กษัตริย์ศึกษา: เส้นที่มองไม่เห็นของ ม. 112

เรื่อง: ชลธร วงศ์รัศมี
ภาพประกอบ: antizeptic

 

พ.ศ. 2552 ที่หน้าหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนกลุ่มเล็กๆ กำลังจับกลุ่มทำกิจกรรม หลายคนเดินผ่านไป บ้างไม่สนใจเพราะรู้สึกไกลตัว บ้างส่งสายตาเคลือบแคลงว่าคนกลุ่มเล็กๆ นี้ “คิดไม่ดี” หรือ “ทำสิ่งที่ทำอยู่ไปทำไม” กิจกรรมนั้นคือการรณรงค์ให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 น้อยคนในช่วงเวลานั้นจะตระหนักว่ากฎหมายอัตราโทษสูงที่นอนนิ่งไม่ค่อยได้ใช้งานมาพักใหญ่กำลังหาวและบิดขี้เกียจ เพื่อจะตื่นมาทำงานเต็มที่ในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2555-2556 การผลักดันให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้นสู่จุดสูงสุด ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไปยังประธานรัฐสภา และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ นพพล อาชามาส ลงสนามเก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112’ ซึ่งใช้ทฤษฎี Social Theory of Fear’ เป็นแนวทางศึกษาการทำงานของอารมณ์ผู้คนต่อกฎหมายมาตรานี้

“งานชิ้นนี้เป็นการศึกษาเรื่องการทำงานของอารมณ์ผู้คน และดูว่ารัฐเข้าไปใช้อำนาจปฏิบัติการกับพลเมืองภายใต้วาทกรรมความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไร การเก็บข้อมูลมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นงานเอกสาร โดยค้นคว้าบริบททางกฎหมาย ดูพัฒนาการทางกฎหมายของ ม. 112 ที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์และคดีที่เกิดขึ้นในช่วงต่างๆ อีกส่วนเป็นงานภาคสนาม จะเข้าไปติดตามสังเกตการณ์คดี และสัมภาษณ์ทั้งญาติและคนที่ถูกดำเนินคดี พื้นที่วิจัยจึงมีทั้งที่เรือนจำและที่ศาล โดยเก็บข้อมูลในช่วงปี 2555-2556”

นพพลกล่าวว่า กฎหมายป้องกันการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีพลวัตมาเสมอ โดยมีความเปลี่ยนแปลงและการตีความความสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองในแต่ละช่วง ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้ ‘กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127′ ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ นอกจากจะคุ้มครองพระมเหสี องค์รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ยังได้คุ้มครองไปถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ของกษัตริย์ไม่ว่ารัชกาลใดๆ ด้วย แม้ว่าจะมีอัตราโทษที่ไม่เท่ากันก็ตาม แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภายใต้ความพยายามจัดวางสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ ในปี พ.ศ. 2478 ได้มีการยกเลิกมาตราของกฎหมายลักษณะอาญาฯ เดิม ที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา เป็นพิเศษ ออกไป แต่ยังคงมาตราที่คุ้มครองพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเอาไว้อยู่

ทว่าสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนับจากรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา คือบทบัญญัติที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แม้ว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนสถานะจากเจ้าของอำนาจรัฐ ไปสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐ เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่จำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาบทบัญญัติข้างต้นได้กลายเป็นบทบัญญัติที่รอเวลาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง บทบัญญัตินี้ต่อมาได้กลายเป็นหลักการที่ส่งผลต่อการขยายขอบเขตในการตีความความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ในเวลาต่อมา[1]

จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นช่วง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ไทยมีกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 บทบัญญัติมาตรา 98 และมาตรา 104 ที่เป็นกฎหมายลักษณะเดียวกับ 112 อยู่ แต่ตอนนั้นโทษต่ำกว่าปัจจุบัน และมีบทยกเว้นความผิดในมาตรา 104 ว่า “แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด”

นพพลกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของมาตรา 112 แบบที่คนไทยคุ้นเคย เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ภายใต้การตราประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 112 ได้ปรากฏขึ้นแทนมาตรา 98 ของกฎหมายเดิม โดยบัญญัติเข้าไว้ในหมวดความมั่นคงของรัฐ และภายใต้บริบททางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ทำให้มีการตีความฐานความผิดนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ต่อมามาตรา 112 ได้เพิ่มอัตราโทษหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยเพิ่มโทษจากจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี เป็น 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่ใช้ทุกวันนี้ แต่จำนวนคดียังไม่ได้เข้มข้นมากเท่าทุกวันนี้ และนั่นยังไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ ‘ความกลัว’ ทำงานโดยสมบูรณ์

“เราดูการใช้กฎหมายนี้และดูบริบทการเมืองแวดล้อม ด้านหนึ่งเราพบการใช้อำนาจรัฐและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาจัดการ ควบคุม และทำให้เกิดความกลัวต่อการแสดงออกที่แวดล้อมประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อีกด้านเป็นประชาชนหรือคนทั่วไปในสังคมที่ค่อยๆ เข้ามาทำงาน (exercise) และเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดความกลัวในสังคม ความกลัวนี้บางกรณีผู้ต้องขังคดี 112 โดนซ้อมจากนักโทษด้วยกันตอนอยู่ในคุก หรือการล่าแม่มด มีการตีตราทางสังคมให้ผู้คนที่ถูกกล่าวหากลายเป็นปีศาจ ไม่รักชาติ ทำลายความมั่นคง ขบวนการล้มเจ้า ทำให้การปฏิบัติต่อคนเหล่านี้โดยรุนแรงทำได้อย่างชอบธรรมมากขึ้น”

นพพลกล่าวว่า แหล่งกำเนิดความหวาดกลัวที่ก่อผลชะงัดคือ ‘ความพร่าเลือน’ ของกฎหมายมาตรานี้

หลักนิติรัฐคือเส้น กฎหมายจะได้รับความชอบธรรมหรือไม่ จะต้องรู้ว่าเส้นอยู่ตรงไหน อะไรขัดต่อกฎหมายหรืออะไรไม่ขัด ต้องใช้อย่างเสมอหน้ากัน และประชาชนต้องรู้ได้ว่ากฎหมายจะถูกตีความอย่างไร

มาตรา 112 หวนกลับมาปรากฏในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2549 สืบเนื่องถึงปัจจุบัน มีผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ในหลายลักษณะ เช่น การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน การแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์ ตกเป็นเหยื่อจากการทำเฟซบุ๊คปลอมหรือแอบใช้โทรศัพท์มือถือของผู้อื่นโพสต์ข้อความผิดมาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้งหรือแก้แค้นในเรื่องส่วนตัว หรือบางกรณีผู้โพสต์บนโลกออนไลน์ถูกดำเนินคดีทั้งที่ตั้งใจมีส่วนร่วมเพื่อปกป้องสถาบันด้วยซ้ำ หรือกรณีการเป็น ‘ตัวกลาง’ เช่น เจ้าของสื่อ บรรณาธิการ ที่มีข้อความผิดมาตรา 112 ปรากฏอยู่ การอภิปรายทางวิชาการ การพูดคุยกันในพื้นที่ส่วนตัว เช่น การสนทนากับคนใกล้ชิด การสนทนาทางแอพพลิเคชั่นแชทและกล่องข้อความที่มีข้อความผิดมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้พิมพ์หรือผู้กล่าวข้อความนั้นก็ตาม การกล่าวเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง การแชร์ข่าวที่ปรากฏข้อความที่ถูกตีความว่าผิดมาตรา 112 บนโลกออนไลน์ เป็นต้น

ทีนี้พอเราไม่รู้ว่าเส้นอยู่ตรงไหน จึงถูกตีความหรือขยายความไปได้เรื่อยๆ เช่น กรณีที่ศาลฎีกาตัดสินคดี ม. 112 โดยตีความไปถึงการคุ้มครองรัชกาลที่ 4 หรือล่าสุดคือคดี อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วิจารณ์เรื่องพระนเรศวรก็โดนกล่าวหาไปด้วย ยิ่งในยุคหลังมีโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่ถูกตีความว่าหมิ่นฯ แม้จะเกิดขึ้นนานแล้ว แต่หากถูกโพสต์ขึ้นใหม่ในโลกออนไลน์ก็มีความผิดได้ เส้นที่ว่านี้ถูกขยายออกไปเรื่อยๆ จนเราไม่รู้ว่าขอบเขตของเส้นอยู่ตรงไหน ส่งผลต่อการแสดงความเห็นของคนในสังคม กลายเป็นว่าพอเราไม่รู้ว่าเส้นอยู่ตรงไหน เราก็ไม่พูดดีกว่า หรือเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง แม้ความเห็นนั้นจะไม่ได้ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ตาม”

แม้เส้นแบ่งก่อนต้องคดีจะพร่าเลือน จนผู้คนไม่แน่ใจว่าจะกลายเป็นคนทำผิดกฎหมายได้ด้วยเหตุใดบ้าง แต่เส้นแบ่งหลังต้องคดีแล้วนั้นชัดเจน มีการวางแนวมาตรฐานแข็งแรง

“บริบทของการใช้มาตรา 112 อย่างหนึ่งคือ คนที่โดนคดีจะถูกกระบวนการกึ่งบังคับให้จำยอมรับสารภาพ ทั้งการขังโดยไม่ให้ประกันตัวมาต่อสู้คดี หรือกระบวนการกดดันต่างๆ ทั้งจากกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้น แนวโน้มส่วนใหญ่คนจะรับสารภาพและเลือกรับว่าทำความผิด เป็นลักษณะกระบวนการยุติธรรมที่บีบบังคับ คนเลือกต่อสู้คดีจะมีน้อย ทั้งที่บางคดีก็สู้ได้ เพื่อให้นำไปสู่การขอพระราชทานอภัยโทษให้ได้ออกมาเร็วขึ้น คือต่อสู้อย่างไรก็ยากที่จะชนะ มีแต่จะติดคุกนานมากขึ้น คนจึงเลือกรับสารภาพไปก่อน”

อีก ‘เส้น’ หนึ่งที่พร่าเลือนสำหรับผู้ต้องคดีมาตรา 112 คือการเป็นหรือไม่เป็นนักโทษการเมือง แม้ว่าจะมีผู้ต้องคดีมาตรา 112 จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มีความคิดทางการเมือง แต่โดนกลั่นแกล้งจากความขัดแย้งส่วนตัวหรือโดนลูกหลงเข้ามา แต่นักโทษคดี มาตรา 112 จำนวนไม่น้อยมั่นใจว่า เป็นเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแท้ๆ ที่ผลักรุนเขามาถึงขอบเหวของการจองจำอิสรภาพ

“คนที่โดน ม.112 เขาจะไม่ถูกนับว่าเป็นนักโทษการเมือง ช่วงที่มีการคุยเรื่องการปรองดอง คุยเรื่องการนิรโทษกรรม รณรงค์ปล่อยตัวนักโทษการเมือง รัฐจะไม่รวมคดี ม. 112 ทั้งที่คนที่ถูกข้อหานี้จำนวนมากเขารู้สึกว่าพูดเรื่องการเมือง พูดเพื่อแสดงออกทางการเมือง แต่ถูกกีดกันว่าไม่เป็นการเมือง แต่เป็นเรื่องทางกฎหมาย เรื่องทางอาญา เรื่องความมั่นคง มีการแยกปริมณฑลออกมาต่างหาก”

นพพลเล่าถึงความย้อนแย้งนี้ว่า ทั้งที่นักโทษคดีมาตรา 112 จำนวนมากไม่ถูกจัดเป็นนักโทษการเมือง แต่เมื่อมาถึงขั้นการสู้คดีในศาล เป็นไปไม่ได้เลยที่นักโทษเหล่านี้จะไม่นำประเด็นทางการเมืองและบริบททางการเมืองเข้าไปสืบพยานในศาลอยู่ด้วยตลอดเวลา

เมื่อถามนพพลว่า เราจะทำอย่างไรให้ปริมณฑลแห่งความกลัวหายไป และทำให้รู้ว่า ‘เส้น’ ของมาตรา 112 อยู่ตรงไหน นพพลตอบว่า

“ข้อเสนอในงานวิจัยของผมคือ เราควรตีความ ม. 112 ภายใต้ระบอบนิติรัฐและประชาธิปไตย”


หมายเหตุ:
[1]นพพล อาชามาส. การประกอบสร้างความกลัว และการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2556. น 60.

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า