ข้อจำกัดและเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการมองอนาคตและการให้คุณค่าต่อการศึกษา นี่คือความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างปัญหาปากท้องกับการลงทุนเรื่องการศึกษาให้แก่ลูกๆ ของครอบครัวกลุ่มเปราะบาง ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 กลุ่มคนที่เปราะบางอยู่แล้วก็ยิ่งเปราะบางมากขึ้น
ถัดจากนี้เป็นการพูดคุยกับอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะกรรมการในคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.
รองศาสตราจารย์วรากรณ์ชวนมองปัญหาโรคระบาด ปากท้อง หัวสมอง และความเปราะบางของชีวิต เพื่อจะคลี่ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ผูกโยงกันหลายมิติ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดแกว่งไกว อีกสิ่งหนึ่งก็ย่อมไหวคลอน
อาจารย์มองเห็นความแตกต่างอะไรบ้างในวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้กับวิกฤติอื่นๆ ที่ผ่านมา
ที่ผ่านมาวิกฤติที่เราเคยเจอยังอยู่ในวงจำกัด ที่หนักที่สุดก็คือวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งผลกระทบจะหนักไปที่คนชั้นกลางระดับบนขึ้นไป แต่สำหรับครั้งนี้ โรคระบาดกระทบทุกคน ไม่มีใครหลีกหนีพ้น ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรต่างก็ได้รับผลกระทบกันทั้งสิ้น
ผลกระทบที่หนักหนาสาหัสที่สุด ผมคิดว่าเป็นเรื่องความกังวลใจและความหวาดวิตกของผู้คนทั่วโลก เมื่อโลกได้รับผลกระทบ พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไป เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไปด้วย เมื่อไม่มีคนใช้จ่าย อำนาจการซื้อขายก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิม และครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปีที่โลกหยุดพร้อมกันด้วยมาตรการล็อคดาวน์ ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเลย กว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกทีอาจต้องใช้เวลา ซึ่งไม่ง่ายเลย
หากเป็นวิกฤติอื่นๆ ที่กระทบเศรษฐกิจหรือการเมือง เราสามารถควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดได้ แต่การระบาดครั้งนี้จะเห็นว่าโลกทั้งโลกเชื่อมต่อถึงกัน ประเทศเราอาจจะคุ้มกันได้ดี แต่ถ้าประเทศเพื่อนบ้านปล่อยปละละเลย การระบาดก็มีโอกาสมาถึงบ้านเราได้ เพราะฉะนั้นลักษณะของวิกฤติจึงมีทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้
การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้พวกเรารอดพ้นจากโรคได้ แต่การเว้นระยะห่างก็สร้างผลกระทบตามมา ส่วนหนึ่งก็คือทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้น
COVID-19 ทำให้มองเห็นความเหลื่อมล้ำชัดขึ้นไหม
ผมมองว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้ปรากฏเฉพาะในสังคมไทย ในตอนนี้เราอาจยังมองเห็นความเหลื่อมล้ำได้ไม่ชัดนัก COVID-19 ทำให้เราเห็นแต่ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เราเห็นการเรียนออนไลน์ แต่เด็กไม่มีเครื่องมือ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถเรียนที่บ้าน อันนี้เราเห็นชัดเจน แต่นั่นเป็นเพียงต้นเหตุของมัน
เรายังไม่เห็นว่าผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำหลังจากนี้จะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไปจนกระทั่งอาจจะถึงช่วง 3-6 เดือนแรกของปี 2564 จะเป็นช่วงเดือนที่ยากลำบากที่สุดของคนจำนวนหนึ่ง คนเหล่านั้นก็คือคนที่เปราะบาง คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคง คนเหล่านี้จะต้องต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดในช่วง 9 เดือนข้างหน้า พวกเขาต้องลำบากยิ่งขึ้น และเราจะเห็นว่าโครงสร้างเดิมได้ทำร้ายคนเหล่านี้อย่างไร
ในขณะที่คนชนชั้นกลางทั่วไปอาจจะลำบากในช่วงแรกของการระบาด แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย พวกเขาก็พออยู่ได้ หรืออยู่รอดได้ง่ายกว่าคนที่อยู่ในระดับเปราะบาง
โครงสร้างเดิมแบบที่ว่านั้นหมายถึงอะไรบ้าง ทำไม COVID-19 ทำให้คนที่เปราะบางอยู่แล้วต้องเปราะบางมากขึ้นไปอีก
คนที่อยู่ในฐานะคนชั้นกลางหรือคนชั้นบน พวกเขามีทุนที่สะสมไว้ก็คือ เงินออม เงินฝาก มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีเงินเดือนสูง สวัสดิการมั่นคง ในขณะที่คนที่อยู่ในสถานะเปราะบางทางเศรษฐกิจไม่มีทุน ต้องออกแรงทุกวัน ทำงานหนัก แต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ระบบมันก็ฝังตัวมาแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนที่หาเช้ากินค่ำ โอกาสที่จะสะสมทุนก็ยาก เมื่อสะสมทุนไม่ได้ ก็กระทบกับการศึกษาของลูกหลาน ซึ่งส่งผลไปถึงความคิดของพวกเขาด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้พวกเขาไม่ได้คิดไปไกลกว่าที่จะให้ลูกมีการศึกษา เพราะเขาต้องดิ้นรนเอาตัวรอด กังวลกับเรื่องเฉพาะหน้าคือฐานะทางเศรษฐกิจของตัวเอง แล้วก็คิดอะไรไปสั้นๆ วันต่อวัน เพราะว่าพวกเขาไม่ได้มีโอกาสที่จะทำให้ตัวเองคิดอะไรยาวๆ ทำให้ความเปราะบางดำรงอยู่ต่อไปไม่จบสิ้น
น่าสนใจว่า เมื่อกลุ่มคนเปราะบางสะสมทุนไม่ได้ ก็กระทบกับการศึกษาของลูกหลานด้วย?
ใช่ เมื่อ COVID-19 ส่งผลกระทบแบบนี้ คนเปราะบางอยู่แล้วก็ยิ่งเปราะบางยิ่งขึ้น ชีวิตพวกเขาขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือจากคนอื่น งานที่ทำอยู่โดยเฉพาะงานในภาคบริการ ซึ่งคนเปราะบางต้องอาศัยชายคาของการท่องเที่ยว เมื่อการท่องเที่ยวหายไป ความเปราะบางนี้ก็ยิ่งเปราะบางมากยิ่งขึ้น
แต่ผมเชื่อว่าคนที่เปราะบางเองก็มีความคล่องตัวอยู่ในระดับหนึ่งถึงอยู่รอดมาได้ เพียงแต่ว่าระบบกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ให้โอกาสเขาหรือเปล่า ผมไม่ได้มองแค่เรื่องการเข้าถึงทุนอย่างเดียวนะครับ ทุนที่ให้กับ SME หรือ micro SME เหล่านี้ อาจจะไม่มีความหมายเท่ากับการแก้ไขกฎหมาย การแก้กฎเกณฑ์บางอย่างที่เอื้อให้เขาสามารถทำธุรกิจได้โดยที่ไม่มีใครไปรังแกเขา ที่ผ่านมาเขาทำอะไรได้ไม่มากนัก เพราะกฎเกณฑ์ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไปรังแก
ขอแค่นี้ – ผมว่าคนเปราะบางสามารถที่จะมีความคล่องตัวได้ดีขึ้น เพราะถ้าพวกเขาไม่แน่จริง คงไม่อยู่รอดมาถึงขนาดนี้หรอกครับ
ยกตัวอย่างได้ไหมว่า กลไกอะไรที่รัฐสามารถช่วยเหลือได้
เอาง่ายๆ เรื่องค้าขาย ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจไทย คนเปราะบางจำนวนไม่น้อยขายของหาบเร่ ขายของในเมืองใหญ่ๆ เขาพักอาศัยในชุมชนแออัด เป็นคนจนเมือง เพื่อลดต้นทุนและสามารถเดินทางได้สะดวก แต่การถูกห้ามขายในบางสถานที่ หรือมีกติกาว่าจะต้องจ่ายเงินเท่าไร เพราะว่ามีเจ้าพ่อเจ้าแม่อยู่บนบาทวิถีเต็มไปหมด คนเหล่านี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะขายสินค้าได้ ต้องหลบลี้หนีไปขายในชุมชนอื่น ไปขายในทำเลที่ไม่ดีเท่า โอกาสที่ได้ผลตอบแทนก็ต่ำ ถ้าปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ตรงนี้ให้คนเปราะบางมีโอกาสเท่ากับคนที่มีทุนและอำนาจ จะช่วยเขาได้เยอะเลย
หากพูดถึงมิติทางการศึกษาของกลุ่มคนเปราะบาง อะไรคือสิ่งที่เราควรพูดถึง
ขณะนี้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. พยายามรวบรวมรายชื่อเด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา เพราะว่าการรั่วหลุดออกไปจากระบบคือปัญหาซึ่งสำคัญมาก หากเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วก็ยากที่จะกลับเข้ามา การศึกษานอกโรงเรียนก็ไม่ใช่ของง่ายนะครับ เพราะระบบนี้เรียกร้องความทุ่มเท ความตั้งใจ บางคนต้องทำงานปากกัดตีนถีบไปด้วยและเรียน กศน. ควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจจะมีผลต่อวิธีการมองอนาคต ทำให้เขามองไกลกว่านี้ไม่ได้ มองได้แค่วันต่อวัน ไม่ได้มองว่าจะต้องลงทุนเพื่อพัฒนาตัวเอง เพื่อจะทำให้ตัวเองมีทักษะเพิ่มขึ้น มีความสามารถในการทำมาหากินมากขึ้น เพราะอนาคตมันอยู่ไกล มองไม่เห็น แต่วันนี้ พรุ่งนี้ เห็นชัดเจน นี่คือคนที่อยู่ในฐานะเปราะบาง วิธีมองของเขาจะแตกต่างกับคนที่มีฐานะดี คนยากจนเขาไม่ได้มองโลกอย่างที่คนชนชั้นกลางมองนะครับ เขามองแตกต่างกันด้วยประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน
ถ้ามองในมิติเศรษฐศาสตร์ การลงทุนด้านการศึกษาให้กับกลุ่มคนเปราะบาง จะช่วยให้มีผลตอบแทนอะไรกลับคืนให้กับประเทศบ้าง
อย่างที่ผมเรียนไว้ คือคนเปราะบางไม่สามารถมองอะไรได้ไกลมาก เพราะมีเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ การศึกษาก็ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเกิดดอกออกผล เขาก็มองเพียงว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำไปตามกฎหมาย แล้วก็สามารถอยู่รอดได้ ปรับตัวได้ แต่คนชนชั้นกลางที่มีเวลาคิดและมองโลกระยะยาวกว่า ชีวิตเขาก็สอดคล้องกับระบบการศึกษาที่ต้องใช้เวลากว่าที่จะเกิดดอกออกผล ทำให้เขากล้าลงทุนในการศึกษาให้กับลูกหรือตัวเอง อาจจะเกิดดอกออกผลได้ใน 5 ปี 10 ปีข้างหน้า แต่คนเปราะบางไม่สามารถมองได้ไกลขนาดนั้น เพราะจำเป็นต้องอยู่แบบวันต่อวัน
เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐที่ต้องเข้าไปช่วยใช่ไหม
ผมว่ารัฐก็ช่วยเยอะนะ แต่ว่าการช่วยต้องช่วยต่อเนื่อง เพราะโอกาสที่จะหลุดออกไปจากระบบการศึกษาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเกิดปัญหาขึ้นมาในครอบครัว ปัญหายาเสพติด ปัญหาพ่อแม่ไม่สบาย ถึงแม้ว่าจะเรียนฟรีก็จริง อาหารฟรีก็จริง แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเรียน เช่น ค่าเดินทาง ก็เลยจำเป็นต้องเรียนเท่าที่จะสามารถเรียนได้
สิ่งที่รัฐทำอยู่ เพียงพอหรือไม่
ตอนนี้ผมก็เห็นว่ามีความพยายามอยู่ อย่าง กสศ. ก็ไม่ได้จะให้เงินอย่างเดียว แต่มีการติดตามและหาวิธีที่จะทำให้คนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตอนนี้อาจจะเพิ่งเริ่มต้นมาได้ไม่กี่ปี ผมก็หวังว่าต่อไปจะทำให้เราสามารถติดตามข้อมูลเด็กกลุ่มนี้ด้วยระบบไอที สามารถบอกได้ว่าเขาเรียนอยู่ชั้นไหน ออกไปที่ไหน แล้วสามารถตามกลับเข้ามาในระบบได้ ในอนาคตน่าจะดีกว่านี้ เพราะเราจะเข้าใจความเชื่อมต่อระหว่างระบบเศรษฐกิจและการศึกษาได้ดียิ่งขึ้น
ความเชื่อมต่อระหว่างการศึกษากับเศรษฐกิจ จะเหมือนปัญหาไก่กับไข่ไหม ว่าจะแก้อะไรก่อนหลัง
ผมคิดว่าการศึกษาก็ควรทำไปพร้อมกับเศรษฐกิจ เรื่องปากเรื่องท้องสำคัญที่สุดเลย เพราะมันให้ผลวันนี้ วันนี้ผมมีงานทำ ผมก็ได้ 300 บาท แต่การที่จะให้อ่านออกเขียนได้ต้องใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าจะเกิดดอกออกผล เพราะฉะนั้นต้องรีบทำเรื่องเศรษฐกิจทันที การศึกษาก็ต้องรีบทำทันที ต้องทำควบคู่กันไป อย่าหวังว่ามันจะให้ผลระยะสั้น แต่มันเพิ่มพูนทักษะตัวเองแน่นอน แล้วก็ค่อยๆ ปรับปรุงได้
โรงเรียนจะมีบทบาทอะไรบ้างในช่วงเวลาของโรคระบาดแบบนี้
ผมคิดว่า โรงเรียนมีบทบาทสำคัญมากเลย ถ้าโรงเรียนจะสอนเด็ก ผมคิดว่า COVID-19 เป็นบทเรียนที่ดีที่สุดที่จะสอนได้ เชิงวิทยาศาสตร์ก็สอนได้ว่าติดเชื้อกันอย่างไร ในแง่ของระบาดวิทยา ถ้าติดแล้วต้องทำอย่างไร ทำไมต้องล้างมือ ทำไมต้องใช้แอลกอฮอล์ ทำให้คนเข้าใจวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการเรียนวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนที่สำคัญที่สุดเลย แบคทีเรียกับไวรัสต่างกันอย่างไร ทำไมเราถึงฆ่าแบคทีเรียได้ง่าย แต่ทำไมไวรัสถึงฆ่าได้ยาก เป็นวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมาก
ในขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนที่สอนให้รู้ว่า ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไขทีหลัง ยกตัวอย่างหลายๆ ประเทศ อย่างอเมริกาก็ไม่ได้เตรียมตัวมาก เพราะว่าประมาท ประธานาธิบดีคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา มาแล้วก็ไปเหมือนไข้หวัดธรรมดา ปีหนึ่งคนอเมริกันตายด้วยไข้หวัดห้าหมื่นคน…ธรรมดา แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ห้าหมื่นคนไงครับ มันแสนกว่าแล้ว กว่าจะกลับตัวมันไม่ทันแล้ว เพราะฉะนั้นวัวหายแล้วล้อมคอก มันไม่ถูก ทำอะไรต้องป้องกัน คิดป้องกันก่อนที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับคนที่อยู่ในวัยเด็ก เอาบทเรียนที่เกิดขึ้นรอบตัวจริงๆ มาสอนให้ดู
แล้วสอนในเรื่องของการปรับตัวด้วย ว่าทุกคนต้องปรับตัวใหม่ มีวิถีชีวิตใหม่เกิดขึ้นเราก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้อง เพราะโลกทั้งโลกมันเปลี่ยนไป สนใจในเรื่องความสะอาดมากขึ้น เราต้องมีความรู้ในเรื่องสาธารณสุขและเรื่องของความสะอาดมากขึ้น ซึ่งต่างจากเมื่อก่อน เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าครูสามารถเอาสิ่งรอบตัวที่เด็กรู้สึกลำบากมาชี้ให้เห็นชัดเจนได้ แล้วก็ได้ประโยชน์ คือราคาที่เราจ่ายไปแล้วเราต้องทำให้ราคามันลดลงโดยเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนสอนให้กับเยาวชน ครูเองก็ต้องเรียนรู้ ต้องอ่านเรื่อง COVID-19 ต่างๆ มากมาย อาการเป็นยังไง ต้องอธิบายให้เด็กฟังได้ เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคน
หลังจากนี้ไปโรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เหมาะสม
ถ้าปิดโรงเรียนนานไปคงไม่ไหว เพราะพ่อแม่เองก็ลำบาก มีลูกอยู่ด้วย เวลาเปิดเทอมใครจะอยู่ดูแลลูกที่บ้าน ที่สำคัญก็คือเด็กในประเทศไทยอาศัยอาหารกลางวันจากรัฐ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก พ่อแม่ไม่ต้องให้อาหารกลางวัน เด็กก็มีอาหารกลางวันกิน บางแห่งเขาเลี้ยงอาหารเช้าด้วย มีนมอีกด้วย
ทีนี้อาจจะมีข้อเท็จจริงทางวิชาการอย่างหนึ่งที่อาจจะช่วยให้คุณครูสบายใจได้ก็คือ เด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 มีเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่าผู้ใหญ่มากเหลือเกิน หรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยมากๆ เพราะฉะนั้นวิธีการก็คือให้จำนวนเด็กที่แออัดระบายไปข้ามห้องเรียน สมัยก่อนผมเคยเห็น เขาจัดชั่วโมงพละเยอะๆ ให้เด็กออกมาวิ่งเล่นเพื่อห้องจะได้ว่าง แล้วก็เวียนกันเรียน ห้องหนึ่งอาจจะ 20 คน แบ่งเป็นหลายกลุ่ม ผมเชื่อว่าคุณครูทั้งหลายค่อนข้างจะมีนวัตกรรมสูง คงหาวิธีได้ ถ้าหาห้องว่างไม่ได้ก็เปลี่ยนเป็นชั่วโมงพละไป พอมีห้องว่างเด็กก็เวียนไปอีกห้องหนึ่ง อย่างโรงเรียนพาณิชย์มีภาคเช้ากับภาคบ่าย เช้าก็เรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าไปถึงบ่าย 2 โมง ส่วนภาคบ่ายก็เรียนไปถึง 5-6 โมงเย็น คือถ้าสถานการณ์เลวร้ายขนาดนั้นก็ต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง
ปัญหาก็คือ โดยกลไกปกติแล้วถ้ารัฐไม่ได้มีคำสั่งลงมา หรือกระทรวงไม่ได้สั่งมา ครูก็ไม่กล้าออกนอกกรอบ?
ที่จริงครูก็ทำกันเยอะ เพราะถึงไม่ทำก็ไม่มีใครมาตรวจนะครับ ถ้ามีคำสั่งมาว่าห้องละ 20 คน แล้วมีเด็ก 40 คน จะทำแบบเดิมก็ทำไม่ได้ ก็ต้องทำแบบใหม่ ทำให้ห้องน้อยลง หมุนเวียนการใช้ห้องเรียนที่เข้มข้นขึ้น เมื่อก่อนอาจจะเรียนในชุมชน ในหมู่บ้าน สอนถึง 6 โมงเย็นก็ได้ เพราะเดินกลับบ้านไม่มีอันตรายอะไร อาจจะขยับเป็น 2 ผลัด ผมเชื่อว่าเราจะเห็นวิธีการใหม่ๆ เห็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดชั้นเรียนเกิดขึ้นเยอะมาก
กฎระเบียบของรัฐจะเอื้อให้แต่ละโรงเรียนจัดการตนเองได้แค่ไหน
มันเอื้อในบางเรื่อง ไม่เอื้อในบางเรื่อง เช่น หลักสูตรต้องเหมือนกัน จำนวนชั่วโมงเรียนต้องเท่ากัน ผมว่าอันนี้เป็นธรรมดา แต่เรื่องการจัดชั้นเรียน ผมว่ามีความคล่องตัวมาก จะเรียนกี่ชั่วโมง วันไหนหยุด วันไหนเปิด ตราบใดที่นับจำนวนชั่วโมง วันเรียนเท่ากัน เขาก็ยอมให้ได้ ก็มีความคล่องตัวพอสมควร เพียงแต่ที่ไม่คล่องตัวก็คือการบริหารงานบุคคลที่ไม่คล่องตัว ครู ครูใหญ่ การโยกย้าย การสอน หรือการขาดแคลนอะไรต่างๆ ส่วนเรื่องการจัดชั้นเรียนรูปแบบไหน จัดชั่วโมงเรียนแบบไหน ผมคิดว่าครูไทยเก่ง เรื่องนี้ครูทำได้