ไม่กินเพื่ออยู่

Artboard 1

ภาพประกอบ: Shhhh

 

หากการกินอาหารคือกิจกรรมหล่อเลี้ยงร่างกายเพื่อดำรงชีวิต การอดอาหารก็คือมรรควิธีทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต แต่การอดอาหารไม่ได้เป็นเครื่องมือปลิดชีพตนเพื่อหนีหน่ายไปจากโลก ในประวัติศาสตร์การอดอาหารของผู้คนจำนวนหนึ่ง ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การอดอาหารคือการแสดงออกของมนุษย์ที่มีความหมาย เป็นกลวิธีการต่อสู้ การเรียกร้องทางการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม รวมถึงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ

การอดอาหารจึงเป็นการสื่อสารและแสดงออกของคนคนหนึ่ง เขาหรือเธอเหล่านั้นป่าวประกาศว่าตนจะดำรงอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างชีวิตและความตาย ดำรงชีวิตอยู่บนความอนทนและอ่อนแออย่างมีเป้าหมาย โดยนำสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเข้าแลก – สิทธิ์ที่จะดำรงชีวิต

อิรอม ชาร์มิลา ชานู (Irom Sharmila Chanu) นักสิทธิมนุษยชนหญิงชาวอินเดีย เพิ่งจะยุติการอดอาหารเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลา 16 ปีในการอดอาหารประท้วงรัฐบาลอินเดียให้ยกเลิกกฎหมาย ‘อำนาจพิเศษของกองทัพ’ (Armed Forces Special Powers Act)

อำนาจพิเศษนี้อนุญาตให้ทหารปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในรัฐมณีปุระ (Mnipur) เมื่อปี 2000 ทหารสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่มีหมายจับ การตายของประชาชนจำนวน 10 คน เมื่อ 16 ปีก่อนเป็นจุดเริ่มต้นอดอาหารประท้วงของเธอ

การอดอาหารของเธอถูกตีความว่าเป็นการพยายามฆ่าตัวตาย รัฐบาลอินเดียดำเนินคดีพยายามฆ่าตัวตายแก่ อิรอม ชาร์มิลา ชานู ในปี 2006 มีโทษปรับและจำคุกสูงสุดหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309

อิรอม ชาร์มิลา ชานู ให้การกับศาลว่า เธอไม่ได้พยายามฆ่าตัวตาย เพียงแต่ต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีเพื่อมีชีวิตต่อไปในฐานะมนุษย์

กระนั้น อิรอม ชาร์มิลา ชานู ก็ถูกนำตัวไปคุมขัง แต่เธอยืนยันจะอดอาหารจนกว่ารัฐบาลยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เมื่อรัฐบาลอินเดียไม่สามารถแงะริมฝีปากให้เธอกลืนอาหารลงลำคอ ชาร์มิลาจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่โรงพยาบาล พวกเขาบังคับให้อาหารเด็กอ่อนผสมวิตามินและยาบำรุง มันไหลผ่านสายยางเข้าสู่โพรงจมูกของเธอ

ก่อนหน้าที่ อิรอม ชาร์มิลา ชานู จะยุติการอดอาหารเพียงสองวัน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ วศิน พรหมณี ได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม หนึ่งวันก่อนมีการลงประชามติ ทั้งสองร่วมกันแจกเอกสารวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดชัยภูมิ จตุภัทร์ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ไม่ขอรับการประกันตัว และเริ่มอดอาหารประท้วงกระบวนการประชามติที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม กระทั่งเข้าสู่วันที่ 10 ของการอดอาหาร เขาหมดสติภายในคุก

เมื่อการอดอาหารคือเครื่องมือในการต่อสู้ การปล่อยให้มนุษย์คนหนึ่งอดอาหารตายไปต่อหน้าจึงเป็นศีลธรรมค้ำคอฝ่ายตรงข้าม การประดิษฐ์เครื่องมือออกมาต่อสู้กับฝ่ายผู้อดอาหารประท้วงก็ดูจะเป็นสิ่งจำเป็น

ในปี 2015 รัฐสภาอิสราเอลผ่านกฎหมายบังคับให้อาหารนักโทษที่ประท้วงอดอาหารจนเสี่ยงแก่ชีวิต เป้าหมายของการออกกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อขัดขวางไม่ให้นักโทษกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์กดดันอิสราเอลด้วยการอดอาหาร กฎหมายฉบับดังกล่าวจะถูกบังคับใช้เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่า การอดอาหารนั้นมีความเสี่ยงต่อชีวิตของนักโทษ

กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านกฎหมายนี้ คือ พรรคการเมืองของชาวอาหรับ แพทยสภาอิสราเอล กลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนในอิสราเอล

ฝ่ายการเมืองมองว่า กฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำลายการต่อสู้โดยชอบธรรมของนักโทษที่อดอาหาร ฝ่ายแพทย์มองว่า การบังคับให้อาหารแก่นักโทษที่อดอาหารประท้วงคือการทรมาน นักโทษส่วนใหญ่ที่ประท้วงอดอาหารเป็นชาวปาเลสไตน์ พวกเขาถูกคุมขังโดยอำนาจคำสั่งของฝ่ายบริหาร (administrative detention) ซึ่งกักขังพวกเขาโดยไม่มีการตั้งข้อหา

ทำไมการบังคับให้อาหารแก่ผู้อดอาหารประท้วงจึงถูกมองว่าเป็นการทรมาน ถ้าเรามองว่าการอดอาหารประท้วงโดยสมัครใจเหล่านี้คือ เจตจำนงที่จะมีอำนาจ (The Will to Power)

นิทซ์เช อธิบายเรื่อง The Will to Power ไว้ในหนังสือชื่อ Thus Spoke Zarathusra ว่า The Will to Power คือแรงขับพื้นฐานในการผลักมนุษย์ให้กระทำการต่างๆ โดยเล็งเห็นคุณค่าของมนุษย์เป็นสำคัญ การกระทำต่างๆ นั้นก็เพื่ออิสรภาพของมนุษย์เอง แต่คำว่า อำนาจ (power) ของนิทซ์เช ไม่ใช่อำนาจในการปกครองหรือกดขี่ผู้อื่น แต่เป็นอำนาจเหนือตนเอง

กฎหมายที่บังคับให้อาหารนักโทษที่อดอาหารประท้วงจึงเป็นการทำลาย The Will to Power ของผู้ปฏิเสธอาหาร การบังคับให้ผู้อดอาหารประท้วงกินอาหารคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับให้ผู้อดอาหารกินอาหารเป็นคนละเรื่องกับการที่ผู้อดอาหารเลือกที่จะดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน เช่น นม หรือรับอาหารเหลวระหว่างการประท้วง

เราสามารถอ่านความหมายของการอดอาหารของใครต่อใครได้อย่างไรบ้าง ถ้าเรามองว่า การไม่กินอาหาร คือ The Will to Power ของเขาหรือเธอ การไม่กินอาหารโดยสมัครใจเป็นวิธีการอารยะขัดขืนต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม แน่นอนว่าการอดอาหารเป็นการกระทำทางการเมือง และการอดอาหารไม่ใช่เพียงการส่งข้อความถึงผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ข้อความนี้ยังบอกกล่าวกับพลเมืองระดับเดียวกันกับผู้อดอาหารด้วย

การไม่กินของผู้อดอาหารประท้วงก็เพื่อให้เกิดบางสิ่งตามเป้าหมายของแต่ละคน การไม่กินอาหารของใครคนหนึ่งย่อมเป็นการกระทำที่มีความหมายอย่างแน่นอน เพียงแต่ความหมายชุดนี้ได้เดินทางไปถึงผู้รับโดยสวัสดิภาพหรือไม่

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า