ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากเชื้อ COVID-19 ถอดบทเรียนจากฮ่องกงและสิงคโปร์

ดร.จิตติพร ฉายแสง

เมื่อโรค COVID-19 เริ่มระบาดขึ้นมาก บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ พวกเขามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า เมื่อกลับบ้านไปหาครอบครัวก็กลายเป็นพาหะนำโรคไปสู่ที่บ้านอีก เราจะทำอย่างไรให้พวกเขาป้องกันตัวเองจากการติดโรคนี้

ถ้าเราถอดบทเรียนจากจีน ที่แทบจะไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อในช่วงหลังๆ เลย จะพบว่ารัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดมาก ทั้งปิดเมืองอู่ฮั่น เตรียมชุดป้องกันแบบครบเครื่องและจำนวนมากพอ กักตัวบุคลากรในโรงพยาบาลทุกคนที่มีโอกาสติดเชื้อให้ย้ายเข้าไปอยู่หอรวมกัน แล้วให้ทีมแพทย์พยาบาลจากที่อื่นเข้าไปเสริมกำลังได้ มาตรการแบบนี้ทำได้แต่ในประเทศจีนเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ต้องใช้วิธีอื่นเพื่อจัดการกับปัญหาการติดเชื้อของบุคลากร

หันมาดูทางสิงคโปร์และฮ่องกง ที่ใช้ทางสายกลางควบคุมการแพร่กระจาย ในส่วนภาคประชาชน รัฐบาลห้ามการชุมนุมขนาดใหญ่ ให้คนทำงานที่บ้านและสนับสนุนให้เว้นระยะห่างทางสังคมตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ในช่วงแรกๆ ทั้งสองแห่งต่างเจอปัญหาด้านการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์หลายด้าน ทั้งชุดป้องกันเชื้อโรคและหน้ากาก N95 ไม่เพียงพอ การตรวจสอบผู้ติดเชื้อก็ยังมีไม่มาก แต่พอผ่านไปสัก 6 สัปดาห์ ทั้งสองประเทศเริ่มคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ดีขึ้น ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อน้อยมาก

เทคนิคสำคัญที่ใช้คือ

  1. สุขอนามัยส่วนตัว  (Personal Hygiene)
  2. คัดกรองและแบ่งแยก (Screening and Zoning)
  3. เว้นระยะทางสังคม (Social Distancing)
  4. ป้องกันเมื่อจำเป็น (PPE is Necessary)
  5. หลักเกณฑ์การกักตัว (Quarantine Policy)

1. สุขอนามัยส่วนตัว (Personal Hygiene)

  • บุคลากรในโรงพยาบาลทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือทุกครั้งที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ทุกคน
  • ต้องมีการล้างมืออย่างถูกต้อง
  • หลังจากตรวจคนไข้คนหนึ่งแล้ว ต้องมีการฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวต่างๆ ก่อนจะตรวจคนไข้รายต่อไป

2. คัดกรองและแบ่งแยก (Screening and Zoning)

คนไข้ที่มีอาการน่าสงสัย (ไข้ต่ำๆ ไอ มีปัญหาทางเดินหายใจ อ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ) หรือมีประวัติเสี่ยง ต้องถูกแยกจากคนไข้ที่เหลือทั้งหมดและพาไปตรวจรักษาในวอร์ดโรคทางเดินหายใจที่แยกออกไปต่างหาก โดยใช้ทีมแพทย์และบุคลากรอีกชุดหนึ่ง

3. เว้นระยะทางสังคม (Social Distancing)

  • ภายในโรงพยาบาลต้องมีการใช้มาตรการ ‘ระยะห่างทางสังคม’ ทั้งระหว่างบุคลากรและกับคนไข้
  • เก้าอี้ในห้องนั่งรอของคนไข้ต้องตั้งห่างกัน 2 เมตร
  • การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรต้องเว้นระยะห่าง
  • แพทย์กับคนไข้ต้องอยู่ห่างกัน 6 ฟุต ยกเว้นตอนตรวจร่างกาย
  • อย่าลืมว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือการให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากด้วย

4. ป้องกันเมื่อจำเป็น (PPE is Necessary)

หน้ากาก N95 หมวกป้องกันใบหน้า แว่นป้องกันดวงตาและชุดป้องกันเชื้อโรค ทั้งหมดนี้จะใช้ต่อเมื่อมีกระบวนการรักษาเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่อาจทำให้เกิดละอองฟุ้งกระจาย และในเคสที่สงสัยหรือตรวจพบแล้วว่าเป็น COVID-19

กรณีศึกษาจากสิงคโปร์: บุคลากรของโรงพยาบาลชางงี (Changi General Hospital) จำนวน 41 คนได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายหนึ่ง ในหัตถการที่ทำให้เกิดละอองฟุ้งกระจาย (เป็นเวลาเกิน 10 นาที และระยะห่างน้อยกว่า 2 เมตร) 85 เปอร์เซ็นต์ ของบุคลากรใส่หน้ากากอนามัย ที่เหลือใส่หน้ากาก N95 ทางโรงพยาบาลได้สั่งกับตัวบุคลากรทั้งหมดเป็นเวลา 14 วัน และตรวจพบว่าไม่มีใครติดเชื้อ COVID-19 เลย

5. หลักเกณฑ์การกักตัว (Quarantine Policy)

  • หากพบผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล/คนไข้ ติดเชื้อ ไม่ว่าในห้องตรวจหรือห้องฉุกเฉิน จะไม่ใช้วิธีปิดสถานที่หรือสั่งทุกคนกักตัวที่บ้าน แต่พยายามสืบหาว่าใครมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยบ้างและกักตัวเฉพาะคนคนนั้น
  • ในอเมริกา ‘การสัมผัสใกล้ชิด’ คือ
    ก) อยู่ใกล้ผู้ป่วยระยะห่างน้อยกว่า 2 เมตร เป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่นดูแลหรือเข้าเยี่ยมผู้ป่วยหรือนั่งใกล้ผู้ป่วยในห้องนั่งรอของคนไข้ หรือ
    ข) สัมผัสโดนสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยไม่ได้ป้องกัน เช่นถูกไอใส่หน้าหรือจับกระดาษทิชชูของผู้ป่วยโดยไม่ได้ใส่ถุงมือ
  • ในฮ่องกง ‘การสัมผัสใกล้ชิด’ (close contact) หมายถึงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะห่างน้อยกว่า 2 เมตรและไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานกว่า 15 นาที ในสิงคโปร์คือนานกว่า 30 นาที
  • หากบุคลากรมีการสัมผัสผู้ป่วยน้อยกว่าเกณฑ์นี้ แต่อยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 2 เมตรเกิน 2 นาที บุคลากรนั้นยังทำงานได้ แต่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และต้องวัดอุณหภูมิร่างกายวันละ 2 ครั้ง
  • ส่วนคนทั่วไปที่บังเอิญมีการสัมผัสผู้ป่วยระยะสั้น จะถูกขอให้คอยสังเกตอาการตัวเอง

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

  • การสื่อสารที่รวมเป็นหนึ่งเดียว พร้อมแนวทางและข้อมูลที่ชัดเจนโปร่งใสทันสมัยเป็นปัจจุบัน
  • ผู้ปฏิบัติงาน ใช้ช่องทางอื่นๆ ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย เช่น โทรศัพท์และวิดีโอ
  • ผลักดันให้บุคลากรทั้งหมด (ไม่ใช่แค่ผู้ที่มีอาการป่วย) รายงานว่ามีอาการไข้หรือหวัดก่อนเริ่มทำงานในแต่ละวัน
  • การล้างมือมีความสําคัญสูงสุด ควรล้างมือระหว่างการเปลี่ยนถุงมือ
  • คุณหมอที่สิงคโปร์ไม่ได้เปลี่ยนหน้ากาก N95 หรือแว่นป้องกันดวงตาบ่อยนัก ถ้าไม่มีการปนเปื้อน (การเปลี่ยนหน้ากากน้อยลงทำให้เอามือจับหน้าน้อยลงและช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ) แต่คุณหมอจะเปลี่ยนชุดป้องกันเชื้อโรค ถุงมือ และล้างมือระหว่างเปลี่ยนคนไข้ทุกครั้ง

 

อ้างอิง

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า