‘มาดามเหมา’ มารดาประชาจีนใหม่ที่ผู้คนทั้งจดจำและเจ็บแค้น

หากเชื่อคำกล่าวของ คาร์ล มาร์กซ์ เราจะพบว่าประวัติศาสตร์คือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ขณะเดียวกันในคำอธิบายของแนวคิดเฟมมินิสต์ ประวัติศาสตร์ก็อาจจะหมายถึงการต่อสู้กันระหว่างค่านิยมชายเป็นใหญ่และเพศหญิงที่ถูกกดทับ อย่างไรก็ตาม ‘มาดามเหมา’ หรือ เจียง ชิง (Jiang Qing) สามารถทำได้ทั้งการขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง รวมถึงยังเป็นผู้นำการปฏิวัติครั้งสำคัญของแผ่นดินจีนอีกด้วย 

เจียง ชิง ลืมตาดูโลกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1914 และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนจนถูกจับกุมในปี 1933 ซึ่งหมายความว่าเธอต่อสู้ร่วมกับสหายก่อนปฏิวัติได้สำเร็จยาวนานถึง 16 ปี ได้พบรักกับบุรุษผู้จะเป็นหนึ่งในการก่อร่างสร้างชาติจีนคอมมิวนิสต์ ก่อนที่เธอจะถูกพรรคกีดกันออกจากบทบาททางการเมืองไปถึง 20 ปี แต่ในเวลาต่อมา หากไม่ใช่เพราะประธานเหมา เจ๋อตุง (Mao Zedong) เริ่มโรยราจากอาการป่วยในวัยชรา เธอคงไม่ได้ออกมากุมบังเหียนอำนาจของประเทศจีนได้ และการปฏิวัติครั้งที่ 2 ของจีนแผ่นดินใหญ่ก็คงจะไม่เกิดขึ้น

เกมการเมืองหลังม่านไม้ไผ่และไฟการปฏิวัติส่งผลให้เธอขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกการเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ฉุดกระชากเธอลงมาอย่างเลือดเย็น แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าบทบาทของเธอมีผลต่อประเทศจีนในปัจจุบันไม่มากก็น้อย และบทบาทการปฏิวัติของเธอยังคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งในฐานะผู้หญิงไม่กี่คนที่เคยก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของการเมืองจีน และเป็น ‘มารดา’ ของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ลูกๆ ทั้งรักและเกลียดไปพร้อมๆ กันได้อย่างน่าสนใจ 

จากสามัญชนสู่ภริยาท่านผู้นำ

ชื่อแรกของเธอไม่ใช่ ‘เจียง ชิง’ แต่คือ หลี่ ซูเหมิง (Li Shumeng) ผู้เติบโตท่ามกลางความยากจนและความรุนแรงในครอบครัว ก่อนจะเริ่มต้นชีวิตวัยสาวด้วยการเป็นนักแสดงและเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างลับๆ ขณะเรียนอยู่มหาวิทยาลัยช่วงปี 1932 เธอหลงรักงานศิลปะและการแสดงเป็นอย่างมาก ไม่ต่างจากยุวชนฝ่ายซ้ายอีกหลายพันคนในเซี่ยงไฮ้ สิ่งเดียวที่เป็นความหวาดกลัวของพวกเขาคือ ตำรวจลับของรัฐบาลเจียง ไคเช็ก เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นาทีของการจับกุมก็มาถึง เมื่อตำรวจลับของรัฐบาลล่วงรู้ว่าเธอทำงานเป็นครูยามวิกาลอย่างลับๆ ให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เธอถูกจับกุมจนถึงปี 1935 ก่อนที่จะออกมาทำอาชีพนักแสดงต่อ ทว่าก็ถูกขัดจังหวะในปี 1937 ด้วยการรุกรานเต็มรูปแบบจากกองทัพจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ทำให้เธอจำเป็นต้องเดินทางไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เมืองเหยียนอัน (​Yenan) เช่นเดียวกับยุวชนฝ่ายซ้ายอีกหลายพันชีวิต ขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์เองก็เพิ่งกลับมาฟื้นตัวหลังการเดินทัพทางไกล (The Long march) ครั้งสำคัญ และจัดตั้งกองกำลังผสมร่วมกับรัฐบาลเจียง ไคเช็ก เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน เธอได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time เอาไว้ว่า การเดินทางครั้งนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก บางช่วงรถบรรทุกไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะถนนขาด เธอก็จำเป็นต้องขี่ม้าเข้าไปแม้จะไม่เคยขี่ม้ามาก่อนก็ตาม 

เพราะการเดินทางในครั้งนั้นเองที่ทำให้เธอได้เจอกับ เหมา เจ๋อตุง ผู้บังคับบัญชากองทัพแดงผู้มีเสน่ห์อย่างเหลือร้าย ในการพูดคุยกันครั้งแรก เหมาได้มอบตั๋วรับชมการบรรยายของเขาที่สถาบันมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ซึ่งนำไปสู่การแต่งงานของทั้งคู่เมื่อเหมาอายุ 45 และเธออายุ 24 ในที่สุด และทำให้เธอกลายเป็นภรรยาคนที่ 4 ของเหมา (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าเธอคือคนที่ 3 เนื่องจากข้อมูลอดีตภรรยาของเหมายังคงคลุมเครือ) โดยก่อนหน้านี้เหมามีภรรยามาแล้วทั้งสิ้น 3 คน คือ หลัว อีซิ่ว (Luo Yixiu), หยาง ไคฮุยYang Kaihui และ เหอ จื่อเจิน (He Zizhen) ซึ่งภรรยารายสุดท้ายนี้ถูกหย่าขณะที่ตัวเธอเองกำลังรักษาอาการบาดเจ็บจากการต่อสู้อยู่ที่กรุงมอสโค สหภาพโซเวียต 

อย่างไรก็ตาม หลายขุมอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีนขณะนั้นไม่พอใจเจียง ชิง เท่าใดนัก ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครปกป้องเธอแม้แต่จากเหมาเองก็ตาม ทำให้เธอถูกพรรคคอมมิวนิสต์กีดกันเธอออกจากการเมืองยาวนานกว่า 20 ปี 

สตรีหมายเลข 1 ผู้ชักใยการปฏิวัติ ฉุดประเทศจีนถอยหลัง 

ในช่วงหนึ่งหลังการแต่งงาน เธอจำเป็นต้องดูแลลูกชายคนหนึ่งของเหมาประหนึ่งแม่แท้ๆ เด็กคนนี้เคยถูกส่งไปเรียนที่กรุงมอสโค สหภาพโซเวียต ก่อนจะกลับมาอยู่ใต้ความดูแลของพระรูปหนึ่งที่เซี่ยงไฮ้ แต่ปรากฏว่าเด็กชายถูกทุบตีจนทำให้สูญเสียความสามารถในการทรงตัวถาวร เธอจึงจำเป็นต้องรับเด็กคนดังกล่าวมาดูแลจนเกิดเป็นความรักความผูกพันขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอจำเป็นต้องไปเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งในช่วงต้นปี 1950 จนทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มตัดสินใจว่า เธอไม่เหมาะสมที่จะดูแลเด็กคนนี้อีกต่อไป จากนั้นเด็กชายผู้นี้ก็ถูกลักพาตัวไปโดยที่เธอไม่มีวันได้พบเจออีกเลย 

ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมืองและขับไล่กองทัพของเจียง ไคเช็ก ไปยังไต้หวันได้สำเร็จในปี 1949 เจียง ชิง ใช้ชีวิตไปกับการอ่านหนังสือ การเขียนเล่าเรื่องราว ไปจนถึงเข้าร่วมงานสังคมบ้างตามโอกาส แต่มักไม่ค่อยได้มีโอกาสยืนเคียงข้างเหมาเท่าไหร่นัก จนกระทั่งช่วงปี 1960 เป็นต้นมาที่เธอมีอาการดีขึ้นจากโรคมะเร็ง ทำให้เธอได้กลับมาแสดงบทบาททางการเมืองอีกครั้งผ่านการวิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรมตะวันตก และค่อยๆ แฝงตัวเองเข้าไปกำกับดูแลวัฒนธรรมจีนให้เป็นไปดั่งใจเธอต้องการในนามของคณะกรรมการกลางการปฏิวัติวัฒนธรรม และทำให้เธอได้สร้างเส้นสายสำคัญช่วงปี 1969 ที่ต่อมาโลกก็ได้รู้จักในชื่อของ ‘แก๊งสี่คน’

แก๊งสี่คนของเธอประกอบไปด้วย เหยา เหวินหยวน (Yao Wenyuan) จาง ชุนเฉียว (Zhang Chunqiao) และหวัง หงเหวิน (Wang Hongwen) ผู้กำกับดูแลการปฏิวัติวัฒนธรรม และยึดกุมขุมกำลังสำคัญอย่าง ‘ยุวชนพิทักษ์แดง’ (Red Guard) ที่ประกอบไปด้วยนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่ศรัทธาในการปฏิวัติอย่างสุดโต่งเป็นจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน โดยอาศัยข้ออ้างว่าขบวนปฏิวัติกำลังตกอยู่ในอันตรายจากฝ่ายปฏิกิริยา แต่เอาเข้าจริงแล้วมูลเหตุสำคัญเกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์เอง โดยเฉพาะผ่านผลงานประพันธ์ที่ชื่อ ‘การปลด ไฮ รุย ออกจากตำแหน่ง’ (The Dismissal of Hai Rui From Office) ของปัญญาชนจีนนาม หวู่ ฮั่น (Wu Han) ที่เหมามองว่าเป็นการกล่าวโจมตีตน ความสำคัญด้านวัฒนธรรมจึงถูกพรรคให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้น แก๊งสี่คนและยุวชนพิทักษ์แดงจึงได้ทำการกวาดล้างผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูต่อการปฏิวัติ ศัตรูทางชนชั้น ไปจนถึงการต่อต้าน ‘สี่เก่า’ ประกอบไปด้วย อุดมคติ จารีต วัฒนธรรม และสันดาน ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าคือผลพวงจากระบอบเก่าที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก และเริ่มพยายามสร้างวัฒนธรรมที่คู่ควรกับระบอบใหม่ เช่น อุปรากรปฏิวัติ ที่สอดแทรกโฆษณาชวนเชื่อของแก๊งสี่คนเข้าไปในอุปรากรจีนแบบดั้งเดิม เป็นต้น โดยกลุ่มยุวชนพิทักษ์แดงได้รับสิทธิพิเศษจากอำนาจรัฐให้มีที่พักฟรี อาหารฟรี และเดินทางฟรีทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรมตามอุดมคติของแก๊งสี่คนและเหมา เป้าหมายของการทำลายนั้นนอกจากมุ่งไปที่รากฐานของระบอบเก่า เช่น ตำราขงจื่อ หรือพระพุทธรูปแล้ว ยังรวมถึงสิ่งที่มาจากตะวันตกและทุนนิยมอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมกลับทำให้สมาชิกพรรคหลายคนถูกกำจัดไปด้วย เกิดการสังหารหมู่และใช้อาวุธหนักในการประหัตประหารกันเองทั่วประเทศ พื้นที่บางส่วนถูกบุกยึดไปเป็นของยุวชนพิทักษ์แดง มีการนำเงินกองกลางของโรงงานอุตสาหกรรมไปใช้จ่ายส่วนตัว บางค่ายทหารก็ถูกปิดล้อม กลายเป็นความวุ่นวายนองเลือดครั้งใหญ่ ประมาณการว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะพุ่งสูงถึง 8 ล้านราย และทำให้โครงสร้างของประเทศจีนเสียหายขนาดหนักในแทบทุกด้าน 

ความล้มเหลวของแผนการครั้งนี้ ทำให้เจียง ชิง ตกที่นั่งลำบากทางการเมือง และทำให้กองทัพต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงหลายแห่งทั่วประเทศอีกด้วย ภายหลังเมื่อเหมาเสียชีวิตลงจากปัญหาสุขภาพในปี 1976 หลายขุมอำนาจทางการเมืองในพรรคจึงเริ่มหาทางกำจัดเธอออกไป 

ทลายเพดานไผ่ เจียง ชิง กับการปฏิวัติที่เสียของ

แน่นอนว่าเมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอันเลวร้าย ตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของเธอก็แทบจะหลุดหายไปด้วย ทั้งยังนำพาชีวิตของเธอไปเฉียดใกล้เรือนจำในข้อหาทรยศต่อการปฏิวัติของพรรค และทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่อีกด้วย

เจียง ชิง ถูกขับไล่ออกจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและถูกจับกุมในปี 1977 ก่อนที่จะถูกส่งขึ้นศาลในอีก 3 ปีต่อมา พร้อมพรรคพวกของเธอ ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าเธอมีความผิดจริงและควรได้รับโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ในปี 1983 รัฐบาลจีนได้ลดหย่อนโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต โดยเธอเสียชีวิตในเรือนจำระหว่างปี 1991 คาดกันว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการฆ่าตัวตาย

มีการคาดการณ์ด้วยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมในหลักล้านนั้นอาจส่งผลระยะสั้นต่อการพัฒนาประเทศจีน ทว่าในระยะยาวระบบกลไกราชการของจีนเองก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมไปถึงเป้าหมายของการปฏิวัติที่ต้องการลบล้างทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ‘ระบอบเก่า’ เพื่อให้ยึดมั่นกับ ‘ระบอบใหม่’ แต่กลายเป็นว่าการปฏิวัติครั้งนี้ยิ่งทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก นอกจากจะล้มเหลวแล้วยังสร้างความเสียหายในระยะยาว เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติที่เสียของอย่างยิ่ง

หากมองย้อนกลับไปก่อนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม เจียง ชิง เป็นที่เกลียดชังของรัฐบาลจีนคณะชาติของเจียง ไคเช็ก เพราะเธอเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ใต้ดิน ขณะเดียวกันเธอก็ถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกลียด เพราะสามีของเธอมีภรรยาอยู่ก่อนหน้าแล้ว และภายหลังเธอก็ถูกคนจำนวนมาก (หากไม่ทั้งหมด) ในประเทศจีนเกลียดชังเข้าไส้ โทษฐานที่เธอทำลายเส้นแบ่งระหว่างศีลธรรม จริยธรรม และการเมืองลงอย่างสิ้นเชิง 

ชื่อ ‘เจียง ชิง’ หรือ ‘มาดามเหมา’ อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดประเทศหนึ่ง กลับกลายเป็นชื่อที่ชาวจีนขยะแขยง และยังคงสาปแช่งจวบจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เธอทำเอาไว้เป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบันมีมากไปกว่าความเสียหายจากการปฏิวัติที่เสียของ แต่อุปรากรปฏิวัติที่เธอคิดค้นและนำมาใช้ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นยังคงถูกส่งต่อมายังยุคปัจจุบันอีกด้วย 

สำนักข่าว BBC ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ผู้มีเชื้อสายจีนหลายคนในปี 2012 และพบว่า อุปรากรปฏิวัติของเจียง ชิง เป็นหนึ่งในส่วนประกอบวัยเด็กของใครหลายคน บางคนถูกบังคับให้ต้องสนใจในดนตรี ขณะที่บางคนได้ยินสิ่งนี้วนเวียนในวิทยุเป็นประจำวันละหลายรอบ แม้ในปี 1990 จะมีการพยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อเพลงที่มีเนื้อร้องโจมตีคนรวยอย่างรุนแรง แต่ประชาชนกลับไม่พอใจและต้องการให้เนื้อหาของเพลงยังเป็นแบบเดิมเหมือนสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม บางคนถึงกับกล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะชอบหรือรักอุปรากรปฏิวัติของเจียง ชิง หรือไม่ก็ตาม แต่เพลงเหล่านี้จะยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบวัยเด็กของคุณที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างมากที่มันสามารถเดินทางข้ามกาลเวลาจากยุคของการปฏิวัติมาจนถึงยุคปัจจุบัน

หากเปรียบเจียง ชิง เป็นมารดาแล้ว เธอคงเป็นแม่ที่นิยมความรุนแรงโดยแอบแฝงเอาไว้ในนามของความรัก เป็นผู้มีรสนิยมในวรรณกรรมและศิลปะ ขณะเดียวกันก็ทำทีปฏิเสธในสิ่งที่ตัวเองชอบ เหมือนที่เธอกระทำต่อวรรณกรรมและศิลปะของชาวตะวันตก ความผิดพลาดของเธอที่ทำให้ม่านไม้ไผ่ต้องสั่นคลอนเป็นเพราะเธอมั่นใจมากเกินไปว่าสามีจะคุ้มครองเธอได้ ขณะเดียวกัน การเถลิงอำนาจของเธอในช่วงที่เหมาโรยรา ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยหวาดกลัวเมื่อ 20 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี 

จากรอยเลือดและน้ำตาที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ เจียง ชิง นับเป็นสตรีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของชาติจีนสมัยใหม่ที่ผู้คนยากจะลืมเลือน แต่ขณะเดียวกันบาดแผลที่เธอฝากเอาไว้จากรุ่นสู่รุ่นก็ยังถูกส่งต่อข้ามยุคสมัย และเป็นบทสะท้อนที่ชัดเจนว่า การมีอำนาจล้นฟ้าย่อมถูกตรวจสอบและท้าทายเสมอ

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า