ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทสัมภาษณ์ที่ท่านจะได้อ่านถัดจากนี้ เป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องจากการโต้แย้งกันไปมาระหว่างปัญญาชนสองฝ่าย โดยมีผลงานทางวิชาการที่กำลังร้อนแรงที่สุดอย่าง ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เป็นพยานทางประวัติศาสตร์ (เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตีพิมพ์ในปี 2563)
WAY สนทนากับ ไชยันต์ ไชยพร ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคนที่ออกมาชี้จุดบกพร่องในงานวิชาการที่ได้รับความนิยมข้างต้น บทสัมภาษณ์นี้เปิดเผยกระบวนการตรวจสอบเนื้อหาที่ใช้โต้แย้ง รายละเอียดของคำกล่าวหาจากปากคำของผู้เปิดประเด็น ไปจนถึงคำตอบต่อคำถามร้อนๆ จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ว่า “เป้าหมายที่แท้จริงของไชยันต์คืออะไร”
และเพื่อให้บทสนทนาครบถ้วนไปถึงความคิดที่แวดล้อมสถานการณ์ ข้อสงสัยอีกหลายประการจึงถูกนำมาเสนอไว้ด้วย อาทิ ในบรรยากาศการตื่นตัวของนักวิชาการแนววิพากษ์ ตำราของฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่ตรงไหนในกระแสนี้ รวมไปถึงจุดยืนของไชยันต์เองต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันออกมาชี้แจงและโต้แย้งคำกล่าวหา อาจารย์พอใจกับประเด็นที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันอธิบายหรือยัง
ประเด็นที่โต้แย้งมา เขาจะไปพูดถึงหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เสียมากกว่า แต่ประเด็นของผมมันอยู่ในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) ซึ่งเขียนโดย ดร.ณัฐพล ใจจริง ตีพิมพ์เมื่อปี 2556 ในหนังสือมีข้อความที่หน้า 124 กล่าวถึงประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะนั้น คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ได้เข้าไปประทับนั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีนายกรัฐมนตรีคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วเข้าไปประทับนั่งเหมือนกับกษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือหนังสือเขาเขียนไว้ว่า เข้าไปทำแบบนี้บ่อยๆ
หลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมกับอาจารย์อีก 2 ท่าน ก็คิดทำวิจัยเกี่ยวกับว่าในช่วงครองราชย์ 70 ปี (รัชสมัยของรัชกาลที่ 9) มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อเราเริ่มทำในปี 2560 ก็มีการสำรวจวรรณกรรมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ในปี 2489 และระหว่างสำรวจไปเจอข้อความนี้ จึงนำมาอ่านด้วยกันในห้องนี้ (ห้อง 101 ตึก 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ลักษณะการอ่านก็จะมีอาจารย์อีก 2 ท่าน นั่งอ่านด้วยกัน
เราอ่านเอกสารหลายชิ้น รวมถึงเอกสารนี้ที่เรารู้สึกว่า เราไม่เคยได้ยินว่าผู้สำเร็จราชการหรือแม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเข้าไปนั่งประชุมในลักษณะที่เหมือนกับเป็นประธานในคณะรัฐมนตรี เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่ทุกวันอังคาร มีการประชุม ครม. แล้วรัชกาลที่ 9 หรือ 10 เข้าไปนั่งเป็นประธานสั่งการในการบริหารเหมือนสั่งเสนาบดี เราไม่เคยได้ยินไง เมื่อไม่เคยได้ยินเราก็ตั้งข้อสงสัย
ในทางวิชาการ ใครจะเขียนอะไรออกมาก็ตาม เราจะดูที่อ้างอิง ในภาษาวิชาการจะเรียกว่าเชิงอรรถ มีตัวเลขกำกับแล้วไปดูว่าตัวเลขที่เขียนอยู่ข้างล่างจะบอกว่าแหล่งอ้างอิงคืออะไร พอเราดูว่าสิ่งที่อาจารย์ณัฐพลเขียนว่ากษัตริย์เข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายการทำงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็พบว่ามีแหล่งอ้างอิงอยู่ 2 แหล่ง
แหล่งแรกคือ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493 อีกแหล่งคือ NARA หรือ เอกสารจากหอจดหมายเหตุของสหรัฐ ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2493 เราก็ต้องไปค้น พอดีในช่วงนั้นหอสมุดแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเก็บหนังสือพิมพ์เก่าอยู่ในช่วงปิด และยังไม่รู้จะเปิดเมื่อไหร่ เราจึงโทรไปถาม บางกอกโพสต์ ว่าจะหาหนังสือพิมพ์เก่าได้ยังไง ผมก็เพิ่งรู้ว่า บางกอกโพสต์ มีคลังคล้ายๆ กับเป็นหอจดหมายเหตุ แต่ไม่ได้เปิดให้คนธรรมดาเข้าไป ผมโชคดีจึงให้นักข่าวที่รู้จักเข้าไปค้น ภายในวันเดียวเองก็ได้ เขาก็ส่งมาทางอีเมล มันไม่มีข้อความที่อาจารย์ณัฐพลเขียน
แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นพาดหัวข่าวว่า “Premier May Sit In With Privy Council” ‘premier’ แปลว่า ‘นายกรัฐมนตรี’ ‘may’ ก็คือ ‘อาจ’ ‘sit’ คือ ‘นั่ง’ คือ “นายกรัฐมนตรีอาจจะเข้าไปนั่งประชุมที่ประชุมองคมนตรี” อ้าว! มันกลับตาลปัตรกันแล้ว จากที่บอกว่าประธานผู้สำเร็จราชการจะเข้าไปนั่งใน ครม. แต่กลับกันคือนายกรัฐมนตรีจะเข้าไปนั่งในที่ประชุมองคมนตรี
แต่ในข่าวให้เหตุผลว่าทำไมจอมพล ป. จึงอยากเข้าไปนั่ง เพราะว่าจอมพล ป. ไม่พอใจที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่งตั้งคนมาเป็นวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนที่จอมพล ป. ไม่พอใจ จอมพล ป. ก็บอกว่าทำไมไม่ปรึกษาเขา จอมพล ป. ก็เลยจะเข้าไปพูดคุย
จึงเหลือแหล่งอ้างอิงอีกอัน เพราะในเชิงอรรถเดียวกัน มีการอ้างอิง 2 แหล่ง ก่อนที่จะพูดว่ากษัตริย์เข้าไปแทรกแซงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในหน้า 124 จะมีการพูดถึงว่า กษัตริย์พยายามสร้างฐานอำนาจของตัวเองด้วยการไปตั้งคนที่เป็นพวกรอยัลลิสต์เข้ามานั่งเป็นวุฒิสมาชิก ปูพื้นมาว่าไม่ใช่แค่ไปแต่งตั้งคนของตนเป็นวุฒิสมาชิกเท่านั้น ตัวเองยังเข้าไปนั่งประชุม ครม. อีกต่างหาก
ทีนี้ในเชิงอรรถของ บางกอกโพสต์ ก็มีข้อความที่บอกว่าผู้สำเร็จราชการตั้งวุฒิสมาชิก ก็โอเค เราก็คิดว่าอาจจะไปอ้างอิงอีกรายการก็ได้ จึงไปค้นเอกสาร NARA ซึ่งต้องไปถึงอเมริกา มันดาวน์โหลดไม่ได้ เบื้องต้นก็เลยคิดว่าควรจะโทรศัพท์ไปถามที่อาจารย์ที่ปรึกษาของอาจารย์ณัฐพล ซึ่งนอกจากเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ขอฝันใฝ่ฯ เราก็พบด้วยว่าเป็นส่วนที่มาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา [พ.ศ. 2491-2500])
อาจารย์ตรวจเจอตอนที่เป็นวิทยานิพนธ์?
เปล่า ผมตรวจเจอตอนที่เป็นเอกสารไปเผยแพร่ข้างนอก เช่น ปรากฏในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อฯ นอกนั้นก็พบว่าเมื่อเราค้นหาในกูเกิล จะพบว่ามีข้อความแบบนี้อยู่ด้วย เช่น ในวันที่ 10 ธันวาคม 2553 มีการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ ‘สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย’ ผู้ร่วมสัมมนามี อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง ในวันนั้นอาจารย์ณัฐพลก็พูดข้อความที่อยู่ในหนังสือ ขอฝันใฝ่ฯ ด้วย บอกว่ากรมขุนชัยนาท เข้าไปแทรกแซง และในวันนั้นก็พูดด้วยวาจาว่าอ้างอิงจาก บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493
ฉะนั้น เราจะเจอหลักฐานอื่น ที่ไม่ใช่จากวิทยานิพนธ์ด้วย และตอนหลังผู้ช่วยวิจัยของเราก็พบอีกว่ามีที่อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ไป
ผมเลยอยากถามอาจารย์ที่ปรึกษาของอาจารย์ณัฐพลว่า พอจะรู้เรื่องนี้ไหม ซึ่งถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาเขายืนยันว่า การอ้างอิงแบบนี้ถูก เราก็ไม่ว่าอะไร สิ่งที่เราไม่เคยได้ยินก็แปลว่ามันเป็นความรู้ใหม่ที่อาจารย์ณัฐพลเข้าไปค้นได้
ทีนี้ผมก็ไปดูว่าใครเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ก็พบว่าเป็นรองศาสตราจารย์ ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ผมก็โทรไปหาท่าน ท่านก็บอกว่า “เคยเห็นผ่านตาบ้างในหอจดหมายเหตุสหรัฐ” ผมก็ถามว่า “อาจารย์มีหรือเปล่า” แกก็บอกว่า “ไม่มี” ผมก็บอกว่าอาจารย์ช่วยเช็คกับอาจารย์ณัฐพลให้หน่อย เพราะว่าเราสงสัย คำว่าเราหมายถึงผมกับคณะวิจัย
ทีนี้แกก็เช็คกับอาจารย์ณัฐพลทางอีเมล แกก็บอกว่าอาจารย์ณัฐพลก็หาไม่เจอ ไปอยู่ในไฟล์ไหนไม่รู้แล้ว ผมก็ – อ้าว จะทำอย่างไร มันไม่มีความชัดเจน ไม่มีความแน่ใจ ก็คิดว่าก็ควรจะหานะ เพราะผมต้องเขียนงานที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในช่วงในหลวงครองราชย์ 70 ปี สมมุติว่ามันเป็นความจริง เราก็ต้องยอมรับว่าสถาบันกษัตริย์แทรกแซง เพราะอย่าลืมว่าการทำวิจัยในช่วงปี 2560 ตั้งแต่ปี 2549-2560 มันมีวิกฤติการเมืองอยู่ พร้อมๆ กับมีกระแสว่ามีการแทรกแซงการเมืองของพระมหากษัตริย์อยู่เรื่อยมา เช่น มีมือที่มองไม่เห็น ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ และมีการพูดคล้ายๆ ว่า กษัตริย์รู้เรื่องนู้น รู้เรื่องนี้ คล้ายกับอยู่เบื้องหลัง
ถ้ามันยืนยันว่าสิ่งที่อาจารย์ณัฐพลเขียนว่าใช่ เราก็จะตั้งต้นตรงนี้ (2489-2490) เพราะเป็นช่วงขึ้นครองราชย์และรัชกาลที่ 9 ท่านไม่ประทับอยู่ในประเทศ เมื่อไม่อยู่ก็ต้องให้มีผู้สำเร็จราชการ ถ้าผู้สำเร็จราชการลุแก่อำนาจก็ถือว่าทำผิดประเพณีการปกครอง ผิดรัฐธรรมนูญด้วย เพราะจะมีปัญหาอยู่ว่า หลังการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดกบฏบวรเดช มีการตีความว่ากบฏบวรเดชต้องการกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อะไรแบบนี้ มันก็ต้องจับตรงนี้ให้มั่นก่อนว่า เมื่อในหลวงขึ้นครองราชย์แล้ว ทิศทางของพระมหากษัตริย์อยู่ตรงไหน
มีการถามไถ่ว่าใครมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ที่อเมริกาหรือเปล่า เผอิญว่ามีอาจารย์ที่ทำวิจัยด้วยกันบอกว่ามีลูกศิษย์ ที่จบจากจุฬาฯ ไปเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่ เขาก็อุตส่าห์ไปหาให้ เพราะถ้าแกไม่ได้เรียนหนังสือหรือเรียนรัฐศาสตร์มา ก็คงค้นยากหน่อย แต่แกเคยเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีความเข้าใจ ก็ไปค้นให้แล้วส่งมาแล้วอ่านกัน
พออ่านแล้ว ก็พยายามอ่านให้เจอในสิ่งที่อาจารย์ณัฐพลเขียน ไม่อยากให้ไม่เจอ เพราะถ้าอ่านเจอก็จบ แต่พออ่านแล้วอ่านอีกก็ไม่เจอ ผมก็ปรึกษากับทีมวิจัย และแจ้งให้กรรมการวิทยานิพนธ์ และอาจารย์ณัฐพลทราบ ทั้ง อาจารย์ไชยวัฒน์ ค้ำชู ประธานกรรมการ, อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แจ้งไม่ได้เพราะท่านเสียชีวิตไปแล้ว อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, อาจารย์วีระ สมบูรณ์ พอแจ้งไปแล้ว ทุกคนก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันรอดหูรอดตาไปได้ยังไง
อาจารย์ส่วนใหญ่เขาก็ให้เกียรติอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะก่อนจะสอบ เขาก็เห็นว่าอาจารย์ที่ปรึกษาจะดูมาเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ทุกคนก็ให้เกียรติเพราะอาจารย์กุลลดา ท่านก็เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ มีงานเกี่ยวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิชาการในเรื่องการเมืองไทยระดับสุดยอดคนหนึ่ง ส่วนใหญ่บอกว่าไว้ใจและให้ความเคารพ
เมื่อแจ้งให้กรรมการทุกคนทราบ อาจารย์กุลลดาเรียกอาจารย์ณัฐพลมาคุย อาจารย์ณัฐพลก็ยอมรับข้อผิดพลาด ทั้งจุดอ้างอิงของบางกอกโพสต์ และหอจดหมายเหตุสหรัฐ วิธีการแก้ไขก็ง่ายนิดเดียว คือไปแก้วิทยานิพนธ์ที่อยู่ในห้องสมุด และก็แก้ในวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า E-Thesis
ณัฐพลเขาก็ไปติดต่อที่บัณฑิตวิทยาลัย เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่ามันจบไปตั้งแต่ปี 2552 ระเบียบมหาวิทยาลัยไม่เคยมีให้มาแก้ ก็เข้าใจได้นะ เสร็จแล้วเรื่องก็กลับมาที่ผมว่าแก้ไม่ได้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องกลับมาที่ผม ทำไมกรรมการเขาไม่เดือดร้อนเลยว่ามีข้อมูลที่ผิดพลาด แล้วมันจะมีการเผยแพร่ไป อาจารย์ณัฐพลเขาก็ยอมรับที่จะแก้ แต่มันไม่มีวิธีที่จะแก้
ผมก็ทำหนังสือถึงคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยว่า เราไม่อยากให้มีการเผยแพร่ออกไป เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทางวิชาการ มีการประชุมหารือกันก่อนจะส่งเรื่องกลับมายังโครงการปริญญาเอกของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตัดสินใจว่าไม่เปิดเผยวิทยานิพนธ์ และปกปิดวิทยานิพนธ์เสีย และถ้าณัฐพลจะพิมพ์วิทยานิพนธ์ก็ต้องไปขออนุญาต ก็แนะนำให้ณัฐพลไปแก้ไขสิ่งที่เผยแพร่ไปข้างนอก ซึ่งสิ่งที่เผยแพร่ข้างนอก จุฬาฯ เขาไม่เกี่ยว เพราะว่าหนังสือ ขอฝันใฝ่ฯ มันไม่ได้อิงวิทยานิพนธ์ไง มันอ้าง บางกอกโพสต์ กับเอกสารการทูต
ผมคิดว่าจุฬาฯ คงยืนอยู่ในวิธีคิดแบบการให้เกียรตินักวิชาการ ว่าเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางจริยธรรมวิชาการ เมื่อคุณรู้แล้วยอมรับความผิดพลาดแล้วว่า ข้อมูลไม่ถูกต้องแล้วไปเผยแพร่ข้างนอกก็ขอให้ไปแก้ไข การแก้ไขก็จะมีแก้ไขในหนังสือ ขอฝันใฝ่ฯ บันทึกการสัมมนาในยูทูบปี 2553 และอีกอันที่ยังไม่ได้พูดคือวิทยานิพนธ์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ ซึ่งทำเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย เผยแพร่ออกมาในปี 2559 เขาก็อ้างข้อความจากหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ด้วยข้อความเดียวกันเป๊ะ
แต่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ชี้แจงแล้วว่า ในส่วนที่ผิดก็ได้มีการแก้ไข และเมื่อมีการเขียน ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ขึ้นมาใหม่ก็ไม่มีข้อความดังกล่าว รวมถึงประเด็นหนึ่งที่มีการโต้แย้งอาจารย์คือ การกระทำของอาจารย์ เป็นการกระทำของ ‘ตำรวจความคิด’ คือจับผิดส่วนเล็กๆ แต่ไม่สามารถหักล้างข้อเสนอหลัก อาจารย์อธิบายเรื่องนี้อย่างไร
มันไม่ได้เกี่ยวกับ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ประเด็นคือเราเจอจากขอฝันใฝ่ฯ ทีนี้เขาจะตัดข้อความนี้แล้วไปพิมพ์ ขุนศึก ศักดินาฯ ก็เรื่องของเขาไง แต่ข้อความที่เราเจอมันอยู่ใน ขอฝันใฝ่ฯ ในยูทูบและอยู่ในวิทยานิพนธ์ โอเค ขอฝันใฝ่ฯ อาจจะเกี่ยวข้องกับฟ้าเดียวกัน แต่ในยูทูบ ผมไม่แน่ใจว่าใครเผยแพร่อาจจะเป็น ประชาไท และวิทยานิพนธ์ของนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อาจารย์ณัฐพลก็ควรไปแก้ไข
ทีนี้ประเด็นหลักในหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ประเด็นคืออะไร ประเด็นหลักก็คือการเมืองของจอมพล ป. ในสมัยสหรัฐอเมริกา แต่เอาล่ะ ประเด็นเรื่องกษัตริย์แทรกแซงมันอาจจะไม่ได้กระทบประเด็นหลัก แต่ถ้าฟ้าเดียวกันจะบอกว่า จะยังไงสถาบันกษัตริย์ก็แทรกแซงอยู่ดี ประเด็นคือ ประเด็นหลักคือสถาบันกษัตริย์แทรกแซงการเมือง หรือเรื่องการเมืองจอมพล ป. เกี่ยวกับการเมืองสหรัฐ
แต่งานชิ้นนี้ก็นำเสนอประเด็นใหม่จริงๆ เช่น ประเด็นที่สำคัญ คือสถาบันกษัตริย์เป็นตัวแสดงหลักในการเมืองไทยหลัง 2490 ตรงนี้อาจารย์มองว่ามันมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน
ผมไม่ได้กังวลอะไรกับ ขุนศึก ศักดินาฯ คนที่จะกังวลกับ ขุนศึก ศักดินาฯ ควรจะเป็นบัณฑิตวิทยาลัยหรือจุฬาฯ มากกว่า เพราะจุฬาฯ บอกว่า ห้ามพิมพ์วิทยานิพนธ์ ถ้าจะพิมพ์ต้องไปขอเขาก่อน แต่ว่าหนังสือที่คณบดีส่งถึงผมในเดือนสิงหาคมบอกว่า ทางฟ้าเดียวกันติดต่อไปขอพิมพ์ 2 ครั้ง แล้วทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธ เพราะฉะนั้นเมื่อขอเขาเอาไปพิมพ์โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต มันไม่ใช่ปัญหาของผม
แต่ประเด็นของผมคือ ในเมื่อ ขุนศึก ศักดินาฯ ไม่มีข้อความว่ากรมขุนชัยนาทฯ ไปนั่งประทับอันนั้นก็โอเค เพราะผมพบข้อมูลในปี 2560 ขุนศึก ศักดินาฯ มันยังไม่เกิดเลย เรื่องของผมอยู่ที่ ขอฝันใฝ่ฯ การสัมมนา และในวิทยานิพนธ์ที่อยากให้แก้ไข และการแก้ไขก็มี 2 ลักษณะ คือเมื่อข้อมูลผิด เราก็ต้องระงับการเผยแพร่ สมมุติถ้า WAY MAGAZINE ลงข้อมูลอะไรที่ผิดพลาดไปแล้ว แล้วมีคนท้วงติงว่าข้อเขียนเมื่อ 2 ปีที่แล้วผิด แล้ว WAY จะทำยังไง
ก็แก้ไข ไม่เผยแพร่ และเขียนขออภัยผู้อ่าน
ก็ต้องเขียนด้วยว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วออกอะไรไป แต่ประเด็นนี้จุฬาฯ เขาปกปิดการเผยแพร่ หลังจากปกปิดแล้วผู้อ่านในอนาคตก็อ่านไม่ได้ แต่การปกปิดมันไม่ได้ช่วยแก้ไขข้อมูลที่ผู้อ่านเคยอ่านมาก่อน จุฬาฯ ก็ไม่รับผิดชอบตรงนี้ ทีนี้ตัวผู้เขียนในแง่จรรยาบรรณ คือว่าผิดพลาดตรงไหนก็ต้องบอกด้วยว่า ท่านผู้อ่านตรงนี้ที่ผมเขียนไปแล้วตกลงแล้วมันไม่ใช่ อาจจะทำเป็นประกาศเล็กๆ ใส่ในเฟซบุ๊ค
แต่การท้วงติงของอาจารย์ก็ช่วยให้มีการยอมรับทั้งผู้เขียนและสำนักพิมพ์ จนมีการนำมาเขียนใหม่เป็นเล่ม ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (2563) และมีการตรวจสอบเชิงอรรถอีกหลายจุด ซึ่งในบทนำของหนังสือที่ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เขียน ก็บอกว่าจุดที่ผิดพลาดเป็นความผิดของผู้เขียนจริง แต่ไม่ได้ทำให้ประเด็นหลักเสนอเสีย เหมือนว่าน้ำหนักที่ให้ระหว่างอาจารย์ไชยันต์กับอาจารย์ธงชัย จะไม่ตรงกัน
ประเด็นมันอยู่ที่ว่า จุฬาฯ ไปปิดวิทยานิพนธ์เขาทำไมทั้งเล่ม พอไปปิดมันเลยหมายความว่า argument ทั้งเล่มมันใช้ไม่ได้ไง ถูกไหม ประเด็นของผมมันอยู่แค่นี้ว่ากษัตริย์ไปแทรกแซงด้วยการให้ผู้สำเร็จราชการฯ ไปนั่งประชุม ครม. แค่นั้นเอง ผมไม่ได้เป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ ที่จะไปตัดสินว่าจากจุดนี้จุดเดียวมันไปกระทบ argument หลัก ของวิทยานิพนธ์หรือเปล่า
ตัวกรรมการวิทยานิพนธ์เขาก็บอกว่าไม่กระทบ แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าเมื่อไม่กระทบ แล้วทำไมเขาถึงยอมให้จุฬาฯ ไปปกปิดทั้งเล่ม
ซึ่งการปกปิดหรือไม่เผยแพร่เท่าที่ผมรับทราบมาก็มี เช่น เราไปสัมภาษณ์คนแล้วเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก การเปิดเผยอาจจะอันตราย ก็จะปิดไว้ก่อน จนกว่าจะผ่านเวลาไปพอสมควรจึงจะเปิด เช่นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับผม ที่เรียนปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองเรื่องกัญชา และตัวเขาเองเป็นข้าราชการของหน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติด ก็จะมีเรื่องการคอร์รัปชัน ในที่สุดกรรมการมองว่ามันอ่อนไหว หมายความว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ยังไม่ควรเผยแพร่ตอนนี้
แต่กรณีนี้บัณฑิตวิทยาลัยเลือกจะปกปิด ซึ่งผมก็บอกว่าไม่เห็นด้วยแต่ควรให้แก้ไข เขายืนยันว่าระเบียบไม่ให้แก้ ผมก็ไม่เข้าใจ ก็แก้ระเบียบไปสิ หรือหลังจากให้เขาแก้ไปแล้ว จุฬาฯ ประกาศสาธารณะเองว่า วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีข้อผิดพลาด และได้มีการแก้ไขแล้วขอให้เข้าใจตรงกันว่า ข้อความตรงนี้มันเป็นข้อความที่ไม่จริงแล้วนะ ก็จบ
อาจารย์เองก็ทำวิจัยด้วย โดยเฉพาะไม่นานมานี้คือเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจารย์ยอมรับคำอธิบายว่าสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้อยู่เหนือการเมืองแค่ไหน
ผมไม่ได้ตั้งต้นบอกว่า ปกป้องหรือตั้งต้นว่าแทรกแซง เป็นไปได้หมด เพราะว่าเวลาผมศึกษาการเมืองการปกครองสวีเดน จะพบว่ามันก็มีความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับสภา และบางทีจะมีการพยายามแทรกแซงกันและกันเสมอ
ที่สวีเดน ระหว่างปี 1718-1772 เป็นช่วงที่รัฐสภาสวีเดนมีอำนาจเหนือกษัตริย์ กษัตริย์ก็ struggle เต็มที่ จะขอมีอำนาจบ้าง เสร็จแล้วพอถึงเวลา เมื่อมาถึงการยึดอำนาจของกษัตริย์กุสตาฟที่ 3 (Gustav III) ก็เปลี่ยนกลับมาเป็นกษัตริย์มีอำนาจ คือเป็นเรื่องปกติ
มันเป็นไปไม่ได้หรอกคุณ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง (ฟันมือลงพื้น) แล้วเป๊ะทุกอย่าง มันยังจะมีกลิ่นอายอยู่ อังกฤษก็เช่นเดียวกัน สำคัญคือเรามีหลักฐานไหม ถ้ามีหลักฐานก็ยอมรับ แต่ไม่มีหลักฐาน จะด้วยความผิดพลาดอะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อมันไม่ใช่แล้วเขียนไปก็แก้ไขเสีย เท่านั้นเอง
แต่ในคำชี้แจงของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ก็ทิ้งคำถามว่า “เป้าหมายแท้จริงของอาจารย์ไชยันต์คืออะไร”
แก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดให้มันถูกต้อง คือเราเป็นนักวิชาการ คนจะเชื่อเราเยอะ เพราะว่าเราจะต้องศึกษา ค้นคว้าข้อมูล จะต้องเปรียบเทียบ โดยปกติเวลาผมจะเขียนเรื่องการเมืองสวีเดนในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งตอนนั้นสวีเดนเป็นที่สนใจของฝรั่งเศส และรัสเซีย เพราะคาบเกี่ยวกับคาบสมุทรบอลติกอันเป็นเส้นทางการค้าของยุโรปไปยังยุโรปตะวันออก เขาจะใช้เอกสารการทูตมากกว่า 1 ประเทศ เพราะการรายงานของประเทศหนึ่งไม่ได้แน่นอน ที่จะตอบว่าเป้าหมายแท้จริงคืออะไร ก็ไม่มีอะไร ก็เพื่อความถูกต้องทางวิชาการ
คนอ่าน เขาไม่มานั่งค้นเชิงอรรถหรอก เยาวชนสมัยนี้อ่านหนังสือก็น่าดีใจแล้ว แต่จะไปคาดหวังให้เยาวชนไปค้นเชิงอรรถ ขนาดตัวผมเองจะไปค้นที่อเมริกายังไม่ไหวเลย เราเป็นนักวิชาการด้วยกันมันต้องมีจริยธรรม คนขายอาหารก็ต้องรับผิดชอบในการเอาวัตถุดิบที่ดี เอาเครื่องปรุงที่ปราศจากพวกสารไปใส่ ทุกอาชีพก็ต้องมีความซื่อสัตย์อยู่ด้วย
และประทานโทษ คำว่า ‘ตำรวจวิชาการ’ ที่อาจารย์ธงชัยเขียน ประเด็นของผมคือผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นตำรวจวิชาการ เพียงแต่ว่าถ้าอาจารย์ธงชัยต้องตรวจงาน หรือว่าเวลาศึกษาหาข้อมูลเวลาทำวิจัยว่า แต่ละคนที่เขียนมาก็ต้องเช็คให้ถึงที่สุด (ย้ำสองรอบ)
แต่ที่ผมไม่เข้าใจคือ สิ่งที่อาจารย์ธงชัยเรียกว่า ‘ตำรวจวิชาการ’ แกหมายถึง ‘Thought Police’ ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) หรือเปล่า ผมก็ไม่อยากจะคิดเลยไปถึงขนาดนั้น เพราะหนังสือ 1984 มีการพูดไปถึงตำรวจความคิด แต่ว่าตำรวจที่คิดแบบบ้านๆ อย่างเราคือตำรวจเอาไว้จับคนทำผิด และผมไม่ได้มีอาชีพจับผิด
มาที่สถานการณ์การเมืองปัจจุบันบ้าง เวลานี้มีการนำ ม.112 กลับมาดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก อาจารย์เองก็เคยเสนอให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ อยากทราบว่าจุดยืนอาจารย์ต่อ ม.112 ยังเหมือนเดิมไหม
เหมือนเดิม (ตอบทันที) แต่การจะเลิก เหตุผลอันหนึ่งคือคนที่เขาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างมีเหตุมีผลก็ควรจะมีเสรีภาพ ไม่ใช่วิจารณ์อะไรไม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่ใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการปิดปาก ในฐานะที่ผมไม่ได้เป็นคนที่คลั่งไคล้ เทิดทูนบูชาสถาบันกษัตริย์ด้วยอารมณ์
อย่างผมพูดในรายการตอบโจทย์ (‘ตอบโจทย์’ รายการสัมภาษณ์และสนทนาในเรื่องสังคมการเมือง ออกอากาศช่องไทยพีบีเอส) ผมพูดในฐานะนักรัฐศาสตร์ว่า ทำไมระบอบการเมืองประเทศเราจึงสมควรเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ฝรั่งก็เคยพูดว่าระบอบที่มีพระมหากษัตริย์กับระบอบประธาธิบดีมันมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์จะเป็นข้อเสียอย่างเดียว มีข้อดีที่ระบอบประธานาธิบดีไม่มี วันหลังคุณมาประเด็นนี้เลยก็ได้ จะได้ยาวหน่อย
แต่ความเห็นต่อ ม.112 คือควรจะเปิดพื้นที่เสรีภาพให้คนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ทำไมถึงต้องวิจารณ์ เพราะผมมองสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองนะ คือจะไม่อยู่เหนือการเมือง แต่นิยามการเมืองที่กว้างขวางมันก็รวมทุกอย่าง ขนาดผัวเมียยังเป็นเรื่องการเมืองเลย นิยามการเมืองในทางรัฐศาสตร์มี 2 ระดับ คือระดับกว้าง และในระดับแคบ นิยามก็จะแคบลงเหลือเพียงสถาบันที่เป็นทางการ หรือว่าคนสองคนจะต้องปฏิสัมพันธ์ในประเด็นการเมืองเท่านั้น
อีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ควรมีอยู่ คนที่เขาเห็นว่าไม่ควรมีอยู่ เขาควรมีสิทธิพูด เพราะผมสอนปรัชญาการเมือง คือการหาความรู้เกี่ยวกับระบอบการปกครองที่ดี หลักการปกครองที่ดี ผู้ปกครองที่ดี ฉะนั้นเราต้องตั้งคำถามกับทุกระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่ในโลกนี้ ว่ามันดีจริงหรือเปล่า จุดยืนของผมคือควรให้เสรีภาพกับบุคคลที่จะเสนอระบอบอื่นด้วย ในเมื่อจุดยืนของผมคือสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญควรมีอยู่ในประเทศไทย คนที่ไม่เห็นด้วยก็ควรเปิดพื้นที่ให้เขา
นอกจากวิพากษ์วิจารณ์สถาบันแล้ว น่าจะสามารถวิพากษ์ตัวระบบได้ด้วย แต่ประเด็นคือ ถ้าจะให้ยกเลิกก็ควรจะให้มีการประชาพิจารณ์ก่อน สมมุติคุณไปยกเลิกกันในสภา สภาก็จะอภิปรายข้อดีข้อเสีย แล้วคุณคิดว่าประชาชนจะสามารถรับรู้ได้มากน้อยแค่ไหน การประชาพิจารณ์จะทำให้เห็นว่าถ้าเราให้เสรีภาพเต็มที่ด้วยการยกเลิกมาตรา 112 ข้อดี ข้อเสียเป็นอย่างไร จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่ถูกหมิ่นประมาทอย่างไร
แต่ในช่วงนั้นต้องเป็นช่วงที่มีเสรีภาพด้วย เพื่อให้ประชาชนเป็นคนกำหนดเองว่า การวิพากษ์วิจารณ์ควรจะมีขอบเขตแค่ไหน เพราะทุกวันนี้การวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ที่เป็นสามัญชนปกติ คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าพูดอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าพูดมากกว่านี้จะถือเป็นการด่าทอ หมิ่นประมาท หยาบคาย มีการไปแจ้งความได้ แล้วถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรจะยกเลิก สภาก็ทำงานง่าย
อาจจะเปลี่ยนจากโทษติดคุกเป็นการปรับเงิน เพราะต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์มีคนไปด่าพระราชินี เขาไม่ได้ด่าคำว่า ‘prostitutes’ ที่แปลว่า ‘โสเภณี’ นะ แต่ใช้คำว่า ‘whore’ ขอโทษนะถ้าเป็นภาษาไทย ภาษาปากก็คือ ‘กะหรี่’ ก็ปรับเงิน
ก็เหมือนกับว่าผมหมิ่นประมาทคุณ ก็จะบอกว่าคุณคือใคร เป็นเซเลบฯ ไหม เสียหายมากไหม ถ้ากรณีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ก็อาจจะปรับสัก 20 ล้าน แทนที่จะติดคุก
อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในคลิป เสรีภาพในการด่าไม่ใช่สันติวิธี บอกว่าท่าทีการเรียกร้องที่หยาบคายของม็อบไม่ใช่สันติวิธี อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความว่า แล้วการชุมนุมอย่างสันติวิธี ควรจะชั่งน้ำหนักอย่างไร จึงจะไม่ล้นเกินไปจำกัด Freedom of Expression
คือมันเป็นการด่าที่ไม่ทำให้เขาโกรธมาก อย่างด่าแม่นี่ ผมรู้สึกว่ามันไม่สันติวิธีนะ ไปด่าศาสดา ศาสนา หรือด่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเคารพ อันนั้นไม่ใช่สันติวิธี เพราะแม่เราก็รัก ความหยาบมันขึ้นกับบริบทวัฒนธรรมของสังคม ผมพยายามศึกษาดูว่า เอ๊ะ เวลาเขาไปชุมนุมประท้วงในอเมริกา เวลาเขาด่าประธานาธิบดีทรัมป์ มีคำว่า ‘fuck’ หรือเปล่า หรือ ‘death to trump’ ไปตายเถอะมึง ก็ยังหาไม่เจอ อาจจะมีก็ได้ แต่ยังหาไม่เจอ
เส้นมันก็ควรจะมี แต่ผมไม่ใช่คนไปกำหนดเส้น แต่คนก็บอกว่า กปปส. ก็หยาบคาย พันธมิตรก็หยาบคาย นปช. ก็หยาบคาย แต่ผมคิดว่าก็น่าศึกษานะ ในเมื่อผมก็ตั้งประเด็นว่า เสรีภาพในการด่าไม่ใช่สันติวิธี ก็มาศึกษาวิจัยกันไหมว่าในเมืองไทยเป็นอย่างไร ต่างประเทศเป็นอย่างไร ก็คือ hate speech คือ เสรีภาพในการด่า นั่นแหละ
ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา จะมีกระแสงานวิชาการที่เรียกกันในเครื่องหมายคำพูดว่า “ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า” อาจารย์ไชยันต์ ก็มีคนอธิบายว่าอาจารย์เป็น “นักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยม”
เออ … ก็แล้วแต่เขา
อาจารย์คิดว่านักวิชาการในกลุ่มอนุรักษนิยมอยู่ตรงไหนในกระแสนี้
เอางี้ งานผมก็มีการศึกษา อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ น่าจะเป็นชิ้นแรกๆ ที่เป็นหนังสือเขียนเกี่ยวกับเรื่องเมืองไทย เพราะก่อนหน้านี้ผมเขียนเรื่องปรัชญาการเมืองตะวันตกเสียเยอะ ที่ออกมาเป็นหนังสือคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน/กับวิกฤตการเมืองไทย (ตีพิมพ์ในปี 2557) เพื่อศึกษาสิ่งที่อาจารย์นิธิเขียนตั้งแต่ปี 2509 เป็นบทความแรกๆ ที่แกเขียน
แต่ตอนนั้นแกจะเขียนแนวปรัชญาประวัติศาสตร์ และก็บทความที่เป็นหนังสือพิมพ์ เหตุที่ไปศึกษาเพราะว่ามันมีวิกฤติการเมืองช่วงปี 2549 และคล้ายๆ กับแกเป็น influencer ไม่ได้เป็น influencer กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนะ แต่จะกว้างกับทุกฝ่าย คือมีอิทธิพลทางความคิด
ตอนนั้น ท่านอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ทำวิจัยว่าความคิดของเสื้อเหลืองก็ดี เสื้อแดงก็ดี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจจะกูล, เกษียร เตชะพีระ ตอนแรกผมจะได้ศึกษามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทั้งมหาวิทยาลัยเลย ผมก็ โห ไม่ไหว คือเตรียมจะเขียนไปรวมเล่มกับอาจารย์ท่านอื่นๆ เพื่อแซยิดอาจารย์นิธิอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น จึงศึกษาว่าอาจารย์นิธิเป็นยังไง ตกลงแกมีจุดยืนอย่างไร เผอิญไปพบว่า สิ่งที่แกเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพล ผมเสนอว่าจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่แกเอามาจากนักวิชาการฝรั่งแล้วเป็นนักวิชาการฝรั่งกระแสหลักด้วย
คือปกติ เราจะมองว่าอาจารย์นิธิเป็นสายวิพากษ์ สุดท้ายแล้วคนที่จะตอบคือตัวอาจารย์เอง กับคนอ่านส่วนใหญ่ที่จะตัดสินตีความอาจารย์อย่างไร ฉะนั้นผมบอกไม่ได้ว่างานชิ้นนี้เป็นงานอนุรักษนิยมหรือก้าวหน้า ก็ดูว่าอาจารย์เขาเขียนอะไรแล้วไปเทียบกับของฝรั่ง
อีกเล่มหนึ่งคือ ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ตีพิมพ์ปี 2560) ผมพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ถึงปัจจุบัน อันนี้เป็นการตอบคำถามว่าประเพณีการปกครองของไทยตกลงมีไหม แล้วมันเป็นยังไง เพราะตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงวันนี้ ประเพณียังจะตั้งหลักไม่ทันเลย แต่ถ้าจะนับว่าสถาบันกษัตริย์ยาวไปถึงอยุธยามันก็มีประเพณีอยู่ เพราะว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มันมีความแตกต่าง
การเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มันต่างจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ เพราะมันมีแต่ change มันไม่มีความต่อเนื่อง เพราะถ้าเปลี่ยนมาสู่สาธารณรัฐเลย ต้องมีการแตกหักกัน แต่การเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยังคงอยู่ ก็มีทั้งการเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง ผมจึงศึกษาว่าในประเพณีการปกครองของอังกฤษเป็นอย่างไร เพราะเราก็ลอกระบอบการปกครองเขามา
แล้วพบว่าพระราชอำนาจในระบอบพระมหากษัตริย์อังกฤษ มี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็บอกหมดแล้วไม่มีแล้ว จะเรียกว่าฝ่ายก้าวหน้า หรือฝ่ายซ้ายก็ได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่ามันก็ยังมีอยู่ ก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ผมก็วางข้อถกเถียงลงไป นอกจากนั้นยังดูว่าการยุบสภาในประเพณีการปกครองเป็นยังไง เพราะบ้านเราเป็นการปกครองของรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราก็ต้องมีการยุบสภาได้ อเมริกายุบไม่ได้
ทีนี้ ที่อังกฤษเวลาเขายุบได้เพราะมันเป็นประเพณีรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร แต่ของเราเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ก็เขียนแค่ว่านายกรัฐมนตรีสามารถยุบได้ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา แต่ของอังกฤษไม่ได้เขียนอะไรมาก เพราะมีประเพณีว่าจะยุบได้ด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง ก็ทำตามประเพณีมาเรื่อยๆ พอจะเปลี่ยนเขาจะมีคำอธิบายที่ยอมรับร่วมกัน ผมก็เลยต้องศึกษาเรื่องนี้ เพราะตอนคุณทักษิณยุบสภาในปี 2549 ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่ถูก
เล่มที่ 3 คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดนมาร์ก เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 1849 ทำไมต้องศึกษา เพราะเขาเป็นประเทศเดียวถ้าไม่นับภูฏาน ที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ไม่มีการจับตัวพระบรมวงศานุวงศ์ ผมอยากรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบนี้ พระราชอำนาจหลังเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะตอบคำถาม 2475 บ้านเรา
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สงบนะ แต่ว่ามีการจับตัวประกัน ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนของสวีเดนแทน เพราะสวีเดนปี 1809 คณะผู้ก่อการ 6 คน เข้าไปในวัง แล้วจับกุสตาฟที่ 4 (Gustav IV Adolf) ของเราพระยาทรงสุรเดชไปเรียนที่เยอรมนีก็ติดสวีเดน คนรู้ภาษาเยอรมันก็อ่านประวัติศาสตร์สวีเดนได้ ผมไม่รู้ว่าพระยาทรงฯ แกไปได้ตัวแบบการเปลี่ยนแปลงมาจากสวีเดนหรือเปล่า แต่เท่าที่อ่านหลักฐานพบว่า ตอนแรกตั้งใจจะจับ ร.7 แต่รู้สึกว่าเสี่ยงเกินไป จึงปล่อยให้ ร.7 ไปหัวหิน แล้วไปจับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ และคนอื่นๆ ผมก็อยากรู้ว่าพอเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 มีการถกเถียงกันว่าพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 7 ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งวุฒิสภา และคณะราษฎรไม่ยอมให้ท่านแต่งตั้ง ผมก็ดูว่าในบ้านเมืองอื่นเป็นอย่างไร
ขออนุญาตกลับไปที่ประเด็นการยุบสภาในปี 2549 ซึ่งนำมาสู่แอคชั่นของอาจารย์จนเป็นที่ฮือฮา นั่นคือการฉีกบัตรเลือกตั้ง จนถึงวันนี้อาจารย์จะอธิบายเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างไร
การยุบสภาก็มี 2 ทฤษฎี ทฤษฎีหนึ่งเป็นสิ่งที่ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน เคยอธิบายให้ผมฟังตอนขึ้นเวทีครั้งหนึ่งหลังจากที่ผมฉีกบัตร คุณอุทัยบอกว่า ยุบสภาเป็นยาสามัญประจำบ้าน เกิดปัญหาอะไรก็ยุบได้หมดแหละ อันนั้นเป็นความเข้าใจของท่าน ท่านก็เป็นนักการเมืองอาวุโส เป็นประธานรัฐสภามาแล้ว
แต่ที่ผมศึกษามามันไม่ใช่ เพราะในรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้เลย เพราะเราเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การยุบสภาเริ่มที่อังกฤษ ที่มีรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เลยยุบตามประเพณีที่สั่งสมกันมา โดยมีเงื่อนไขอยู่ 5-6 ประการ ก็แปลกนะการยุบสภาก่อนยุคคุณทักษิณ (24 กุมภาพันธ์ 2549) เป็นไปตามประเพณีการปกครองของอังกฤษเลย
แต่การยุบสภาของคุณทักษิณเป็นกรณีแรกที่อ้างว่าเกิดการประท้วง เพราะเขาโดนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น ซึ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในครอบครัว ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล ถ้าเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ต้องเถียงในสภา แล้วถ้าหาข้อยุติไม่ได้ก็พากันไปให้ประชาชนเขาตัดสิน
ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวของแกไปให้ประชาชนเขาตัดสินได้ยังไง สิ่งที่ควรทำคือเปิดประชุมให้มีการอภิปราย เทียบเคียงกับกรณีที่คล้ายกันมากคือ ปี 2559 ในอังกฤษ เมื่อ นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ถูกแฉจากกรณีปานามาเปเปอร์ ไปซื้อขายหุ้นนอกอังกฤษที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น แล้วคนก็ด่าเช็ดว่า ทำไมไม่เสียภาษีให้ประเทศ สิ่งที่ เดวิด คาเมรอน ทำคือ รีบเปิดประชุมสภาแล้วให้พรรคเลเบอร์ซักเละเลย ซัดหนัก หยาบคาย และคนอังกฤษก็ไม่ได้ออกมาประท้วง เพราะเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบนายกฯ ในสภา นายกฯ ต้องมีสปิริต มีจริยธรรมทางการเมืองพอ แต่ของเราพอพรรคประชาธิปัตย์จะเปิดอภิปรายทั่วไป กลับเสียงไม่ถึง
ทำไมอาจารย์จึงฉีกบัตรเลือกตั้ง
ผมไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาเพื่อการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งคือการไปฟอกตัว เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคะแนนเสียงแกชนะแน่นอน แต่ถ้าให้ผมกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนก็แปลว่าผมไม่พอใจผู้สมัคร เหมือนกับเลือกตั้ง อบจ. ล่าสุดที่ระนอง มีคนสมัครคนเดียวจากทีมระนองก้าวหน้า ชาวบ้านก็ไม่ลงคะแนนให้ชนะ
แต่ปี 2549 ผมไม่ได้ชอบผู้สมัคร ผมไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนั้น นี่จึงเป็นที่มาในการเขียนหนังสือ ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตอน ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี (แกนนำเยาวชนปลดแอก) เรียกร้อง 1. หยุดคุกคามประชาชน 2. ประกาศยุบสภา 3. เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ พอพูดวันแรก ก็มีสื่อจะมาสัมภาษณ์ผม ผมต้องโทรไปถามทัตเทพเลยว่า
“ฟอร์ด ตกลงคุณจะให้เขายุบสภาหรอ ถ้ายุบสภาแล้วไม่แก้รัฐธรรมนูญนี่ นายกฯ คนเดิมนะ”
ข้อเสนอนี้คล้ายๆ เขาเรียงลำดับผิด เพราะอยู่ดีๆ จะไปยุบสภาไม่ได้เพราะไม่มีเงื่อนไข
สุดท้าย อาจารย์มีจุดยืนอย่างไรต่อการรัฐประหาร 2557
ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 2557 ผมไม่เห็นด้วยกับ กปปส. ใครมีรูปถ่ายที่ผมไปชุมนุม กปปส. หรือเห็นผมเป่านกหวีด ช่วยส่งมาด้วยแต่ห้ามตัดต่อ เพราะ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาถูกต้อง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ลาออกหมดเลย สภาทำงานไม่ได้หรอก ก็ต้องเลือกตั้งใหม่
แต่ผมไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เพราะเดือนสิงหาคม ก่อนที่ คุณวรชัย เหมะ จะเอาเรื่องนี้เข้าสภา ผมและนักวิชาการอีก 11 คน มาจากหลายมหาวิทยาลัย บอกว่าเห็นด้วยกับร่างแรก แต่อย่าสอดไส้นะ ผมชวนอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์คนหนึ่ง อาจารย์หนุ่มๆ หล่อๆ และอาจารย์ที่รามคำแหง เขาก็บอกว่า “ไม่ต้องห่วงหรอกอาจารย์ ผมไม่เซ็นแต่ผมคิดว่าเพื่อไทยไม่โง่หรอก” แต่ต่อมา ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ก็สอดไส้เข้าไปและมีการลักหลับตี 3 ตี 4
เมื่อวุฒิสภาเขาไม่รับแล้ว ก็ตีตกไป แต่ตอนที่พวกต้าน พ.ร.บ.เหมาเข่ง ไปตั้งเวทีอยู่ที่สามเสนก่อนที่จะกลายเป็น กปปส. ตอนนั้นประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งลาออกไปแล้ว ก็มาเชิญผมไปขึ้นเวที ผมก็คิดว่าไม่เชื่อหรอก จะเอาผมไปอารยะขัดขืนแน่นอนเลย ถ้าผมจะไป ผมก็ถามคำเดียวว่า “คุณจะเลิกชุมนุมเมื่อไหร่ ถ้าเขายุบสภา คุณจะหยุดไหม” คุณวิทเยนทร์ มุตตามระ ก็บอกว่าไม่ทราบ สักพัก คุณสาธิต วงศ์หนองเตย ก็โทรมา ผมก็ถามกลับคำเดียวกัน แกก็บอกว่าไม่ทราบ บอกว่า “แล้วแต่คุณสุเทพ” สุดท้าย กรณ์ จาติกวณิช โทรมา ผมก็ถามคำถามเดิม คุณกรณ์ก็ตอบว่า “ตัวผมหยุด แต่ผมไม่รู้ว่าพี่น้องประชาชนจะหยุดไหม” ผมก็บอกว่าไม่จริงครับ เพราะถ้าคุณยุบเวที ไม่มีอาหาร เขาอาจจะด่ากันเช็ด เพราะอารมณ์กำลังขึ้น ผมก็เลยไม่ไป
คุณไปดูบทความที่ผมเขียนในปีนี้ชื่อ ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็ว่ากันด้วยสงครามกลางเมือง ผมไล่ลำดับเวลาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ผมบอกเลยว่าทำรัฐประหารอันตรายมากเลยนะ เพราะถ้าคุณทำปฏิรูป การปรองดองไม่สำเร็จ สงครามกลางเมืองนะ แล้วผมก็บอกว่าอย่าสืบทอดอำนาจนะ แล้วคุณทำหมดเลย นี่คือจุดยืนผม ผมไม่เห็นด้วย
อาจารย์พร้อมที่จะไปชุมนุมชู 3 นิ้วกับคนหนุ่มสาวไหม
ไม่ บอกเขาว่าให้ชัดเจนว่าจะเอาอะไร อย่างการที่เพนกวินไปยืนใส่ชุดครอปท็อปจำลองภาพที่ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน มีข้อความที่มันเหมือนคนเกลียดคนโกรธกันไม่เหมือนการประท้วงทางการเมือง ผมบอกเนติวิทย์ กับทัตเทพว่า หยุดอย่างชัดเจน มีเป้าหมายแน่นอน เมื่อประท้วงแล้ว ยื่นหนังสือแล้วรอเวลา ไม่ต้องชุมนุมบ่อย รอเวลาเคลื่อนใหญ่ๆ มาตูมๆ