ปัญหาของวังวนทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในดุษฎีนิพนธ์ ‘พุทธวิธีเชิงบูรณาการ แก้ปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยปัจจุบัน’ พุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย 2560 ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ระบุต้นตออยู่ที่การรัฐประหารตลอดประวัติศาสตร์เส้นทางประชาธิปไตย 86 ปีที่ผ่านมา ด้วยการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญออกแบบให้พรรคการเมืองขาดเสถียรภาพและความเข้มแข็ง อันจะนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งจะเปิดทางให้เกิดการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง เป็นวังวนปัญหาการเมืองที่ไร้ทางออก
อาจเป็นได้ทั้งข้อเสนอที่ล่องลอยอยู่ในสายลม หรือเป็นหมุดหมายสำคัญก่อนการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงในปีหน้า แต่เพื่อตั้งคำถามและหาคำตอบที่จะออกจากวังวนของปัญหาการเมืองโดยไม่ใช้วิธีอย่างที่แล้วมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดงานเสวนาถกแถลงในประเด็นหัวข้อ ‘การปฏิรูปประชาธิปไตยจากชุมชนรากฐานสู่ประเทศ’ โดยได้เชิญตัวแทนนักการเมืองและนักวิชาการมาแลกเปลี่ยนเพื่อตอบคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จะปฏิรูปประชาธิปไตยจากชุมชนไปสู่ประเทศแท้จริง
รศ.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม นำเสนอแลกเปลี่ยนจากประเด็นในบทความของคุณหญิงสุดารัตน์อยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรก โคทมเสนอให้ดูทุกข์ก่อนโดยระบุว่าอุปสรรคทางการเมืองไทยคือความกลัว กลัวคนไม่ดีจะมีอำนาจ สอง-กลัวว่าทำอะไรดีๆ แล้วสูญเปล่า เมื่อกลัวแล้วต้องเอาชนะด้วยการสร้างวาทกรรม ผนึกเป็นกรอบคิด กรอบคิดแรกคือ นักการเมืองเลว ข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนดี จึงเอาข้าราชการมาเป็นรัฐบาล แล้วข้าราชการก็กลายเป็นนักการเมือง ประเด็นนี้มีความย้อนแย้งในตัวเอง
กรอบคิดต่อมา โคทมนำเสนอในส่วนของความสับสน ทุกคนบอกว่าเลือกตั้งจำเป็นสำหรับประชาธิปไตย เลือกแล้วต้องได้คนดี กล่าวคือต้องได้คนถูกใจ เมื่อไม่ได้คนที่ถูกใจก็บอกว่าเลือกตั้งยังไม่ดี ต้องมีการปฏิรูป ให้เกิดคุณธรรมไปสู่การเลือกตั้งที่ดี ซึ่งคุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ
“อีกประการหนึ่ง เราจะต้องบรรสารหรือประสานกันให้ติด เราต้องทำทั้งคุณค่า คุณธรรม ที่เป็นนามธรรมทางหนึ่ง และรูปแบบโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เราจะต้องบรรสารคุณค่าเดิมของสังคมไทย คุณค่าเดิมอย่างชาติ-ศาสตร์-กษัตริย์มันไม่ได้บรรสารกับคุณค่าประชาธิปไตยอย่างสนิทกัน”
โคทมขยายนิยามความหมายของคำว่า ‘บรรสาร’ เอาไว้ว่า คือรูปแบบการเลือกตั้ง การบริหารโดยให้ข้าราชการเป็นตัวกำหนด ต้องบรรสารผู้ที่มากับการเลือกตั้งกับข้าราชการที่เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เกิดการกินรวบ ต่างจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะติดขัดตรงที่ไม่กระจายคน เพราะฉะนั้นต้องกระจายงาน เงิน และบุคลากรจำนวนหนึ่งที่จำเป็นด้วย
ขณะที่ ชลิตา บัณฑุวงศ์ มองว่าบทความของคุณหญิงสุดารัตน์เป็นการนำเสนอภาพของการสร้างประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้านเพื่อรองรับประชาธิปไตยขั้นประเทศ จุดเด่นของงานชิ้นนี้ ในช่วงต้นจะบรรยายให้เห็นถึงปัญหาทางการเมืองของไทยที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสภาพการวนลูป ทั้งมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลผสม มีการคอร์รัปชัน รัฐประหาร สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร ตั้งกฎเกณฑ์ให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขัดแย้งกับผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตย จากนั้นก็นิยามความวุ่นวายว่าวิกฤตินำมาสู่ข้ออ้างของการทำรัฐประหารซ้ำซ้อน
“จุดเด่นอีกประการคือการให้ความสำคัญกับชุมชนและหมู่บ้าน งานชิ้นนี้มองว่าความเป็นประชาธิปไตยจะเข้มแข็งหรือไม่ต้องมาจากประชาธิปไตยระดับหมู่บ้าน และปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้เกิดจากประชาธิปไตยระดับหมู่บ้านไม่เข้มแข็ง ทำให้ปัญหาระดับหมู่บ้านกลายเป็นปัญหาของสังคมส่วนรวม และกลายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลส่วนกลางที่ต้องมาแก้ไขปัญหาให้ เมื่อไม่มีการแก้ปัญหา ก็จะมีการออกมาเรียกร้องกดดัน รัฐก็จะวิ่งตามข้อเรียกร้องไปวันๆ ไม่มีการวางแผนระยะยาว หรือไม่ก็จำกัดสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องของประชาชน กอปรกับเรายังยึดรัฐเป็นศูนย์กลางแทนประชาชน เหล่านี้นำมาสู่วิกฤติทางการเมือง เนื่องจากรากฐานประชาธิปไตยในหมู่บ้านมันไม่แข็งแรง
“นอกจากนี้งานชิ้นนี้ยังเสนอว่า เพื่อให้เกิดดุลอำนาจระหว่างขั้นประเทศกับขั้นหมู่บ้าน ควรจะมีการจัดโครงสร้างบางอย่างในระดับหมู่บ้านขึ้นมา ที่สำคัญคือจะต้องมีสภาหมู่บ้านชุมชน ให้ทุกคนในชุมชนทำหน้าที่นิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหาร รวมทั้งเสนอว่าสามารถใช้กลไกของสภาหมู่บ้านมามีส่วนร่วมในการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดควบคู่ไปกับพรรคการเมืองที่ต้องมีพัฒนาการในการคัดเลือกผู้สมัครและพัฒนาให้กลายมาเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่มีความเป็นสถาบัน และเสนอว่ารูปแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยที่สุดคือการปกครองแบบธรรมาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
ข้อสังเกตของชลิตาต่อมาคือ งานชิ้นนี้ให้ความสำคัญกับชนบท หมู่บ้าน และชุมชน เป็นอย่างมากในฐานะรากของการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ ต่อเนื่องมายังแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งชนบทในฐานะของชุมชนที่ตั้งเป็นกลุ่มก้อน มีความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน มีวัฒนธรรมดีงาม หากแต่ระยะหลังวัฒนธรรมชุมชนไม่ค่อยสามัคคี สวนทางกับภาพของวัฒนธรรมชุมชนเฟื่องฟูที่ปรากฏอยู่ในบทความ ซึ่งเป็นภาพของชนบทที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะชีวิตของพวกเขาพ้นไปจากหมู่บ้านแล้ว และสามารถเข้าร่วมทางการเมืองโดยตรงได้ผ่านสื่อออนไลน์ทั้งหลาย แต่งานนี้จำกัดไว้แค่ว่าสมาชิกในหมู่บ้านสามารถเข้าร่วมทางการเมืองได้ผ่านสภาหมู่บ้านเท่านั้น
“นอกจากนั้นยังมีประเด็นย่อยๆ ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกว่ารูปแบบประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้านดูเป็นพิมพ์เขียว เป็นโมเดลมากเกินไป จะทำได้ทุกหมู่บ้านไหม จะไม่มีความหลากหลายเลยหรือ
“และประเด็นวิวัฒนาการของพรรคการเมือง ในพรรคการเมืองใหญ่ที่เหมือนเป็นสถาบัน ถามว่ามันจำเป็นจะต้องเป็นสูตรสำเร็จเช่นนั้นหรือไม่ พรรคใหญ่อาจจะไม่ได้มีนโยบายที่เป็นประเด็นเฉพาะเช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือพหุวัฒนธรรม ซึ่งบางพรรคให้ความสำคัญ อีกประการหนึ่งที่ดิฉันติดใจค่อนข้างมาก นั่นคือในตอนต้น จะหาความสมดุลระหว่างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพกับประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม แต่ในท้ายที่สุดงานชิ้นนี้กลับไปจบที่ความใฝ่ฝันถึงระบอบธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันจึงอาจจะดูขัดแย้งกับจุดยืนของงานที่พยายามจะบอกตั้งแต่ต้น”
ทฤษฎีวงจรอุบาทว์
กับทฤษฎีว่าด้วยวงจรอุบาทว์ทางการเมืองเรื่องวังวน 86 ปีแล้วประชาธิปไตยยังไม่ไปถึงไหน ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่ามีปัญหาในการวิเคราะห์ซึ่งข้ามไม่พ้น ในทฤษฎีที่เชื่อว่าบ้านเมืองเราจะวนลูปเราจึงยินยอมให้เกิดขึ้น แล้วในทฤษฎีนี้ส่วนหนึ่งมันเชื่อว่าปัญหาอยู่ที่ ‘เขา’ กับ ‘เรา’ เป็นคู่ตรงข้ามอย่างเดียวคือ ทหาร กับประชาชน เผด็จการ กับประชาธิปไตย
“ในความขัดแย้งที่เราเห็น 10-20 ปีผ่านมาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งไม่ได้อยู่ในวงจรอุบาทว์ เวลาเราพูดเรื่องวงจรอุบาทว์เราไม่ได้เก็บปัญหาอีกจำนวนมาก นั่นคือประการที่หนึ่ง ประการที่สองคือเรื่องของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสมัยใหม่มีลักษณะอยู่สองประการ ทฤษฎีประชาธิปไตยหมู่บ้านมันมีองค์ประกอบที่ดี แต่เราไม่ค่อยสนใจ เราไปเน้นเสรีนิยม ปัจเจก ซึ่งในเรื่องของชุมชนนิยม จะมีสิ่งซึ่งเรียกว่า self-government ระดับ local นั่นคือถ้าจะทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพ คุณต้องมีวินัยในการปกครองตัวเอง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมไม่เห็นด้วยกับเปเปอร์นี้ส่วนหนึ่ง
“เวลาเราพูดคุณธรรมในประชาธิปไตย ความสำคัญคือในประชาธิปไตยมันมีคุณธรรมในตัวของมันเอง ปัญหาของประชาธิปไตยไทยคือ เรามักจะใช้คุณธรรมนอกประชาธิปไตยเข้ามากำกับประชาธิปไตย แล้วมันทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปยึดกุมเงื่อนไขเหล่านั้น แล้วมองว่าดังนั้นไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็ได้ ดังนั้นตรงนี้มันไม่ได้อยู่ในเสรีนิยมแบบเพียวๆ ในแง่ของเสียงข้างมาก แต่ที่สำคัญคือเราต้องปกครองตัวเองได้”
ด้วยความที่พิชญ์สนใจเรื่องเมือง และเพราะคนอยู่ในเมืองเยอะขึ้น ดังนั้นเมื่อพูดถึงประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้าน จะละทิ้งชุมชนเมืองซึ่งขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ สิ่งสำคัญชุมชนเมืองที่ใหญ่ที่สุด อ่อนแอที่สุด พิชญ์ยกตัวอย่างการปกครองกรุงเทพมหานครทุกวันนี้เป็นการปกครองที่ล้าหลังที่สุดในประเทศ ทั้งที่มีงบประมาณมหาศาล นำไปสู่ความพยายามยุบสภาเขตกรุงเทพฯ โดยข้ออ้างว่าได้รับอิทธิพลของนักการเมือง
“ถามว่ามันผิดตรงไหน สภาเขตมีปัญหาตรงที่ไม่มีอำนาจ ในเขตหนึ่งถ้าเราซอยเขตให้มันย่อยแล้วมีตัวแทน เราจะได้สภาเขตที่มันหลากหลายขึ้น แล้วถ้ายังไม่ยอมแก้ที่ผู้อำนวยการเขต เขาจะเข้าไปกดดันผู้อำนวยการเขตได้มากขึ้น ทำไมเราไม่เคยคิดที่จะปฏิรูปการบริหารจัดการ กทม. ที่ทุกวันนี้มันมีปัญหามาก
“ปัญหาของประชาธิปไตยไทยมันอยู่ที่ว่า เวลาที่เราบอกว่าอยู่ในชุมชนเดียวกัน เราหมายถึงชุมชนหมู่บ้านอย่างเดียว ชุมชนที่มันขยายขึ้นมา เขาอยู่ด้วยกันไม่ได้ และเขาไม่เคยคิดว่าเขาต้องอยู่ด้วยกัน แล้วเขาก็จะใช้คุณธรรมขึ้นมาโจมตีกัน และนักการเมืองทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของนักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่อ้างคุณธรรมเข้ามาจัดการเราตลอดเวลา”
ใช่หรือไม่ คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน
ส่วน รศ.เสรี พงศ์พิศ กล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยหมู่บ้าน แต่เราไม่มีตัวแทนจากหมู่บ้านจริงๆ ทุกคนล้วนมาจากหมู่บ้านจัดสรร
“ผมอยากบอกอย่างนี้ว่าในส่วนของหลักการเราเห็นด้วยกันทั้งนั้น ผมอยากเล่าในฐานะที่ทำงานกับชุมชนชาวบ้านมา 40 ปี เราก็มาประเมินว่าทำไมทำโครงการแล้วมันไม่สำเร็จเลย เราก็มาตั้งคำถาม 25 ข้อ แล้วก็ตอบได้ว่าเพราะเราไม่เข้าใจชุมชน เราไม่เข้าใจชาวบ้าน เราคิดว่าเราเข้าใจ แล้วเราก็ไปคิดแทนเขา เราก็ไปทำแทนเขา เลยของบประมาณไปทำโครงการ ซึ่งมันทำได้ ทำโครงการแค่ใช้เงินก็ทำได้ แต่ถ้าเราจะสร้างระบบในชุมชนให้มันยั่งยืน เราต้องใช้สติปัญญามากกว่านั้น”
เสรียังกล่าวต่อว่า ความจริงแล้วในอดีตชุมชนมีประชาธิปไตยเกิดขึ้นแล้ว ถ้าประชาธิปไตยแปลว่าประชาชนปกครองตัวเอง โดยยกตัวอย่างประสบการณ์จากในหมู่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เมื่อปี 2530 พบว่า ชุมชนซึ่งเรียกร้องให้คณะวิจัยของเสรีเข้าไปช่วยวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นชุมชนไพร่หนีนายตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เกือบ 200 ปีที่เขาอยู่ในหุบเขา ปกครองตัวเอง ปี 2531 มีวาตภัยใหญ่ คีรีวงมีออมทรัพย์ใหญ่ที่สุดที่ไม่ได้จดทะเบียน หรืออย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็มาจากคนที่ทำงานกับหมู่บ้านกับชุมชนมายาวนาน และไม่ได้สัมพันธ์แค่ปัญหาหรือความทุกข์ยาวของชาวบ้าน แต่สัมพันธ์ไปถึงจิตวิญญาณ
“ผมคิดว่าไม่เพียงแต่ข้อมูลของชุมชนที่เราควรจะรู้แล้วนำมาปรับใช้ให้มันเป็นนโยบาย แต่ทำยังไงถึงจะเข้าไปถึงจิตวิญญาณของคนเหล่านั้น 2525-2526 ผมพบว่าการเอาเงินเข้าไปแก้ปัญหาของคนเหล่านั้นมันแก้ไม่ได้ จึงได้สนใจเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน ไปค้นหาปราชญ์ชาวบ้านทั่วประเทศแล้วก็ประสานให้เกิดเครือข่าย ผมตั้งมูลนิธิหมู่บ้านขึ้นมาโดยทำอยู่สามเรื่อง คือพยายามศึกษาข้อมูลชุมชน เรื่องที่สองคือวิจัยชุมชน เรื่องที่สามคือทำยังไงจะส่งเสริมสถาบันชุมชนให้เข้มแข็ง
“ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ว่า ถ้าเราอยากจะทำนโยบายให้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อเป็นฐานรากของประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องเรียนรู้และศึกษาชุมชนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ผมเสียดายที่ประเทศไทยไม่เคยสนใจเรื่องของภูมิปัญญาว่าด้วยจารีตประเพณีวิถีชุมชน หรือกฎหมายของชาวบ้าน เราจึงมีกฎหมายที่ไม่สัมพันธ์กับวิถีชุมชนชาวบ้าน ผมจึงอยากจะเรียนว่า ถ้าเราจะส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า เราต้องเรียนรู้อีกมากว่าทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจปัญหาและความต้องการ โดยเฉพาะจิตวิญญาณและศักยภาพของชาวบ้าน รวมไปถึงปัญหาลึกๆ ที่ปรากฏรายรอบพวกเขา”
ขณะที่ข้อสรุปในดุษฎีบัณฑิตของคุณหญิงสุดารัตน์ได้ระบุไว้ว่า
“…อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงปีสำคัญของคนไทย โดยปี 2570 จะตรงกับปีพระบรมราชสมภพ ‘100 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร’ และปี 2575 จะตรงกับ ‘100 ปี ประชาธิปไตยไทย’ เราจะปล่อยให้บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้ ‘กับดักของวัฏจักรวงจรเลวร้ายทางการเมือง’ เช่นนี้ต่อไปจนถึงปีสำคัญของคนไทยในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้ากระนั้นหรือ ทำไมเราไม่มาร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้บ้านเมืองหลุดพ้นกับดักที่เข้าไปติดอยู่นานถึงกว่า 86 ปี…”
อาจเป็นได้ว่าคำตอบนั้นรออยู่ที่การเลือกตั้งในปีหน้า หรืออาจไม่มีอยู่เลย