หน้าตาดีอย่างศัพท์วัยรุ่นที่ว่า ‘เผ็ช ฮอต แซ่บ’ และอื่นๆ นักวิจัยยืนยันแล้วว่า คนกลุ่มนี้มักมีความสัมพันธ์ไม่ยืนยาว เพราะไม่หมั่นดูแลฝ่ายตรงข้ามอย่างสม่ำเสมอ และมีโอกาสพิจารณาตัวเลือกอื่นๆ ได้มากกว่า
ก่อนจะกล่าวถึงงานวิจัยที่ว่า มีงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่พูดถึงประโยชน์ที่คนหน้าตาดีมักได้รับ เช่น ทฤษฎีจิตวิทยาเรื่อง ‘Beauty Premium’ หรืองานวิจัยเมื่อปี 2006 ของสองนักเศรษฐศาสตร์อย่าง มาร์คัส โมเบียส (Markus Mobius) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ ทันยา โรเซนบลัท (Tanya Rosenblat) มหาวิทยาลัยเวสเลียน ในชื่อ (Wesleyan University) Why Beauty Matters พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสวยงามและการจ้างงาน
Why Beauty Matter ทำไมความสวยงามจึงสำคัญ
งานวิจัยนี้เจาะจงในเรื่องขั้นตอนการจ้างาน อันมีผลต่อเงินเดือนที่พวกเขาจะได้รับ ผลลัพธ์ของวิจัยดังกล่าวชี้สามประเด็นดังนี้ คือ
หนึ่ง – ผู้ที่มีบุคลิกดี และรู้ตัวว่าพวกเขามีความงาม จะมีความมั่นใจมากกว่า ฉายความมั่นใจนั้นตอนสัมภาษณ์งานมากกว่า ซึ่งความมั่นใจที่ฉายออกมีผลทำให้ผู้สัมภาษณ์เชื่อว่าพวกเขามีศักยภาพในการทำงานที่มากตามไปด้วย
สอง – ความมั่นใจที่ผู้สมัครฉายออกมา มีผลให้ผู้สัมภาษณ์คิด (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่) ว่าพวกเขามีศักยภาพมากตามจริงๆ
สาม – พอมีความมั่นใจ พวกเขาก็มั่นใจที่จะพูด อันมีผลโน้มน้าวให้ผู้สัมภาษณ์คล้อยตามได้ ซึ่งสุดท้าย พวกเขาใช้ความมั่นใจดังกล่าวเพิ่มเงินเดือนของตัวเองได้
หรืออาจแปลได้ว่า ความมั่นใจภายใน (ที่สังคมมอบให้) มอบบุคลิกความเฉิดฉายบางประการ ที่จะส่งต่อและทำให้ใครอีกคนเชื่อมั่นตามไปด้วยได้
กลับไปยังประเด็นตั้งต้น ทำไมคนหน้าตาดีมักมีความสัมพันธ์ที่แย่
นำทีมวิจัยโดย คริสต์ทีน มา-แคลแลมส์ (Christine Ma-Kellams) นักจิตวิทยาสังคม และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยลาเวิร์น (University of La Verne) แคลิฟอร์เนีย ต้องการศึกษาอิทธิพลจากรูปร่างหน้าตา เฉพาะประเด็นว่ามีผลต่อความมั่นคงในความสัมพันธ์หรือไม่ และถ้ามี ปัจจัยอะไรที่ส่งให้เป็นเช่นนั้น
แบ่งการศึกษาออกเป็นสี่กลุ่ม ดังนี้
สองกลุ่มวิจัยแรก เป็นการศึกษาผลกระทบและความเชื่อมโยงกับความงามและการเลิกรา ว่ามีผลต่อกันจริงหรือไม่ โดยกลุ่มทดลองแรก กำหนดให้ผู้หญิงโสดสองคนดูหนังสือรุ่นของโรงเรียนไฮสคูลระหว่างยุค 70s ถึง 80s และให้คะแนนหนุ่มๆ กลุ่มนั้นจากรูปร่างหน้าตา
จากนั้นนักวิจัยจะเอาข้อมูลของหนุ่มๆ ที่ว่าเสิร์ชในเว็บไซต์ ancestry.com (เว็บที่เอาไว้ค้นหาบรรพบุรุษของเราโดยการเอาข้อมูลของเรา และข้อมูลบรรพบุรุษที่เรายังจำข้อมูลได้ ไปฝังลงแผนภูมิต้นไม้ข้อมูลใหญ่ หรือ big data แล้วทำนายว่า ต้นตระกูลของเราเป็นใคร) เพื่อสืบหาสถานะของผู้ชายคนนั้นๆ ว่า โสด หรือเคยแต่งงานหรือไม่ ถ้าแต่ง แต่งมาแล้วกี่ครั้ง และผลวิจัยนี้พบว่า คนที่ได้คะแนนว่าหน้าตาดี มักมีประวัติหย่าร้าง
กลุ่มวิจัยที่สอง ค้นข้อมูลจาก IMDb (ฐานข้อมูลวงการภาพยนตร์ออนไลน์) และนิตยสาร Forbes ให้ผลลัพธ์คล้ายกันที่ว่า คนดังหรือเซเลบริตี้ มักมีชีวิตคู่ในช่วงเวลาสั้นๆ
กลุ่มวิจัยที่สาม เพื่อทดสอบสมมุติฐานที่ว่า คนที่ฮอตๆ ชอบมองหาความสัมพันธ์ใหม่ (อยู่เรื่อย) นั้น จริงหรือไม่ ผู้เข้าร่วมทดลองที่มีแฟนแล้ว จะถูกขอให้ให้คะแนน ‘กลุ่มเป้าหมาย’ คนที่ถูกต้องใจต่างเพศ ซึ่งผลวิจัยชี้ว่า ผู้ที่หน้าตาดีน่าดึงดูด แม้จะมีแฟนแล้ว ไม่ก็มีความสัมพันธ์บางอย่างกับใครสักคนอยู่ จะแสดงออกหรืออภิปรายความชอบใจต่อกลุ่มเป้าหมาย มากกว่าคน (ที่ส่วนใหญ่บอกว่า) หน้าตาธรรมดา
กลุ่มวิจัยสุดท้าย เพื่อหาบทสรุปเรื่องความพอใจในความสัมพันธ์ และอะไรมีผลต่อการพิจารณาตัวเลือกอื่นๆ ของคนหน้าตาดี นักวิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมทดลองเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกจะถูกทำให้รู้สึกว่าพวกเขา ‘หน้าตาดี’ เหมือนนะ ด้วยการให้ดูรูป* ผู้คนที่ไม่ใช่ลักษณะที่สังคมบอกว่าสวยงาม ขณะที่อีกกลุ่ม จะให้ดูรูปผู้คนที่หน้าตาสะสวย เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเอง ‘ไม่สวย’ ไม่น่าดึงดูดใจตามมาตรฐานสังคม
ผลการให้คะแนนพบว่า กลุ่มที่ถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองหน้าตาไม่ดี จะให้คะแนน ‘กลุ่มเป้าหมาย’ หรือเพศตรงข้ามของตัวเอง (ในกรณีที่ชอบคนต่างเพศ) ได้ง่ายกว่าอีกกลุ่ม ที่ถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองหน้าตาดี
ซึ่งแคลแลมส์กล่าวว่า ผลลัพธ์วิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยสุดท้ายนั้นน่าสนใจมาก เพราะอธิบายว่า คนเรามีแนวโน้มจะพอใจกับความสัมพันธ์ที่ตัวเองมีหรือไม่ ขึ้นกับความมั่นใจในรูปร่างของตัวเองด้วย