ในบีทหน่วงหนึบให้ความรู้สึกเหมือนจมอยู่ใต้วังวนอันสิ้นหวัง แร็พเพอร์หนุ่มนาม Liberate P ปรากฏตัวขึ้นเป็นคนแรกของมิวสิควิดีโอยอดวิวกว่า 24 ล้านครั้ง – ‘ประเทศกูมี’
ภายใต้ปีกหมวกและเสื้อยืดดำ ก่อนเข้าบาร์แรก เขาเกริ่นกร้าวด้วยประโยคที่บางคนฟังแล้วฉุนๆ ไม่ค่อยสบายหูนัก
“พวกคุณไม่รู้เว้ย! ว่าประเทศ…นี่แม่งมีอะไร…”
ด้วยความเคารพ, เราไม่เคยรู้สึกอะไรแบบนี้บ้างเลยหรือ อาจเป็นตอนที่ต้องเผชิญสภาพเฮงซวยบนท้องถนนอันติดขัดกลางฝนพรำ อาจเป็นตอนที่เห็นเด็กตัวเล็กหน้าตามอมแมมเร่ขายดอกไม้อยู่ข้างทาง หรืออาจเป็นตอนกระวีกระวาดอยู่กับสภาพพิกลพิการของรถไฟไทย
กระทั่ง อาจเป็นตอนหน้าเหวอขณะดูนักการเมืองหรือท่านนายพลบางคนไม่ยี่หระต่อความเห็นใคร อาจเป็นอย่างไรก็ตามแต่ ระหว่างห้วงอารมณ์ปะทุเหล่านั้น คุณไม่อาจเก็บกลั้นจนต้องสบถระบาย
ประเทศเหี้ยนี่แม่ง!
“มันเป็นฟีลลิ่ง” Liberate P กล่าว ในน้ำเสียงมิได้เจือสำเนียงอยากแก้ตัว
“ถามว่าเป็นศิลปะในการดึงดูดคนฟังหรือเปล่า ก็ไม่เชิง มันก็คือคำหยาบนี่แหละ เป็นคำอุทานที่ไม่ไพเราะ ทว่าความรู้สึกในการพูดไม่ได้มีความหมายว่าเราด่าประเทศ”
ถูกของเขา และหากจับเจตนาดีๆ ความรักต่อบ้านเมืองล้วนแสดงออกได้หลายวิธีมิใช่หรือ อย่างน้อยดึงให้คนออกมาวิพากษ์บ้านเมือง อย่างน้อยกระตุกให้เกิดการวิวาทะ เห็นด้วยหรือไม่ จริงเท็จอย่างไร ก็ว่ากันไปตามสะดวก นั่นแหละวัตถุประสงค์หลัก – เขาพูดประมาณนี้
ส่วนแร็พเพอร์รุ่นพี่อย่าง ดาจิม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว Voice Online ทำนอง
“เรื่องหยาบคาย น้อยกว่าเพลงผมในอดีตมาก สิ่งที่เขามีคือประเด็นที่เข้มข้น”
ถูกแล้ว, เข้มข้นและคงไม่ต้องมานั่งพิสูจน์กันอีกว่า ไรม์กร้าวๆ โดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship สะท้อนความอัดอั้นของสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด จากฉันทามติบนโลกโซเชียล
ยิ่งไปกว่านั้น ดูคล้ายไม่เพียงแค่อึดอัดและเก็บกดกับรัฐบาลทหารชุดนี้หรอก แต่น่าจะหมายย้อนไปถึง ระบบ โครงสร้าง หรือกติกาบางชนิดที่คลุมครอบประเทศมาช้านาน และในวันที่ลมหนาวแรกพัดแตะเนื้อกาย อะไรๆ ก็เย็นลงรวมถึงใจ WAY ชวนคุณออกกำลังความคิดไปบนจังหวะและคำ ในทัศนะของแร็พเพอร์หนุ่มแห่งยุคสมัย
ทำไมพวกคุณต้องแต่งเพลงให้มันกราดเกรี้ยวหรือหยาบคาย ในบริบทของแร็พมันจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
อย่างที่สื่อพาดหัวกันนั่นแหละครับ ว่าพวกเราเป็นศิลปินใต้ดิน ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่ายุคสมัยที่โลกมันเชื่อมถึงกันได้หมดแล้ว คำว่าใต้ดินยังมีอยู่จริงหรือเปล่า ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เพลงหมวดหมู่นี้เป็นอะไรที่ใหม่มาก เอาเข้าจริงๆ ผมว่ายุคนี้เพลงใต้ดินมันสลายไปหมดแล้วด้วยซ้ำ
แต่การที่เราใส่คำหยาบลงไป ส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่เราทำกันอยู่ก่อนหน้าแล้ว เราแค่พยายามรักษาตัวตนของเรา แค่พยายามทำให้เป็นภาษาที่เราพูดกันตามปกติ เหมือนสมัยที่เราทำเพลงกันตามปกติ ไม่ว่าบนดินหรือใต้ดิน ก่อนมาร่วมทำโปรเจ็คต์นี้ด้วยกัน พวกเราไม่ได้คาดหวังว่าในเพลงต้องมีความหยาบคายสูง ไม่ได้ตั้งใจใส่อะไรแบบนั้นลงไปเป็นพิเศษ
ในเชิงศิลปะการประพันธ์เนื้อร้อง มันต้องสื่อถึงความโกรธด้วยใช่ไหมครับ เราโกรธ เนื้อเพลงก็ต้องเป็นแบบนั้น จะให้มาเรียบร้อยคงไม่ได้
ผมว่าแล้วแต่เลย บางคนเขาก็ไม่ได้มีสไตล์ที่แบบโกรธแล้วต้องหยาบ บางคนใช้วิธีจิกกัด ทีเล่นทีจริง บางคนก็พูดขำๆ
ทำไม Rap Against Dictatorship ต้องรวมแร็พเพอร์หลายๆ คน
มันเริ่มจากที่ผมมีเพลงอยู่เพลงหนึ่งชื่อ ‘ประเทศกูมี’ นี่แหละ และอยากแจกจ่ายให้คนอื่นมีส่วนร่วมในการพูดถึงประเทศในมุมที่ตนต้องการสื่อสาร เลยชวนเพื่อนๆ กับพี่ๆ เข้ามาร่วมกันทำโปรเจ็คต์นี้ ชื่อกลุ่มได้แรงบันดาลใจจากวง Rage Against the Machine
สำหรับเรา คำว่า against มันมีพลัง แร็พสามารถพูดเรื่องอื่นได้นอกจากสิ่งบันเทิงอย่างเดียว ในความหมายไม่ใช่ว่าเราปฏิเสธการทำเพื่อความบันเทิง แต่เป็นการพูดเรื่องซีเรียสบนความบันเทิง
โดยจุดประสงค์ของเราคือพูดถึงเผด็จการ สมมุติวันนี้เป็นเผด็จการทหาร หรือวันข้างหน้าอาจเป็นเผด็จการอย่างที่เคยเปรียบว่าเผด็จการรัฐสภา หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็ยังคงคอนเซ็ปต์ตรงนี้ไว้ว่า เราต่อต้านเผด็จการ เลยเลือกใช้คำ dictatorship
มีข้อแม้เบื้องต้นไหมว่า ต้องมีความคิดอ่านทางการเมืองคล้ายๆ กันหมด
ไม่จำเป็นเลยครับ คนที่ชวนมา เลือกจากที่ความคิดเห็นทางการเมืองต่างกันด้วยซ้ำ
เราตั้งเป้าว่าไม่อยากได้คนกลุ่มเดียวกัน ไม่อยากได้คนที่มีแนวความคิดทางการเมืองแบบเดียวกัน เพราะรู้สึกว่า ไม่ได้ช่วยให้เกิดบรรยากาศของการวิพากษ์วิจารณ์ที่ดี ผลงานออกมาก็เป็นแค่คนกลุ่มเดียวพูด
รบกวนยกตัวอย่างคำว่า ‘ต่างกัน’ ภายในกลุ่ม
บางคนมีความคิดไม่ตรงกับผมทุกประเด็น อาจแค่มีจุดร่วมบางอย่างที่เห็นตรงกัน ความต่างตรงนี้เป็นเรื่องของรายละเอียดและสายตาในการมองสังคมการเมือง
อย่างเสือดำที่หลายคนมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง แต่ก็ถูกใส่มาในเนื้อร้อง?
พูดแบบนั้นก็ได้ แต่สำหรับมุมมองของผม เราพยายามแยกมันออกไป ว่าเสือดำไม่ใช่การเมือง เรามองว่าการเมืองคือคนที่อยู่ในสภา หรือคนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศเท่านั้น ผมว่าเป็นการแยกที่ไม่ถูกต้อง เราพูดถึงเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในสังคม มันแตะต้องการเมืองทั้งนั้น ถ้าเราถอยออกมามองให้เห็นถึงโครงสร้างของปัญหา เราจะเข้าใจเลยว่าสิ่งที่เคยคิดว่าไม่ใช่การเมือง มันเป็นการเมือง
เสือดำโดนยิง ทำไมมันถึงโดน ทำไมถึงมีคนเข้าไปในทุ่งใหญ่นเรศวรได้ ผมว่าพวกนี้เป็นคำถามที่ต่อยอดได้ทั้งหมด กระทั่งเด็กนักเรียนโดนไถผมก็ตาม ผมเคยพูดไว้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แค่เราพูดถึงชุดนักเรียน ระบบ SOTUS ก็เป็นการเมืองแล้ว เป็นสังคมการเมือง เพราะมันมีความสัมพันธ์กันหมด อย่าไปแยกว่าการเมืองเป็นแค่เรื่องของคนใส่สูทผูกไทตามภาพจำ
แค่คุณโวยว่ารถติดมันก็คือการเมือง ฉะนั้น อย่าไปคิดว่าเรื่องพวกนี้น่าเบื่อ เราไม่มีทางหนีจากมันได้ จะมีปัญหาเกิดขึ้นเรื่อยๆ กับเรื่องพวกนี้
คล้ายๆ ที่คุณเคยให้สัมภาษณ์โดยย้ำคำว่า ปัญหาเชิงโครงสร้าง?
มันเป็นการพูดถึงการเมืองโดยพยายามทะลุเปลือกนอก เป็นการพูดถึงการเมืองโดยไม่ได้บอกแค่ว่าคนนี้ผิด คนนั้นผิด ให้หยุดทำหน้าที่ไปแล้วทุกอย่างจบ ระบบทั้งระบบมันมีความสัมพันธ์กันเป็นโครงสร้าง รัฐกับประชาชน องค์กรของรัฐเอง หรือภาคประชาชนด้วยกัน ผมว่าทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมดเป็นโครงสร้างใหญ่ ถ้าเราไม่สามารถไปถึงภาพรวมตรงนี้ได้ ย่อมไม่มีทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้
ถ้าจะแก้ปัญหาความยากจนก็ไม่ใช่มานั่งบริจาคกันอย่างเดียว?
อะไรประมาณนั้น
ต้องไปดูรากของมัน?
ใช่ๆ ดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น ความยากจนเกิดจากปัจจัยอะไร เป็นคำถามที่ต้องถามต่อ
ให้มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เนื้อเพลงแร็พบ้านเรา ก่อนที่จะมีการพูดเรื่องการเมืองเข้มข้นอย่างทุกวันนี้ คุณเคยเห็นมันเกิดขึ้นมาก่อนหรือเปล่า
จริงๆ มันมีอยู่เรื่อยๆ นะครับ อย่างช่วงแรกๆ ยุคของ พี่โจ้-โจอี้ บอย เคยมีประเด็นเรื่องของคำหยาบ ผมว่าตรงนั้นแสดงถึงปัญหาสังคมการเมืองแบบหนึ่ง คือเรายังไม่สามารถรับคำหยาบในเพลงได้ มันเกี่ยวพันไปถึงแนวคิดของผู้คนในสังคม ยุคต่อมาก็เป็นของ พี่ดาจิม ที่มีเนื้อหารุนแรงประมาณหนึ่ง ผมว่านั่นก็เป็นเรื่องของสังคมการเมืองเหมือนกัน อาจไม่ได้พูดถึงในแง่การเมืองการปกครอง แต่สะท้อนถึงการเมืองเหมือนกัน
สมัยก่อนบทกวีหรืองานวรรณกรรมถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นปากเป็นเสียง แต่ยุคนี้รู้สึกมันเคลื่อนไปสู่แร็พ คุณเห็นด้วยไหม
ผมว่ามันไม่ใช่การเคลื่อน และแร็พก็ไม่ได้มารับบทบาทนี้ แค่แร็พถูกพูดถึงมากกว่าสื่ออื่น มีความเป็นเมนสตรีมมากขึ้นในบ้านเรา บวกกับเป็นกระแสที่ถูกจับตามองอยู่ก่อน พอแร็พเริ่มหันมาพูดถึงสังคมการเมือง เลยทำให้ถูกกล่าวถึงมากขึ้นไปอีก จริงๆ เพลงประเภทอื่นหรือสื่ออื่นๆ ก็พูดเรื่องทางสังคมได้ ผมไม่สามารถเคลมว่าแร็พเข้ามารับบทบาทตรงนี้
ทำไมแร็พถึงโดนใจคนรุ่นนี้จัง
ผมเกิดมาในยุคของเพลงเร็ว อย่าง โจอี้ บอย ซึมซับมาเรื่อยๆ ผมว่าคนในรุ่นผม ถ้าไม่อินกับ Linkin Park ก็ต้องเป็น Limp Bizkit แล้วค่อยมาแตกแขนงเป็นแร็พ
การใช้ฉากหลังในมิวสิควิดีโอเพลง ‘ประเทศกูมี’ เป็นเหตุการณ์จำลองเมื่อตอน 6 ตุลา 19 สำหรับทางกลุ่มมีความหมายอะไรบ้าง มีคนขุ่นเคืองว่าจะไปรื้อฟื้นขึ้นมาอีกทำไม
การรื้อฟื้นเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้นมา เราอาจต้องไปดูก่อนว่ามันเกิดอะไรในวันนั้น ใน MV จะเห็นว่าช่วงสุดท้ายมีการอธิบายว่า การแตกแยกของประชาชนที่เกิดจากรัฐเข้าไปแทรกแซง มันนำไปสู่อะไร มันนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทำให้ประชาชนทะเลาะกันเอง กระทั่งมีการแทรกแซงของภาครัฐเข้ามาแทนที่เสียงของประชาชน
คำสุดท้ายในเอ็มวี All People Unite ก็เพื่อบอกว่า ประชาชนเรามีสิทธิที่จะแข็งแรงเพื่อต่อกรกับรัฐได้มากกว่าที่เป็นอยู่
เราพยายามหาเหตุการณ์ที่เป็นจุดร่วมของคนทั้งสองฝ่าย แล้วพบว่ามันคือ ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่คนเมือง คนกรุงเทพฯ ชนชั้นกลาง มีการรวมพลังกันสูงในการออกมาต่อต้าน รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทีนี้พอผ่านช่วงนั้นไป เข้าสู่รัฐประหารปี 49 ทุกอย่างเปลี่ยน คนเมืองไม่ได้แบนทหารอีกแล้ว อาจเป็นด้วยสภาวะหลายๆ อย่าง เราก็พยายามจุดประกายตรงนี้ขึ้นใหม่ว่า ต้องตื่นตัวกันแล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ตอนปี 49 คุณทำอะไรอยู่
ปี 49 ผมอยู่ราวๆ ม.5-ม.6
รับรู้เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว?
เริ่มตามแล้ว ตามว่าเรากำลังมีรัฐประหารนะ มีการเอารถถังออกมา
แล้วตอนรัฐประหารปี 57 รู้สึกต่อต้านไหม
มองว่าไม่ได้เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ ไม่เหมือนตอนปี 49 ตอนนั้นระยะห่างจากพฤษภาทมิฬเมื่อปี 35 นานพอสมควรจนแบบ เฮ้ย! มันเกิดขึ้นอีกแล้วเหรอวะ แล้วเราก็อินกับประวัติศาสตร์ 14 ตุลามาก่อนด้วย เลยมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องนะ เหมือนเป็นการเล่นนอกกติกา แล้วพอมาเกิดช่วงปี 57 จากการที่ตามการเมืองมา คล้ายๆ เรารู้อยู่แล้วว่า ยังไงต้องเกิดขึ้นสักวันหนึ่งแน่นอน
ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในแง่ไหน
ไม่เห็นด้วยกับการเล่นนอกกติกา นอกระบบ ผมไม่เชื่อว่าการล้มกระดานจะนำไปสู่ทางออกได้
ตัวมิวสิควิดีโอมีประโยชน์ต่อการที่ 6 ตุลา ยังเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยถูกชำระสะสางด้วยหรือเปล่า
ในแง่ที่เอามาใช้ใน MV ใช่ไหมครับ
ใช่ครับ เหมือนที่พูดๆ กันว่าประเทศเรามีวัฒนธรรมลอยนวล
คิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนแตกแยก เพราะรัฐแทรกแซง
อยากให้เด็กหรือคนรุ่นหลังๆ ได้รับรู้เหตุการณ์นี้ไหม
ผมว่าตัวเหตุการณ์ไม่ได้ปิดลับอะไรขนาดนั้นแล้ว ช่วงหลังถูกสื่อเปิดขึ้นเยอะ เราไม่ใช่เจ้าแรกที่เอาเรื่องนี้มาพูด ผมเลยไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการพยายามเอาเรื่องนี้ไปให้ใครดู มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ใหม่แล้วในความจริง
ในเพลง ‘ประเทศกูมี’ ได้ยินว่าสมาชิกทุกคนแยกกันแต่งเนื้อมา?
ใช่ครับ แต่เราจะคุยกันว่าแต่ละคนกำลังพูดถึงอะไรอยู่ เรากำลังแต่งเพลงเพื่ออะไร จริงๆ ไม่เชิงว่าพูดถึงอะไร แต่เป็นเรากำลังทำเพื่ออะไร หลักๆ ก็เหมือนที่ผมเคยพูดว่าเราทำเพื่อหาจุดยืนร่วมทางสังคมของประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างกัน แต่ไม่จำเป็นต้องแบ่งฝ่ายกัน ฝ่ายนี้พูดได้แค่เรื่องนี้เท่านั้น ใครอยากพูดเรื่องไหนก็ได้
ให้โจทย์ไปคร่าวๆ ไหม
โจทย์หลักๆ คือเราพยายามสื่อสารกับประชาชนด้วยกัน สื่อสารว่าประเทศมันมีปัญหาอะไร คือถ้าฟังผ่านๆ อาจคิดว่าเราด่าอย่างเดียวใช่ไหมครับ แต่จริงๆ ในจุดประสงค์ เราไม่ได้ต้องการด่าอย่างเดียว เพราะมันไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ได้ทำให้คนตื่นตัว เราอยากพูดแล้วให้คนรู้สึกว่าต่อยอดได้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
การเลือกตั้งสำคัญกับคุณอย่างไร
สำคัญตรงที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราพึงมีในการเลือกผู้นำประเทศ แค่นั้นเองครับ ไม่ได้บอกว่าเรามีการเลือกตั้งแล้วจะเป็นประชาธิปไตย มันเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของประชาธิปไตย
ไม่ผิดที่จะรักนักการเมือง?
ผมไม่ได้รักนักการเมือง ไม่ได้มีพรรคการเมืองในใจด้วยซ้ำ ตอนเด็กกว่านี้เคยผูกตนเองไว้กับนักการเมืองกับพรรคการเมือง แต่ว่า… อันนี้ผมตอบในแง่ส่วนตัวนะ พอถึงจุดจุดหนึ่ง ได้เห็นอะไรที่กว้างขึ้น ผมมองในตัวไอเดีย และยึดอยู่ที่หลักการมากกว่า
ประโยคหนึ่งที่ขึ้นตอนท้ายมิวสิควิดีโอ ‘การแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย คือไม้ตายของอำนาจรัฐที่ฝักใฝ่เผด็จการ’ อยากให้ช่วยขยายความ
เราคุยกันว่ามันเป็นตัวช่วยที่ทำให้เพลงสื่อสารได้ชัดขึ้น การแต่งเนื้อแร็พแม้เป็น free word ทว่ามันก็มีข้อจำกัดของมันอยู่ ไม่สามารถทำให้คนเข้าใจได้ชัดเจน ตรงนี้เลยเป็นตัวเสริมในการพยายามบอกว่า เราทำไปทั้งหมดเพื่ออะไร กำลังพูดถึงใคร เราบอกว่าประชาชนควรสามัคคีกัน เพื่อกันบางสิ่งซึ่งกำลังแทรกแซง
คนที่ไม่รู้สึกว่าตนอยู่ในระบบเผด็จการ คุณมีคำตอบให้ตรงนี้อย่างไร
เพลงคือการสื่อสาร คือการพยายามทำให้ผู้คนตื่นตัวกับสิ่งที่ขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย
เรื่องดีๆ ทำไมไม่พูด?
เรื่องดีๆ พูดกันมาเยอะแล้ว เราพูดเรื่องไม่ดีไม่ได้หมายความว่าต้องการด่าทอประเทศ หรือทำร้ายประเทศ และเท่าที่รู้ เราไม่ใช่คนแรกที่พูด แค่พยายามหยิบประเด็นในสังคมขึ้นมาเล่าเท่านั้นเอง อย่างน้อยก็ให้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง
หรืออย่างน้อยๆ เรื่องที่ผมพูดไป หากมีคนไม่เห็นด้วยแล้วออกมาด่าผม ออกมาด่าเพลงว่ามันเป็นเท็จ นั่นแปลว่าเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันแล้ว แค่นั้นเองครับ แค่นี้เลย
ด่าหรือชมก็ได้ ไม่มีปัญหา?
ใช่ ถือเป็นจุดประสงค์ของเราเลย แค่ต้องการให้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมือง แค่คนออกมาพูดก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนอีกอย่างที่ผมอยากเสริม อาจไม่เกี่ยวกับที่ถาม คือจากผลตอบรับ จากฟีดแบ็คที่ออกมาค่อนข้างเกินความคาดหมาย เรารู้สึกน้ำตาจะไหล ที่เห็นคนความคิดแตกต่างกันมากมาย เข้ามาให้กำลังใจเรา
แม่ง… น้ำตาจะไหลจริงๆ อันนี้ไม่ได้ประชดนะ ส่วนตัวเลย ผมค่อนข้างมีความเครียดสูงกับเรื่องที่ถูกรัฐพูดถึง พอเจอฟีดแบ็คแบบ พี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค เราแบบ โอ้โห ตื้นตัน ไม่น่าเชื่อว่าเราทำให้เขาออกมาพูดถึงในแง่สนับสนุนประมาณหนึ่งได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยกับเราทั้งหมดนะ แต่หมายถึงก็ยังกล้าที่จะออกมาพูดถึงเรา
จากกระแสที่โถมใส่ทั้งบวกและลบ คุณมองเห็นอะไรอยู่ข้างหน้าบ้าง
จริงๆ มันไม่เกี่ยวกับบวกหรือลบ แค่คนออกมาพูด เราก็มองเห็นข้างหน้าแล้ว ว่าตอนนี้สังคมตื่นตัวกันมาก กับสารที่เราสื่อออกไป ซึ่งเป็นจุดประสงค์แรกๆ ในการทำโปรเจ็คต์นี้ออกมา
ผลออกมาเกินความคาดหมายแบบนี้ ผลงานลำดับถัดไป ต้องยั้งๆ หน่อยไหม
ต้องรอติดตาม แต่ต่อให้มันไม่ดัง ต่อให้ไม่เกินความคาดหมาย มียอดวิวหลักหมื่น เราก็ยังทำต่อนะ อันนี้เป็นแผนแรกๆ ที่คิดกันอยู่แล้ว เราไม่ใช่แอคติวิสต์ เป็นนักแต่งเพลง นักทำเพลง
เหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าอาจเปลี่ยนแปลงประเทศในแบบอื่นไม่ได้ แต่ก็จะทำงานทางความคิด
ใช่ครับ ทั้งนี้ในความเป็นจริงมันก็มีหลายปัจจัย เพลงมีขีดจำกัดของมัน
แต่ว่าขึ้นหน้า 1 ไทยรัฐ เลยนะครับ
ครับ
เคยคิดไหมว่าชีวิตนี้จะได้ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์
ไม่เคยคิดเลย แค่ตอนได้ลงนิตยสารแม่งก็คือแบบอะไรที่ไม่คาดคิดแล้ว พอเจอหนังสือพิมพ์ หนักขึ้นไปอีก
ในใจกลัวหมายเรียกอะไรพวกนี้ไหม
ทำใจได้มากขึ้น ความสุขมันมาจากที่ได้เห็นคนมากมายเข้าใจและรับสารจากเราได้ ส่วนเรื่องความทุกข์ก็นั่นแหละครับ เรื่องว่าจะโดนหมายเรียกหรือเปล่า ซึ่งตอบไม่ได้เลย
ทราบมาว่ามีมุกหนึ่งที่คุณไม่ชอบ ประมาณจะเอาข้าวผัด เอาโอเลี้ยงไปเยี่ยม
ไม่เชิงไม่ชอบ แต่ผมว่ามันเป็นการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นข้างในลึกๆ คือพอเราแตะการเมืองปุ๊บ ต้องมีมุกแบบนี้มาแล้ว เป็นการสร้างความกลัวโดยใช่เหตุ ผมยังคิดนะว่าเพลงไม่ได้รุนแรงขนาดทำร้ายประเทศ อาจเป็นเพราะมีใครมาพูดถึงหรือเปล่า เลยทำให้เหมือนเพลงทำร้ายประเทศ
รัฐควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้?
ใช่… รัฐควรเป็นของประชาชน ไม่ใช่ประชาชนเป็นของรัฐ
เห็นสมาชิกบางคนเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊คเป็นประโยค ‘แร็พไม่ใช่อาชญากรรม’
ถ้าการพูดเป็นอาชญากรรม ผมว่ามันผิดปกติแล้ว