“ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม” 107 ปี ชาตกาลป๋วย อึ๊งภากรณ์

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 ในจังหวัดพระนคร ประเทศสยาม ป๋วยเติบโตในครอบครัวชาวจีน เข้าเรียนแผนกภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนอัสสัมชัญ และเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรกในปี 2477

ป๋วยสอบชิงทุนรัฐบาลไปเรียนสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ระหว่างศึกษาในอังกฤษ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ปะทุขึ้น ปี 2484 ญี่ปุ่นยกทัพบุกประเทศไทย และประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐ รัฐบาลไทยเรียกตัวคนไทยในต่างแดนให้เดินทางกลับโดยขู่ว่าจะถอดสัญชาติไทย ก่อให้เกิดการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในนามว่า ‘ขบวนการเสรีไทย’ และป๋วยคือหนึ่งในสมาชิก มีชื่อจัดตั้งว่า ‘นายเข้ม เย็นยิ่ง’

เมื่อได้รับคำสั่งจากฝ่ายสัมพันธมิตรให้เข้ามาติดต่อกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย นายเข้มและเพื่อนเข้าร่วมปฏิบัติการนี้ โดยลักลอบเข้าแผ่นดินด้วยการกระโดดร่มจากเครื่องบิน เพื่อติดต่อกับขบวนการเสรีไทยที่มีปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า เพื่อหาทางต่อต้านอิทธิพลญี่ปุ่นจนกระทั่งฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม

หลังสงครามโลกยุติ ป๋วยกลับไปศึกษาต่อจนจบ และแต่งงานกับมาร์กาเร็ต สมิท (Margaret Smith) มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่ จอน อึ๊งภากรณ์, ไมตรี อึ๊งภากรณ์ และใจ อึ๊งภากรณ์

ปี 2492 แม้บริษัทห้างร้านต่างๆ จะต้องการตัวป๋วยไปทำงานพร้อมเสนอเงินเดือนสูงๆ แต่ป๋วยเลือกกลับมารับราชการในตำแหน่งเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2496 เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาหลังสงคราม

ในฐานะข้าราชการที่ต้องดูแลการคลังของประเทศ ป๋วยจึงทะเลาะกับผู้นำเผด็จการหลายคน อาทิ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งต้องการทุจริตคอร์รัปชันด้วยวิธีการหลบเลี่ยงกฎหมายการคลัง ป๋วยจึงต้องหลบไปช่วยราชการตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2499 แต่ในที่สุดป๋วยก็ได้รับกลับมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2502 

ปี 2514 ป๋วยลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่มานาน 12 ปี เพื่อรับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างเต็มตัว หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้จะได้รับการเสนอให้เป็นนายกฯ แต่ป๋วยปฏิเสธเพื่อไปรับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2518 และมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม ในปีถัดมา

งานชิ้นสำคัญของป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่เป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ บทความดังกล่าวความยาวเพียง 2 หน้า ใช้ภาษาเรียบง่าย เหมาะแก่ประชาชนทุกกลุ่ม เนื้อหากล่าวถึงการมีรัฐสวัสดิการที่ดูแลความต้องการพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ทุกด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย ดังปรากฏในชื่อเรื่องว่า คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน โดยมีเนื้อหาบางช่วงบางตอน ดังนี้

“เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก …

“ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น

“เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม

“บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่ จะต้องมีขื่อมีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน …

“ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมอย่างฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอหาพยาบาลได้สะดวก …

“ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม …

“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป๋วยถูกกลุ่มขวาจัดในประเทศไล่ล่าในข้อหาให้ท้ายนักศึกษาและเป็นหัวหน้าขบวนการคอมมิวนิสต์ ป๋วยลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีและเดินทางออกนอกประเทศทันที 

ป๋วยถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 83 ปี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และครอบครัวก็จัดพิธีศพอย่างเรียบง่ายตามคำสั่งเสียในข้อเขียนจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

“ตายแล้วเผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป”

และอีกประการสำคัญที่ยังทำให้ข้อเขียนชิ้นนี้กลายเป็นหนึ่งในบทความได้รับการคัดลอกและถ่ายทอดมากที่สุดในสังคมไทยคือ

“เรื่องที่ผมเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ

“นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ของทุกคน”

ที่มา

จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า