ผมชื่อลูเต้อร์: หลบหน่อยคร้าบ ลูเต้อร์จะพาเดิน

ในบ่ายวันที่ร้อนอบอ้าวที่สุดวันหนึ่งกลางเดือนกรกฎาคม พวกเราจ้องมองไปที่ความร่มรื่นรอบๆ ของต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกมามอบความอาทร และทำให้ทีม WAY ลืมความร้อนและเปลวแดดที่แผดเผารอบตัว พวกเรากำลังยืนอยู่หน้าบ้านพักย่านชานเมืองแห่งหนึ่ง บ้านพักหลังที่เบื้องหน้าของพวกเรา เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและประสบการณ์ที่เราไม่เคยรู้จักและเข้าใจมาก่อน

พวกเรายืนอยู่หน้าบ้านของ ทราย-คีริน เตชะวงศ์ธรรม วัย 22 ปี แอดมินเพจ ผมชื่อลูเต้อร์ เสียงต้อนรับจากเจ้าบ้านดังขึ้น “มีใครกลัวหมาไหมคะ” พวกเราตอบอย่างพร้อมเพรียง “ไม่มีค่ะ” ก่อนที่พระเอกของวันนี้จะเดินแกว่งหางด้วยความตื่นเต้น พร้อมกับส่งเสียงงุดงิดหงิงๆ ในลำคอของมัน แล้วใช้จมูกดมฟุดฟิดตามตัวของพวกเราทุกคนเพื่อแสดงการต้อนรับและทักทายในแบบของมัน

ทรายเป็นผู้สูญเสียการมองเห็นเมื่ออายุ 13 ปี ด้วยอาการเนื้องอกในสมอง แต่หลังจากที่เธอสูญเสียการมองเห็น เธอได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อปรับเปลี่ยนและฝึกฝนการใช้ชีวิตด้วยตนเอง เธอจึงได้ตัดสินใจศึกษาต่อที่สหรัฐ จนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อเทอมที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้น 2 ปี เธอได้รับ ลูเต้อร์ สุนัขนำทางพันธุ์ลาบราดอร์ขนสีดำขลับ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต หลังจากเรียนจบ เธอตัดสินใจกลับมายังประเทศไทย  แน่นอนว่าการกลับบ้านเกิดครั้งนี้ลูเต้อร์จะต้องติดตามเธอมาด้วย

สำหรับสหรัฐแล้ว การใช้สุนัขนำทางถือเป็นเรื่องปกติของผู้พิการทางสายตามีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้องชัดเจน ไม่ต่างจากประเทศไทยที่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 วรรค 8 กำหนดไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกันว่า ผู้พิการทางสายตาสามารถนำสัตว์นำทางและอุปกรณ์ช่วยเหลือไปยังที่ต่างๆ ได้ — ไม่ต่างจากที่ใดในโลก

แต่การผจญภัยของทรายและลูเต้อร์เริ่มต้นขึ้นทันทีที่เท้าแตะแผ่นดินไทย จากสนามบิน ทั้งสองเจอปัญหารถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ซึ่งนี่คือช่องโหว่จากการขาดองค์ความรู้และความเข้าใจในเรื่องการใช้สัตว์นำทางของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย จึงเป็นเหตุให้การใช้ชีวิตประจำวันของเธอและลูเต้อร์เต็มไปด้วยความยากลำบาก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเพจ ‘ผมชื่อลูเต้อร์’

ผมชื่อลูเต้อร์

เรื่องราวระหว่างทรายและสุนัขนำทางเกิดขึ้นอย่างไร

ตอนนั้นหนูอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 มีความเครียดสูงและเป็นโรคซึมเศร้าด้วย ที่เมืองนอกเขาจะมีการใช้สัตว์บำบัด เช่น สุนัขบำบัด (dog therapy) ด้วย เป็นสัตว์ประเภท emotional support animal อาจจะไม่ต้องได้รับการฝึกฝนมา เป็นแค่สัตว์เลี้ยงธรรมดาก็ถือว่าเป็นสัตว์บำบัดได้แล้ว ถ้าเรามีปัญหาด้านสุขภาพจิต เราสามารถขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยในการนำสุนัขมาอยู่กับเราได้ จริงๆ ตอนนั้นหนูก็ไม่ได้คิดถึงการมีสุนัขนำทาง เพราะตอนนั้นใช้ไม้เท้านำทางอยู่แล้ว

ช่วงที่มีความเครียด ซึมเศร้า พอดีเป็นช่วงปิดเทอม เราก็ไปเยี่ยมเพื่อนที่บ้าน พอไปถึงบ้านเขา เจอหมาของเขา ก็ได้เล่นกับหมาเพื่อนแล้วรู้สึกดี เลยคิดว่าจะเอาหมามาเลี้ยงดีไหม สุดท้ายเลยตัดสินใจว่า จะนำสุนัขนำทางมาเลี้ยงเลย เพราะจะได้ทั้งสองอย่าง ได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งสุนัขนำทาง เลยไปติดต่อที่โรงเรียนฝึกสุนัข

ผมชื่อลูเต้อร์

โรงเรียนฝึกสุนัขมีระบบการฝึกฝนอย่างไร

เรื่องระบบของโรงเรียนในการคัดเลือกสุนัขให้เรา เท่าที่รู้คือ ทางโรงเรียนจะมีสุนัขที่เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่เอาไว้ผสมเอง ดังนั้นเขาจะคัดเลือกลักษณะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อย่างละเอียดมาก ตัวของลูเต้อร์เองก็เคยเกือบจะได้เป็นพ่อพันธุ์เหมือนกัน เพราะเป็นสุนัขที่คุณสมบัติดีมาก ฝึกได้ดี ทำงานได้ดี แต่เขามีปัญหาด้านสุขภาพ คล้ายๆ โรคหัวใจนิดหน่อย โรงเรียนเลยไม่เอา

เพราะโรงเรียนเพาะพันธุ์เอง พอลูกหมาเกิด ทางโรงเรียนก็จะเริ่มฝึกเลย ใช้ชีวิตตามที่วางไว้ หลังจากนั้นไม่นาน ก็จะต้องมีอาสาสมัครมารับไป ซึ่งเขาเรียกว่า host family ลูเต้อร์เองก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยนำลูเต้อร์ไปเลี้ยงอยู่ปีครึ่ง ระหว่างนั้นก็ต้องพาลูเต้อร์มาเข้าชั้นฝึกที่วางโปรแกรมไว้ มีไกด์ไลน์ว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น พวกมารยาทพื้นฐาน อยู่ในบ้านไม่ควรอึ ฉี่ หรือทำลายข้าวของ การเจอและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

ระหว่างช่วงที่อยู่กับ host family ก็จะมีการทดสอบ จนในที่สุดก็จะนำมาทดสอบครั้งสุดท้ายว่าผ่านไหมสำหรับการเป็นสุนัขนำทาง มีคุณสมบัติพอหรือเปล่า ถ้าทดสอบผ่านจะกลับมาอยู่ที่โรงเรียนเพื่อฝึกกับครูฝึกสุนัขนำทาง พออยู่กับครูฝึก เขาก็จะเริ่มการฝึกที่เข้มขึ้น ไม่ใช่แค่มารยาทพื้นฐานแล้ว คราวนี้จะเป็นฝึกการนำทาง การหลบเลี่ยงต่างๆ หลังจากนั้น 4-6 เดือน ก็ค่อยมาจับคู่กับเรา

ผมชื่อลูเต้อร์

โรงเรียนเขาก็จะสนับสนุนให้อาสาสมัครพาสุนัขไปยังที่ต่างๆ ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ไปห้าง ไปโรงเรียน เพื่อให้สุนัขมีประสบการณ์มากขึ้น

ส่วนเรื่องของสายพันธุ์ แต่ละโรงเรียนจะต่างกัน โรงเรียนของหนู 95 เปอร์เซ็นต์จะเป็นสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ อีก 5 เปอร์เซ็นต์จะเป็นพันธุ์เยอรมันเชิฟเพิร์ด

แล้วกลายมาเป็นลูเต้อร์ ได้อย่างไร

จริงๆ โรงเรียนฝึกสุนัขนำทางเป็นคนจับคู่ให้กับเราค่ะ เราไม่ได้เป็นคนเลือกสุนัขเอง พอเราสมัครเข้าไปที่โรงเรียนฝึกสุนัขนำทาง เขาก็จะมาเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ในหลายๆ เรื่อง หนูไม่ค่อยแน่ใจว่า วิธีการเลือกของเขาเลือกยังไง แต่เท่าที่เข้าใจคือเขาจะดูปัจจัยในการดำเนินชีวิตของเรา เดินเร็วแค่ไหน รูปแบบและลักษณะการเดินเป็นพื้นที่ไหน อย่างหนู ก็จะเดินในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ซึ่งตัวมหาวิทยาลัยก็จะมีลักษณะถนนหนทางต่างจากถนนที่อื่น

ผมชื่อลูเต้อร์

ก็หมายความว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย ทางโรงเรียนก็จะเลือกสุนัขที่ถูกฝึกอีกแบบให้ใช่ไหม

จริงๆ แล้ว เท่าที่เข้าใจคือ สุนัขทุกตัวถูกฝึกคล้ายๆ กัน แต่ว่าอาจจะมีความชำนาญที่ต่างกัน แต่เท่าที่รู้และสังเกตเห็นอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งหนูและลูเต้อร์ มีการเดินที่เหมือนกัน คือเดินเร็วมากค่ะ (หัวเราะ)

ความสัมพันธ์ระหว่างทรายและลูเต้อร์ในช่วงแรกเป็นอย่างไรบ้าง

ต้องใช้เวลาปรับตัวเยอะพอสมควร ตอนที่เจอกันครั้งแรก หนูต้องไปฝึกกับลูเต้อร์อยู่สามสัปดาห์ ถึงจะได้รับกลับ เพราะสำหรับเขา เราเป็นคนแปลกหน้า เขาก็จะติดครูฝึกอยู่บ้าง เขาก็อยากจะกระโดดวิ่งไปหาครูฝึก ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะปรับเข้าหากันติด

จำความรู้สึกแรกที่พบกับลูเต้อร์ ได้ไหม

ก็น่ารักดีค่ะ คือไปถึงโรงเรียนเราจะยังไม่ได้สุนัขเลย ต้องมีวันที่สอง สาม อีกหลายวัน มีการทดลองเดินกับหมาเป็นครั้งแรกก่อน เขาก็ไม่ได้บอกว่าตัวนี้เป็นตัวไหน จะใช่ตัวที่จะมาจับคู่กับเราหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ วันนั้นหนูก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใช่ลูเต้อร์ไหม แต่วันที่ได้เจอลูเต้อร์ เราจะนั่งในห้อง แล้วเขาก็พาเข้ามา ให้เราทำความรู้จักกัน อนุญาตให้มีการให้ขนม เพื่อสร้าง good impression ต่อกัน แล้วก็ปล่อยให้อยู่ด้วยกัน หนูก็ไม่เคยมีสุนัขด้วย นี่เป็นครั้งแรกเลย เลยไม่ค่อยรู้ว่าต้องทำตัวยังไง เล่นกับเขายังไง

ผมชื่อลูเต้อร์

ช่วงที่ได้ลูเต้อร์มาแรกๆ เราไว้ใจในตัวลูเต้อร์ไหม

จริงๆ มันต้องใช้เวลานะคะ สำหรับการไว้ใจเขา เพราะตรงนี้คือการที่เราให้สุนัขพาเราเดิน เราก็ต้องมั่นใจว่าเขาจะไม่พาเราเดินไปผิดหรือไปเจออันตราย ก่อนหน้านี้ เราเคยใช้ไม้เท้ามาก่อน เราควบคุมได้หมด เพราะถ้าเราเจอสิ่งกีดขวางหรืออะไร เรารับรู้ได้เราก็จะหยุดด้วยตัวเอง แต่พอเปลี่ยนเป็นสุนัขนำทาง มันเป็นการปล่อยให้เขานำเรา เราต้องไว้ใจการตัดสินใจของเขา ว่าตัดสินใจได้ถูกต้องไหม ช่วงแรกก็เสียวๆ เหมือนกัน (หัวเราะ)

โดยเฉพาะตอนลูเตอร์เริ่มเดินเร็วๆ บางครั้งก็เสียว ต้องใช้เวลาปรับตัว ถึงเขาจะถูกฝึกมาดีแค่ไหน แต่ตามสัญชาตญาณของสัตว์ บางครั้งเขากะระยะไม่พ้น เราอาจจะชนกับสิ่งของบ้าง เราก็ต้องแก้ไขฝึกให้เขาทำใหม่ซ้ำอีกรอบจนกว่าจะจำได้ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต่างจากการเดินกับคน หนูเดินกับแม่บางครั้งแม่ก็พาชน ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นสุนัขเลยไม่แม่นเท่าคน

ตั้งแต่ลูเต้อร์เข้ามาทำงาน เคยมีเหตุการณ์น่ากลัวบ้างไหม

มีครั้งหนึ่งตอนอยู่ที่ลอนดอน ในอังกฤษ ตรงถนนสามแยกตัวที (T) หนูและลูเตอร์เดินออกนอกเส้นทาง จะพาลงถนน หนูตกใจมาก เพราะลอนดอนรถเยอะ ต้องรีบดึงลูเตอร์กลับเข้ามา พอข้ามถนนครั้งต่อไป ต้องตั้งใจทำสมาธิทั้งหมาทั้งคน

จริงๆ สิ่งที่พิเศษ สำหรับสุนัขนำทาง คือการที่เขาฟังคำสั่งของเราได้ดีมาก เชื่อฟังได้ดีมาก แต่เขาสามารถใช้การตัดสินใจด้วยตัวเองได้ ถ้าเขาเห็นว่าการตัดสินใจของเราไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การข้ามถนน ถ้าเราสั่งให้เขาข้าม แต่บังเอิญมีรถพุ่งเข้ามา เขาก็จะตัดสินใจไม่ยอมพาเราเดิน เป็นการไม่รับฟังคำสั่งอย่างชาญฉลาด (intellectual disobedience)

ความแตกต่างระหว่างการใช้สุนัขนำทางกับการใช้ไม้เท้านำทางต่างกันมากน้อยแค่ไหน

หลักๆ สองอย่างก็คือ การเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ถ้าเป็นเมืองนอก เขาจะคุ้นกับสุนัขนำทาง และมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจนว่า สุนัขนำทางสามารถไปได้ทุกที่ที่คนทั่วไปไปได้ ดังนั้นหนูจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ห้าง ร้านอาหาร โรงแรม หนูจะเดินเข้าไปเลย ไม่ต้องหยุดอธิบาย เพราะเขาเห็นบังเหียนที่อยู่ข้างหลังลูเต้อร์ เขาก็เข้าใจแล้ว ว่านี่คือสุนัขนำทาง เขาก็จะไม่เข้ามาห้าม คือเขามีความรู้ตรงนี้ แต่ถ้าเป็นเมืองไทยคือไม่ได้เลย จะรีบเข้ามาทันที ห้ามครับ สัตว์เลี้ยงห้ามเข้า เราก็จะเถียงว่า ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง เป็นสุนัขนำทาง เขาก็จะยังไม่ยอม

อย่างที่สองคือ ที่เมืองไทย คนเรียกร้องความสนใจเยอะ คือพยายามเรียกร้องความสนใจจากหมา เมืองนอกก็เจอเหมือนกันแต่ไม่เยอะเท่า เพราะคนเขารู้จักสุนัขนำทาง จะเป็นลักษณะของเด็กๆ วิ่งเข้ามา ซึ่งพ่อแม่เขารู้ เขาก็จะระวังมากขึ้น

เคยคิดอยากกลับไปใช้ไม้เท้าไหม

มีบ้างค่ะ ช่วงแรกๆ ที่เราได้เขามาใหม่ๆ เราต้องฝึกให้เขาเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ตามที่เราไป ช่วงแรกต้องใช้ความอดทนสูงมาก ต้องสอนหลายๆ รอบ เพื่อให้เขาจำได้ว่า “พอถึงสี่แยกตรงนี้ต้องหยุดนะ” ซึ่งบางทีก็ “เฮ้อ ทำไมไม่รู้เรื่องสักที” เขาก็เหมือนเด็ก ต้องค่อยๆ สอนไป

นิสัยส่วนตัวของลูเต้อร์ เป็นอย่างไรบ้าง

ลูเต้อร์เป็นสุนัขที่มีสมาธิดีมาก เขาตั้งใจทำงานมาก เพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยที่เห็นลูเต้อร์ส่วนใหญ่บอกว่าลูเต้อร์เคร่งขรึม ซีเรียส นิ่ง เดินอย่างตั้งใจ แต่ถ้าเวลาไม่ได้ทำงานเขาก็เหมือนปกติทั่วไป ขี้เล่น ชิลมาก ไม่เล่นก็นอน นี่เป็นลักษณะส่วนตัวของลูเตอร์ แต่สุนัขนำทางทั่วไปโดยรวม จะมีความ calm มีความสงบ ถ้าไฮเปอร์มากๆ จะมาเป็นสุนัขนำทางไม่ได้อยู่แล้ว

ผมชื่อลูเต้อร์

ปกติแล้ว ลูเต้อร์มีชีวิตประจำวันอย่าง หิว ขับถ่าย บ่อยแค่ไหน

ถ้ากินก็เป็นเวลา เช้า-เย็น ส่วนอึฉี่ เขาถูกฝึกมา เขารู้อยู่แล้วว่าไม่ควรจะเข้าห้องน้ำในอาคาร ส่วนใหญ่เขาก็จะเข้าห้องน้ำเวลาเราพาไปสนามหญ้า แล้วเวลานั้นก็จะเอาบังเหียนออก เปลี่ยนสายสั้นเป็นสายยาว เขาก็จะเข้าใจว่า เข้าห้องน้ำได้แล้ว เพราะเขาถูกฝึกมาว่า ถ้าใส่บังเหียนอยู่แปลว่าทำงาน ไม่ควรเข้า ถ้าอยู่ในอาคารก็ไม่ควรเข้า

จากประสบการณ์ของทราย การมีลูเตอร์เข้ามา เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นอย่างไร

ที่รู้สึกหลังๆ คือเรื่องเดินทาง ถ้าเปรียบเทียบการใช้ไม้เท้ากับการใช้สุนัขนำทาง ไม้เท้าจะช่วยเราให้เจอสิ่งที่กีดขวาง ใช้ไม้เท้าแกว่งนำทาง พอไปชนอะไรเราก็จะหยุดและเดินเลี่ยงไปอีกทาง

แต่การมีสุนัขเขาไม่ได้ช่วยเราหาสิ่งกีดขวางเจอ แต่เขาจะช่วยเราหลีกเลี่ยง ไม่ได้เดินแล้วหยุด หยุดแล้วหลบเหมือนการใช้ไม้เท้า แต่เป็นการเดินไปด้วยกัน ซึ่งทำให้การเดินทางราบรื่นมากขึ้น เหมือนกับคนที่มองเห็นปกติ

ผมชื่อลูเต้อร์

ตอนเดินทางกลับไทย ลูเต้อร์เขาเดินทางอย่างไร

ก็ขึ้นเครื่องด้วยกันเลยค่ะ ตามกฎหมายการบินนานาชาติ เขาก็ถือว่าลูเต้อร์เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกของผู้พิการอยู่แล้วค่ะ ต้องไปได้ทุกที่ที่ผู้พิการไป เราเองก็มีหลักฐานว่าลูเต้อร์เป็นสุนัขนำทางนะ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงเฉยๆ ที่จะแอบพาขึ้นเครื่องด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ต้องบอกก็ได้ เพราะถ้าเห็นมันจะเข้าใจได้ว่าถูกฝึกมาทำงาน ไม่เห่า นั่งนิ่ง ทำงานอย่างเดียว

จากสหรัฐมาไทยก็หลายชั่วโมงทีเดียว ต้องเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนสนามบิน ลูเต้อร์เขาเดินทางอย่างไร

เขาไม่มีปัญหาเลย จำได้ว่าตอนนั้นต่อเครื่องสามรอบ จากพอร์ทแลนด์ไปแอลเอ จากแอลเอไปต่อเครื่องที่ญี่ปุ่น จากญี่ปุ่นมาไทย คือไม่มีปัญหาเลย เรื่องขับถ่ายอะไรไม่มีเลย ที่สนามบินเขาจะมีห้องให้สุนัขนำทางพัก ขับถ่าย เราก็พาเขาไปเข้าตรงนั้น เราก็ไม่ได้ให้น้ำ-อาหารเยอะเกินจนเดินทางลำบาก

นอกจากเครื่องบินแล้ว เคยใช้บริการขนส่งสาธารณะอะไรอีกบ้าง

พอถึงไทย เราก็ต้องใช้แท็กซี่นั่งกลับมาบ้าน กลับมาถึงปุ๊บก็เจอปัญหาเลย แท็กซี่ไม่ยอมให้ขึ้น เพราะกลัวว่าจะมีปัญหา ทำเบาะเขาเสียหาย อึฉี่ใส่เบาะเขา เราก็ต้องทำอย่างทุกครั้งคือ อธิบายให้เขาฟัง มี รปภ. กับเจ้าหน้าที่สนามบินมาช่วยอธิบายด้วย เขาก็ทำอะไรไปมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันมีกฎหมายระบุไว้อยู่แล้ว จนในที่สุดก็มีคนขับคนหนึ่งยอม โอเค ก็ได้ เราก็เลยได้ขึ้นแท็กซี่กลับบ้าน ตัวอย่างที่เจอบ่อยๆ ก็คือ เขาจะเอาผ้ามาปูบนเบาะ กลัวเบาะเสียหาย เราก็ต้องคอยบอกว่า ไม่ต้องค่ะ ลูเต้อร์จะนั่งพื้นเท่านั้น จะไม่มีการขึ้นมานั่งบนเบาะหรือตะกุยเบาะเด็ดขาด

สุนัขนำทางก็ถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย ครั้งแรกที่มาถึง ปฏิกิริยารอบๆ ของคนเป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นข้างนอก เดินไปตามฟุตบาธสาธารณะก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็พาไปปกติ แต่ถ้าจะไปบางสถานที่ เช่น ไปห้าง ก็จะเริ่มมีปัญหาบ้าง โดยข้อเท็จจริงแล้ว ที่ไทยมีกฎหมายในการนำสุนัขนำทางเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ได้อยู่แล้ว เพราะเขาถือว่าสุนัขนำทางเป็นเหมือนอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับผู้พิการ ถือว่าสุนัขเป็นเหมือนไม้เท้านำทาง

แต่สังคมไทยไม่ค่อยรู้กฎหมายตรงนี้ ทำให้เวลาเราจะไปไหนมาไหน เราจะต้องติดต่อไปยังสถานที่ที่เราจะไปว่า เราจะไปนะ มีสุนัขนำทางด้วย ซึ่งจริงๆ เราไม่ต้องติดต่อก็ได้ เพราะมันเป็นกฎหมายอยู่แล้ว พอคนไม่รู้เราเลยต้องทำแบบนี้ซ้ำๆ ซึ่งบางครั้งขออนุญาตได้บ้างไม่ได้บ้าง

ส่วนถ้าพาไปในที่ที่ลูเต้อร์ต้องถูกรุมล้อม ปกติเลยคือ เดินไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุด ลักษณะที่เจอบ่อยๆ คือ เขาไม่ได้เดินเข้ามาจับทันที แต่ว่าจะมีการยืนมอง ส่งเสียง ทำมือ เรียกร้องความสนใจ หนูเองก็พยายามจะบอกว่า “อย่าค่า” ก็เดินต่อไปเรื่อยๆ พยายามไม่หยุด ตอนนี้ก็ทำผ้าให้เขา ปกติลูเต้อร์เวลาทำงาน จะใส่บังเหียนด้วย เราก็เลยไปทำผ้าให้เขา เขียนว่า ห้ามรบกวนสุนัขนำทาง

โดยธรรมชาติของสุนัขนำทาง คนทั่วไปไม่ควรรบกวน เพราะจะทำให้เขาเสียสมาธิใช่ไหม

ใช่ค่ะ โดยเฉพาะถ้าลูเต้อร์กำลังทำงานอยู่ ถ้าเขานำหนูอยู่ เขาจะมีสมาธิค่อนข้างดี ไม่วอกแวก ถ้าคนแค่ส่งเสียง เขาก็จะเดินของเขาไปเรื่อยๆ ไม่ได้เสียสมาธิอะไร แต่ถ้าคนเริ่มเยอะเข้า เราก็จะใช้สายดึง เตือนเขา พยายามให้เขาเดินต่อ ไม่ให้หยุด

ประเด็นก็คือ คนไทยยังขาดความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสุนัขนำทาง?

ใช่ค่ะ ที่เมืองไทย เวลาที่คนส่วนใหญ่เห็นสุนัข เขาจะคิดทันทีว่าเป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ได้คิดว่าเป็นสุนัขนำทาง

ต้องขอถามคุณแม่ของคุณทราย ว่าตอนที่ลูเต้อร์กับน้องทรายไปตามสถานที่ต่างๆ สายตาของคนทั่วไปเป็นอย่างไรบ้าง

แม่: ก็จะมีสองอย่างเลย คือกลัว ระแวง เพราะเขาเห็นเป็นสุนัขตัวใหญ่ อีกอย่างหนึ่งก็คือ น่ารัก แล้วเขาก็จะงงๆ ว่าตัวนี้คือสุนัขอะไร เพราะเขาใส่บังเหียนด้วย ก็จะมีสายตาที่มองอย่างสงสัย แล้วก็เดินๆ ไป เขาเห็นน่ารักก็จะเอามือลูบก้น เขาอาจจะไม่รู้หรอกว่านำทางหรือไม่นำทาง ตอนหลังเราก็เลยทำใบปลิวขึ้นมา เพื่อชี้แจงว่า ลูเต้อร์เป็นสุนัขนำทางนะ ทรายกับลูเต้อร์เขาก็จะเดินนำกันไปข้างหน้า ตัวคุณแม่ก็จะคอยดูระวังข้างหลัง ถ้ามีใครเหมือนจะไม่เข้าใจ ก็จะแจกใบปลิวให้รู้จักเพิ่มขึ้น

ก็เหมือนกับการทำแคมเปญไปในตัว นี่คือสุนัขนำทางค่ะ แล้วในใบปลิวก็จะมีรายละเอียดให้เข้าไปที่เพจ ‘ผมชื่อลูเต้อร์’ เราก็หวังจะกระจายข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขนำทางไปในทุกมิติเท่าที่ทำได้ออกไป มันก็จะเกิดการยอมรับ ความเข้าใจในทุกระดับ เพราะไม่ใช่แค่ทรายกับลูเต้อร์ แต่มันจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ด้วย

คุณแม่เริ่มทำแคมเปญตั้งแต่น้องกลับมาเลยหรือเปล่า

แม่: เริ่มทำก่อนที่ทรายจะกลับมา ตอนนั้นทรายมีลูเต้อร์ประมาณหนึ่งปีแล้ว ครั้งแรกที่จะกลับมาคือเตรียมตัวไม่ทัน เพราะต้องเตรียมเอกสารเยอะทีเดียว ปีนั้นเลยไม่ได้กลับ พอปีนี้ทัน เราก็เริ่มแคมเปญของเราโดยการเริ่มต้นติดต่อห้างใกล้ๆ บ้าน ที่เราเคยไปเดินกัน ก็มีการติดต่อไปว่า ลูกสาวจะไปห้าง มีสุนัขนำทางด้วย อยากให้ช่วยสร้างความเข้าใจตรงนี้ที ประชาสัมพันธ์ก็บอกว่าจะติดต่อผู้ใหญ่ให้ ครั้งแรกก็ปฏิเสธไป เราก็ผลักดันอีก ว่าอยากให้ลองไปคุยดู เพราะยังไงมันก็เป็นกฎหมาย รอบสองเราก็ติดตามอีก ประชาสัมพันธ์ให้คำตอบกลับมาว่า ผู้ใหญ่ไม่อนุญาตค่ะ ก็จบ เพราะเขาไม่ได้อยากจะเจอเรา ไม่ได้อยากจะถามหรือขอข้อมูลจากเรา

เพราะฉะนั้นตอนนี้หลายๆ ที่ที่เราขอไปก็อนุญาต เพียงแต่ปัญหาก็คือ มันเป็นการขอเป็นครั้งๆ ทั้งๆ ที่กฎหมายมันกำหนดไว้อยู่แล้วว่าอนุญาต เราก็ไม่อยากให้มันเป็นภาพที่ว่า จะไปทีก็ต้องขออนุญาตที ไหนๆ ก็ทำแล้ว ก็น่าจะเปลี่ยนข้อบังคับไปเลย เราก็เลยต้องมาทำแคมเปญของเรา เพื่อให้สังคมทั่วไปรู้จักพวกสัตว์นำทาง สุนัขนำทางอย่างกว้างขวาง เพราะคนที่จะเปิดทาง อนุญาต ให้เรา-ทรายกับลูเต้อร์เข้าไปในห้าง ในระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เป็นระดับผู้บริหาร เขาจะได้รับรู้ เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะส่งเสียงไปให้ได้ดังที่สุด ให้เขาลงมามอง

คุณแม่รู้สึกไหมคะว่า ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่ง มีสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ทำไมการเข้าสถานที่สาธารณะ ถึงได้ยากลำบากขนาดนี้

แม่: ในแง่หนึ่ง ถ้าเป็นห้าง เราเข้าใจผู้ประกอบการ ยิ่งถ้าเป็นห้างระดับหรูๆ ยิ่งไฮโซเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งต้องกลัว ว่าสุนัขเราจะไปทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า เขาไม่รู้หรอกว่า มันถูกฝึกมาแค่ไหน เขาก็ต้องตั้งคำถามไว้ก่อนว่า มันจะไปวิ่ง ไปสร้างความวุ่นวาย ไปเห่าลูกค้าเขาไหม หรือจะมีแง่ไปเลย คือ ลูกค้าบางส่วนอาจจะสงสัยหรือมองว่า สุนัขตัวนี้เข้ามาได้ยังไง ทำไมสุนัขตัวนี้เข้าได้ แต่ของฉันถึงเข้าไม่ได้ เราก็เข้าใจ และอยากจะให้ความรู้

เราเคยไปสวนสาธารณะ แม้แต่สวนสาธารณะเขาก็ไม่ให้เราเข้า บางแห่งก็ติดป้ายตั้งแต่ทางเข้าไว้เลยว่า ห้ามสุนัขเข้า บางแห่งเขาก็ให้ได้แค่บางส่วน บางโซนก็จะห้าม อาจจะเพราะเคยมีสุนัขเข้าไป แล้วไปสร้างปัญหา เราก็เข้าใจในจุดนี้เหมือนกัน แต่ก็ต้องพยายามเข้าใจว่า สุนัขเลี้ยงกับสุนัขนำทางมันไม่เหมือนกัน

ผลตอบรับตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง หลังจากเริ่มทำแคมเปญ ออกรายการโทรทัศน์

ก็มีคนสนใจเพิ่มขึ้นบ้าง คนเข้ามาตามเพจเพิ่มขึ้น ซึ่งยังไงก็ต้องทำไปเรื่อยๆ

แล้วพวกขนส่งมวลชนสาธารณะ อย่าง MRT หรือ BTS เคยลองไปหรือยัง

ถ้าเป็นขนส่งมวลชนเรายังไม่เคยลองไป แต่ดูจากสถานการณ์ที่เจอมา คิดว่าคงไม่แตกต่างกันมาก อาจจะต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ซึ่งเราก็เลยตัดสินใจว่าอยากจะทำเป็นแคมเปญ กระจาย ส่งต่อความรู้และเรื่องราวของสุนัขนำทางก่อน อยากจะสื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเขารับทราบและออกนโยบาย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ด้วย

เคยออกไปไหนมาแล้วบ้าง

จริงๆ ก็กลับมาครั้งแรกตั้งแต่ปิดเทอมที่แล้วก่อนจะเรียนจบ ช่วงธันวา เราก็ไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง ไปวัดในกรุงเทพฯ บ้าง ตอนนั้นไปวัดโพธิ์ เพราะเป็นพื้นที่เปิดกว่า เราก็ขอเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่เขาก็โอเค แค่ขอร้องว่าอย่าพาขึ้นไปบริเวณโบสถ์แค่นั้น

แล้วก็พากันเดินแถวสนามหลวงไปตามฟุตบาธ คนก็จ้อง เราก็ไปห้าง อย่างเมกะบางนา อันนี้เราก็โทรไปขออนุญาตเขา เขาก็ให้เข้า แต่ถ้าเป็นร้านอาหาร อาจจะต้องขอทางร้านอีก มีไปเล่นโบว์ลิ่ง ก็ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกันตลอด ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็คือเขาเป็นไม้เท้าของเรา เหมือนกับว่า ถ้าเราจะไปไหนแล้ว เจ้าหน้าที่มาห้าม ห้ามนำไม้เท้า ห้ามนำวีลแชร์เข้าไป ก็ไม่ได้ เพราะมันคือเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง

ผมชื่อลูเต้อร์

แล้วถ้าไปคนเดียว เคยไหม?

ส่วนใหญ่จะไปกับคุณแม่อยู่ ไม่ได้เกี่ยวกับการมีลูเต้อร์หรือไม่มี แต่หนูยังไม่คุ้นเคยกับการขึ้นรถเมล์

แม่: แต่ถ้าอยู่ในหมู่บ้านนี้ ทรายก็จะไปเดินออกกำลังกายเองอยู่แล้ว แม่ไม่ได้ประกบติดตลอดเวลา แต่ถ้าออกไปข้างนอก เรายังเจอปัญหาเรื่องฟุตบาธ หรือเรื่องหมาจร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ต่อลูเตอร์ หมาจรก็มีหลายประเภท บ้างก็มาเดินดมๆ หรือถ้าไปเจอกลุ่มที่เป็นหมาเจ้าถิ่น ฉะนั้นเราเป็นห่วงความปลอดภัยของลูเตอร์มากกว่าจึงต้องไปไหนมาไหนด้วยกันอยู่

จริงๆ คนตาบอด หลายๆ คนในเมืองไทยที่ยังทำอะไรได้ไม่ถนัด อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนตาบอดเอง แต่เป็นสิ่งที่สังคมยังไม่ซัพพอร์ตเพียงพอ ยังไม่ได้จัดสาธารณูปโภคหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อมและความคิดของคน ที่ยังไม่เอื้อ

ตอนนี้ในไทยมีโรงเรียนฝึกสุนัขแบบลูเต้อร์หรือเปล่า

ตอนนี้ไม่มีเลยค่ะ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราไปพบกับองค์กรที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตผู้พิการ เขาก็เล่าให้ฟังว่าอยากจะทำโครงการสำหรับผู้ที่ใช้สุนัขนำทางเหมือนกัน แต่มันมีความยุ่งยากพอสมควร เขาไปติดต่อโรงเรียนที่ออสเตรเลียฝึกให้แต่ว่าโรงเรียนเขาก็จะมีกฎเยอะมากเลย ถ้าจะให้ฝึกสุนัขนำทางในไทย ก็จำเป็นจะต้องมีพ่อพันธุ์สุนัขนำทาง ไม่ใช่ว่าจะไปนำเอาสุนัขที่ไหนมาฝึกก็ได้ พ่อแม่จะต้องเป็นสุนัขนำทางมาก่อนสองสามรุ่น มันเป็นเกณฑ์ที่เขาวางไว้สำหรับการพัฒนาโรงเรียนฝึกสุนัขนำทาง ซึ่งทางบ้านเราก็ติดตรงนี้ ว่ามันไม่มี ค่าใช้จ่ายก็สูงทีเดียว เพราะการฝึกและการดูแลสุนัขนำทางแต่ละตัวราคาเป็นล้าน

เท่ากับว่าผู้พิการทางสายตาในไทยก็จะใช้ไม้เท้าทั้งหมด ยังไม่มีใครได้ใช้สุนัขนำทาง

ใช่ค่ะ จริงๆ หนูก็ไม่ได้พูดนะคะว่าสุนัขนำทางดีกว่าไม้เท้ายังไงบ้าง หนูไม่ได้คิดว่าอะไรมันดีกว่ากัน เพียงแค่มองว่ามันเป็นตัวเลือก อยากให้คนตาบอดมีตัวเลือกที่มากกว่าไม้เท้า เลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้สุนัขนำทางก็ได้ มีตัวเลือกมากกว่าหนึ่งมันก็ดีกว่า

อยากสื่อสารอะไรบ้างให้ผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ ในประเด็นใช้สุนัขนำทาง

อยากจะย้ำแบบที่เคยบอกไป หนูไม่ได้คิดว่าการใช้สุนัขนำทางดีกว่าการใช้ไม้เท้า มันก็แค่เป็นเครื่องมือที่ต่างกัน เป็นแค่อีกวิธี อีกตัวเลือก ที่เราสามารถเลือกเองได้เพื่อใช้ชีวิตช่วยเหลือตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น เวลาไปไหนมาไหนจะได้ไม่ต้องรอคนตาดีพาไป เรามีอิสระเป็นของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะใช้สุนัขนำทาง ต้องเป็นคนที่สามารถช่วยเหลือหรือเดินทางด้วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งทางโรงเรียนฝึกสุนัขจะเป็นผู้พิจารณา

ดังนั้นสุนัขไม่ได้ช่วยให้เราพึ่งพาตัวเองได้ แต่สุนัขจะช่วยให้เราพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

แล้วในแง่ของความสัมพันธ์ ความเป็นเพื่อนกับเราล่ะ?

มันดีอยู่แล้ว เหมือนการมีสัตว์เลี้ยงอยู่กับเรา มันดีสำหรับสุขภาพจิต ลดความเครียด และเป็นสิ่งที่ทำให้คนกล้าเข้ามาคุยกับเรามากขึ้นด้วย โดยเฉพาะเมืองนอก เมื่อเขาเห็นว่าเราตาบอดเขาก็จะไม่ค่อยกล้าเข้ามาคุยกับเรา เพราะเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ไม่รู้ว่าจะคุยกับคนพิการอย่างไร แต่พอเขาเห็นเรามีสุนัข อย่างน้อยก็ชวนคุยเรื่องสุนัขได้ พอกลับมาที่เมืองไทย ก็ไม่ต่างกัน พอมีลูเต้อร์ ทำให้คนมาสนใจ อยากที่จะเรียนรู้ และเรียนรู้เรื่องคนพิการมากขึ้นไปด้วย

จริงๆ มันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทัศนคติและมุมมองของสังคมที่มีต่อคนพิการ-คนพิการมีต่อสังคม ด้วยใช่ไหม

หนูว่าเป็นเรื่องสำคัญเลย สังคมเรามักมองคนพิการว่าเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เดินทางด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าเชื่อสังคมก็จะไม่มีพื้นที่ให้ คนพิการก็ไม่ได้ฝึกฝนตัวเอง ซึ่งก็ตามมาด้วยเรื่องนโยบายต่างๆ ที่ไม่เอื้อ เพราะสิ่งที่ทำให้หนูมั่นใจขึ้นคือการได้ไปฝึกที่อเมริกา ที่เขาเชื่อว่าคนพิการทำได้ จริงๆ เมืองไทยก็อาจจะมีคนที่เชื่อว่าคนพิการทำได้ แต่ถ้าครอบครัวไม่เชื่อแบบนั้น มันก็จะทำไม่ได้

วางแผนชีวิตหลังจากนี้ไว้อย่างไร

หนูเพิ่งเรียนจบ จะอยู่เมืองไทยอีกประมาณครึ่งปี จากนั้นจะกลับไปฝึกฝนตัวเองเหมือนที่เพิ่งอธิบาย แต่ฝึกในระดับผู้ใหญ่ อีกประมาณหกเดือน แล้วอาจจะไปเรียนต่อปริญญาโท ก็เดินทางไปกับลูเต้อร์และไม้เท้าต่อไป หนูเองก็สนใจเรื่องสุขภาพจิตอยู่แล้ว ไม่แน่ใจว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร แต่ที่เมืองนอก นอกจากการกินยามันจะมีการบำบัดไปด้วย ซึ่งหนูสนใจเรื่องการบำบัดเป็นพิเศษ

คุณแม่กับทราย ต้องการผลักดันเรื่องนี้ให้ไปไกลแค่ไหน

ตั้งใจจะทำไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ได้ทำเพื่อให้แค่ลูกเรา แต่เรามองไปถึงคนอื่นๆ ด้วย ให้นักท่องเที่ยวที่อาจเป็นผู้พิการอื่นๆ ได้เข้ามาที่เมืองไทย รวมถึงมองว่าถ้าเกิดการรณรงค์ให้เปิดใจและเข้าใจกับเรื่องนี้ ก็จะทำให้ทัศนคติด้านอื่นๆ ที่มีต่อผู้พิการดีขึ้น และสังคมก็จะดีขึ้นไปด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องการผลักดันให้เป็นบรรทัดฐาน

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ศิลปศาสตรบัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่สนุกและใส่ใจกับทุกงาน ไล่ตั้งแต่งานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า