ข้าพเจ้ากึ่งหลับกึ่งตื่น บนรถตู้ที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านหมู่บ้านแล้วหมู่บ้านเล่าในจังหวัดนราธิวาส ก่อนรู้สึกตัวตื่นเต็มตา หลังล้อรถชะลอจอดเทียบริมฟุตบาท ด้านข้างคือร้านรวงรายทาง ด้านหลังคือผู้คนที่ต่างจับจองมุมเล็กๆ เพื่อนั่งหย่อนใจ บริเวณสะพานคอยร้อยปีที่ทอดยาวข้ามผ่านแม่น้ำตากใบจากแผ่นดินใหญ่สู่เกาะยาว จังหวัดนราธิวาส
เด็กเล็กโหนชิงช้า ผู้ใหญ่ทอดสายตาไปยังเวิ้งน้ำ มอเตอร์ไซค์สัญจรหอบลูกหลานข้ามไปมา นักเรียนกลุ่มใหญ่มองหาเหลี่ยมมุมริมสะพานเพื่อทานอาหารในมือกับเพื่อนพ้อง ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติในโมงยามนั้น แต่ขณะเดียวกัน สิ่งผิดปกติก็ได้ซ่อนเร้นกายรอวันปะทุ มันเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เดี๋ยวหนักเดี๋ยวเบา ทว่า ‘ปัญหา’ ไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่ใครบ้างที่จะมองเห็น
เดินทางอีกราว 20 นาทีถัดมา คือบ้านของ แยนะ สะแลแม หรือใครต่อใครมักเรียกว่า ‘ก๊ะนะ’ เธอใช้ชีวิตบั้นปลายไปกับการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ และใช้เวลาชีวิตที่เหลืออ้อนวอนต่อพระเจ้า ภาวนาขอให้ยืนยาวต่อไปอีกสักนิด เพื่อบอกเล่าความทรงจำอันเลวร้ายในวันนั้น ก่อนถูกกลบฝังและหลงลืม

“ทุกครั้งที่เราเล่า เหมือนเรื่องมันเพิ่งเกิดเมื่อวานเอง เรายังจำได้ ความทรงจำของเรายังมีอยู่ ยังเห็นภาพวันนั้นอยู่ พอใกล้ถึงวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ เราก็มองดูรูปพวกนั้นตลอด มันคอยเตือนเรา มันอยู่ในสมองของเราหมดเลย”
ใครจะลืมก็ลืมไป แต่เธอไม่อาจลืมเหตุการณ์ตากใบ ณ วันนั้น
7 คน เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม
7 คน สูญหายจากเหตุการณ์
1,370 คน ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน
78 คน เสียชีวิตขณะถูกลำเลียงในรถบรรทุก
58 คน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีในฐานะ ‘แกนนำการชุมนุม’
ชีวิตของก๊ะนะ ห่างไกลคำว่าสุข อาจเรียกว่าเผชิญความทุกข์วันแล้ววันเล่า เธอหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณที่ยังหลงเหลือด้วยคำสอนขององค์อัลเลาะห์ และดำรงอยู่เคียงข้างทุกข์โศกของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ
เมื่อไม่ลืม ก็ต้องจำ
เหตุการณ์ ‘ตากใบ’ ที่เคยเกิดในวันนี้เมื่อ 18 ปีก่อน ถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการรับรู้ทางการเมืองในวงกว้างที่สุด ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
การชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบในวันนั้น เริ่มต้นจากชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นพลเมืองที่รัฐแต่งตั้งให้ดูแลความปลอดภัยในท้องที่ ได้เเจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเหตุการณ์ที่พวกเขาถูกผู้ก่อความไม่สงบข่มขู่เพื่อปล้นปืนลูกซอง 6 กระบอก ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างนั้น โดยมองว่า ชรบ. ทั้ง 6 อาจเป็นหนอนบ่อนไส้ และตั้งใจมอบปืนให้กลุ่มผู้ก่อการ จึงทำการจับกุมทั้งหมดมาสืบสวนต่อที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ
25 ตุลาคม 2547 เกิดการชุมนุมของชาวบ้านนับพันบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ ชรบ. ทั้ง 6 คน ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การชุมนุมนี้เกิดขึ้นในระหว่างเดือนรอมฎอน



“ในวันนั้น ก๊ะนะเดินทางไปตอน 10 โมงเช้า แต่ว่าชาวบ้านคนอื่นๆ เขาไปตั้งแต่ 8 โมง เราไปช้าหน่อยเพราะแรกๆ เราไม่รู้ว่าต้องไปที่ไหน เรายังไม่รู้ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น หลังจากนั้น พอไปถึง ตอนแรก เรายังเข้าไปข้างในได้เพราะทหารยังไม่ได้ห้าม แต่เราหาลูกไม่เจอ ตอนนั้นยังไม่มีเหตุการณ์ชุลมุน ชาวบ้านแค่เรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. เท่านั้นเอง
“เราตั้งใจจะอยู่ที่นั่นจนถึงบ่ายโมง เพราะต้องรีบไปละหมาด แต่ตอนนั้นออกไปไหนไม่ได้ เพราะรถฉีดน้ำล้อมเราอยู่เต็มไปหมด เราก็จำเป็นต้องอยู่ข้างใน จนถึงบ่าย 3 โมง เจ้าหน้าที่เขาก็สลายการชุมนุม ชาวบ้านและผู้หญิงเป็นร้อยๆ คน โดนฉีดน้ำใส่ ผู้ชายบางคนก็หนีลงแม่น้ำ ผู้หญิงก็มี ส่วนก๊ะนะไม่โดนฉีดน้ำเลย เราหนีพ้น”
เมื่อไม่ลืม ก็ต้องเล่า
หลังการชุมนุมเริ่มบานปลาย ส่งผลให้แม่ทัพภาคที่ 4 มีคำสั่งสลายการชุมนุม โดยระดมฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชน มีการตอบโต้กันไปมานานกว่า 30 นาที เหตุการณ์นี้มีประชาชนเสียชีวิต 7 คน สูญหาย 7 คน และมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย
โศกนาฏกรรมไม่ได้หยุดอยู่เพียงตรงนี้ เพราะหลังสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการควบคุมตัวผู้ชุมนุม 1,370 คน ขึ้นรถ GMC และรถบรรทุกกว่า 20 คัน มุ่งหน้าสู่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ระยะทางราว 150 กิโลเมตร
เป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง ที่ผู้ชุมนุมถูกจับถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้าซ้อนทับกัน 4-5 ชั้น แออัดยัดเยียดในรถบรรทุก เสียงร้องขอความช่วยเหลือดังระงม หลายคนหายใจไม่ออก หลายคนเจ็บปวดทรมานจากการถูกทับ พวกเขาอ่อนเพลียเป็นทุนเดิมจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ชั่วโมงแห่งความเป็นและความตายดำเนินไปยาวนาน ก่อนลงเอยด้วยการสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น

จากรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า มี 77 คน เสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้าย และอีก 1 คน ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ผลชันสูตรศพชี้สาเหตุการตายว่า เกิดจากการขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก และไตวายเฉียบพลัน
“หลังจากที่เขาสลายการชุมนุม วันถัดมา ก๊ะนะออกเดินทางไปตั้งแต่เช้า เพราะลูกชายและญาติๆ ของเราอยู่ในรถบรรทุกด้วย เราไปเฝ้าหน้าประตูค่ายอิงคยุทธบริหาร พอไปถึงประมาณ 5 ทุ่ม ทหารก็มาบอกเราว่าให้กลับได้แล้ว เราบอกไปว่า ขอนอนที่นี่ได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ ก๊ะนะก็เลยต้องกลับ”
“วันรุ่นขึ้นก๊ะนะเดินทางไปอีกครั้ง เพราะไม่รู้ว่าลูกชายยังอยู่ในค่ายไหม หรือเสียชีวิตไปแล้ว แล้ววันต่อมา ทหารเขาก็ติดรายชื่อบนถนนสี่แยกดอนยาง เราก็ไปดูรายชื่อ ซึ่งก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงแยกดอนยาง ก๊ะนะได้คุยโทรศัพท์กับลูกชาย เขาบอกว่าเขาไม่เป็นอะไร แต่เขาก็บอก คนนู้น คนนั้น คนนี้ เสียชีวิตหลายคน”
ผู้รอดชีวิตจากความเลวร้ายในรถบรรทุกวันนั้น ยังคงตกอยู่ใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการสอบสวนผู้ชุมนุมอยู่ร่วมสัปดาห์ ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐได้จับกุมคุมขังผู้ชุมนุมจำนวน 58 คน และดำเนินคดีในฐานะ ‘แกนนำการชุมนุม’
มูฮำหมัดมารูวาซี มะหลง ลูกชายของก๊ะ – แยนะ สะแลแม กลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องคดีในข้อหาแกนนำและซุกซ่อนอาวุธ
“แรกๆ เขาก็จับลูกเราไปสอบถาม 7 วัน แต่เขาเอาลูกเราไปไม่ได้ เพราะก๊ะนะบอกแล้วว่าหลังจาก 7 วัน ต้องส่งลูกชายกลับมา ตอนที่เขาโดนจับ เขาอายุแค่ 25 เอง เขาโกรธมาก เพราะการที่ทหารทำกับเขาในวันเกิดเหตุตากใบ คือ เขาถูกจับ ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแกนนำ เขาโกรธนะ เขาเคยเล่าว่า เขาถูกเหยียบ ถูกกระทืบ รอยรองเท้ามันยังอยู่บนหลังเขา
“หมู่บ้านของเราสูญเสียไป 4 คน จากเหตุการณ์นี้ คนในชุมชนทุกคนหน้าเศร้าหมดเลย เขาไม่รู้ว่าทำไมรัฐถึงทำแบบนี้ เขาไม่ได้ผิดอะไร เขาแค่เรียกร้องให้ปล่อย ชรบ. 6 คน เท่านั้นเอง แต่ช่วงนั้นชาวบ้านไม่กล้าพูด ไม่มีใครกล้าที่จะพูด เขากลัวกันมากเลย เวลาเจอทหารหรือมีทหารเข้ามาในชุมชน ชาวบ้านก็จะโทรมาหาก๊ะนะแล้วถามว่าทหารมาทำไม เขากลัวทหารกันมาก
“ทุกคนแทบไม่กินข้าว ไม่หิวเลย คือกินไม่ลง เราก็ไม่รู้จะทำยังไง องค์กรต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาเยียวยา เรารู้สึกว่าดีหน่อยที่ยังไม่ทิ้งพวกเรา หลายๆ องค์กรมาช่วยเยียวยาจิตใจครอบครอบที่สามีเสียชีวิต ลูกที่พ่อเสียชีวิต หรือภรรยาที่สูญเสียลูก
“ส่วนตัวก๊ะนะโกรธมาก เราพูดกับพี่คนหนึ่งที่เขามาทำกระบวนการเยียวยาว่า พี่…พี่ทำใจได้เพราะไม่ใช่ลูกพี่ แต่ก๊ะนะทำใจไม่ได้ ตอนนั้นเราโกรธมากๆ”

เมื่อยังมีชีวิต จึงต้องทวงถามความยุติธรรม
เมื่อลูกชายถูกดำเนินคดีจากความผิดที่ไม่ได้ก่อ สามีถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบในปี 2550 ก๊ะนะต้องกลายเป็นเสาหลักที่แข็งแกร่งของครอบครัว ของลูกๆ ทั้ง 8 คน หลานๆ ทั้ง 5 คน และชุมชนที่แตกสลาย
เธอเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านและศาล เป็นจำนวนถึง 52 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ปี หลายครั้งเธอกลายเป็นล่ามภาษาไทย-มลายู ระหว่างการพิจารณาคดี และอีกหลายครั้งที่เธอคอยช่วยประสานข้อมูลระหว่างทนายความกับจำเลย และระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน
“กว่าคดีจะถอนฟ้อง เราขึ้นศาลทุกนัดเป็นเพื่อนลูก เราเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เข้าไปในห้องพิจารณาคดี ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่เป็นลูกเมียผู้ต้องหานั่งอยู่ข้างนอก ไม่กล้าเข้าไป เราต้องประสานงานให้ผู้ต้องหา ประสานงานกับองค์กรต่างๆ ที่มาช่วยเหลือ และประสานเรื่องเงินเยียวยาให้กับครอบครัวที่สูญเสีย”



14 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีมติอนุมัติเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตากใบ รายละไม่เกิน 7,500,000 บาท ขึ้นอยู่กับระดับของความเสียหายซึ่งภาครัฐจะเป็นผู้ประเมิน
“เราชอบคุยกับชาวบ้าน เคยถามเขาว่า พอไหมกับเงิน 7,500,000 บาท เขาก็บอกว่า มันไม่พอหรอก เขาไม่อยากจะแลกกับชีวิตลูกเขา ตรงนี้แหละที่เราคิดว่าต้องหาความยุติธรรมต่อ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา เจ้าหน้าที่ก็ชอบพูดว่า จะอะไรนักหนาก๊ะนะ เงิน 7,500,000 บาท ก็ได้ไปแล้ว แต่บางครอบครัวเขามีลูก 10 คน เขาจะอยู่กันยังไง เราไปพูดในเวทีนั้นเวทีนี้ว่าเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการชดใช้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อาจจะต้องเยียวยาช่วยเหลือเรื่องอาชีพการงานระยะยาวด้วย แต่หลังจากนั้นก็เงียบไป”
บทวิเคราะห์ ‘เหตุการณ์ตากใบกับการแปลงเปลี่ยนที่ชะงักงัน’ (2560) โดย ประทับจิต นีละไพจิตร ระบุถึงมาตรการชดเชยเยียวยาของรัฐบาลว่า เป็นการมุ่งเน้นการจ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก และมีการให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลเหยื่อบางราย มีการให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเหยื่อบางรายอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีการบันทึกรายชื่อและความช่วยเหลือที่ได้รับอย่างเป็นระบบ อีกทั้งการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาและการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นมีความหมายกํากวม และอาจเป็นการบังคับให้เหยื่อลืมโดยปริยาย นอกจากนี้ กระบวนการจัดสรรเงินชดเชยยังไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมเหยื่อทั้งหมด และการที่เหยื่อไม่ได้รับเงินจํานวนเท่ากัน ทําให้เหยื่อบางรายเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ มาตราการเยียวยาของรัฐยังไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฏหมายระหว่างประเทศ ที่มองว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนมิได้สร้างความเสียหายเชิงวัตถุซึ่งทดแทนได้ด้วยเงินเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายทางกายและใจ และสร้างความยากลำบากให้กับเหยื่อในการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมภายนอก การฟื้นฟูจึงต้องเป็นไปโดยครอบคลุมทั้งการเงิน สุขภาพ การศึกษา จิตใจ และสังคมวัฒนธรรม มิใช่เพียง ‘จ่ายแล้วจบ’ ดังเช่นที่ผ่านมา
ท้ายที่สุด ก๊ะนะเดินทางสู่บทบาทใหม่ในชีวิต บทบาทที่ทำให้เธอยังคงดำรงอยู่ได้ ภายใต้ความรุนแรงทางจิตใจและความทรงจำอันเจ็บปวด ในฐานะผู้ประสานงานของกลุ่มญาติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ
“ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ตากใบอย่างเดียว บางทีมีคนต้องการร้องเรียน เขาไม่รู้จักใคร เขารู้จักแค่ก๊ะนะ เขาก็มาร้องเรียนทุกๆ เหตุที่เกิด สมมุติมีคนถูกจับ ถูกยิง เงินเยียวยาไม่ได้ เขาไม่รู้จะไปพึ่งใคร ไม่รู้ว่าต้องไปหาใคร เราก็แนะนำ แล้วบางทีเราก็พาไป เราเป็นผู้ประสานงานเหตุการณ์ตากใบที่คนรู้จักมากที่สุด


“ตอนแรกก๊ะนะก็กลัว ไม่กล้าพูด แต่หลังจากเอาศพของคนในชุมชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบกลับมา 4-5 วัน มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ก๊ะเยอะแยะเลย แรกๆ นักข่าวของมาเลเซียเขาก็ถามว่า ก๊ะนะกล้าไหม ตอนนั้นเราพูดภาษาไทยยังไม่ชัดเท่าไร พูดได้แต่ภาษามลายู เราก็บอกนักข่าวไปว่า เรากล้า เราจะเล่าความจริง เราจะบอกความจริง
“หลังๆ มีผู้หญิงถูกยิงที่ตากใบเยอะ หลายคนก็บอกว่า ก๊ะนะระวังตัวนะ เดี๋ยวนี้เขาเก็บผู้หญิงด้วย ก๊ะนะก็บอกว่า เขาไม่ใช่พระเจ้า เขาทำไม่ได้ พระเจ้าคือสิ่งเดียวที่ทำให้เราอยู่ได้”
เมื่อความรุนแรงยังอยู่ สันติภาพไม่มีทางบังเกิด
ผ่านมาแล้ว 18 ปีเต็ม เธอคอยเตือนความทรงจำทุกคนผ่านการจัดงานครบรอบเหตุการณ์ตากใบในทุกๆ วันที่ 25 ตุลาคม ของทุกปี ว่าที่แห่งนี้มีคนตาย มีคนโดนจับกุมโดยไม่เป็นธรรม มีแม่และพ่อที่สูญเสียลูก มีภรรยาที่สูญเสียสามี มีครอบครัวที่แตกกระสานซ่านเซ็น และมีความเจ็บปวดตามติดเป็นเงาตามตัว
ปัจจุบัน เธอล่วงเข้าสู่วัยชรา อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมกับลูกหลาน ทำงานค้าขายเล็กน้อยพร้อมๆ กับเพรียกหาความยุติธรรมให้บังเกิดแก่ผู้คนชายแดนใต้ สำหรับเธอแล้ว แม้ระยะหลังความถี่ของเหตุการณ์ความรุนแรงจะดูลดลง แต่ปัญหายังคงไม่หายไปไหน สันติภาพยังไม่เคยบังเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 ระบุว่า สถานการณ์ทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547-2564 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 21,485 เหตุการณ์ ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7,344 ราย บาดเจ็บจำนวน 13,641 ราย รวมผู้บาดเจ็บล้มตาย 20,985 ราย นับว่าเป็นพื้นที่ที่ความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบสูงที่สุดในประเทศไทยในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา
และหากเราไปดูงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด จะพบว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2559 ที่ตัวเลขงบประมาณแตะถึง 30,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นปีหลังจากการก่อรัฐประหารของ คสช. และงบประมาณพุ่งสูงถึง 40,000 ล้านบาท ในปี 2561 จนกระทั่งในปี 2565 ก็ยังสูงถึงประมาณ 31,000 ล้านบาท แม้ตัวเลขจะลดลง แต่ก็ยังสูงมากกว่างบประมาณรายปีในแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร
จุดสำคัญที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ชี้ให้เห็นคือ งบประมาณโดยรวมทุกแผนงานที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2565 สะท้อนว่ารัฐบาลให้ความสนใจด้านความมั่นคงมากเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยงบประมาณในการก่อสร้าง โดยงบประมาณด้านความมั่นคงส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในประเภท ‘งบรายจ่ายอื่น’ ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องให้มีการดำเนินการโดยไม่โปร่งใส ขณะที่การกระจายรายได้ การสร้างอาชีพ การพัฒนาท้องถิ่น และสวัสดิการสังคม กลับถูกละเลยจากยุทธศาสตร์
ประเด็นที่ควรขบคิดและตั้งคำถามต่อไป คือแนวทางยุทธศาสตร์และการวางแผนงบประมาณ รวมถึงการทุ่มกำลังคนและทรัพยากรจำนวนมากเพื่อสร้างภาวะสงบสันติของรัฐบาลนั้น แก้ปัญหาได้จริงหรือ รวมไปถึงคำถามสำคัญที่ว่า สันติภาพคืออะไรในมุมมองของรัฐกันแน่

อ้างอิง
- ชายแดนใต้/ปาตานี 2547-2564: ก้าวเข้าปีที่สิบเก้า สันติภาพจะเดินหน้าไปถึงไหนในปี 2565?
- ประทับจิต นีละไพจิตร. “เหตุการณ์ตากใบกับการแปลงเปลี่ยนที่ชะงักงัน”. (2560), วารสารวิจัยสังคม, 40 (1), 17-64, เข้าถึงได้จาก http://www.cusri.chula.ac.th/wp-content/uploads/2017/07/journal-60-01-03.pdf
- 15 ปีตากใบ: แผลกดทับในใจที่ไม่เคยได้รับการรักษา
- 8 ปีตากใบ (1) เมื่อการเยียวยาไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นธรรม
- สลายการชุมนุมตากใบ: ประสบการณ์ลืมไม่ลงของ “ไทยมุง”
- คดีตากใบจบแล้วจริงหรือ ?