มาดแลน แปลเลอติเย (Madeleine Pelletier): เฟมินิสต์สัญชาติฝรั่งเศสผู้มาก่อนกาล

จากกระแสดราม่า ‘เฟมินิสต์’ สู่ ‘เฟมทวิต’ ใครคือเฟมินิสต์ตัวจริง หรือการต่อสู้แบบใดจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้จริง? เป็นข้อสงสัยที่ชวนคิด และผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายไปบ้างแล้ว ท่ามกลางกระแสข้อถกเถียงนี้ในสังคม เราจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับ มาดแลน แปลเลอติเย (Madeleine Pelletier) นักสตรีนิยมผู้มาก่อนกาลกับประวัติชีวิตของเธอที่หล่นหายไปจากประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่เธอมีความสำคัญต่อภูมิทัศน์ของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังอาจช่วยให้คุณเข้าใจ ‘ธรรมชาติ’ ในโลกของเฟมินิสต์มากขึ้นอีกด้วย

“ผู้หญิงไม่ได้ถูกเลี้ยงดูตามหลักวิทยาศาสตร์เหมือนผู้ชาย ทำไมน่ะรึ? เพราะประตูของพวกเธอถูกปิดยังไงล่ะ” 

มาดแลน แปลเลอติเย หรือชื่อเดิม อานน์ แปลเลอติเย (Anne Pelletier) เกิดวันที่ 18 พฤษภาคม 1874 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 

เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อเป็นอัมพาตตอนเธออายุ 4 ขวบ แม่ประกอบอาชีพขายผลไม้ แม่ของเธอให้กำเนิดบุตรทั้งหมด 12 คน แต่รอดชีวิตเพียง 2 คน คือพี่ชายและเธอ ความยากลำบากในการให้กำเนิดบุตรจึงเป็นเรื่องที่ติดค้างอยู่ในใจเธอตั้งแต่เด็ก

“ฉันเคยบอกกับแม่ว่าฉันอยากเป็นนายพล แต่แม่บอกฉันว่าหน้าที่ของผู้หญิงไม่ใช่การเป็นนายพล นายทหาร หรืออะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการแต่งงาน ทำกับข้าว และเลี้ยงลูก” 

ปมที่สำคัญในชีวิตของแปลเลอติเยคือความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ เธอมีปัญหากับแม่หลายต่อหลายเรื่อง นักวิจารณ์บางคนเชื่อว่าเธอนิยามตัวเองให้เชื่อและเป็นในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับแม่ของเธอ 

ประจำเดือนครั้งแรกทำเธอตกอกตกใจเป็นอย่างมาก เธอคิดว่าเธอกำลังจะตาย และแม่คงไม่ช่วยชีวิตเธอ แต่นั่นคือจุดที่ทำให้เธอเห็นถึงประสบการณ์บางอย่างที่เธอ แม่ และผู้หญิงทุกคนมีร่วมกัน จนนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องเพศเงื่อนไขในชีวิตของผู้หญิง ความเป็นแม่ การแต่งงาน และสถาบันครอบครัว 

ชีวิตในโรงเรียนเป็นความทรงจำที่ไม่ดีเท่าไรนัก เสื้อผ้าและข้าวของที่สกปรกทำให้เธอถูกเพื่อนๆ ล้ออย่างหนัก เธอจึงตัดสินใจหยุดไปโรงเรียน แต่ก็ยังไปขลุกตัวอยู่ในห้องสมุดบ่อยครั้ง 

ตอนดึกๆ เธอชอบหนีไปเข้าร่วมวงสนทนากับกลุ่มนักสตรีนิยมและลัทธิผู้นิยมอนาธิปไตย พวกเขาพูดคุยกันเรื่องการเมืองการปกครอง ความเสมอภาคเท่าเทียม รวมถึงประเด็นอื่น เช่น เรื่องกีฬา ผู้หญิงในกลุ่มพากันฝึกฝนการฟันดาบ เพราะเชื่อว่าความแข็งแรงทางกายจะนำมาซึ่งความเท่าเทียมได้ แต่เธอกลับเห็นแย้งและเชื่อว่า “ความเคยชินในชีวิต” ของผู้หญิงต่างหากที่เป็นปัญหา

เธอบอกว่าการได้เข้าร่วมวงสนทนานั้นถือเป็น “หนทางสว่างแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่เสรีภาพ” แต่ไม่ใช่สำหรับคนจนอย่างเธอ 

เธอเปลี่ยนชื่อจาก ‘อานน์’ ซึ่งเป็นชื่อที่แม่ตั้งให้เป็น ‘มาดแลน’ การกระทำนี้ตอกย้ำความขัดแย้งของเธอและแม่ รวมถึงทัศนคติที่เชื่อมั่นในตัวตนและอิสรภาพ

เธอเรียนรู้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตและจะนำพาเธอไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เธอจึงตัดสินใจศึกษาต่อด้วยตัวเองจนผ่านการสอบวัดผลระดับชาติก่อนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยผลการเรียน ‘ดีมาก’ ในวิชาวิทยาศาสตร์และปรัชญา 

เธอเลือกเรียนสายแพทยศาสตร์และมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยปารีส (ซึ่งมีนักศึกษาแพทย์ผู้หญิงเพียง 129 คนเท่านั้น จากนักศึกษาทั้งหมดประมาณ 4,500 คน) 

คริสตีน บาร์ด นักประวัติศาสตร์สตรีนิยมเผยว่าเหตุผลที่แปลเลอติเยเลือกเรียนสายแพทย์เพราะเธอเชื่อว่าองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ผู้ชายเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ แฝงอคติทางเพศ และกดขี่ผู้หญิง เธอจึงอยากก้าวเข้ามาเรียนรู้เพื่อ ‘ปฏิวัติ’ ล้มล้างอคติทางเพศเหล่านั้น

ปี 1902 เธอต้องการสอบคัดเลือกเพื่อเป็นนักศึกษาแพทย์เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์ แต่เธอถูกปฏิเสธเนื่องจากขาดคุณสมบัติ ระเบียบการรับเข้าศึกษาระบุว่าผู้มีสิทธิสอบจะต้องเป็นพลเมืองตามกฎหมายของรัฐ ซึ่งในสมัยนั้นผู้หญิงถือเป็นมนุษย์ที่รัฐไม่ได้รับรองสิทธิความเป็นพลเมือง เธอจึงไม่ได้เข้าสอบในปีนั้น

ข้อกฎหมายนี้มาจาก ประมวลกฎหมายนโปเลียนที่ 1 (Code Napoléon หรือเดิม Code Civil des Français เป็นประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส) ที่กำหนดให้มนุษย์เพศหญิงทุกคนมีสิทธิทางกฎหมายเทียบเท่ากับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ซึ่งส่งผลต่อสิทธิทางการเมือง กระบวนการยุติธรรม การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สิทธิในการทำงาน รวมถึงสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง

แปลเลอติเยร่วมกับสื่อสตรีนิยมที่ชื่อว่า La Fronde ออกแคมเปญรณรงค์เรื่องการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะเข้าสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับการศึกษาได้ในทุกศาสตร์ทุกแขนง

ในปี 1903 ระเบียบดังกล่าวถูกยกเลิกและเปิดให้ผู้หญิงเข้าสอบคัดเลือก แปลเลอติเยทำเสร็จ เธอได้รับขนานนามว่าเป็นจิตแพทย์หญิงคนแรกของฝรั่งเศส 

แต่ชีวิตการเรียนและการทำงานก็ไม่ราบรื่นมากนัก เธอมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานผู้ชาย คนไข้ หรือแม้กระทั่งพยาบาลหญิงที่เป็นผู้หญิงด้วยกันเองอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เธอหันเหความสนใจไปที่มานุษยวิทยาอยู่ช่วงหนึ่ง

ในด้านมานุษยวิทยา เธอสนใจและทำการศึกษาเรื่องของกะโหลกศีรษะของมนุษย์ งานวิจัยของเธอชี้ว่าความหนาของกะโหลกมีผลต่อความฉลาด ซึ่งผู้หญิงมีความสามารถในการใช้สติปัญญาเท่ากับผู้ชาย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในงานวิจัยชิ้นนี้คือ เธอพบว่าระดับของสติปัญญาของคนผิวขาวมีมากกว่าคนผิวสี ซึ่งเป็นองค์ความรู้บนฐานการเหยียดชาติพันธุ์ ความสนใจของเธอต่อมานุษยวิทยาจึงลดน้อยลงไป

“ความเป็นแม่ก็เช่นเดียวกับความเป็นพ่อ มันเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งแห่งการมีอยู่”

เธอมีโอกาสได้รักษาคนจนจำนวนมากในปารีส การรักษาผู้ป่วยในตอนกลางคืนทำให้เธอรับรู้ว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ และนี่คือจุดสำคัญที่ทำให้เธอเชื่อว่าผู้หญิงควรมีสิทธิเหนือร่างกายของตัวเอง ซึ่งนำมาสู่การเรียกร้องเรื่องการคุมกำเนิดและการยุติครรภ์อันไม่พึงประสงค์

ความคิดของแปลเลอติเยสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) เฟมินิสต์ตัวท็อปแห่งวงการสตรีนิยมฝรั่งเศสที่ไม่มีใครไม่รู้จัก แม้ว่าแปลเลอติเยจะไม่ได้มีวลีเด็ดอย่าง “เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่เราแปรเปลี่ยนเป็นผู้หญิง” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแปลเลอติเยพูดเรื่องพวกนี้ก่อนโบวัวร์เสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ชื่อของเธอถูกลืมจนสูญหายไปในประวัติศาสตร์

แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่แตกต่างกัน ในขณะที่โบวัวร์สนุกสนานกับเสรีภาพทางเพศ แปลเลอติเยกลับเลือกที่จะถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต เธอไม่ได้อธิบายแน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไร แต่หากเพศสัมพันธ์นำไปสู่เงื่อนไขของชีวิตที่จะพาเธอไปอยู่ในวงโคจรของความเป็นเมียและแม่ เธอคงคิดว่ามันคงเป็นเรื่องที่หักห้ามได้ แม้เธอจะเชื่อว่าผู้หญิงก็เป็นเพศที่มีความต้องการและแรงขับทางเพศไม่ต่างจากผู้ชาย

“ผู้หญิงต้องเลือกตั้ง”

ตั้งแต่ปี 1906 เป็นต้นมา แปลเลอติเยเข้าร่วมขบวนการการเรียกร้องทางการเมืองอย่างขะมักเขม้น เธอตอบรับเข้าเป็นประธานของกลุ่ม ‘ผู้หญิงสามัคคี’ (La Solidarité des Femmes) ซึ่งถือเป็นกลุ่มเฟมินิสต์สุดขั้ว เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีปัญหาและมีความขัดแย้งภายในบ่อยครั้ง 

แปลเลอติเยนำการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงภายใต้สโลแกน ‘ผู้หญิงต้องเลือกตั้ง’ หลายต่อหลายครั้ง ทั้งในและต่างประเทศ ครั้งที่สำคัญคือการพยายามเข้าเจรจาขอความร่วมมือจากผู้นำฝ่ายสังคมนิยม แต่เธอกลับถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอจึงปาก้อนหินไปที่หน้าต่างของสำนักงาน และเป็นเหตุให้เธอถูกโจมตีจากหลายฝ่าย รวมถึงเฟมินิสต์ด้วยกันเองด้วย

“ผู้ชายแต่งกายเพื่อใช้ชีวิต ผู้หญิงแต่งกายเพื่อความรัก” 

เธอแต่งกายแบบผู้ชาย ใส่สูท หมวกปีกแคบ ทรงผมสั้น และถือไม้เท้า โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวและขัดต่อสายตาผู้อื่นมาก

“เสื้อผ้าของฉันกำลังบอกกับพวกเขาว่าฉันเท่ากับพวกเขา” 

นอกจากนั้นแปลเลอติเยยังวิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มนักสตรีนิยมที่แต่งหน้า ทาปาก ใส่เครื่องประดับ นุ่งกระโปรง เธอบอกว่าพวกนั้นเป็นเพียง “ตุ๊กตาหรือหุ่นเชิดให้พวกผู้ชายที่ต้องการพวกเธอ หรือให้กับเวลาที่ต้องการพวกเธอ เราจะเรียกพวกนั้นว่าผู้หญิงไฮโซ ซึ่งเปรียบให้ดีแล้วก็คงไม่ต่างอะไรจากสุนัขเลี้ยงไฮโซ”

“สตรีนิยมอย่างเดียวไม่เคยพาเราไปได้ไกล” 

แปลเลอติเยจัดพิมพ์วารสารรายเดือนชื่อว่า La Suffragiste โดยนำเสนอข้อเรียกร้อง เช่น การยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากดขี่ทางเพศทั้งหมด สิทธิในการเข้ารับการศึกษาของผู้หญิง อาชีพการงาน การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง การปลดแอกผู้หญิงจากพื้นที่ครัวเรือน สิทธิในการเข้าถึงความสุขทางเพศได้ทัดเทียมกับผู้ชาย รวมถึงการเรียกร้องให้โลกหลุดพ้นจากทวิภาวะทางเพศไปสู่พื้นที่ไร้เพศ จะเห็นได้ว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ปราดเปรื่องและล้ำยุคมาก ในทางการเมืองเธอเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยความปรารถนาที่อยากเห็นสังคมนำไปสู่ความเสมอภาค 

ความกระตือรือร้นต่อการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ทำให้เธออยากเดินทางไปดูชัยชนะของสังคมนิยมกับตาของเธอเองแต่เธอกลับถูกผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิเสธไม่ให้ไปในนามของตัวแทนพรรค เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปด้วยตัวเอง

เธอเรียนรู้ว่าตัวบทกฎหมายเรื่องความเสมอภาคทางเพศไม่อาจสะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นจริงในสังคมรัสเซียได้ ผู้หญิงยังคงถูกกดขี่และมีเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก เธอจึงกลับฝรั่งเศส เธอเริ่มสนใจความเชื่อแบบอนาธิปไตยที่เชื่อว่าสังคมปกครองตัวเองได้โดยไม่ต้องมีรัฐและผลิตงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อหลีกหนีจากการถูกเซ็นเซอร์ เธอจึงหันไปผลิตผลงานวรรณกรรมมากมาย นวนิยายที่นับเป็นผลงานชิ้นเอกมีชื่อว่า หญิงพรหมจรรย์ (La Femme Vierge

“ฉันยังเป็นเฟมินิสต์ และจะยังคงเป็นจนวันตาย (…) เพราะจิตวิญญาณแห่งการเป็นทาสมันเรียกร้องฉัน”

ในห้วงสุดท้ายของชีวิต โรคหลอดเลือดในสมองทำให้เธอป่วยเป็นอัมพาต

ศาลตัดสินว่าเธอมีความผิด ฐานมีส่วนรู้เห็นและให้คำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์แก่เด็กสาวผู้ถูกพี่ชายกระทำชำเรา แต่เนื่องจากอาการป่วยของเธอ ศาลจึงให้กักตัวเธออยู่ในศูนย์จิตเวช 

หลังจากนั้นไม่นาน อาการป่วยของเธอก็ทรุดหนักและเสียชีวิตลงด้วยวัย 65 ปี 

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบั่นทอนกำลังใจฉัน การปลดปล่อยผู้หญิงคงไม่มีทางเกิดขึ้น และฉันคงเกิดเร็วไปหลายศตวรรษ”

สิ่งที่น่าเสียดายคือเธอไม่ทันมีชีวิตได้เห็นผลผลิตจากการต่อสู้ที่เธอเป็นกำลังสำคัญ และได้กลายเป็นบุคคลที่ประวัติศาสตร์ลืมเลือนไป ซึ่งเริ่มมีนักวิชาการพูดถึงเธอเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

ตลอดช่วงชีวิตของแปลเลอติเยทำให้เราเรียนรู้ว่า เฟมินิสต์มิได้เป็นเรื่องตื้นเขินที่สักแต่ว่าหาเรื่องด่าผู้ชาย แต่มันคือการเรียกร้องความเสมอภาคและความเท่าเทียมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน คนบางคนใช้ชีวิตทั้งชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ชีวิตทุกชีวิตเห็นความสำคัญของการมีชีวิตของตัวเองและคนอื่น

เฟมินิสต์ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจล้นฟ้า แต่เป็นเพียงคุณค่าสามัญที่มนุษย์ทุกคนพึงมีอย่างเสมอหน้าเท่าเทียม

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาและถือเป็นส่วนหนึ่งของทุกกระบวนการการต่อสู้ 

เราถก เราเถียง เราด่า เราทำอะไรก็ได้ ขอเพียงแค่เราไม่ลุกขึ้นมาฆ่าหรือลดราคากันด้วยคำพูดอันโง่เขลาที่เต็มไปด้วยอคติและความเกลียดชัง สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการอุทิศตนที่ยิ่งใหญ่ หรือเป็นเพียงตัวอักษรไม่กี่คำผ่านทวิตเตอร์ แต่หากสายตามองเห็นว่าโลกไม่เท่าเทียม และหัวใจเรียกร้องหาความเที่ยงธรรม การต่อสู้ในทุกระดับย่อมมีความหมาย ขอเพียงแค่อย่ายอมตายโดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า