ภาคประชาสังคมรวบรวมรายชื่อประณามเหมืองแร่ไทยในเมียนมาจำกัดเสรีภาพสื่อ กรณีฟ้องหมิ่นประมาท บ.ก. GreenNews

เครือข่ายภาคประชาสังคมข้ามพรมแดนไทย-เมียนมา เชิญชวนทุกท่าน/ทุกองค์กรลงนามในแถลงการณ์ร่วมของเครือข่ายฯ กรณีบริษัทเหมืองแร่ไทยในเมียนมา แจ้งความดำเนินคดีต่อบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) และเรียกร้องให้อัยการจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งไม่ฟ้อง เพื่อเป็นการยืนยันและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สืบเนื่องจากบริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ไทยในเมียนมาได้แจ้งความต่อ นายปรัชญ์ รุจิวนารมย์ บรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น จากการรายงานข่าวเรื่อง ‘ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง’ ซึ่งเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ของสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ในข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา

เนื้อหาของข่าวดังกล่าวอ้างถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมืองทวายที่พิพากษาให้ บริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด จ่ายค่าชดเชยแก่ นายซอ ดา เชว (Saw Dah Shwe) ชาวบ้านหมู่บ้านกะบันเชาว์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่เหมือง เป็นเงินจำนวน 114,800,000 จ๊าต (ประมาณ 76,533 เหรียญสหรัฐ หรือราว 2,400,000 บาท) เนื่องจากก่อนหน้านี้ในปี 2558 นายซอ ดา เชว ได้ฟ้องคดีต่อศาลทวาย เรียกร้องให้บริษัทฯ ชดเชยความเสียหายที่เกิดต่อทรัพย์สิน โดยเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับต้นหมากที่ล้มตายจำนวน 882 ต้น เนื่องจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัทที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ในฐานะเครือข่ายภาคประชาสังคมข้ามพรมแดนไทย-เมียนมา ที่ทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ได้รับการรับรองไว้ทั้งภายใต้กฎหมายภายใน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 35 ที่บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” และยังรับรองโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้แก่ ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) และข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ และให้ทำโดยได้สัดส่วนและจำเป็นเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การเอาผิดทางอาญาต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะต่อสื่อมวลชนนั้น เป็นการสร้างความหวาดกลัวสำหรับสื่อมวลชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งการรายงานข่าวทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ล้วนมีความสำคัญต่อการปกป้องประโยชน์สาธารณะทั้งสิ้น

“นอกจากนั้นแล้ว เรามีความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเพื่อข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าว เราขอประณามการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อข่มขู่ผู้สื่อข่าวและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการใช้ยุทธศาสตร์ในการฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นของประชาชน หรือที่เรียกว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP)

“เราขอเรียกร้องให้อัยการจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งไม่ฟ้องต่อ นายปรัชญ์ รุจิวนารมย์ บรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการยืนยันและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยและสาธารณชนจะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และสื่อมวลชน ได้รับความคุ้มครองให้ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของตนอย่างสงบและสามารถทำงานโดยไม่เกรงกลัวต่อการข่มขู่หรือการคุกคามโดยใช้กระบวนการยุติธรรม

“กรณีดังกล่าวยังมีความเกี่ยวข้องกับการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เราจึงขอเรียกร้องไปยังบริษัท รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมธุรกิจไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกระบวนการ โดยยึดแนวทางตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ที่มีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ คุ้มครอง (Protect) เคารพ (Respect) และเยียวยา (Remedies) อย่างจริงจัง และปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ที่ได้ระบุถึงมาตรการเพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน และกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการลงทุนข้ามพรมแดนของภาคธุรกิจจากประเทศไทยที่จะไม่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ไปลงทุนไว้ด้วย

“สุดท้ายนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางบริษัท ภาคธุรกิจ และภาครัฐ จะตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง ไม่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อพันธกรณีระหว่างประเทศต่างๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น” เนื้อหาในร่างแถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมข้ามพรมแดนไทย-เมียนมา อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมของเครือข่ายฯ โดยเบื้องต้นมีผู้ร่วมลงชื่อ อาทิ

รายนามองค์กร
  1. คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition)
  2. กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly)
  3. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
  4. เสมสิกขาลัย (เมียนมา)
  5. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
  6. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR)
  7. กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thailand)
  8. กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch)
  9. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
  10.  เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก
  11.  ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)
  12.  โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
  13.  สมาคมครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จ.สุรินทร์ 
  14.  กลุ่มรักษ์เชียงของ
  15.  Community Art
  16.  Realframe (ทีมช่างภาพคุณภาพ)
  17.  ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)
  18.  ศูนย์อีหลีเฮ็ดจังซี่กับนักข่าวได้จังได๋ (The Isaander)
  19.  กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย (Law Long Beach)
  20.  สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
รายนามบุคคล
  1. ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร
  2. สุภาภรณ์ มาลัยลอย
  3. กฤต แสงสุรินทร์ 
  4. ศศิประภา ไร่สงวน
  5. นิรมล ใจจันทึก
  6. ปริยากร ตองหว้าน
  7. ศรายุทธ นาคมณี
  8. สุรชัย ตรงงาม 
  9. สุมิตรชัย หัตถสาร
  10.  ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
  11.  ผศ.ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
  12.  กรกนก วัฒนภูมิ
  13.  สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
  14.  กรวรรณ บัวดอกตูม
  15.  พรพนา ก๊วยเจริญ
  16.  ทิวา แตงอ่อน
  17.  สมบูรณ์ คำแหง 
  18.  ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี
  19.  กิติมา ขุนทอง
  20.  จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ
  21.  สมนึก จงมีวศิน
  22.  วศินี พบูประภาพ
  23.  พริม มณีโชติ
  24.  อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์
  25.  รัตนาภรณ์ เจือแก้ว 
  26.  วรรณิศา จันทร์หอม
  27.  สุนิภา รวมทรัพย์
  28.  ธารา บัวคำศรี 
  29.  วรวุธ ตามี่
  30.  ธรธรร การมั่งมี
  31.  ธนกฤต โต้งฟ้า
  32.  พรชิตา ฟ้าประทานไพร
  33.  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
  34.  ผศ.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์
  35.  สุนี ไชยรส
  36.  เทวฤทธิ์ มณีฉาย
  37.  ณัฐพล เมฆโสภณ
  38.  ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
  39.  วัชลาวลี คำบุญเรือง
  40.  อินทิรา มานะกุล
  41.  สมพร เพ็งค่ำ
  42.  จริยา เสนพงศ์
  43.  สุวิทย์ กุหลาบวงศ์
  44.  ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์
  45.  วิชัย จันทวาโร
  46.  จามร ศรเพชรนรินทร์
  47.  ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
  48.  กานต์สินี อุไรรัตน์
  49.  กัญจน์ ทัตติยกุล 
  50.  รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์
  51.  ไพรินทร์ เสาะสาย 
  52.  ฐิตารัตน์ แก้วบัวศรี
  53.  จอน อึ๊งภากรณ์
  54.  ภาสกร จำลองราช
  55.  สิทธิพร เนตรนิยม
  56.  จิตติมา ผลเสวก
  57.  ประสาท นิรันดรประเสริฐ
  58.  อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกูล
  59.  ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
  60.  คุณวุฒิ บุญฤกษ์
  61.  เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา
  62.  รัตนาพร เขม้นกิจ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า