17 เมษายน 2564 พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการอดอาหารเพื่อประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมไทยของ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สองนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 112 แต่ไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัวออกมาสู้คดี
“อาตมาขอบิณฑบาตชีวิตคุณเพนกวินและรุ้ง เลิกอดอาหาร เพื่อมีชีวิตไว้ดูการเปลี่ยนแปลง เมื่อฟ้าหลังฝน”
30 มกราคม 2566 พระพยอมต้องออกบิณฑบาตอีกครั้ง เพื่อขอชีวิตของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดในข้อหาเดียวกับเพนกวินและรุ้ง โดยไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวเช่นกัน ซ้ำยังประท้วงด้วยการอดอาหารและอดน้ำตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 จนร่างกายกำลังเข้าขั้นวิกฤต
หลวงพ่อพยอมขอให้ทั้งคู่ผ่อนหนัก ผ่อนเบา เอาชีวิตรอดก่อน ไม่จำเป็นต้องสู้ตายไปเสียทีเดียว ขอให้เก็บแรงไว้คิดหาหนทางสู้ใหม่ๆ ที่ดีกว่าดับเครื่องชน และเก็บชีวิตไว้เพื่อรอดูความเปลี่ยนแปลง
ส่วนรัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรรับฟังเด็กบ้าง ลดการใช้อำนาจลง แล้วหันมาใช้ความเมตตากรุณาให้มากขึ้น มิฉะนั้นหากปล่อยให้เด็กมีอันเป็นไปก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ใจดำ ก่อเวรก่อกรรมกับลูกหลาน
“อยากให้ทั้งสองรอดชีวิตก่อน เอาอุดมการณ์ไว้ข้างหลังชีวิตสักนิด อย่าเพิ่งกดทับชีวิตตัวเองช่วงนี้เลย เพราะตอนนี้พวกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกำลังวุ่นๆ เรื่องจะไปต่อ หรือเรื่องคะแนนบริหารแผ่นดิน เวลาที่จะมาสงสารน้องๆ ทั้งสองคนคงเหลือในหัวใจเขาไม่มาก”
แต่การที่พระผู้ใหญ่ต้องออกโรงร้องขอชีวิตของเยาวชนถึงสองครั้งสองคราย่อมมิใช่เหตุบังเอิญ แต่อาจสะท้อนโครงสร้างบางอย่างที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย จนเกิดการปะทะกันทางความเชื่อและทางการเมืองระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า
WAY ชวนหลวงพ่อสนทนาธรรมตั้งแต่เรื่องการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ความยุติธรรมในสังคม ตลอดจนสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อ 2 ปีก่อน พระอาจารย์เคยขอบิณฑบาตชีวิตเพนกวิน ส่งผลอย่างไรบ้าง
เราก็อ้อนวอน และขอผ่านสื่อต่างๆ ก็ดี แม่เขาบอกว่า ที่เขารอดชีวิตมาได้เพราะเราขอบิณฑบาตเอาไว้ เราถามคุณเพนกวินเรื่องสุขภาพ กว่าร่างกายจะฟื้นเนี่ยนานไหม เขาบอกว่าเป็นปี เพราะเหมือนว่าเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมันจะตายจากการขาดอาหาร กว่าจะบำรุงให้ฟื้นคืนเหมือนเดิมใช้เวลานานมาก
ตอนนี้เขาก็ยังมีอุดมการณ์แน่วแน่นะ แต่ต้องรอพักฟื้นร่างกายให้กลับมาปกติเหมือนเดิม เพราะเซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่มีอะไรไปหล่อเลี้ยง ร่างกาย สมอง หรือความคิดอ่านมันจะดีเหมือนเดิมได้ก็ยาก แต่ตอนนี้เขาเริ่มดูสดใสขึ้น
ทราบว่าพระอาจารย์อยากขอบิณฑบาตชีวิตของนักกิจกรรมทั้งสองคนที่กำลังอดอาหารประท้วงเหมือนกัน
อยากจะให้ทั้งสองคนคิดให้รอบคอบ ระหว่างอุดมการณ์กับชีวิต ถ้าเอาชีวิตไปแลกกับอุดมการณ์ในช่วงที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกำลังวุ่นกับเรื่องอื่น เขาก็จะไม่มาสนใจหรอกว่า พวกเรากำลังจะอด กำลังจะหิวยังไง แต่ถ้าเป็นช่วงที่การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว จังหวะที่เขากลับมาบริหารอีกที ก็อาจปรับจูนเข้าหากันได้ ช่วงนี้เขากำลังจะปั่นคะแนน แต่ถ้าเด็กเสียชีวิต เขาก็คงเสียคะแนนเหมือนกัน
ดังนั้นก็อยากอ้อนวอนฝ่ายผู้ใหญ่ ขอให้ลดหย่อนผ่อนปรนลงบ้าง ส่วนศาล ถ้าเห็นแก่อนาคตของเด็กและอนาคตของชาติ ให้เขาประกันตัวสักระยะหนึ่ง ถ้าเขาไปก่อเหตุอีก ก็ค่อยเอากลับมา แต่ตอนนี้เป็นช่วงวิกฤต ต้องเอาชีวิตคนไว้ก่อน อย่าเอาแต่หลักนิติศาสตร์ โดยไม่ใช้หลักรัฐศาสตร์เลย เพราะชีวิตของคนถ้าเสียขึ้นมาแล้วไม่อาจเอากลับคืน
มันจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวให้เพื่อนฝูงของเขา ญาติของเขา หรือคนอีกมากออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น อันนี้น่าเป็นห่วง บ้านเมืองกำลังอยู่ในสภาวะบอบช้ำมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจก็พัง แล้วยังมาเจอการใช้กฎหมายเช่นนี้อีก พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อะไรที่หย่อนเกินไปก็โดนหยามหมิ่น แข็งเกินไปก็ก่อเวรก่อภัย
ยังไงก็ขอให้ผ่อนหนักผ่อนเบาบ้าง ไม่ใช่จะตึงอย่างเดียวจนกระทั่งอยู่ร่วมกันยาก หย่อนบ้าง ผ่อนบ้าง พอให้อยู่กันได้ เด็กจะได้ฟื้นตัว ได้พักบ้างสักช่วงระยะหนึ่ง แล้วจะเรียกมาพิจารณาโทษใหม่หรือยังไงก็ว่ากันไป แต่ขอให้มีช่วงพักฟื้นบ้าง
พระอาจารย์เห็นว่า การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ยังมีวิธีอื่นอีก?
แน่นอน ยังมีวิธีอื่น อยากให้น้องๆ อย่าไปคิดว่าจะมีแค่วิธีนี้วิธีเดียว แบบนั้นภาษาธรรมะเรียกว่า ‘สัจจาภินิเวส’ คือสู้แบบหัวชนฝาอย่างเดียว เอาหัวไปกระแทกกับภูเขา มันจะชนะลำบาก ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเขาก็จะอ้างแต่กฎหมายว่าเราทำผิด เพราะฉะนั้นเราลองนึกคิดกันใหม่ พิจารณากันหน่อยว่า มันมีวิธีอื่นอีกไหม
พระพุทธเจ้าก็เคยทดลองอดอาหารมาแล้ว แต่เห็นว่าไม่ได้ผลก็เปลี่ยน ท่านฉันอาหารให้ร่างกายสมบูรณ์แล้วเดินหน้าใหม่ ไม่ใช่ว่าเลิกอดอาหารแล้วจะไม่เดินหน้าต่อ ท่านเปลี่ยนมานั่งสมาธิ จิตตั้งมั่นในหลักการว่า แม้เลือดเนื้อในกายจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที เราจะไม่ลุก ถ้ายังไม่บรรลุ แล้วในที่สุดท่านก็บรรลุ
อยากให้น้องๆ ที่มีหลักการแบบนี้ ลองคิดหาวิธีอื่นดูอีก จะทำยังไงให้ก็ไม่รู้แหละ แต่ถ้าสำหรับเรานะ เราจะไม่เลือกวิธีตายโดยที่เขาไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย แต่จะหาวิธีที่กระทบหัวจิตหัวใจผู้ใหญ่ที่แข็งกร้าวกับเรา ให้เขาผ่อนหนักเป็นเบาบ้าง แล้วเราก็อย่าแข็งกร้าวกับผู้ใหญ่เกินไป เอาทางสายกลาง ตรงไหนที่หย่อนก็หาช่องไปกระทบให้ผู้ใหญ่รู้สึกตัวเสียบ้าง อาจเป็นข้อคิด คำขวัญ หรือปรัชญาอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เขาคิดหนัก
การอดอาหารอาจเป็นปรัชญาแบบหนึ่งก็จริง เอาล่ะ มหาตมะ คานธี ก็ใช้ ในเมืองไทยเราก็มีคนใช้แนวทางนี้เยอะ อย่าง ฉลาด วรฉัตร แต่ที่สุดแล้วทุกคนที่ใช้ปรัชญาตัวนี้ก็ต้องละทิ้ง เพราะมันไม่ใช่หนทางที่จะเอาชนะได้ตลอด
หมายความว่าเนื้อหาของข้อเรียกร้องไม่ใช่ปัญหาเท่าวิธีการ?
นั่นแหละ หลักการน่ะมันใช่ เมื่อรู้แล้วว่าเขาเรียกร้องอะไร ก็ควรทำให้กฎหมายข้อนี้ไม่กลายเป็นเครื่องมือปราบเด็ก มันควรจะมีลักษณะที่อ่อนโยนลง ผู้ใหญ่ใช้วิธีอื่นบ้าง เด็กก็ใช้วิธีอื่นบ้าง มันน่าจะผ่อนกันทั้งสองฝ่าย ผู้ใหญ่ก็คิดหาวิธีอื่นมาแก้เด็กบ้างสิ ส่วนเด็กก็คิดหาวิธีแก้ผู้ใหญ่บ้าง ไฟจะได้ไม่ลุกท่วมบ้านท่วมเมือง
ในกรณีเลวร้ายที่สุดคือ หากทั้งสองคนเป็นอะไรขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง
มันต้องเกิดแน่นอน เพราะเขาก็มีญาติ มีพี่น้อง มีเพื่อน เพื่อนเขาคงต้องออกอาการอะไรบ้างล่ะ แต่ยังไม่รู้ว่ามันจะรุนแรงแค่ไหน จะร้ายแรงแค่ไหน คาดเดายาก
ในสังคมที่คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าต้องอยู่ร่วมกัน พระอาจารย์คิดว่าเราควรมีหลักยึดเหนี่ยวอะไรบ้าง
มันก็มีหลักธรรมบางข้อนะ ผู้ใหญ่ต้องมีเมตตาและสงสารเด็กบ้าง บางทีถ้าสุดจะแก้ก็ต้องวางเฉยเสียบ้าง แต่อย่าขาดสองตัวแรก ถ้าไม่มีความรักความเมตตาเด็กเลย ไม่มีความสงสารเลย ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ใจดำ หัดเป็นผู้ใหญ่ใจดีหน่อย ส่วนเด็กก็อย่าก้าวร้าวกับผู้ใหญ่เกินไป เอาแต่พอดี แข็งกร้าวบ้าง ถอยมาแล้วค่อยเดินใหม่บ้าง ไม่ใช่จะเดินหน้าชนจนชีวิตป่นปี้ไป มันต้องมีเดินมีถอย ถอยเพื่อจะเดินต่อ พระพุทธเจ้าก็ใช้วิธีนี้
เราเห็นเหตุการณ์ที่คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองอยู่เนืองๆ มันหมายความว่าอย่างไร ข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ถูกรับฟังงั้นหรือ
ใช่ เราเชื่อว่าเรื่องพรรค์นี้ไม่หยุดหรอก บางประเทศเขาเรียกร้องจนกระทั่งสถาบันต้องยอม หรือหนักข้อที่สุดก็คือ บางประเทศ สถาบันไม่อยู่ในศีลธรรมจนต้องล้มครืนลงไปก็มี แต่บ้านเรามีหลักที่เรียกว่า ‘ทศพิธราชธรรม’ ประชาชนเดือดร้อนก็มีเมตตา มีการแจกของ ช่วยเหลือเจือจาน ซึ่งยังผูกใจคนรุ่นผู้ใหญ่มาเป็นเวลาช้านาน
แต่เด็กรุ่นใหม่อาจเห็นจุดบกพร่อง เช่น การใช้ทรัพย์ของแผ่นดินจำนวนมาก ยิ่งในเวลาแบบนี้ เอาไปใช้ทำอะไร เราก็ต้องพิสูจน์ หาหลักฐาน มาชี้แจงกันได้ แต่ถ้ามาบอกว่าสถาบันแย่ แต่พอถามแล้วไม่รู้ว่าตรงไหนบ้าง มันก็ไม่ได้ เราต้องเคาะออกมาให้เห็น
แต่ระวังต้องนิดหนึ่ง เพราะพระราชาบางองค์ทรงศีลทรงธรรม จนได้รับฉายาว่า ‘ปิยะ’ เป็นที่รักของประชาชน หรือ ‘มหาราช’ พระราชาเหล่านี้เป็นที่รักที่ชอบของประชาชน ถ้าคนเกลียดกันทั้งบ้านทั้งเมืองเรื่องก็ง่าย แต่นี่เราอยู่ในช่วงก้ำกึ่งระหว่างพวกไม่เอาสถาบันกับพวกปกป้องสถาบัน เรียกว่าฝ่ายอนุรักษ์เขาก็ยังเข้มแข็งอยู่
ดังนั้นถ้าทำอะไรบุ่มบ่ามไป มันก็เหมือนเอาหัวชนภูเขา เก็บหัวไว้คิดอะไรดีๆ ในช็อตต่อไป อย่าเอาทุกข์มาถมตัว ทรมานตัวเอง พอทุกข์มากๆ สติปัญญามันจะไม่เหลือ
พระอาจารย์เคยบอกว่า ทุกวันนี้คนทั่วไปเรียกร้องจะเอา เรียกร้องจะบริโภคแต่ส่วนเกิน แต่ข้อเรียกร้องบางข้อของคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานมาก เช่น สิทธิในการขอประกันตัว ทำไมการเรียกร้องขั้นพื้นฐานเช่นนี้ถึงได้ยากเย็นนักครับ
ตรงนี้คือจุดที่เด็กสามารถเอามาโต้แย้งกับกฎหมายได้ ผู้ใหญ่ควรรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาสักนิด บางช่วงถ้าเห็นว่าสถานการณ์ชักตึงเครียด ก็ต้องให้ประกันตัวเขา ถ้าเขาสร้างเรื่องใหม่ก็เอากลับมาได้นี่ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้เหตุผลของฝ่ายนั้นว่า ทำใจแข็งไปทำไม พอใจแข็งหนักๆ มันจะลดทอนความเมตตาและความกรุณาลง แต่เราไม่ได้พูดให้ท้ายเด็กนะ พูดแค่นี้อีกฝ่ายก็จ้องจะเล่นงานแล้ว เราโดนพวกอนุรักษ์เล่นเรื่องนี้เยอะมาก
เขาบอกว่าเราหัวเอียง เป็นพระไม่เอาสถาบัน แต่ที่จริงไม่ใช่ เราได้รับสมณศักดิ์ ได้โปรดเกล้าพระราชทานอะไรต่างๆ ที่เราทำงานโครงการของวัดได้ราบรื่นก็เพราะสถาบันช่วยเหลือเราอยู่บางส่วน พระราชาให้มา เราก็เอาไปให้ราษฎร เอาไปเลี้ยงคน เลี้ยงประชาชน มันก็เกื้อหนุนวนเวียนอย่างนี้ เราก็รู้อยู่ แต่แน่นอนล่ะ มันจะมีบางช่วงที่เกิดความไม่เข้าใจกันขึ้นมา
มันต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา แต่พอไม่ทำความเข้าใจ เข้าไม่ถึง ก็ไม่มีการร่วมพัฒนาบ้านเมือง มีแต่จะจองล้างจองผลาญกันอย่างเดียว
ทุกวันนี้ ความยุติธรรมเป็นหัวข้อใหญ่ที่สังคมถกเถียงกัน ศาสนาพุทธพูดถึงความยุติธรรมว่าอย่างไรบ้าง
เขาพูดกันมานานแล้วล่ะ ความไม่เป็นธรรม กินสินบาทคาดสินบน หรือตัดสินคดีด้วยความลำเอียง เขาเรียกว่าอคติ อย่าตัดสินคดีด้วยความอคติ เพราะรัก เพราะชัง เพราะเกลียด เพราะโกรธ ถ้ามีอารมณ์เหล่านี้ จะตัดสินอะไรก็ไม่เป็นธรรมเท่าที่ควรจะเป็น
สมัยนี้คนใช้กฎหมายกันเละไปหมด อย่างคดีดาราไต้หวันจะเห็นภาพชัด สร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง ทำลายภาพลักษณ์องค์กร ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน แทนที่เขาจะเชื่อถือและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐก็จะเชื่อกันไม่ติด ตั้งแต่มีตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนนี้น่าจะมีกรรมหนักสุด อาจเพราะลูกน้องไปแอบทำเสียหาย หรือลูกพี่บางคนแอบให้ท้ายก็ไม่รู้
สมัยก่อนเขาใช้คำว่า ความยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด แล้วจะมีแต่ความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง แตกแยก ร้าวฉาน
พระอาจารย์คิดว่าจะทำยังไงให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมทุกวันนี้
(นิ่งคิด) ตราบใดที่คนยังไม่เชิดชูธรรม มัวแต่เอาอะไรไม่รู้ เอารวย เอาหน้าที่ มันจะไม่เกิดความเป็นธรรม
ตอนนี้มันเพี้ยนไปหมด นักธุรกิจบางคน พอเราไปต่อรองของซื้อของของเขาว่า จะเอามาทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อศีลธรรม เพราะเราซื้อไปช่วยคนยากคนจน แต่เขาบอกว่า ผมไม่ใช่มูลนิธิ ไม่ใช่องค์กรการกุศล ผมเป็นนักธุรกิจ เราเจอตอกหน้ามาแล้ว พวกนี้หาเงินอย่างเดียว ไม่หาธรรมเลย
เมื่อก่อนมีเศรษฐีใจบุญ ภาคเหนือเขาเรียกคนรวยว่า พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง คือรวยแล้วเลี้ยง เดี๋ยวนี้รวยแล้วรวบ ได้กำไรตั้งเยอะ จะเสียเพื่อการกุศลสักนิดไม่มี มันก็เกิดธุรกิจสีเทาแบบตู้ห่าวได้ง่าย แต่บางคนไม่ใช่เทานะ เราเรียกธุรกิจใจดำ ไม่สงสารผู้ที่จะเป็นลูกค้าเลย สมัยนี้มีแต่นายทุนหน้าเลือด นายทุนขูดรีด นายทุนกระดาษซับ มันดูดเหมือนกระดาษซับ ดูดเลือดดูดเนื้อจนไม่เหลืออะไร เรียกชาวไร่ชาวนาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แล้วใครเอาเนื้อไปหมดล่ะ
ตอนนี้มันเละกันหมดทุกวงการ นอกจากนักธุรกิจ วงการพระก็เป๋ไปเยอะ วงการตำรวจก็ปวดหัวใจ มันแย่ไปจนถึงเด็กนักเรียน ไม่น่าเชื่อว่าเด็กประถมจะข่มขืนกันแล้ว มันประหลาดกันไปหมด พี่ฆ่าน้อง พ่อฆ่าแม่ ฆ่าลูกฆ่าเมีย มันถึงคราวขาลงของศีลธรรมแล้ว
เมื่อวานเพิ่งอ่านเจอ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่งเริ่มตื่น จะปลุกระดมคนเข้าวัดทุกวันพระ (หัวเราะ) ใกล้จะหมดวาระรัฐบาลแล้ว เพิ่งคิดได้ ภาษาโบราณเขาว่า กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ คิดสายไป ช้าไป พอคิดเรื่องศีลธรรมช้าไป เรื่องเลวร้ายจะมาเพียบเลย เพราะไอ้ความไม่เป็นธรรมเนี่ยมันอยู่ในความเลวร้ายหลายๆ เรื่อง
สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงตะวัน-แบม หรือนักสู้ทางการเมืองคนอื่นๆ อีกบ้าง
อยากให้ทั้งสองรอดชีวิตก่อน เอาอุดมการณ์ไว้ข้างหลังชีวิตสักนิด อย่าเพิ่งกดทับชีวิตตัวเองช่วงนี้เลย เพราะตอนนี้พวกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกำลังวุ่นๆ เรื่องจะไปต่อ หรือเรื่องคะแนนบริหารแผ่นดิน เวลาที่จะมาสงสารน้องๆ ทั้งสองคนคงเหลือในหัวใจเขาไม่มาก
แล้วก็ขอฝากถึงผู้ใหญ่ อย่าปล่อยให้เด็กต้องมามีอันเป็นไปในช่วงเวลาที่เราเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและมีอำนาจ ช่วยลดอำนาจ แล้วเพิ่มเมตตาและกรุณาสักนิด เป็นผู้ใหญ่ใจดีให้เด็กได้เคารพนับถือต่อไป
ส่วนเด็ก ยังไงเราก็ยังเด็ก แข็งเกินไปจะก่อเวรก่อภัย หย่อนเกินไปก็จะถูกเขาหยามหมิ่น เอาแต่พอดี หาตรงกลางให้ได้ หาวิธีที่ดีกว่านี้อีก เพื่อเอาชนะสถานการณ์นี้ให้ได้