ภาพห้องสมุดในหัวเรามักจะเป็นแหล่งเก็บรวบรวมหนังสือและทรัพยากรการเรียนรู้มากกว่าแหล่งให้บริการพื้นที่เพื่อการเรียนรู้หรือไม่ เหตุใดความเป็นทางการจึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับการใช้บริการห้องสมุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องสมุดประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของสังคมไทย
ไม่แน่ใจว่าการเข้าห้องสมุดกลายเป็นเรื่องยากขนาดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เพียงตั้งใจว่าจะไปใช้ห้องสมุด แสดงว่าวันนี้ต้องเตรียมเสื้อผ้าหน้าผมให้พร้อม!
เราจะพาคุณย้อนกลับไปสู่แนวคิดเริ่มแรกของห้องสมุดในสยาม ทำความเข้าใจวัฒนธรรมการอ่านก่อนที่ทุกคนจะเข้าถึงการศึกษา แล้วกลับมาในปัจจุบันที่ห้องสมุดหลายแห่งไม่ได้มีเพียงหนังสือไว้บริการ แต่ยังเปิดพื้นที่และให้อิสระผู้ใช้งานในการสร้างสรรค์การเรียนรู้ในแบบที่พวกเขาต้องการ
ประเด็นเหล่านี้คือที่มาของเสวนาในหัวข้อ ‘ห้องสมุดกับพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้’ ร่วมจัดโดย Thai Civic Education กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และ TK Park เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park
ประวัติศาสตร์ห้องสมุดสยาม
ก่อนทำความเข้าใจปัญหาและความลักลั่นของกฎระเบียบเครื่องแต่งกายกับการใช้ห้องสมุด ชานันท์ ยอดหงษ์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยปูพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเกิดขึ้นของหอสมุดแรกในสยามเมื่อปี 2426 ซึ่งก็คือ หอพระสมุดวชิรญาณ มีการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ด้วยคำว่า ‘พระ’
“การจัดการหนังสือและห้องสมุด ถูกจัดการในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเคารพบูชามากกว่าจะอ่าน”
ชานันท์ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนจะมีหอพระสมุด ก็มีการเก็บหนังสือพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นการเลือกเก็บเอาไว้ในหอไตรกลางน้ำ อาจจะอ้างว่าเพื่อกันปลวก กันไฟไหม้ ขณะเดียวกันก็เป็นการกีดกันการเข้าถึงความรู้
ในยุคสังคมที่เชื่อเรื่องศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเข้าถึงความรู้จากตำราอย่างพระไตรปิฎกก็ถูกจำกัด ผู้ที่เข้าถึงได้ นอกจากจะอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังต้องเป็นพระด้วย
สำหรับตู้พระไตรปิฎก เราจะไม่สนใจหนังสือที่ถูกเก็บไว้ แต่เราสนใจว่าตู้มีลักษณะอย่างไร สวยแค่ไหน ลงรักปิดทองอย่างไร ทั้งปิดทอง และปิดตาย เราจะไม่เคยเข้าถึงหนังสือในตู้พระไตรปิฎกได้
ห้องสมุดวชิรญาณมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บหนังสือที่ควรเก็บ แบ่งเป็นหนังสือพระ (พระไตรปิฎก) หนังสือแปลก และหนังสือไทย ซึ่งหนังสือไทย เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่เชื่อว่าเป็นความรู้จริงๆ โดยนวนิยายและนิทานต่างๆ ถือว่าไม่มีคุณค่าพอที่จะเก็บ
ชานันท์เล่าเกร็ดความรู้เรื่องการแบ่งชนชั้นในการเข้าถึงอะไรหลายๆ อย่างในสังคมไว้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากกลุ่มสโมสรต่างๆ มักจะจัดตั้งโดยชนชั้นสูงเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อมีงานโชว์ของแปลก หรือของที่มาจากต่างประเทศ จะมีการจัดสรรเวลาสำหรับผู้เข้าชมที่แตกต่างกัน
เขาพบข้อมูลว่า สำหรับราษฎรทั่วไปจะเข้าชมได้ตั้งแต่ 8 นาฬิกาถึง18 นาฬิกา ส่วนชนชั้นนำ ราชการ และผู้ดีแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยเท่านั้นที่จะเข้าได้ตั้งแต่ 1 ทุ่มถึงเที่ยงคืน พูดง่ายๆ คือ มีการแบ่งชนชั้นโดยวัดจากเครื่องแต่งกาย
“ผมคิดว่า สำนึกของการเก็บหนังสือ ความรู้ กลับไปวางไว้บนหอคอยงาช้างแทนที่จะบริการ เหมือนที่ประเทศอื่นๆ มองว่า หอสมุด ห้องสมุด รวมถึงหอจดหมายเหตุ มีไว้เพื่อบริการประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่ในสำนึกของคนไทยถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นสถานที่ราชการที่จะต้องแต่งตัวสุภาพเข้าไป ถ้าแต่งตัวไม่สุภาพจะเข้าไปไม่ได้”
ชานันท์แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าใช้บริการหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุ ในปีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ด้วยความจำเป็นเขาจึงสวมกางเกงขาสั้นและใส่รองเท้าแตะไป ทีแรกเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตเนื่องจากแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่เมื่อฟังเหตุผล จึงอนุญาตให้เข้าใช้ได้
“ตอนนั้นน้ำท่วมก็เลยบอกว่า ที่บ้านน้ำท่วม ถ้าใส่ขายาวมาก็จะเปียก เขาเลยอนุญาตให้เข้าไปได้ มันสะท้อนให้เห็นว่า เราต้องแต่งตัวสุภาพเท่านั้น และปัญหาคือ หอสมุดถูกผูกขาดโดยระบบราชการ มีเวลาเปิด-ปิดชัดเจน คือเวลาราชการ”
อุปสรรคสำคัญสองอย่างที่กีดกันการเข้าถึงความรู้ในมุมมองของชานันท์คือ การจัดวางห้องสมุดในสถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และระบบราชการ
กำเนิดพื้นที่สาธารณะและสื่อสิ่งพิมพ์
ชานันท์เห็นว่า ระบบการจัดเก็บหนังสือเป็นระบบที่เหมือนการล่าอาณานิคม เพราะการเกิดขึ้นของหอสมุดครั้งแรกเป็นการรวบรวมความรู้ใน area ที่ได้ชื่อว่า ‘รัฐสยาม’ ความรู้จากภาคต่างๆ หรือมณฑลต่างๆ ถูกจัดเก็บเอาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นการบ่งบอกว่า ในรัฐสยามมีความรู้อะไรบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นการ shape รัฐไปด้วย
เมื่อพูดถึงห้องสมุดในฐานะพื้นที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องพูดถึงสิ่งพิมพ์ที่มาคู่กัน
พื้นที่สาธารณะในประเทศไทยเกิดขึ้นมาพร้อมกับสิ่งพิมพ์ การมีสิ่งพิมพ์เท่ากับว่า ประชาชนสามารถใช้สิ่งพิมพ์อันนี้ ใช้พื้นที่การอ่าน การแลกเปลี่ยนในหนังสือพิมพ์ เป็นการต่อรองกับอำนาจรัฐได้
ชานันท์เล่าว่า หลังจากหมอบรัดเลย์พิมพ์หนังสือออกมา หนังสือได้กลายเป็นพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของราชการ ชนชั้นนำ หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยามยุคนั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการจัดพิมพ์หนังสือกฎหมาย โดย โหมด อมาตยกุล ปรากฏว่าไปสร้างความไม่พอใจให้ชนชั้นนำ ต่อมาจึงมีการเผาและทำลายหนังสือเหล่านั้น
“จะเห็นได้ว่า การเข้าถึงหนังสือ มีการเลือกแล้วว่า อย่างน้อยที่สุด ถ้าคุณไม่ใช่ชนชั้นนำ การแต่งตัวให้คล้ายชนชั้นนำ สุภาพเรียบร้อย เขาก็จะยินยอมให้คุณเข้าไปได้ มันมีการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจนในการเข้าถึงความรู้”
จากเดิมที่มีเพียงหอพระสมุดวชิรญาณที่คนทั่วไปเข้าถึงลำบาก ทันทีที่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ก็เริ่มมีการให้บริการหอสมุดสาธารณะ และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงหนึ่งปี หอสมุดแห่งชาติก็เปิดบริการขึ้นในปี 2476
หลังจากเข้าสู่ยุคดิจิตอล หนังสือเก่าและหนังสือหายากในห้องสมุดธรรมศาสตร์ เริ่มมีกระบวนการ digitized เป็นไฟล์ให้สามารถดาวน์โหลดได้ ซึ่งชานันท์เห็นว่าเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง
“กระบวนการ digitized ก็เป็น democratized อย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงความรู้นั้นได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงหอสมุด คุณจะอยู่ที่ไหน ถ้ามี WiFi คุณก็สามารถอ่านอะไรได้”
กระบวนการ digitized ทำให้ห้องสมุดไม่ถูกผูกขาดไว้ที่สถานที่ใดสถานที่หนึ่งอีกต่อไป และเราสามารถเข้าถึงความรู้เมื่อใดก็ได้ด้วยปลายนิ้วของเรา
ห้องสมุดสะท้อนการศึกษาไทย
ห้องสมุดเมืองไทยสะท้อนทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา คือข้อสรุปจาก กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อาจารย์และนักวิชาการอิสระที่มีประสบการณ์การศึกษาในประเทศฟินแลนด์ ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้อย่างมีความสุข ให้ความสำคัญกับห้องสมุด และขณะเดียวกันเด็กๆ ที่นั่นก็มีสัมฤทธิ์ผลด้านการเรียนรู้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ไม่นานมานี้ ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอก เธอประสบปัญหาการเข้าใช้บริการห้องสมุดที่ มจธ. เนื่องจากกางเกงที่เธอสวมเป็นกางเกงขาสี่ส่วน จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้บริการ หลังจากนั้น เธอตัดสินใจโพสต์ภาพในเครื่องแต่งกายดังกล่าวบนเฟซบุ๊คส่วนตัว แล้วจากนั้น ความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยกับการใช้ห้องสมุดก็แพร่กระจายไปบนโลกออนไลน์
อดีตบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ห้องสมุดคณะตัวเองมีความศักดิ์สิทธิ์พอสมควร ด้วยสถาปัตยกรรมของตึกและบรรยากาศโดยรวม ทำให้เข้าไปแต่ละครั้งมักเกิดความรู้สึกเกร็งเป็นของแถม
สิ่งที่กุลธิดาเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ หอสมุดกลาง จุฬาฯ (ศูนย์วิทยทรัพยากร) หลังจากจบมา เธอยังเข้าไปยืมหนังสือที่หอสมุดแห่งนี้อยู่บ้าง
“มันมีความคลี่คลายลงในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ หรือในแง่ที่มันจะต้องเป๊ะ มันรู้สึกน้อยลงว่า เออ เดี๋ยวจะต้องไปห้องสมุดนะ ก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนแต่ก่อน” กุลธิดากล่าว
“ในส่วนของกิจกรรม สำหรับเรายังไม่ได้เห็นว่าห้องสมุดในเมืองไทยมันปฏิบัติหน้าที่มากกว่าการเป็นสถานที่เก็บหนังสือ ให้บริการข้อมูล เรามองห้องสมุดหยุดอยู่ที่ตรงนั้นพอสมควร เราไม่ได้มองว่ามันเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ทำอย่างอื่นได้มากนัก”
กุลธิดายกตัวอย่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งจะมีห้องให้นักเรียนสามารถใช้ได้ จริงๆ ห้องสมุดหลายๆ แห่งก็เริ่มทำแบบนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังรองรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิชาการเป็นหลัก
เหมือนเรามองว่าห้องสมุดจะต้องเกี่ยวข้องกับวิชาการเท่านั้น ซึ่งมันก็สะท้อนมุมมองที่เรามองการเรียนรู้ เราหยุดการเรียนรู้ไว้ที่วิชาการ หนังสือ จบ
เธอพบว่าห้องสมุดบางแห่งมีห้องที่เอาไว้ใช้ทำกิจกรรม นักเรียนเข้าไปใช้ได้ มีทีวี แต่เขาติดป้ายไว้ว่า ห้ามดูหนัง อาจจะเป็นเพราะหนังไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ในวิธีคิดของเขา สำหรับเธอมองว่าห้องสมุดประเทศไทยสะท้อนวิธีคิดที่มีต่อระบบการศึกษาทั้งหมด
การเรียนรู้ของเราแคบมากๆ ถ้าเทียบกับเมืองนอก กุลธิดายกตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้ในห้องสมุดฟินแลนด์
“ฟินแลนด์มีห้องให้ทำเพลงด้วยซ้ำ บางห้องสมุดที่โมเดิร์นมากๆ คุณเข้าไปทำเพลงได้ หลายห้องสมุดตอนนี้ คุณสามารถเอาวิดีโอ VHS ไปแปลงเป็น DVD เองได้
“มีกิจกรรมเยอะแยะมากมายที่เราทำในห้องสมุดได้ จะจัดนิทรรศการ จัดโชว์งานศิลปะ ดังนั้น สำหรับเรา ห้องสมุดไทยสะท้อนทุกสิ่งที่เราเป็นในระบบการศึกษา”
กฎระเบียบการใช้บริการห้องสมุดอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน แต่การเปิดพื้นที่ห้องสมุดให้มีความยืดหยุ่นกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้คนยุคนี้คือสิ่งที่เราต้องหาคำตอบกันต่อไป
ประสบการณ์จริงจากห้องสมุดโรงเรียน
ประสบการณ์ตรงจากนักเรียนไทยที่เติบโตมากับห้องสมุดโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมปลาย วริษา สุขกำเนิด เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เล่าถึงความแตกต่างของห้องสมุดโรงเรียนสามแห่งที่เธอเข้าไปใช้จริง
“ตอนประถมเป็นโรงเรียนทางเลือก ห้องสมุดของโรงเรียนเพลินพัฒนา จะแบ่งเป็นโซน หนังสือการ์ตูน นิตยสาร แบ่งเหมือนห้องสมุดทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างจากห้องสมุดโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนอื่นๆ ก็คือจะมีโซนเบาะสำหรับให้เด็กนอนเล่น นั่งเล่น”
“เปรียบเทียบกับโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนอื่นๆ เหมือนกับโรงเรียนรัฐบาลจะมองว่า นี่ห้องสมุดนะ คุณต้องวางตัวสำรวมหน่อย แต่ที่นี่เด็กจะนอนอ่านหรือนั่งอ่านก็ได้”
ในชั้นมัธยมต้น เธอย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
“ห้องสมุดของเตรียมพัฒน์ฯ นนท์ ถือว่าเป็นห้องสมุดที่ดี เป็นห้องสมุดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับห้องสมุดโรงเรียนอื่นๆ มีหนังสือเยอะ เป็นห้องสมุดที่มีความน่าเข้าไปอ่าน เพราะค่อนข้างเงียบ ครูดูแลดี สามารถอ่านหนังสือทั้งด้านในห้องสมุดซึ่งเงียบอยู่แล้ว หรือจะไปอ่านด้านนอกห้องสมุด ซึ่งเป็นส่วนที่ดูร่มรื่นก็ได้”
ช่วงมัธยมปลาย วริษาย้ายโรงเรียนอีกครั้ง ด้วยความที่เป็นโรงเรียนใหม่ จึงยังไม่มีห้องสมุดบริการนักเรียนอย่างจริงจัง
“พอตอน ม.ปลาย ก็พอเข้าใจอยู่นะคะว่าเป็นโรงเรียนใหม่ โรงเรียนนี้ก็จะไม่มีห้องสมุด แต่ในความคิดเห็นของเราเห็นว่า เขามองว่าห้องสมุดเป็นสิ่งที่ทำทีหลัง แล้วทำเมื่อไหร่ก็ได้”
วริษาเล่าต่อว่า เธอเห็นว่า ทั้งนักเรียนและครูไม่ค่อยให้ความสำคัญกับห้องสมุดของโรงเรียนมากนัก เหมือนใช้เป็นที่เก็บหนังสือเรียนในชั้นเรียน และเด็กจะเข้าห้องสมุดเพื่อไปยืมหนังสือมาเรียนในวิชานั้นๆ แต่ไม่ได้ใช้ห้องสมุดในฐานะแหล่งความรู้นอกเวลาเรียน
ส่งต่อแนวคิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’
จากความสงสัยที่ว่า การเปิดโซนเสียงดังในห้องสมุดจะทำให้บรรยากาศห้องสมุดเสียไปหรือเปล่า ชานันท์ให้ข้อมูลว่า สมัยก่อนไม่ใช่ทุกคนที่จะอ่านออกเขียนได้ คนที่อ่านออกจึงต้องอ่านให้คนอื่นฟังด้วย ดังนั้นกิจกรรมการอ่านช่วงแรกๆ จึงมีเสียงค่อนข้างดัง แต่ทันทีที่ทุกคนอ่านออกเขียนได้ การอ่านเปลี่ยนจากอ่านออกเสียงเป็นอ่านในใจ และวัฒนธรรมการอ่านในใจนี่เองทำให้ห้องสมุดเงียบ ซึ่งคนทุกวันนี้น่าจะชินกับสิ่งเหล่านี้มากกว่า
“ผมเห็นด้วยกับการแบ่งโซน เพราะบางคนโดยจริตอาจจะชอบอ่านเสียงดัง อ่านหนังสือร่วมกัน มีการถกเถียงกัน ซึ่งก็เป็นบรรยากาศที่ดี ในเมื่อห้องสมุดเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และการเรียนรู้อาจจะไม่ใช่แค่การอ่านหนังสืออย่างเดียวก็ได้” ชานันท์กล่าว
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินรายการร่วมแลกเปลี่ยนว่า จากประสบการณ์การศึกษาที่ญี่ปุ่นและมีโอกาสเข้าห้องสมุดในหลายประเทศ พบว่า คนส่วนใหญ่ก็ไม่คุยกันในห้องสมุด หรือถ้าคุยกัน ก็จะเข้าไปในห้องประชุมหรือพื้นที่ที่จัดไว้ให้ต่างหาก
“แสดงว่าการมี public space ก็ไม่จำเป็นต้องส่งเสียงเสมอไป ของเราพอบอกว่ามี public space เกิดขึ้นก็เลยเหมือนเป็นกติกาใหม่ว่า ส่งเสียงได้ ก็ส่งเสียงสิ ซึ่งจริงๆ มันอาจไม่จำเป็นก็ได้ว่า public space ในความหมายนั้นคือต้องเป็น space ให้พูดคุยกันอย่างเดียว”
ห้องสมุดหลายแห่งที่อรรถพลเคยเข้าไปใช้งาน ไม่มีการติดป้ายห้ามใช้เสียง แต่เป็นเหมือนมารยาททางสังคมหรือกติการ่วมกันบางอย่างที่รู้ว่าเป็นพื้นที่ลดการใช้เสียง เรื่องความเงียบหรือดังอาจไม่ได้อยู่ที่กฎ แต่เป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกัน
“ส่วนเรื่องความเป็นทางการ เท่าที่สัมผัสห้องสมุดหลายๆ แห่ง ก็แต่งตัวขาสั้นไปได้ ความเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ไม่ได้มีผลต่อบรรยากาศห้องสมุดอีก แต่บ้านเราอาจยังมีความเชื่อว่า ต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นทางการ เพื่อสร้างบรรยากาศในการเคารพกัน” อรรถพลกล่าว
อีกหนึ่งภาพลักษณ์ที่ติดตัวห้องสมุดในประเทศไทยหลายแห่งก็คือ ความเป็นแหล่งวิชาการ และความเป็นทางการ ที่สร้างความอึดอัดให้แก่ผู้ใช้หลายคน
หากพูดถึงคอนเซ็ปต์ห้องสมุดอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความพยายามสร้างขึ้นในเมืองไทย ยุทธินัย ยั่งเจริญ นักจัดการความรู้ ฝ่ายกิจกรรม TK Park (อุทยานการเรียนรู้) องค์การมหาชน เท้าความไปถึงแนวคิดในการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งการศึกษาไทยเริ่มมุ่งเน้นการเรียนรู้ที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง จะทำอย่างไรให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
หลังจากเปิดบริการในปี 2548 บนชั้นหกของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ด้วยแนวคิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ แล้วได้ผลตอบรับที่ดีมากๆ จึงมีไอเดียขยายพื้นที่เป็นอุทยานการเรียนรู้ อย่างที่ปรากฏที่ชั้นแปด ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน
การเป็นห้องสมุดมีชีวิตคือ ไม่ได้มีแต่หนังสือให้บริการ แต่จะมีกิจกรรมหลากหลายให้เข้าร่วมทุกสัปดาห์
นอกจากนั้น องค์ความรู้และการจัดการการเรียนรู้แบบอุทยานการเรียนรู้สามารถส่งต่อไปยังส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการได้ด้วยตนเอง
“เมื่อแปดปีที่แล้ว เครือข่ายแห่งแรกคือ TK Park ยะลา จะเป็นการร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองยะลามาขอองค์ความรู้ของ TK Park แล้วเราก็ไปช่วยกันจัดตั้ง เรามอบองค์ความรู้ อย่างเช่น ระบบยืมคืนหนังสือ หรือการอบรมบุคลากร
“ช่วงแรกๆ เราก็ไปร่วมจัดกิจกรรมกับเขา แต่สุดท้ายเขาจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง เขาจะต้องมีบรรณารักษ์ มีนักกิจกรรมของเขาเอง โดยจ้างด้วยงบประมาณของเขาเอง ก็คือให้ทางส่วนท้องถิ่นได้ดูแลตัวเอง” ยุทธินัยกล่าว