เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ / โกวิท โพธิสาร
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เกิดขึ้นบนสถานการณ์พิเศษ…
หัวข้อใหญ่ที่ WAY พูดคุยกับ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คือ ความคิดทางสังคมการเมืองของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เนื่องในวาระปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2561 จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่การพูดถึงความคิดทางสังคมการเมืองของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไม่สามารถบ่ายเบี่ยงใช้ทางเลี่ยงไม่พูดถึงสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถแสร้งมองไปยังอนาคตแสงต่ำเพียงทิศเดียว เพราะคุณูปการทางความคิดของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในทัศนะของ ประจักษ์ ก้องกีรติ คือการศึกษาพลวัตทาง
งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ‘ศึกษาบริบทความรุนแรงในสังคมการเมืองไทย: เจ้าพ่อ กระสุนปืนและหีบการเลือกตั้ง’ ก็แตกกิ่งต่อยอดมาจากกรอบการมองรัฐและสังคมของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
แม้กรอบการพูดคุยกับอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้นี้ จะจำกัดไว้ที่ความคิดทางการเมืองของนักคิดนักเขียนคนสำคัญของสังคมไทยอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่รายทางของการพูดคุยกลับน่าสนใจยิ่ง
ประจักษ์ชี้ให้เห็นตั้งแต่การก่อร่างสร้างตัวตนของรัฐรวมศูนย์ในยุคล่าอาณานิคม การครอบงำและผูกขาดอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ขณะที่สังคมไทยคือพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่โดมแก้วทึบแสงของรัฐโบราณกลับครอบงำด้วยอุดมการณ์อนุรักษนิยม
การครอบงำนี้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำทุกมิติ ไม่เฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ อำนาจกระจุกที่ไม่กระจายทำให้สังคมถูกฉีกขาดเป็นเสี่ยงๆ ลอยเคว้งเหมือนขนนกบนอากาศ
จากปรากฏการณ์เสื้อสีสู่การรัฐประหารครั้งล่าสุด ทำให้ประชาชนมีจินตนาการถึงอนาคตของสังคมที่ต่างกัน ภาคประชาสังคมบั่นทอนกำลังกันเองบนประภาคารร้าง อำนาจรัฐเดินเครื่องไปบนมหาสมุทรไม่มีฝั่ง
แต่ประเทศต้องมีความหวัง ประจักษ์ ก้องกีรติ บอกในทำนองว่า สังคมต้องเสกสรรค์พลังร่วมกัน ด้วยอาวุธสองประเภทเป็นขั้นต่ำ
สติของวัยชรา และกล้าหาญแห่งหนุ่มสาว
ในตอนที่ยังเป็นนักศึกษาภาควิชาการเมืองการปกครอง อาจารย์ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเรียนรัฐศาสตร์ภายใต้คณบดีที่ชื่อ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในเวลานั้น
ผมเข้ามาเป็นนักศึกษาในช่วงเวลาที่สำคัญทั้งสำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และตัวอาจารย์เสกสรรค์ ผมเข้าธรรมศาสตร์ตอนปี 2537 เป็นปีครบรอบ 60 ปีธรรมศาสตร์ บุคคลที่ถูกเชิญให้มากล่าวปาฐกถาแก่นักศึกษาใหม่ก็คือชายคนที่ชื่อ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
อาจารย์เสกเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แทนที่จะไปเรียนวิศวะตามเส้นทางของเด็กสายวิทย์ การอ่านหนังสืออาจารย์เสกกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตตอน ม.5 อยากเรียนเกี่ยวกับเรื่องสังคมการเมือง พอเข้าธรรมศาสตร์ก็ประทับใจที่อาจารย์เสกมากล่าวปาฐกถาในหอประชุมใหญ่ ช่วงนั้นอาจารย์เสกสรรค์เป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ เป็นผู้บริหาร แต่อาจารย์เสกสรรค์ก็ยังสอนอยู่สม่ำเสมอ ผมมีโอกาสเรียนกับอาจารย์สองสามวิชา
สมัยนั้นการเรียนการสอนมีความใกล้ชิดกันมากระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา เพราะจำนวนนักศึกษาไม่มาก โดยเฉพาะสาขาการเมืองการปกครองที่อาจารย์เสกสอน คลาสหนึ่งมีประมาณ 10-20 คน ก็จะได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเยอะ ผมยังจำวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับวิชาชนชั้นนำทางการเมืองได้ดี
ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์เสกสรรค์ในหลายประเด็น ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ แต่เป็นรัฐศาสตร์ที่มีมิติทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างยาวไกล วิทยานิพนธ์ของอาจารย์เสกสรรค์ทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐไทย ตั้งแต่สมัยรัฐจารีตมาสู่รัฐสมัยใหม่ อาจารย์เสกเป็นคนที่มีมิติประวัติศาสตร์เยอะ อ่านเอกสารประวัติศาสตร์เยอะ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เราซึมซับมา เพื่อที่จะเข้าใจการเมืองเราต้องมีมุมมองยาวไกลว่าสังคมและรัฐพัฒนามาอย่างไร ตรงนี้เป็นกรอบคิดที่ติดมาจากการได้เรียนกับอาจารย์เสกสรรค์
อาจารย์ประจักษ์เป็นนักศึกษาแบบไหน
เห็นต่างก็คงมีเป็นธรรมดา แต่ตอนนั้นเรายังเด็ก ความคิดของเรายังไม่ได้พัฒนามาก ยังไม่ได้มีมุมมองเชิงวิพากษ์หรือมีข้อโต้แย้งอะไรกับอาจารย์เสกสรรค์ได้ บรรยากาศในชั้นเรียนของอาจารย์เสกมีการกระตุ้นให้คนคิดแล้วก็ตั้งคำถาม เนื่องจากคลาสมันเล็กก็ได้คุยกันเต็มที่
วิชาที่เรียนกับแกคือวิชาผู้นำทางการเมือง พอเรียนไปสักพักก็เริ่มมีความคิดเห็นแย้งว่า ทำไมต้องโฟกัสที่ผู้นำทางการเมืองอย่างเดียว ทำไมเราไม่เรียนอะไรที่เป็นโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น ผู้นำสำคัญถึงขนาดไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้เหรอ ถ้าจะมีประเด็นแย้งอาจารย์เสกสรรค์ก็คงเป็นเรื่องนี้
แต่ที่เป็นตลกร้ายก็คือ เมื่อผมเรียนจบปริญญาเอก กลับมาสอนที่คณะ วิชาแรกที่ผมรับผิดชอบสอนคือ วิชาผู้นำทางการเมืองที่อาจารย์แกเคยสอนผมมาสมัยก่อน
เมื่อความขัดแย้งคลี่คลายในช่วงหลัง เมื่อเราพิจารณามากขึ้น เรากลับพบว่า ปัจจัยเรื่องชนชั้นนำ เรื่องผู้นำ มีความสำคัญ เมื่อก่อนเราละเลย ตอนเรียนเราก็ยังแย้งอยู่ ทำไมไปโฟกัสแค่ผู้นำ? อาจารย์เสกมีความสนใจด้านผู้นำทางการเมือง เรื่องชนชั้นนำทางการเมือง ตอนนั้นเหมือนคนหนุ่มเรารู้สึกอยากเรียนอะไรที่เห็นภาพกว้างๆ แต่เมื่ออายุมากขึ้น เรียนมากขึ้น ศึกษาวิจัยมากขึ้น บวกกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นจริงในช่วงหลัง เราพบว่าใช่ เรื่องชนชั้นนำ ผู้นำทางการเมือง เป็นปัจจัยที่สำคัญ
พอกลับมารับผิดชอบวิชาที่เคยตั้งคำถามด้วยสายตาคู่ใหม่ อาจารย์นำความคิดอาจารย์เสกสรรค์มาต่อยอดเพื่อทำความเข้าใจสังคมการเมืองไทยอย่างไรบ้าง
บังเอิญได้มาสอนวิชาเดียวกับที่อาจารย์เสกสรรค์เคยรับผิดชอบสอน คือวิชาการเมืองเปรียบเทียบกับวิชาการเมืองไทย โดยไม่รู้ตัวกรอบคิดที่ได้รับมาจากแกผมก็เอาไปต่อยอด แน่นอนบางเรื่องมันไม่เชิงวิพากษ์หักล้างเสียทีเดียวแต่เราก็ต่อยอดศึกษาต่อเนื่องไป และจริงๆ แล้วงานของอาจารย์เสกหลายชิ้นผมก็ให้นักศึกษาอ่าน
งานของอาจารย์เสกสรรค์ที่มีคุณูปการต่อสังคมมากก็คือ อาจารย์ศึกษาวิวัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าคลี่คลายตัวมาอย่างไร ถ้าเราได้อ่านวิทยานิพนธ์จนมาถึงงานวิชาการชิ้นหลังๆ รวมถึงงานปาฐกถาต่างๆ ที่อาจารย์ได้ไปพูดในหลายโอกาส จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมคือธีมใหญ่ที่ร้อยรัดงานในเชิงวิชาการของอาจารย์เสกไว้
เหมือนเป็นประเด็นปัญหาที่แกพยายามจะตอบมาตลอดในเรื่องสังคมการเมือง พยายามจะเข้าใจตรงนี้ ซึ่งเป็นกรอบที่ใหญ่มาก แต่ถ้าจับตรงนี้ได้แม่นยำ จะช่วยให้เราเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองไทยตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบันว่ามันคลี่คลายมาอย่างไร
เวลาที่มองความขัดแย้งทางการเมืองไทยเราจะเห็นปรากฏการณ์ที่กระจัดกระจาย แต่พออาจารย์เสกจับเรื่องนี้ทำให้เห็นชัดเจน ปัญหาสังคมไทยอยู่ตรงไหน ทำไมประชาธิปไตยไม่ลงหลักปักฐาน ทำไมการเมืองภาคประชาชนไทยอ่อนแอ ทำไมคนไทยมีสำนึกเรื่องความเป็นพลเมืองที่จะรับผิดชอบตัวเองค่อนข้างน้อย หรือพัฒนามาเชื่องช้า ทำไมระดับการกระจายอำนาจต่ำ ทำไมความขัดแย้งรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ ทำไมความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำไทยรุนแรงดุเดือดเลือดพล่าน แล้วก็ยังไม่จบมาถึงปัจจุบัน ทั้งหมดนี้สามารถหาคำตอบได้ถ้าเราเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
รัฐไทยถูกสร้างขึ้นเป็นรัฐรวมศูนย์ผูกขาด แต่ขาดเอกภาพและไร้ประสิทธิภาพ แต่เป็นรัฐที่ครอบงำสังคม รัฐเกิดขึ้นมาด้วยสภาพที่ไม่ต่างจากยักษ์ใหญ่ตัวหนึ่ง เข้ามาคุมกำเนิดไม่ให้สังคมหรือภาคประชาสังคมเติบโต รัฐแผ่กิ่งก้านสาขาทำให้ชุมชนภาคประชาสังคมแคระแกร็นหมด แต่ตัวรัฐเองก็ไม่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญรัฐพยายามครอบงำในเชิงอุดมการณ์ด้วยวัฒนธรรมแบบจารีต แบบชาตินิยมที่คับแคบ ตรงนี้ยิ่งทำให้สังคมไม่สามารถมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว สังคมประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายอย่างที่รู้กันอยู่ ทั้งชาติพันธุ์ ศาสนา เชื้อชาติ และชนชั้น แต่ในเชิงอุดมการณ์หรือในเชิงจินตนาการ สังคมถูกครอบงำไว้ด้วยความคิดอนุรักษนิยมแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันแล้ว
ตรงนี้แหละ – ถ้าเราเห็นภาพใหญ่ตรงนี้ เราจะมองเห็นว่าทำไมสังคมไทยมีความขัดแย้งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ถ้าพูดให้ถึงที่สุดก็คือ กระบวนการสร้างรัฐของเรามีปัญหา กระบวนการสร้างชาติก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะเป็นชาติของประชาชนที่รองรับความแตกต่างหลากหลาย หรือที่อาจารย์เสกสรรค์ชอบพูดว่า เป็นพหุสังคม พหุวัฒนธรรม
เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐก็มีอำนาจมาก แต่ไร้ประสิทธิภาพ สังคมถูกทำให้อ่อนแอและเคลื่อนตัวเข้ามาสู่ยุคปัจจุบัน จำได้ว่าตอนที่ผมเรียนปริญญาตรีเป็นช่วงกระแสโลกาภิวัตน์กำลังถาโถมเข้ามาพอดี และรุ่นผมเป็นรุ่นที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ ตอนนั้นอีกโจทย์หนึ่งเริ่มเข้ามาคือโลกาภิวัตน์ ทั้งรัฐไทย ชาติไทยที่อ่อนแอ และไร้ประสิทธิภาพ พอเจอโลกโลกาภิวัตน์เข้ามากระแทกจึงยิ่งเสียศูนย์ ผลประโยชน์ของคนยิ่งแตกกระจัดกระจายและขัดแย้งกัน ทำให้ความขัดแย้งร้าวลึกมาก
ถ้าย้อนกลับไปอ่านงานอาจารย์เสกก็น่าสนใจดีว่า หลายเรื่องที่แกพูดไว้เหมือนเป็นคำทำนายล่วงหน้าว่าสังคมจะแตกแยกรุนแรง อาจารย์เริ่มพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘หนึ่งรัฐสองสังคม’ ตั้งแต่ช่วงปี 2537-2538 ซึ่งผมยังเรียนกับอาจารย์เสกสรรค์
หนึ่งรัฐสองสังคม คือ เราอยู่ในรัฐเดียวกัน แต่ด้วยความเหลื่อมล้ำที่สุดขั้วมาก ความแตกต่างด้านรายได้ นำไปสู่ความแตกต่างด้านวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ จินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า เหมือนคนในสังคมนี้ถูกฉีกกระชากเป็นสองกลุ่ม ความฝันไม่มาบรรจบกันเลย ช่วงนั้นเราก็เริ่มเห็นรอยปริแยก ถ้าเราไม่สามารถออกแบบสังคมการเมืองมารองรับให้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ รับรองอีกหน่อยก็จะขัดแย้งรุนแรง ซึ่งก็เป็นจริง
ปัญหาใหญ่ของสังคมการเมืองไทยที่อาจารย์เสกสรรค์ชี้ให้เห็นมาโดยตลอด คือรัฐไทยเป็นรัฐที่รวมศูนย์ผูกขาดอย่างไม่น่าเชื่อ ในยุคล่าอาณานิคมมันก็มีความจำเป็นที่ต้องปรับรูปแบบรัฐให้มีความทันสมัยมากขึ้น แล้วก็ผูกขาดรวมศูนย์อำนาจเพื่อความอยู่รอด แต่เมื่อผ่านมาเป็นร้อยปีแล้วรูปแบบรัฐแบบนี้ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน มันเลยตอบปัญหาว่าทำไมคนจึงต่อสู้กันอย่างดุเดือด เพื่อมากุมอำนาจรัฐ เพราะถ้ากุมกรุงเทพฯ ได้ ก็กุมทั้งประเทศ
ลองนึกถึงอำนาจที่ถูกกระจายดูสิ ถ้าท้องถิ่นมีอำนาจมีงบประมาณ ชุมชนมีอำนาจจัดสรรงบประมาณของตนเอง มีโรงเรียนดีๆ มีโรงพยาบาลดีๆ กระจายไปอยู่ทั่วทุกหัวมุมเมืองทุกจังหวัด มันก็ไม่จำเป็นต้องต่อสู้เอาเป็นเอาตายเพื่อมายึดกรุงเทพฯ ใช่ไหม ผมไปคุมท้องถิ่นไปเล่นการเมืองท้องถิ่นก็ได้ ผมก็สามารถมีหน้ามีตามีฐานะทางสังคม ทุกคนก็ไม่ต้องเข้ามาที่กรุงเทพฯ ปัญหารัฐรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจ แต่ว่าเทอะทะและไร้ประสิทธิภาพ นำไปสู่การต่อยอดศึกษาเรื่องความรุนแรงในวิทยาพนธ์ปริญญาเอกผม ผมพยายามจะตอบคำถามตรงนี้ ผมลงไปศึกษาลึกลงไปตรงนี้ ศึกษาเรื่องความรุนแรงทางการเมือง
อาจารย์ศึกษาอะไรในความรุนแรงทางการเมืองไทย
ทำไมการเมืองไทยยังมีความรุนแรงแฝงอยู่ตลอดทั้งในการเลือกตั้ง บนท้องถนน ตั้งแต่หลังยุค 14 ตุลาถึงปัจจุบัน ผมใช้กรอบใหญ่ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากงานอาจารย์เสกสรรค์ รัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐสมัยใหม่เต็มที่ แต่เป็นรัฐแบบอุปถัมภ์ ยังมีลักษณะโบราณ มีการใช้เส้นสาย ใครเข้ามาคุมรัฐส่วนกลางตรงนี้ได้ก็จะสามารถแจกจ่ายผลประโยชน์ให้พวกพ้องเครือญาติบริวาร
แต่ถ้าเป็นรัฐสมัยใหม่จะไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะมีระบบการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ ต่อให้คุณคุมอำนาจ ก็ไม่สามารถนำอำนาจไปใช้ตามอำเภอใจ ญาติพี่น้องคุณร่ำรวย แบ่งปันผลประโยชน์กันเองในหมู่ชนชั้นนำกลุ่มแคบๆ – ทำไม่ได้
เพราะรัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐสมัยใหม่เต็มที่ มันเลยเอื้อให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ ทำให้คนอยากเข้ามากุมอำนาจรัฐอย่างรุนแรง นี่คือสิ่งที่ผมพยายามต่อยอดมาจากกรอบใหญ่ในงานของอาจารย์เสกสรรค์ แต่ผมฉีกไปอีกมิติ พยายามอธิบายสิ่งที่เป็นด้านของความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเข้าแย่งชิงอำนาจรัฐ
มรดกทางความคิดใดบ้างของอาจารย์เสกสรรค์ที่สังคมน่าจะนำมาสนทนาเพื่อต่อยอด
มีเรื่องหนึ่งที่ผมเองมาสนใจในช่วงหลัง และเห็นว่าเป็นต้นตอสาเหตุความขัดแย้งทั้งหมดในสังคมไทย ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ก็ยากที่จะหลุดพ้นจากกับดักความขัดแย้งนี้ สิ่งนั้นคือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’
เราเป็นหนึ่งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก คนไทยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แล้วไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อย่างเดียว แต่เหลื่อมล้ำในทุกมิติของสังคมไทย ตั้งแต่คุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สถานภาพทางสังคม การศึกษา – ทุกอย่าง
นักเศรษฐศาสตร์นักวิชาการจำนวนหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้ในช่วง 7-10 ปีที่ผ่านมานี้ เพราะวิกฤติทางสังคมที่เกิดขึ้น ก็เริ่มกลับมาทบทวนตรงนี้ แต่ถ้าย้อนกลับไปดู อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พูดถึงความเหลื่อมล้ำไว้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2510 และเป็นเหตุผลที่อาจารย์ป๋วยกระโดดลงไปทำงานด้านการพัฒนาชนบท ไปทำงานด้านการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
อาจารย์ป๋วยเคยเขียนสารภาพไว้ว่า การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจที่แกมีส่วนผลักดัน ได้นำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จริง แต่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมาด้วย แกไม่ได้คิดถึงความเหลื่อมล้ำมากพอ แกพยายามชดใช้บาปในช่วงท้ายของชีวิตหันมาทำเรื่องการพัฒนาชนบทและการศึกษา
อาจารย์เสกสรรค์เป็นคนหนึ่งที่พูดเรื่องความไม่เป็นธรรมของช่องว่างตรงนี้ ระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ตอนนั้นอาจจะเป็นอิทธิพลความคิดฝ่ายซ้าย แนวคิดแบบมาร์กซิสต์ ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่จะเห็นว่าอาจารย์เสกสรรค์ก็พัฒนางานนี้ต่อมา แล้วก็ไม่ได้ติดอยู่ที่คำอธิบายแบบกลไก แกก็จับเรื่องนี้มาตลอด แกพูดด้วยซ้ำว่า คำว่าเหลื่อมล้ำไม่พอนะ จริงๆ มันคือการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ความเหลื่อมล้ำเป็นผลบั้นปลายที่ตามมา เพราะเรามีโครงสร้างสังคมที่ปล่อยให้คนกลุ่มน้อยสามารถกดขี่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้อย่างมหาศาลและกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง
ถ้าถามว่าหน่ออ่อนที่ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่อาจารย์ป๋วย ผมคิดว่าประเด็นปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญทำให้ประชาธิปไตยทำงานได้ไม่ดี ระบอบอำนาจนิยมไม่เคยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีแต่ทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เพราะระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทยทำงานรับใช้ระบอบทุนนิยมผูกขาดมาโดยตลอด ผมคิดว่าอาจารย์ทั้งสองท่านตีไปที่โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความไม่เป็นธรรม และเป็นประเด็นที่ผมเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสองคนนี้
ส่วนอีกประเด็นที่ผมเห็นว่ามันเชื่อมโยงกัน ถ้าใครอ่านงานของอาจารย์เสก จะพบว่างานวิชาการที่สำคัญช่วงหลังคือการศึกษาเรื่่องการเมืองภาคประชาชน ทำอย่างไรจึงจะสร้างการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง เพื่อมาปิดจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย
ถ้าเราลองย้อนกลับไปดูอาจารย์ป๋วย ท่านก็ลงไปเคลื่อนไหวกับชุมชนท้องถิ่นมาตั้งแต่ยุค 2510 อย่าลืมว่า เอ็นจีโอที่เกิดในช่วงหลังคือการต่อยอดมาจากรากฐานของมูลนิธิพัฒนาชนบทที่อาจารย์ป๋วยวางรากฐานไว้ ลูกศิษย์ลูกหาอาจารย์ป๋วยหลายคนก็กลายมาเป็นผู้นำเอ็นจีโอในยุคหลัง ผมคิดว่าการเมืองภาคประชาชนเป็นมรดกทางความคิดที่สำคัญ
มองการเมืองภาคประชาชนในยุค คสช. อย่างไร
การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งมาสักพักใหญ่แล้ว จริงๆ ก็เติบโตมาตลอดตั้งแต่ 14 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลาคือการเปิดศักราชการเมืองภาคประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ อำนาจไม่ได้ผูกขาดอยู่ในชนชั้นนำอีกต่อไป หลังจากนั้นชนชั้นนำหลายกลุ่มพยายามทำลายความเข้มแข็งของสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนเป็นระยะ ชนชั้นนำไม่ชอบการเมืองภาคประชาชนหรอก เพราะมันลดทอนอำนาจของชนชั้นนำ มันตรวจสอบ จะโกงกินจะใช้อำนาจแบบบิดเบือนก็ไม่ได้ถ้าภาคประชาชนเข้มแข็ง ฉะนั้นชนชั้นนำทุกกลุ่มไม่อยากให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำราชการ ชนชั้นนำทหาร ชนชั้นนำนักธุรกิจ หรือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
แม้การเมืองภาคประชาชนจะถูกตัดทอน หรือทำให้อ่อนแอไปบ้าง แต่ตั้งแต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา ก็ยังไม่เคยมีชนชั้นไหนประสบความสำเร็จในการทำลายภาคประชาชนให้เหลือเป็นศูนย์ หรือหายไปเลยตลอดกาล เป็นไปไม่ได้
ถ้าเปรียบการเมืองประชาชนเป็นยักษ์ที่หลุดจากตะเกียง ก็ไม่มีวันที่จะถูกจับยัดเข้าไปที่เดิมได้อีกต่อไป เมื่อประชาชนเคลื่อนไหวและเข้ามามีส่วนร่วม เขารู้ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองมันมีความหมาย เขาได้ต่อรอง เขาทำให้การเมืองมันกินได้ เขาทำให้สิทธิของเขาเกิดขึ้นจริง แทนที่จะอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญ จะเห็นความสืบเนื่องมาตลอด
เพียงแต่ว่าในยุคปัจจุบัน คสช. ใช้อำนาจทุกอย่างเพื่อกดเอาไว้ให้การเมืองภาคประชาชนสงบราบคาบ ไม่ว่ากลุ่มไหนห้ามเคลื่อนไหวทั้งสิ้น เพราะเขากลัว แต่การเมืองภาคประชาชนไม่สามารถหายไปได้แล้ว คนตื่นขึ้นมาแล้ว
ประเด็นโรงไฟฟ้าเทพา นั่นคือชีวิตของเขาถ้าเขาไม่ลุกขึ้นมา… มันคืออนาคตลูกหลานของเขาที่จะสูญหายไป พอไปถึงเรื่องระดับชีวิตที่เป็นเลือดเนื้อของคน ต่อให้คุณพยายามกดยังไง เขาก็สู้ตาย น่าเสียดายที่ชนชั้นนำไม่ค่อยมีบทเรียนตรงนี้ คือคุณผลักประชาชนให้ไปจนถึงจุดที่ไม่มีทางออก ถึงจุดหนึ่งเขาลุกขึ้นสู้ ไม่กลัวตาย อันนี้แหละต่อให้ชนชั้นนำพยายามใช้เครื่องมือควบคุมยังไง ถึงจุดนั้นก็เอาไม่อยู่ ไม่เช่นนั้นจะเกิด 14 ตุลา จะเกิดพฤษภา 35 เหรอ ถ้าต่างประเทศก็อาหรับสปริง เป็นบทเรียนที่สำคัญ
ปรากฏการณ์เช่น “ก็อยากเป่านกหวีดเรียกทหารออกมาเองนี่ ช่วยไม่ได้” ดูจะทำให้การรวมตัวเพื่อเป้าหมายที่มีร่วมกันของประชาชนสองฝ่ายยากลำบาก อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไรครับ
ผมเห็นอยู่นะ เราต้องยอมรับว่าความไม่วางใจระหว่างกันมีสูง ความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบันร้าวลึกกว่าเดิมและซับซ้อนกว่าเดิม เป็นความขัดแย้งสองชั้น ไม่ใช่ระหว่างมวลชนกับชนชั้นนำเหมือนสมัย 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 แต่ประชาชนขัดแย้งกันเอง อุดมการณ์ต่างกัน มองสภาพสังคมในอนาคตต่างกัน เลยเป็นการขัดแย้งที่ร้าวลึกและยากที่จะประสาน พอมีความบาดเจ็บสูญเสีย ก็มีความบาดหมางตามมา ความไว้เนื้อเชื่อใจก็ลดต่ำลง การจะมาร่วมมือกันทำอะไรก็ลำบาก อันนี้เป็นอุปสรรค ถามว่าใครได้ประโยชน์มากที่สุดจากสภาวะแบบนี้ที่ประชาชนบั่นทอนกำลังกันเอง ก็ชนชั้นนำที่คุมอำนาจอยู่ตอนนี้ก็ได้ประโยชน์ที่สุด
โจทย์สังคมไทยในอนาคตข้างหน้าคือ ทำอย่างไรที่ภาคประชาชนที่แตกแยกแตกต่างกันนี้จะสามารถสร้างความฝันร่วมกันขึ้นมาใหม่ได้ เป็นสังคมที่ดีกว่า ที่ไม่ใช่อำนาจนิยม ที่ไม่ใช่ทุนนิยมผูกขาด ที่ไม่ใช่ระบอบการเมืองที่ปิดกั้นคนทุกกลุ่ม ผมว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญ ถ้าทำตรงนี้ไม่ได้เราก็อยู่แบบนี้ไปอีก 20 ปี ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ถูกวางไว้แล้ว
ผมรู้ว่ามันไม่ง่าย แต่ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายสังคมไทย ถ้ากลับไปดูงานอาจารย์เสกสรรค์หลายๆ ชิ้นที่พูดมาตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แกพูดถึงสังคมไทยที่แตกเป็นเสี่ยง และขาดเยื่อใยทางสังคม ต่างคนต่างดิ้นรนไปสู่ความฝันที่ตัวเองสร้างไว้ ขาดสิ่งที่เรียกว่าบูรณาการทางสังคม สังคมใดที่ไม่มีสิ่งนี้ ก็ยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้ ต่อให้เราเห็นแตกต่าง ขัดแย้งกันยังไง หรือมีผลประโยชน์ต่างกัน ก็จำเป็นต้องมีเยื่อใยบางอย่างในสังคมที่เรายังมองว่าคุณกับผมก็คือพลเมืองร่วมชาติกันในสังคมนี้ ยังไงคุณก็ต้องอยู่ร่วมกับผม ไม่มีวันหรอกที่ผมจะทำให้เหลือแต่คนที่คิดเหมือนผม แล้วทำให้คนแบบคุณหายไปหมดจากประเทศนี้ ถ้าเราเริ่มจากความจริงตรงนี้ได้อย่างน้อยเยื่อใยมันยังมี อาจจะจับมือทำอะไรร่วมกันในบางเรื่อง ทะเลาะกันในบางเรื่อง ไม่ต้องเห็นตรงกันหมดทุกเรื่อง แต่ว่ายินดีที่จะอยู่ร่วมกัน บางเรื่องก็สร้างความฝันร่วมกันได้
เมื่อไม่มี มันก็อธิบายสภาวะที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้
เราจำเป็นต้องมีผู้นำภาคประชาชนอยู่หรือไม่
ยังจำเป็นอยู่ อย่าลืมว่าแม้แต่กระบวนการฝ่ายขวา กระบวนการอนุรักษนิยมก็ต้องมีผู้นำนะ ผู้นำที่สามารถปลุกมวลชนขึ้นมาได้ หรือรวบรวมความคิดที่กระจัดกระจายออกมาเป็นหมวดหมู่ ผมไม่ได้บอกว่าเป็นปัจจัยเดียวนะ ไม่ได้บอกว่าถ้าไม่มีผู้นำจะไม่สามารถเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้นะ – ไม่ใช่
แต่มันสำคัญ เป็นปัจจัยสำคัญ ในยุคสมัยปัจจุบันเราก็พอจะเริ่มเห็นบ้างแล้ว คือตอนนี้ทุกคน ‘อยู่เป็น’ คำฮิตของยุคสมัย และทุกคนก็สร้างมุมเล็กๆ ของตัวเองในการทำอะไรของตัวเอง สิ่งที่มันขาดก็คือไม่มีการรวมพลังกัน ไม่ก่อเกิดเป็นขบวนการ ไม่ก่อเกิดเครือข่ายที่จะเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็เปลี่ยนแปลงอะไรลำบาก เพราะอย่าลืมว่าผู้กุมอำนาจรัฐเขาเป็นองค์กรจัดตั้ง มีลำดับการบังคับบัญชา มีระเบียบวินัย มีทรัพยากรมหาศาล มีกำลังมหาศาล ในขณะที่ภาคประชาชนแตกกระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก แล้วก็ฝันไปคนละทิศคนละทาง ไม่สามารถรวมพลังกันได้ ไม่มีใครมาทำหน้าที่ตรงนี้ อาจจะไม่ต้องเป็นตัวบุคคลหรือใครคนหนึ่งคนใดก็ได้
โซเซียลมูฟเมนท์ในต่างประเทศมีผู้นำตั้งสี่ห้าคน องค์กรไม่ได้เป็นแนวดิ่ง แต่เป็นแนวราบมากขึ้น แต่ก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าแกนนำ หรือคนที่มาประสาน สร้างเครือข่ายขึ้นมา ตรงนี้สังคมไทยก็ยังขาด ก็กลับไปที่โจทย์เดิมที่อาจารย์เสกพูดไว้ เมื่อสังคมแตกแยก บั่นทอนกำลังกันเอง รัฐซึ่งที่จริงไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไร แต่อย่างน้อยคือกุมอำนาจไว้เหนือสังคมอย่างยาวนาน แล้วผูกขาดความรุนแรง รัฐก็ครอบงำสังคมไว้ได้ต่อไป
ผมคิดว่าสังคมจะมีความหวังก็ต่อเมื่อมีสองอย่าง หนึ่ง-ผู้ใหญ่ในสังคมมีสติ ไม่เอาเปรียบคนรุ่นหลัง ไม่ได้อยากที่จะหยุดเวลาทุกอย่างไว้เพื่อตัวเอง แต่มองไปถึงการสร้างอนาคตเพื่อคนรุ่นหลัง ถ้าเรามีผู้ใหญ่อย่างนี้อยู่เยอะ สังคมจะยังไปได้
สอง-คนรุ่นหนุ่มสาวที่ยังมีความกล้าหาญในการใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า และรวมพลังกัน ถ้ามีสองอย่างนี้สังคมไปได้ แต่อย่าไปฝากความหวังไว้ที่คนแก่หรือผู้ใหญ่อย่างเดียว ถ้าสังคมไหนเอาความหวังความฝันไปฝากไว้ที่คนแก่อย่างเดียว แสดงว่าสังคมนั้นตายแล้ว ไม่มีความหวัง ทำไมเราไม่หวังกับคนหนุ่มสาว ทำไมเราไปฝากความหวังไว้เฉพาะผู้ใหญ่ สุดท้ายสังคมต้องทำงานร่วมกัน ถ้าพลังสองส่วนนี้มาบรรจบกันได้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นก่อนมีประสบการณ์มีบทเรียน คนรุ่นใหม่มีความสดใหม่ มีพลัง มีความกล้าหาญ ตรงนี้มันต้องบวกกัน
การเปลี่ยนแปลงสังคมรอบนี้ จะไม่เหมือน 14 ตุลา จะไม่เหมือนพฤษภา 35 โมเดลแบบนั้นจบไปแล้ว ท้ายที่สุดสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องเปลี่ยนแปลงที่ความคิด เปลี่ยนแปลงที่วัฒนธรรม ซึ่งการจะรื้อถอน เปลี่ยนแปลงความคิด ค่อยๆ ปลูกสร้างค่านิยม และวัฒนธรรมแบบใหม่ มันกินเวลานาน และต้องอาศัยคนหลายส่วนเข้ามาช่วย แต่จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบ up rising ขึ้นมาและโค่นล้มทุกอย่าง แบบนั้นมันไม่มีแล้ว
เมื่อครู่อาจารย์พูดว่า “องค์กรรัฐเป็นองค์กรจัดตั้ง” แต่เมื่อเรามองมาที่ภาคประชาชน ทำไมสังคมมองว่าการจัดตั้งเป็นเรื่องน่าเกลียด พวกคุณไม่ใช่พลังบริสุทธิ์
การจัดตั้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าใช้ภาษาอังกฤษจะดูไม่น่าเกลียด มันก็คือการออร์แกไนซ์ งานอีเวนท์ทั้งหลายในสังคมไทยก็มีทีมออร์แกไนซ์ใช่ไหม เพื่อทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จโดยรวมคนหมู่มากเข้ามา มันต้องมีการออร์แกไนซ์ ก็คือการจัดตั้งนั่นแหละ มันไม่ได้เสียหายอะไร เพราะการอยู่แบบกระจัดกระจาย พลังมันก็กระจาย ทรัพยากรมันก็กระจาย สติปัญญามันก็กระจาย มันอาจจะเหมาะกับการเปลี่ยนแปลงในบางรูปแบบ ใช้การเคลื่อนไหวแบบนั้นได้ แต่เมื่อเผชิญหน้ากับรัฐที่ไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ผูกขาดอำนาจ การรวมพลังสร้างเครือข่ายและจัดตั้งในฝ่ายประชาชนก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ปฏิวัติฝรั่งเศสก็จัดตั้ง ปฏิวัติอเมริกาก็จัดตั้ง 2475 ก็จัดตั้ง หรือขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของ มาติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ในทศวรรษที่ 1960 ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวสี คนผิวดำ นั่นก็แสนจะเป็นการจัดตั้งนะ กว่าจะต่อสู้ขึ้นมาได้ขนาดนั้น เพราะเขาโดนกดขี่ กฎหมายก็ไม่เอื้อ โครงสร้างการเมืองก็ไม่เอื้อ โครงสร้างอำนาจทั้งหมดไม่เอื้อเลย คุณเป็นคนผิวดำ เขาไม่มองคุณเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ แต่พอคนผิวดำรวมตัวกันได้เป็นแสนเป็นล้าน ต่อสู้อย่างมียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ฉลาดด้วยในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ใช้สันติวิธี มีผู้นำอย่างมาติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มีชุดอุดมการณ์ที่จับใจผู้คน ความเปลี่ยนแปลงก็เกิด พูดง่ายๆ จะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเฉพาะสังคมที่มีปัญหาเยอะมากอย่างสังคมไทย มันปฏิเสธเรื่องแบบนี้ไม่ได้
หนึ่ง-ต้องมีการสร้างเครือข่าย สอง-ต้องมีชุดความคิดที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นทางเลือกให้กับสังคม สาม-ต้องมีกลุ่มผู้นำจำนวนหนึ่งที่มาร่วมมือกันในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้