เรื่อง : กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
ภาพ : http://hijabchicblog.com/wp-content/uploads/2013/12/wedding-cake.jpg
ช่วงที่ผู้คนหายใจเข้าออกเป็นการเมือง การชุมนุม เลือกตั้ง และการปฏิรูป หญิงอ้วนฯอยากฉีกเรื่องออกไปสุดขั้วเลย เป็นเรื่อง ‘การบ้าน-การมุ้ง’ เสียบ้าง เพื่อคลายอาการจิตตก เพราะได้ไปเจองานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาก จากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร The British Journal of Medicine เป็นงานที่แปลกมาก เพราะวิจัยไม่เสร็จ ต้องยกเลิกกลางคัน แต่มีคุณค่ามากพอที่จะนำมาถกเถียงกันในเชิงวิชาการและชีวิตจริง
เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า คู่แต่งงานมักจะได้รับคำแนะนำว่า หากต้องการให้รักยืนยาว ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร ทั้งคู่ก็ควรถนอมน้ำใจกัน หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน อดทดถนอมน้ำคำน้ำใจกันเข้าไว้ รักจะได้ยั่งยืน มีความสุขในชีวิตคู่ (หญิงอ้วนฯมิได้เอาคำอวยพรวันแต่งงานตัวเองมาโค้ดไว้นะคะ 555 อย่าเข้าใจผิด) ทำให้นักวิจัยอย่าง ศาสตราจารย์บรูซ แอร์รอลล์ ตะหงิดๆ ขึ้นมาว่า นี่คือสูตรลับของการใช้ชีวิตคู่จริงๆ หรือ
บรูซ แอร์รอลล์ จึงเริ่มทำการศึกษากับสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งตัวสามีทราบดีถึงงานวิจัยครั้งนี้ ที่เขาถูกกำหนดให้เออออตามภรรยาทุกอย่าง ไม่ว่าเธอจะถูกหรือจะผิด ต้องไม่เถียง-ไม่บ่น ต้องเห็นด้วย ต้องทำตาม แม้ว่าบางความเห็นของภรรยาอาจผิดก็ตาม ส่วนภรรยานั้นไม่ทราบเงื่อนไขเช่นนี้ รู้แต่เพียงว่า เธอและสามีต้องบันทึกค่าเฉลี่ยความสุขในแต่ละวัน ที่ให้ค่าความสุขสูงสุดเท่ากับ 10
ผ่านไปเพียงแค่ 12 วัน งานวิจัยนี้ต้องถูกยกเลิกกะทันหัน เพราะเจ้าพระคุณสามีตกอยู่ในอาการ ‘Depressed’ สุดขีด ความสุขตกฮวบจาก 7 เหลือแค่ 3 จนนักวิจัยหวั่นว่า หากดื้อดึงทำการวิจัยต่อไป ความสัมพันธ์ของคนคู่นี้อาจเกิดการหย่าร้างกัน หรือถึงขั้นสามีลงมือฆาตกรรมภรรยา
คุณสามีเปิดเผยกับนักวิจัยว่า ยิ่งเขาเออออห่อหมกกับภรรยาเท่าไร เธอก็ยิ่ง ‘สุดซอย’ วิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งที่เขาทำมากขึ้นๆ จนเขาสุดทน
คืนที่ 12 ของการทดลอง เขาต้องทำใจร่มๆ ไปชงชาให้เธอ แล้วนั่งปลายเตียงอธิบายให้เธอฟังว่า นี่คือการทดลอง แล้วแจ้งขอให้ยกเลิกงานวิจัยนี้อย่างเป็นทางการ
ทางด้านภรรยา ใช่ว่าเธอจะมีความสุขสุดขีด เมื่อได้เป็นผู้ถูกเสมอในบ้าน เพราะความสุขที่บันทึกเพิ่มจาก 8 เป็น 8.5 ในช่วง 6 วันแรก แล้วเธอก็ไม่ได้รู้สึกดีเลยกับการต้องมาประเมินความสุขของตัวเองในแต่ละวัน
ดังนั้น ถึงแม้การทดลองนั้นจะถูกยกเลิกกลางคัน แต่สมมุติฐานของงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ‘It’s better to be right than to be happy.’ การทำสิ่งที่ถูกต้องจะทำให้คนเรามีความสุข การพยายามเห็นด้วยทั้งที่ไม่เห็นด้วยนั้นสร้างความทุกข์ ยิ่งในความเป็นคู่รักการพยายามรักษาชีวิตคู่ด้วยการเห็นเหมือนไปซะทั้งหมดเป็นเรื่องทำร้ายกันซะมากกว่าการแสดงความรัก
2 ปีที่ผ่านมาของการเมืองไทย ก็จะพบว่า มีคนจำนวนหนึ่ง – ซึ่งอันที่จริงน่าจะพอมีความคิดอยู่มาก – ตกอยู่ในอาการที่ว่า คือ มีความพยายามปกป้อง สนับสนุน หาข้อดีในนโยบายที่มีปัญหา เพียงเพื่อคุ้มครองรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยพยายามทำใจข่มที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลที่พวกเขาสนับสนุนอย่างมีเหตุมีผล (การให้ข้อเสนอแนะที่ดี ต้องชี้ให้เห็นปัญหาก่อน) เพียงเพราะเกรงว่า นี่จะเป็นการเปิดช่องให้มือที่มองเห็นและมองไม่เห็นถือโอกาสเสียบล้มรัฐบาล
…ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง…และนำมาสู่ความ ‘สุดซอย’ ของทุกกลุ่มในวันนี้
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ได้สรุปไว้ว่า มนุษย์เราต้องดำรงในสิ่งที่ถูกต้อง และพึงได้รับการยอมรับในการดำรงความถูกต้องเพื่อจะได้มีความสุขบ้าง
นี่คือข้อสรุปของทีมวิจัย เราทุกคนยอมรับว่า ไม่มีสันติภาพใดเกิดขึ้น หากยังไม่มีความยุติธรรม ความสัมพันธ์ภายในบ้าน เช่นเดียวกับในเชิงการเมือง
“การให้อำนาจมากเกินไป ทำให้มนุษย์คิดว่าตัวเองมีอำนาจสูงสุด และนั่นจะทำให้พวกเขายิ่งก้าวร้าว (ยิ่งสุดซอย) และน่าอันตราย”
ฉะนี้ รัฐบาลของมวลมหาประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะดีและสร้างความสุขในสังคมได้นั้น ก็ด้วยการสร้างพลังตรวจสอบที่เข้มแข็งทั้งในและนอกสภา และในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้การใช้อำนาจมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม
***************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Itchy world นิตยสาร Way 69)
อ้างอิงข้อมูลจาก
healthland.time.com
telegraph.co.uk
facebook.com/SarineeA