เรื่อง+ภาพ: กอบกาญจน์ ลิ้มสมบัติอนันต์
-1-
เราชอบที่ต้องแหงนหน้ามองปลายยอดไม้ไหววูบในอากาศ
มันทำให้การเดินไต่ระดับความสูงขึ้นภูเขาขนาดมินิเพลินดี และยิ่งชอบจังหวะนี้มากขึ้นอีกเมื่อเห็นครอบครัวค่างบนกิ่งก้านเหล่านั้น ภาพแม่ลูกค่างไต่เตาะแตะบนป้ายบอกทางไปเคแอลทาวเวอร์ ทำให้เราเพ้อเจ้อว่าเราสามารถไทม์วอร์ปจากเขตใจกลางเมืองใหญ่พลุกพล่านไปย่านอุทยานแห่งชาติได้อย่างไรอย่างนั้น
ช่วงเวลาแบบนี้ เคแอลทาวเวอร์ดูเหมือนสาวน้อยหน้าบูดบึ้งนั่งบ่น ทำไมใครๆ ก็หนีไปถ่ายรูปค่างกันหมดวะ!
-2-
เราชอบแววตาของคุณขณะที่คุยกับเรา เพราะเราเห็นมิตรภาพในนั้น
แต่ที่เราชอบยิ่งกว่าคือคำถามของคุณ
ขอบคุณอากาศร้อนบัดซบที่ทำให้เราเหนื่อยเกินกว่าจะรีบร้อนไปไหนอีก เราเลยได้ใช้บ่ายสุดท้ายในมาเลเซียไปกับการเดินโต๋เต๋หน้าสถานีรถไฟที่เงียบเหงา และหนีมาหลบไอร้อนที่หน้ามัสยิดแห่งชาติ ท่ามกลางไอระอุและละอองน้ำพุเหล่านั้น คุณปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับรองเท้าผ้าใบในมือ รอยยิ้มและบทสนทนาเย็นๆ
“คุณรู้จักมาเลเซียได้ยังไง”
เรานิ่ง ยิ้มเพราะตอบไม่ถูกและไม่รู้ว่าควรตอบอย่างไรให้ดูดี เนื่องจากเราไม่เคยศึกษาอะไรเกี่ยวกับที่นี่เลย เรามาอยู่ที่หน้ามัสยิดแห่งนี้เพราะได้ยินเพื่อนพูดถึงปีนัง และบังเอิญจองตั๋วโปรฯขากลับไทยในราคาถูกได้ เรียกได้ว่า กัวลาลัมเปอร์คือของแถม ที่ตลกคือเราดันรู้สึกชอบเมืองนี้ที่สุดในบรรดาเมืองที่เราได้แวะ
จอร์จทาวน์อาจเป็นเหมือนศิลปินเดี่ยว ใช้ชีวิตสไตล์ฮิปสเตอร์ยามบ่ายนั่งในคาเฟ่จิบคาปูชิโนฟองหนาๆ ทอดอารมณ์มองสตรีทอาร์ตบนกำแพงบ้านชาวบ้าน ส่วนมะละกาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งเป็นการต่อสู้อันเข้มข้นน่าทำความรู้จัก แต่กัวลาลัมเปอร์มีความเร้าใจจากผู้คนหลากหลายซึ่งกระจุกตัวอยู่กันหนาแน่นที่สุดในสหพันธรัฐมาเลเซีย มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมที่เป็นส่วนผสมคนละสูตร แต่อยู่รวมกันในจานเดียว เมืองใหญ่หลายแห่งเป็นเช่นนี้ แต่กัวลาลัมเปอร์มีเสน่ห์บางประการที่เชื้อเชิญเราให้อยากรู้จักให้มากยิ่งขึ้น
หรือเป็นไปได้ว่าเราอาจคุ้นกับเมืองนี้ไม่มากพอ จึงยังไม่หน่ายเมือง
-3-
เราชอบกลิ่นเหงื่อและความล้าของกล้ามเนื้อที่มาจากก้าวต่อไป
ขากลับจากมัสยิดจาเม็ค ราวเที่ยงกว่า เราเดินย้อนเส้นทางเดิมกลับมาหลบพระอาทิตย์ที่อาร์ตแกลอรีย่านจัตุรัสเมอร์เดกา ขอบคุณที่นี่ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งผิวหนังให้เรา โถงทางเดินช่วงแรกมีโมเดลสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์และภาพประวัติศาสตร์วางสลับกันไป
เราก้าวไปตามทางที่เขาวางผังไว้จนมาถึงห้องมืดแห่งหนึ่ง ผู้คนยืนนิ่ง สายตาวิ่งตามแสงไฟวูบวาบซึ่งฉายลงบนโมเดลจำลองผังเมืองกัวลาลัมเปอร์ขนาดยักษ์ตรงหน้า รายละเอียดยุ่บยั่บบนผังนั้นถูกบอกเล่าผ่านเสียงและแสง เราได้ยินผู้คนพูดคุยอย่างคึกคักเมื่อย่านเก่าแก่ของเมืองปรากฏเด่น นกร้องกระซิบกันยามดวงไฟส่องให้เห็นพื้นที่สีเขียวแซมตัวอยู่หลายมุมเมือง กัวลาลัมเปอร์ถูกแบ่งสัดส่วนป่าเขียวในเมืองไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเราพิสูจน์ด้วยสองตาของตนเองแล้วว่าสามารถพบต้นไม้เติบโตสูงราวตึก 10 ชั้นได้ดาษดื่นในเมืองนี้ แสงไฟบนโมเดลเหล่านั้นแปรรูปไปเป็นเส้นทางคล้ายกับพยายามส่งสารว่า อนาคตของกัวลาลัมเปอร์จะเป็นอย่างไรต่อไป
เมื่อโชว์จบลง ห้องกลับมาสว่างอีกครั้ง เราจึงได้เห็นผังเมืองกัวลาลัมเปอร์อย่างแจ่มชัด ทั้งตึกแถวโบราณย่านหอนาฬิกาที่เราเพิ่งเดินผ่านเมื่อเช้า ทั้งตึกระฟ้าเก่าและใหม่อย่างตึก Warisan Merdeka ที่เมื่อแล้วเสร็จในปี 2018 จะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศมาเลเซีย และทำสถิติในระดับโลก มาแทนลำดับของตึกไทเป 101 เบียดให้ตกไป
ช่วงเวลานั้นเรารู้สึกเหมือนอยู่ในเกมที่ทำได้เพียงดูคนอื่นวิ่งแข่งกัน ขณะที่พวกเขาสัมผัสกับความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อและเหงื่อที่กลั่นตัวออกมาจากผิวหนัง แต่เรากำลังเคลื่อนที่ช้าลงๆ และค่อยๆ ทิ้งห่างกันออกไปทุกที
ก่อนจะถึงโซนขายของที่ระลึก เราถูกบังคับให้เดินไปเจอกับช่างประกอบโมเดลท่านหนึ่ง เขาอยู่ในห้องกระจกทำงานของตนเองอย่างใจเย็น ไม่ใส่ใจกับสายตาของผู้คนที่จ้องมอง ส่วนประกอบแต่ละชิ้นเกิดขึ้นจากความละเมียดในการจัดวางเศษไม้ชิ้นเล็กๆ ลงบนแต่ละส่วนอย่างชำนาญ บนโต๊ะของเขาเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนมากมาย รวมถึงตึกแฝดปิโตรนาสชื่อดังที่ถูกผลิตออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้ผู้ชื่นชมสามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของได้ในห้องถัดไป
-4-
เราชอบการพบกันครั้งที่สอง
เวลาที่มีให้เมืองนี้ค่อนข้างจำกัด ทำให้เราไม่มีทางเลือกมากนัก เราเริ่มต้นแต่ละวันตอน 8 โมงเช้าภายใต้ไอแดดจ้า จนกระทั่งพระอาทิตย์เป็นฝ่ายจากเราไปเอง สภาพอากาศช่วงต้นฤดูร้อนส่งผลให้ผิวกายแดงเรื่อจนเกือบจะแสบตัว โชคดีที่ช่วงกลางคืนท้องฟ้าเริ่มเป็นมิตรมากขึ้น ในคืนสุดท้าย
เรากลับมานั่งเล่นที่จัตุรัสเมอร์เดกาอีกครั้งเพื่อเก็บภาพเรื่อยเปื่อย ที่จัตุรัสยังคงมีผู้คนประปราย ถนน Raja บริเวณจัตุรัสถูกกั้นรั้วไม่ให้รถเข้าออก เด็กๆ หลายคนออกมาเล่นโยโย่กับบนถนนอย่างเพลิดเพลินที่หน้าอาคารสุลต่าน อับดุล ซามัด พวกเขาเล่นโยโย่กันเหมือนกำลังเต้นรำ จังหวะการหมุนตัวที่เหมือนสายลมพัดผ่านทำให้เราไม่อาจละสายตา
การเดินทางของเราครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์เครื่องบินหายเกิดขึ้นได้ราวเกือบ 2 สัปดาห์ ร่องรอยของความกังวลปรากฏอยู่ในทุกแห่งที่เราไป พนักงานเกสต์เฮาส์ติดตามข่าวนี้เกือบตลอดเวลา ร้านกาแฟประดับป้าย ‘Pray for MH370’ พื้นที่บนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ถูกอุทิศให้ข่าวนี้ หน้าตึกแฝดมีการกั้นพื้นที่เพื่อเตรียมจัดงานร่วมภาวนาให้ทุกๆ คนบนเครื่องบินลำนั้น ที่บริเวณจัตุรัสแห่งอิสรภาพนี้ก็เช่นกัน ผู้คนแปลกหน้ามารวมตัวกันในยามค่ำคืน เทียนแต่ละเล่มส่องแสงขึ้นในความมืดหลายคราว แม้ว่าคืนนี้จะไม่ปรากฏผู้คนกับเทียนไขในมือ แต่บทสวดภาวนายังแว่วเสียงและไม่เคยเงียบหายไป
เพราะยังหวังว่าเราจะได้พบกันอีก
ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ All way นิตยสาร WAY ฉบับที่ 74