คุยกับผู้สร้างแอพพลิเคชั่นพรรณนา โวหารที่ทำให้คนตาบอดดูหนังในโรงภาพยนตร์

แอพพลิเคชั่นพรรณนา (Pannana) เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นนวัตกรรมที่มีจุดเริ่มต้นจากไอเดียง่ายๆ อยากให้เพื่อนที่เป็นผู้พิการทางสายตาได้เข้าไปรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ด้วยกัน ช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มสร้างนวัตกรรมนี้มีผู้ใช้งานไปแล้วหมื่นกว่าคน แม้ยังไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้พิการทางการมองเห็นที่มีเกือบสองแสนคนทั่วประเทศ แต่นวัตกรรมนี้กลับสะท้อนพลังที่ยิ่งใหญ่ออกมามากกว่านั้น 

“การดูหนังสำหรับบางคนมันเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่อย่างน้อยมันแสดงให้เห็นว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

WAY พูดคุยกับ ต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้ง ‘กล่องดินสอ’ องค์กรที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม เป็นผู้สร้างแอพพลิเคชั่นพรรณนา (Pannana) ขึ้นมา เขาใช้สโลแกนประจำองค์กรที่ว่า ‘Friendship Beyond Different’ ยึดเป็นกำแพงพิงหลังไว้ในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งมีจุดหมายคือการมองทุกคนเป็น ‘เพื่อน’ โดยก้าวข้ามความแตกต่างระหว่างบุคคล 

แอพพลิเคชั่นพรรณนา (Pannana) ตอบโจทย์ชีวิตผู้พิการอย่างไร

แต่ก่อนการรับชมหนังของคนตาบอด มันก็ทำได้นะ แต่อยู่ในลักษณะของการปิดโรงภาพยนตร์เพื่อเข้าไปรับชม หรือการจัดรอบพิเศษให้เฉพาะคนตาบอดโดยเฉพาะ ซึ่งใช้ต้นทุนเยอะมาก เราจึงคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนตาบอดสามารถดูหนังได้ทุกที่ ดูพร้อมกับคนตาดี เราจึงเกิดไอเดียถ้าเราผลิตแอพพลิเคชั่นขึ้นมา เราจึงทดลองอยู่นาน คุยกับ developer มากมาย จึงเคาะเป็นไอเดียว่าเราต้องทำผ่านระบบเสียงบรรยายภาพ (Audio Description: AD) หัวใจหลักของการใช้เสียงบรรยายภาพคือการใช้ช่องว่างที่ตัวละครในหนังไม่ได้สนทนา อาจเป็นช่วงฉายภาพวิวทิวทัศน์ เป็นฉากขับรถ ตรงนี้เสียงจะเข้าไปทำงาน เช่น การพากย์ว่าตอนนี้พระเอกกำลังเดินเข้ามา นางเอกก้มลงหยิบของ นางเอกมองไปที่ประตู

ถ้ามีตัวช่วยแบบนี้แสดงว่าผู้พิการทางสายตาทุกคนก็เข้าไปดูหนังได้สบายๆ

การไปดูหนังมันมี journey ของมันนะครับ ตอนนี้เราแก้ปัญหาได้เปลาะเดียวเท่านั้น เราแค่ทำให้คนตาบอดดูหนังได้ผ่านแอพพลิเคชั่นที่เราพัฒนาเท่านั้น แต่การที่เขาจะออกจากบ้านเดินทางไปที่โรงหนังอย่างไร เขาจะเดินทางโดยวิธีไหน เขาจะขึ้นรถอย่างไร เรื่องแบบนี้เรายังแก้ไขไม่ได้ ซึ่งมันไม่ได้หมายถึงว่าแค่เราที่ต้องทำ มันต้องมีทุกภาคส่วนช่วยกัน

การพากย์ในแอพพลิเคชั่นพรรณนา ทำอย่างไรบ้าง

You say You see เห็นอะไรก็พูดอย่างนั้น สมมุติในฉากเห็นนางเอกน้ำตาไหล เราก็ต้องพูดว่านางเอกน้ำตาไหล เราจะบอกว่านางเอกเศร้าไม่ได้ ความยากของการพากย์เสียงให้คนพิการทางสายตาฟังจึงอยู่ที่การจัดสรรช่องไฟของการบรรยายให้เหมาะสม มันสั้นมาก เพียงแค่ 3-5 วินาที ดังนั้นคนที่พากย์จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในฉากนั้นอะไรคือหัวใจสำคัญ ถอดให้ได้ว่าจะต้องพูดอะไร และต้องพูดอย่างไร โดยให้กระชับบทได้ภายในเวลาสั้นๆ และยังต้องสื่อสารในสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะบอกอีกด้วย ในกรณีค่ายหนังที่เราเป็นพันธมิตรด้วย เช่น GDH เขาจะให้ทีมเขียนบท ลงมือเขียนบท AD เอง ข้อดีคือเขาสามารถสื่อสารเนื้อเรื่องออกมาได้อย่างแม่นยำ แต่บางครั้งก็ต้องระวังน้ำเสียงในการเล่าไม่ให้ชักจูงมากเกินไป 

อะไรคือความยากของการสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อทำให้คนตาบอดดูหนังได้

ต้องบอกเลยว่าความยากของการทำแอพพลิเคชั่นพรรณนา มันไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่ความยากคือคน

การดูหนังสำหรับบางคนมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ การเข้าไปดูหนังของใครสักคน ไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตใครอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยมันแสดงให้เห็นว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้กระทั้งเรื่องดูหนังเรายังสนใจเขาเลย มันมีเมสเสจที่ซ่อนอยู่และต้องการขยายออกไปมากกว่าแค่แอคชั่นของการดูหนัง 

ถึงแม้จะมีความไม่มั่นใจในช่วงแรกๆ หลายฝ่ายกังวลว่าเราจะทำได้ไหมและมันจะออกมาในรูปแบบไหน จะพากย์เสียงตรงกับบทหรือเปล่า มันอาจจะเสียถึงหนังต้นฉบับ การพากย์มันต้องอาศัยความแม่นยำ เรามีเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการพากย์ระหว่างไดอะล็อกของคู่สนทนาในเรื่อง ดังนั้นมันต้องเป๊ะมากเลย จำได้ว่าวันแรกที่เราเทสต์กัน โห…ปัญหาเยอะมาก พากย์ก็ยาก คนพิการบางคนก็ไม่มีแอพพลิเคชั่น โทรศัพท์ก็มีทั้งระบบปฏิบัติการ Android, iOS รวมไปถึงปฏิกิริยาของคนตาดีเมื่อเห็นคนพิการทางสายตาเข้าไปดูหนัง ที่มักทำตัวไม่ถูก หรือคนพิการทางสายตาเองที่เขาไม่เคยเข้าโรงหนัง เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ต้องปิดหน้าจอมือถือไหม คุยในโรงหนังได้ไหม อยู่ๆ อยากยืนก็ยืน คือมันเยอะไปหมด แต่ทุกฝ่ายต้องค่อยๆ เรียนรู้กันและกัน จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ความยากและอุปสรรคคือคน

ทราบมาว่าหนังที่พรรณนาเลือกบรรยาย เป็นหนังใหม่ชนโรง?

เราตั้งใจนะ การทำให้หนังใหม่ที่กำลังฉายให้มีระบบสำหรับคนพิการได้ เมสเสจยิ่งใหญ่นะ มันหมายถึง เราไม่ต้องซ่อน ไม่ต้องปิดโรงหนังเพื่อคนพิการทางสายตา เราสามารถดูหนังได้พร้อมกันทั้งคนตาดีและคนตาบอด ดังนั้นเราพยายามทำงานหนักกับค่ายหนัง เราขอหนังเขามาดูเพื่อทำการบ้านและลงเสียงก่อน มันจะได้ทันกับการฉายในโรง 

ได้คุยกับกลุ่มคนพิการทางสายตาในฐานะ User ไหม เขามีฟีดแบ็คอย่างไร

เขาดีใจมาก หลายๆ คนบอกว่า ‘นี่คือครั้งแรกที่เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม’ เพราะที่ผ่านมาเขาโดนแยกมาตลอด เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งเลย วันนี้เขาได้ดูหนังในรอบเดียวกันกับคนตาดี บางครั้งการออกแบบเทคโนโลยีอะไรสักอย่างเพื่อคนพิการมันก็ทำให้เขารู้สึกแปลกแยก แต่การได้เข้ามาดูในโรง นั่งกับคนตาดีด้วยกันเขารู้สึกดีมาก 

ศาสตร์ Audio Description ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย?

ถามว่าใหม่ไหม…ก็ไม่ แต่ไม่แพร่หลาย คนให้ความสนใจน้อย ขนาดตาม Free TV ในบ้านเรายังเห็นการบรรยายภาษามือไม่ครบทุกช่องเลย 

การที่บอกว่าไม่แพร่หลาย เพราะสังคมมองไม่เห็นกลุ่มผู้พิการทางสายตาหรือเปล่า

ใช่เลยครับ การที่สังคมมองว่าคนพิการเป็นกลุ่มที่แตกแยกออกมามันเป็นส่วนหนึ่งเลยนะ ประเด็นนี้อาจจะต้องย้อนไปถึงอดีต เรื่องศาสนา เรื่องบาปบุญ เรื่องผลกรรม ‘คุณเป็นคนพิการแบบนี้เป็นเพราะเวรกรรมไง’ ฐานของความคิดตรงนี้ส่งผลกระทบเยอะ แต่ก่อนถ้าใครมีลูกพิการก็ต้องเก็บซ่อนไว้ในบ้าน เพราะเขารู้สึกอับอายที่มีลูกหลานเป็นคนพิการ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ภาพเหล่านั้นมันก็จางลง แต่ในบางพื้นที่ก็ยังคงติดอยู่ ดังนั้นเวลาคนพิการเดินไปไหนมาไหน มักจะมีสายตาบางอย่างที่มองเขา ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นตัวประหลาดจากสายตาของคนในสังคมอยู่ เขาเป็นกลุ่มส่วนน้อยที่ไม่มีใครสนใจ

เราจะเห็นจากละคร หนัง ที่มักนำเสนอว่าตัวร้ายสุดท้ายก็ต้องโดนลงโทษ ไม่ตายก็พิการ ไม่ต่างจากบทคนพิการที่ยังอยู่ในความทรงจำของทุกคนอย่างชายน้อยในเรื่องบ้านทรายทอง ดูช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นเป้าโดนรังแกตลอด ต้องรอคนคุ้มครอง นี่จึงสะท้อน mindset เรื่องคนพิการของคนไทยส่วนใหญ่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้เลย

ดังนั้นผมจึงมักพูดเสมอว่า ‘ถ้าคุณมีเพื่อนเป็นคนพิการ ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลง’ เพราะเมื่อคุณเป็นเพื่อนกัน เรื่องของเพื่อนจะกลายเป็นเรื่องของเรา มันกลายเป็นเรื่องของเพื่อนเรา ทัศนคติหรือความคิดก็จะเปลี่ยนไป

ในอดีตสังคมมองคนพิการด้วยชุดความคิดหนึ่ง แต่ตอนนี้ปี 2020 แล้ว ชุดความคิดนั้นมันเปลี่ยนไปไหม 

มันดีคือขึ้น แต่มันดีขึ้นเพราะเป็นผลพลอยได้จากอย่างอื่น เมื่อเราพูดถึง Inclusive Society หรือ สังคมเพื่อคนทั้งมวล ในระดับ global scale อันดับแรกคือการนึกถึงเรื่องของคนผิวสี ลำดับสองคือ women คือเรื่องสิทธิสตรี ความเท่าเทียมกัน ลำดับต่อไปคือคนพิการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุกอย่างมันเริ่มมีแนวโน้มมาแล้ว สังเกตได้จากหลายๆ แบรนด์ก็มีนโยบายที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนพิการมากขึ้น

ในประเทศไทยถือว่าเรามีกฎหมายที่ดีพอสมควร กฎหมายเพื่อคนพิการบ้านเราดีมาก แต่ในทางปฏิบัติอีกเรื่องหนึ่ง แต่โชคดีที่คนไทยเป็นคนที่จิตใจดี ชอบช่วยเหลือ แต่บางครั้งก็ดีเกินไปจนกลายเป็นการสงเคราะห์และการทำบุญ ซึ่งความคิดที่ว่านี้มันทำให้รู้สึกว่าคนพิการกลายเป็นคนที่ต้องรอคอยและรอรับตลอดเวลา มันก็ไม่ต่างจากภาพจำในอดีต 

ผมเคยคุยกับเพื่อนศาสนาอิสลาม เขาบอกว่า ‘ในศาสนาอิสลามการที่คุณเป็นคนพิการ นั่นแปลว่าคุณได้รับ challenge จากพระเจ้า’ เห็นไหมว่าในเมื่อต้นต่อทางความคิดมันไม่เหมือนกัน ความบาปบุญและ challenge เรื่องแค่นี้มันส่งผลให้มุมมองทางสังคม การใช้ชีวิต mindset ของคนพิการที่มองตัวเอง รวมถึงคนทั่วไปที่มองพวกเขามันเปลี่ยนไปด้วย ผมว่าศาสนาเป็นปัจจัยในการ influence ความคิดของมนุษย์มากพอสมควร

เทคโนโลยีช่วยให้คลี่คลายหรือเชื่อมโลกให้เราเข้าไปหาคนพิการได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น มักเป็นเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ เช่น Grab ที่มีฟังก์ชั่นในการระบุตำแหน่งยืนรอ เพื่อให้คนพิการที่มีปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาเพราะคนพิการออกมาเรียกร้องและมันถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนคนอื่นได้ประโยชน์ อย่างที่บอกไปเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุดที่จะพัฒนาและทำให้ทุกคนได้ benefit ร่วมกัน แต่โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ผู้มีอิทธิพลหันมาร่วมมือกันเพื่อทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นจริง ไม่ต่างจากแอพพลิเคชั่นพรรณนา การพัฒนาเป็นส่วนที่ง่ายที่สุด แต่โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้โรงหนังทุกค่ายยอมรับ ทำอย่างไรให้คนตาดีนั่งร่วมกับคนตาบอดโดยไม่รู้สึกแปลก นี่คือส่วนที่ยากกว่า

คุณเริ่มเข้ามาทำงานประเด็นผู้พิการได้อย่างไร

กล่องดินสอทำงานในประเด็นผู้พิการทุกประเภท ไม่เพียงเฉพาะผู้พิการทางสายตาเท่านั้น จุดเริ่มต้นของกล่องดินสอเริ่มเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ผมเรียนได้มีโอกาสเป็นอาสาสมัครไปสอนการบ้านเด็กๆ น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางสายตา จากประสบการณ์ตรงนั้นทำให้เรารู้สึกว่าการเรียนของเด็กตาบอดยากมากเลย เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเราจะอธิบายเรื่องนี้หรือสิ่งนี้อย่างไรให้เขาเข้าใจ เพราะโดยปกติแล้วมนุษย์มักเป็น visual learner เราเรียนรู้แบบใช้การจำเป็นภาพ ถือเป็นการเรียนรู้ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของมนุษย์เลยก็ว่าได้ คำถามคือในเมื่อเขามองไม่เห็นแล้วเราจะทำอย่างไรให้คนตาบอดเรียนรู้สิ่งนี้ได้ ฉะนั้นต้องมีสื่อกลางเข้ามาช่วย สื่อที่ว่าก็ต้องมาจากครูผู้สอนเท่านั้น มันจึงทำให้มองเห็นว่าเราน่าจะช่วยตรงนี้ได้ อีกอย่างหนึ่งเราเห็นความสำคัญของการศึกษามาก เราคิดว่าการศึกษามันเปลี่ยนชีวิตคนได้นะ เราเลยตัดสินใจตั้งแต่วันนั้นว่าเราจะทำสื่อการสอนเพื่อมาให้น้องได้ใช้ 

จึงนำไปสู่การออกแบบสื่อการสอน ‘เรื่องเส้น’ โปรเจ็คต์แรกๆ ที่กล่องดินสอทำ โดยเราใช้เส้นไหมพรมกลิ้งบนแผ่นหนามเตย ให้เกิดเป็นเส้น เป็นรูปร่างขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากเรื่องนี้คือเชื่อว่าทุกคนก็น่าจะจินตนาการไม่ออกว่าเด็กตาบอดจะวาดรูปได้อย่างไร แต่เฮ้ย…เขาวาดได้ มันเลยทำให้เราทบทวนได้ว่าสิ่งที่ทำให้เขาทำไม่ได้คือการที่เขาไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมหรือเปล่า ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี ใช้เครื่องมือ สร้างองค์ความรู้ จึงเป็นธงและวิธีการในการทำงานของกลุ่มกล่องดินสอ

เมื่อเราทำโปรเจ็คต์นี้ไปได้สักพัก เราสำรวจพบว่าความฝันของเด็กๆ เหล่านี้ กลับไม่ได้อยากเป็นวิศวกร นักบินอวกาศ เขาให้คำตอบว่าเขาอยากเป็นคนขายลอตเตอรี่ อยากเป็นคอลเซ็นเตอร์ อยากเป็นหมอนวด 3 อาชีพนี้เป็นอาชีพในฝันของพวกเขา พอเราได้ยินรู้สึกเศร้า ไม่ได้หมายความว่า 3 อาชีพนี้ไม่ดีนะ แต่เศร้าเพราะทำไมอาชีพในฝันของพวกเขามีแค่นี้ 

ผมจึงกลับไปคิดจริงจังว่า จริงๆ แล้วปัญหาการศึกษามันไม่ใช่เพราะเขาไม่มีสื่อการสอน ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีโรงเรียน แต่พวกเขาไม่มีเหตุผลในการเรียนต่างหาก เขาจึงเรียนๆ ไปตามเท่าที่พื้นฐานขั้นต่ำกำหนด แต่ถ้าเราคิดไกลกว่านั้น หากว่าเราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน เราต้องทำเรื่องอื่นควบคู่ด้วย นับจากวันนั้นเราจึงเปลี่ยนความคิดตัวเองไป เราอยากสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ แต่แน่นอนก็ยังคงไม่ทิ้งเรื่อง การศึกษา การสร้างอาชีพ รวมไปถึงสร้างสังคม ทั้งสามก้อนนี้ยังคงเป็นสามโมดูลใหญ่ๆ เพื่อให้เราเดินไปตามเป้าหมายเดียวกันได้

ที่ผ่านมาของกลุ่มกล่องดินสอทำงานกับผู้พิการในเรื่องใดบ้าง

โปรเจ็คต์ที่ผ่านมา เราเคยทำทั้งเรื่องสื่อการเรียนรู้ การสอนวาดเส้น การชวนคนพิการออกมาวิ่งด้วยกัน การปั่นจักรยาน การออกมาเต้นด้วยกัน มาเข้าครัวด้วยกัน เพื่อออกแบบวิธีให้คนตาบอดสามารถทำอาหารได้อย่างปลอดภัย เรียนรู้ในการหั่นอาหาร การจับมีด การตวง การจัดห้องเรียนกราฟิกให้คนหูหนวก การจ้างงาน การนำคนพิการมาเป็นกลุ่มอาสาสมัคร และสร้างพัฒนาแอพพลิเคชั่นพรรณนา ที่พาผู้พิการทางสายตาเข้ามาดูหนังในโรง

แน่นอนว่าเป้าหมายของกิจกรรมส่วนใหญ่มันคือการพาไปออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เต้น ปั่น ที่เราทำด้วยกัน ผลพลอยได้ของมันคือทำให้เราเห็นความสัมพันธ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เราเห็นความเป็นเพื่อน เราเห็นทุกคนสนุกสนาน เกิดการแลกเปลี่ยน ซึ่งพอคนเป็นเพื่อนกัน เราจะรู้สึกในเรื่องของเขามากขึ้น จากเดิมที่เราเคยรู้สึกว่า ‘อ๋อ คนพิการไม่มีลิฟต์ลงจากรถไฟฟ้ามันไม่ใช่เรื่องของฉัน’ แต่เมื่อเราเป็นเพื่อนกันแล้ว ปัญหานั้นจะกลายเป็นเรื่องของเพื่อนเราทันที เราจึงพยายามออกแบบกิจกรรมต่างๆ โดยปักธงที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ให้คนไม่พิการ-คนพิการ มาเป็นเพื่อนกันมากกว่า

ตลอดเวลาที่ทำงานคลุกคลีกับประเด็นนี้มันเติมเต็มอะไรในตัวเองบ้าง

เรารู้สึกดีกับตัวเองนะ เราอยากตื่นมาทำงานทุกวัน เรารู้สึกว่างานที่เราทำมันมีคุณค่ากับคนอื่น มันทำให้เพื่อนเรามีชีวิตดีขึ้น เราไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ เราทำไปเพื่อใครก็ไม่รู้ เราทำงานเพื่อเพื่อนของเราเอง มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องจัดการเนอะ การทำให้คนพิการกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมันเป็นธงที่ใหญ่มาก ซึ่งกล่องดินสอทำไม่ไหวหรอก

กล่องดินสออาจจะเป็นต้นแบบทางแนวคิด ทางอุปกรณ์ เพื่อให้คนอื่นเห็นว่ามันเป็นไปได้นะ แค่ปรับวิธีคิดหรือใช้เครื่องมือให้เหมาะสม ดังนั้นเป้าหมายของบริษัทกล่องดินสอ จึงกลายเป็นบริษัทที่เปิดเพื่อปิด เราอยากแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืนจริงๆ เราต้องสร้าง system ขึ้นมาก่อน เพื่อให้คนอื่นเอาไปทำ จนวันหนึ่งคนพิการอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติและมีความสุข จนวันนั้นกล่องดินสอก็คงไม่อยู่แล้ว 

5 ปีผ่านไป ก้าวเข้าปีที่ 6 กล่องดินสอในฐานะผู้ขับเคลื่อนประเด็นผู้พิการยังอยากทำเรื่องอะไรอีกไหม

เยอะมาก (หัวเราะ) แต่ต่อไปคงเน้นเรื่อง data มากขึ้น เราคิดว่า data เรื่องคนพิการในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง

เอาเข้าจริง เราไม่รู้เลยว่าประเทศไทยมีคนพิการเป็นใครบ้าง เขาอยู่ที่ไหน ชีวิตเขาเป็นอย่างไร ซึ่งประโยชน์ของการเก็บ data จะทำให้เราวางแผนหรือออกแบบนโยบายได้ดีขึ้น เช่น รัฐบาลซื้อรถเมล์ชานต่ำมา คำถามคือรถเมล์คันนั้นควรจะต้องวิ่งในเส้นทางไหน สายไหนที่คนพิการจะขึ้นมากที่สุด เราต้องดูว่าเขตไหนที่มีคนพิการอยู่เยอะ เขาประกอบอาชีพอะไร รายได้เท่าไหร่ เขาเดินทางอย่างไร เขาอยู่กับใคร ซึ่งเราเชื่อว่า data ทั้งหมดทั้งมวลจะนำไปสู่การวางแผนต่างๆ ได้ในอนาคต

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

ปฏิภัทร จันทร์ทอง
เคยทำงานภาพข่าวที่ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นสมาชิก Realframe และ TNP ยังคงทำงานถ่ายภาพและรับจ้างทั่วไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า