สิ่งจำเป็นที่ต้องดำรงอยู่คู่ขนานไปกับการวิจารณ์ ก็คือศิลปะในการฟังนี่แหละ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การต้องนั่งฟังอะไรสักอย่างที่เราไม่เห็นด้วยแม้แต่นิดเดียวนั้น มันต้องใช้ทั้งตบะบารมี สติปัญญา และศิลปะในการสื่อสารตอบสนอง มากกว่าการไปชี้หน้ายืนด่าใครด้วยซ้ำ
อธิคม คุณาวุฒิ
คนทำหนังสือรุ่นผมเติบโตมากับนิตยสารที่อบอวลไปด้วยกลิ่นรสของงานวิจารณ์ไม่ว่าจะเป็น โลกหนังสือ ถนนหนังสือ สีสัน รวมถึงนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ทั้ง สยามรัฐ ข่าวพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ ฯลฯ ในช่วงที่กำลังวัยรุ่นนั้นความเมามันในการอ่านงานวิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์การเมือง สังคม หรือศิลปะ ก็มักจะเริ่มจากอารมณ์ซาดิสต์ ประเภทว่าใครด่าได้สะใจวัยรุ่นกว่ากัน นักวิจารณ์คนไหนมาสไตล์มวยดุ ยิ่งแบบว่าใครเล่นบทเจสัน ศุกร์ 13 ลากขวานมาจากแสกหน้ากันดื้อๆ อันนี้ต้องถือว่าเป็นไอดอลขั้นมหาเทพกันเลยทีเดียว
เข้าใจอิทธิพลของท่วงทำนองแบบนี้ส่งผลมาถึงเนื้องานของพรรคพวกหลายต่อหลายคน กล่าวคือเวลาปกติเจอหน้าค่าตากินข้าวกินปลากัน ก็เห็นเป็นคนสุภาพเรียบร้อยดีๆ นี่แหละ แต่เมื่อไหร่นั่งอยู่หลังคีย์บอร์ด (หรือสมัยก่อนคือแป้นพิมพ์ดีด) วิญญาณเพชฌฆาตรังสีอำมหิตก็พวยพุ่ง หลั่งพลังออกจากปลายนิ้วที่ทั้งจิ้มทั้งกระแทกแป้นพิมพ์ราวกับโกรธแค้นกันมาตั้งแต่ชาติภพก่อน
ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุคซาดิสต์นั้นมันก็ค่อยๆ คลี่คลายมาสู่ยุคของการเสพภูมิปัญญา ความเฉลียวฉลาด การให้ราคาค่างวดของงานวิจารณ์เริ่มขยับชั้นขึ้นมาถึงประเด็น มุมมอง ข้อมูล เหตุผลสนับสนุน มากกว่าสีสันหรือคารม ยิ่งถ้าเจอใครวิเคราะห์วิจารณ์กันระดับลึก 18 ชั้น เต็มไปด้วยมุมมองเชื่อมโยงเหตุและผล เลี้ยงสมดุลอยู่บนเส้นแบ่ง Conspiracy ได้โดยไม่เสียศูนย์อันนี้ยิ่งต้องซี้ดซ้าด…ซึ่งก็ถือเป็นพัฒนาการตามปกติ
โดยวิชาชีพแล้วพวกเราส่วนใหญ่น่าจะชมชอบบรรยากาศแห่งการวิจารณ์อยู่แล้วเป็นพื้นฐาน ยิ่งในช่วงเวลาที่ได้นั่งล้อมวงดื่มนม โดยไม่ต้องมีเครื่องอัดเทป ไม่ต้องระมัดระวังกิริยามารยาท บรรยากาศการวิจารณ์ก็ยิ่งเมามัน โดยเฉพาะหากมีตัวละครระดับ ‘มหาเทพแห่งการเถียง’ อย่างเช่น คุณพี่ทินกร หุตางกูร มาร่วมวงด้วยแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องมีใครยั้งมือยั้งปาก…ลิเบอรัลกันสุดๆ
แต่ก็นั่นแหละ พออยู่ในบรรยากาศถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเช้าได้สักพัก ผ่านประสบการณ์ทำร้ายจิตใจพรรคพวกหรือน้องนุ่งด้วยคำพูดคำวิจารณ์ที่รุนแรงเกินตั้งใจ หรือถึงตอนเช้าต้องแข่งกันยกหูโทรศัพท์ไปขอโทษขอโพยคู่ถกเถียงเมื่อคืน (ใครโทรก่อนถือว่าเท่กว่า)…ของแบบนี้ทำบ่อยๆ มันก็ไม่ค่อยสนุก
ความไม่สนุกในการเอาชนะคะคานกันด้วยคำพูด (หรือเหตุผล) ในวงเหล้านั้น มันได้นำมาสู่การค้นพบว่า สิ่งจำเป็นที่ต้องดำรงอยู่คู่ขนานไปกับการวิจารณ์ ก็คือศิลปะในการฟังนี่แหละ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การต้องนั่งฟังอะไรสักอย่างที่เราไม่เห็นด้วยแม้แต่นิดเดียวนั้น มันต้องใช้ทั้งตบะบารมี สติปัญญา และศิลปะในการสื่อสารตอบสนอง มากกว่าการไปชี้หน้ายืนด่าใครด้วยซ้ำ
ยิ่งหากข้ามพ้นการถกเถียงในหมู่พรรคพวกเพื่อนฝูงคอเดียวกัน ไปสู่การห้ำหั่นเอาชนะกันในเกมที่ซีเรียสขั้นชิงบ้านชิงเมือง ศิลปะในการฟังก็ยิ่งจำเป็น ไม่เช่นนั้นคนแบบดอนคอลิโอเน คงไม่เดินเข้าไปทำท่าจะตบบ้องหูลูกชายคนโตอย่างซอนนี่ภายหลังการเจรจากับแก๊งอริ ก่อนจะคำรามใส่หน้าลูกตัวเองว่า – “จงอย่าพูดให้พวกมันรู้ว่ามึงคิดอะไร”
วิธีคิดแบบนี้ปรากฏชัดในบทชิงเหลี่ยมคูนักเลงไทยๆ เรื่อง เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ อีกเหมือนกัน เพราะตัวละครทั้งสองฝั่งคือเจ้าเมืองและเจ้าพ่อ ถึงเวลาเผชิญหน้าต่างก็ท่องคาถาในใจคล้ายๆ กันว่า – “มึงคิดอะไรกูรู้หมด”
ที่ยกตัวอย่างเรื่องนี้ไม่ใช่จะชวนไปเป็นนักเลงเป็นเจ้าพ่อ แต่พยายามชี้ชวนให้เห็นอีกด้านหนึ่งของภูมิประเทศ เนื่องจากสภาพตอนนี้ใครต่อใครต่างก็เปิดหน้าชก สาดคอนเทนท์วิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างกว้างขวาง อิสระ และเมามัน
หลังๆ มาผมพบว่าคำวิจารณ์หรือข้อกล่าวหาบางเรื่องนั้น อธิบายให้ตายยังไงมันก็ไม่มีประสิทธิภาพในการหักล้างความเชื่อ วิธีที่ดีที่สุดคือพิสูจน์ให้ประจักษ์ผ่านการกระทำ หรือทำให้ดูด้วยชีวิตทั้งชีวิต
ไม่ได้หมายความว่าเอาชีวิตผูกพ่วงเดิมพันอยู่ใต้อาณัติคำวิจารณ์ แต่หมายความว่าเราเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ว่าผู้อื่นจะเข้าใจอย่างไรก็ตาม
*******************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ By the way นิตยสาร Way ฉบับ 81, เมษายน 2556)