คืนข้างแรมเดือนมาฆะของทุกปี ชาวฮินดูจะจัดวัน ‘ศิวราตรี’ เพื่อเฉลิมฉลองการแต่งงานของพระศิวะกับพระแม่ปารวตี ซึ่งคนไทยให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเทศกาล ‘นวราตรี’ บนถนนสีลมเมื่อปีกลาย
ปรากฏการณ์เยาวรุ่นสยามเข้าวัดฮินดู นับถือองค์เทพ กระทั่งมูเตลูผ่านวัตถุ นัยหนึ่งสะท้อนรากของวัฒนธรรมฝั่งเอเชียที่ผสมผสานกลมกล่อมมาช้านาน อีกนัยหนึ่งคือภาพสะท้อนว่า ศาสนาเก่าแก่อย่างฮินดู มีรากฐานที่แข็งแรงและยืดหยุ่นต่อพลวัตของโลกอย่างน่าอัศจรรย์
WAY คุยกับ ดร.สุชาดา ปาเตีย ที่ปรึกษาสมาคมฮินดูสมาช ที่ปรึกษาและนักพัฒนาองค์กร ผู้ทำงานด้านจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อพัฒนาองค์กร รวมถึงการใช้หลักการของภควัทคีตา (भगवद्गीता) หรือคัมภีร์ศาสนาฮินดู นิกายไวษณพ มาผสมผสานกับการทำงาน
จุดตั้งต้นคือคำถามคลาสสิกอย่าง หากต้องการสมหวังด้านความรัก ต้องหันหน้าเข้าหาเทพองค์ใดแน่ ไปจนถึงช่องว่างความรู้ (knowledge gap) ระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อใหม่ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับศาสนาฮินดู และคำตอบที่ว่า เหตุใดศรัทธาต่อองค์เทพ จึงเป็นความเชื่อที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน
ดร.สุชาดามองว่า สิ่งสำคัญคือการกราบไหว้ขอพรต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติ เพียงแต่กระแสไหว้องค์เทพฮินดู สะท้อนว่าผู้คนยังต้องการที่พึ่งทางใจ เพราะหลายครั้งลำพังการทำบางอย่างด้วยตัวเองอาจท้าทายความสามารถของมนุษย์เกินไป
ขณะเดียวกัน ศาสนาฮินดูเต็มไปด้วยเรื่องเล่า (storytelling) เกี่ยวกับองค์เทพต่างๆ และเรื่องเล่าที่แทรกซึมในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนเหล่านี้อาจเป็นกุญแจที่ทำให้ศาสนาฮินดูดำรงอยู่ได้ในปัจจุบัน
เฉกเช่นศิวราตรีที่มาจาก 3 ตำนานหลัก
หนึ่ง-หลังเทวดาและอสูรร่วมกันกวนเกษียรสมุทร พิษของนาควาสุกรีไหลลงสู่ทะเล เพราะความเจ็บปวดที่ลำตัวของตนถูกใช้เป็นเชือกผูกภูเขามันทรคีรี เพื่อเป็นไม้กวนมหาสมุทร พระศิวะจึงดื่มพิษทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือโลก ชาวฮินดูจึงเฉลิมฉลองมหาศิวราตรีเพื่อรำลึกถึงความเมตตาของพระองค์
สอง-นายพรานแถบเมืองพาราณสีคนหนึ่งเข้าไปล่าสัตว์ในป่า แต่จับไม่ได้สักตัว ครั้นถึงเวลาพลบค่ำ เขาจึงไต่ขึ้นต้นมะตูมใหญ่เพื่อขัดห้างค้างแรม นายพรานหนาวสั่นเพราะน้ำค้างและความหิวโหย เขามีอาการกระสับกระส่ายจนต้นไม้สั่นไหว น้ำค้างบนใบมะตูมร่วงหล่นกระทบลงศิวลึงค์ด้านล่างตลอดทั้งคืน พระศิวะเข้าใจว่า นายพรานผู้นี้บูชาตนอย่างพากเพียร จึงประทานพรให้เขาหลุดจากบ่วงกรรมที่ฆ่าสัตว์ และกลับชาติไปเกิดเป็นบริวารของพระองค์
สาม-ศิวราตรี คือวันเข้า ‘สยุมพร’ หรืออภิเษกสมรสระหว่างพระศิวะและพระนางปารวตี ถือเป็นการรวมกันของจักรวาล เมื่อพลังของศิวะและศักติของพระแม่มาผนวกเข้าด้วยกัน
พิธีกรรมบวงสรวงพระศิวะด้วยปัญจอมฤต (น้ำวิเศษ 5 อย่าง ได้แก่ น้ำดื่มสะอาด นมวัว เนย (ชนิดทาขนมปัง ถือเป็นของเหลวเช่นกัน) นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต และน้ำผึ้ง) ใบมะตูม ผลไม้ ขนมหวาน และการถวายจาคะ จึงถูกปฏิบัติต่อกันมาด้วยประการฉะนี้
ข้างต้นเป็นตัวอย่างที่บ่งบอกว่า ฮินดูเป็นศาสนาแห่งการเล่าเรื่อง ซึ่งเกร็ดเล็กเกร็ด น้อยเหล่านี้เป็นทั้งคำสอน คติ และอาจเป็นกุศโลบายให้เราหัดอยู่กับตัวเอง
“สุดท้ายแล้ว เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคืออะไรล่ะ ศาสนาฮินดูสอนให้คนตระหนักรู้ในตนเอง สอนให้มีความหมายในการดำรงชีวิต ผ่านเรื่องเล่ามากมาย ถ้ามองเป็นแค่ความเชื่อ มันก็โอเค แต่เราสามารถหยิบบางส่วนมาประยุกต์ใช้ได้”
กรณีพระตรีมูรติหน้าเซ็นทรัลเวิลด์นับว่าเป็น knowledge gap (ช่องว่างความรู้) ไหม
ถ้าดูตามหลักประติมานวิทยา พระตรีมูรติหน้าเซ็นทรัลเวิลด์คือ ปัญจมุขี สทาศิวะ หรือศิวะห้าเศียรอย่างที่เรารู้จัก ก็ถือว่าเป็น knowledge gap เพราะการที่เขาบอกว่าเป็นพระตรีมูรติ แล้วคนไทยก็เชื่อตามกันมา โดยขอพรเรื่องความรัก คนอินเดียก็จะงงว่า เราไม่เคยขอพรเรื่องความรักจากพระตรีมูรติ คนอินเดียจึงรู้สึกถึงความเชื่อที่แตกต่าง
knowledge gap น่าจะเกิดจากตำนานที่เล่าสู่กันฟัง แล้วเชื่อกันว่า เทพองค์นี้ต้องถวายสิ่งนี้ ต้องทำแบบนั้น ถ้าไม่ครบถ้วน ก็จะไม่ได้พร แต่ถ้าศึกษาจริงๆ จะพบว่า พระเจ้าไม่เคยร้องขออะไร เพราะเขามีอยู่แล้วทุกอย่าง เขาจะเอาอะไรจากเราล่ะ ขอแค่ความรักและความศรัทธาที่มีให้เขาจริงๆ ก็พอ ความรักความศรัทธาก็คือ vibration หรือพลังงานอย่างแรงกล้าที่เราส่งไปให้เขา ถ้าภาษาวิทยาศาสตร์ก็คือ กฎของจักรวาล ถ้าคุณภาวนาถึงอะไรมากๆ คุณก็จะดึงดูดสิ่งนั้นเข้ามา
แล้วในเชิงความเชื่อ ถ้าเราบูชาผิดพลาดหรือผิดขั้นตอน เทพเจ้าจะโกรธหรือเปล่า
มันอยู่ที่เรา ถ้าเราถวายของผิด เราก็จะรู้สึกผิดและคิดว่ามันต้องไม่ได้ผลแน่ๆ สมมุติเราต้องถวายนม แต่ดันถวายโยเกิร์ต พอเกิดเหตุการณ์ผิดหวังทับถมกันมากๆ เราจะคิดไปเองว่า เทพกริ้วและโมโห เพราะถวายของผิด ทั้งที่จริงจิตเราคิดไปเอง แต่กลับบอกว่านี่คือการลงโทษของเทพ เทพเขาไม่ลงโทษหรอก มีแต่เรานั่นแหละ ข้อห้ามจริงๆ ของฮินดูมีแค่อย่าถวายเนื้อสัตว์ อย่าถวายไข่ หรืออะไรก็ตามที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์
การห้ามถวายเนื้อสัตว์หรือไข่มีเหตุผลอะไร
ถ้ามนุษย์ไม่กินเนื้อสัตว์ตามคำสอน เราก็จะไม่ทำร้ายสัตว์ ฮินดูเชื่อว่า ก่อนเกิดเป็นมนุษย์ เราต้องผ่านมาหลายชีวิตหลายชาติ ฉะนั้น เราไม่ควรทำร้ายสิ่งที่เราเคยเป็นหรืออาจเป็นในอนาคต
ฟังดูเหมือนคติการกลับชาติมาเกิด (reincarnation)?
ใช่ คนอินเดียเชื่อในการกลับชาติมาเกิดและการอวตาร คือถ้าตายแล้วไม่ไปโมกษะ (การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด) ก็จะกลับมาเกิดใหม่ในวัฏสงสาร แต่จะกลับมาเป็นมนุษย์รึเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง พิสูจน์ไม่ได้
ขณะเดียวกัน พระพุทธเจ้าท่านก็นำสิ่งที่พบเห็นจากการตรัสรู้ มาสอนให้มนุษย์เข้าถึงง่ายขึ้น เพราะถ้ามัวแต่นึกถึงเทพ เราก็จะไม่ทำอะไรเลย ท่านจึงสอนให้กลับมามีสติและลงมือทำ สิ่งนี้ก็ไปล้อกับที่พระกฤษณะสอนในภควัทคีตาว่า เราทุกคนเกิดมามีหน้าที่ มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ เราต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ โดยห้ามยึดติดกับผลลัพธ์ คุณคาดหวังกับผลลัพธ์ได้ แต่ห้ามยึดติด เพราะถ้าไม่มีความคาดหวัง เราก็ไม่ลงมือทำ แต่ผลลัพธ์จะออกมายังไงก็ห้ามยึดติด ดีคือดี ไม่ดีก็คือไม่ดี กลับไปทำใหม่ สิ่งเหล่านี้คือ detachment (ความไม่ยึดติด)
สารัตถะของศาสนาฮินดูคืออะไร
ศาสนาฮินดูต้องการให้คนเกิดการตระหนักรู้ในตัวเอง (self-realization) เราคือใคร เกิดมาทำไม เหมือนปรัชญาอิคิไกหรือจิตวิทยาทั่วไปที่ถามว่า เช้านี้เราตื่นขึ้นมาเพื่ออะไร เป้าหมายสูงสุด (ultimate goal) คืออะไร ถ้าเราตอบว่าเป้าหมายคือการมีตังค์ ร่ำรวย แต่ต่อให้มีทั้งหมดนั้น เราก็ต้องการเป้าหมายอื่นอยู่ดี เราคงไม่นอนอยู่บ้านเฉยๆ ดู Netflix หรือเลี้ยงหมาหรอก จริงมั้ย
เมื่อเราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เราก็จะมีสิ่งที่อยากทำ อยากได้ อยากเป็นต่อไปเรื่อยๆ เหมือนที่หลายคนพบกับภาวะที่รู้สึกว่างเปล่า เหมือนชีวิตนี้ไม่รู้จะไปยังไงต่อดี นั่นคือความสำเร็จทางโลก แต่เรายังขาดความสมบูรณ์จากภายในของเราเอง นั่นคือ self-establishment (การจัดการตนเอง)
สุดท้ายแล้ว เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคืออะไรล่ะ ศาสนาฮินดูสอนให้คนเกิด self- realization สอนให้มีความหมายในการดำรงชีวิต ผ่าน storytelling มากมาย ถ้ามองเป็นแค่ความเชื่อ มันก็โอเค แต่เราหยิบบางส่วนมาประยุกต์ใช้ได้
ถามว่ามีคนหันหลังให้พระเจ้าเยอะไหม ก็เยอะ แต่ถ้าเขาหันกลับไปก็ยังเจอ มีช่วงหนึ่งย่าเราป่วย เราก็ปฏิบัติตามคำสอนและขอพรกับพระเจ้าให้รักษาย่า แต่ท้ายสุดย่าเสียชีวิต เราโกรธ ไม่เข้าใจ หันหลังให้พระเจ้า สุดท้ายเราเป็นฝ่ายเสียหาย เรากลายเป็นคน down, dark, deep ซึ่งไม่ใช่ตัวตนของเราเลย เราว่าศาสนาฮินดูเป็น learning process (กระบวนการเรียนรู้) ที่ทำให้เราเกิด self-realization กล่าวคือ เราต้องผ่านเหตุการณ์ trauma ในชีวิตก่อนถึงจะเข้าใจสัจธรรมได้อย่างถ่องแท้
แล้วศาสนาฮินดูมีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่อย่างไร
มีแบบไม่รู้ตัว เช่น ก่อนออกจากบ้านต้องยกมือไหว้หิ้งพระ ไม่รู้ไหว้ทำไม แต่ก็ไหว้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า คนฮินดูผูกข้อมือสีแดง เราเคยเจอคนที่ผูกแต่ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู ก็เลยถามว่าผูกทำไม เขาบอกว่าผูกแล้วรู้สึกดี เหมือนมีเกราะป้องกัน ผูกข้อมือก็ดีกว่าไม่ผูก
มีหลายกรณีที่คนไม่เชื่อ แต่ก็ยังทำอยู่ อย่างเช่น ‘วันดิวาลี’ ที่เหมือนวันขึ้นปีใหม่ เป็นคืนเดือนมืดที่พระรามรบชนะทศกัณฐ์ และกลับกรุงอโยธยา คือมีคนที่ไม่นับถือศาสนาฮินดูมาเฉลิมฉลองวันดิวาลีเยอะเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเข้าใจถึงแก่นของการเฉลิมฉลองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับผู้คน
มีมุมมองต่อศาสนิกชนต่างศาสนาที่ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลฮินดูอย่างไร
ไม่แปลกใหม่นะ คนไทยหลายคนกลายเป็นสาวกเทพเจ้า (devotee) และบางคนเขาศรัทธามากกว่าเราอีก จนต้องยอมรับว่าเขาศึกษาและปฏิบัติจริงจัง แต่เราจะเห็นวิธีการที่แปลกใหม่ อย่างเช่น งานแห่นวราตรีของวัดแขกสีลมที่กำลังได้รับความนิยม งานนั้นเป็นประเพณีทางใต้ของอินเดียที่เน้นศรัทธาจริต คือเป็นการแสดงออกถึงศรัทธาอันแรงกล้าผ่านพิธีกรรม การขับร้อง และการสวดอ้อนวอนต่างๆ ซึ่งถอดแบบมาจากอารยธรรมเดิมในอินเดีย แต่ก็ต้องยอมรับนะว่า งานนั้นมีส่วนที่ต่างออกไปบ้าง ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเขาทำอะไรผิดไป แต่เป็น “ว้าว ทำขนาดนี้เลยเหรอ” ซึ่งมันเป็นความรู้สึกเชิงบวก เป็นความรู้สึกทึ่ง เพราะบ้านเราไม่มี
การที่คนไทยพุทธหันมาไหว้ขอพรเทพฮินดูมากขึ้น มันสะท้อนอะไรบ้าง
สะท้อนว่าเรามีรากที่เชื่อมโยงกันโดยไม่รู้ตัว ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากฮินดูมายาวนาน เพียงแต่วันนี้กระแสกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นเทรนด์ที่คนอยากทำตามกัน
อีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า คนต้องการที่พึ่งทางใจมากขึ้น เพราะหลายครั้งการทำอะไรด้วยตัวเองอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายมนุษย์เกินไป ทางหนึ่งที่จะเสริมพลังตัวเองคือการขอพรกับเทพ อย่างน้อยฉันก็ได้ขอ อย่างน้อยฉันก็ได้มู มันมีอะไรให้ลุ้นมากขึ้น อาจจะทำให้คนรู้สึกมีชีวิตชีวาในการจะลงมือทำอะไรบางอย่างมากขึ้น
ตามคติของชาวฮินดู วัฒนธรรมบนบานศาลกล่าวมีหน้าตาอย่างไร
ตั้งแต่อดีตกาล มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเงื่อนไข ฉันไหว้อันนี้ แล้วขอให้ฝนตก หรือไม่ว่าจะแห่นางแมว ปักธูป หรือทำอะไรก็แล้วแต่ เงื่อนไขคือฝนต้องตก การบนคือถ้าฉันได้ B แล้วจะเอา A มาถวาย ส่วนการขอพรคือ ถ้าเราทำ A ต้องได้ B ถามว่าการขอพรเท่ากับการบนไหม เราจะพบว่ามันแค่กลับด้านสมการกัน มันคือการสร้างข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน
สุดท้ายแล้วคนเราต้องการอะไรบางอย่างเสมอ มนุษย์มีความกลัวแค่ 3 อย่าง กลัวไม่เป็นที่รัก กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ และกลัวไม่ดีพอ พอเราเผชิญหน้ากับความกลัวอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ เราจะเริ่มหาที่พึ่ง ที่พึ่งแรกอาจเป็นที่พึ่งข้างนอก เช่น การคุยกับเพื่อน การพูดคุยสังสรรค์ การหาความรู้ หรือการผ่อนคลายในรูปแบบต่างๆ แต่ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ เราก็ต้องหาที่พึ่งทางใจ
นั่นคือสาเหตุที่มีกระแสมูเตลู กำไลบ้าง หินบ้าง พระบ้าง ซึ่งไม่ผิด มันเป็นสิ่งที่เติมเต็มจิตใจ เราแค่มองว่า ความรู้ทางฮินดูของเราควรถูกถ่ายทอดแบบถูกต้องด้วย ไม่ใช่เอาชื่อเทพมา แล้วบอกว่า ต้องมูแบบนี้แล้วจะได้แบบนั้น แต่บางทีก็ต้องยอมรับว่า เราอาจจะรู้ไม่ครบเองก็ได้ เพราะฮินดูมีตำนานและ storytelling เยอะมาก ไม่มีทางรู้หมดหรอก
การมูเตลู โดยเฉพาะมูใส่เทพฮินดู มีขอบเขตที่ไม่ควรล้ำเส้นไหม
การมูที่มีขอบเขตคือ การมูที่ไม่เบียดเบียนความเชื่อเดิมหรือเบียดเบียนคนอื่น เราไม่สามารถบอกได้ว่า ถ้าจะมูพระพิฆเนศ ทำได้แค่นี้นะ เราห้ามใครไม่ได้ สิ่งที่เราร้องขอได้คือ อย่าไปเบียดเบียนหลักความเชื่อเดิมที่มีอยู่ หรืออย่าไปสร้างความเชื่อขึ้นมาใหม่ที่ทำให้คนหลุดจากแก่นหลักของศาสนา
ต้องยอมรับว่า คนที่มูจริงๆ เขามีความอิน มีความเชื่อและมีศรัทธาที่แรงกล้ามาก แต่ความเชื่อบางอย่างอาจทำให้เขากลับตัวไม่ทัน ดังนั้น คนที่ทำสินค้าสายมูก็ต้องเคารพความเชื่อดั้งเดิมด้วย เพราะหากมี over claim (กล่าวอ้างเกินความเป็นจริง) แล้วไม่เป็นไปอย่างที่เคลม คนก็จะมาด่าเทพ แล้วเทพของเราไปสัญญาแบบนั้นตอนไหนเหรอ (หัวเราะ)
เนื่องจากเรื่องเล่าของศาสนาฮินดูมีความหลากหลาย มีการเมืองระหว่างเรื่องเล่าไหม
พระตรีมูรติประกอบด้วยพระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม แต่ใครนับถือองค์ไหนเป็นใหญ่ ก็จะส่งผลต่อความโดดเด่นและตำแหน่งแห่งที่ในเรื่องเล่าต่างกัน แน่นอนว่ามีการเมืองระหว่างนิกาย รวมไปถึงการเมืองในแต่ละยุค เช่น ยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่หรือยุคของตรีศักติ ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่กาลี และพระแม่สรัสวดี ก็จะเป็นภาพพระแม่เป็นใหญ่มากกว่าเทพอื่นๆ สอดคล้องกับความเชื่อคนไทยอย่างแม่โพสพ แม่คงคา และแม่ธรณี ซึ่ง ‘แม่’ หมายถึงผู้ให้ชีวิต ผู้ให้กำเนิด จักรวาลกำเนิดได้จากแม่ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้ชายขึ้นมาเป็นใหญ่ในสังคม เทพผู้ชายจึงเริ่มโดดเด่นขึ้นมา
การเมืองยังครอบคลุมถึงระบบวรรณะในสังคมอินเดีย แรกเริ่มเดิมที ระบบวรรณะถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนทำสิ่งที่ตัวเองถนัดและทำได้ดี เราต้องยอมรับว่า สมัยก่อนไม่ใช่ทุกคนที่มีการศึกษา มันมีความเหลื่อมล้ำ เขาจึงแบ่งคนตามหน้าที่ คำถามคือ ทำไมคนแต่ละวรรณะต้องอยู่เฉพาะวรรณะของตัวเอง เพราะสังคมมองว่า การเกิดในสภาพแวดล้อมแบบนั้นๆ จะปูทางให้เขาทำตามหน้าที่ของวรรณะนั้นๆ ได้ดี ซึ่งตามหลักการ เรากระโดดข้ามวรรณะได้ แต่ความเป็นการเมืองทำให้ผู้ปกครองกดไม่ให้คนข้ามขั้นได้ มันเป็นเรื่องของอำนาจ สุดท้ายจึงเกิดชนชั้นจัณฑาล กลายเป็นการแบ่งคุณค่า (value) ของคน ซึ่งจริงๆ ควรแบ่งตามหน้าที่ (duty)
เมื่อปลายปี 2565 มีกลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ+) เข้าร่วมงานนวราตรีจำนวนมาก สิ่งนี้เชื่อมโยงกับเรื่องเล่าอะไรของศาสนาฮินดู
จริงๆ ไม่ใช่แค่นวราตรีนะ วันเกิดพระกฤษณะก็มาเยอะเหมือนกัน เราว่าการที่คนกลุ่มนี้เข้าถึงเทพน่าจะเป็นเพราะความเชื่อ เขาเชื่อว่า มีองค์แม่ของ LGBTQ+ อันนี้เราก็เพิ่งเคยเห็นในแค่ในประเทศไทย มันมีตำนานว่า พระแม่องค์หนึ่งได้อวตารลงมาเป็นปางที่ปราบคนที่ทำร้าย LGBTQ+ ก็เลยถูกสถาปนาให้เป็นแม่ของเพศทางเลือก ซึ่งคนอินเดียไม่ได้บูชาพระแม่องค์นี้ในนามพระแม่ของเพศทางเลือก แต่บูชาในนามทั่วไปของพระแม่คือเพศหญิง
ต้องเข้าใจว่าเรานับถือพระแม่ เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่มีศักติ (शाक्त) ซึ่งแปลว่า พลังที่อยู่ข้างใน ส่วนผู้ชายจะมีพลังของพลวัต แต่คนเป็น LGBTQ+ มีทั้ง 2 พลัง ฟังแล้วอาจดูนามธรรม แต่นี่คือคำอธิบายทางศาสนาที่ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกถึงการผสมผสานของพลัง ศรัทธาของ LGBTQ+ แรงกล้ามากๆ จนเขารู้สึกว่าสามารถเข้าถึงพระแม่ได้ ถามว่าที่อินเดียกีดกันกลุ่มเพศทางเลือกไหม ก็ไม่นะ แต่ก็ยังไม่ได้เปิดมากขนาดนั้น
นี่คืออิทธิพลจากความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่?
ส่วนใหญ่น่าจะมาขอพรแล้วสมหวัง ก็จะยิ่งศรัทธามากขึ้น คนเราพอขออะไรได้ก็ต้องอินอยู่แล้ว แต่บททดสอบต่อไปคือ ถ้าขอแล้วไม่ได้จะยังรักอยู่ไหม ซึ่งคนส่วนใหญ่จะสอบตก เพราะชินกับการได้ แต่จริงๆ การได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นตั้งใจของคนของสิ่งแวดล้อมที่เจอในตอนนั้น ไปจนถึงการจัดการปัจจัยเสี่ยงในชีวิตตัวเอง
ถ้าขออย่างเดียวแล้วไม่ลงมือทำอะไรเลย คนทั้งโลกก็คงไม่ต้องทำอะไรแล้วล่ะ คุณต้องลงมือทำด้วย ไม่ใช่คุณทำ 50 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ให้พระแม่จัดการ เอาเข้าจริง ถ้าจะขอ คุณต้องทำมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ คุณต้องมีพลังเพื่อจะทำสิ่งต่างๆ ให้สัมฤทธิ์ผล เพราะฉะนั้น ในทางหนึ่ง การขอพรกับเทพเจ้ามันเป็นการเพิ่มพลังเพื่อให้รู้สึกว่า เดี๋ยวเจอกัน ฉันทำได้แน่
คิดว่าอะไรทำให้เทพเจ้ามีอิทธิพลต่อชีวิตและจิตใจของคนได้ขนาดนี้
น่าจะเรียกว่าความเชื่อมโยงถึงกัน เรารู้สึกว่าเข้าถึงพระเจ้าได้ ท่านอยู่ใกล้เราตลอดเวลา เราสามารถเล่าความในใจที่พูดกับใครไม่ได้ให้ท่านฟัง คนอื่นอาจจะมองว่าบ้า แต่เรารู้สึกสบายใจ เพราะผูกพันกับท่านตั้งแต่เกิด เทพเจ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
เวลาเรารู้สึกว่า โลกนี้ว่างเปล่า และมองไม่เห็นอะไรนอกจากตัวเอง ชาวฮินดูจะเชื่อว่า มีใครบางคนคอยดูแลเราอยู่ ต่อให้โลกใบนี้จะมืดมิดไปหมด แต่มันจะมีแสงสว่างจุดเล็กๆ อยู่ในความมืดนั้นเสมอ ทำให้เรารู้ว่ามีใครยังอยู่กับเรานะ เมื่อไรก็ตามที่เราหันกลับไป ก็จะเจอเขาอยู่ตรงนั้นตลอด เพียงแต่เราต้องเป็นคนที่เดินเข้าไปหา
คนอินเดียเชื่อว่า เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า หมายถึง พระเจ้าอยู่ข้างในตัวเราอยู่แล้ว เรามีอาตมันหรือวิญญาณ (soul) ของเราเอง และมี soul ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคอยดูแลเราอีกทีหนึ่ง คือถ้าเราเชื่อว่า มนุษย์มี body (ร่างกาย) mind (จิตใจ) และ soul คนอินเดียจะเชื่อว่าเรามี supersoul หรือปรมาตมัน แต่ soul หรืออาตมัน จะพยายามเดินออกจากปรมาตมัน เพราะฉะนั้นคนที่ต้องเดินกลับมาก็คือตัวเราเอง นี่คือหลักการ self-realization ในศาสนาฮินดู
คุณมองการที่คนต่างศาสนาขอพรจากเทพฮินดูในวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันสำคัญของศาสนาอื่นอย่างไรบ้าง
วาเลนไทน์คือเทศกาลของศาสนาคริสต์ (หัวเราะ) เรามองว่าความรักก็คือความรัก ฮินดูเองก็มีเทศกาลศิวราตรี ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการแต่งงานของพระศิวะกับพระแม่ปารวตี เวลาคนอินเดียแต่งงานก็มักจะขอให้ครองคู่อย่างสุขสมหวังเหมือนพระนารายณ์กับพระแม่ลักษมี มีความรักที่ร้อนแรงและเป็นนิรันดร์เหมือนพระศิวะกับพระแม่สตี (ชายาองค์แรกของพระศิวะ จุติใหม่เป็นพระแม่ปารวตี) แต่เทศกาลของเราไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างในสากล จึงไม่ดึงดูดคนหมู่มากเหมือนวันวาเลนไทน์
มีตำนานอะไรที่มีอิทธิพลต่อการขอพรด้านความรักกับเทพฮินดูบ้าง
คนมักจะขอพรด้านความรักกับพระกฤษณะ เพราะท่านเป็นเทพที่ใกล้เคียงและใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด ท่านปรากฏตัวในศึกมหาภารตะในฐานะกษัตริย์จากโลกมนุษย์ เป็นเทพขี้เล่น ลุค playboy มีเสน่ห์ดึงดูด ดูได้จากการถือขลุ่ย มีสาวเอนซบ ท่านประทานความรักให้กับทุกคนรอบข้าง รูปเคารพของท่านมักยืนเคียงคู่กับแม่นางราธา แม้ว่าคู่นี้ไม่ได้ครองรักกันในทางกายภาพ แต่ทางจิตวิญญาณ เขาสามารถเชื่อมถึงกันได้ เพราะนางธาราเป็นปางอวตารหนึ่งของพระแม่ลักษมีที่ตามพระนารายณ์ (พระกฤษณะ) ลงมา ชาวฮินดูเชื่อว่า การขอพรจากพระกฤษณะ คือการขอให้มีความรักที่บริสุทธิ์และไม่หวังสิ่งตอบแทน แบบที่ทั้งคู่มีให้กัน
ขณะที่เทพคู่สร้างคู่สมสำหรับการขอพรให้สมหวังในความรัก คือพระนารายณ์กับพระแม่ลักษมี เป็นคู่ที่ครองรักกันอย่างมีความสุข เพราะไม่ว่าพระนารายณ์จะอวตารลงมาเป็นอะไร พระแม่ลักษมีก็ตามมาสนับสนุน เป็นเพื่อนคู่ชีวิต และอยู่เคียงข้างพระนารายณ์ทุกครั้ง
แล้วสทาศิวะหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ สามารถให้พรด้านความรักได้ไหม
เทพทุกองค์มีความรักให้หมด เพราะมีความรัก ท่านจึงคอยปกป้องดูแลเรา ถ้ามองในมุมนี้ก็สามารถไปขอความรักจากท่านได้ แต่ถ้าในแง่ฟังก์ชันของการสมหวังในคู่ครอง ก็คงต้องเป็นพระแม่ลักษมี อย่างไรก็ตาม ถ้าเราศรัทธาที่ไหน ก็ไปขอที่นั่นได้
ในมุมจิตวิทยาเชิงบวก การขอพรจากเทพช่วยกระตุ้นอะไรในจิตใจของคนได้บ้าง
มันคือสิ่งที่ไปสะกิดความเคารพในตัวเอง (self-esteem) และการมองเห็นคุณค่าของตัวเอง เมื่อ esteem กับ value ถูกสะกิดขึ้นมา โอกาสสำเร็จของสิ่งที่เราเชื่อและตั้งใจ ก็เป็นไปได้มากขึ้น ตามหลักจิตวิทยาเรียกว่า การเป็นไปตามคำทำนายของตน (self-fulfilling prophecy) เพราะคนเรามักตั้งความหวังกับตัวเองอยู่แล้ว ถ้าการขอพรจากเทพทำให้เรามั่นใจมากขึ้น โอกาสที่จะทำอะไรๆ สำเร็จ มันก็มีมากขึ้นด้วย