจีน (หยางจื่อชุน หรือ มิเชล โหย่ว)
จีนที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีประหลาดๆ หน่วยงานความมั่นคงที่ซุกซ่อนอาวุธร้าย ราวกับภัยแดงในช่วงยุคสงครามเย็นใน พยัคฆ์ไม่ร้าย คังคังฉึก (From Beijing with Love) เมื่ออดีตสายลับตกอับของจีน (โจวซิงฉือ) ถูกเรียกตัวให้ไปตามหามือสังหารปืนทองที่หนีไปฮ่องกง พร้อมกับกะโหลกไดโนเสาร์อันล้ำค่า หนังจงใจล้อหนังตระกูล เจมส์ บอนด์ เต็มที่ ให้พระเอกเป็นคนจีนที่ทำอะไรเด๋อๆ ด๋าๆ ในฮ่องกง แถมซ้ำยังวาดภาพจีนในฐานะผู้ร้ายตกยุค ที่ขังตัวเองอยู่หลังม่านเหล็กด้วยเทคโนโลยีพิลึกๆ ที่ดูขำขันมากกว่าน่ากลัวได้อย่างเจ็บแสบ
และเป็นโจวซิงฉืออีกเช่นกัน ที่เอาภาพจำมาล้อเลียนกึ่งทำซ้ำ นั่นคือภาพของจีนในฐานะชนบท ไม่เจริญ และเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ ในเรื่อง คนเล็กกุ๊กเทวดา (God of Cookery) เมื่อกุ๊กหนุ่มตกอับ (โจวซิงฉือ) ต้องหนีการตามล่าหัวซุกหัวซุนไปถึงจีน เขากลับได้เรียนวิชากุ๊กเทวดาจากโรงครัววัดเส้าหลิน แล้วสำเร็จกลายเป็นยอดเซียนกุ๊กเทวดา กลับมาปราบมารร้ายในฮ่องกง
ส่งท้าย
ภาพทั้งขำขัน ภาพทั้งขำขื่น และยังมีความพยายามพลิกภาพให้ตัวเอกจากหนังหลายๆ เรื่องเป็นคนจีนมากขึ้นในช่วงท้ายทศวรรษ 90 ราวกับฮ่องกงพยายามสำรวจตรวจสอบ ลองแว่นตาคู่ใหม่ว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ แล้ว จีนแผ่นดินใหญ่จะโอบรับพวกเขายังไง พวกเขาในฐานะประเทศที่เป็นศูนย์กลางความปลอดภัยของเอเชียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีต่างๆ จะปรับตัวเข้ากับประเทศที่ปิดตัวเงียบอยู่หลังม่านเหล็ก ไม่เคยเปิดเผยให้ใครรู้ภายในมานานกว่า 40 ปีได้อย่างไร?
ไม่มีใครในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงตอนนั้นเดาออก ช่วงเวลาก่อนปี 1997 จึงเป็นช่วง ‘ฝุ่นตลบ’
เพราะปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างตลอดกลางทศวรรษนี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึง ‘ความไม่แน่นอน’ ว่าเมื่อหลังปี 1997 หลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงจะเดินไปในทิศทางไหน
ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย การแห่สร้างหนังจำนวนมากจนมีคุณภาพต่ำ การเกิดชนชั้นกลางขึ้นในฮ่องกงที่เริ่มต่อต้านหนังท้องถิ่น หันไปเสพหนังนอก ปัญหาวิดีโอเถื่อน และท้ายสุดคือการที่ฮอลลีวูดเริ่มบุกตลาดเอเชียอย่างจริงจัง ด้วยการดึงผู้กำกับหนัง และดาราชื่อดังหลายต่อหลายคนให้โยกย้ายหาช่องทางทำกินในฮอลลีวูด อาทิ จอห์น วู, ฉีเคอะ, ริงโก แลม, โจวเหวินฟะ, เฉินหลง, เจ็ท ลี, หงจินเป่า ฯลฯ
ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อรุ่งอรุณใหม่หลังปี 1997 มาถึง สถานะเป็นเต้ยส่งออกหนังภาษากวางตุ้งไปทั่วโลกมาตลอดหลายสิบปีของฮ่องกง จะไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกตลอดกาล
จบภาค 1 รอติดตามภาค 2 ‘City on Fire: 10 ปีผ่านไป ยังมีหนังฮ่องกงเหลืออยู่ไหม’