Midnight in Auckland

Auckland-2

เรื่อง/ภาพ: ดาริกา บำรุงโชค

New See Land

 

หญิงสาวพลัดถิ่นนั่งหลบมุมเพียงลำพังภายในร้านคาเฟ่เตอร์กิช ใจกลางย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองโอ๊คแลนด์ (Auckland) กลายเป็นภาพคุ้นตาของพนักงานประจำร้านที่นี่ บ่อยครั้งเธอจะหอบสัมภาระพะรุงพะรังมาวางไว้เต็มโต๊ะตัวโปรดของเธอตรงมุมริมหน้าต่างชั้นสอง เสมอๆ

แม้บรรยากาศภายในร้านจะอื้ออึงไปด้วยเสียงสนทนาหลายภาษา เคล้าคลอเสียงดนตรีแจ๊ส ทว่าเธอกลับได้ยินแต่เสียงความสับสนภายในหัวสมองโต้เถียงกันไปมา

“ชีวิตจะเดินต่อไปยังไงดี?” คำถามนี้วนซ้ำเหมือนแผ่นเสียงตกร่องอยู่ในหัวของเธอ

ย้อนปฏิทินกลับไปเมื่อ 6 เดือนก่อน เธอตกอยู่ในห้วงชีวิตขมุกขมัว สับสน ไร้ทิศทาง หมดไฟ หมดใจ ‘เบื่อ’ ทั้งงานประจำที่เธอเคยทำอย่างเร่าร้อนตอนเริ่มต้น ก็กลับละม้ายคล้ายโซ่ตรวนหน่วงชีวิตแต่ละวัน หรือนี่อาจเป็นโรคประจำตัวของเด็กสังกัดเจเนอเรชั่น Y ก็เป็นได้

เธอคิดหาทางเยียวยาตัวเองอย่างเท่ๆ ว่า การแบกกระเป๋า ‘ออกเดินทาง’ อาจเป็นทางเดียวที่อาจเติมชีวิตชีวาให้ชีวิตแห้งกันดารได้บ้าง

‘หากการเดินทาง คือ การพลัดพราก’ เธอเลือกวิถีทางนี้ เพื่อถอยห่างจากชีวิตเดิมๆ และอาจช่วยปรับโฟกัสชีวิตให้ชัดเจนขึ้นได้บ้าง – ไม่มากก็น้อย

เธอเริ่มต้นภารกิจด้วยการยื่นใบลาออกจากงานประจำ ทุบกระปุกออมสินเทเงินเท่าที่มีทั้งชีวิต แล้วมาบินเดี่ยวมา ‘ใช้ชีวิต’ ในประเทศ ‘นิวซีแลนด์’ 1 ปี

“จะไปเลี้ยงแกะ คุยกับนกนางนวลริมทะเลเหรอพี่ ประเทศนี้เงียบเหงา ระวังเฉาตายนะ…!” มิตรรุ่นเยาว์ที่เคยเนรเทศตัวเองไปอยู่ที่นั่นมาก่อนร้องทักเธอล่วงหน้า

Auckland-1

นั่นก็มีส่วนจริงอยู่ แม้แต่เมืองใหญ่ที่สุดอย่างโอ๊คแลนด์ ก็มีจังหวะไม่ครื้นเครงแบบเมืองใหญ่อื่นๆ ไม่ชอบสีสันฉูดฉาดจัดจ้าน ไม่เดินตามเทรนด์แฟชั่นมากนัก แต่เสน่ห์ของเมืองนี้เอนเอียงไปทางความเรียบง่าย ธรรมชาติ ดิบๆ เสียมากกว่าความหรูหรา หวือหวา แบบประดิษฐ์ๆ

ช่วงเวลาโปรดปรานของ ‘คนกีวี’ (ชื่อเล่นเรียกชาวนิวซีแลนด์) ส่วนใหญ่มักเป็นตอนท้องฟ้าสว่างมากกว่ายามราตรี อาจเพราะทิวทัศน์ธรรมชาติที่ปูเสื่อรองรับกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นล่องเรือ ตกปลา trekking แช่บ่อน้ำพุร้อน หรือเดินทอดอารมณ์ในสวนสาธารณะ แต่ต้องลุ้นดินฟ้าอากาศที่ใน 1 วันมี 4 ฤดูว่าจะสุ่มเจออากาศแบบไหนในแต่ละวัน

ความตื่นเต้นในเดือนแรกก็ชวนให้เธอตระเวนเช็คอินสถานที่ตามไกด์บุ๊คชี้นำอย่างเพลิดเพลิน จนหลงลืมไปว่า การเดินทางเพื่อไป ‘ท่องเที่ยว’ กับ ‘ไปใช้ชีวิต’ ย่อมมีสิ่งที่เหลื่อมล้ำกันอยู่บ้าง – อย่างแรกก็คือ ‘เงิน’

เงื่อนไขค่าครองชีพในโอ๊คแลนด์แพงพอๆ กับการใช้ชีวิตยุโรปทีเดียว นั่นผลักดันให้เธอจำใจออกหางานทำเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตที่นี่ แต่ในภาวะที่คนกีวีเองยังหางานยาก นับประสาอะไรกับคนต่างด้าวอย่างเธอจะไปแก่งแย่งหางานดีๆ ได้ง่ายๆ

“เป็นเด็กเสิร์ฟ” เธอส่งข่าวกลับบ้านเกิดถึงตำแหน่งการงานที่นี่

“คนอย่างเธอเนี่ยนะ จะไปดูแลบริการใครเป็น!” สหายคนสนิทแผดเสียงประหลาดใจเมื่อทราบข่าวว่าเธอตัดสินใจลาออกจากนักข่าว แล้วมาทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่เมืองนอก

ถ้าไม่ได้จับพลัดจับผลูมาที่นี่ เธอเองก็คงไม่มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตแรงงานหาเช้ากินค่ำ งานนี้ไม่เพียงจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้เยื่อหุ้มหัวใจ ยังช่วยกระเทาะเปลือกอีโก้และทิฐิที่สะสมมานานจากสังคมที่จากมา ยิ่งตอนที่อยู่ในฐานันดร ‘สื่อมวลชน’ ดูเหมือนจะเป่าลมให้เธอตัวพองโตกว่าเป็นพิเศษ

แต่ด้วยจริตนักสัมภาษณ์ เป็นเหมือนสะพานช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ผ่านการชอบพูดชอบคุยกับลูกค้า เช่นเดียวกับขาประจำที่เธอโปรดปรานเป็นพิเศษ นั่นคือ สามีของอดีตนายกฯนิวซีแลนด์ 2 สมัย เฮเลน คลาร์ก ศาสตราจารย์ปีเตอร์ เดวิส แห่ง University of Auckland

ยามพระอาทิตย์ตกดิน อดีตบุรุษหมายเลข 1 ของนิวซีแลนด์จะเดินหิ้วขวดไวน์ขาวมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์รอเพื่อนก่อนเสมอ เขาเป็นคนเรียบง่าย มีอารมณ์ขัน คุยสนุก และชอบกินรสเผ็ดๆ ทั้งที่หน้าแดงก่ำ

หรือการพูดคุยกับบรรณาธิการนิตยสารผู้หญิงชื่อดัง เธอชื่อ เวนดี ที่มองแวบแรกมีบุคลิกราวกับมิแรนดา พรีสท์ลี ในหนังเรื่อง The Devil Wears Prada หรือจะเป็นลูกค้าที่ให้ทิปหนักยกให้เป็นเศรษฐีชาวจีนที่เป็นเจ้าของเกาะตาฮิติ (Tahiti) ที่ชอบทานอาหารไทย

น่าแปลกที่เธอกลับมองเห็นตัวเองในอีกมุมเมื่อมาเป็น ‘เด็กเสิร์ฟ’

Auckland-4

 

บทสนทนากับ ‘คนไร้บ้าน’

 

สิ่งที่เธอไม่รู้มาก่อนว่า โอ๊คแลนด์จะมีพลเมืองไร้บ้าน (homeless) เยอะขนาดนี้

ความทรงจำแรกบนถนนควีน (Queen Street) เธอยังติดตากับภาพชายร่างใหญ่หนวดเฟิ้มรุงรังเหมือน คุณลุงแฮกริด ในหนัง แฮร์รี พอตเตอร์ เดินคลุมผ้าห่มลากไปอย่างช้าๆ ตามถนน

“ถ่ายหนังกันหรือเนี่ย” เธออุทานกับตัวเอง แต่เมื่อกวาดสายตาสองฝั่งถนนควีน ย่านดาวน์ทาวน์ที่สุดของโอ๊คแลนด์ ปรากฏว่า ยังมีนักแสดงเช่นนี้เดินอยู่อีกหลายคนตามท้องถนน

เธอยอมรับด้วยความสัตย์จริงว่า สัญชาตญาณบอกให้เตรียมตั้งการ์ดสูงหวาดระวังภัยไว้ก่อน เมื่อเห็นชายเร่ร่อนร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำ รอยสักเต็มแขน ให้รีบเดินจ้ำออกห่างในทันที

น่าสนใจว่า นิวซีแลนด์มีนโยบายดูแลโฮมเลสเป็นอย่างดี มีสถานที่ให้พบปะสังสรรค์ ห้องอาบน้ำ เครื่องซักเสื้อผ้า หรือที่แวะพักชาร์จแบตฯมือถือ ก็มีให้สำหรับคนไร้บ้านโดยเฉพาะ

นานวันเข้า เธอก็เริ่มชินตากับสังคมโฮมเลสที่นี่ไปเสียแล้ว บางมุมก็แอบเห็นความน่ารักของเด็กสเก็ตบอร์ด ที่ย่องมาวางกล่องพิซซ่าอย่างเงียบๆ ไว้ข้างกายชายที่กำลังหลับสนิทอยู่ริมถนน ยามดึกแต่ละคนก็แยกย้ายจับจองมุมนอนตามหลืบ คืนไหนอากาศหนาวก็จะมีผ้าคลุมหลายชั้นคลุมทับ พอฟ้าสว่างบรรดาคนไร้บ้านก็เก็บผ้าห่มมานั่ง พูดคุยหัวเราะเสียงดังลั่นอย่างมีความสุขอยู่ข้างถนน

Auckland-6

แต่แล้ววันหนึ่งก่อนเที่ยงคืน ระหว่างที่เธอนั่งรอรถเมล์หลังเลิกงาน ชายคนหนึ่งตัวคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหล้า เดินเข้ามาขอบุหรี่จากเธอ เธอรีบบอกปฏิเสธด้วยน้ำเสียงตกใจ ทว่าการปฏิเสธนั้นกลับเปิดบทสนทนาระหว่างเธอกับชายแปลกหน้ากลางดึก

“ผมเป็นโฮมเลสมาหลายปีแล้ว” เขาบอกเธอด้วยน้ำเสียงหนักแน่น จากนั้นถ้อยความก็พรั่งพรูออกมาเพื่อสนทนากับเธอ ในเวลาเดียวกันเธอก็กำลังครุ่นคิดอย่างหนักว่าจะตัดสินใจลุกวิ่งหนีให้ห่างจากเขา เพื่อความปลอดภัย หรือ…ควรทำยังไงดี

แต่เขาก็ไม่ได้ดูเลวร้ายนัก เธอเลือกขยับถอยห่างจากเขามาระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ เริ่มพูดคุยถามว่าเหตุใดถึงมาเลือกใช้ชีวิตเป็นโฮมเลส

เขาเริ่มย้อนความหลังด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า “ผมเคยมีบ้าน มีงานประจำ มีทรัพย์สินในชีวิตมากมายกว่าตอนนี้ แต่นั่นกลับไม่มีความหมายต่อความสุขเท่าตอนที่ผมเป็นโฮมเลส วันนี้ผมมีเพื่อน มีสังคมที่พูดคุยกันรู้เรื่อง พวกเราไม่ได้แคร์อนาคตจะเป็นอย่างไร นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เท่าวันนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่…เพราะผมเคยป่วยหนักเกือบตายมาก่อน จึงรู้ความหมายของมัน” หลังจากนั้นเขาก็เล่าโยงถึงศรัทธาต่อพระเจ้าที่ช่วยชีวิตเขาไว้ราวกับปาฏิหาริย์

เขาเริ่มเห็นเธอขมวดคิ้ว จึงตอบว่า “คุณอาจไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ ไม่ต้องศรัทธาพระเจ้าเหมือนผมก็ได้ แต่เชื่อเถอะการมีชีวิตอยู่คือความสุข อย่าทำให้เรื่องอื่นเป็นภาระต่อการมีชีวิต”

เสียงรถเมล์มาถึงตรงเวลาเที่ยงคืน เบรกบทสนทนาระหว่างกัน เธอลุกขึ้นโดยไม่มีคำพูดใดๆ มีแต่เพียงชายแปลกหน้าไร้บ้านที่เอ่ย “Goodbye and Goodnight”

เธอก้าวขึ้นรถเมล์ช้าๆ พร้อมกับคิ้วสองข้างขมวดชิดกันเรื่อยๆ เธอรู้สึกเหมือนนั่งอยู่คลาสปรัชญาตอนเธอยังเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ คิดใคร่ครวญย้อนตีความหมายในสิ่งที่ชายแปลกหน้าสื่อความถึงเธอ

เธอจับได้เพียงคีย์เวิร์ด “บ้าน – งาน – ภาระ – มีชีวิต – เพื่อน – ความสุข – สละ – ปัจจุบัน – อนาคต” จากคนไร้บ้านที่ทิ้งปริศนาให้เธอขบคิดต่อ

Auckland-3

ความสว่างยามราตรี ที่โอ๊คแลนด์

 

“มอง Sky Tower จากมุมไกลๆ ยามราตรีนี่ก็สวยดีนะ” เธอหันไปส่งภาษาบอกชายหนุ่มที่นั่งอยู่เคียงข้างริมทะเลใต้สะพานโอ๊คแลนด์ฮาร์เบอร์บริดจ์ เขาแค่ส่งยิ้มกลับมา แล้วปล่อยให้เสียงคลื่นกระทบชายฝั่งบรรเลงเป็นซาวด์แทร็คประกอบบรรยากาศระหว่างเธอและเขายามเที่ยงคืน

ทั้งคู่บังเอิญพบกันเมื่อหลายเดือนก่อน เขาเป็นหนุ่มเกาหลีที่ค้นพบว่าตัวเองไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตในประเทศบ้านเกิดอีกแล้ว ส่วนเธออยู่ระหว่างการเดินทางค้นหาตัวเอง เพื่อกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด

“เมื่อแสงสว่างรอบข้างลดน้อยลง เรามักเห็นสิ่งตรงหน้าชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับ Sky Tower จากมุมนี้” เขาตอบกลับเธอด้วยน้ำเสียงยิ้มๆ

หลายค่ำคืน ทั้งคู่ขับรถตระเวนไปในหลายสถานที่ บ้างก็มีปลายทาง บ้างก็ไร้จุดหมาย บ้างก็หลงทางด้วยกัน บ่อยครั้งเขาชอบพาเธอปีนเขาขึ้นไปดูดาว หรือไม่ก็เดินเล่นเตร็ดเตร่ริมทะเลทักทายนางนวล แต่ทุกครั้งที่บทสนทนาเริ่มต้นขึ้น ทั้งคู่ก็ลืมไปเลยว่ากำลังเดินอยู่ท่ามกลางอากาศอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาฯ

“เคยอ่านหนังสือเรื่อง นกนางนวล โจนาธาน ลิฟวิงสตัน ไหม?” เขาเอ่ยถามเธอเมื่อเห็นฝูงนกนางนวลริมสะพาน

เธอยิ้มแล้วพยักหน้าตอบ อันที่จริงเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของเธอเลย

เขาบอกต่อว่า “การมาใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกเช่นนี้ แน่นอนคงไม่คุ้นชินเหมือนประเทศบ้านเกิด มีปัญหาความยากลำบากให้เผชิญอยู่เรื่อยๆ แต่ก็คงคิดเหมือนโจนาธานที่แค่เพียงอยากรู้ว่า เมื่อเราบินสูงขึ้น ไปไกลขึ้นในอากาศ ผมจะทำอะไรได้บ้าง หรือไม่ได้บ้างเท่านั้น บางอย่างที่เคยคิดเอาเองว่า เป็นข้อจำกัด นั่นอาจเป็นที่สิ่งเราทึกทักขึ้นเองเท่านั้น”

Auckland-5

“Life is simple. Keep it simple.” เขาบอกกับเธออยู่เสมอเมื่อบทสนทนาเดินมาถึงจุดที่เธอเริ่มคิ้วขมวดครุ่นคิดมากกับเรื่องใดในชีวิตมากเกินไป

โอ๊คแลนด์สำหรับเธอเริ่มมี ‘รายละเอียด’ ระหว่างทางมากขึ้นทุกขณะ เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่เธอและเขาเดินผ่านด้วยกันก็ช่างหมดเร็วเสียเหลือเกิน เผลอแป๊บเดียวเวลาก็ใกล้รุ่งสาง ที่พวกเขาต้องจากกันเสียแล้ว

เธอแวบคิดหนังรักแฟนตาซีของ วูดดี อัลเลน ผู้กำกับคนโปรดเรื่อง Midnight in Paris แม้ชื่อเสียงของโอ๊คแลนด์อาจฟังไม่โรแมนติกเท่ากรุงปารีส

แต่หาใช่ว่า ‘ความโรแมนติก’ จะขึ้นอยู่กับสถานที่เพียงอย่างเดียว

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 77

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า