ความไม่ง่ายในการขอลี้ภัยของชาวฮ่องกง

ตั้งแต่มีประเด็นเรื่องการปรับแก้บทบัญญัติภายในกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Basic Law) ของฮ่องกง คลื่นของความเกลียดชัง ความรังเกียจ และความหวาดกลัวก็เริ่มแผ่เข้ามาปกคลุมฮ่องกง ไม่ว่าจะภาคเอกชน ศาล นักกิจกรรมทางการเมือง นักศึกษา และประชาชนคนทั่วไปต่างก็เริ่มรู้สึกว่าฮ่องกงในแบบที่เคยเป็นอยู่ในอดีตก่อนหน้านี้จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะรัฐบาลจีนจะเข้ามามีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จกับกิจการภายในของฮ่องกงมากยิ่งขึ้น โดยไม่สนใจหลักการและแนวคิดของนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบอีกต่อไป บวกกับกรณีที่ นาธาน เหลา (Nathan Law) อดีตแกนนำพรรค Demosisto และนักเคลื่อนไหวชื่อดังในกลุ่มเดียวกันกับ โจชัว หว่อง (Joshua Wong) และ แอกเนส โจว (Agnes Chow) ได้ประกาศว่าตนเองและพรรคพวกจำนวนหนึ่งได้ลี้ภัยหนีความเลวร้ายของรัฐบาลจีนไปอาศัยอยู่ที่ประเทศแถบยุโรปกันบ้างแล้ว บ้างก็ไปอังกฤษ บ้างก็ไปเยอรมนี บ้างก็อยู่สหรัฐอเมริกา

ทำให้แนวคิดเรื่องการลี้ภัย การย้ายประเทศหนีอิทธิพลของรัฐบาลจีนกลายมาเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวฮ่องกงสนใจกันอีกครั้ง ประจวบเหมาะกับที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย และไต้หวันนั้นเริ่มกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือ และการหยิบยื่นโอกาสของการลี้ภัยทางการเมืองมากขึ้นสำหรับคนกลุ่มที่เสี่ยงจะโดนรัฐบาลจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างออสเตรเลียนี้ก็พยายามเสนอช่องทางให้แรงงานทักษะภายในฮ่องกงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐาน มาทำงาน สร้างครอบครัวที่ออสเตรเลีย ส่วนอังกฤษก็มีการชักชวนให้คนฮ่องกงที่มีพาสปอร์ต BNO ย้ายเข้ามาหางานทำที่ประเทศอังกฤษ ไต้หวันเองก็เช่นกันในเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่รัฐบาลจีนเผยท่าทีว่าจะเข้ามาทำการปรับแก้บทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญฮ่องกง ทางประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ก็แสดงตัวออกมา แล้วเสนอช่องทางให้แก่ชาวฮ่องกงที่รักประชาธิปไตยในการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงาน มาลงทุนในไต้หวันในทันที

คนฮ่องกงก็เลยเริ่มมีความคาดหวัง และเริ่มที่จะมองหาช่องทางในการย้ายออกไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น มีการโทรศัพท์ติดต่อไปหาเอเจนซีและบริษัทที่ปรึกษาด้านการย้ายถิ่นฐานในอัตราที่ถี่มากขึ้น จากเดิมบริษัทเหล่านี้มักมีลูกค้าโทรติดต่อมาไม่เกิน 20-30 สายต่อวัน ก็เพิ่มมาเป็น 40-50 สายต่อวัน อย่างของไต้หวันนี้มีการติดต่อเข้ามาเยอะมากๆ อยู่แล้วตั้งแต่เหตุการณ์ประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อปี 2019 แล้ว ตั้งแต่ตอนนั้นมาคนฮ่องกงก็เริ่มมีความรู้สึกอยากย้ายประเทศ แต่หลายๆ คนก็ไม่อยากที่จะอพยพไปไหนไกล เนื่องจากยังมีครอบครัว และญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ภายในฮ่องกง ไต้หวันก็เลยกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางที่ประชาชนฮ่องกงหลายกลุ่มมองว่าน่าสนใจ และน่าย้ายไปอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยสภาพสังคม วัฒนธรรมที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก อาหารการกินก็ไม่ได้หนีกันเท่าไร ลดปัจจัยเสี่ยงทางด้าน culture shock และปัญหาด้านการเหยียดชาติพันธุ์ไปได้มาก อีกทั้งค่าครองชีพก็ยังต่ำกว่าที่ฮ่องกง

คนฮ่องกงจึงเลือกวางแผนที่จะย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ไต้หวันกันในฐานะตัวเลือกลำดับแรกๆ ซึ่งถ้าว่ากันตามข้อมูลที่โฆษกของรัฐบาลไช่ อิงเหวิน นั้นเผยออกมาก็จะพบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานี้มีคนฮ่องกงอย่างน้อยๆ 5,000 กว่าคนแล้วที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะไต้หวัน ยิ่งช่วงหลังๆ มานี้ พอ ไช่ อิงเหวิน ได้สั่งให้มีการเปิดสำนักงานสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานและการบริการชาวฮ่องกง (Taiwan-Hong Kong Office for Exchanges and Services) เพื่อเอาไว้ใช้ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และการช่วยเหลือแก่ชาวฮ่องกงที่มีความต้องการในลักษณะดังกล่าวโดยเฉพาะ ก็ยิ่งทำให้ประเด็นเรื่องการลี้ภัยและย้ายถิ่นฐานหนีรัฐบาลจีนไปอยู่ ณ เกาะไต้หวันกลายเป็นกระแสที่จุดติดไม่ยากนักในหมู่คนฮ่องกง เพราะถึงไต้หวันจะไม่ได้อยู่ห่างไกลจากเงื้อมมือของรัฐบาลจีนจนถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ระยะปลอดภัย’ มากนัก แต่อย่างน้อยรัฐบาล ไช่ อิงเหวิน ก็มีความเปิดกว้างต่อประชาชนและชาวฮ่องกงมากกว่ารัฐบาลของ แคร์รี หลั่ม (Carrie Lam)

อย่างไรก็ดี ประเด็นการลี้ภัย และการย้ายถิ่นฐานนี้ยังคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอยู่บ้าง ประการแรกเลยคือ การลี้ภัยและการย้ายถิ่นฐานนั้น มองผ่านๆ อาจจะเหมือนเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมีความแตกต่างกันในรายละเอียดและกระบวนการค่อนข้างมาก การลี้ภัย คือ การได้สถานะผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองกันตามเกณฑ์ขององค์การระหว่างประเทศ และการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย บุคคลที่จะได้สถานะผู้ลี้ภัยนี้จะต้องเป็นผู้ที่หนีจากภัยทางการเมืองจากประเทศต้นทางมา

ส่วนการย้ายถิ่นฐาน หรือการอพยพไปอยู่อีกประเทศหนึ่งนั้นเป็นแค่การย้ายไปอยู่อาศัย ไปทำงาน ไปทำธุรกิจ ซึ่งก็จะมีการจำแนกออกมาด้วยวีซ่าตามเกณฑ์ของกระทรวงการต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของวีซ่านักเรียน วีซ่าทำงาน หรือวีซ่านักธุรกิจ ที่สำคัญเลยคือมันเป็นแค่สถานะชั่วคราว และอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะได้สถานะการพำนักถาวรในประเทศปลายทางแห่งนั้นๆ ระหว่างรอก็ต้องคอยเทียวไปต่ออายุวีซ่าอยู่เรื่อยๆ

แต่เวลาที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ไต้หวัน เยอรมนี หรือออสเตรเลีย แถลงข่าวออกมาในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะใช้คำเดียวเหมารวมไปเลยว่า ‘Asylum’ เพราะบริบทสถานการณ์ภายในฮ่องกงขณะนั้น เข้าข่ายประเด็นเรื่องการลี้ภัยและการกดขี่ข่มเหงถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชนชาวฮ่องกง รัฐบาลหลายประเทศที่สังเกตการณ์อยู่ก็เลยเลือกใช้คำว่า ‘Asylum’ ที่หมายถึงการลี้ภัยเป็นหลักเพื่อส่งสารไปถึงคนฮ่องกงที่รู้สึกว่ากำลังโดนรัฐบาลจีนคุกคามความปลอดภัยให้สามารถยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยได้ในทุกโอกาส ทว่าในทางปฏิบัติแล้วการยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยเป็นหนังคนละม้วนกับตอนที่รัฐบาลกล่าวเชิญชวนผ่านสื่อและผ่านช่องทางของกระทรวงการต่างประเทศของตนเองเป็นอย่างมาก การขอสถานะผู้ลี้ภัยนั้นไม่ใช่จะขอกันได้ง่ายๆ จากการที่ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนนั้นต้องมีการตรวจสอบกันอย่างละเอียดและเคร่งครัด ตามกฎเกณฑ์ที่ถูกตั้งเอาไว้

เนื่องจากทางรัฐบาลของประเทศปลายทางต้องทำการตรวจสอบ และสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า ผู้ที่มาสมัครขอสถานะผู้ลี้ภัยมีความเดือดร้อนจากรัฐบาลประเทศต้นทางหรือมีความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามมากน้อยแค่ไหน หากเลือกที่จะอาศัยอยู่ในประเทศต้นทางต่อไป ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้จะถูกใช้เป็นตัวชี้วัดสำคัญ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต่างประเทศไม่ว่าจะไต้หวัน เยอรมนี และออสเตรเลีย ระบุไว้คล้ายกันก็คือ การออกไปชุมนุมไปก่อม็อบภายในฮ่องกงโดยที่ยังไม่มีหมายจับ ไม่มีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลของจีนอย่างตรงไปตรงมานั้น ไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอสำหรับการจะขอลี้ภัย หรือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างชาติให้เข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าวนี้ (เช่นเดียวกันกับการโดนตำรวจรวบตัวจากการชุมนุม เพราะละเมิดกฎ 2 เมตรของทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขเมื่อกรกฎาคม ก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะขอลี้ภัย)

และก็ไม่ใช่ว่าคนที่เข้าไปสมัครขอลี้ภัยทางการเมืองนั้นจะได้สถานะกันทุกคน กรณีไต้หวัน การที่คนจากฮ่องกงและจีนจะขอย้ายถิ่นฐาน หรือหลบหนีอิทธิพลของรัฐบาลจีนมาอาศัยอยู่ที่ไต้หวัน จะมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกิจการแผ่นดินใหญ่ (Mainland Affairs Council) เข้าไปทำการสัมภาษณ์ และตรวจสอบอย่างเข้มงวด ว่าคนเหล่านั้นตั้งใจที่จะยื่นเอกสารเข้ามาด้วยเหตุผลของการหลบหนีอิทธิพลของรัฐบาลจีน หรือถูกรัฐบาลจีนไล่ล่าตัวอยู่จริงหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีสายลับจีน หรือคนจากรัฐบาลจีนปั้นเรื่องแล้วแฝงตัวเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองภายในไต้หวัน ลึกๆ แล้วรัฐบาลไต้หวันนั้นค่อนข้างระแวงคนที่มีนัยยะแอบแฝงจากทางจีน จากการที่ไต้หวันนั้นเป็นดินแดนที่ตกเป็นเป้าโจมตีของแฮคเกอร์ชาวจีน และหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของจีนมาตั้งแต่ก่อนอยู่แล้ว กระบวนการกลั่นกรองจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าไม่มีสายลับจีนหรือคนจากฝ่ายความมั่นคงจีนแฝงตัวเข้ามา

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ ไต้หวันนั้นไม่ใช่ประเทศ ไม่มีสถานะเป็นรัฐ จึงไม่มีตำแหน่ง ไม่มีสถานะเป็นทางการภายในองค์การสหประชาชาติ (UN) ทำให้ไต้หวันไม่ได้ถูกรวมอยู่ในเครือข่ายของ Refugee Convention ปี 1951 และไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยโดยตรงแบบประเทศพันธมิตรประเทศอื่นๆ กฎหมายที่พอจะถูกนำมาขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการช่วยเหลือประชาชนฮ่องกงได้นั้นมีแค่บทบัญญัติที่ว่าด้วยกิจการฮ่องกงและมาเก๊า (Laws and Regulations Regarding Hong Kong & Macao Affairs) มาตรา 18 ที่ระบุไว้ว่า รัฐบาลควรจะให้ความช่วยเหลือแก่ชาวฮ่องกงและมาเก๊าที่กำลังตกอยู่ในอันตรายทางการเมือง ‘เท่าที่จำเป็น’ เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลสามารถเข้าไปแทรกแซง หรือดึงคนฮ่องกง/มาเก๊ามาแล้วหยิบยื่นสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่คนเหล่านั้นโดยตรงได้ ซึ่งก็เป็นประเด็นถกเถียงภายในรัฐสภาของไต้หวันมานานหลายปีแล้ว มีการผลักดันให้ปรับแก้บทบัญญัติดังกล่าวมาตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการสนใจจากรัฐบาลเท่าที่ควร

นอกจากนี้ การที่ไต้หวันไม่มีสถานะเป็นประเทศ และถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่บนเวทีโลกนั้น ยังทำให้การลี้ภัยในไต้หวันนั้นเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น หากไต้หวันจะรับเอานักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักกิจกรรม และแกนนำม็อบของฮ่องกงเข้าไปพำนักอาศัยอยู่นั้น ไต้หวันจะต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะถูกรัฐบาลจีน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) กดดันหนักมากขึ้น จากเดิมที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไต้หวันและจีนนั้นถูกดึงให้ดิ่งลงเหวมาตั้งแต่ปี 2016 เพราะประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้ง จนทางรัฐบาลจีนประกาศตัดสัมพันธ์และช่องทางการติดต่อหลักระหว่างกันไปอยู่แล้ว ทำให้ไต้หวันนั้นอยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกยากขึ้น เนื่องจากการลดระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองนั้นไม่เท่ากับการลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ไต้หวันยังมีการลงทุนและมีการค้าขายกับจีนอยู่ในปริมาณที่มหาศาล

การที่จีนประกาศตัดช่องทางการสื่อสารระดับสูงระหว่างรัฐบาลจากไต้หวันนั้น จึงเป็นแค่เรื่องทางการเมือง แต่ไต้หวันกับจีนยังต้องมีกิจการค้าขาย และพึ่งพาอาศัยกันในทางเศรษฐกิจอยู่อีกในระยะยาว ทางกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันเองนั้นก็เป็นฝ่ายที่ออกมาแถลงในวันแรกๆ หลังจากที่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ประกาศท่าทียั่วยุจีนด้วยการเปิดสำนักงานสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานและการบริการชาวฮ่องกง ว่ารัฐบาลไต้หวันยินดีให้การสนับสนุนชาวฮ่องกงอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขต และปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลไต้หวันกำลังอยู่ในฐานะที่ไม่ต้องการให้กิจกรรมระหว่างฮ่องกงและไต้หวันขณะนี้ไปกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันในภาพใหญ่ของทั้งหมด (จริงๆ ในมิตินี้ไม่ได้มีแค่กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันเท่านั้นที่แสดงออกถึงความกังวลต่อกรณีที่คนฮ่องกงอพยพลี้ภัยกันมาเยอะๆ แต่ทางฝั่งออสเตรเลียเองก็กังวลเรื่องผลกระทบในลักษณะนี้ไม่ต่างกัน)

หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ ก็คงจะพอทำให้เห็นว่าการลี้ภัยในทางปฏิบัตินั้นมีความเป็นไปได้ยาก และมีแนวโน้มที่จะสำเร็จน้อยพอสมควร (หากไม่ใช่กรณีที่หนักหนาสาหัสจริงๆ อย่างกรณีที่ถูกรัฐบาลออกหมายจับแล้วส่งคนไปตามล่า ไปขู่ทำร้ายร่างกาย หรือมีแนวโน้มว่าจะโดนหิ้วปีกไปดำเนินคดีภายในจีน) เพราะทางกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันนั้นระบุไว้ชัดเจนเลยว่า เรื่องการจะขอลี้ภัยนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน การหยิบยื่นความช่วยเหลือใดๆ จะต้องมีคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบ และทำการสัมภาษณ์เป็นรายกรณีไป แล้วจึงนำไปพิจารณาตัดสินใจกันในภายหลังเพื่อป้องกันความผิดพลาดในเชิงกระบวนการ ถ้าอยากได้เร็วๆ ก็มีอีกแค่ทางเลือกเดียว คือหันไปใช้ช่องทางวีซ่านักเรียน หรือวีซ่าทำงานซึ่งก็จะมีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นแค่รูปแบบของการเข้าไปขออาศัยอยู่ในระยะสั้นหรือชั่วคราวแทน และอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-5 ปีกว่าจะสามารถยื่นขอสถานะเป็นพลเมืองในประเทศปลายทางได้

กรณีของไต้หวัน จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่ช่วยให้เห็นว่า สุดท้ายพอมาถึงสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานกันจริงๆ คนฮ่องกงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้สถานะผู้ลี้ภัย คนที่เลือกหลบหนีการคุกคามของรัฐบาลจีนออกไปนอกฮ่องกงส่วนมากมักได้รับสถานะวีซ่าระยะสั้น เช่น วีซ่านักเรียน วีซ่าทำงาน ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่รัฐบาลต่างชาติเปิดสำหรับคนที่อยากจะเข้ามาขอสัญชาติและอยู่อาศัยกันในระยะยาวอยู่แล้ว ไม่ได้มีสิทธิพิเศษ หรือบัตรผ่านทางอะไรอย่างที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันก่อนหน้านี้ในหมู่คนฮ่องกง ที่ได้ยินข่าวในทำนองว่า “รัฐบาลประเทศxxx เสนอช่องทางให้ประชาชนฮ่องกงได้มีสิทธิอพยพลี้ภัยหนีจากความเลวร้ายของรัฐบาลจีนไปอยู่อาศัยในประเทศของตนเองได้อย่างเต็มที่”

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า