จอห์นสันเรียกคืนแป้งเด็ก 33,000 กระป๋อง หลังพบแร่ใยหินปนเปื้อน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ค้ารายย่อยในสหรัฐต่างนำกระป๋องแป้งเด็กขนาด 22 ออนซ์ออกจากชั้นวางของในร้านค้า หลังมีประกาศว่าบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) เรียกคืนผลิตภัณฑ์รวม 33,000 กระป๋องในราวกลางเดือนตุลาคมก่อนหน้านี้ เนื่องจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) ตรวจพบแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ (chrysotile asbestos) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ในแป้งเด็กที่ซื้อมาจากช่องทางออนไลน์

บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันพยายามแก้ต่างว่า แร่ใยหินที่ตรวจพบในแป้งมีปริมาณน้อยกว่า 0.00002 เปอร์เซ็นต์ และกล่าวว่า บริษัทกำลังทำงานร่วมกับ FDA เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลการตรวจสอบที่พบแร่ใยหินในตัวอย่างแป้งเด็กเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและสมเหตุสมผล เช่น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์แป้งดังกล่าวที่ถูกตรวจสอบเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทจริง ซีลบรรจุกระป๋องไม่มีการฉีกขาดก่อนหน้านี้ หรือมีการปนเปื้อนซึ่งกันและกัน (cross contamination) คือ มีวัตถุแปลกปลอมหลุดร่วงลงไปปะปน ปนเปื้อนสารเคมี แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ฯลฯ ระหว่างขั้นตอนตรวจสอบแร่ใยหินหรือไม่ เพราะบริษัทยืนยันว่าไม่เคยพบแร่ใยหินระหว่างการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตลอดระยะเวลาหลายปี รวมถึงไม่พบในการทดสอบจาก FDA ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วด้วย

ด้าน FDA กล่าวว่า ขณะนี้สามารถยืนยันได้เบื้องต้นว่าไม่มีความผิดปกติใดๆ ที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่นำมาตรวจสอบเป็นของปลอม รวมถึง FDA ก็ไม่เคยได้ยินข่าวว่ามีการปลอมแป้งเด็กตราจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในตลาดสหรัฐมาก่อน อย่างไรก็ตาม องค์การจะตรวจสอบร่วมกับบริษัทอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ว่าผลการตรวจสอบนั้นมาจากผลิตภัณฑ์แป้งจากจอห์นสันแอนด์จอห์นสันจริง

“องค์การ FDA รับผิดชอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานการวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ และเราไม่พบข้อบ่งชี้ว่ามีการปนเปื้อนซึ่งกันและกัน (ในห้องปฏิบัติการ)” ลินด์เซย์ เมเยอร์ (Lyndsay Meyer) โฆษก FDA ชี้แจงกับสำนักข่าว CNN

แป้งเด็กตราจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่ถูกเรียกคืนจากร้านค้าต่างๆ ในสหรัฐมีเพียงล็อตเดียวเท่านั้น คือ ล็อตหมายเลขการผลิตที่ #22318RB ซึ่งผลิตในประเทศจีนและนำเข้ามาขายในตลาดสหรัฐ โดยผู้บริโภคที่ได้ซื้อแป้งไปแล้วควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ในทันที และสามารถติดต่อบริษัทเพื่อขอคืนเงินได้

สำหรับประเทศไทย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบไปยังบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ข้อสรุปว่า แป้งล็อตที่มีปัญหาดังกล่าวไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย และได้เฝ้าระวังการนำเข้าแล้ว โดย อย. ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวในประเทศไทยที่มีส่วนผสมของแร่ทัลคัม (Talcum) สารอนินทรีย์ที่มีคุณสมบัติดูดซับความชื้น ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จำนวน 113 ตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ไม่พบแร่ใยหิน

ย้อนไปในวันที่ 18 ตุลาคม หลังมีข่าวเรื่องการปนเปื้อนแร่ใยหิน มูลค่าในตลาดหุ้นของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันตกไปมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ แม้ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในอาณาจักรสินค้าเพื่อสุขภาพแม่และเด็กทั้งหมดของบริษัท แต่ก็สร้างผลกระทบด้านความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของบริษัทได้ไม่น้อย

 

ส่วนผสมของแป้งเด็ก

แร่ที่บริษัทใช้เป็นวัตถุดิบและมีปัญหาฟ้องร้องกับผู้บริโภคเรื่อยมาก็คือทัลคัม (talcum) หรือทัลก์ แร่หินสบู่ที่มีความอ่อนมาก นิยมใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอาง เช่น แป้งและบลัชออนทาแก้ม แม้บริษัทกล่าวว่าแร่ทัลก์ที่นำมาผลิตเป็นแป้งเด็กบรรจุกระป๋องมาจากแหล่งแร่ที่ได้รับการทดสอบแล้วว่าสะอาดได้มาตรฐาน แต่เป็นที่รู้กันว่ามักพบแร่ทัลก์อยู่คู่กับแร่ใยหิน จึงมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะพบแร่ในหินในแป้งทัลก์ด้วย

องค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer) ได้จัดให้แร่ใยหินทุกชนิด รวมถึงชนิดไครโซไทล์ เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยมีผลเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า การสัมผัสแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ผ่านการสูดหายใจก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด (mesothelioma) และโรคใยหิน (asbestosis) หรือภาวะเกิดพังผืดในปอด จนทำให้ประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ประกาศห้ามใช้แร่ใยหินทุกชนิด

จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ผู้ผลิตแป้งฝุ่นรายใหญ่ในสหรัฐ ยืนยันว่า จากการตรวจสอบพันๆ ครั้งตลอด 40 ปีที่ผ่านมาไม่เคยพบแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ สวนทางกับรายงานพิเศษของสำนักข่าว Reuters เมื่อปีที่แล้ว ที่ออกมาเปิดโปงว่าบริษัทเคยตรวจพบแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ของตนเองหลายครั้งระหว่างปี 1971-2000 แต่ไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ

 

แป้งก่อมะเร็ง?

หลายปีที่ผ่านมาเริ่มมีคำเตือนว่าไม่ควรใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องจากแป้งอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่ แม้ว่าหลักฐานอาจไม่แน่ชัดพอจะสรุปได้ว่าแป้งเด็กเป็นสารก่อมะเร็ง แต่องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติก็จัดแป้งทัลก์ให้อยู่ในหมวด ‘สารที่เป็นไปได้ว่ามีฤทธิ์ก่อมะเร็ง’

ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องคดีความบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันรวมแล้วมากกว่า 100,000 คดี เฉพาะคดีที่กล่าวหาบริษัทว่าแร่ใยหินที่ปนเปื้อนในแป้งทัลก์ที่นำมาทำเป็นแป้งเด็กเป็นสารก่อมะเร็งมีมากกว่า 15,000 คดี เช่น ในเดือนพฤษภาคม 2018 คณะลูกขุนรัฐแคลิฟอร์เนียร์ตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายเงิน 25.75 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 778 ล้านบาท) แบ่งเป็นเงินชดเชยค่าเสียหายแก่คู่สามีภรรยาผู้เสียหาย โจแอนน์ และ แกรี แอนเดอร์สัน (Joanne/Gary Anderson) เป็นเงิน 21.75 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 658 ล้านบาท) จากคำกล่าวหาของโจแอนน์ว่าเธอเป็นมะเร็งหลังใช้แป้งเด็กของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ (punitive damages) เพื่อไม่ให้บริษัทอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างอีก 4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 121 ล้านบาท) เนื่องจากบริษัท “ละเลย และไม่เตือนผู้บริโภคถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่แป้งเด็กของบริษัทอาจก่อให้เกิดขึ้น”

ตามมาด้วยเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งจำนวน 22 คนกล่าวว่าเป็นมะเร็งรังไข่หลังใช้แป้งเด็กและผลิตภัณฑ์จากแป้งทัลก์ต่อเนื่องนานนับสิบๆ ปี โจทก์จำนวน 6 คนจากทั้งหมดเสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งรังไข่ โดยทนายกล่าวหาว่า บริษัทรู้ดีแก่ใจตั้งแต่ปี 1970 ว่าทัลก์ที่นำมาทำแป้งปนเปื้อนแร่ใยหิน แต่ไม่เคยเตือนให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความเสี่ยง สุดท้ายคณะลูกขุนรัฐมิสซูรีตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 550 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 16,610 ล้านบาท) ยังไม่รวมค่าเสียหายเพื่อการลงโทษอีก 4,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 123,800,000 ล้านบาท)

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
edition.cnn.com/2019/10/25/health/johnsons-baby-powder-retailers-recall
edition.cnn.com/2018/05/24/health/johnson–johnson-talc-asbestos-verdict-california
https://www.bbc.com/news/business-50101758
https://www.bbc.com/news/business-44816805
nytimes.com
apps.who.int
reuters.com
bangkokbiznews.com

 

สนับสนุนโดย

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า