หากพูดถึงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตคู่ที่ไปต่อด้วยกันไม่ได้ จนนำไปสู่การหย่าร้าง นึกเร็วๆ คงคิดถึงภาพยนตร์อย่าง Marriage Story (2019) แม้ว่าความเป็นคู่รักจะพังลงไป แต่ยังมีลูกชายเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์และต่างฝ่ายต่างต้องการสิทธิในการเลี้ยงดูลูก แล้วถ้าชีวิตคู่ก็พัง ต่างคนต่างมีคนใหม่ แถมลูกชายคนเดียวก็ไม่ได้เกิดมาจากความพร้อมที่จะมีแต่แรกล่ะ?
Loveless (2017) ภาพยนตร์สัญชาติรัสเซีย กำกับโดย อันเดรย์ ซียากินต์เซฟ (Andrey Zvyagintsev) เล่าเรื่องผ่านฉากหลังประเทศรัสเซียในปี 2012 นำเสนอความสัมพันธ์ของเซนยาและบอริส คู่แต่งงานที่แล้งรักซึ่งกันและกัน หลงเหลือเพียง อโลชา ลูกชายวัย 12 ปี ที่เป็นเพียงหลักฐานแสดงถึงความสมบูรณ์ของคำว่าครอบครัวตามที่สังคมต้องการ ทว่าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักจากพ่อแม่ จนกระทั่งวันหนึ่งอโลชาหายตัวไป
การหายไปของอโลชาที่แม้แต่เซนยา แม่ของเขาที่อยู่ในบ้านเดียวกันก็ไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งคุณครูที่โรงเรียนโทรมาบอกว่าอโลชาไม่ได้ไปโรงเรียน 2 วันแล้ว และเมื่อเซนยารายงานบอริสผู้เป็นสามีให้รับรู้เรื่องลูกหายตัวไป คนเป็นพ่อกลับมองว่าตื่นตูมเกินไป และยังเลือกโทษคนเป็นแม่ก่อนอันดับแรก โทษฐานที่ไม่ดูแลลูกให้ดีๆ หนังเล่าให้เห็นความสัมพันธ์เป็นพิษผ่านตัวเซนยาและบอริส แต่สะท้อนความเปล่าเปลี่ยวของอโลชาที่ขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ได้อย่างดี แม้จะไม่ได้แสดงออกผ่านคำพูดหรือท่าทีที่ตรงไปตรงมาก็ตาม การหายไปจึงเป็นความว่างเปล่าที่เราสามารถใส่การคาดเดาเข้าไปแทนที่ได้มากมาย ทั้งสาเหตุและวิธีการของการหายตัวไป โดยมีเบาะแสเป็นความร้าวฉานของพ่อแม่
ในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน พวกเขาสร้างมลพิษทางอารมณ์ให้แก่กัน มิหนำซ้ำยังทำหน้าที่พ่อแม่ในระดับที่ชวนให้คนดูหนังสงสารลูกที่โชคร้ายเกิดมาในครอบครัวนี้ แต่เมื่อเซนยาและบอริสใช้เวลาอยู่กับคนรักคนใหม่ของตัวเองก็แสดงให้เห็นว่าต่างคนต่างมีความสบายใจและให้เกียรติคู่รักมากกว่าตอนอยู่ด้วยกันราวฟ้ากับเหว ซึ่งเป็นการเลือกคู่รักที่เกิดจากความรักและความหลงใหล ไม่ใช่เพราะความจำเป็นอย่างที่เคยเกิดขึ้น หากจะบอกว่าอโลชาถูกกระทำจากพ่อแม่แย่ๆ อย่างบอริสและเซนยา ก็อาจจะพูดได้เหมือนกันว่าบอริสและเซนยาเองก็ถูกกระทำจากระบบโครงสร้างในสังคมเช่นกัน
บอริสทำงานในบริษัทที่เคร่งศาสนา คาดหวังให้พนักงานมีครอบครัวโดยจะต้องแต่งงานและมีลูก ไม่ยอมรับพนักงานที่หย่าร้าง บอริสจึงมีครอบครัวด้วยความจำเป็นต่อหน้าที่การงาน และยังต้องพยายามปกปิดความสัมพันธ์ของเขากับภรรยาที่ต้องการหย่ากัน แม้ว่าเขาจะมีหญิงสาวคนรักใหม่ที่กำลังตั้งท้องอยู่แล้วก็ตาม ส่วนเซนยาก็โตมากับแม่ที่ทำให้เธออยากแยกตัวย้ายออกไปอยู่ห่างๆ โชคชะตาจึงพาให้มาเจอกับบอริสที่ต้องการจะสร้างครอบครัว และเมื่อตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แต่ก็ยังปล่อยไว้ตามคำขอของบอริสว่าให้ลูกเติบโตมา จนกลายเป็นครอบครัวที่พินาศ และส่งต่อความพินาศนั้นแก่อโลชาในที่สุด
หนังเล่าเรื่องอย่างประณีตและเนิบช้า แต่แฝงไปด้วยการเสียดสีสังคมในหลายประเด็น นอกจากเรื่องโครงสร้างสังคมที่ผลักดันให้ตัวละครเดินทางมาถึงจุดแตกหักของความเป็นครอบครัวแล้ว ยังสะท้อนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการตามหาคนหายอีกด้วย แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังแนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากทีมอาสาสมัคร ซึ่งให้ความร่วมมือได้ดีและรวดเร็วกว่า รวมถึงท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อคดีเด็กหายตัวไปเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปกติ ในขณะที่ชีวิตประจำวันเมื่อเปิดวิทยุในรถหรือเปิดทีวีในบ้านก็ได้ยินข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้ง สงครามและการเมืองอย่างสม่ำเสมอ
แม้เซนยาจะไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงลูกตั้งแต่แรก แต่หลังจากรับรู้ว่าลูกชายตัวเองหายตัวไป กลับแสดงให้เห็นถึงความเป็นห่วงและโหยหา ต้องการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับอโลชา ไม่ว่าจะด้วยมนุษยธรรมหรือสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่มีโดยอัตโนมัติก็ตาม ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนมากกว่าความเป็นพ่อของบอริส
ภายใต้บริบทในปี 2012 ที่เทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าอย่างยิ่งยวด มือถือไอโฟนมีบทบาทต่อเซนยาเป็นอย่างมากในการถ่ายรูปภาพอัพโหลดลงโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ เสมือนเป็นอวัยวะที่ 33 ของเธอ แต่กลับมีบทบาทไม่มากนักในการตามหาลูกเท่าการตระเวนตามหาด้วยการแปะโปสเตอร์ประกาศและร้องตะโกนเรียกชื่อของทีมอาสาสมัคร
ด้วยงานภาพที่โดดเด่นจากฝีมือของ มิคาอิล คริชแมน (Mikhail Krichman) ที่ท้าทายสายตาของคนดูด้วยการเสนอมุมมองที่เหมือนเป็นเพียงคนนอกผู้สังเกตการณ์ในหลายๆ ครั้งที่จบแต่ละซีน คล้ายการย้ำเตือนว่าสุดท้ายแล้วเราก็ไม่ใช่ใครในครอบครัวนั้น เป็นได้แค่ป้าข้างบ้านที่คอยแอบดูพฤติกรรมของครอบครัวร้าวฉานนี้เท่านั้น รวมถึงมุมภาพที่กั๊กๆ ความชัดเจนเอาไว้เพื่อให้คิดต่อเอาเองตามแต่จิตไร้สำนึกของคนดูจะจินตนาการ
(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วน)
ส่วนสำคัญของเรื่องคือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากอโลชาหายตัวไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับมือของเซนยาและบอริส หัวอกคนเป็นแม่ที่มีความหวังว่าจะตามหาลูกจนเจอหรือสักวันลูกจะกลับมา หรือต่อให้ลูกเป็นอะไรไปก็ขอแค่ได้เห็นร่างของลูกกับตาตัวเอง มีภาพซ้อนทับกับเหตุการณ์ในไทยอย่างในบทความ ตามหาลูก จดจำและหวังด้วยความเงียบ ของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่เรียบเรียงจากบันทึกของ คุณพ่อจินดา ในการตามหา จารุพงษ์ ผู้เป็นลูกชายที่ไม่กลับมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และรอคอยด้วยความหวังว่าลูกอาจจะหนีไปอยู่ที่ใดสักที่และสักวันคงกลับบ้าน ก่อนจะรู้ในอีกหลายปีต่อมาว่าลูกชายของเขาคือหนึ่งในชายไทยไม่ทราบชื่อที่ในขณะเกิดเหตุการณ์นั้นไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าเป็นจารุพงษ์
ในฉากที่เจ้าหน้าที่พาเซนยาและบอริสไปยืนยันศพเด็กชายที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร เซนยายืนยันว่าไม่ใช่ลูกตนเองแน่ๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็ขอความร่วมมือให้ตรวจดีเอ็นเอเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง และยกภาวะการไม่ยอมรับความจริงเมื่อรับไม่ได้กับการสูญเสียขึ้นมาพูดต่อหน้าเซนยา ซึ่งแน่นอนว่าเซนยาปฏิเสธเจ้าหน้าที่ แม้บอริสจะสนับสนุนให้ทำตามที่เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือก็ตาม
ทุกการสูญเสีย คนที่อยู่ยังต้องดำเนินชีวิตต่อไป เช่นเดียวกับเซนยาและบอริสที่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต่างแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตกับคนรักที่ตัวเองเลือก เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าทั้งคู่ยังรอคอยอโลชาให้กลับมาอยู่ไหม และถ้ากลับมา ใครจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูเขา ในอีกทางหนึ่งที่เปรียบเทียบอย่างโหดร้ายหน่อย อโลชาอาจเป็นสิ่งแทนความสัมพันธ์ระหว่างเซนยาและบอริส เมื่อพ่อแม่ไร้รักกันไปแล้ว ลูกที่เกิดจากความสัมพันธ์ซึ่งแล้งรักจากพ่อแม่เช่นกันก็ปราศจากตัวตนไปพร้อมกับความรักที่ยึดเหนี่ยวความเป็นครอบครัวไว้ในที่สุด