ยอดเนื้อคือหมาฯ

ภาพประกอบ: กฤช เหลือลมัย

 

คงมีคนต่อคำพังเพยนี้ได้อยู่บ้างนะครับ ว่าวรรคถัดไปก็คือ “ยอดปลาคือเอี่ยน (ปลาไหล)” มันแสดงการยกย่องรสชาติอันวิเศษของเนื้อสัตว์บกสัตว์น้ำอันเป็นลูกยอดของแต่ละฝ่ายไว้ชัดเจน อย่างไรก็ดี ผมเดาว่าคำประณามพจน์นี้น่าจะเกิดในชุมชนวัฒนธรรมแถบที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อย้อนไปไม่นานนัก ดูจะมีวัฒนธรรมการกิน ‘ยอดเนื้อฯ’ มากกว่าและชัดเจนกว่าภาคอื่นๆ

หรือไม่เช่นนั้นก็คงรับ (แปล) ถ่ายทอดมาจากภาษาอื่น ที่เป็น ‘เจ้าพ่อ’ แห่งการกินยอดเนื้อตัวจริงของจริงกว่าเรา ก็อาจเป็นได้

ภาพจำที่เราๆ ท่านๆ นึกออก ณ ขณะปัจจุบันนี้ ก็คือ ยอดเนื้อ (คือหมา) นี้ เป็นที่นิยมลิ้มชิมรสกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในเขตภาคอีสานตอนเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง สกลนคร ซึ่งมีการเสาะหา คัดเลือก จัดการ และประกอบสร้างเนื้อหมาเป็นอาหารรสเด็ดอย่างครบวงจร ผ่านการเรียกขานเสียใหม่ให้รู้กันเป็นนัยๆ เช่น เนื้อสวรรค์ เป็นต้น

และเราย่อมจดจำได้ ถึงรายงานข่าวเรื่อง ‘หมาแลกคุ’ โดยรถยนต์บรรทุกขนาดกลางที่แล่นตระเวนไปตามหมู่บ้านชนบทในเขตภาคอีสาน เพื่อแลกหมาป่วย หมาไม่มีเจ้าของ หรือหมาที่เจ้าของไม่ต้องการดูแลเลี้ยงดูต่อไป กับกระบุง ตะกร้า กะละมังขนาดต่างๆ เป็นการสมประโยชน์ที่แสนจะเจ็บปวดหัวใจสำหรับสมาคมคนรักหมาที่รักใคร่เอ็นดูหมาพันธุ์ดี หมาน่ารัก ที่ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ได้ถูกเลี้ยง ดูแล กำหนดนิยามให้มีสถานภาพและบทบาทเปลี่ยนไปจากที่พวกเพื่อนๆ บรรพชนสุนัขของมันเคยได้รับเมื่อหลายสหัสวรรษก่อนอย่างชนิดหน้าเล็บเป็นหลังเล็บ

หมานั้นเป็นสัตว์เลี้ยง ‘ชนิดแรก’ ของมนุษย์อย่างมิพักต้องสงสัย หลักฐานเก่าแก่มากๆ มีหลายแห่งทั่วโลก อย่างเช่น โครงกระดูกหมาที่มนุษย์เลี้ยงไว้ พบที่ถ้ำโกเยต์ (Goyet) ในประเทศเบลเยียม มีอายุถึง 31,700 ปีมาแล้วทีเดียว

ส่วนในประเทศไทย นักโบราณคดีพบโครงกระดูกหมาทั้งโครง ฝังร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์หลายแห่ง เช่น โครงกระดูกหมาที่บ้านท่าแค ลพบุรี (3,500-3,000 B.P.*)  บ้านโนนวัด นครราชสีมา (3,000 B.P.)  บ้านเชียง อุดรธานี (4,000 B.P.)  บ้านโนนค้อ กาฬสินธุ์ (3,000 B.P.) ถ้ำปู่ปันตาหมี บ้านนาตอง แพร่ (4,500 B.P.) และล่าสุดได้พบที่เมืองโบราณศรีเทพ เพชรบูรณ์ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วนี้เอง โดยมันถูกฝังไว้ข้างๆ ศพผู้หญิงซึ่งคงเป็นเจ้านายของมัน แถมยังเอาตีนก่ายชามดินเผา ซึ่งก็คงเป็นชามข้าวของมันอยู่กับตัวด้วย

โครงกระดูกหมาโครงนี้อายุ 1,730 ปี บวกลบแล้วก็ตกอยู่ในราว พ.ศ. 830 นี่เองครับ!

นักโบราณคดีบางคนอธิบายว่า หมาเลี้ยงมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางทวีปเอเชียตะวันออก แถบประเทศจีนและมองโกเลีย ต้นตระกูลของมันเป็นหมาป่าสีเทาชนิดหนึ่ง (Gray Wolf / Canis Lupus) ซึ่งไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นในดินแดนอุษาคเนย์ ดังนั้นหมานักล่าที่สืบพันธุ์ต่อๆ มาจนเป็นหมาบ้านๆ ทุกวันนี้จึงอาจจะถูกนำเข้ามาจากภายนอกก็ได้ เพราะหมาพื้นถิ่นแถบนี้คือหมาจิ้งจอก หรือบางแห่งเรียกสั้นๆ ว่า ‘หมาจอก’

กำนันเดช ภูสองชั้น ชาวบ้านตาหยวก ทุ่งกุลาร้องไห้ ร้อยเอ็ด เล่าไว้ในหนังสือ ฅนทุ่งกุลา ว่า หมาจิ้งจอกนั้น “…มีหน้าแหลมกว่า หางยาวเป็นพวงอรชร…มีฝูงละไม่ต่ำกว่า 10-20 ตัว ที่ไหนน้ำแห้ง ถ้ามีปลา มันก็จะออกไปกินไม่มีเหลือ…ถ้าเอามันมาเลี้ยงไว้ มันจะไม่เชื่องเหมือนสุนัขบ้านเรา ไม่ค่อยรู้เจ้าของ…เมื่อเราดุและตีสั่งสอนมัน มันก็จะหนีเข้าป่าเหมือนเดิม…”

หมาเลี้ยง (Domestic Dog) นั้นมีลักษณะต่างจากหมาป่าชนิดที่สังเกตได้จากลักษณะโครงกระดูกในหลุมขุดค้น อำพัน กิจงาม นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสัตว์โบราณบอกว่า การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้นได้พบกระดูกสัตว์ถึงกว่า 60 ชนิด เฉพาะที่เป็นสัตว์เลี้ยง มีวัว หมู และหมา (ส่วนควายมาเริ่มเลี้ยงในช่วงสมัยกลางของบ้านเชียง) โดยเฉพาะกระดูกหมาที่บ้านเชียงส่วนหนึ่งถูกเผาไฟ และมีการสับ ตัดออกเป็นชิ้นๆ ด้วย

สอดคล้องกับที่ รัชนี ทศรัตน์ นักโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งบอกว่า กระดูกหมาที่พบในแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็น ‘ขยะอาหาร’ ที่เหลือจากงานปาร์ตี้ปิ้งย่าง (อันนี้ผมเรียกของผมเอง) แสดงว่าคนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยนั้นทั้งเลี้ยงหมา ฝึกหมาไว้ให้ช่วยล่าสัตว์ป่า เสร็จแล้วพอมันตาย ก็ลงมือปรุงมันกินอย่างเอร็ดอร่อยด้วยในท้ายที่สุด

พักเรื่องกินไว้สักหน่อย หลักฐานเกี่ยวกับหมาๆ นอกจากกระดูกไหม้ไฟแล้ว ก็พบในภาพเขียนสีบนผนังหินทั่วประเทศไทยด้วยนะครับ

รูปที่เพิงผาเขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว นครราชสีมา คงเป็นที่รู้จักมากที่สุด แสดงภาพนายพรานง้างคันธนู ปล่อยสายเหนี่ยว ลูกธนูพุ่งออกไป ด้านหน้านายพรานมีหมาเพศผู้ตัวกำยำ หางกระตุกชันขึ้นในท่าเตรียมกระโจนเข้าหาเป้าหมายบาดเจ็บเบื้องหน้า นี่คือภาพคู่หูนักล่าที่เก่าแก่ที่สุดภาพหนึ่ง มันชวนให้นึกถึงวรรณคดีโบราณอย่าง เวสสันดรชาดกฉบับวิงวอนหลวง (ล้านนา) ที่มีพรรณนาถึง ‘ลูกสมุน’ 32 ตัวของพรานเจตบุตรไว้อย่างละเอียดลออ เช่น หมาตัวผู้หางคดงอ, หมาตัวผู้ชื่อแดง มีความอดทนในการล่าสัตว์, หมาตัวผู้สีดำหม่น เป็นหมาเก่า ชอบเห่าเมื่อเจอตัวแลน ฯลฯ ซึ่งให้ภาพคณะหมาล่าเนื้อที่น่าสะพรึงกลัวไว้อย่างชัดเจน

รูปที่เพิงผาเขาปลาร้า อำเภอลานสัก อุทัยธานี แสดงรูปหมาสองตัวใกล้ๆ กับผู้นำพิธีกรรมซึ่งสวมศิราภรณ์บานฟู นุ่งผ้าชักชายย้อยย้วย ประดับข้อมือด้วยกำไล และแสดงโครงร่างกลางลำตัวด้วยลายเส้นเรขาคณิตสีแดง (หมาเพศผู้ตัวที่อยู่ข้างๆ ชายผู้นี้ก็ถูกเขียนในลักษณะดังกล่าวด้วย) และอีกรูปหนึ่งเขียนเป็นรูปหมาตัวเดียวที่มีสัดส่วนสวยงามที่สุดภาพหนึ่ง

ภาพเขียนสีแดงรูปหมาๆ บนผนังถ้ำเหล่านี้ คงเป็นภาพประกอบในสำนึกทางจิตวิญญาณของคนก่อนประวัติศาสตร์ ที่อาจมีนิทานเรื่องหมาเก้าหางลอบขโมยพันธุ์ข้าวจากบนสวรรค์มาให้มนุษย์เป็นเรื่องเล่าสืบทอดประจำเผ่า มีความรู้สึกทั้งผูกพัน ช่วยเหลือ เป็นคู่หูที่ต่างยอมรับในศักยภาพการล่าของกันและกัน ท้ายที่สุดคือความตระหนักรับรู้รสอร่อยของเลือดเนื้อและเครื่องในคู่หู ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยบันดลประกอบสร้างรูปภาพเหล่านี้ขึ้น

แม้หลักฐานโบราณคดีจะแสดงอย่างชัดเจนว่า คนไทย โดยเฉพาะคนก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นกินหมามานมนานนับพันปีแล้ว แต่ก็ไม่ใช่การกินเป็นมหกรรมอย่างมโหฬารขนาดคนพื้นเมืองที่เมืองฮาลลิเดย์ (Halliday) รัฐมิสซูรี ในสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วง ค.ศ. 1050-1400 ซึ่งกินหมาและทิ้งกระดูกหมาถูกชำแหละไว้มากมายก่ายกองให้นักโบราณคดีพบร่องรอย ตรงกันข้าม กระดูกหมาบ้านที่พบในแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย ไม่ได้มีสถิติเชิงปริมาณมากไปกว่ากระดูกกวาง เก้ง หมูป่า เต่า นก ฯลฯ แต่อย่างใด

และเมื่อชุมชนก่อนประวัติศาสตร์เริ่มรับนับถือพุทธศาสนาในราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ก็เป็นไปได้มากว่า คำสอนและข้อห้ามบางข้อในพระธรรมวินัยจะมีผลต่อวัฒนธรรมอาหารที่มีมาแต่เดิม เพราะใน ‘พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2’ มีห้ามมิให้พระภิกษุฉันเนื้อ 10 ชนิด เป็นต้นว่าช้าง ม้า เสือโคร่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ เนื้อสุนัข

อย่างไรก็ดี เหตุผลข้อห้ามแบบพุทธๆ ชุดนี้ ลึกๆ แล้วมีแรงจูงใจอย่างไรแน่ คงต้องอภิปรายกันยาวๆ ในคราวหลังนะครับ

ส่วนในตำรากับข้าวไทยยุคศตวรรษที่แล้ว ถึงแม้หลายเล่มจะอรรถาธิบายถึงเนื้อสัตว์ป่าในเชิงยกย่องว่าเป็นของดี กินอร่อย ย่อยง่าย เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าเนื้อสัตว์เลี้ยง แต่ก็ไม่ยักมีรายนามเนื้อหมาอยู่ในบัญชีแต่อย่างใดนะครับ

กรณีการเปิบเนื้อหมานี้ คงทำให้เราเห็นชัดขึ้น ถึงการกำหนดนิยามคุณค่าความหมายว่าอะไร ‘เป็น’ หรือ ‘ไม่เป็น’ อาหาร และแน่นอนว่า ที่มาของนิยามใหม่ในแต่ละครั้ง แต่ละยุคสมัย ล้วนมีที่มาที่ไป มีระบบคุณค่าบางชนิดค้ำจุนหนุนหลังอยู่เสมอ ดังที่เคยมีงานศึกษาที่น่าสนใจของ คุณอาจินต์ ทองอยู่คง เรื่อง ‘หมาในฐานะอาหาร สุนัขในฐานะวัตถุทางศีลธรรม: โวหารและการเมืองเรื่องข้อห้ามในการกิน’ ที่ได้อธิบายสาเหตุของการรังเกียจเดียดฉันท์การบริโภคเนื้อหมาตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ. 2500 จนมาถึงเบื้องหลังวัฒนธรรมสำรับหมาที่ท่าแร่เอาไว้อย่างน่าสนใจ

เมื่อพิจารณาร่วมกับลักษณะทางชาติพันธุ์ของชุมชนในพื้นที่ตำบลท่าแร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเวียดนาม และมีวัฒนธรรมการกินเนื้อหมาร่วมกันกับคนจีนมายาวนาน ผมคิดว่าการกินเนื้อหมาอย่างจริงจัง และการให้ความหมายหลายๆ อย่างในเชิงยกย่องสรรพคุณ เช่น กินแล้ว ‘ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น’ คงเป็นวัฒนธรรมอาหารตุ๋นสมุนไพรของผู้คนในพื้นที่อากาศหนาวเย็น ที่แพร่เข้ามาในภาคอีสานตอนเหนือพร้อมกับการอพยพย้ายถิ่นของคนเวียดในช่วงสงครามภายในประเทศ เพียงชั่วราวศตวรรษที่ผ่านมา

แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจีน ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยหนาแน่นขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาคอีสาน ตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 หลังมีทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ คงมีส่วนปูพื้นฐานวัฒนธรรมอาหารสายนี้ไว้ก่อนบ้างแล้ว

ถ้ามองภาพรวมๆ ก็ดูเหมือนว่า คนไทยแต่เดิมนั้นเคยกินหมา แล้วก็ไม่กินหมา จากนั้นกลับมากินหมาอีก…แน่นอน ข้อสรุปของผมพรรค์นี้หยาบเป็นขี้แรด แต่มันก็น่าจะทำให้เราหันมามองประเด็นเรื่องการกิน – ไม่กินหมา และอะไรเป็น – ไม่เป็นสัตว์อาหาร ได้อย่างรอบด้านขึ้น ไม่ด่วนดึกทึกทักว่า “เป็นคนไทย(ต้อง)ไม่กินหมา” ไปเสียตั้งแต่แรกเริ่มต้นเอ่ยบทสนทนากับคนอื่นๆ นอกวัฒนธรรมของเรา

ผมเพิ่งเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีงานวิจัยใหม่หมาด ที่สรุปว่า แมวเป็นฝ่ายเข้าหามนุษย์ก่อน เมื่อราว 9,000 ปีที่แล้ว ในแถบดินแดนอนาโตเลียโบราณของตุรกี ผมซึ่งเชื่อเรื่องแบบนี้มานาน อดคิดขำๆ ไม่ได้ว่า ถ้านี่เป็นแผนการต่อรองของสัตว์ป่า เพื่อจะได้อยู่รอดและอยู่ร่วมกับมนุษย์แบบต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยกันแล้วละก็ พวกหมาเองได้ตัดสินใจแบบนั้นมาก่อนหน้าแมวนานมากแล้ว…

เพียงแต่มันอาจไม่ทันเฉลียวใจว่า เพื่อนมนุษย์ของมันจะมีรสนิยมซอกแซกช่างกิน ตลอดจนเพียรผลิตสร้างนิยาม หาเหตุผลและความหมายรองรับการเลือกกินได้ละเอียดยิบยับถึงปานนี้…


หมายเหตุ: B.P. – Before Present

Author

กฤช เหลือลมัย
กฤช เหลือลมัย เป็นนักโบราณคดีผู้ขุดลึกลงไปในชั้นดินของความรู้ทางประวัติศาสตร์อาหารและรสชาติ เป็นทั้งนักเขียน-กวี เขียนรูป ทำอาหาร และนิยมเดินทางด้วยจักรยานไปตามพื้นที่รกร้าง เพื่อสอดส่ายสายตาหาพืชผักเพื่อนำมาประกอบอาหาร ในพื้นที่ของ WAY กฤช เหลือลมัย ได้ออกไปสำรวจพร้อมกับเครื่องมือขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อนำหลักฐานทางอาหารและรสชาติมาวิเคราะห์สไตล์กฤช เหลือลมัย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า