จงงมงายในวิทยาศาสตร์

_DSC3900--

เรากำลังสังเกตการเดินหมากรุกของจักรวาลอยู่ และพยายามจะเข้าใจว่ากฎของมันคืออะไร เผื่อว่าสักวันหนึ่งเราอาจเข้าใจก็ได้ว่า เกมนี้มันสร้างขึ้นมาทำไม

ไม่ผิดที่มนุษย์เราจะมีความเชื่อ เพราะบางแง่มุมของความเชื่อก็ช่วยให้มนุษย์มีหลักยึดภายใน ไม่ให้ชีวิตเลื่อนไหลไปตามแรงเหวี่ยงภายนอก แต่หากความเชื่อนั้นไม่มีที่มาที่ไป ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุและผล หรือกระทั่งสวนทางกับข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยอมรับในสากล ความเชื่อประเภทนั้นย่อมพาให้ดิ่งลงเหว ยิ่งหากรวมกันเป็นคนหมู่มาก ยิ่งกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ ‘สังคมอุดมความเชื่อ’ และอาจวิวัฒนาการถอยหลังไปสู่ยุคสมัยแห่งความมืดบอด

สิ่งเดียวที่จะช่วยขับไล่ความไม่รู้คือ ‘ความรู้’ แต่ความรู้ในที่นี้ไม่ได้ผุดบังเกิดขึ้นเองจากการระลึกชาติ หากเกิดจากการสังเกต ตั้งข้อสงสัย และค้นหาคำตอบ

ว่ากันว่าดาราศาสตร์คือองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชุดแรกๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับอารยธรรมโลก นับตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มแหงนหน้ามองดาวบนท้องฟ้า นำมาซึ่งนวัตกรรมยิ่งใหญ่มากมาย

น่าเสียดายที่นักดาราศาสตร์ผู้ทำหน้าที่ไขความลับแห่งจักรวาล ในประเทศไทยมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว มติพล ตั้งมติธรรม เป็นหนึ่งในนั้น

มติพลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ประจำศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ (public outreach) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นทั้งคนเฝ้าดูดาวและถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก จนเว็บไซต์ Astronomy Picture of the Day (APOD) ขององค์การ NASA ต้องขอหยิบยืมผลงานไปเผยแพร่

แม้โดยสายอาชีพ เขาคือนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ที่มีหน้าที่หลักคือการตั้งสมมุติฐานและแก้สมการให้กับทุกเรื่องที่สงสัย แต่งานประจำของเขาก็ผูกโยงกับงานด้านการศึกษาอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งการจัดค่ายเยาวชน ชุมนุมดาราศาสตร์ จัดอบรมครู เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความสนใจทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ใครบางคนอาจพูดว่า “อย่างมงายในวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง” แต่มติพลเป็นคนหัวดื้อ เขายืนยันว่าทุกอย่างย่อมสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ผิดจากนี้ไม่ใช่ของจริง

อะไรที่ทำให้ชื่นชอบในวิทยาศาสตร์

ที่จริงแล้วผมสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ ชอบอ่านเรื่องจักรวาลวิทยา ทฤษฎีบิ๊กแบง ทฤษฎีสตริง แต่เกลียดฟิสิกส์มาก รู้สึกว่าฟิสิกส์เป็นเรื่องที่เราเข้าใจมันไม่ได้ คือสนใจ ชอบอ่าน แต่ไม่คิดว่าจะเอาดีทางด้านนี้ พอมีโอกาสได้ไปเรียนอเมริกา ผมกลับค้นพบว่าจริงๆ แล้วผมไม่ได้เกลียดฟิสิกส์ แต่ผมเกลียดการเรียนฟิสิกส์ตามหลักสูตร ม.ปลาย ซึ่งมีการตัดทอนหลายๆ อย่างจนแทบไม่รู้ว่าฟิสิกส์คืออะไร

เดิมทีผมชอบเรียนเคมี เพราะมันทำให้เราอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ ในขณะที่ฟิสิกส์ผมไม่เห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตเรายังไง แต่นั่นเป็นเพราะว่ามันถูกตัดทอนเสียจนไม่เห็นความเกี่ยวข้องอะไรเลย ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเรียนให้ลึกลงไปจะพบว่าทุกอย่างมันอธิบายได้ด้วยฟิสิกส์ ถ้าเห็นท้องฟ้าเป็นสีแดงตอนดวงอาทิตย์ตก นอกจากความสวยแล้วผมสามารถบอกได้ว่าทำไมมันถึงเป็นสีแดง เพราะมันมีอนุภาคเยอะใช่ไหมถึงทำให้แสงกระเจิงมากกว่าปกติ ถ้าเราอธิบายได้ มันก็ทำให้เราชื่นชอบในสิ่งนั้นมากขึ้น

สมมุติว่ามีหมาอยู่หนึ่งตัว ถ้าเข้าใจชีววิทยา เราจะเข้าใจร่างกายของหมาตัวนี้ได้ แต่นักชีวโมเลกุลอาจจะบอกว่า ถ้าเข้าใจหลักการทำงานของเซลล์ก็จะเข้าใจสิ่งนั้นได้ ส่วนนักเคมีก็บอกว่าถ้าเข้าใจปฏิกิริยาเคมีภายในสารชีวโมเลกุล คุณก็จะเข้าใจสิ่งนั้นได้ แต่นักฟิสิกส์จะบอกว่าถ้าคุณเข้าใจแรงที่เกิดขึ้นระหว่างอะตอม คุณก็จะเข้าใจสิ่งทั้งหมดได้ ซึ่งผมชื่นชอบที่จะเข้าใจอะไรให้มันลึกลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ตอนแรกที่ผมคิดว่าทุกอย่างประกอบด้วยเคมี แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีหลายอย่างที่เคมีไม่ได้อธิบายต่อ เพราะมันหยุดอยู่ที่ขนาดของอะตอม มันไม่เข้าไปลึกกว่านั้น

ผมจึงกลับมาตั้งใจเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ใหม่อีกรอบหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าจริงๆ เราก็เรียนได้ พอเราเริ่มเข้าใจว่าฟิสิกส์คืออะไร ก็เลยเริ่มชอบมัน สนุกกับมัน

จริงๆ แล้วจุดมุ่งหมายของวิชาฟิสิกส์คืออะไร

ถ้าให้ตอบง่ายๆ ฟิสิกส์เป็นเรื่องของแรงที่กระทำระหว่างสสาร ในจักรวาลนี้มีแรงอยู่สี่แรง คือแรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง แรงนิวเคลียร์อ่อน แรงนิวเคลียร์เข้ม สิ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ แรงแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงโน้มถ่วง บางทีเราอาจจะคิดว่าแรงโน้มถ่วงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรามากที่สุด แต่จริงๆ แล้วแรงที่น่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตเรามากที่สุดก็คือแรงแม่เหล็กไฟฟ้า ร่างกายเรายืนอยู่บนโลกได้เพราะแรงแม่เหล็กไฟฟ้า สาเหตุที่ตัวเราไม่ทะลุลงไปในโลกก็เพราะแรงแม่เหล็กไฟฟ้าของเก้าอี้มันผลักดันกับอิเล็กตรอนที่ก้นของเรา นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ผมชอบฟิสิกส์ เพราะมันอธิบายอะไรต่างๆ ได้

จะโทษระบบการศึกษาได้ไหมว่า ก่อนที่จะให้นักเรียนเรียนอะไรควรอธิบายสักหน่อยว่าเรียนไปเพื่อให้เข้าใจอะไร

ถูกต้องครับ อันนี้ค่อนข้างสำคัญ ระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่พูดแล้วยาว (หัวเราะ) คือปัญหาของการศึกษาไทยค่อนข้างชัดเจนในหลายๆ แง่ แม้กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทยก็ต้องให้เครดิตว่าเขาเข้าใจปัญหาพอสมควร เพียงแต่วิธีแก้อาจจะยังไม่ถูกต้อง วิธีแก้นี่เป็นสิ่งที่ยากที่สุด บางทีพอเจอปัญหาแล้วก็ไม่รู้จะแก้ยังไง

จากประสบการณ์ของผมเองที่เคยเกลียดฟิสิกส์ ทั้งที่จริงแล้วถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องก็สามารถทำได้ ถามว่าผมโทษระบบการศึกษาไหม ผมโทษพอสมควร ส่วนตัวผมเห็นว่าระบบการศึกษามีปัญหาอยู่มาก ด้วยความที่ผมโตมาแบบนักเรียนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ และได้เปรียบเทียบกับการเรียนที่สหรัฐอเมริกา ผมสามารถเห็นความแตกต่างนี้พอสมควร

อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญและสมควรแก้คือ เด็กไทยคิดไม่เป็น จริงๆ มันเป็นปัญหาที่ใกล้เคียงกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกซึ่งอยู่ภายใต้ลัทธิขงจื๊อ ขงจื๊อสอนว่าต้องเคารพผู้ใหญ่ ต้องเรียนแบบนกแก้วนกขุนทอง อย่าเพิ่งสงสัย ให้ท่องจำไปก่อน ซึ่งมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อเสียที่เห็นชัดคือเด็กคิดไม่เป็น เราภูมิใจกันมากว่า เด็กไทยเรียนเยอะ เรียนเก่ง ไปแข่งขันได้รางวัล แต่ตลอด 12 ปีที่อยู่ในโรงเรียน เด็กไทยได้ฝึกเพียงแค่ทักษะในการตอบคำถาม ไม่ใช่การตั้งคำถาม เพราะนี่คือสิ่งที่เราใช้วัดผล เราวัดผลด้วยเกรด สิ่งเดียวที่ข้อสอบเอนทรานซ์วัดได้ก็คือ ความสามารถในการทำข้อสอบเอนทรานซ์

ปัญหาอยู่ที่เราวัดผลกันที่ทักษะการตอบคำถาม แต่ขณะเดียวกันเด็กไม่ได้ฝึกทักษะในการตั้งคำถามเลย เราอาจจะรู้สึกว่าเด็กเก่ง เกรดดี แต่ถามจริงๆ ว่าเมื่อโตขึ้นไปทำงาน สมมุติเจ้านายถามในที่ประชุมว่าใครมีไอเดียอะไรบ้าง ทักษะแบบนั้นจะมีประโยชน์อะไรไหม ต่อให้เด็กเกรดดีแค่ไหน แต่ถ้าถึงเวลาแล้วคิดไม่เป็นเลย ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้าบริษัทเอกชนไทยรับเด็กเหล่านี้เข้าไปแล้วจะสู้บริษัทต่างชาติได้ยังไง มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ถ้าใครเคยเลี้ยงเด็กมาก่อนจะรู้เลยว่า เด็กเล็กๆ ทุกคนมีแต่คำถามเต็มไปหมด แต่ทันทีที่เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา เด็กหยุดถามทันทีเลย ผมจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์มาหลายครั้งเห็นชัดเจนเลยว่า ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ จะถามตลอด นี่อะไร นั่นอะไร แต่พอเป็นเด็กมัธยมมา พี่ครับๆ ช่วยเซ็นลายเซ็นให้หน่อย ครูสั่งมา หรือไม่ก็เอากระดาษมายืนจดๆ ฉะนั้นจากประสบการณ์ผมเห็นชัดเจนมากว่า สิ่งที่มันทำลายการตั้งคำถามของเด็กคือระบบการศึกษา

_DSC5668--

มีคำพูดหนึ่งของ มาร์ค ทเวน ที่ผมชอบมากและจำได้ทุกวันนี้ “Don’t let school interfere with your education.” คือ โรงเรียนกำลังขัดขวางการเรียนรู้ เราเสียเวลาไปเกือบ 12 ปีกับโรงเรียนสายสามัญ โดยไม่ได้ฝึกทักษะการตั้งคำถามเลย ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเรายังสอนกันแบบนกแก้วนกขุนทอง ใครสอนอะไรมาเราก็เชื่อ โดยไม่รู้จักตั้งคำถาม ใครบอกว่ามีพญานาคผุดขึ้นมาเราก็เชื่อ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันโยงไปได้ทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการเมืองก็ตาม เราแชร์ข่าวตามๆ กันโดยไม่ฉุกคิด แม้กระทั่งแชร์ข่าวลวงโลกทั้งหลาย เช่น ดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์ ถ้าคิดสักนิดหนึ่งก็รู้แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วถามว่าเคยเห็นไหม ก็ไม่เคย (หัวเราะ)

ถ้าเราบอกว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แล้วเด็กที่ไม่ตั้งคำถามในวันนี้ ลองคิดดูแล้วกันว่าจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนตัวผมเองอาจจะเรียกว่าเป็นคนประหลาดก็แล้วกัน ถึงแม้ผมจะโตมาในระบบนี้ แต่ผมถามไม่หยุดมาตั้งแต่เด็กแล้ว ทุกๆ เทอมผมจะโดนอาจารย์เกลียดขี้หน้าอย่างน้อยหนึ่งคน เพราะผมชอบถามคำถามที่อาจารย์ไม่ชอบให้ถาม แม้กระทั่งเพื่อนเองก็ไม่ชอบ เพื่อนผมเคยมาบอกว่าหยุดถามได้มั้ย มันรบกวนคนอื่น

ปัญหาการศึกษาอีกอย่างคือ คลาสเราใหญ่มาก อย่างโรงเรียนเอกชนดังๆ ห้องหนึ่ง 50 กว่าคน ถ้ามีคนหนึ่งถามก็เท่ากับการเรียนของคนอีก 49 คนต้องชะงักไป ในขณะที่คลาสต่างประเทศหรือโรงเรียนนานาชาติมีประมาณ 20 กว่าคน จะเห็นว่าแค่ขนาดคลาสก็มีผลต่อการตั้งคำถามมาก แม้กระทั่งผมเองเวลาเป็นวิทยากร ถ้ามีคนมากกว่า 30 คน พอถามไปก็ไม่ค่อยมีใครอยากตอบ เพราะรู้สึกมีแรงกดดันจากเพื่อนๆ ทำให้ไม่กล้ายกมือ ไม่กล้าถาม

จากความสนใจด้านวิทยาศาสตร์กลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นนักดาราศาสตร์ได้อย่างไร

ย้อนกลับไปสมัยที่เรียนคอร์แนล จริงๆ ก็สนใจฟิสิกส์อยู่ เพียงแต่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ และไม่เคยคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะทำได้ แต่พอรู้ว่าวิชาเคมีที่เคยชอบมันไม่ได้ตอบโจทย์ของเราอีกต่อไปแล้ว จากเดิมที่คิดว่ามันให้คำตอบทุกอย่าง สุดท้ายคำตอบที่ต้องการจริงๆ มันอยู่ในฟิสิกส์ พอจบ ป.ตรี แล้วจึงได้ไปต่อสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องจักรวาลวิทยา

งานของนักดาราศาสตร์คืออะไร

จริงๆ ต้องเรียกว่าเป็นนักทฤษฎี ลองนึกภาพเหมือนในหนังว่านักทฤษฎีทำงานยังไง อันดับแรกก็คือ มีกระดานดำกับชอล์ก แล้วก็เขียนสมการยาวๆ เสร็จแล้วก็เอาสมการนั้นไปใส่ในคอมพิวเตอร์ แล้วก็นั่งหน้าจอเขียนโค้ด แก้บั๊ก เพื่อทดสอบสมการนั้นกับสิ่งเราเห็น นี่คือสิ่งที่นักทฤษฎีทำ ฉะนั้นโดยสายอาชีพแล้วผมไม่จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์เลย ไม่จำเป็นต้องดูดาวเลย

_DSC3333

หมายความว่านักดาราศาสตร์อาชีพจริงๆ ไม่จำเป็นต้องดูดาวเป็น?

ไม่ต้องเลยครับ เล่าให้ฟังนิดหนึ่ง ตอนผมทำชุมนุมดาราศาสตร์ จะมีคนชอบถามว่าผมเป็นนักดาราศาสตร์เหรอ บางคนก็คิดว่าทำงานอยู่หอดูดาวก็ต้องเป็นนักดาราศาสตร์สิ แล้วผมก็จะตอบอย่างนี้ทุกครั้งเวลาที่มีคนถาม ว่าคุณรู้ไหม นักดาราศาสตร์อาชีพกับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นต่างกันยังไง ต่างกันตรงที่สองคนนี้มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่ใช้กล้องดูดาวกับดูกลุ่มดาวเป็น แต่คนคนนั้นคือนักดาราศาสตร์สมัครเล่น

นักดาราศาสตร์อาชีพส่วนมาก อย่างเพื่อนๆ ผมที่เรียนคณะเดียวกันก็ดูกลุ่มดาวไม่เป็น ไม่เคยใช้กล้องดูดาว อันนี้เป็นธรรมดาที่คนมักคิดว่านักดาราศาสตร์จะต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ แต่จริงๆ ไม่ใช่ บางคนก็คิดว่านักดาราศาสตร์ต้องชื่นชอบการดูดาวด้วย เพื่อนผมเรียนทางด้านศูนย์กลางทางช้างเผือก ถามว่าแล้วศูนย์กลางทางช้างเผือกอยู่ตรงไหนบนท้องฟ้า ตอบไม่ได้ ชี้ไม่ถูก เพราะงานของเขาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เอาข้อมูลมานั่งวิเคราะห์ นี่แหละคือดาราศาสตร์

ถ้าเปรียบเทียบคำว่าอาชีพกับสมัครเล่น ลองนึกง่ายๆ เหมือนนักมวยปล้ำ คนที่เข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกเขาเรียกนักมวยปล้ำสมัครเล่น แต่คนที่ทำท่าชกแล้วกระทืบเท้าดังๆ เป็นซาวด์เอฟเฟ็คท์ นั่นล่ะคือนักมวยปล้ำอาชีพ

ทีนี้คำว่าสมัครเล่น หรือ amateur มันแปลว่าทำด้วยใจรัก อาจจะเพื่อค้นหาความสวยงามที่ตัวเองต้องการ ดูแล้วมันฟิน อยากจะส่อง อยากจะพัฒนาตัวเอง อยากจะเห็นอะไรแปลกๆ ในขณะที่นักดาราศาสตร์มืออาชีพคือนักวิทยาศาสตร์ คือคนที่ต้องการหาคำตอบอะไรบางอย่าง อยากจะเข้าใจว่าดวงดาวมันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ถามว่าจำเป็นไหมที่จะต้องรู้ว่าแต่ละกลุ่มดาวหน้าตาเป็นยังไง…ไม่จำเป็น กลุ่มดาวที่เราท่องๆ กันอยู่ เด็กที่แข่งดาราศาสตร์โอลิมปิกก็ท่องกัน เอาเข้าจริงแล้วไม่ต้องใช้ ท่องไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้าอยากรู้ชื่อดาว คุณไปเปิดหาในอินเทอร์เน็ตก็ได้ ฉะนั้น ทักษะที่เราคิดว่านักวิทยาศาสตร์ต้องมี บางทีมันก็ไม่จำเป็นสำหรับการทำงานอาชีพ

ประเทศไทยทุกวันนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากทางด้านดาราศาสตร์ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีหลักสูตรบังคับให้เรียนวิชาดาราศาสตร์ นักเรียนมัธยมทุกคนต้องเรียน แต่ทราบไหมครับว่า ทั่วโลกมีกี่ประเทศที่บังคับให้เด็กเรียนดาราศาสตร์ คำตอบคือสองประเทศ มีไทยกับอุรุกวัยเท่านั้นเอง เป็นหลักสูตรใหม่ที่เพิ่งมีได้ไม่นาน วิชาโลกและดาราศาสตร์ ซึ่งโดยส่วนตัวในฐานะนักดาราศาสตร์ ผมไม่เห็นด้วยที่จะบังคับให้ทุกคนต้องเรียน แต่เห็นว่าควรเป็นวิชาเลือก มันมีข้อดีไหม มี แต่ผมคิดว่าข้อเสียมีมากกว่า แน่นอนว่าถ้าเราไปบังคับให้เด็กเรียนอะไร เด็กมันก็ไม่ชอบทั้งนั้น และที่แย่กว่านั้นก็คือ จริงๆ แล้วเรายังไม่พร้อม เราไม่มีบุคลากรที่มีคุณวุฒิด้านดาราศาสตร์เลย นักดาราศาสตร์ในประเทศไทยถ้าจะนับดูแล้วมีไม่เยอะ แล้วถ้าเราสอนกันผิดๆ เช่นเดียวกับที่ผมได้รับการศึกษาทางฟิสิกส์มาผิดๆ คนที่มีความสนใจอยากเป็นนักดาราศาสตร์อาจจะเกลียดไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงพอสมควร

ตอนนี้นักดาราศาสตร์ในประเทศไทยมีอยู่กี่มากน้อย

น้อยมาก ไม่น่าจะเกิน 20 คน อยู่ที่ว่าจะนับยังไง ตอนนี้มีนักเรียนไทยได้รับทุนไปเรียนดาราศาสตร์ต่างประเทศมากพอสมควร ซึ่งก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีหลักสูตรดาราศาสตร์ ป.โท แล้ว เพิ่งเปิดเป็นปีที่ 2 ที่น่าเป็นห่วงก็เพราะไม่แน่ใจว่าประเทศไทยเรามีสายอาชีพที่รองรับมากแค่ไหน ดาราศาสตร์แตกต่างกับวิทยาศาสตร์สาขาอื่นตรงที่มันไม่มี industry applications เลย จบมาจะทำอะไรได้นอกจากสอนหนังสือ สอนมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เพราะส่วนใหญ่ต้องจบ ป.เอก ขึ้นไป แล้วถ้าจะไปสอนหนังสือก็ไม่เห็นจำเป็นต้องจบดาราศาสตร์ก็ได้

ดาราศาสตร์ในเมืองไทยกำลังโตเร็วมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เดี๋ยวนี้มีการแข่งขันโอลิมปิกดาราศาสตร์ คนสนใจกันเยอะมาก ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อดีมานด์มากกว่าซัพพลาย เรากำลังผลิตนักดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจบออกมาแล้วจะมีที่ทำงานหรือเปล่า แล้วถ้าคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลกับวงการดาราศาสตร์ประเทศไทยต่อไปอีกหลายสิบปีแน่นอน

ท้ายที่สุดแล้วดาราศาสตร์ช่วยตอบโจทย์อะไรในชีวิตบ้าง

นักดาราศาสตร์ก็คือนักวิทยาศาสตร์ ถามว่าเรียนไปทำไม ตอบได้หลายอย่าง คำตอบง่ายๆ ก็คือ โลกเราทุกวันนี้มันก้าวหน้าไปด้วยนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมพวกนี้ก็มาจากวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าถ้าเราไม่คิดค้นอะไรใหม่ๆ มันก็ย่ำอยู่ที่เดิม ไม่ก้าวหน้าไปไหน ฉะนั้นในทุกอารยธรรม วิทยาศาสตร์มีส่วนสำคัญทั้งนั้น

มีคนบอกว่าดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์สาขาแรกๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งก็มีส่วนจริงพอสมควร เพราะอารยธรรมบนโลกเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการทำเกษตรกรรม สิ่งที่สำคัญสำหรับเกษตรกรรมก็คือปฏิทิน ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าเมื่อไหร่ฝนกำลังจะมา เราก็จะสามารถวางแผนในการหว่านเมล็ดพันธุ์และการเก็บเกี่ยวได้ งานกสิกรรมของมนุษย์จึงพัฒนาขึ้น เมื่อปลูกผลผลิตได้มากขึ้นก็ทำให้มีเวลาว่างพอที่จะคิดค้นอะไรใหม่ๆ เพื่อผลักดันสังคมต่อไป ปฏิทินจึงเกิดขึ้นได้เพราะดาราศาสตร์ ถ้าเราไม่เริ่มแหงนหน้ามองท้องฟ้าแล้วพยายามสังเกตดวงอาทิตย์ สังเกตกลุ่มดาว เราจะไม่มีวันทราบเลยว่าในหนึ่งปีโลกใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์กี่วัน

ถามว่าเรียนไปแล้วได้อะไร คำตอบหนึ่งที่ผมชอบบอกก็คือ มันเหมือนกับถามนักสำรวจอย่าง โคลัมบัส ว่า ถ้าเดินทางไปแล้วจะเจออะไร จะไปรู้ได้ยังไง ก็ในเมื่อยังไม่เคยมีใครไปถึงที่นั่น เขาจึงต้องออกเดินทางไปก่อน ถึงจะรู้ว่าจะเจออะไร ฉะนั้น ถ้าถามว่านักวิทยาศาสตร์คิดค้นโน่นนี่แล้วจะได้อะไร ไม่มีใครตอบได้ แม้แต่ตอนที่ ไอน์สไตน์ คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพขึ้นมา ก็ยังไม่มีใครรู้หรอกว่าเอาไปทำอะไรได้

สำหรับคำตอบส่วนตัวของผม วิทยาศาสตร์เรียนไปทำไม ผมมองว่ามันเป็นเหมือนภาระหน้าที่ของมนุษย์อย่างหนึ่ง อาจไม่ใช่ทุกคน แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องทำ เราก้าวหน้ามาได้ทุกวันนี้เพราะเราพยายามสังเกตธรรมชาติและพยายามจะเข้าใจมัน เราพยายามที่จะทำความเข้าใจสภาพจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ตลอดเวลา ผมมองว่ามันเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของมนุษยชาติที่เราจะต้องเข้าใจทุกอย่างในจักรวาล

นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันคนหนึ่ง ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Phillips Feynman) เขาเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์ว่า เหมือนเรากำลังสังเกตคนเล่นหมากรุกสองคน โดยที่เราไม่เข้าใจกติกาของมัน เราพยายามสังเกตว่ามันเกิดอะไรขึ้น ใครเดินหมากอย่างไร และพยายามจะเดาว่ากฎของเกมนี้คืออะไร นั่นคือสิ่งที่วิทยาศาสตร์กำลังทำ เรากำลังสังเกตการเดินหมากรุกของจักรวาลอยู่ และพยายามจะเข้าใจว่ากฎของมันคืออะไร เผื่อว่าสักวันหนึ่งเราอาจเข้าใจก็ได้ว่า ผู้เล่นสองคนนี้เขามีจุดประสงค์อยากทำอะไร หรือเกมนี้มันสร้างขึ้นมาทำไม สุดท้ายแล้ววิทยาศาสตร์เรียนไปทำไม ก็เพื่อที่จะเข้าใจในธรรมชาติของทุกสิ่งในจักรวาล บางคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญ แต่ผมว่าสำคัญนะ

หมายความว่า ปลายทางของมันก็เพื่อจะรู้ว่าชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำไม ทำนองนั้นหรือเปล่า

อาจจะประมาณนั้นก็ได้ ถ้านักชีววิทยาอาจจะสนใจประเด็นนั้น แต่นักฟิสิกส์คงจะสนใจมากกว่านั้น ว่าจักรวาลคืออะไร จักรวาลทำงานยังไง เพราะเราก็เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของจักรวาลเท่านั้นเอง

ถ้าเข้าใจจักรวาลแล้วจะทำให้มนุษย์เข้าใจตัวเองมากขึ้นไหม

อันนี้คงเป็นคำตอบเชิงปรัชญามากกว่า แต่ส่วนตัวผมก็เชื่อว่าอย่างนั้น

ถามว่าวิทยาศาสตร์เป็นความเชื่อไหม หลายๆ คนเขาจะบอกว่าไม่ใช่ แต่ผมว่ามันก็เป็นความเชื่อนะ คือถามว่ามันมีเหตุผลอะไรว่าหลักตรรกะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จริงๆ ก็ไม่มี แต่ผมอยากที่จะเชื่อแบบนี้ เพราะอย่างน้อยตรรกะก็เป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ถ้าเราเลือกจะเชื่ออะไรตามหลักของตรรกะที่มันพิสูจน์ได้ชัดเจน โอกาสที่จะถูกก็มากกว่า

IMG_9217

ในบริบทสังคมไทยที่เรามักถูกสอนกันมาว่าให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ให้อยู่ในกรอบ วัฒนธรรมคำสั่งสอน แบบนี้เป็นอุปสรรคกับการคิดแบบวิทยาศาสตร์มากไหม

ถ้าพูดถึงสังคมไทยในภาพกว้าง เรามีปัญหามากกว่าแค่เรื่องการเชื่อฟังผู้ใหญ่ เราต้องยอมรับว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ความเชื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลามีข่าวว่าเกิดพระอาทิตย์ทรงกลดอยู่เหนือทำเนียบรัฐบาล ในเนื้อข่าวยังบอกอีกว่าโหรดังทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้น นี่คือข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศเรา วันต่อมามีข่าวบอกว่า มีนกเอี้ยงไล่จิกตัวเงินตัวทองอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล นี่คือนอกจากสะท้อนถึงสื่อบ้านเราแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยสนใจอะไร แล้วก็มีคนมานั่งเถียงกันต่อในอินเทอร์เน็ตอีกว่า ตัวเงินตัวทองมันเป็นตัวแทนของอะไร มันหมายถึงอะไร เถียงกันจริงจังมาก (หัวเราะ)

นี่อาจเป็นจริตของสังคมไทยโดยธรรมชาติหรือเปล่า

แต่ละสังคมก็มีความเป็นตัวของตัวเอง คนฮ่องกงก็มีความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยหนักมาก คนญี่ปุ่นก็ชอบดูโฮโรสโคป คนรัสเซียก็เชื่องมงายพอสมควร บราซิลก็ไหว้พระแม่มาเรียกันเป็นประจำ ซึ่งความเชื่อมันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่ผมว่าสังคมไทยเราพร้อมที่จะเชื่อได้ทุกอย่าง สังเกตดูว่าเวลาเจออะไรแปลกๆ ก็เอาผ้าแดงไปผูก ขนาดผู้รับเหมาสร้างถนนไม่ดี ถนนโก่งขึ้นมาก็ไปจุดธูปไหว้กัน หรือแม้แต่ลิฟต์เลข 13 ก็ไม่มี มีแต่ชั้น 12A ทั้งที่มันก็ไม่ใช่วัฒนธรรมเรา เรื่องฮวงจุ้ยเราก็เอากับเขาด้วย คือเราพร้อมที่จะเชื่ออยู่แล้ว ก็ไม่ทราบว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ หลายเรื่องมันก็ไม่ใช่พุทธด้วยซ้ำ ศาสนาพุทธไม่ได้สอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกให้สร้างรูปเคารพอะไรเลย แต่การไหว้ของพวกนี้มันเป็นวัฒนธรรมความเชื่อผีสางของไทยมากกว่า เราเอามาผสมกันเอง เอามายำเป็นเวอร์ชั่นของไทยเราเอง ฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับคำสอนของศาสนา แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมของไทย ที่มันแย่กว่านั้นก็คือ ใครจะมาลบหลู่ไม่ได้

มีคำพูดหนึ่งที่ผมไม่ชอบมากก็คือ ‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ ผมไม่ชอบด้วยเหตุผลหลายอย่าง ถ้าเป็น อาจารย์เจษฎา (เด่นดวงบริพันธ์) ก็จะบอกว่า ‘ไม่เชื่อต้องพิสูจน์’ คือบางอย่างมันก็ควรจะพิสูจน์ได้ เราไม่ได้ลบหลู่ แต่เพียงแค่สงสัย เรามีสิทธิ์ที่จะสงสัยได้ ทดสอบได้ ถ้าจะอ้างอิงคำสอนของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ยังบอกว่า ต้องทดสอบ เพราะฉะนั้นทำไมเราจะทดสอบไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือคนที่บอกไม่เชื่ออย่าลบหลู่ นั่นแปลว่าเขากำลังลบหลู่ความเชื่อของผม เพราะผมก็เชื่ออย่างหนึ่ง ผมเชื่อใน Null hypothesis ก็คือสมมุติฐานหลักว่าความสัมพันธ์สองอย่างนี้มันไม่มีจริง ก็เป็นความเชื่อของผม แล้วคุณมาลบหลู่ความเชื่อของผมได้ไง ทำไมความเชื่อว่าสิ่งนั้นมีจริง มันถึงอยู่เหนือความเชื่อที่ว่ามันไม่มีจริง คนที่อยากจะพิสูจน์ว่าจริงกลายเป็นคนที่น่ายกย่อง แต่คนที่อยากพิสูจน์ว่ามันไม่จริงกลับเป็นคนที่เลว

มองในแง่ดีได้ไหมว่า มันเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของคนโบราณที่อาจมีจุดประสงค์ดีแฝงไว้

ใช่ แต่ว่า… ผมขอถอยออกมาไกลนิดหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นโหราศาสตร์กับดาราศาสตร์ อะไรเกิดก่อน อะไรเกิดหลัง ผมตอบเลยว่าเกิดพร้อมๆ กัน ลองนึกภาพย้อนกลับไปว่า เมื่อตอนที่สังคมเริ่มทำกสิกรรม เริ่มทำปฏิทิน ถ้าทำอย่างวิทยาศาสตร์ก็เกิดจากการสังเกต เราสังเกตดวงอาทิตย์ ดวงดาว คนโบราณรู้อยู่แล้วว่าดวงอาทิตย์เป็นวัตถุที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากที่สุด แม้กระทั่งทุกวันนี้เรายังวางแผนชีวิตตามดวงอาทิตย์เลย ดวงอาทิตย์คือสิ่งที่ทำให้ดอกไม้ผลิบาน ทำให้ต้นไม้เติบโต พลังงานทุกอย่างเกิดขึ้นจากดวงอาทิตย์ พอเราสังเกตตำแหน่งดวงอาทิตย์กับกลุ่มดาว มันบอกได้ว่าหน้าร้อนจะมาแล้ว หน้าหนาวจะมาแล้ว ก็แสดงว่าดวงอาทิตย์กับกลุ่มดาวน่าจะส่งอิทธิพลอะไรสักอย่างมาบนโลก ฉะนั้นมันก็ต้องส่งผลต่อชีวิตเราด้วย ถามว่าถ้าเขาตั้งสมมุติฐานแบบนี้ผิดไหม ก็ไม่ผิด แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสมัยโบราณ ซึ่งก่อนหน้านี้ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา ความเชื่อ มันปนกันมาตลอด

ชาวกรีกโบราณเขาเรียกวิทยาศาสตร์ว่า Natural Philosophy เป็นปรัชญาธรรมชาติ ก็คือปรัชญาแขนงหนึ่งที่ต้องการค้นหาความจริง ถามว่าต่างกับวิทยาศาสตร์อย่างไร มันเริ่มต่างกันชัดเจนที่สุดในสมัยกาลิเลโอ ที่มีการทดลองปล่อยลูกตุ้มลงจากหอเอน เพราะเขาทำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เราจะรู้ว่าอะไรจริงไม่จริง ต้องมีการพิสูจน์ แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเคยทำมาก่อน มีแต่บอกว่าดวงอาทิตย์กับกลุ่มดาวส่งอิทธิพลมา ทำให้เกิดฤดูหนาว ทำให้คนเกิดราศีกุมภ์โชคดี แล้วก็เชื่อกันตามนั้น ก่อนหน้านี้สองอย่างนี้มันแยกกันไม่ได้ แต่หลังจากกาลิเลโอบอกว่า ก่อนจะเชื่ออะไรต้องพิสูจน์ ทำให้เกิดความแตกต่างชัดเจน อันหนึ่งพิสูจน์ได้ อีกอันหนึ่งพิสูจน์ไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์

ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมวิทยาศาสตร์แล้ว ถามว่าวิทยาศาสตร์ต่างกับไสยศาสตร์อย่างไร ยกตัวอย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ปริศนาที่พัทลุง คนหนึ่งอาจตั้งสมมุติฐานว่าไฟไหม้เกิดจากผี อีกคนบอกไฟไหม้เกิดจากคนจุด คนแรกเราหัวเราะ คนที่สองเราไม่หัวเราะ ถามว่าทำไม มันต่างกันตรงไหน มันก็เป็นสมมุติฐานเหมือนกัน เป็นการคาดเดาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้เหมือนกัน แต่อันแรกมันไม่ใช่สมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ เพราะมันไม่มีทางพิสูจน์ให้ผิดได้ ในขณะที่อันที่สอง ถ้าไม่มีใครอยู่ในบ้านแล้วไฟติดเองได้แสดงว่าสมมุติฐานนั้นผิด และถึงแม้ท้ายที่สุดแล้วจะมีการพิสูจน์ให้เห็นว่ามีคนจุด ต่อให้พิสูจน์ให้ตายยังไง สมมุติฐานเรื่องผีก็ไม่มีทางล้ม เพราะเราไม่มีทางพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าผีไม่ได้ทำให้เกิดไฟติดได้จริงหรือไม่ ฉะนั้นทฤษฎีอะไรก็ตามที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ มันไม่มีทางที่จะพิสูจน์ให้ผิดได้ ตรงกันข้ามทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์ยังสามารถพิสูจน์ว่าผิดได้

เคยมีนักวิทยาศาสตร์พิสูจน์เรื่องผีไหม

มันพิสูจน์ไม่ได้ครับ คำพูดที่ว่า ‘ผีมีอยู่จริง’ เป็นสมมุติฐานที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้ผิดได้ แม้ทุกวันนี้จะยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าผีมีจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีวันที่ใครจะพิสูจน์ได้ว่า ผีไม่มีจริง ฉะนั้นคนที่บอกว่า ‘ผีมีจริง’ ไม่มีวันผิด เพราะมันพิสูจน์ได้ว่าจริงอย่างเดียว แต่มันพิสูจน์ว่าผิดไม่ได้

โดยส่วนตัวเป็นคนกลัวผีไหม

ไม่เลยครับ (หัวเราะ) ผมว่าความกลัวที่มืดมันเป็นสัญชาตญาณของคน ตอนเด็กๆ ผมก็อาจจะกลัวบ้าง แต่ก็ไม่ได้กลัวมากมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ทุกวันนี้ดูหนังผี หนังสยองขวัญ กินข้าวไปด้วย ก็ไม่มีปัญหาอะไร

อย่างนี้ไม่ทำให้ชีวิตขาดรสชาติ ขาดสีสันไปหรือ

ผมกลับรู้สึกว่ามันมีสีสันมากกว่าเดิมเสียอีก คือยังไงผมก็รู้ว่าสิ่งที่ผมกลัวคือกลัวที่มืด มันเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตตอนกลางวัน ฉะนั้นที่มืดๆ ที่แคบๆ ก็ควรจะกลัว เพราะมีโอกาสเสี่ยงในชีวิตได้มาก คือคนเรามักจะกลัวในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ฉะนั้นทันทีที่เราอธิบายสิ่งนั้นได้ ความกลัวมันก็ต้องลดลงเป็นธรรมดา ถามว่าผมไม่กลัวผีแล้วชีวิตผมขาดอะไรมั้ย ก็ไม่ขาดนะ (หัวเราะ) อย่างเวลาดูหนังผีแล้วรู้สึกเสียวสันหลังมันก็เป็นธรรมดานะ แล้วผมก็ชอบด้วย บางทีเราก็อยากหาความรู้สึกอย่างนั้นมาแต่งเติมสีสันชีวิตบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าผมไม่เชื่อเรื่องผีแล้วเวลาดูหนังผีผมจะรื่นรมย์ไปกับมันไม่ได้ เหมือนกับเวลาผมดู จูราสสิคปาร์ค ผมก็ไม่เชื่อว่าไดโนเสาร์มีอยู่จริงในยุคนี้ แล้วผมก็ไม่เชื่อว่า สไปเดอร์แมน ไอรอนแมน มีอยู่จริง แต่ก็ยังรื่นรมย์กับมันได้

มีคำพูดอยู่ว่า เรื่องบางเรื่องก็ไม่ควรมีการพิสูจน์ เพราะอาจเป็นการทำลายความเชื่อบางอย่างที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่ง กรณีนี้เราจะเลือกใช้เหตุและผลอย่างไร

ถ้าถามผม ผมก็ต้องเลือกความจริง ยกตัวอย่าง สมัยยุคกลางมีโรคระบาดเยอะ คนก็บอกว่าเกิดจากวิญญาณชั่วร้าย จนกระทั่ง หลุยส์ ปาสเตอร์ ออกมาบอกว่ามันเกิดจากเชื้อโรค ซึ่งถ้าเรายังเชื่อเหมือนเดิมต่อไป ทุกวันนี้ก็คงไม่ต้องมีโรงพยาบาล

วันก่อนผมเห็นในเฟซบุ๊คมีคนแต่งภาพโดเรมอนขี่ไม้กวาดตะลุยแดนเวทมนตร์ แล้วชิซูกะก็พูดขึ้นว่า “สมัยนี้ยังมีคนงมงายในวิทยาศาสตร์อยู่อีกเหรอ” (หัวเราะ) แต่คนที่พูดอย่างนี้มีใครไม่ใช้ไอโฟนบ้าง มีใครไม่นั่งเครื่องบินบ้าง เครื่องบินที่มันลอยอยู่ทุกวันนี้ก็ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เหรอ มันไม่ตกลงมาก็เพราะแรงแม่เหล็กไฟฟ้าผลักกันไม่ใช่เหรอ วิทยาศาสตร์มันอธิบายได้หมด ถ้าคุณไม่เชื่อวิทยาศาสตร์แล้วทำไมคุณไว้วางใจในเทคโนโลยีพวกนี้ ทำไมเวลาคุณป่วยคุณต้องไปหาหมอ

ถ้าสังคมมีวัฒนธรรมการถกเถียงมากขึ้นก็น่าจะนำไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นใช่ไหม

มีส่วนมากครับ คงต้องย้อนกลับไปที่เรื่องการศึกษา เราไม่เคยตั้งคำถาม การตั้งคำถามไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะทำได้เลยนะครับ มันเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ต้องใช้เวลา และค่อยๆ พัฒนาพอสมควร อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะมาควบคู่กับการตั้งคำถามคือ ตรรกะ ตรรกะบางเรื่องที่เราใช้กันทุกวันนี้บางทีเห็นแล้วก็ปวดขมับมาก มั่วซั่วกันไปหมด เราแยกแยะไม่ค่อยเป็น เอาทุกอย่างมารวมกันหมด สมมุติว่าเถียงกันอยู่ดีๆ ถ้าเธอไม่เห็นด้วยกับฉัน เธอต้องผิด โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยกับเขาสักเรื่องหนึ่ง คนคนนั้นก็จะถูกผลักไปอยู่อีกฝั่งทันที เราแยกแยะไม่ได้เลย อีกอย่างหนึ่งเรามักแยกไม่ออกระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว คนไทยมักจะเลี่ยงปัญหาด้วยการไม่เถียง ลูกน้องไม่เถียงเจ้านาย ทั้งที่มันเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพ แต่ชอบบอกว่าให้มันจบๆ ไป

จะเรียกว่าเป็นการประนีประนอมหรือเปล่า

ผมว่าประนีประนอมเป็นข้อแก้ตัวนะ เหตุผลจริงๆ ผมคิดว่าเป็นเพราะเราเคยแข็งมาแล้ว แต่โดนซัดกลับมาทุกครั้ง เหมือนตอนเด็กๆ ผมเถียงอาจารย์แล้วอาจารย์ก็หักคะแนน ถ้าผมไม่ได้เป็นคนดื้ออย่างที่เป็นอยู่ ผมก็คงเป็นเหมือนคนทั่วๆ ไปที่เลิกเถียงไปแล้ว แล้วผมเชื่อว่าคนส่วนมากก็เป็นแบบนี้ คืออาจจะเคยทำอะไรอย่างนี้ในตอนเด็กแล้วถูกพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา หรือครู ตอกกลับมาแรงๆ เราก็เลยเรียนรู้ว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะอยู่รอดในสังคมได้คือ การประนีประนอม

จริงๆ เรื่องนี้ก็น่าสนใจนะครับ เรื่องการเคารพผู้ใหญ่ ความอ่อนน้อมถ่อมตนแบบลัทธิขงจื๊อ เขาเคยมีงานศึกษาวิจัยเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ Korean Air เนื่องจากมีอุบัติเหตุเครื่องบินตกบ่อยกว่าสายการบินอื่นๆ ก็เลยต้องทำการศึกษาว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร จนกระทั่งพบว่าเป็นเพราะผู้ช่วยนักบินไม่กล้าทักท้วงนักบินเวลานักบินทำผิด เพราะมันมีความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันอยู่ เรื่องนี้สาหัสมากนะครับ เพราะถึงขั้นทำให้เครื่องบินตก พอเจอปัญหาแล้ววิธีแก้ของเขาก็ฉลาดมาก เขาแก้ด้วยการให้นักบินใช้ภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษมันไม่มีท่าน คุณ ผม พี่ มันก็ดีขึ้น ฉะนั้นถ้าจะบอกว่าวัฒนธรรมบางอย่างมันมีข้อดี แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีข้อเสีย ซึ่งข้อเสียของมันสาหัสถึงขนาดทำเครื่องบินตกได้

IMG_9197

 ในสังคมตะวันตกที่ว่าพัฒนาแล้ว ทำไมทุกวันนี้ยังมีคนบางกลุ่มพยายามแย้งว่าสหรัฐไม่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์จริง

อย่างที่บอกว่าความเชื่อมีอยู่ทุกประเทศ นักจักรวาลวิทยาหรือนักชีววิทยาในอเมริกาก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน เช่น บางคนเชื่อว่าโลกมีอายุแค่ 5,000 ปี เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกไว้อย่างนั้น ไม่ใช่ 13,700 ล้านปีอย่างที่นักวิทยาศาสตร์บอก บางคนก็ว่ามนุษย์ไม่ได้มาจากลิง เพราะพระเจ้าคือผู้สร้างมนุษย์ ในอเมริกาถึงขนาดว่ามีคนฟ้องร้องอาจารย์ที่สอนทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน จนศาลฎีกาตัดสินว่า โอเค…สอนได้เพราะมันเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ขัดกับหลักศาสนา แต่จนถึงทุกวันนี้ที่อเมริกาก็ยังมีคดีความอยู่ว่าควรจะบรรจุวิชาที่สอนว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ไว้ในหลักสูตรด้วย คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็ยังเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาจากลิง เพราะฉะนั้นปัญหาแบบนี้มันมีกันทั่วโลก

 เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวไหม

เรื่องมนุษย์ต่างดาวตอนเด็กๆ ผมก็เชื่อนะ มันเป็นยุคสมัยที่คนเขาเชื่อกันว่ามีเอเลียนจริงๆ แต่ทุกวันนี้เราแทบไม่ได้ยินเรื่องมนุษย์-ต่างดาวแล้ว มันไม่ใช่ว่าคนเห็นน้อยลง เพียงแต่ว่าตอนนี้คนมันเลิกฮิต สังเกตว่าถ้าคนฮิตอะไรเราจะเห็นสิ่งนั้นเยอะขึ้น อย่างช่วงนี้ก็ไม่ค่อยเห็นเนสซี (Nessie) จากทะเลสาบล็อกเนสส์ ไม่ค่อยเห็นบิ๊กฟุตแล้ว แต่กลับมาเห็นพญานาคกันเยอะขึ้น คือถ้ามีอยู่จริงมันไม่ควรจะมาตามความฮิต

สิ่งมีชีวิตต่างดาวตามทฤษฎีถือว่ามีความเป็นไปได้ไหม

เป็นไปได้อยู่แล้วครับ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์ว่ามันไม่มี มันก็เป็นไปได้ จนกว่าเราจะพิสูจน์ว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเชื่อทุกอย่างที่มันเป็นไปได้ ถามว่าเชื่อผิดไหม ไม่ผิด แต่ปัญหาคือว่ามนุษย์เรามีเวลาจำกัด เราไม่สามารถเชื่อทุกๆ อย่างแล้วลองพิสูจน์ทุกๆ อย่างได้ เราต้องเลือกที่จะเชื่อบางอย่าง

อย่างศาสนามีอยู่กี่ร้อยศาสนาในโลก เราไม่สามารถลองนับถือทีละศาสนาได้ เพราะเรามีเวลาไม่พอ เราก็ต้องเลือกใช่ไหมครับ ทีนี้เราจะใช้วิธีอะไรในการเลือก มันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล

ถามว่าวิทยาศาสตร์เป็นความเชื่อไหม หลายๆ คนเขาจะบอกว่าไม่ใช่ แต่ผมว่ามันก็เป็นความเชื่อนะ คือถามว่ามันมีเหตุผลอะไรว่าหลักตรรกะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จริงๆ ก็ไม่มี แต่ผมอยากที่จะเชื่อแบบนี้ เพราะอย่างน้อยถ้าผมเชื่อในตรรกะ เวลาตัดสินใจอย่างเดียวกันสองครั้ง ผมก็จะได้ผลลัพธ์อย่างเดียวกัน ไม่ใช่กลับไปกลับมา แต่ถ้าผมเชื่ออย่างอื่น ผลมันอาจจะเปลี่ยนไปได้ ตรรกะเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ถ้าเราเลือกจะเชื่ออะไรตามหลักของตรรกะที่มันพิสูจน์ได้ชัดเจน โอกาสที่จะถูกก็มากกว่า

แต่ทุกอย่างก็มีตรรกะแห่งความไม่แน่นอนด้วยใช่ไหม

ทุกอย่างมีความไม่แน่นอน อันนี้เป็นความจริงครับ ผมเคยเรียนวิชาเคมีวิเคราะห์ สมมุติว่าเราจะหาว่าในน้ำมีสารเจือปนอยู่กี่มิลลิกรัม ฉะนั้นค่าที่ถูกต้องถือเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจารย์เขาพูดคำหนึ่งที่ผมชอบมาก เขาบอกว่า สุดท้ายแล้วการวัดทุกอย่างคือคำโกหก สมมุติผมอยากวัดว่าโต๊ะตัวนี้กว้างเท่าไรผมก็เอาไม้บรรทัดมาวัด ผมวัดได้ 13.58 เซนติเมตร แต่ถามว่าความยาวที่แท้จริงมันคือเท่านั้นหรือเปล่า ไม่ใช่ ความยาวที่แท้จริงก็คือความยาวของมันเอง ไม้บรรทัดนี้เพียงบอกค่าหนึ่งค่าที่มันอ่านได้ แต่ความจริงมันอาจจะยาวเท่าไรก็สุดแล้วแต่มัน การวัดทุกครั้งคือการโกหก ความท้าทายอยู่ที่ว่าคุณพร้อมจะเชื่อมันมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นในทางวิทยาศาสตร์ถามว่าคำตอบที่เราได้มันเป็นคำตอบที่แท้จริงไหม ไม่เลย แต่ว่าเรากำหนดได้ สมมุติเราวัดได้ 13.58 เซนติเมตร ความเป็นจริงแล้วต้องบวกลบอีก 1 มิลลิเมตร อันนี้แหละเขาเรียกว่า confidence interval คือช่วงความเชื่อมั่นที่พอจะเชื่อถือได้

ทราบว่าคุณเป็นคนไม่นับถือศาสนา มีเหตุผลอะไรที่ทำให้คิดแบบนั้น

เมื่อก่อนผมก็โตมาแบบเด็กธรรมดานะ แม่ก็พาไปวัด ผมเองก็เคยบวชอย่างจริงจังเป็นเดือน อยู่วัดสายวิปัสสนา นั่งสมาธิ เคยคลั่งพอสมควร แบบตื่นมาสวดมนต์แล้วนั่งสมาธิทุกวัน ผมขออ้างปราชญ์อินเดียคนหนึ่งที่เคยไปศึกษากับอาจารย์มาสองท่าน แล้วเขาก็บอกว่านี่ไม่ใช่หนทางรอด เขาเลยออกมาตั้งลัทธิของตัวเอง และนั่นก็คือศาสนาพุทธ เขาคือพระพุทธเจ้า

สำหรับผม ผมก็เคยทดสอบมาแล้ว แต่เมื่อพิจารณาแล้วว่า นี่ไม่ใช่หนทางรอดของผม นี่มันไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ คนส่วนมากนับถือศาสนาตามพ่อแม่ตัวเอง ซึ่งแน่นอนมันไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ และส่วนมากก็จะเชื่อว่าศาสนานั้นเป็นศาสนาที่ถูก แต่ดูจากสถิติและความเป็นไปได้ จะต้องบังเอิญแค่ไหนที่เราจะเกิดมานับถือศาสนาที่ถูก สมมุติทั่วโลกมีศาสนาอยู่ 100 ศาสนา แล้วมีแค่อันเดียวที่ถูก มันจะบังเอิญขนาดนั้นเลยเหรอที่เราจะเกิดในศาสนาที่ถูก

ผมก็นับถือศาสนาตามพ่อแม่มา แต่ด้วยความที่ชอบคิดอะไรตามหลักเหตุผล ชอบพยายามหาคำตอบ พอมาถึงจุดหนึ่งผมรู้สึกว่าศาสนาพุทธเองก็มีหลายๆ อย่างที่ขัดกัน

ศาสนาพุทธไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือ

ไม่เชิงไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คือหลักการบางอย่างของศาสนาพุทธผมว่าน่าสนใจ อย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ค้นพบว่าทุกข์คืออะไร หนทางดับทุกข์คืออะไร ทุกข์ก็คือเรามีกิเลส หนทางดับทุกข์ก็คือถ้าไม่มีกิเลส เราก็จะดับทุกข์ได้ เรื่องนี้ผมว่าเข้าท่า พูดภาษาชาวบ้านคือ ถ้าเราไม่มีกิเลส เราไม่อยากได้อะไร เราไม่มีความต้องการ เราก็จะไม่ผิดหวังและไม่มีความทุกข์ แต่ผมสงสัยว่ามันเป็นไปได้จริงๆ หรือ ผมเคยพยายามมาแล้ว ประเด็นคือพอเราพยายามแล้วปรากฏว่า ละไม่ได้ ยังไงเราก็ละไม่ได้

อาจถึงขั้นต้องเข้าไปอยู่ป่าเลยไหม

ถึงเข้าป่าก็อาจจะละไม่ได้ ประเด็นคือถ้าละไม่ได้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าศาสนาพุทธผิดไหม ก็จะได้คำตอบว่า ไม่ แต่เป็นเพราะคุณยังทำได้ไม่ดีพอ ผมรู้สึกว่า ต่อให้ทำให้ตายอย่างไรก็ไม่มีทางดีพอ เหมือนกับมันเป็นไปไม่ได้เลย

มันก็จะกลับมาสู่ทฤษฎีที่ไม่มีวันพิสูจน์ได้ว่าผิด เพราะหลักกาลามสูตรบอกให้เราลองแล้วจะเห็นจริงว่าใช่ ผมพูดตรงๆ เลยว่า ผมคิดว่ากาลามสูตรมันมีปัญหาหลายอย่าง อย่างแรกคือ กาลามสูตรบอกว่าเราควรจะเชื่อเมื่อพิสูจน์และเห็นจริง แต่กาลามสูตรไม่ได้บอกว่าเราควรจะหยุดเชื่อเมื่อไหร่ ไม่เคยบอกว่าเราควรจะหยุดลองเมื่อไหร่

ตามสมมุติฐานพระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเราไม่มีกิเลส เราก็จะไม่มีความทุกข์ ผมก็เห็นว่าเข้าท่า ก็ลองทำตาม แต่ว่าเมื่อไหร่ผมจึงจะหยุดได้ และเมื่อไหร่ที่ผมจะรู้ว่ามันเป็นจริง มันไม่มีวันไม่เป็นจริงใช่ไหม ฉะนั้นถ้าคุณเชื่อตามนี้ คุณก็ต้องล็อคตามนี้แล้วทำตามนี้ไปเรื่อยๆ แล้วทุกครั้งถ้าไม่สำเร็จ คุณก็จะโทษตัวเองว่าคุณยังละกิเลสได้ไม่ดีพอ แต่มันเป็นไปได้ไหมที่จริงๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราไม่มีทางพิสูจน์ถึงตรงนั้นได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ว่า มนุษย์ไม่มีทางละกิเลสได้อย่างสมบูรณ์ แล้วเขาก็จะบอกว่าคุณยังทำได้ไม่ดีพอ

สิ่งสำคัญในทฤษฎีไม่ใช่การบอกว่าเราควรจะเชื่อเมื่อมันจริง เพราะเรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ แต่สำคัญว่าเราควรจะหยุดเชื่อเมื่อไหร่ เรื่องนี้ไม่ได้บอก อีกอย่างก็คือ คนเรามีเวลาจำกัด ถ้ามีศาสนาที่เราสนใจห้าศาสนา เราควรจะลองศาสนาไหนก่อน แล้วเราต้องลองแต่ละอันไปนานแค่ไหน ถ้าลองสักหนึ่งเดือน กาลามสูตรก็จะบอกว่าคุณยังไม่ได้ลองจริง สิ่งที่ผมต้องการคือ ผมควรลองศาสนาไหนก่อน ซึ่งกาลามสูตรไม่ได้ช่วยผมเลย

ส่วนตัวผมคิดว่ากาลามสูตรมันขัดแย้งในตัวเอง กาลามสูตรบอกว่าคุณไม่ควรเชื่อกาลามสูตรเพียงเพราะเป็นกาลามสูตร แล้วถ้าผมไปลองปฏิบัติตามกาลามสูตร เท่ากับว่าผมเชื่อกาลามสูตรแล้วหรือยัง ถ้าใช่ ก็ถือว่าผมเชื่อกาลามสูตรแล้ว อย่างนั้นมันก็ขัดแย้งในตัวเองสิ คนชอบพูดถึงกาลามสูตร แต่จริงๆ กาลามสูตรบอกอะไรเราบ้าง นอกจากสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่า ถ้าทำแล้วใช่ก็ใช่

แต่คนก็มักจะเปรียบเทียบเสมอว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์

เขามักจะบอกว่าเป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะพุทธสอนให้พิสูจน์ แต่อย่างที่บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับวิทยาศาสตร์คือ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) อย่างที่กาลิเลโอทำให้เห็น คนอาจจะถามว่า แล้วมันต่างจากกาลามสูตรตรงไหน ต่างกันที่ว่าอะไรมันพิสูจน์ให้ผิดได้ อะไรมันพิสูจน์ให้ผิดไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกแค่ว่า ถ้าพิสูจน์แล้วถูกก็จริง แต่กาลิเลโอบอกว่า ถ้าพิสูจน์แล้วผิด แสดงว่ามันไม่จริง ฟังดูเหมือนไม่ต่าง แต่มันต่างกันเยอะมาก เพราะกว่าที่เราจะพิสูจน์ได้ว่าผิด มันไม่ใช่เรื่องง่าย

หลักกาลามสูตรบอกให้เราลองแล้วจะเห็นจริงว่าใช่ ผมพูดตรงๆ เลยว่า ผมคิดว่ากาลามสูตรมันมีปัญหาหลายอย่าง อย่างแรกคือ กาลามสูตรบอกว่าเราควรจะเชื่อเมื่อพิสูจน์และเห็นจริง แต่กาลามสูตรไม่ได้บอกว่าเราควรจะหยุดเชื่อเมื่อไหร่ ไม่เคยบอกว่าเราควรจะหยุดลองเมื่อไหร่

_DSC4344

ความขัดแย้งที่เกิดจากการพัฒนาความรู้ใหม่ๆ กับผู้ที่เห็นต่าง เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ GMO ทำอย่างไรจึงจะลงรอยกันได้

เรื่องนิวเคลียร์ผมเคยคุยกับรุ่นพี่ที่จบนิวเคลียร์ฟิสิกส์มา แล้วก็ทำเรื่องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย เขาพูดน่าสนใจมากอย่างหนึ่งว่า คนไทยส่วนมากไม่ได้ต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คนไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ตราบใดที่มันไม่ได้มาอยู่หลังบ้านกู (หัวเราะ)

ส่วนเรื่อง GMO ส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหากับ GMO นะครับ คือบางคนกลัวเพราะมันเป็นการตัดต่อพันธุกรรมอะไรอย่างนี้ นั่นก็เป็นความเห็นส่วนตัวของบางคน แต่ผมมองว่าทุกอย่างที่มันอยู่บนโลกนี้ตอนนี้มันก็เป็น GMO ครับ อย่างวัวที่ไม่มีเขา มันก็เป็น GMO แต่เป็น GMO โดยการคัดเลือก เราไม่ได้เข้าไปตัดต่อพันธุกรรมโดยตรง เราแค่ผสมพันธุ์วัวโดยเลือกวัวที่มีเขาสั้นลง แล้วเอามาผสมพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ หรือต่อให้เราไม่ได้ช่วยคัดเลือก มันก็มีการคัดเลือกเองตามธรรมชาติ คือพันธุกรรมมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แค่เราไปเร่งกระบวนการนี้โดยการตัดต่อเองมันก็ไม่มีปัญหาอะไร สมมุติว่าผมไปตัดต่อพันธุกรรมให้มันฝรั่งทนแบคทีเรียได้ กับผมใช้เวลาห้าชั่วอายุคนเพื่อคัดเลือกพันธุกรรมของมันฝรั่งเพื่อให้มันต้านแบคทีเรียได้ สุดท้ายสองอันนี้มันต่างกันอย่างไร มันก็เหมือนกัน แล้วถ้าเรามีเทคโนโลยีที่ดีกว่าทำไมเราไม่ใช้ แน่นอนว่าเราต้องระวังและต้องศึกษาผลกระทบ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะปิดกั้นโอกาสทุกอย่างของ GMO

ตามหลักธรรมชาติมันควรต้องค่อยๆ วิวัฒนาการหรือเปล่า ไม่ใช่การก้าวกระโดด

ชาร์ลส์ ดาร์วิน พูดอยู่อย่างหนึ่งว่าผู้ที่แข็งแรงที่สุดถึงจะอยู่รอดได้ ยกตัวอย่างเช่น มีการค้นพบว่าคนเอเชียจำนวนมากย่อยแลคโตสไม่ได้ คือกินนมแล้วท้องเสียอะไรแบบนั้น ขณะที่คนยุโรปกินนมเป็นอาหารหลัก แล้วเด็กคนไหนที่ย่อยนมไม่ได้อัตราการอยู่รอดก็จะน้อยลงไป ก็จะเหลือแต่ลูกหลานของคนที่ย่อยนมได้ ซึ่งอันนี้พิสูจน์ได้ชัดเจนเลยว่าคนยุโรปมียีนตัวนี้เยอะกว่า แล้วเราก็เห็นกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เหมือนในประเทศอังกฤษในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม มีต้นไม้สีดำมากขึ้น กลายเป็นว่าผีเสื้อสีดำอยู่รอดได้มากขึ้น มันก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ชาร์ลส์ ดาร์วิน ไม่เคยบอกว่าอะไรที่ทำให้สิ่งมีชีวิตมีลักษณะแตกต่างกัน เขาแค่บอกว่าถ้ามีความแตกต่างกัน ตัวที่เหมาะสมที่สุดก็จะอยู่รอดได้ดีกว่า ฉะนั้นผมไม่เชื่อว่า ชาร์ลส์ ดาร์วิน จะขัดแย้งกับ GMO แล้วการก้าวกระโดด (mutation) แม้กระทั่งในธรรมชาติเอง บางทีก็เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เชื้อโรคบางอย่างอยู่ดีๆ ก็วิวัฒนาการจนสามารถดื้อยาได้โดยที่เราไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับมันเลย

ประเด็นของ GMO ก็คือคนที่ต้านจะไม่เอาอะไรเลยสักอย่าง ซึ่งผมว่ามันเกินไป เราควรจะควบคุมได้ว่า คุณไม่ควรทำแบบชุ่ยๆ ไม่รับผิดชอบ อย่างการทำ GMO แล้วมันหลุดออกไปปนเปื้อนที่อื่น หรือ GMO ที่ทำให้ต้นไม้สามารถผลิตยาฆ่าแมลงได้ในตัวเอง แล้วยาฆ่าแมลงนั้นปนเปื้อนมาในอาหารไหม แบบนี้ก็ควรต้องดูและตรวจสอบว่ามันปลอดภัยกับคนไหม ไม่ใช่หมายความว่าเราไม่ควรทำเลย

ในอนาคตคิดว่ามนุษย์มีโอกาสอพยพไปอยู่ดาวอังคารไหม

ผมว่ามนุษย์จะได้ไปเหยียบดาวอังคารแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าเราไม่เผาผลาญทรัพยากรหมดไปเสียก่อน เราได้ไปเหยียบแน่ แต่ไม่แน่ใจว่าเราจะเข้าไปทำอะไรได้มากแค่ไหน แล้วก็ไม่แน่ใจว่าเราจะอยากไปอยู่ดาวอังคารกันมากแค่ไหน ถ้าเราสามารถปรับสภาพดาวอังคารให้อยู่ได้ก็คงมีอะไรน่าสนใจอีกเยอะ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ดวงจันทร์อาจจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะมันอยู่ใกล้

ทุกวันนี้ถ้าจะไปดาวอังคารต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะถึง แล้วไม่ใช่จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องรอให้มันโคจรเข้ามาใกล้ๆ เราด้วย มันเป็นเรื่องของความคุ้มทุนในการลงทุนด้วยส่วนหนึ่ง แล้วเราก็ยังต้องพึ่งพาสังคมอยู่ อย่าง NASA ก็ยังได้รับทุนสนับสนุนจากภาษีประชาชน นี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำไมนักวิจัยควรทำ outreach เพื่อขยายขอบเขตความรู้ออกไป เพราะยิ่งคนเข้าใจนักวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน เราก็จะได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ควรมีหน้าที่ที่จะต้องออกมาให้ความรู้กับสังคมมากขึ้นไหม

อันนี้แล้วแต่คนนะครับ ถามว่านักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทำแบบนั้นไหม ผมคิดว่าไม่นะ เพราะผมเชื่อว่าหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์คือการค้นหาความจริง ผมเชื่อแค่นั้นจริงๆ คือผมเชื่อว่ามันเป็นภาระของมนุษย์ทุกคนที่ต้องค้นหาความจริง แต่เราไม่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์กันทุกคน แล้วคนทั่วๆ ไปสามารถมีส่วนร่วมได้โดยอย่างน้อยที่สุดคือ ทำความเข้าใจในนักวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องไปบ่นว่านักวิทยาศาสตร์ใช้เงินเปลือง คิดค้นอะไรมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ซึ่งถ้าเรามองแค่นี้ เราก็จะก้าวไม่พ้นสักที ฉะนั้นเราต้องมองให้ไกลกว่านั้น เราต้องมองผลของคนทั้งโลก และไม่ควรมองแต่การพัฒนาในส่วนของตัวเอง

ทีนี้ย้อนกลับมาว่านักวิทยาศาสตร์มีภาระหน้าที่อะไรกับประชาชนไหม จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมี แต่ส่วนตัวผมคิดว่านักวิทยาศาสตร์เป็นคนที่เหมาะที่สุดที่จะให้ความรู้กับผู้คน ก็คืองาน public outreach หรือการบริการประชาชน การให้ความรู้กลับคืนสู่ชุมชน นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยอาจมองว่าการวิจัยกับการบริการประชาชนมันเป็นคนละเรื่องกัน แต่ผมว่าคนที่ทำงานบริการประชาชนได้ดีที่สุดคือนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัย เพราะเป็นคนที่ยืนอยู่ตรงขอบเขตความรู้ของมนุษย์ เป็นคนที่น่าจะทำให้ประชาชนตื่นตัวได้

วงการวิทยาศาสตร์ไทยจำเป็นต้องมีเซเลบไหม

มันต้องมี science communicator คือทุกๆ ประเทศมันจะมีอยู่แล้ว ถามว่าควรมีไหม ควร เพราะถ้าคุณไปถามเด็กๆ ว่าอะไรที่ทำให้สนใจวิทยาศาสตร์ ส่วนมากก็จะตอบเป็นชื่อคน โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ แล้วถ้าเด็กๆ ตอบเป็นชื่อนักวิทยาศาสตร์ไทยมันจะเท่แค่ไหน ใช่ไหมครับ


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน WAY 87 กรกฎาคม 2558

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า