ถ้าเปิดเข้าไปดูหน้าเฟซบุ๊คของร้าน Hammer Muzik Metal Shop จะพบข้อความของผู้กำกับหนังเยอรมัน วิม เวนเดอร์ส ที่แปลได้ประมาณว่า
“คำแนะนำของผมนะ อย่าไปเสียเงินกับการบำบัดเลย เอามันไปใช้ในร้านแผ่นเสียงดีกว่า”
นั่นคือวันก่อนสุดท้ายในตุรกี ผมเดินตามหาร้านซีดีที่น่าจะมีแผ่นที่ไม่มีขายในเมืองไทย – ทิ้งเพื่อนร่วมทางให้นอนปวดหัวและปวดเท้าจากการเดินมา 8-9 วันไว้ที่ห้องพัก โชคดีที่การเดินทางในอิสตันบูลไม่ลำบากลำบนอะไรมาก อะไรๆ ก็มีจุดศูนย์กลางที่จัตุรัสทักซิม (Taksim Square) มีป้ายบอกทางละเอียด จากรถไฟฟ้า ไปรถลาก (funicular) ขึ้นรถราง ไปจนลงเรือ ทุกอย่างใช้ Istanbul Card เพียงใบเดียว เงินหมดก็แค่เอาบัตรไปแตะที่ตู้เติมเงิน หยอดเหรียญเสียบแบงก์ เท่านี้ก็เป็นอันจบ
ผมนั่งเรือ sea bus ข้ามช่องแคบบอสฟอรัสจากท่าคาบาทัส (Kabatas) มายังฝั่งเอเชียที่ท่าคาดิกอย (Kadikoy) ร้าน Hammer Muzik Metal Shop หาไม่ง่าย อยากได้ต้องเดินไปหา เพราะตำแหน่งของมันที่ปักหมุดไว้ในกูเกิลดันเป็นธนาคารเกษตร
ด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราวในด้านทิศทาง ผมเดินงกๆ เงิ่นๆ อยู่สองชั่วโมง ผ่านย่านที่เหลือเพียงร่องรอยความบันเทิงของราตรีก่อน ถามใครก็ไม่ได้คำตอบ กว่าจะมาเจอคนบอกทางก็ที่ร้านของเล่น เขาถือหนังสือการ์ตูนในมือ มือชี้ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอกข้างๆ โอเค…เมื่อเปิดประตูเข้าไปพบกับเจ้าของร้านที่หน้าตาเหมือน จอห์น เปตรุชชี มือกีตาร์วง Dream Theater – การเดินแบบหลงๆ ก็มาสิ้นสุดที่ ‘ร้านขายค้อนเหล็ก’ นี่แหละ
2 วันก่อนหน้านั้น
เราอยู่ที่เซลจุก (Selcuk) ผมกับมิตรสหายผู้รู้แค่ว่าจะมากินปลาและดูนกนางนวล เพิ่งมาจากอิซเมียร์ (Izmir) ด้วยรถไฟ (ที่ความเร็วไม่สูงมาก) มายังเมืองที่อยู่ในเขตอิซเมียร์ ทว่าบรรยากาศไม่พลุกพล่านเท่าเขตเมืองใหญ่ ที่พักอยู่ไม่ไกลจากนั้น เราจะสิงอยู่ที่นี่สามวันสองคืน
และด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราวอีกเช่นกัน เราเคยเห็น เอเฟซุส (Ephesus) หรือ เอเฟส เพียงแค่ภาพถ่าย ไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเมืองเก่าแห่งนี้ในหัว รู้แค่ว่าเอเฟสอยู่ห่างจากที่พัก 3 กิโลเมตร…ซึ่งเราไปด้วยการเดินจนต้องใช้ไม้เท้า เพราะไม่รู้ว่ามีรถบัสเล็กผ่าน
เอเฟสเป็นเมืองโบราณแสนอลังการ ย้อนอดีตไปสมัยกรีก เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในช่วง 1 ศตวรรษก่อนคริสตกาล เราผ่านวิหารหลายแห่ง จำชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง ทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และเหลือแต่ซากจนไม่มีเค้าโครงเหลือ
ใจกลางเอเฟสมีขนาดใหญ่โต มี amphitheater หรืออัฒจันทร์รูปครึ่งวงกลมอยู่หลายแห่ง มีท่าเทียบเรือ มีส้วมสาธารณะขนาดใหญ่ หลายอย่างที่หลงเหลืออยู่พอจะบอกเล่าได้ว่า ที่นี่เคยมีคนมากพอๆ กับนักท่องเที่ยวที่เดินแทบชนกัน
อ้อ…ในความไม่รู้ ก็มีการค้นพบสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง – เบียร์ยี่ห้อ Efes
3 วันก่อนหน้านั้น
เราลงจากเรือที่ล่องข้ามทะเลมาร์มารา (Marmara) จากอิสตันบูลมาขึ้นฝั่งที่บันเดอร์มา (Bandirma) เดินฝ่าลมเย็นๆ ยามเช้าไปยังท่ารถเมล์ ด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราว เราเข้าใจว่าเป็นรถบัสเดินทางระหว่างเมือง เมื่อถามคนที่ท่ารถ ใครหลายคนชี้ให้ขึ้นรถเมล์ไป otogar – ผมหันไปถามเพื่อน “อะไรนะ ออ-โต-กา”
โอเค…ทางเลือกมีไม่มาก ก็คงต้องทำตามเขาว่า แล้วเราก็มาถึงปลายทางที่คนขับเชิญให้ลง แล้วบอกว่า “นี่ล่ะ ออ-โต-กา” โอเค สถานีขนส่งนั่นแหละ
เราอยู่บนรถบัสที่ออกจาก otogar มุ่งหน้าไปอิซเมียร์เป็นเวลาครึ่งวัน หลับบ้าง ดูหนังที่ฟังไม่รู้เรื่องบ้าง เล่นเกมยิงซอมบี้ที่มีจอและจอยสติ๊กอยู่หลังเบาะบ้าง กินกาแฟฟรีบ้าง ขนมฟรีบ้าง กว่าจะถึงที่หมาย otogar ของอิซเมียร์ ก้นก็ด้าน จากนั้นก็ต้องต่อรถเมล์เข้าเมือง เดินอีก 1 กิโลเมตร ก็ถึงที่พัก
หลังอาหารเช้าวันรุ่งขึ้น พนักงานเกสต์เฮาส์ถามว่า “จะไปไหนกันต่อล่ะคุณ” ด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราว โปรแกรมไม่มี แผนที่ก็ไม่ครบ เราตอบไป “ซีลกักสิพี่” เขาทำหน้างงๆ “ซีลกักมันอยู่ข้างหน้าโรงแรมนี่เองนะ” เรากางแผนที่ชี้ให้เขาดู เขายิ้ม…ไม่ใช่ยิ้มแบบหมิ่นหยาม เขาบอก “มันอ่านว่า เซลจุก”
4 วันก่อนหน้านั้น
เราตกลงกันว่าจะใช้เวลาที่อิสตันบูลในวันท้ายๆ ดังนั้นเป้าหมายแรกของทริป คือนั่งเรือข้ามทะเลมาร์มาราเพื่อเดินทางต่อไปอิซเมียร์
หลังจากที่เพื่อนร่วมห้องละเมอเป็นบทสวดตามศาสนาอิสลามอยู่พักใหญ่ เป็นเวลาตี 5 ที่เราต้องรีบลุกจากห้องพักที่ตั้งอยู่บนร้านพิซซ่าเพื่อไปขึ้นเรือ โชคยังดีที่ห้องพักมีโบรชัวร์ของบริษัทเรือ IDO พร้อมตารางเวลาไว้ให้ ด้วยความกลัวตกเรือ เราจึงรีบโบกแท็กซี่ เราบอกคนขับว่า “ไปท่าเรือของ ไอ-ดี-โอ ครับพี่”
คนขับส่ายหน้า ทำมือไม้ว่าไม่รู้จัก คุยกันอยู่หลายรอบ ด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราว เราต้องเอาโบรชัวร์ออกมาให้ดู เขาบอก “โอเคเลย…ไป อิโด”
5 วันก่อนหน้านั้น
เราเริ่มต้นที่สนามบินอตาเติร์ก รับ pocket Wi-Fi ที่เช่าไว้ แล้วมายืนเก้ๆ กังๆ อยู่หน้าเครื่องขายบัตร Istanbul Card และตู้เติมเงิน เช็คแผนที่เดินรถ ก่อนจะเข้าเมืองไปยังที่พักซึ่งอยู่ใกล้สถานีทักซิม
จัตุรัสแห่งนี้มีประวัติการชุมนุมประท้วงของประชาชนหลายต่อหลายครั้ง ตรงจุดศูนย์กลางมีอนุสาวรีย์ ล้อมรอบด้วยถนนหลายสายพุ่งเข้ามา มีถนนคนเดินที่พลุกพล่านกว่าข้าวสารเกิน 10 เท่า มีร้านเคบับหน้าตาคล้ายๆ กันอีกนับไม่ถ้วน ไหนจะรถขายขนมปังแข็ง ไหนจะรถขายข้าวมัน ฯลฯ
ด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราว เพื่อป้องกันไม่ให้หลงทิศ ผมจึงให้เพื่อนช่วยถ่ายรูปเป็นสัญลักษณ์ว่าเราควรเริ่มต้นเดินไปทางไหน…
หมายเหตุ:
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 80, ธันวาคม 2557