สัญญะของความก้าวหน้าเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกก้าวหนึ่ง หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ด้วยคะแนนเสียง 400 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง
ทั้งนี้ยังมีประเด็นที่กรรมาธิการ (กมธ.) ภาคประชาชน ได้เสนอให้เพิ่มคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ เป็นคำเรียกที่แสดงถึงความเป็นกลางทางเพศลงไปในร่างกฎหมาย นอกเหนือจากคำว่า ‘บิดา มารดา’ เพื่อรองรับอัตลักษณ์ทางเพศทุกอัตลักษณ์ และเพื่อเติมเต็มสิทธิการเลี้ยงดูบุตรของคู่สมรสหลากหลายทางเพศ แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปัดตกไป
เป็นอันว่าผลโหวตในที่ประชุมรับรองให้คู่รักทุกเพศมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่งดเว้น ‘สิทธิการเลี้ยงดูบุตร’ และ ‘การรับบุตรบุญธรรม’ เนื่องจากสิทธิตามกฎหมายอื่นยังไม่ครอบคลุมถึงคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นแม้ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้จะให้การรับรองสิทธิสมรสแก่ LGBTQ+ แต่ยังคงมีข้อจำกัดต่อสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว
ดังที่ นัยนา สุภาพึ่ง กมธ.ภาคประชาชน กล่าวในที่ประชุมสภาว่า “กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็แค่ให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีสิทธิสมรสกันได้เท่านั้น แต่ไม่ได้คุ้มครองการสมรส หากยังจำกัดแค่คำว่า ‘บิดา-มารดา’ ก็ถือว่ายังไม่เกิดความเท่าเทียม”
WAY จึงอยากชวนผู้อ่านสำรวจว่ามีประเทศใดบ้างที่รับรองสิทธิการเลี้ยงดูบุตรและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมให้กับคู่สมรสหลากหลายทางเพศ โดยประเทศทั่วโลกมีเพียง 30 กว่าประเทศเท่านั้นที่คืนสิทธิพึงมีให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ผ่านการบัญญัติกฎหมายสมรสเท่าเทียม และใน 30 กว่าประเทศนั้นก็มีเพียงไม่กี่ประเทศเช่นกันที่ให้สิทธิการรับเลี้ยงบุตรโดยคำนึงถึงความเป็นกลางทางเพศ อันเป็นสิทธิหนึ่งในการก่อตั้งครอบครัวให้แก่พวกเขาด้วย
สิทธิการรับเลี้ยงบุตรของคู่สมรสหลากหลายทางเพศในต่างประเทศ
- สเปน
ในปี 2005 รัฐบาลสเปนได้ออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยบัญญัติให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิทั้งสมรสและรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกันกับคู่สมรสชายหญิงในคราวเดียว
- เบลเยียม
เบลเยียมเป็นประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นประเทศที่ 2 ของโลก เมื่อปี 2003 และต่อมาในปี 2006 ทางรัฐสภาก็ได้เห็นชอบอนุญาตให้คู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- โปรตุเกส
ประเทศโปรตุเกสประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2010 และต่อมาได้ให้สิทธิแก่คู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี 2016
- โคลอมเบีย
ในปี 2016 รัฐบาลประเทศโคลอมเบียได้ออกกฎหมายอนุญาตให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานและรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้
- ไต้หวัน
ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยสภาไต้หวันผ่านร่างกฎหมายเมื่อปี 2019 และช่วงกลางเดือนพฤษภาคมปี 2023 ได้ขยายสิทธิการรับเลี้ยงบุตรร่วมกันของคู่สมรสหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นการแก้ไขร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไต้หวันที่ผ่านการพิจารณา 3 ครั้งในสภาโดยไม่มีการคัดค้าน
กฎหมายที่ยังคงทิ่มแทงอัตลักษณ์ทางเพศ
ในมิติของการก่อร่างสร้างครอบครัวสำหรับบางคน ปลายทางคงไม่ใช่แค่การมีลูกเพียงเท่านั้น นิยามการสร้างครอบครัวยังคงมีความหลากหลายในแต่ละสังคม แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่มองว่า การมี ‘ลูก’ จะช่วยเติมเต็มคำว่าครอบครัวให้กับพวกเขาได้
ประเด็นนี้คงไม่มีปัญหาในกลุ่มชายหรือหญิงทั่วไป เนื่องจากการมีลูกจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตามปกติ แต่กับกลุ่ม LGBTQ+ ที่กฎหมายไม่ได้รองรับการเลี้ยงดูบุตรหรือการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกัน ทำให้พวกเขาถูกกฎหมายจำกัดสิทธิบางอย่างที่ควรจะได้รับ พร้อมกับการที่ไม่สามารถปกป้องสิทธิประโยชน์ของกันและกัน รวมถึงสิทธิประโยชน์ของเด็กได้อย่างเต็มที่ ข้อจำกัดของกฎหมายเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ทิ่มแทงพวกเขาอยู่ จนกว่าผู้มีอำนาจจะเล็งเห็นและโอบรับความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันได้อย่างไต้หวัน ก็มีข้อกังขาก่อนการแก้ไขกฎหมายในประเด็นสิทธิการรับเลี้ยงบุตรเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น LGBTQ+ สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ แต่เด็กจะต้องเป็นสายเลือดของฝ่ายใดหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ใช่สายเลือดของทั้งคู่ตามกฎหมายจะอนุญาตให้มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะสามารถเป็นผู้ปกครองได้ ดังนั้นคู่สมรส LGBTQ+ ในไต้หวันบางคู่จึงตัดสินใจหย่ากันเพื่อจะได้สิทธิรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม เพราะกฎหมายอนุญาตให้ผู้ที่มีสถานะโสดสามารถรับเลี้ยงเด็กได้โดยไม่จำกัดเพศของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตอกย้ำทิ่มแทงการกดทับอัตลักษณ์ทางเพศในสังคม
ต่อมาในช่วงกลางปี 2023 ไต้หวันได้ผ่านกฎหมายให้ LGBTQ+ รับเลี้ยงบุตรร่วมกันได้โดยให้สิทธิในการดูแลเด็กเท่ากันทั้งคู่ จึงเป็นการลบข้อกังขาจากการจำกัดสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ จากเดิมที่ต้องเลือกระหว่างการแต่งงานหรือการมีลูก
หากย้อนกลับมามองในประเทศไทย ประเด็นเรื่องการรับรองสิทธิการเลี้ยงดูบุตรของชาว LGBTQ+ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันต่ออย่างแข็งขัน ในทางกฎหมาย การรับบุญบุตรธรรมสามารถเลือกแม่ได้เพียงคนเดียว และเลือกพ่อได้คนเดียวเช่นกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่ไม่ตอบโจทย์ต่อครอบครัวแม่-แม่ หรือพ่อ-พ่อ ท้ายที่สุดถ้าคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต อีกคนก็จะกลายเป็นคนอื่น เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้เป็นผู้ปกครองอย่างเท่าเทียมกัน และทิ่มแทงไปถึงคนที่เป็นลูกด้วยเช่นกัน ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ง่ายที่สุดว่าทำไมกฎหมายจึงต้องรองรับครอบครัว LGBTQ+
หลักใหญ่ใจความที่ กมธ. เสียงข้างน้อยจากภาคประชาชนได้กล่าวไว้ในสภา และพยายามอย่างมากในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง คือ ประเด็นการใช้คำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ ร่วมกับคำว่าบิดา มารดา แต่เมื่อสภาไม่เห็นชอบจึงกลายเป็นการงดเว้นสิทธิการขอเลี้ยงดูบุตรของบุคคลหลากหลายทางเพศไปโดยปริยาย
ภาคภูมิ พันธวงค์ กมธ.ภาคประชาชน กล่าวในสภาว่า “กลุ่ม LGBTQ+ ต้องไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากคำว่าบิดา มารดา ดิฉันจึงขอเสนอให้เพิ่มคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ เพื่อความเป็นกลางทางเพศ และเคารพครอบครัวความหลากหลายทางเพศทุกอัตลักษณ์ โดยไม่ได้ไปกระทบสิทธิของคำว่าบิดา มารดา แต่อย่างใด”
ทางด้านนัยนาก็ให้ความเห็นในฐานะ กมธ. เช่นเดียวกันว่า หากไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้จะทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมของประเทศไทยไม่ใช่สมรสเท่าเทียมอย่างแท้จริง เป็นเพียงกฎหมายที่รับรองสิทธิให้สมรสกันได้ แต่ไม่รับรองสถานะทางสังคมและสถานะทางกฎหมายของครอบครัวหรือคู่สมรสเพศหลากหลาย
นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเมื่อครอบครัวเพศหลากหลายไปใช้สิทธิตามกฎหมายอื่นๆ นัยนาได้ตั้งคำถามต่อที่ประชุมไว้ว่า เมื่อบุคคลข้ามเพศ ทรานส์แมน นอนไบนารี ฯลฯ ต้องไปแจ้งเกิดลูก จะต้องเขียนในช่องสูติบัตรว่าพวกเขาเป็นบิดามารดาอย่างนั้นหรือ
“หน้า ผม นม ผิว สภาพแบบนี้เหรอคะจะให้เป็นบิดา” ภาคภูมิกล่าวภายหลังออกจากที่ประชุมสภา
ก้าวแรกของความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย จากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ใกล้จะประกาศใช้เร็วๆ นี้ และการให้ความสำคัญกับการกำหนดนิยามเพื่อรองรับสถานะทางกฎหมายให้กับทุกๆ อัตลักษณ์ทางเพศ จะเป็นก้าวต่อไปและเป็นก้าวที่สำคัญของการปักหลักที่แข็งแรงมั่นคงในการยืนยันสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
ที่มา:
- Here are the countries where same-sex marriage is officially legal – Good Morning America
- Pew research gay’s marriage around the world
- Taiwan grants joint adoption rights to same-sex couples
- สภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว – BBC News ไทย