ปิดฉากวัฒนธรรมกินเนื้อสุนัขในเกาหลีใต้ จากวิถีชีวิตสู่กิจกรรมผิดกฎหมาย

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ภายในสิ้นปีนี้การกิน ‘เนื้อสุนัข’ ที่เป็นวัฒนธรรมยาวนานของชาวเกาหลีใต้ จะกลายเป็นกิจกรรมผิดกฎหมาย เมื่อรัฐบาลประกาศเตรียมนำร่างกฎหมายห้ามการกินเนื้อสุนัขเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและประกาศให้มีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้ โดยคาดหวังว่าภายปี 2027 การกินเนื้อสุนัขต้องหมดไปจากประเทศเกาหลีใต้อย่างถาวร 

เรียกว่าเป็นการขุดรากถอนโคนวัฒนธรรมที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมานานกว่า 2,000 ปี ของประเทศเลยทีเดียว 

เกิดอะไรขึ้นกับวัฒนธรรมการกินเนื้อสุนัขที่แข็งแกร่งและไม่แคร์โลกของชาวเกาหลี ที่แม้จะถูกกดดันอย่างหนักผ่านเวทีระดับโลกมาไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง คือเมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกร่วมกับญี่ปุ่นในปี 2002 และการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ก็ยังสามารถรักษาวิถีการกินเนื้อสุนัข ที่ทำให้อุตสาหกรรมเนื้อสุนัขเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไว้ได้ แต่ปี 2023 นี้ แม้ไม่มีแรงกดดันจากประชาคมโลก แต่กลับมีแนวโน้มที่จะสามารถยุติการส่งต่อวัฒนธรรมนี้ไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งได้

การเดินทางของวัฒนธรรมการกินเนื้อสุนัข จากเครื่องสังเวยสู่เมนูสุขภาพ

จริงๆ แล้วการกินเนื้อสุนัขในเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นกิจวัตรประจำวันหรือวิถีชีวิตปกติของคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่และไม่ใช่ทุกคนจะกินเนื้อสุนัข แต่การกินเนื้อสุนัขในเกาหลีใต้สืบทอดมายาวนานและเป็นอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมการกินเนื้อสุนัขเหมือนกัน เช่น เวียดนาม จีน

เท่าที่นักประวัติศาสตร์เกาหลีสืบค้นได้ การกินเนื้อสุนัขน่าจะเริ่มมาจากพิธีกรรมสมัยที่จักรวรรดิเกาหลียังอยู่ภายใต้การปกครองของจีน ประมาณ 670 ปีก่อนคริสต์ศักราช ผู้ปกครองคาบสมุทรเกาหลีชื่อ ฉิน เต๋อกง (Qin Degong) ได้นำเนื้อสุนัขเป็นเครื่องสังเวยเทพเจ้าที่พิทักษ์ประตูเมืองทั้ง 4 ทิศ ในช่วงฤดูร้อน เพื่อขอพรให้ปกป้องเมืองจากความร้อนและโชคร้ายต่างๆ กล่าวกันว่าพิธีกรรมนี้ทำให้ชาวเกาหลีเริ่มกินเนื้อสุนัขตั้งแต่นั้นมา โดยได้รับความนิยมมากในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะช่วงที่เรียกว่า ‘บกนัล (복날)’ ซึ่งหมายถึง ช่วงเวลา 3 วันที่ร้อนที่สุดในฤดูร้อน ได้แก่ ‘โชบก (초복)’ คือวันเริ่มต้นที่อากาศร้อน ‘ชุงบก (중복)’ คือช่วงกลางฤดูร้อน และ ‘มัลบก (말복)’ คือวันสิ้นสุดของอากาศร้อน ระยะเวลาของวันบกนัลจะยาวประมาณ 20 วัน กำหนดโดยการนับปฏิทินตามจันทรคติ ซึ่งแต่ละปีจะไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ช่วงบกนัลคนเกาหลีใต้จะบริโภคเนื้อสุนัขเพิ่มมากขึ้นถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคในช่วงเวลาอื่นของปี 

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การกินเนื้อสุนัขจะอยู่คู่สังคมเกาหลีใต้มานับพันปี มีฟาร์มเพาะสุนัขเพื่อทำเป็นอาหาร มีโรงฆ่าและชำแหละเนื้อสุนัขโดยเฉพาะ และทุกขั้นตอนดำเนินไปอย่างเปิดเผย แต่รัฐบาลไม่เคยออกกฎหมายรองรับว่าเนื้อสุนัขเป็น ‘เนื้อสัตว์’ (meat) ที่สามารถฆ่าเพื่อเป็นอาหารได้ แม้ตัวสุนัขตามกฎหมายของเกาหลีใต้จะอยู่ในหมวด ‘ปศุสัตว์’ ก็ตาม

การกินเนื้อสุนัขเป็นวัฒนธรรมภายในของเกาหลีมาอย่างต่อเนื่อง พลวัตทางความคิดที่มีต่อการกินเนื้อสุนัข เป็นกลไกสำคัญในการรักษาและส่งต่อวัฒนธรรมนี้จากรุ่นสู่รุ่น จากความเชื่อในการบูชาเทพเจ้า ขยายมาสู่แนวคิดด้านสุขภาพ เช่น การเชื่อว่ากินแล้วจะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า แข็งแรง ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย จนมาถึงแนวคิดปัจจุบันที่เนื้อสุนัขขยับชั้นสู่การเป็น ‘อาหารพิเศษ’ ที่มีคุณสมบัติเป็นยา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลำไส้ กระเพาะอาหาร และหลอดเลือด ไปจนถึงผ่อนคลายไขกระดูก 

ปี 1981 การกินเนื้อสุนัขของชาวเกาหลีใต้ถูกจับจ้องจากสายตาชาวโลก เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากลประกาศให้เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1988 

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์ในหลายประเทศร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการกินเนื้อสุนัขของเกาหลี ไปจนถึงกับรณรงค์ให้มีการบอยคอตโอลิมปิกกรุงโซล รัฐบาลทหารของเกาหลีในขณะนั้นจึงประกาศทันที ห้ามการกินเนื้อสุนัขในพื้นที่เมือง โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว การประกาศครั้งนั้นมีนัยที่ชวนให้เชื่อได้ว่า ไม่ได้ต้องการจำกัดหรือห้ามการกินเนื้อสุนัขจริงๆ รัฐบาลทหารเพียงแค่ต้องการแก้ภาพลักษณ์ที่เสียหายของประเทศและรักษาฐานะการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเสียมากกว่า เพราะภัตตาคารต่างๆ ยังคงเสิร์ฟอาหารที่ทำจากเนื้อสุนัขเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ไม่มีการติดป้ายโฆษณาหน้าร้าน และชื่อเมนูต่างๆ ถูกเปลี่ยน ไม่มีคำว่า ‘เค (개)’ ซึ่งแปลว่าสุนัข แต่ใช้ชื่ออย่างอื่นที่แสดงให้เห็นว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพแทน 

ปลายทศวรรษ 1990 การกินเนื้อสุนัขของชาวเกาหลีใต้กลายเป็นประเด็นของชาวโลกอีกครั้ง เมื่อเกาหลีใต้ได้รับอนุมัติให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2002 ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้มีโครงสร้างทางสังคมต่างจากทศวรรษ 1980 มากมาย ทั้งการเมืองการปกครองที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขยับขึ้นสู่กลุ่มประเทศร่ำรวย อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทเชื่อมผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน ภาพลักษณ์ที่แสดงถึงความแข็งแกร่งของประเทศ รวมถึงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเกาหลีใต้ในเวทีโลก เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ประกอบกับความทะเยอทะยานของรัฐบาลในช่วงนั้นที่มีแผนการใหญ่ต้องการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งมหาอำนาจของโลกที่เกิดจากความเข้มแข็งภายในประเทศ รัฐบาลจึงไม่ได้เดินตามเสียงเรียกร้องของโลกที่แม้จะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านการกินเนื้อสุนัขรุนแรงกว่าในทศวรรษ 1980 มีทั้งการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี วิพากษ์วัฒนธรรมการกินเนื้อสุนัขว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ป่าเถื่อน มีการรณรงค์ให้บอยคอตสินค้าเกาหลีใต้ในตลาดโลก แต่ยิ่งโลกรุมเกาหลีใต้เท่าไร ความรู้สึกรักชาติรักวัฒนธรรมของชาวเกาหลีใต้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสมรภูมิสำคัญของวิวาทะว่าด้วยการกินเนื้อสุนัข 

นอกจากเนื้อหาการเชิดชูการกินเนื้อสุนัขว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นนับพันปี เกรียนคีย์บอร์ดของเกาหลีใต้ในยุคนั้นยังขยายประเด็นตอบโต้การไม่มีวัฒนธรรมการกินอาหารของชาติตะวันตก รวมถึงวิพากษ์ชาวตะวันตกที่ต่อต้านการกินเนื้อสุนัขว่าเป็นแนวคิดของคนขาวที่เหยียดเชื้อชาติ ในตอนนั้นว่ากันว่าวิวาทะเรื่องการกินเนื้อสนุนัขบนโลกออนไลน์ ดุเดือด สนุกสนาน และสร้างความตื่นเต้นให้กับประชาคมโลกในตอนนั้น พอๆ กับการแข่งฟุตบอลโลกเลยทีเดียว 

การถูกโลกตะวันตกรุมโจมตีในครั้งนั้นทำให้วัฒนธรรมการกินเนื้อสุนัขของเกาหลีใต้แข็งแกร่งขึ้น เริ่มมีการพูดคุยกันถึงการออกกฎหมายเพื่อให้เนื้อสุนัขถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘เนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค’ (meat) อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งปรากฏว่าประชาชนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนแนวคิดนี้ 

จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ จากสัตว์อาหารสู่สัตว์เลี้ยง

ในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 20-21 ระหว่างที่เกาหลีใต้กำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขนานใหญ่ ทำให้ชาวเกาหลีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเปิดรับวัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงจากตะวันตกเข้ามามากขึ้น คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเริ่มนิยมนำเข้าสุนัขเลี้ยงสายพันธุ์ต่างๆ จากต่างประเทศ มุมมองต่อสุนัขในกลุ่มคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากสัตว์ที่เลี้ยงเป็นอาหาร เปลี่ยนเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนของมนุษย์ กระแสการเลี้ยงสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงเกิดและเติบโตขึ้นไล่ๆ กับช่วงที่มีกระแสชาตินิยมปกป้องการกินเนื้อสุนัขในฐานะวัฒนธรรมการกินอาหารของเกาหลี แม้ในความเป็นจริงจำนวนผู้กินเนื้อสุนัขจะลดลงแล้วก็ตาม

ช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2002 ไม่นาน มีการสำรวจความเห็นชาวเกาหลีออนไลน์ พบว่า 43 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าไม่กินเนื้อสุนัข แต่ก็มองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องต่อต้านวัฒนธรรมนี้ ขณะที่อีก 42 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตนเองยังกินเนื้อสุนัขอยู่

กระแสการเลี้ยงสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 หรือในช่วงของการเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก แฟชั่นการหาเสียงของนักการเมืองจะต้องมีนโยบายที่เกี่ยวกับการลดทอนความเข้มข้นของการกินเนื้อสุนัขเป็นองค์ประกอบด้วยเสมอ ตั้งแต่นโยบายที่กระทบต่อการกินเนื้อสุนัขในระดับเบา เช่น การจะออกกฎหมายควบคุมการฆ่าและชำแหละเนื้อสุนัข เพื่อลดทอนการทารุณต่อสุนัข การควบคุมคุณภาพตลาดขายเนื้อสุนัข และร้านอาหารที่เสิร์ฟเมนูสุนัข ไปจนถึงเสนอการออกกฎหมายห้ามกินเนื้อสุนัข และการสั่งปิดร้านอาหารที่มีเมนูสุนัขทั้งหมด แต่ก็ยังไม่มีนโยบายใดที่สามารถทำได้จริง การกินเนื้อสุนัขยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินอาหารของเกาหลี

ฟาร์มสุนัข | photo: koreatimes.co.kr

ต่อมา หลายรัฐบาลเริ่มจับมือกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านสิทธิสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่จะช่วยลดขนาดของอุตสาหกรรมเนื้อสุนัข โครงการที่โด่งดัง ได้แก่ Models for Change ของรัฐบาล ภายใต้การนำของประธานาธิบดี พัก กึนฮเย (Park Geun-hye) ในปี 2015 ที่เปลี่ยนฟาร์มเนื้อสุนัขเป็นการทำเกษตรอย่างอื่น เช่น ปลูกผัก โดยรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยสำหรับการเปลี่ยนอาชีพให้ และมีฟาร์มสุนัขจำนวน 18 ฟาร์มจากกว่า 1,150 แห่งเข้าร่วม ส่วนสุนัขในฟาร์มรวมทั้งหมดประมาณ 2,700 ตัว ถูกส่งไปยังบ้านประชาชนเพื่อเลี้ยงทั้งในและนอกประเทศ ประเทศที่เข้าร่วมโครงการรับสุนัขไป เช่น อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ 

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงหลังผู้นำที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชนให้เข้ามาเป็นประธานาธิบดี ล้วนมีพื้นฐานรักสัตว์โดยเฉพาะสุนัข ไม่ว่าจะเป็น มุน แจอิน (Moon Jae-in) ที่พยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายห้ามกินเนื้อสุนัขในปี 2021 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ยุน ซอกยอล (Yun Seok-yeol) ที่เลี้ยงสุนัขที่บ้านถึง 8 ตัว และเป็นผู้เตรียมประกาศให้การกินเนื้อสุนัขต้องหมดไปจากเกาหลีใต้ภายในปี 2027 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จ

photo: koreatimes.co.kr

ความนิยมเลี้ยงสุนัขในเกาหลีเพิ่มมากขึ้นทุกปี คาดการณ์ว่าปัจจุบันคนเกาหลีใต้ใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลสุนัขประมาณเดือนละ 117,000 วอน (ประมาณ 3,145 บาท) ตลาดสุนัขเลี้ยง ซึ่งรวมอุปกรณ์และกิจกรรมอื่นๆ สำหรับสุนัข เช่น โรงพยาบาล ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร สวนสนุก ไปจนถึงธุรกิจงานศพสุนัข ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านวอน (ประมาณ 32 ล้านบาท) และเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีจำนวนสุนัขในฐานะสัตว์เลี้ยงในบ้านประมาณ 6 ล้านตัว หรือทุก 5 หลังคาเรือน ต้องมีคนเลี้ยงสุนัขอย่างน้อย 1 ตัว เมื่อคนเป็นเจ้าของสุนัขเพิ่มมากขึ้น การไม่อยากเห็นสุนัขถูกฆ่าเป็นอาหารก็ลดลง 

ปี 2022 มีการสำรวจความเห็นชาวเกาหลีเกี่ยวกับการกินเนื้อสุนัขพบว่า มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้กินเนื้อสุนัขในปีที่ผ่านมา ลดลงจากการสำรวจในปี 2015 ถึง 27 เปอร์เซ็นต์ และประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 64 เปอร์เซ็นต์ คัดค้านการกินเนื้อสุนัข

ไม่มีตัวเลขชัดเจนถึงเม็ดเงินในอุตสาหกรรมเนื้อสุนัขในเกาหลีใต้ เนื่องจากยังถือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ถูกกฎหมาย เพราะรัฐบาลไม่ได้ถือว่าเนื้อสุนัขเป็นเนื้อสัตว์สำหรับบริโภค มีเพียงตัวเลขจำนวนฟาร์มเพาะสุนัขประมาณ 1,150 แห่ง สุนัขรวมมากกว่า 2 ล้านตัว โรงฆ่าและชำแหละ 34 แห่ง บริษัทกระจายเนื้อและชิ้นส่วนสุนัข 219 แห่ง และร้านอาหารที่จำหน่ายเมนูสุนัขอีกกว่า 1,600 แห่ง โดยกลุ่มคนในอุตสาหกรรมเนื้อสุนัขเหล่านี้เป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านนโยบายการห้ามกินเนื้อสุนัขของประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ที่ประกาศในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าจะทำให้การกินเนื้อสุนัขหมดไปจากเกาหลีให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ไปแล้ว

การเดินทางของวัฒนธรรมการกินเนื้อสุนัขของชาวเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมตามกาลเวลา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมสังคมจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าวัฒนธรรมใดควรดำรงอยู่ วัฒนธรรมใดควรต้องปล่อยให้ล้มหายตายจากไป เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมภายในควรปล่อยให้เป็นการจัดการกันภายในประเทศ อาจไม่ใช่เรื่องที่โลกต้องเข้าไปข้องเกี่ยว 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า